มหาตมะคานธีกับเหตุร้ายในปัญจาบ

Socail Like & Share

คานธี
ไฟลุกทั่วอินเดีย
เหตุร้ายในปัญจาบ
ในเมื่อเหตุการณ์ในอินเดียกำลังตกอยู่ในอาการไม่สงบดังว่านี้ ได้มีเหตุร้ายแทรกแซงเข้ามาอีกรายหนึ่ง อันทำให้ไมตรีจิตระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับอินเดีย จำต้องสลายลงโดยไม่หวังจะกลับคืนดีได้ กล่าวคือดังได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อรัฐบาลได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะนำร่างพระราชบัญญัติเราว์แลตต์ขึ้นเสนอต่อสภานิติบัญญัตินั้นได้มีการคัดค้านกันทั่วอินเดีย เมืองอมฤตสร เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในปัญจาบ ชาวอมฤตสรก็ได้ตั้งใจว่าจะประชุมคัดค้านร่างพระราชบัญบัตินั้น ดังที่เมืองอื่นๆ เขาทำกันอยู่ ที่เมืองนั้นมีสนามใหญ่อยู่แปลงหนึ่งมีกำแพงล้อมรอบแต่มีทางเข้าออกอยู่เพียงทางเดียว พลเมืองพากันไปประชุม ณ สนามนี้ มีจำนวนมากมายนับพันๆ เมื่อทางการของรัฐบาลได้รับข่าวการประชุมนั้น ข้าหลวงประจำมณฑลปัญจาบ ชื่อ เซอรไมแคล โอไดเอรก็รีบส่งกองทหารกองหนึ่งภายใต้บังคับบัญชาของนายพล ไดเอรไปท่านผู้นี้ครั้นไปถึงสนามซาเลียนวาลาวาคแล้ว ก็สั่งให้ทหารเข้ายึดประตูทางเข้าออกไว้ และไม่ยอมอนุญาตให้ใครเข้าออกอีก แล้วสั่งให้ปิดประตูเสียทันที เนื่องจากสนามนั้นมีกำแพงล้อมรอบและมีทางเข้าออกอยู่แต่ทางเดียว ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ถึงจะปิดประชุมแล้วก็ไม่มีใครสามารถออกจากสนามนั้นได้ แล้วนายพลไดเอรออกคำสั่งให้ทหารยิงกราดไปยังประชุมนั้น พลเมืองผู้ไร้อาวุธได้ถูกยิงล้มระเนระนาด อย่างไร้เมตตากรุณาและมนุษยธรรม กล่าวตามสำนวนของท่านลาลาลาซปัตรายว่ายิงคนเหมือนยิงกระต่ายป่า ผู้คนได้ล้มตายไปนับร้อยๆ และได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นพันๆ ผู้นำทั้งหลายผู้มีการศึกษาชั้นสูงผู้เป็นที่เคารพบูชาของคนทั่วประเทศ ได้ถูกบังคับให้คลานไปตามถนนจนหนังฝ่ามือและหัวเข่าถลอก แล้วยังนำไปเฆี่ยนตีตามสถานที่เปิดเผยอีกด้วย อารยประเทศทั้งหลายต่างมองดูความดุร้ายของรัฐบาลปัญจาบด้วยความตะลึงอินเดียรู้สึกสลดใจในความไร้มนุษยธรรมแห่งนโยบายของรัฐบาล ทำให้ไฟลุกโชนยิ่งขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

แม้ท่านมหากวีรพีนทฺร นาถ ถากูร ผู้ซึ่งไม่เคยเกี่ยวข้องในเรื่องการเมืองเลย ก็ไม่สามารถที่จะทนมองดูความดุร้ายของรัฐบาลอยู่ได้ ท่านจึงเขียนหนังสือกราบบังคมทูลขอถวายบรรดาศักดิ์ตำแหน่งเซอร คืนพระมหากษัตริย์ โดยอ้างเหตุผลว่า การรับบรรดาศักดิ์ของรัฐบาลซึ่งดำเนินนโยบายอย่างไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ไว้ รู้สึกว่าเป็นการทำลายเกียรติยศของตนเอง

ทั่วอินเดีย คัดค้านการกระทำคราวนี้ของเซอรไมเคลอย่างรุนแรง ในที่สุดรัฐบาบจำต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง ภายใต้อำนวนการของท่านฮันเตอรให้ทำการไตสวนเหตุการณ์ในปัญจาบ อินเดียหวังว่ารัฐบาลจะต้องคณะกรรมาธิการขึ้นโดยอาศัยอำนาจอันมาจากองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง แต่เหมือนกับทุกคราว ความหวังนั้นได้หมดสิ้นดับสูญไปโดยมิเป็นผล

เมื่อคณะกรรมาธิการฮันเตอรเข้ามาทำหน้าที่สอบสวนเหตุการณ์ในปัญจาบครั้งนั้น ได้เกิดมีความเห็นแย้งกับคองเกรส ทั้งนี้เนื่องมาแต่สาเหตุที่คณะกรรมาธิการไม่ยอมรับพยานของท่านซึ่งยังถูกกักขังอยู่ ดังนั้น คองเกรสจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นคณะหนึ่ง ภายใต้ความควบคุมของท่านคานธี คณะนี้ได้ทำการไต่สวนสอบถามปากคำพยานกว่า ๑,๙๐๐ คน รายงานเรื่องนี้กินหน้ากระดาษ ๖๕๐ กว่าหน้า ทั่วประเทศรับรองรายงานนั้นว่าเป็นการสอบสวนและความเห็นอย่างยุติธรรมที่สุด

แต่ทว่ารัฐบาล จะได้ดำเนินเรื่องตามรายงานนี้ก็หาไม่ ตรงกันข้ามรัฐบาลกลับไปยึดถือรายงานของคณะกรรมาธิการ ฮันเตอร ซึ่งคองเกรส และทั่วอินเดียบอยค๊อตโดยไม่ยอมมีส่วนเกี่ยวข้อง และเห็นร่วมว่าเป็นความเห็นที่บริสุทธิ์และยุติธรรม

หลังจากการประกาศรายงาน ของคณะคองเกรสไม่กี่วันนัก รายงานคณะกรรมาธิการฮันเตอรก็ออกโฆษณาคณะนี้ได้กล่าวหาคณะสัตยาเคราะห์ ว่าเป็นต้นเหตุแห่งเรื่องร้ายที่เกิดมีขึ้นในปัญจาบ ส่วนการยิงที่นายพลไดเอรกระทำไปนั้น เห็นว่าเป็นเพราะความเข้าใจผิดเท่านั้น กระนั้นก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย คือ มร.มันเตกู ก็ยังกล้าคัดค้านการกระทำนั้นได้อย่างป่าเถื่อนภายในสภาสามัญแห่งปารเลียเมนตฺ และกลับสรรเสริญความเฉลียวฉลาดของเซอรไมเคล และผู้สำเร็จราชการซึ่งไม่รับรู้ในเหตุการณ์ในปัญจาบนั้น

ความเห็นของคณะกรรมาธิการ ฮันเตอร พร้อมทั้งความเห็นของมันเตกู เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายขึ้นทั่วอาณาเขตอินเดีย หนังสือพิมพ์รวมหัวกันเขียนบทนำบังคับให้ผู้สำเร็จราชการ เซอรไมเคล และนายพลไดเอร ลาออกจากตำแหน่งโดยพาดหัวว่า “Chelmsford must go” ในที่สุดเรื่องเหตุร้ายในปัญจาบ ได้ถูกนำขึ้นพิจารณาในสภาสามัญแห่งปารเลียเมนตฺ มร. แอสกวิท มร.เซอรซิลล์ได้กล่าวถึงความยุติธรรมของรัฐบาลอังกฤษ ที่ได้กระทำมาตั้งแต่สมัยกระโน้น แต่ว่าสมาชิกส่วนมากเห็นด้วยกับการกระทำของนายพลไดเอร เมื่อเรื่องนี้ผ่านสภาสามัญไปถึงสภาขุนนางสภาขุนนางได้เสนอญัตติขอให้อภัยโทษแก่นายพลไดเอร อินเดียตกตะลึงเมื่อได้ประสบชีวิตความอยุติธรรมของสภาปารเลียเมนตฺอย่างหาที่เปรียบไม่ได้เช่นนี้

ถึงแม้สภาขุนนางจะให้อภัยโทษแก่นายพลไดเอรก็ตาม แต่อินเดียไม่สามารถที่จะให้อภัยโทษได้ เพราะผู้ที่สิ้นชีวิตไปเพราะกระสุนปืน ผู้ที่หลังถลอกปอกเปิดเพราะความโหดร้ายของรัฐบาล คนเหล่านั้นเป็นเลือดเนื้อของอินเดีย เป็นพี่น้องร่วมทุกข์ของชาวอินเดีย ฉะนั้นเสียงสรรเสริญดังสนั่นขึ้นทั่วเกาะอังกฤษและหมู่ชนอังกฤษเพียงใด เสียงคัดค้านก็ยิ่งเร่งขึ้นในอินเดียเพียงนั้น ในที่สุดรัฐบาลเห็นเป็นการจำเป็นแท้ที่จะต้องปลดเซอรไมเคลและนายพลไดเอร ออกจากตำแหน่ง เสียงมหาชนสามารถบันดาลให้เสียงรัฐบาลดับมอดลงอย่างสนิทด้วยประการฉะนี้

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี