มหาตมะคานธีอดอาหาร

Socail Like & Share

คานธี
เมื่อมหาตมะคานธีปล่อยคองเกรสให้ดำเนินนโยบายการไม่ร่วมมือภายในสภา และตนเองทำหน้าที่บรรณาธิการอยู่ มีเหตุร้ายเกิดขึ้นหลายราย ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกเดือดร้อนและน้อยใจมิใช่น้อย ถึงกับท่านต้องบำเพ็ญทุกข์กิริยาอีกครั้งหนึ่งโดยมุ่งจะเตือนพลเมืองอินเดียให้สำนึกตัวได้ เหตุร้ายดังว่านี้สืบเนื่องมาแต่ความแตกสามัคคีระหว่างฮินดูกับอิสลาม

ชาวฮินดูกับอิสลามรวมกันอาศัยอยู่ในดินแดนอินเดียมาแล้วกว่า ๗๐๐ ปี โดยไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทบาดหมางกันมาแต่ก่อนแม้แต่ประการใด ก็เหตุไฉนตกมาในสมัยอังกฤษปกครอง จึงมักเกิดทะเลาะวิวาทกันถึงนองเลือดเล่า นี้นับว่าเป็นปัญหาที่เราควรตรึกตรองกันให้ลึกซึ้ง แต่เนื่องจากเหตุแห่งการวิวาทกันเช่นนี้ ได้ชี้บ่งกันอยู่แล้ว ในถ้อยคำของรัฐบุรุษชาวอังกฤษหลายคน ฉันจึงเป็นเพียงขอยกเอาถ้อยคำเหล่านั้นมาให้ท่านผู้อ่านๆ ดูแล้วขอให้ท่านตัดสินเอาเองว่า เหตุไฉนฮินดูกับอิสลามจึงไม่ถูกกัน

“จงทำให้แตกร้าว แล้วปกครอง นี่เคยเป็นคติของชาวโรมันคติของเราก็ต้องเป็นเช่นนั้นด้วย”
ลอร์ดเอลพีนสโตน

“เราควรพยายามทำให้เกิดแตกร้าวกันขึ้นระหว่างนิกายและพรรคพวกต่างๆ ไม่ควรพยายามประนีประนอมปรองดองระหว่างนิกายและพรรคพวกนั้นๆ เลย จงทำให้แตกร้าวแล้วปกครอง นี่ควรจะเป็นหลักการแห่งรัฐบาลอินเดีย”
พันโท ยอนโคก

“ที่จริง รัฐอังกฤษจะไม่ทรงตัวได้ตราบเท่าทุกวันนี้ ถ้าไม่ดำเนินนโยบายก่อการแตกร้าวขึ้น ดังปรากฎอยู่ในการวิวาทบาดหมางระหว่างฮินดูกับอิสลาม ทั้งเป็นความจริงด้วยว่าการทะเลาะวิวาทบาดหมางระหว่างฮินดู กับอิสลาม ได้เริ่มขึ้นแต่สมัยเมื่ออังกฤษเข้ามาปกครอง”
เซอร ยอน เมนารดฺ

“รัฐบาลอังกฤษในอินเดีย เปรียบเสมือนชายมีเมีย ๒ คือฮินดูกับอิสลาม แต่อิสลามเป็นตัวโปรด”
เซอร แบมปฟีลด ฟูเลอร

“ผู้ซึ่งมีความหมายคุ้นเคยกับกิจการในอินเดีย ย่อมจะปฏิเสธเสียมิได้ว่า หลักการแห่งข้าราชการอังกฤษในอินเดียถืออิสลามเป็นตัวโปรด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อจะใช้อิสลามเป็นเครื่องกีดขวางความรักชาติที่กำลังจะปรากฎขึ้นในพวกฮินดู”
ลอร์ด ออลิเวียร์

รัฐบาล(อินเดีย) กำลังแพร่หลายอานุภาพอย่างชั่วร้ายกล่าวคือ กระตุ้นเตือนให้ผู้นำแห่งพรรคอิสลามก่อให้เกิดความแตกร้าวขึ้นระหว่างชาวฮินดูกับชาวอิสลาม ก่อให้เกิดความแตกร้าวขึ้น ระหว่างชาวฮินดูกับชาวอิสลามการกระทำเช่นนี้ได้ก็โดยมอบสิทธิพิเศษให้แก่ชาวอิสลามนั่นเอง”
มร.แรมเซ แมคโดนาลด์

อาศัยถ้อยคำเหล่านี้ พอที่จะเห็นได้ว่า เหตุไฉนจึงเกิดมีการทะเลาะวิวาทขึ้น ระหว่างชาวอิสลามกับชาวฮินดู ยิ่งสภาคองเกรสดำเนินนโยบายการสมานสามัคคีไมตรีจิตระหว่างสองฝ่ายขึ้น รัฐบาลก็ยิ่งดำเนินหลักการแตกร้าวมากทวีขึ้นทุกที แม้ในบทพระราชบัญญัติอันว่าด้วยการเลือกตั้งรัฐบาลก็ได้กำหนดการเลือกตั้งไว้ โดยอาศัยศาสนาเป็นมาตรฐาน ซึ่งทำให้อินเดียต้องแตกแยกออกเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งได้แก่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม อีกพวกหนึ่งนับถือศาสนาฮินดู (หมายถึงศาสนาที่เกิดขึ้นในอินเดีย) ความจริงคองเกรสได้เคยคัดค้านหลักการเลือกตั้งนี้มาก่อนแล้ว แต่เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษถือคติว่า “จงทำให้เกิดแตกร้าวกันเสียก่อน แล้วจึงค่อยปกครอง” เป็นหลัก จะฟังเสียงประชาชนหรือ

ดังนั้นเมื่ออานุภาพแห่งคองเกรส กำลังแผ่ออกไปทั่วทุกมุมอินเดีย เพื่อทำให้พรรคทั้ง ๒ ร่วมกันเป็นพรรคเดียวคือชาวอินเดียผู้ยากจนเข็ญใจ รัฐบาลก็ได้พยายามทำลายขวัญแห่งความสามัคคีเสียแต่ชั้นต้น ผลก็คือ พวกที่ไร้การศึกษา ซึ่งใครๆ ก็สามารถปั่นหัวได้ต้องตกเป็นเหยื่อแห่งนโยบายการแตกร้าว เกิดทะเลาะวิวาทถึงกับฆ่าฟันกันขึ้นหลายแห่ง

มหาตมะคานธีมองเห็นสถานการณ์อันน่าทุเรศเช่นนี้และทั้งทราบแก่ใจอย่างดีว่า รัฐบาลจะไม่ดำเนินการแก้ไขมูลกรณีนั้น จึงตั้งใจจะบำเพ็ญทุกข์กิริยา เพื่อเตือนให้ทั้งสองฝ่ายมองเห็นความจริง

ดังนั้น มา ณ วันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ.๑๙๒๔ ท่านจึงได้ตกลงประกาศถ้อยแถลงว่า เพื่อจะช่วยชาติให้หลุดพ้นจากอาบัติที่ได้กระทำในการทะเลาะวิวาทกันนั้น ท่านจะบำเพ็ญพรตการอดอาหาร กับการภาวนาตลอดเวลา ๒๑ วัน ถ้อยแถลงของท่านมีข้อความดังต่อไปนี้

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นการเหลือวิสัยที่จะอดทนอยู่ได้อีก อนึ่ง เนื่องจากฉันไม่อยู่ในฐานะที่จะแก้ไขมูลกรณีไม่ให้เกิดเหตุร้ายเช่นนี้ขึ้นได้อีกจึงรู้สึกกระวนกระวายใจมากยิ่งขึ้นทุกที ศาสนาของฉันได้สอนฉันว่าเมื่อบุคคลผู้ใดรู้สึกลำบากใจในเหตุการณ์ที่เขาไม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยประการอื่น เขาต้องถืออุโบสถและทำการภาวนาเป็นทางแก้ไข วิธีการเช่นนี้ฉันเคยดำเนินมาในเรื่องอันเกี่ยวแก่ภรรยายอดรักของฉัน”

“ฉันพูดเท่าไรก็ตาม หรือเขียนเท่าไรก็ตาม ทั้ง ๒ ฝ่ายก็ไม่ยอมทำการประนีประนอม ฉันจึงตกลงใจถืออุโบสถ (หมายถึงการอดอาหารด้วย) เป็นเวลา ๒๑ วัน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ ๘ ตุลาคม

“การกระทำเช่นนี้ นับว่าเป็นการแสดงอาบัติทั้งเป็นการขอร้องด้วย ในฐานะเป็นการแสดงอาบัติส่วนตัวฉันการเรื่องนี้ไม่ต้องบอกกล่าวแก่มหาชน แต่ในฐานะเป็นการร้องขอ ฉันขอประกาศการอดอาหารของฉันให้เป็นที่รู้กันทั่วๆ ไป โดยถือว่าการอดอาหารนี้ เป็นการร้องขอทั้งสองฝ่ายฮินดูและอิสลามซึ่งก่อนนี้เคยร่วมดำเนินกันอยู่ ว่าอย่าฆ่าฟันกันเลย”

“ฉันขอเชิญบรรดาผู้นำทั้งหลาย ทั้งชาวอินเดียและชาวอังกฤษ ด้วยความเคารพว่า ขอให้ท่านทั้งหลายรวมกันกำจัดเหตุวิวาทบาดหมางเช่นนี้เสีย ซึ่งนับว่าเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศแห่งศาสนาและมนุษยธรรมนี้ ดูเหมือนว่าทำให้พระผู้เป็นเจ้าต้องเคลื่อนไปจากบัลลังก์ ขอให้พวกเราสถาปนาพระองค์ให้ทรงสถิตย์อยู่เหนือสิงหาสน์คือดวงใจของเรา”

เมื่อข่าวการอดอาหารของท่านคานธี แพร่ไปทั่วดินแดนอินเดียแล้ว ประชาชนพร้อมทั้งบรรดาผู้นำทั้งหลายต่างพากันรู้สึกตกตะลึงมิใช่น้อย เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ท่านได้กระทำการผ่าตัดโรคไส้ตันมาใหม่ๆ ไม่กี่เดือน ร่างกายยังไม่เข้าสู่ปรกติภาพเดิม ฉะนั้นจึงเกิดความหวาดเกรงกันไปว่า ร่างกายอันอ่อนแอของทานน่าจะทนรับความทรมานในการอดอาหารไปไม่ได้

ขณะที่ท่านประกาศข่าวการอดอาหาร ท่านพักอยู่ ณ มณฑลปัญจาบ พวกผู้นำทั้งแพทย์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน ได้พากันไปหาท่านคานธี ณ มณฑลปัญจาบ ร้องขอให้ท่านเลิกอดอาหารเสีย แต่ท่านตอบว่า

“การอดอาหารของฉัน เป็นเรื่องที่เกี่ยวแก่ตัวฉันกับพระผู้เป็นเจ้าโดยเฉพาะ เมื่อบุคคลใดต้องการจะติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้า เขาไม่ต้องการหารือกับคนอื่นๆ คนใดเลยทั้งไม่เป็นการบังควรด้วย แต่ถ้าเขายังมีความสงสัยแฝงอยู่บ้างก็ควรจะปรึกษาหารือกับคนอื่นได้”

“การบำเพ็ญทุกข์กิริยาของฉันครั้งนี้ เป็นการตักเตือนทั้งชาวฮินดูและอิสลามผู้แสดงตนว่า รักฉัน ถ้าพวกเขารักฉันจริงๆ ทั้งฉันก็สมที่จะได้ความรักจากพวกเขาทั้งหลายก็ขอให้พวกเขาจงแสดงอาบัติที่ได้กระทำกันมาโดยไม่ยอมให้พระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตอยู่ในดวงใจของเขาเลย”

เมื่อท่านคานธี ไม่ยอมเลิกการอดอาหาร ท่านผู้นำทั้งหลาย จึงจัดตั้งคณะแพทย์ขึ้นคณะหนึ่งให้คอยตรวจตราดูแลจดบันทึกอาการของท่านอยู่เสมอ แล้วให้จัดการพิมพ์ออกประกาศวันละสามครั้ง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบอาการผลแห่งการอดอาหารคราวนี้ สามารถบันดาลให้บรรดาผู้นำคณะแห่งพรรคทั้งหลาย มีจำนวนกว่า ๓๐๐ นายรวมกันประชุม ณ เมือง เดลลี เพื่อหาลู่ทางกำจัดการทะเลาะวิวาทระหว่างฮินดูกับอิสลามเสียโดยด่วน

เป้นที่น่ายินดีสำหรับอินเดียมิใช่น้อย ที่หลังจากเวลากำหนด ๒๑ วัน อาการของท่านคานธีได้ค่อยๆ ทุเลาขึ้นจนกระทั่งเข้าสู่ปรกติภาพดังเดิม ส่วนการทะเลาะวิวาทระหว่างฮินดูกับอิสลามเล่าก็สูญหายไป กลับเป็นมิตรสมัครสมานฉันท์ร่วมมือ ดำเนินการภายใต้การนำของท่านคานธีสืบไป

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี