คานธีกับการชนะสงครามของอังกฤษ

คานธีวิมานทลาย
“เยอรมันพ่ายแพ้ สัมพันธมิตร” ข่าวปราชัยโคจรมาถึงอินเดียโดยรวดเร็ว ทำให้อินเดียเต็มเปี่ยมไปด้วยความปลาบปลื้มอย่างล้นเหลือ เพราะมีความมั่นใจว่าอังกฤาผู้ได้รับเกียรติยศเป็นผู้ชนะสงคราม เป็นผู้มีสมัญญาแต่สมัยกระโน้นมาว่า เป็นสุภาพบุรุษ จะต้องรักษาคำพูด โดยมอบอำนาจการปกครองให้แก่อินเดีย เป็นการตอบแทนบุญคุณและสมานไมตรีไว้

แต่ตรงกันข้ามกับความคาดหมาย รัฐบาลกลับเสนอร่างพระราชบัญญัติใหม่ขึ้นสู่สภานิติบัญญัติ ว่าด้วยการกำจัดสิทธิของยุวชน และมอบอำนาจพิเศษให้แก่ตำรวจ

สาเหตุเสนอร่างพระราชบัญญัติอันขัดกับหลักของอารยชนนั้น มีอยู่ดังต่อไปนี้ คือ

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๕ ลอร์ด เคอร์ซัน เป็นผู้ครองตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ในระหว่างบรรดาผู้สำเร็จราชการทั้งหลาย หาผู้เฉลียวฉลาดยิ่งไปกว่าท่านผู้นี้ได้ยากนัก ตั้งแต่แรกที่ท่านเข้ามา ท่านเคยตั้งข้อสังเกตและบันทึกไว้ว่าเนื่องจากชาวเบงคอลมีไหวพริบความรู้ความเฉลียวฉลาดยิ่งไปกว่ามณฑลอื่นๆ รัฐบาลจึงควรวางหลักการให้แตกความสามัคคีขึ้นระหว่างชาวเบงคอลด้วยกัน และทั้งควรจะย้ายเมืองหลวงไม่ให้ตกอยู่ภายในขอบเขตแห่งการกบฎ หากจะเกิดมีขึ้นในมณฑลเบงคอล ความจริงเรื่องการตื่นเต้นในทางการเมือง มณฑลเบงคอลเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นครั้งแรก เหตุนั้นท่านทาทาไภเนารซี ผู้นำคนหนึ่งแห่งมณฑลบอมเบจึงกล่าวไว้ว่า “สิ่งใดเบงคอลคิดขึ้นวันนี้ สิ่งนี้อินเดียคิดขึ้นพรุ่งนี้” (What Bengal thinks today INDIA thinks tomorrow)

อาศัยเหตุดังว่านี้ ลอร์ดเคอร์ซัน จึงแบ่งมณฑลเบงคอลออกเป็น ๒ มณฑล คือเบงคอลตะวันออกกับเบงคอลตะวันตกการแบ่งมณฑลซึ่งตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ รวมเป็นมณฑลเดียวกันมาแล้ว ออกเป็น ๒ มณฑลดังนี้ มิได้เป็นที่พอใจแก่ชาวเบงคอลเลย จึงเกิดการจลาจลขึ้นภายใต้ความควบคุมของท่านสุเรนทรนาถ วนฺโทยปาธฺยาย ผู้มีสมัญญาว่าเป็นบิดาแห่งการเมืองอินเดีย (Father of Indian politics) การจลาจลคราวนี้ อาศัยโครงการแต่อย่างเดียว คือการบอยค๊อตสินค้าอังกฤษ ในที่สุดมาใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เมื่อพระเจ้ายอร์ซที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงประกาศให้มณฑลทั้ง ๒ รวมเป็นมณฑลเดียวกันแต่ให้ย้ายเมืองหลวงจากกัลกัตตาไปตั้งที่เมืองเดลลี ทั้งนี้โดยดำเนินตามคำแนะนำของลอร์ดเคอร์ซันดังได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น

ถึงเบงคอลจะได้รวมเป็นมณฑลเดียวกัน ตามความประสงค์เดิมแล้วก็จริง แต่ทว่าเบงคอลได้ตื่นจากความหลับเสียแล้ว ฐานะอันน่าทุเรศที่ตนอยู่ใต้บังคับของอังกฤษ เขาได้พากันตื่นตัว รู้สึกว่าเป็นการทำลายมนุษยธรรมของตน พวกยุวชนจึงรวมกันตั้งสมาคมลับขึ้นสมาคมหนึ่ง มีวัตถุประสงค์จะกู้อินเดียให้เป็นอิสระโดยใช้อาวุธเป็นกรณี สมาคมนี้มีสาขาแผ่กว้างออกไป จนกระทั่งหัวเมืองต่างๆ ของอินดีย มีนักเรียนและนิสิตสมัครเข้าเป็นสมาชิกนับจำนวนพันๆ ขั้นต่อมา สมาคมได้ขยายสาขาออกไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เพื่อติดต่อกับรัฐบาลต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์อังกฤษ ทั้งได้ทำการซื้อเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เตรียมไว้ด้วย ในที่สุดสมาคมได้กำหนดเอาวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๑๙๑๖ เป็นวันลงมือ ก่อรัฐประหารขึ้นทั่วทุกเมืองสำคัญๆ ของอินเดียพร้อมกัน แต่ว่าเหตุการณ์บางอย่างงานนี้มิได้บรรลุผลสำเร็จ รัฐบาลทำลายสมาคมนี้เสียทันและจับสมาชิก ในฐานะผู้ก่อการกบฎไว้ได้นับจำนวนพันๆ เป็นธรรมดา ถ้าผู้ก่อรัฐประหารทำการไม่สำเร็จก็ต้องได้รับสมญาว่าเป็นผู้ก่อกบฎ ถ้าสำเร็จด้วยดีก็มีนามว่ารัฐบาลชุดใหม่ ผู้สละชีพเพื่อชาติ อันเป็นวิธีมองกันคนละด้านละมุม เพื่อจะดำเนินการสอบสวนและสืบสวนถึงเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้จัดการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง ภายใต้ความควบคุมของ มร. เราว์แลตต์ คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอความเหตุให้ออกพระราชบัญญัติ กำจัดสิทธิยุวชนขึ้นและมอบอำนาจพิเศษให้แก่ตำรวจ เมื่อรัฐบาลร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสร็จแล้ว (มีชื่อ Rowlatt Bill เพราะ มร.เราว์แลตต์ เป็นผู้แนะนำ) เสียงคัดค้านได้ดังสนั่นหวั่นไหวขึ้นทั่วทุกด้านทุกมุมของอินเดีย ประชาชนนับจำนวนหมื่นๆ พากันมาประชุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับคัดค้านความดำริของรัฐบาล ผู้นำทั้งหลายขอร้องให้รัฐบาลหวลระลึกถึงความเสียสละของอินเดียในยามสงครามและคำสัญญาของรัฐบาลที่จะมอบอำนาจปกครองให้แก่ชาวอินเดีย แต่รัฐบาลแสดงท่าทางเหมือนคนหูหนวก หรือเป็นผู้ดื้อดึงเกินไป จึงทำให้คณะพรรคต่างๆ เข้ารวมเป็นคณะเดียวคัดค้านกิริยาท่าทางและแนวความดำริของรัฐบาล แต่ก็หาได้ประสบผลแต่ประการใดไม่ ในที่สุด แทนที่จะตอบแทนความเสียสละของอินเดีย ดังที่ประเทศอารยประเทศต่างๆ ควรจะกระทำ รัฐบาลอังกฤษตอบแทนอินเดียโดยดำริออกพระราชบัญญัติ เราว์แลตต์ กำจัดสิทธิของยุวชนที่มีอยู่แต่กำเนิด พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้จึงได้รับสมัญญาว่ากฎหมายดำ

ดังนั้น วิมาน คืออำนาจการปกครอง ซึ่งท่านคานธีกับผู้อื่นๆ ทั้งหลาย ได้สร้างไว้บนเวหาในยามสงครามนั้นจึงได้ทลายลงในที่สุด

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

คานธีกับการช่วยสงครามอังกฤษ

คานธี

อินเดียช่วยสงคราม
เมื่อสงครามโลกแรกเกิด อังกฤษมินึกฝันเลยว่าเยอรมันมีแสนยานุภาพพอที่จะทำให้อังกฤษตกอยู่ในฐานะคับแค้นได้ แต่ว่าภายหลังเมื่อเหตุการณ์ได้ปรากฎขึ้นเช่นนั้นจริงอังกฤารู้สึกหน้ามืด มิรู้ว่าจะหาทางช่วยเหลือได้จากไหนในการทูต การเจรจา รัฐบาลเคยได้สมรรถภาพมาแล้วหลายครั้ง ฉะนั้นอาศัยสมรรถภาพทางนี้เป็นกรณี อังกฤษจึงสามารถจูงประเทศทั้งหลายทั้งมหาอำนาจ และจูงอำนาจนับหลายประเทศเข้าเป็นฝ่ายตนจนได้ นอกจากนั้น ยังได้ยื่นมือมาขอความช่วยเหลือจากอินเดียด้วย ในสมัยนั้นอินเดียเพิ่งจะตื่นจากความหลงเชื่อในความหวังดีของอังกฤษ ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดา ถึงอินเดียจะเคยมีความเอาใจใส่ในชัยชนะของอังกฤษก็ตาม แต่ทว่าฝ่ายอังกฤษต้องการและวิงวอนขอให้อินเดียช่วยเหลือทางกำลังทรัพย์และกำลังกาย อังกฤษผู้ซึ่งเคยออกพระราชบัญญัติริบอาวุธจากอินเดีย มา ณ บัดนี้กลับมอบปืนให้ในมืออินเดียเพื่อทำหน้าที่ให้ตน มิหนำซ้ำยังสัญญาไว้ด้วยว่าเสร็จการสงครามแล้ว จะยกฐานะของอินเดียเทียมกับเมืองอื่นๆ ของอังกฤษ จะให้สิทธิแก่ชาวอินเดียเสมอภาคกับอังกฤษ และจะมอบอำนาจการปกครองตามระบบ Dominian Status ให้ ผู้นำบางท่านไม่ไว้ใจในคำสัญญาของรัฐบาล แต่บางท่านถึงกับหลงเชื่อทันที ดังได้เห็นมาแล้ว ท่านคานธีก็เป็นผู้หนึ่ง ที่หลงเชื่อในคำสัญญาของอังกฤษ อย่างไรก็ดี เมื่อท่านเหล่านี้อ้างข้อสัญญาต่อรัฐบาลขึ้นเป็นเครื่องขอร้องอินเดียให้ช่วยสงคราม อินเดียจึงได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ยอมพลีทรัพย์สมบัติ ชีวิตร่างกาย เพื่อนำชัยชนะมาสู่รัฐบาลอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะได้เห็นมาตุภูมิอันเป็นที่รักของตน ตั้งอยู่ในฐานะเทียมบ่าเทียมไหล่กับประเทศอิสระทั้งหลาย มหาตมะคานธีแสดงสุนทรพจน์ ชักจูงใจมหาชนว่า

“ท่านทั้งหลาย ได้แสดงมาแล้วโดยมีผลสำเร็จว่าจะต่อต้านอำนาจรัฐบาลภายในขอบเขตแห่งสิทธิราษฎรได้ อย่างไรท่านทั้งหลายได้แสดงมาแล้วว่า จะรักษาเกียรติยศของตนโดยไม่ทำร้ายแก่คนอื่นได้อย่างไร ฉะนั้นฉันจะอำนวนโอกาสให้ท่านทั้งหลาย เพื่อแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ท่านได้ต่อสู้กับรัฐบาลมาแล้วก็จริง แต่ท่านไม่ถือความเป็นศัตรูกันกับรัฐบาลแม้แต่น้อย

“ท่านทั้งหลายทุกคนเป็นผู้ปรารถนา Home Rule และบางท่านก็เป็นสมาชิกสมาคม Home Rule ด้วยความหมายข้อหนึ่งแห่งคำ Home Rule คือ เราเป็นส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ เราไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับชาวอังกฤษ สมัยนี้เราเป็นชาติที่อยู่ใต้บังคับอังกฤษ เราไม่เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรดัง คานาดา อาฟริกาใต้ และออสเตรเลีย ประเทศเราเป็นประเทศอยู่ใต้บังคับเราต้องการสิทธิเท่าเทียมกับชาวอังกฤษ เราปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักร ดังอาณาจักรอื่นๆ เหนือทะเล เราหวังอยู่ว่า สมัยจะมาถึงในเมื่อเรามีสิทธิที่จะครองตำแหน่ง แม้จะเป็นผู้สำเร็จราชการเองด้วย เพื่อจะก่อให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น เราจะต้องมีความสามารถในการจับถือและใช้อาวุธ ตราบใดเรายังต้องอาศัยอังกฤษเป็นผู้ช่วยป้องกัน ตราบใดที่เรายังไม่พ้นจากห้วงความกลัวสงครามตราบนั้นจะถือว่าเป็นผู้มีสิทธิเท่าเทียมกับอังกฤษไม่ได้ ฉะนั้นเราจึงควรรู้จักวิธีใช้อาวุธ หาความสามารถในการป้องกันตัว อาศัยเหตุดังกล่าวนี้ จึงนับว่าเป็นหลักหน้าที่ของเราแท้ที่จะต้องรับสมัครเป็นทหารอาสา

ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมที่จะเสียสละเพื่อราชอาณาจักรและอิสรภาพของประเทศแม้เพียงเท่านี้ได้ ก็แปลว่าไม่เป็นของแปลกที่เรายังต้องเป็นชาติที่ไม่สมควรแก่อิสรภาพ ถ้าหมู่บ้านทุกตำบล พร้อมใจกันสละชายฉกรรจ์ตำบลละ ๒๐ คนและหากเขาเหล่านั้นจะมีโอกาสรอดมาจากสงครามได้ ก็ต้องกลายเป็นรั่วของหมู่บ้าน ถ้าเขาล้มนอนตายอยู่ตามสนามสงคราม ชื่อเสียงของเขา ชื่อเสียงของหมู่บ้านและประเทศของเขาจะคงอยู่ตลอดนิรันดร เพราะเขาได้พลีชีวิตเพื่อชาติ”

คำขอร้องของท่านคานธี จะได้ศูนย์สิ้นไปโดยไร้ผลก็หาไม่ ชายฉกรรจ์จากทุกมุมของอินเดียได้พากันมาสมัครเป็นทหารอาสา คนจนผู้อ่อนกำลังและน้อยทรัพย์ยอมอดอาหารเทกระเป๋าของตนช่วยเหลือรัฐบาล มารดาวิงวอนบุตรให้เข้าสมัครเป็นทหารอาสา โดยหวังว่า เลือดทุกๆ หยดของบุตรจะสร้างทางกู้ประเทศให้เป็นอิสระ ภรรยาสวมอาวุธให้สามีที่รัก จะเป็นสะพานนำอินเดียไปสู่ฐานะความเป็นอิสระ แถวทหารอาสาสวมพวงมาลัย เดินขบวนไปตามถนนหลวงของอินเดียปลุกใจยุวชนผู้ที่ยังลังเลใจอยู่ให้ตัดสินใจสมัคร

ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษ จึงได้รับความช่วยเหลือจากอินเดียตามความประสงค์ของตนทุกๆ อย่าง สงครามได้ผ่านพ้นไปแล้ว อังกฤาได้รับเกียรติยศอย่างสูงแห่งการชนะสงครามแล้วอินเดียกำลังใฝ่ฝันถึงอิสรภาพที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจวนจะมาถึงใกล้อยู่แล้ว แต่อนิจจาความฝันนั้นได้ดับศูนย์หายไปอย่างปราศจากร่องรอย เมื่ออินเดียตื่นจากความหลงในความฝัน กลับได้สำนึกว่า วิมานในเวหาที่เขาสร้างขึ้นด้วยความฝันนั้น ได้ทลายลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

การประชุมปรึกษางานมหาสงครามของคานธี

คานธีการประชุมปรึกษางานมหาสงคราม ณ เมืองเดลลี
การหยุดงานในเมืองอาหัมมทาวาทได้สิ้นสุดลงในตอนปลายเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๑๘ ในเดือนต่อมาคือเดือนเมษายน ๑๙๑๘ ท่านได้รับเชิญจากผู้สำเร็จราชการเพื่อเข้าประชุมปรึกษาหารือเรื่องสงครามโลก ณ กรุงเดลลี สถานการณ์ของอินเดียในสมัยนั้น…ทางการเมืองก็ดี หรือทางเศรษฐกิจก็ดี…ถึงความตึงเครียดมาก ถึงกับรัฐบาลเกือบจะหมดปัญญา วางนโยบายการปกครองอินเดียอย่างไร ความจริงในสมัยนั้นรัฐบาลอินเดียเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อันร้ายแรงอยู่ ๒ ประการ ประการหนึ่งเพราะอำนาจมหาสงครามฐานะเศรษกิจตกต่ำลงอย่างน่ากลัว ประการที่ ๒ ประชาชนชั้นสูงผู้ได้รับการศึกษาฉวยโอกาสขณะที่รัฐบาลอังกฤษต้องแบ่งกำลังไปใช้ในงานสงครามก่อกวนให้เกิดความตื่นเต้นขึ้นทั่วอาณาจักรอินเดีย เพื่อเรียกสิทธิการปกครองตัวเองกลับคืนมาให้จงได้

ฉะนั้นจึงขอกล่าวถึงฐานะการเมืองของอินเดีย ในสมัยมหาสงครามเสียด้วย ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ก่อนอินเดียมีคณะพรรคการเมืองอยู่ ๒ คณะ คือ Moderate Party กับ Extremist Party ทั้ง ๒ คณะร่วมกันเคยเป็นสมาชิกของคองเกรส แต่ในกาลต่อมาอิทธิพลของพรรค Extremists มากทวีคูณขึ้นทุกที ทำให้คณะ Moderate แตกร้าวกับคองเกรส ปลีกตัวออกตั้งสมาคมของตนขึ้นอีก สมาคมหนึ่งมาใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ภายใต้การอำนวยการของท่านอมพิกาจรนมชุมทารผู้เป็นประธานแห่งคองเกรส ทั้ง ๒ ฝ่าย ได้ทำการประนีประนอมให้เข้ามาร่วมอยู่ในคองเกรสเป็นหน่วยเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นคองเกรสได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์เก่า ตั้งวัตถุประสงค์ขึ้นใหม่คือการแสวงหาสิทธิในการปกครองบ้านเมือง (Home Rule) อาศัยวัตถุประสงค์ คือ Home Rule เกิดมีคณะพรรคการเมืองขึ้นอีกคณะหนึ่ง เรียกว่า Home Rule Party เป็นที่น่าแปลกใจมิใช่น้อยที่ประธานแห่งคณะนี้กลายเป็นสตรีชาวอังกฤษ ซึ่งโลกรู้จักกันในนามว่า Mrs. Annie Bessant ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน The Osophical Society ของโลกมาแล้วหลายปี อิทธิพลของคณะพรรคนี้ ได้เผยแพร่ออกไปทั่วอาณาจักรอินเดีย นโยบายสำคัญของคณะนี้ คือการขัดขวางนโยบายของรัฐบาลภายในขอบเขตของกฎหมาย จนกว่ารัฐบาลจะยอมมอบสิทธิการปกครองให้แก่ชาวยุโรป ฉะนั้นเมื่อสงครามได้ระเบิดขึ้น ณ ดินแดนยุโรป และรัฐบาลอังกฤษขอความช่วยเหลือจากอินเดีย คณะ Home Rule จึงประกาศคำแถลงการณ์ขัดขวางรัฐบาล และแนะนำประชาชนไม่ให้ช่วยเหลือรัฐบาลอังกฤษแม้แต่ประการใด รัฐบาลรู้สึกลำบากใจมิใช่น้อยที่ได้เห็นมหาชนชาวอินเดียตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ผู้สำเร็จราชการจึงได้ให้คำสัญญาว่า ถ้าอินเดียเข้าช่วยเหลือในงานสงคราม รัฐบาลอังกฤษจะให้รัฐบาลธรรมนูญมอบอำนาจการปกครองแก่ชาวอินเดีย แล้วเชื้อเชิญบรรดาผู้นำของประเทศ ไปประชุมที่กรุงเดลลีเพื่อปรึกษาหารือ ว่าจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นว่านี้ได้อย่างไร

การที่มหาตมะคานธีรับเชื้อเชิญเข้าประชุม ปรึกษาหารือคราวนี้นั้น มิได้เป็นที่พอใจแก่ปวงชน ทั้งนี้คงเนื่องมาจากเหตุในการประชุมคราวนี้ รัฐบาลมิได้เชื้อเชิญคณะผู้นำคณะ Home Rule เข้าร่วมในประชุมด้วยทุกๆ คนหวังว่า มหาตมะคานธีคงจะปฏิเสธไม่ยอมรับคำเชื้อเชิญ ความจริงครั้งแรกท่านก็ได้กระทำเช่นนั้น แต่ต่อมาท่านกลับใจรับคำเชิญนั้นโดยออกแถลงการณ์หลังจากการประชุมว่า

“ฉันรับรองว่า สมัยเมื่อราชอาณาจักรอังกฤษตกอยู่ในข่ายอันตราย เราจำต้องช่วยเหลือตามมีตามเกิดโดยมิปริปากบ่นแม้แต่คำเดียว เพราะว่าในอนาคตไม่ไกลนัก เราหวังจะเป็นภาคีแห่งราชอาณาจักรเหนือทะเล และมีสิทธิเท่าๆ กันทุกราชอาณาจักร แต่ทว่า การที่ว่าเราจะช่วยเหลืออังกฤษครั้งนี้ก็เพราะเราหวังจะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของเราโดยเร็วพลัน เพราะเหตุนี้เอง และเพราะอาศัยข้อที่ว่าดำเนินตามหน้าที่ย่อมเป็นต้นเหตุนำมาซึ่งสิทธิ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจะให้รัฐธรรมนูญแก่อินเดียในเร็วๆ นี้ คองเกรสจึงจะขอดัดแปลงหลักการสำคัญของตน ตามคำสัญญาของรัฐบาลที่เคยให้ไว้ฉันยังแน่ใจว่า การที่กรรมการหลายท่านในที่ประชุมตกลงรับปากที่จะช่วยเหลือรัฐบาล ก็เพราะท่านเหล่านั้นมีความไว้วางใจในคำสัญญาของรัฐบาลที่ว่าจะให้รัฐธรรมนูญแก่อินเดีย ถ้าฉันจะพึงสามารถทำให้ผู้ร่วมชาติของฉันกลับไปสู่สถานการณ์เดิมได้ ฉันจะขอร้องให้คองเกรสถอนญัตติต่างๆ และไม่ให้พูดถึง Home Rule หรือ Responsible Government ตลอดเวลามหาสงครามนี้เลย ฉันจะขอร้องให้อินเดียอุทิศเลือดเนื้อของชายฉกรรจ์ทุกคน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชอาณาจักร ซึ่ง ณ บัดนี้ตกอยู่ในฐานะเข้าด้ายเข้าเข็ม อนึ่ง ฉันรู้ว่าเพราะการทำนี้ในที่สุดอินเดียคงจะเป็นประเทศที่อังกฤาเห็นใจมาก และเรื่องการถือผิวคงจะกลายเป็นเรื่องอดีตไปแต่อันที่จริงผู้ที่ได้รับการศึกษาทั้งหลายทั่วอินเดีย ตกลงใจที่จะไม่ดำเนินตามหลักการนี้ และคนเหล่านี้มีอานุภาพเหนือพลเมืองอย่างมากมาย

ฉันแน่ใจว่าอินเดียคงจะพอใจในรัฐธรรมนูญแบบใดๆ ที่มีสิทธิไม่น้อยกว่า Home Rule และนั่นจะต้องให้ภายในเวลาอันใกล้ที่สุด ฉันรู้ว่ามีชาวอินเดียเป็นจำนวนมาก ยินดีที่จะเสียสละทุกอย่างเพราะความมุ่งหมายเช่นว่านี้ ถึงแม้เขาเหล่านั้นจะรู้อยู่ว่าเสียสละสำหรับราชอาณาจักรอังกฤษ แต่อินเดียจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับอาณาเขตทั่วไปฉะนั้นสมัยเมื่อการรับ Home Rule เข้ามาใกล้ ถ้าเรารับช่วยเหลือราชอาณาจักรให้พ้นอันตรายแห่งสงครามได้ การกระทำนั้น จะนำ Home Rule มาให้เราเป็นแน่แท้

ฉะนั้นถึงแม้ว่า ฉันจะได้ขอร้องให้อินเดียอุทิศชายฉกรรจ์ทุกคนเพื่อป้องกันราชอาณาจักรก็จริง แต่ส่วนความช่วยเหลือทางการเงินฉันยังไม่ได้รับปาก เพราะเท่าที่ฉันเห็นมาแล้วอย่างประจักษ์ ประชาชนอินเดียได้สละเงินช่วยสงครามมาแล้วเกินกว่ากำลังตน จึงไม่สามารถที่จะสละเงินช่วยได้อีกฉันรู้ว่าคำพูดของฉันคือ คำพูดของประชาชนอินเดียส่วนมาก”

อาศัยคำแถลงการณ์ฉบับนี้ พอที่จะเห็นได้ว่ามหาตมะคานธี ยังมั่นคงอยู่ในคำสัญญาของรัฐบาลอังกฤษทั้งๆ ยังหลงฝันอยู่ด้วยว่า อินเดียคงจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับประเทศอังกฤษโดยประการทั้งปวง ความฝันของท่านได้สลายไปโดยไม่เหลือหลอเพราะเหตุใดนั้น เหตุการณ์ต่อมาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ท่านเห็นโดยประการทั้งปวง

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

คานธีกับการหยุดงานในโรงงานทอผ้าอาหัมมทาวาท

คานธี
การอดอาหาร
หลังจากที่เรื่องราวอันเกี่ยวแก่จัมปารันได้สงบลงแล้วอย่างเรียบร้อย กิจการของท่านคานธีได้ขยายไปในทางอื่นอีกหลายสาย เป็นต้นว่า การร้องทุกข์ต่อ มร. มอนเตกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย มีความมุ่งหมายที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐธรรมนูญอินเดีย แก้ไขเพิ่มเติมต่อสภาปาร์เลียเมนต์ การจัดการบรรเทาทุกข์ของจังหวัดไกรา ซึ่งตกอยู่ในทุพภิกขภัย ดังนี้เป็นอาทิ

แต่งานสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาก และสำคัญที่สุดนั้นคือ การประนีประนอมระหว่างนายทุนกับคณะกรรมกรแห่งโรงงานทอผ้าต่างๆ ในเมืองอาหัมมทาวาท

เมื่ออาหัมมทาวาทเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง ตั้งอยู่ในมณฑลบอมเบ มีชื่อเสียงในทางประดิษฐกรรมทอผ้า โรงงานทอผ้าตั้งอยู่ในเมืองนี้ นับเป็นจำนวนมากหลายมีจำนวนกรรมกรตั้งหมื่นๆ เนื่องจากเกิดขัดใจกันขึ้น เรื่องค่าจ้างระหว่างนายทุนกับพวกกรรมกร พวกกรรมกรจึงนัดหยุดงานกันแทบทุกโรงงาน (ค.ศ.๑๙๑๘)

ทั้ง ๒ ฝ่ายได้ร้องขอความช่วยเหลือจากท่านคานธีให้ทำการประนีประนอมกัน ท่านจึงได้ตั้งข้อตกลงขึ้นและได้รับความเห็นชอบด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ก่อนที่การประนีประนอมนี้ถึงที่สุด มีกรรมกรบางคนกลัวต่อสถานการณ์อันร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะหยุดงานนั้น จึงกลับเข้าทำงานตามเดิม ท่านคานธีเห็นว่าถ้ากรรมกรกลับเข้าไปทำงานทีละคนๆ ดังที่ทำกันอยู่นี้ อาจเป็นช่องทางให้คณะนายทุนเอาเปรียบไม่ยอมทำการประนีประนอมได้ ผลที่สุด พวกกรรมกรโดยทั่วไปจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรแม้แต่น้อน ท่านกับ น.ส.อนุสูยาเทวีจึงตกลงปฏิญาณตนกันว่า จะทำการอดอาหารเป็นการลงโทษตัว เพราะขาดความสามารถในการนำพวกกรรมกรให้ตั้งมั่นอยู่ในความสามัคคี ไม่ยอมเข้าทำงานจนกว่าการประนีประนอมจะยุติลง โดยทั้ง ๒ ฝ่ายมีความพอใจแล้วเมื่อไร นั่นแหละท่านจึงจะรับอาหารดังเดิม  แต่เพื่อจะแก้ความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้เพราะการอดอาหารนี้ ท่านจึงประกาศคำแถลงการณ์ว่า

“ฉันไม่มีความเสียใจที่ได้ปฏิญาณตนไว้ดังนี้ ตามคติที่ฉันยึดถืออยู่เป็นหลัก ฉันรู้สึกว่าถ้าฉันมิได้กระทำการเช่นนี้ก็เป็นอันว่า ฉันไม่เป็นผู้สมควรที่จะได้รับความไว้วางใจจากมหาชน ฉันรู้อยู่ก่อนแล้วว่า การปฏิญาณตนเช่นนี้ มีความบกพร่องอยู่มิใช่น้อย สำหรับตัวฉันเอง การปฏิญาณตน เพื่อบังคับให้นายทุนทั้งหลายทำความตกลงกันโดยเร็วนั้นนับว่าเป็นการกระทำอย่างยุติธรรมแก่เขา มิหนำซ้ำยังทำตัวฉันเอง ให้เป็นบุคคลผู้ไม่สมควรที่จะเป็นมิตรกับท่านเหล่านั้น ดังที่ฉันเคยเป็นมาแล้วแต่ก่อนด้วย ฉันรู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำของฉันนั้น อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นก็ได้ แต่ทว่าฉันไม่สามารถที่จะตัดการอดอาหารโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตกลงใจของฉันได้ เหตุนี้เอง ทำให้ฉันรู้สึกตัวว่าต้องรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นเหลือขนาด ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ฉันไม่สามารถเรียกร้องสิทธิพิเศษใดๆ สำหรับบุคคลที่กำลังต่อสู้กันอยู่อีกได้ และทั้งนี้ฉันตระหนักแน่อยู่ด้วยว่า ฉันจะต้องมีความพอใจในสิทธิน้อยที่สุด เท่าที่ฉันหาได้จากเจ้าของโรงงานทั้งหลาย และนั่นฉันจะหาได้ก็เพราะพวกกรรมกรดำเนินตามปฏิญาณของตนทุกข้อ การปฏิญาณตนของฉันมีทั้งส่วนดีและส่วนชั่ว ไม่มีการกระทำของมนุษย์ที่ปราศจากเสียซึ่งมลทินทุกประการ การกระทำของฉันก็เป็นเช่นนั้น มีมลทินเจือปนอยู่ด้วย แต่การประนีประนอมกับเจ้าของโรงงานผู้มีเสรีภาพมากยิ่งกว่ากรรมกรที่ไร้เกียรติยศด้วยอาศัยการปฏิญาณตนของฉันเป็นกรณีนั้น ดีกว่าที่จะให้คนรุ่นหลังๆ ล่วงติฉันได้ว่า คนนับจำนวนหมื่นๆ ได้พลาดจากคำปฏิญาณของตนที่เขารักษามาแล้วในนามของพระเจ้ากว่า ๒๐ วัน ฉันเชื่อแน่แก่ใจว่า บุคคลจำพวกใดที่ต้องการตั้งตัวเป็นชาติ และใคร่จะทำงานออกหน้าออกตาเป็นชิ้นเป็นอันจริง บุคคลจำพวกนั้น จะต้องมีความซื่อตรงแนบแน่นอย่างแน่วแน่ ทั้งสากลโลกก็ยอมรับว่า บุคคลจำพวกนั้นตั้งมั่นอยู่ในคำพูดคำปฏิญาณของตนเสมอ จึงจะตั้งตัวเป็นผู้นำหรือผู้แทนหรือเป็นชาติได้”

การอดอาหารของท่านคานธีคราวนี้ เป็นเหตุให้พวกกรรมกรที่กลับเข้าไปทำงานรู้สึกละอายใจตนเองกันมาก ทั้งทำให้พวกที่ยังหยุดงานอยู่ เกิดมีมานะคะคานในคำปฏิญาณของตนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ในที่สุดหลังจากเวลานั้นมาประมาณหนึ่งเดือน การประนีประนอมระหว่างเจ้าของโรงงานกับพวกกรรมกร ได้เกิดเป็นผลสำเร็จขึ้น โดยทำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายมีความพอใจอย่างยิ่ง ใช่แต่เท่านั้น การหยุดงานในอาหัมมทาวาทคราวนี้ โดยประกอบด้วยการยื่นมือของท่านคานธีสนับสนุน ทำให้ฐานะการครองชีพของพวกกรรมกรทั่วอินเดียดีขึ้นกว่าเดิมเป็นเอนกนัย

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

คานธีกับเหตุร้ายในจัมปารัน

คานธี
การปะทะครั้งแรกกับรัฐบาลอังกฤาในอินเดีย
ดังได้กล่าวมาแล้วดังคำขอร้องของท่านโคเชล มหาตมะคานธีได้เที่ยวดูสถานการณ์ในอินเดียเป็นเวลาปีหนึ่ง เมื่อหนึ่งปีผ่านพ้นไปแล้ว ทำให้ท่านมีความเข้าใจในความเป็นไป ความเป็นอยู่ของอินเดีย ซาบซึ้งกว่าเดิมเป็นหลายเท่า กระนั้นก็ดี หลักการ และวิธีดำเนินการของท่านจะได้เปลี่ยนแปลงไปจากสายเดิมก็หาไม่ ท่านยังยึดถือหลักการอยู่ว่าการร้องขอ การร้องเรียกมิใช่ทางที่สิทธิต่างๆ จะกลับคืนมาได้ อินเดียจำจะต้องแสดงสมรรถภาพ และชิงเอาสิทธิเหล่านั้นกลับคืนมาโดยพลการให้จงได้

ตรงกันกับเวลานั้น ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นต้นเหตุให้ท่านคานธีต้องดำเนินนโยบายอีกอันหนึ่ง คือ การขัดขืนกฎหมาย

กล่าวคือ ในมณฑลวิหาร มีหัวเมืองๆ หนึ่งชื่อว่าจัมปารัน ณ ที่นั้น พวกฝรั่งหลายคนจ้างชาวอินเดียทำการเพาะปลูกเป็นอาชีพ ความประพฤติของนายจ้างฝรั่งต่อลูกจ้างอินเดียนั้น มักเป็นไปในทางบีบคั้นมาก ถึงกับข่าวนั้นแพร่ไปทั่วโลก อนึ่ง พวกกรรมกรเพาะปลูกเหล่านั้นมีความประสงค์ที่จะแก้ฐานะให้ดีขึ้น จึงรวมส่วผู้แทนไปยังคองเกรส ซึ่งในปีนั้น (ค.ศ. ๑๙๑๖) ประชุมกันที่เมืองลักขเนา และขอร้องให้ท่านคานธีพูดถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน ให้ที่ประชุมที่คองเกรสเข้าใจถึงฐานะ และเห็นใจพวกกรรมกร แต่ทว่ามหาตมะคานธีไม่ยอมพูดแม้แต่คำเดียว โดยอ้างเหตุว่าท่านยังไม่เคยเห็นเรื่องราวในจัมปารันด้วยตาของท่านเอง ฉะนั้นก่อนที่ท่านจะพูดหรือเสนอบัญญัติประการใด ในอันที่เกี่ยวแก่จัมปารันนั้น ท่านจะต้องไปดูสถานการณ์นั้นด้วยตนเองเสียก่อน

ฉะนั้นเมื่อการประชุมคองเกรสสิ้นสุดลง ท่านก็เตรียมตัวเดินทางไปยังจัมปารันทันที ข้าหลวงประจำจังหวัดจัมปารัน เมื่อได้ยินข่าวว่าท่านคานธีมาเยี่ยมดูเหตุการณ์ในจัมปารัน จึงออกคำสั่งห้ามไม่ให้ท่านเข้าไปในเขตจัมปารัน โดยอ้างเหตุว่า “การเยี่ยมจะเป็นเหตุทำลายความสงบของมหาชน และอาจเกิดความอลหม่านถึงกับเสียชีวิตก็เป็นได้ ฉะนั้นขอให้ท่านรีบไปเสียจากจัมปารันโดยด่วน”

ในการออกคำสั่งเช่นนี้ ข้าหลวงจับเหตุผิดเพราะว่าท่านคานธีมิใช่บุคคลชนิดที่ดำเนินตามกฎหมาย โดยฝ่าฝืนกิจที่ควรทำของตน ฉะนั้นเมื่อท่านได้รับคำสั่งเช่นนี้ท่านจึงได้ให้คำตอบไปว่า “ฉันไม่สามารถที่จะผ่านพ้นเขตแดนจัมปารันไปได้ ทั้งนี้เพราะเห็นประโยชน์ของมหาชน แต่ถ้าว่าทางการยินดีจะลงโทษ ฉันยินยอมรับทุกประการเพราะฝ่าฝืนคำสั่งนี้

ฉันขอคัดค้านอย่างแรงกล้า ถึงข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่าความมุ่งหมายของฉัน คือ ชวนก่อให้เกิดการตื่นเต้นไม่สงบราบคาบ ตรงกันข้าม ความปรารถนาของฉัน คือ การแสวงหาความรู้ที่แท้จริงเท่านั้น และนั่นฉันจะพยายามทำไปตราบใดที่ฉันยังเป็นอิสระอยู่”

ตำรวจจึงจับตัวท่านคานธี ส่งไปยังศาลอาญา (วันที่ ๑๗ เดือน กันยายน ค.ศ.๑๙๑๖) ท่านรับสารภาพว่าท่านได้ฝ่าฝืนคำสั่งนั้นจริง ทางการชั้นสูงเล็งเห็นว่าถ้าลงโทษคานธีในกรณีนี้ คงจะเกิดความไม่สงบขึ้นไม่เฉพาะแต่จังหวัดจัมปารันเท่านั้นอาจทั่วอินเดียก็เป็นได้ จึงปล่อยตัวท่านเป็นอิสระ ทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อทำการสืบสวนถึงสถานการณ์ความจริงของจัมปารัน มีท่านคานธีเข้าเป็นกรรมการคนหนึ่งด้วย

ผลแห่งการสืบสวนคราวนี้ ผลที่สุดคณะกรรมการเห็นว่า ความประพฤติของนายจ้างฝรั่งต่อลูกจ้างอินเดียมีความโหดร้ายเจือปนอยู่ด้วยจริง จึงแนะนำรัฐบาลออกพระราชบัญญัติว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินกับลูกจ้างเฉพาะจังหวัดจัมปารัน (Champaran Agrarian Act) ขึ้นเป็นอันตัดรอนสิทธิของเจ้าของที่ดินได้บางอย่าง ทำให้ลูกจ้างและผู้เช่าที่ดิน ได้รับความร่มเย็นเป็นอย่างมาก

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีในอินเดีย

คานธี
ถึงแม้นว่าท่านได้รับตำแหน่งผู้แทนท่านโคเชลก็จริงอยู่ แต่ก็ยังไม่สามารถลงมือเชิดฐานะของอินเดียได้ประการใด ทั้งนี้เพราะว่า เวลาที่ทานโคเชลจะถึงแก่กรรม ท่านคานีได้รับปากกับท่านผู้นั้นไว้ว่า ตั้งแต่นี้ไปเป็นเวลากำหนดหนึ่งปี ท่านจะไม่แสดงวิจารณ์ หรือคัดค้านนโยบายของรัฐบาลอีก แต่เมื่อเวลาหนึ่งปีผ่านพ้นไปแล้ว ท่านจะคัดค้านหรือสนับสนุนรัฐบาลนั้นแล้วแต่ความเห็นชอบของตน

การรับปากเช่นนี้ มีสาเหตุ ๒ ประการ ประการหนึ่ง….ฐานะคณะพรรคการเมืองในอินเดียสมัยนั้น และประการที่สอง….ความเห็นของท่านคานธีในฐานะของอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษ

ขอกล่าวอีกสักหน่อย ในสมัยนั้น อินเดียมีคณะพรรคการเมืองอยู่ ๒ คณะ คือ Moderate กับ Extremists หลักการของคณะพรรค Moderate อาศัยการประนีประนอมและการร้องทุกข์เป็นกรณี จึงไม่เห็นด้วยกับหลักการคัดค้านหรือวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลโดยตรง ส่วนคณะพรรค Extremists มีหลักการตรงกันข้าม Extremists อาศัยหลักการก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในหมู่ประชาชน Extremists ไม่เห็นด้วยว่า อินเดียจะไปประนีประนอมกับอังกฤษ เพราะสิทธิที่อินเดียกำลังพยายามจะเรียกกลับคืนมา คือเป็นสิทธิแต่เดิม อังกฤษเป็นฝ่ายที่ทำลายสิทธิเหล่านั้นเสีย ฉะนั้น ถ้าฝ่ายใดต้องการประนีประนอมแล้ว ฝ่ายนั้นต้องเป็นฝ่ายอังกฤษ มิใช่ฝ่ายอินเดีย

ในสมัยนั้น มณฑลเบงคอล กับ มณฑลบอมเบนับว่าเป็นผู้นำในทางการเมือง ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้เบงคอลเป็นฝ่าย Extremists และบอมเบเป็นฝ่าย Moderate ท่านโคเชลเคยครองตำแหน่งผู้นำคณะพรรค Moderate ท่านมีความหวังอย่างยิ่งว่า เมื่อท่านสิ้นชีวิตแล้ว ท่านคานธีจะครองตำแหน่งนี้ต่อไป แต่เฉพาะในเวลานี้เอง ท่านคานธีได้แต่งหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง ชือว่า Indian Home Rule มีข้อความสำคัญดังต่อไปนี้

อารยธรรมของโลกโดยทั่วไป อาศัยหลักการแต่อย่างเดียว กระนั้นก็ดี ระดับอารยธรรมของอินเดียสูงกว่าอารยธรรมอื่นๆ เพราะอินเดียสอนให้เรามองเห็นมนุษย์ภายใน คือใจ ยึดถือเอาใจเป็นหลักสำคัญมากยิ่งกว่าวัตถุ ส่วนอารยธรรมตะวันตก ซึ่งอาศัยหลักอุตสาหกรรมเป็นที่ตั้ง สอนให้เราดำเนินชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย สอนให้เกิดความเกลียดชังต่อกันและกัน ทำลายมนุษยธรรมเสียและแปลงชีวิตมนุษย์ให้เป็นประหนึ่งเครื่องจัก รัฐบาลอังกฤษกำลังจะนำอารยธรรมชนิดนี้มาสู่มาตุภูมิของเรา พยายามที่จะชนะใจด้วยวัตถุอารยธรรมชนิดนี้ ยึดถือเอาอำนาจทางวัตถุเป็นอำนาจสำคัญ ถ้าจะนำมาใช้ในหลักการของรัฐบาลแล้วจะขัดขวางกับความสันติสุขของประชาชน ทั้งจะนำความหายนะมาสู่อารยธรรมอินเดียด้วย

อาศัยแนวความคิดดังนี้เป็นมาตรฐาน ท่านได้พิจารณาคัดค้านนโยบายของรัฐบาลในอินเดียอย่างแรงกล้า หนังสือเล่มนี้ ได้มีอิทธิพลเหนือชนชาวอินเดียมากถึงกับผู้พิมพ์โฆษณาต้องพิมพ์ปีละหลายๆ ครั้ง

ท่านโคเชลอ่านหนังสือเล่มนี้ รู้สึกหนักใจที่ได้เห็นมติความคิดของท่านคานธีห่างออกไป จากหลักการฝ่าย Moderate ฉะนั้นท่านจึงคิดว่า ถ้าท่านคานธีจะได้เที่ยวดูสถานการณ์ของอินเดียสักปีหนึ่ง ความเห็นของท่านคงจะเปลี่ยนกระแสไปจากสายเดิม

ที่จริง แต่เดิมท่านคานธีมีวิธีการเป็นไปทาง Extremists ส่วนใจของท่าน ยังบ่งถึงหลัก Moderate อยู่เสม คณะพรรค Extremists ดังมีอยู่ในมณฑลเบงคอล มีหลักการที่จะตัดความสัมพันธืกับรัฐบาลอังกฤษทุกประการ ส่วนท่านคานธี ในสมัยก่อนมีความภูมิใจในการได้ร่วมอยู่กับราชอาณาจักรอังกฤษ ดังที่เราเห็นได้จากสุนทรพจน์ ณ ที่ประชุม British Law Dinner เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๕ เมื่อท่านประธาน คือ คอรเบตต อธิการบดีอัยการเชิญท่านคานธีถวายพระพรแด่ราชอาณาจักรอังกฤษ

“ในฐานะที่ฉันเป็นผู้ทำการต่อต้านรัฐบาล ตามหลักสัตยาเคราะห์ ฉันเคยสังเกตมาแล้วว่า ผู้ที่จะต่อต้านตามหลักสัตยาเคราะห์นั้น เขาอยู่ในสถานการณ์เช่นไรก็ตาม ต้องยึดสัจธรรมไว้อย่างแน่วแน่ และในการต่อต้านคราวนี้ ฉันได้สังเกตด้วยว่า ราชอาณาจักรอังกฤษณ อาศัยอุดมคติบางประการ ซึ่งแนชอบมากทีเดียว อุดมคตินั้นๆ คือ คนในบังคับอังกฤษทุกคนมีสิทธิ์และเสรีภาพในกิจการทุกประการ เท่าที่อยู่ภายในขอบเขตแห่งกำลัง เกียรติยศและความรับผิดชอบของตน รัฐบาลอื่นๆ ไม่ยอมที่จะมอบสิทธิและเสรีภาพอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ให้แก่ราษฎรของตน(ปรบมือ) ท่านคงทราบกันดีแล้วว่า ถึงฉันไม่ชอบรัฐบาลแบบใดก็ตาม แต่ก็ยังเห็นว่า รัฐบาลที่ปกครองน้อยที่สุด รัฐบาลนั้นแหละคือรัฐบาลที่ดีที่สุด อนึ่ง ฉันได้เห็นมาแล้วว่า ถ้าฉันอยู่ภายในบังคับของรัฐบาลอังกฤาฉันจะได้รับการปกครองน้อยที่สุด เพราะเหตุนี้เองฉันจึงมีความจงรักภักดีต่อราชอาณาจักรอังกฤษ (ปรบมือ)”

ต่อมา ณ ที่ประชุม Y-M-C-A มัทราส ท่านได้กล่าวไว้ว่า
“ฉันเคยเป็นฝ่ายปรปักษ์กับอารยธรรมสมัยใหม่นี้มาแล้ว และทั้งยังเป็นอยู่ด้วย ฉันขอให้ท่านทั้งหลายมองดูเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในยุโรป ณ บัดนี้ แล้วถ้าท่านเข้าใจว่า ยุโรปกำลังได้รับความทารุณโหดร้ายเพราะอารยธรรมสมัยนี้ ท่านและผู้ใหญ่จะต้องตริตรองดูหลายครั้ง ก่อนที่ท่านจะปล่อยอารยธรรมนั้นให้เข้ามาสู่มาตุภูมิของเรา แต่ฉันเคยได้ยิน ท่านมักพูดว่าในเมื่อผู้ปกครองของเรา นำอารยธรรมนั้นมาสู่มาตุภูมิของเราเสียแล้ว เมื่อกระนั้นเราจะป้องกันได้อย่างไร ขออย่าให้เข้าใจผิด ฉันไม่เชื่อเลยว่า ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมที่จะต้อนรับอารยธรรม ผู้ปกครองจะสามารถนำอารยธรรมนั้นมาให้เราได้ เราคงมีกำลังใจพอเพียงที่จะไม่ยอมรับอารยธรรมของเขา โดยไม่ต้องขับไล่เขาเสียก็ได้”

“ฉันยอมตัวที่จะเข้าเป็นฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ เพราะฉันเชื่อว่า ฉันสามารถที่จะเรียกร้องความเสมอภาคกับราษฎรทุกคนในราชอาณาจักรอังกฤา ฉันขอเรียกร้องโดยย้ำว่า ฉันมีความเสมอภาค ชาติเรามิใช่ขี้ข้าของใคร ฉันไม่ถือตัวว่าเป็นขี้ข้าของใคร(ปรบมือ) แต่ความสำคัญอยู่ในข้อนี้คือ การกลับคืนสิทธิไม่อยู่ในข้อที่ว่า รัฐบาลอังกฤษจะให้เอง แต่อยู่ข้อที่ว่า เราต้องชิงเอาต่างหาก ฉันต้องการสิทธิ และฉันรู้ว่า จะเรียกสิทธินั้นคืนมาได้อย่างไร นั่นฉันทำได้ก็โดยดำเนินหน้าที่ของฉัน แมกสมูเลอร์ได้กล่าวไว้ว่า อินเดียไม่จำต้องไปหาใครเพื่อเรียนศาสนา ศาสนาอินเดียตั้งอยู่ใน ๔ ตัวคือ D-u-t-y (หน้าที่ป ไม่อยู่ที ๕ ตัว คือ R-i-g-h-t (สิทธิ) ถ้าท่านเชื่อว่าทุกๆ สิ่งที่เราต้องการเราหาไดโดยการดำเนินหน้าที่ของเราแล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจะระลึกถึงหน้าที่ของท่านเสมอ และในการดำเนินหน้าที่นั้นๆ หากจะต้องการต่อสู้อยู่บ้างท่านต้องยอม ไม่ต้องกลัวมนุษย์คนใด”

อาศัยสุนทรพจน์ ทั้ง ๒ คราวนี้ พอที่จะเห็นได้ว่าจิตเดิมของท่านคานียังตั้งมั่นอยู่ในความเชื่อว่า ในราชอาณาจักรอังกฤา ราษฎรมีความเสมอภาคทุกคน ความคิดเห็นว่าดังนี้ได้ค่อยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น เราจะเข้าใจได้จากพฤติการณ์ต่อๆ ไปของรัฐบาลอังกฤษทั้งในอินเดียและอังกฤษเอง

ส่วนความคิดเห็นอีกสายหนึ่ง คือ อินเดียจะต้องชิงเอาสิทธิกลับคืนมาจากอังกฤษ มิใช่อังกฤษจะให้เองนั้นเป็นความจริงอยู่ และคงเป็นความจริงตลอดเวลาที่อินเดียยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

สงครามโลกกับมหาตมะคานธี

คานที
การกลับมาตุภูมิ
เหตุการณ์ในอาฟริกาใต้ ได้สงบลงอย่างเรียบร้อน กระนั้นก็ดี ท่านคานธีหาได้พักผ่อนตามควรไม่ เพราะเรื่องราวยังไม่ทันจะยุติลง ท่านได้รับข่าวร้ายว่า ท่านโคเชลกำลังป่วยอยู่ที่ลอนดอนอย่างหนัก ฉะนั้น ท่านได้พร้อมกับภรรยารีบเดินทางไปยังลอนดอน โดยมีความประสงค์ที่จะพยาบาลผู้ที่ท่านนับถือว่าเป็นอาจารย์ แต่เป็นโชคดีที่ในเวลาที่ท่านคานีไปถึงกรุงอังกฤษ อาการของท่านโคเชลกำลังจะดีขึ้นโดยลำดับ พ้นระยะที่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุม่ของพยาบาล

ตรงกับเวลานี้ เสียงสงครามดังสนั่นขึ้นทั่วท้องฟ้ายุโรป ขณะที่มหาตมะคานธีพักอยู่กรุงลอนดอนนั้นเอง อังกฤษได้ประกาศสงครามกับเยอรมัน มหาตมะคานธีเห็นเป็นการสมควรที่อินเดีย ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักร ควรจะช่วยเหลืออังกฤษ ในคราวเผชิญหน้ากับสงครามโลก ท่านจึงได้ตั้งกองบรรเทาทุกข์ผู้รับอาสาสมัครแห่งอินเดีย (Indian Volunteer Ambulance Corps) ขึ้นกองหนึ่ง มหาตมะคานธีเองและภรรยาของท่าน ก็ได้รับอาสาสมัครเป็นทหารในกองบรรเทาทุกข์เหมือนกัน แต่เนื่องจากสุขภาพของท่านทั้งสองได้เสื่อมโทรมลงเพราะการต่อสู้ในภาคอาฟริกาใต้ จึงไม่สามารถที่จะทำการร่วมมือกับบรรเทาทุกข์เหล่านั้นได้นานนัก ในที่สุด จำต้องกลับไปสู่มาตุภูมิเพื่อรักษาตัวให้หาย บำรุงสุขภาพเสียก่อน

อย่างไรก็ดี การกระทำต่างๆ ของท่านคานธี เท่าที่ได้ทำมาในภาคอาฟริกาใต้ และในตอนต้นแห่งการประกาศสงคราม ได้รับความชมเชยจากรัฐบาลและองค์พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมาก ถึงกับพระราชทานเหรียญไกเซอรี-ฮินด์ ให้ ณ วันปีใหม่แห่ง ค.ศ.๑๙๑๕ เพื่อเป็นเครื่องแสดงความชมเชย พร้อมทั้งรัฐบาลและองค์อธิราช

เป็นธรรมดาที่ปวงชัยชนะในภาคอาฟริกาใต้ จะต้องเป็นเหตุให้ท่านคานธีก้าวขึ้นสู่ฐานะ เป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวอินเดีย ดังนั้นผู้ร่วมชาติทั้งหลายจึงพากันขนานนามท่านว่า “มาหตมา” ตามตัวแปลว่า ผู้มีใจกว้างขวาง แต่ความหมายบ่งถึงคำว่า มหาบุรุษ ฉะนั้น เมื่อท่านกลับมาสู่มาตุภูมิของท่านแล้ว ท่านจึงได้รับการต้อนรับจากชาวอินเดียอย่างเต็มอกเต้มใจทั่วไป ทั้งท่านเองก็รู้สึกดีอกดีใจที่ได้รับความไว้วางใจ ความเคารพรักจากผู้ร่วมชาติทั้งหลาย แต่มีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นรายหนึ่ง ซึ่งได้ทำลายความดีอกดีใจของท่านคานธีและจิตใจทั่วประเทศเสียมิใช่น้อย คือในปีนี้เอง ท่านโคเชลผู้เป็นอภิชาติบุตรแห่งอินเดีย ได้สิ้นชีวิตไป ทำให้อินเดียเต็มเปี่ยมไปด้วยความเศร้าใจอย่างล้นเหลือ

อย่างไรก็ดี งานของประเทศชาติ ย่อมไม่ชงักลงอย่างเด็ดขาด เพราะความตายของผู้นำ จำต้องมีอีกคนหนึ่งเข้ามาครองตำแหน่งนั้นทันที ฉะนั้น ตำแหน่งผู้นำซึ่งว่างเปล่าอยู่ เพราะการสิ้นชีพของท่านโคเชลนั้น มหาตมะคานธีจึงเข้าครองแทนต่อไป

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีกับสงครามอหิงสา

คานธี
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกำจัดสิทธิของชาวอาเซียได้รับพระบรมราชานุมัติ กลับกลายเป็นพระราชบัญญัติขึ้น การร้องทุกข์ การวิงวอนของท่านคานธีต่อผู้ใหญ่ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ ทั้งในภาคอาฟริกาใต้ และกรุงลอนดอน จึงมิเป็นผลแม้แต่ประการใด ฉะนั้นทางแก้ไขกฎหมายอันขัดกับหลักมนุษยธรรมให้หมดฤทธิ์ไปนั้น จึงเหลืออยู่แต่ทางเดียวคือทางการต่อสู้ การต่อต้าน ไม่ยอมดำเนินตามกฎหมาย แม้รัฐบาลจะลงโทษอย่างร้ายแรงเพียงไรก็ตาม

เพราะเหตุนี้เอง ร่างพระราชบัญญัติประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อใด มหาตมะคานธีก็เริ่มประกาศสงครามต่อรัฐบาลเมื่อนั้น แต่วิธีการของท่านได้ผิดแผกไปจากวิธีการสงครามโดยทั่วๆ ไป กล่าวคือสงครามของท่านเป็นสงครามต่อรัฐบาล ผู้ดำเนินหลักการอันขัดต่อหลักมนุษยธรรม เป็นสงครามต่อนโยบาย ซึ่งชิงเอาสิทธิจากพวกที่ไร้อาวุธ มาสะสมอำนาจของตน เป็นสงครามต่อความไม่จริง ความไม่ยุติธรรม อำนาจของรัฐบาล อาศัยความปองร้ายเป็นหลักดำเนิน และการยึดถืออาวุธเป็นเครื่องอุปกรณ์ ฉะนั้นถ้าจะต่อสู้กับอำนาจนี้ จึงต้องอาศัยความไม่ปองร้ายเป็นหลักดำเนิน และการไม่อ่อนน้อมต่ออำนาจเดรฉานศักดิ์เป็นเครื่องอุปกรณ์ นี้แหละเป็นทางต่อสู้กับอำนาจปองร้ายดังพระบรมศาสดาคือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งอินเดีย ทรงชี้ไว้เมื่อ ๒๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว มหาตมะคานธีจึงได้เลือกเอาทางนี้ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งมีอาวุธและอิทธิพลแพร่ไปเกือบทุกมุมโลก

อาศัยการแสดงปาฐกถา การเขียนบทนำลงในหนังสือพิมพ์ และยิ่งไปกว่านั้น อาศัยตนเป็นตัวอย่างท่านปลุกใจบรรดาชาวอินเดียซึ่งพำนักอาศัยอยู่ ณ ภาคอาฟริกาใต้ ไม่ให้อ่อนน้อมต่อรัฐบาลอังกฤา ตราบใดที่ไม่เลิกใช้กฎหมายฉบับใหม่นี้ คนนับจำนวนพันๆ พากันมาร่วมอยู่ภายใต้ธงของท่านคานธี พากันแห่ขบวนเดินไปตามถนนคัดค้านกฎหมายฉบับใหม่ ตามตำบลใหญ่ และตามหัวเมือง มหาชนพากันไปประชุมคัดค้านกฎหมายที่ทำลายมนุษยธรรมนั้น ฝ่ายทางอินเดียซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพวกที่กำลังจะได้รับความทรมานจากรัฐบาล หาได้อยู่เฉยๆ ไม่ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ สภานิติบัญญัติ มหาชนพากันคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ทั่วภาคอาฟริกาใต้และอินเดียตื่นเต้นไปด้วยการคัดค้านกฎหมายอันขัดต่อหลักอารยธรรม แต่เป็นสิ่งที่น่าเสียใจไม่น้อย ที่ถึงแม้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น เพื่อกำจัดสิทธิของชาวอาเซียโดยทั่วไปก็จริงแต่ไม่มีประเทศใดนอกจากประเทศอินเดีย ได้แสดงคำคัดค้านแม้แต่คำเดียว

รัฐบาลเห็นความตื่นเต้นครึกโครมอย่างไม่นึกฝันเช่นนี้รู้สึกแปลกใจในสมรรถภาพของอินเดียผู้ไร้อาวุธ กล้าต่อสู้กับมหาอำนาจเช่นอังกฤาอันประกอบไปด้วยสรรพาวุธที่ทันสมัย จึงเป็นการเหลือวิสัยที่รัฐบาลจะนิ่งอยู่ได้อีก ผลก็คือ รัฐบาลต้องลงมือปราบปรามพวกก่อการไม่สงบทันที แต่ย่อมเป็นธรรมดาที่ผู้ที่ได้อุทิศชีวิตให้แก่ประเทศชาติแล้ว ย่อมไม่มีความกลัวต่อนโยบายการปราบปรามของรัฐบาล ถึงการปราบปรามนั้นจะมีพิษร้ายแรงแฝงอยู่เพียงไรก็ตาม ในที่สุดตอนปลายปี ค.ศ.๑๙๐๗ มหาตมะคานธีและพวกพ้องอีกหลายคนได้ถูกจับ นี่นับเป็นครั้งแรกที่ท่านคานธีได้สถาปนาเรือนจำให้เป็นปูชนียสถานแก่ชาวอินเดียโดยทั่วไป

พวกพ้องของท่าน ได้รับการลงโทษให้จำคุก ๖ เดือน พร้อมทั้งให้ทำงานหนักด้วย ส่วนท่านคานธีให้จำคุกเพียง ๒ เดือน โดยไม่ต้องทำงาน ท่านเห็นความแตกต่างกันในการลงโทษเช่นนี้ จึงคัดค้านขอร้องให้ตนได้รับการลงโทษหนักกว่าคนอื่น เพราะท่านเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ แต่ศาลมิยอมปฏิบัติ ตามคำขอร้องของท่าน ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลเข้าใจเอาว่า ถ้าท่านคานธีต้องรับลงอาญาน้อยกว่าอื่นๆ คนอื่นๆ คงจะคิดน้อยใจ เอาใจออกห่างแตกแยกกับท่านแต่ตรงกันข้าม ผู้ร่วมชาติของท่านคานธี มีความไว้วางใจในตัวท่านเพียงพอ นโยบายนั้นจึงมิได้มีผลเลย

การลงโทษท่านคานธีหรือผู้นำอื่นๆ จะทำการตื่นเต้นและการคัดค้านให้สงบลงก็หาไม่ ตรงกันข้ามประชาชนเห็นความโหดร้ายของฝ่ายรัฐบาล จึงยิ่งรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลอย่างแรงกล้าขึ้น ผลที่สุดความเกลียดชังนั้นยิ่งมากขึ้นทุกที

ในที่สุด รัฐบาลสำนึกตัวได้ว่า อำนาจอาวุธและอธรรม ไม่สามารถดับอำนาจใจและธรรมได้ ฉะนั้นหลังจากที่พวกผู้ก่อการ ได้ถูกจำคุกแล้ว ๓ สัปดาห์ก็ถูกปล่อย (General Smutts) หัวหน้าฝ่ายรัฐบาล เริ่มเจรจาเรื่องกฎหมายนี้กับฝ่ายท่านคานธี มีการประนีประนอมกันตามข้อต่อไปนี้ คือ
๑. ชาวอาเซีย สมัครใจที่จะจดทะเบียนลงชื่อได้
๒. รัฐบาลนี้จะถอนกฎหมายนี้ออกทันที และไม่เก็บภาษีคนเข้าเมืองจากชาวอาเซีย

การประนีประนอมนี้ ได้ทำการตกลงกันด้วยปากบ้างเป็นลายลักษณ์อักษรบ้าง ส่วนข้อที่ว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายฉบับนั้น พลเอก สมัตส์ ได้กระทำกับท่านคานธีต่อหน้าพยานฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ

ฉะนั้น มหาตมะคานธีจึงประกาศให้ยกเลิกการต่อสู้และไปทำการจดทะเบียนที่ว่าการอำเภอตามข้อตกลง แต่เป็นโชคร้ายสำหรับท่านที่ทางการรัฐบาลยังมิได้ประกาศข้อตกลงนั้นให้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ชาวอินเดียผู้บ้าเลือดบางคน จึงกลับหุนหันเข้าใจไปว่าท่านคานธีขายชาติให้แก่อังกฤษเสียแล้ว จึงได้ประกาสเลิกการต่อสู้ เพราะความเข้าใจผิดเช่นนี้ พวกเขาจึงพากันไปทุบตีท่านคานธี ในขณะที่ท่านกำลังจะไปที่ว่าการอำเภอ อย่างไรก็ดี ท่านรอดพ้นจากอันตรายนั้นได้ แล้วหลังจากการกลับจากที่ว่าการอำเภอ ท่านได้นำข้อตกลงระหว่างท่านกับรัฐบาล ลงในหนังสือพิมพ์ และกล่าวย้ำว่ารัฐบาลจะถอนกฎหมายนี้พร้อมกับ ภาษี ๓ ปอนด์แน่นอน แต่ด้วยเหตุไรก็ตามรัฐบาลหาได้ดำเนินตามข้อตกลงนั้นไม่ กฎหมายพร้อมทั้งภาษี ๓ ปอนด์ จึงยังขูดเลือดเนื้ออยู่ตามเคย ท่านได้เตือนรัฐบาลแล้วหลายครั้งสิ้นเวลาหลายเดือน แต่รัฐบาลแกล้งทำเหมือนไม่รู้ไม่ชี้ ท่านต่อว่าพลเอก สมัตส์ ว่าเป็นผู้เสียสัตย์ ทั้งแสดงความจำนงว่า ท่านและคณะของท่านจะไม่ไว้วางใจในคำพูดของสมัตส์ หรือของรัฐบาลที่พลเอกสมัตส์เป็นผู้แทนอีก เพราะความเสียสัตย์ทางฝ่ายรัฐบาลเป็นเหตุเช่นนี้ การต่อสู้จึงได้เริ่มฟักตัวขึ้นอีก

ในคราวนี้ ท่านได้ถูกจำคุก ๒ ครั้ง แต่การต่อสู้ก็ยังคงดำเนินอยู่ดังเดิม ชาวอินเดียพากันเดินเข้าเมืองโดยไม่ยอมเสียภาษีแม้แต่สตางค์เดียว แต่ยอมให้เจ้าหน้าที่กักขังตัวไว้ในคุกตลอดเวลาที่รัฐบาลต้องการ ในที่สุดเพื่อจะทำให้มีการแตกร้าวกันขึ้น ระหว่างท่านคานธีกรับคณะรัฐบาล จึงปล่อยตัวท่านคานธีออกเป็นอิสระแต่กักขังคนอื่นไว้ ถึงกระนั้นการต่อสู้ก็ยังหาสิ้นสุดลงไม่ เมื่อท่านได้เห็นว่าการเจรจากับรัฐบาลประจำอาฟริกาใต้มิเป็นผลท่านจึงเดินทางไปยังอังกฤษ เพื่อจะทำการเจรจากับรัฐบาลกลางโดยตรงทีเดียว ในที่สุดมาใน ค.ศ.๑๙๑๑ ได้มีการตกลงชั่วคราวขึ้นระหว่างคณะอินเดียกับรัฐบาล

ข้อตกลง ค.ศ.๑๙๑๑ รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกำจัดสิทธิของชาวอาเซียเสีย ปี ๑๙๑๑ ผ่านพ้นไปแล้วในห้วงอดีต แต่ฝ่ายรัฐบาลยังคงเงียบอยู่ มาถึง ค.ศ.๑๙๑๒ เรื่องราวจะคืบหน้าต่อไปก็หาไม่ ในปีนี้ท่านโดเชลผู้นำอันลือชื่อของอินเดียในสมัยนั้น และซึ่งท่านคานธีนับถือเสมือนหนึ่งอาจารย์ฝ่ายการเมือง ไปเยี่ยมเยียนอาฟริกาใต้ อาศัยการเจรจาของท่านผู้นี้ คณะมนตรีฝ่ายสภาอาฟริกาใต้ รับภาระที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเก่า แต่ ค.ศ.๑๙๑๒ ก็ได้ผ่านพ้นไปในทำนองเดียวกันกับ ค.ศ. ๑๙๑๑ อีก

มาใน ค.ศ. ๑๙๑๓ ท่านคานธีเห็นว่า ออกจะเป็นการเหลือวิสัยที่จะไว้ใจในคำพูดของรัฐบาลอังกฤษ ได้ต่อไปอีก ผลที่สุด อหิงสา ก็ได้เริ่มขึ้นอีกระหว่างสัจธรรมกับอสัจธรรม แต่ทว่ามีกำลังรุนแรงยิ่งกว่าคราวที่แล้วๆ มา

ในที่นี้ ขอกล่าวถึงหลักสงครามอหิงสาสักหน่อยเพราะว่าหลักนี้ ท่านคานธีได้ยึดถือเป็นหลักดำเนินกิจการทั้งปวง ทั้งในภาคอาฟริกาใต้และอินเดีย และหลักนี้เองที่ทำให้ชื่อของท่านคานธี แผ่กระจายไปทั่วโลกกว้างขวางเหมือนกลิ่นดอกไม้

ถ้าหากรัฐบาลดำเนินหลักการ หรือนโยบายขัดกันกับความเห็นของประชาชน ประชาชนอาจจะต่อต้านอำนาจบริหารของรัฐบาลได้ การต่อต้านนี้มีอยู่ ๒ ประการคือต่อต้านโดยคิดทำการประทุษร้ายต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล ๑ ตามภาษาอังกฤษแปลว่า Active resistance ส่วนการต่อต้านประเภทที่ ๒ เรียกว่า Passive resistance

การที่ท่านคานธีได้ต่อต้านอำนาจบริหารของรัฐบาล โดยแสดงตนเป็นผู้ขัดขืนต่อกฎหมายนั้น นับว่าเป็นการต่อต้านประเภทที่ ๒ ฉะนั้นการต่อสู้ระหว่างท่านกับรัฐบาล ท่านจึงเคยกล่าวเสนอว่าเป็น Passive resistance แต่ครั้งหนึ่งท่านได้ไปยังที่ประชุม ชาวฝรั่งแห่งหนึ่งในภาคอาฟริกาใต้ ณ ที่นั้น ท่านได้ยินว่า ชาวฝรั่งมักตีความของคำว่า Passive resistance แคบไปกว่าอย่างที่ท่านหมายอยู่ คือว่า ฝรั่งเข้าใจไปว่า Passive resistance นับว่าเป็นวิธีการของพวกอ่อนแด ผู้ซึ่งไม่สามารถจะทำรัฐประหารโดยการประทุษร้ายได้ เพราะขาดอาวุธ แต่ความจริงในใจเขาคิดอยู่เสมอว่าจะทำการประทุษร้ายรัฐบาล ในเมื่อโอกาสจะมาถึง ฉะนั้น ตามความเข้าใจของฝรั่ง หลัก Passive resistance จึงมีความปองร้ายระบายอยู่ในตัว

ส่วนท่านคานธี ท่านเห็นไปคนละแง่ทีเดียว ท่านเห็นว่าการที่ท่านต่อต้านอำนาจรัฐบาลโดยมิคิดปองร้ายนั้นมิใช่เพราะท่านขาดอาวุธ แต่เพราะท่านเห็นว่า หลักอหิงสาเป็นหลักของเดรแนศักดิ การป้องกันหรือชิงสิทธิโดยอาศัยอาวุธสมกับสัตว์ซึ่งยังข้องอยู่ในมิจฉาจาร หาใช่เป็นทางดำเนินของผู้อ่อนแอไม่…เป็นทางดำเนินของผู้ดำรงอยู่ในสัมมาจารผู้ยึดถือความจริง ถึงจะมีอาวุธ ท่านจะไม่ยอมใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ เพราะว่าสิทธิอันชอบด้วยสัจธรรม เราสามารถชิงเอามาเป็นของตนได้ โดยอาศัยความจริง มิใช่โดยอาศัยอาวุธ สัตว์เดรฉานชิงสิทธิโดยอาศัยอาวุธ มนุษย์ผู้ใดยอมตัวลงในระดับเดียวกันกับสัตว์เดรฉานสามารถใช้อาวุธเป็นเครื่องมือได้ แต่ผู้สำนึกตนได้ว่าเป็นมนุษย์ ย่อมไม่ทำเช่นนั้น

เนื่องจากหลักของท่านคานธีมีอยู่เช่นนี้ ฉะนั้นเพื่อจะกันความเข้าใจผิด ท่านจึงเห็นสมควรที่จะเปลี่ยนคำว่า Passive resistance เสีย แล้วบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้น ความจำนงใจดังว่านี้ท่านได้นำไประบายลงในหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งได้ประกาศด้วยว่า ผู้ที่แนะนำศัพท์ที่เหมาะให้ได้ ท่านจะให้รางวัลแก่เขา ญาติของท่านผู้หนึ่งชื่อว่า มคนลาลคานธี แนะนำว่า สทาคฺรห (สตฺ+อาคฺรหะ) การยึดไว้ซึ่งสิ่งที่ดี มหาตมะคานธีเห็นชอบด้วยคำนี้ แต่แปลงเป็นสัตยาคารหะ (สฺย+อาคฺรหะ) การยึดไว้ซึ่งสัจธรรม ท่านมคนลาล จึงได้รับรางวัลตามที่ประกาศไว้ ตั้งแต่นั้นมา หลักการหรือวิธีการต่อสู้ต่อต้านของท่านคานธีจึงเรียกว่า สัตฺยาคฺรหะ และผู้ที่จะสมัครตนเป็นผู้รับอาสาสัตฺยาคฺรหะนี้ จะต้องปฏิญาณตนว่า จะไม่ทำการปองร้ายผู้ใดๆ ถึงแม้ผู้นั้นเขาจะทำร้ายแก่เราเพียงไรก็ตามที

บัดนี้ ขอย้อนกล่าวถึงการต่อสู้ครั้งที่ ๒ ที่ได้ปรารภไว้ตอนต้นอีก เมื่อเกิดมีความเข้าใจอย่างแน่วแน่ว่า รัฐบาลจะไม่รักษาคำพูดของตน ท่านคานธีได้ประกาศสัตยาเคราะห์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๓ การประกาศสัตยาเคราะห์นี้ขยายบริเวณเลยมณฑลทรานสวาลไปถึงเนตาลด้วย ตามพระราชบัญญัติกำจัดสิทธิชาวอาเซียมีว่าชาวอาเซียผู้ใดปรารถนาเข้าเมืองทรานสวาล ต้องเสียภาษีเข้าเมือง ๓ ปอนด์ ฉะนั้นท่านคานธีจึงได้รวบรวมคณะชาวอินเดียคณะหนึ่ง มีจำนวนหลายพัน แล้วนำคณะนี้เดินขบวนเข้าไปในพรมแดนทรานสวาล โดยไม่ยอมเสียภีเข้าเมือง ทุกคนในคณะนี้ได้ปฏิญาณตนว่าจะรับอาญาแทนที่จะเสียภาษีเข้าเมือง มหาตมะคานธีปฏิญาณบัญญัติฉบับนี้ ตราบนั้นท่านจะรับประทานอาหารแต่มื้อเดียว พรรคอาสาสัตยาเคราะห์ ได้เริ่มเดินทางออกจากเนตาลไปสู่พรมแดนทรานสวาล เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจไมตรีต่อพรรคอาสาสัตยาเคราะห์ เหล่ากรรมกรทั่วอาฟริกาใต้พากันหยุดงาน (Strike) ทั้งหมด มหาชนจำนวนหมื่นๆ พากันไปประชุมคัดค้านพระราชบัญญัติแทบทุกเมือง ในอาฟริกาและอินเดีย พร้อมๆ กันกับเหตุการณ์นี้ มีเหตุการณ์อีกรายหนึ่งเกิดขึ้น และทำให้การตื่นเต้นรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ศาลสูงแห่งอาฟริกาใต้ อาศัยคำร้องของรัฐบาลได้ออกประกาศ การแต่งงานของหญิง ชาวอินเดียว่าผิดกฎหมายพวกหญิงทั้งหลายจึงพากันเดินขบวนไปตามถนนของทรานสวาล คัดค้านคำพิพากษาของศาลสูง ทางอินเดียก็ได้เรี่ยไรเงิน ส่งไปช่วยเหลือการปฏิวัติตามหลักสัตยาเคราะห์ในอาฟริกาใต้คราวนี้ด้วย

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ลอร์ดฮารดินจ์ ผู้สำเร็จราชการของอินเดีย เป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญมิใช่น้อยที่ท่านผู้นี้ได้เข้ากับฝ่ายอินเดีย โดยท่านได้ร้องขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเหตุการณ์ในอาฟริกาใต้ ในอังกฤษ ลอร์ดแอมปทิลล์ ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาคณะหนึ่ง แต่รัฐบาลกล่าวคัดค้าน คณะกรรมการคณะนั้นจึงทำอะไรมิได้ กระนั้นก็ดี เนื่องจากสถานการณ์กำลังตึงเครียดขึ้นทุกที รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปล่อยตัวพวกผู้นำออกมา และจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง แต่กรรมการฝ่ายคณะนี้ มิเป็นที่พอใจของอินเดีย มหาตมะคานธีและผู้นำอื่นๆ จึงทำการบอยค๊อตคณะกรรมการนี้ และประกาศห้ามชาวอินเดียทั่วไป ไม่ให้ช่วยเหลือคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา

เมื่อได้ปรากฎว่า เพราะความดื้อดึงของฝ่ายรัฐบาลจึงมองไม่เห็นหนทาง ที่สถานการณ์จะกลับมาสู่ปรกติภาพได้ ชาวอังกฤษ ๒ คน ชื่อว่า มร. แอนดรูส์กับเปียรสัน จึงต้องทำการประนีประนอมกัน

ในขณะนั้น เผอิญเกิดมีเหตุการณ์ขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งในที่สุดกลับเป็นกรณีให้รัฐบาลอังกฤษกับชาวอินเดียประนีประนอมกันได้ กล่าวคือ ในขณะที่คณะกรรรกรอินเดียกำลังหยุดงานอยู่ และทั้งขณะที่กำลังดำเนินสัตยาเคราะห์อยู่ทั่วทุกแห่งนั้น กรรมกรอังกฤษเกิดหยุดงานตามด้วย ทำให้รัฐบาลอยู่ในแหล่งความลำบากมิใช่น้อย มหาตมะคานธีผู้มีใจตั้งมั่นอยู่ในสัจธรรม จึงประกาศเลิกสัตยาเคราะห์ทันที โดยอ้างเหตุผลว่า หลักอารยธรรมอินเดีย สอนอินเดียไม่ให้ต่อสู้กับฝ่ายที่ตกอยู่ในความลำบาก ฉะนั้นตราบใดที่รัฐบาลยังต่อสู้กับเหตุการณ์อันปัจจุบัน ตราบนั้นชาวอินเดียจะระงับสัตยาเคราะห์ชั่วคราวก่อน

การเห็นน้ำใจรัฐบาลดังว่านี้ เห็นเหตุนำมาซึ่งมิตรภาพระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับชาวอินเดีย ในภาคอาฟริกาใต้อีกประการหนึ่ง รัฐบาลเลิกพระราชบัญญัติจำกัดสิทธิชาวอาเซียอย่างเด็ดขาด และยอมให้ชาวอินเดียมีสิทธิเสมอด้วยฐานะพลเรือน (Civil Status) เท่าเทียมกับชาวอังกฤษโดยประการทั้งปวง สงครามอหิงสา ซึ่งได้เริ่มขึ้นแต่ ค.ศ. ๑๙๐๗ จึงได้ยุติลงด้วยสวัสดิภาพใน ค.ศ. ๑๙๑๔ โดยทางหิงสาจำต้องอ่อนน้อมต่อเดชพลแห่งอหิงสา

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

คานธีกับพระราชบัญญัติกำจัดสิทธิชาวผิวเหลือง

คานธี
เมื่อการกบฏสิ้นสุดลง ท่านคานธีได้กลับไปสู่โยฮันสเบอก ทำการว่าความไปตามเคย แต่การดำเนินอาชีพด้วยความสงบสุข ดูเหมือนจะไม่มีอยู่ในดวงตาของท่าน ฉะนั้นเมื่อการกบฏผ่านพ้นไปแล้วไม่กี่วันนัก รัฐบาลทรานสวาลประกาศว่าจะเสนอร่างพระราชบัญญัติจำกัดสิทธิชาวอาเซียฉบับแก้ไข (Draft Asiatic Law Amendment Ordinance) ขึ้น ให้สภานิติบัญญัติพิจารณา เป็นธรรมดาในเหตุการณ์เช่นนี้ มหาตมะคานธีจะนิ่งเงียบอยู่เฉยๆ ทำดูดายดังคนทั่วไปมิได้เป็นแน่ ท่านเข้าใจได้ทันทีว่า ถ้าชาวอินเดียส่วนรวมไม่ทำการคัดค้านการใช้พระราชบัญญัตินี้เสียในขั้นต้น ผลร้ายจะบังเกิดขึ้นแก่ชาวอินเดียอย่างแน่ท่านจึงได้เรียกประชุมคณะผู้ใหญ่ชาวอินเดียในอาฟริกาใต้เพื่อหารือว่า ควรปฏิบัติอย่างไร ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรก็จงทำเถิด ชาวอินเดียจะไม่ยอมดำเนินตามพระราชบัญญัตินี้เป็นอันขาด เพื่อซ้อมความเข้าใจในเรื่องนี้ให้แน่นอนทั่วไป และเพื่อก่ออานุภาพขึ้นในจิตใจของชนชาวอินเดีย ที่พำนักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น ท่านจึงได้กำหนดวันทำการปฏิญาณตนว่าจะไม่ยอมดำเนินตามพระราชบัญญัติ ที่สภานิติบัญญัติได้เสนอขึ้นนี้โดยเด็ดขาดและมีโอกาสเมื่อใดจะขัดขืนเมื่อนั้น วันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๐๖ ท่านได้นัดประชุมทำการปฏิญาณตนดังกล่าวแล้ว ทั้งท้าให้รัฐบาลลงโทษในฐานะเป็นผู้ขัดขืนกฏหมายได้ตามแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร

อนึ่ง ถึงรัฐบาลทรานสวาลจะเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นก็จริง แต่การที่จะประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติได้นั้น ต้องอาศัยการทรงเห็นชอบของพระเจ้ากรุงอังกฤษ ฉะนั้น ท่านคานธีจึงเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องเดินทางไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อทำการเจรจากับผู้ใหญ่ในวงการรัฐบาล ขอให้สั่งระงับร่างพระราชบัญญัตินี้ มิให้ออกเป็นกฎหมายได้ ในที่สุดแห่งการคัดค้านของลอร์ด เอลกิน ได้ออกคำสั่งให้งดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ไว้ชั่วคราว แต่การสั่งงดนี้หาได้ยืดเวลาอยู่นานเท่าไรไม่ คืออีกไม่กี่วันร่างนั้นกลับได้รับการยินยอมจากสภานิติบัญญัติอีก แล้วโดยอาศัยพระบรมราชานุมัติ ทางการของรัฐบาลได้ประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติจนได้

การสงครามตามหลักอหิงสา ระหว่างท่านคานธีกับรัฐบาลอังกฤษเริ่มขึ้นแต่นี้ไป

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

คานธีผู้พยาบาลกาฬโรคและนำกองบรรเทาทุกข์

คานธี

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ กาฬโรคได้ระบาดขึ้นในเมืองโยฮันสเบอก (Johanesburg) ทั้งนี้เพราะทางการเทศบาบซึ่งมีสมาชิกล้วนเป็นชาวอังกฤา ไม่ค่อยจะเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของชาวผิวเหลือง หนังสือพิมพ์ Indian Opinion ได้ลงบทนำแนะนำเทศบาลให้แก้ไขการสุขาภิบาลของเมืองโดยทั่วไป ถึงกระนั้นถ้าตำบลนั้นๆ ไม่เป็นที่อยู่ของฝรั่ง ทางการเทศบาลก็หาได้เอาใจใส่ประการใดไม่

เมื่อกาฬโรคแรกเกิด ยังไม่ระบาดแพร่หลาย มีคนป่วยตายเพียง ๒-๓ ราย ท่านคานธีได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้จัดการปราบเสียแต่เนิ่นๆ แต่ทางการของรัฐบาลกลับทำไม่รู้ไม่ชี้ และปฏิเสธข่าวเสียสิ้น รายงานร้องทุกข์ของท่านจึงมิเป็นผลแม้แต่น้อย

ต่อมาอีกอาทิตย์หนึ่งเท่านั้น กาฬโรคได้แพร่ไปทั่วเมืองถึงกับทางการของรัฐบาลและเทศบาลไม่สามารถที่จะปฏิเสธข่าวได้อีก กระนั้นก็ดี ทางการยังหาได้จัดการประการใดไม่ มหาตมะคานธีเมื่อเห็นว่ากาฬโรคกำลังระบาดยิ่งขึ้น แต่เทศบาลยังนิ่งนอนใจอยู่เหมือนทองไม่รู้ร้อน จึงพร้อมกับมิตรสหาย ๒-๓ คน จัดการตั้งโรงพยาบาลส่วนตัวขึ้น และท่านเองก็ได้ลงมือทำหน้าที่เป็นผู้พยาบาลด้วย ในกิจการส่วนนี้ แม้เทศบาลที่เคยเพิกเฉยก็ได้ชมเชยท่านคานธี ผู้อุทิศชีวิตร่างกายสำหรับสาธารณะประโยชน์เช่นนี้เหมือนกัน

ในที่สุด กาฬโรคได้สงบลง โดยได้ผลาญชีวิตพลเมืองเสียมิใช่น้อย แต่ทว่าก่อนที่พิษร้ายแห่งกาฬโรคจะหมดสิ้นลงนั้น เหตุการณ์อันน่าหวาดเสียวได้แทรกขึ้นอีกรายหนึ่ง ทำให้ท่านคานธีจำต้องอำลาบ้านเรือนอันสงบสุขไปทำการบรรเทาทุกข์ในสนามรบ อันชุ่มชื้นไปด้วยหยาดโลหิต สาเหตุนี้ เนื่องมาแต่การกบฏของชาวเมืองต่อรัฐบาลอังกฤษนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอาฟริกาใต้ จึงไม่จำเป็นที่จะกล่าวในที่นี้ ขอพูดเพียงแต่ว่า การเป็นอยู่อย่างอิสระเป็นนิสัยสันดานของมนุษย์ แม้ตลอดถึงสัตว์ด้วย มนุษย์ถึงจะเป็นอนารยะชนสักเพียงไรก็ตาม ย่อมไม่ยอมที่จะแลกเปลี่ยนอิสรภาพ กับอารยธรรมคือไม่ยอมที่จะรับเอาอารยธรรมโดยเสียสละความเป็นอิสระจึงย่อมเป็นธรรมดาที่ชาวพื้นเมือง จะก่อการกบฎต่อรัฐบาลที่ทำลายอิสรภาพของเขา โดยอาศัยการอำนวยอารยธรรมเป็นเครื่องตัดรอนอิสรภาพลง

ท่านคานธีได้สันนิษฐานไว้แต่ก่อนแล้วว่า เรื่องราวระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับชาวพื้นเมืองนั้น ในที่สุดจะเป็นเหตุให้นองเลือด จึงได้ส่งครอบครัวไปอยู่เสียที่นิคมพีนิกส์ และได้จัดกองบรรเทาทุกข์ชาวอินเดียเตรียมล่วงหน้าไว้

ในการจัดการบรรเทาทุกข์ครั้งนี้ ชั้นแรกเมื่อท่านได้มองเห็นสถานการณืของชาวพื้นเมืองอันน่าอนาถ ท่านต้องต่อสู้กับใจตนเองหลายครั้งหลายหนว่า การที่ท่านยอมตนเข้าเป็นฝ่ายอังกฤษนั้น เป็นการชอบด้วยธรรมหรือ ฝ่ายที่ประกอบด้วยอาวุธทันสมัย ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เข้ามาแย่งชิงท้องถิ่นที่อยู่ที่กินของผู้อื่น ทำลายอิสรภาพของเขา ยึดที่ดินไว้เป็นของตน และเหยียบย่ำเจ้าของเดิมลงเป็นทาส ฝ่ายนั้นชอบด้วยธรรมหรือว่า ฝ่ายที่กล้าต่อต้านฝ่ายบุกรุกด้วยมือเปล่า พลีชีวิตเพื่อรักษาอิสรภาพล้มตายระเนระนาดอยู่ตามพื้นเหมือนมดที่ถูกบี้ถูกเฆี่ยนจนหนังถลอกปอกเปิดล้มสลบอยู่ตามใต้พุ่มไม้ และในบ้านเรือนของตน ฝ่ายนั้นชอบด้วยธรรม คำตอบปัญหานี้ ท่านได้รับหลังจากการนึกคิดและการพบเห็นความเป็นไปแห่งการกบฏคราวนี้นี้น คือประวัติชีวิตต่อไปของท่านคานธี

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี