หลักการต่อสู้แบบอหิงสาของคานธี

Socail Like & Share

คานธีโครงการไม่ร่วมมือ
ดังนั้นอาศัยเหตุการณ์ ๒ ประการคือ ความดื้อดึงของรัฐบาลที่ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน ในอันที่เกี่ยวแก่กฎหมายดำ กับความเสียสัตย์ต่อชาวอิสลาม มหาตมะคานธี จึงได้วางหลักการแห่งการไม่ร่วมมือตามจุดหมายข้างต้นไว้เป็นทางปฏิบัติต่อไป ท่านได้แบ่งหลักการไม่ร่วมือไว้เป็น ๔ ขึ้น
ขั้นที่ ๑  ต้องคืนบรรดาศักดิ์ และตำแหน่งกิตติมศักดิ์
ขั้นที่ ๒  ต้องไม่ยอมรับราชการ และทั้งไม่ยอมช่วยเหลือในการบริหารราชการทุกประการ
ขั้นที่ ๓  ต้องไม่ยอมเสียภาษี
ขั้นที่ ๔  ตำรวจและทหารต้องลาออก ไม่ช่วยเหลือราชการแม้แต่ประการใด

หลักการปฏิบัติมีอยู่ว่า เมื่อได้ทำการขึ้นที่ ๑ บรรลุผลแล้ว จะลงมือทำขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ โดยลำดับไป

เพื่อเป็นตัวอย่างในการไม่ร่วมมือตามว่านี้ ท่านได้คืนเหรียญไกเซอรี-ฮินด์ ที่ท่านได้รับจากรัฐบาลมอบให้แก่ผู้สำเร็จราชการโดยเขียนจดหมายกำกับด้วยฉบับ ๑ มีข้อความต่อไปนี้

“เหตุการณ์เท่าที่ได้เกิดมีขึ้นในเดือนที่แล้วมาย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลขององค์จักรพรรดิ์ ได้ดำเนินกิจการอันเกี่ยวแก่พระเจ้าขลิฟา อย่างไม่เลือกเฟ้นความดีความชั่วอย่างผิดศีลธรรมและยุติธรรม มิหนำซ้ำยังประกอบกรรมทำความผิด เพื่อจะสนับสนุนความบกพร่องความขาดศีลธรรมของตนอยู่เรื่อยๆ ไปอีกเล่า ฉันจึงไม่สามารถที่จะแสดงความเคารพ หรือทนจงรักต่อรัฐบาลเช่นนี้อยู่ได้”

“พณฯ ท่าน ได้พิจารณาความผิดของพวกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอย่างไม่เห็นเป็นสำคัญ ยกโทษให้แก่เซอรไมเคล โอไดเออร์ และสิ่งที่น่าอับอายขายหน้ายิ่งกว่านั้นคือ พณฯ ท่านไม่ยอมรับรู้ในเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในปัญจาบ มร.มันเตกูรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย ได้ลงบันทึกความเห็นเกี่ยวแก่เรื่องนี้ไว้อย่างที่อินเดียไม่พอใจ สภาขุนนางก็ได้แสดงท่าทีไม่เอาใจใส่ในความรู้สึกของอินเดีย เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ฉันระแวงใจในอนาคตแห่งราชอาณาจักร และได้ทำลายความหลงของแน ในรัฐบาลปัจจุบันเสียโดยสิ้นเชิง ทั้งเป็นเหตุทำให้ฉันไม่ยอมร่วมมือกับรัฐบาลด้วยความจงรักภักดีที่ฉันได้เคยกระทำมาก่อนจนถึงบัดนี้ด้วย

ตามความเห็นของฉัน วิธีการธรรมดาเช่นยื่นคำร้องส่งคณะผู้แทนไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นเหล่านี้ ไม่เป็นกรณีที่จะทำให้เกิดความสำนึกตัวขึ้นในใจรัฐบาล ซึ่งไม่เหลียวแลผลประโยชน์ของปวงประชาชนเสียเลย เช่น รัฐบาลอินเดียนี้ได้ ถ้าเป็นประเทศในทวีปยุโรป ผลแห่งความผิดอย่างร้ายแรง เช่นเรื่องพระเจ้าขลิฟากับเหตุร้ายในปัญจาบครั้งนี้ อาจถึงกับทำให้ประชาชนก่อการปฏิวัติขึ้นอย่างนองเลือดทีเดียว พวกเขาคงยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อต่อต้านกับการกำจัดกำลังของชาติ อินเดียครึ่งหนึ่งยังขาดความสามารถที่จะก่อการปฏิวัติอย่างนองเลือดได้ แต่อีกครึ่งหนึ่งสามารถทำได้แต่ไม่สมัครจะทำ ฉันจึงกล้าแนะนำการไม่ร่วมมือให้เป็นทางแก้ไข ทั้งนี้ก็เพราะหวังอยู่ว่าผู้ที่ไม่ปรารถนาจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาล จะได้ดำเนินหลักการดังนี้ไปได้อย่างเรียบร้อย โดยไม่ต้องประทุษร้ายต่อบุคคลใดๆ เลยแล้วไซร้ รัฐบาลก็จะต้องหันหลังกลับมาแก้ความผิดที่ได้กระทำมาแล้วโดยแท้ แต่ทว่า ถึงฉันจะสามารถดำเนินหลักการไม่ร่วมมือ พร้อมด้วยประชาชนเท่าที่ฉันอาจนำเขาไปได้จริง แต่ก็ยังไม่หมดหวังว่า พณฯ ท่านคงมองหาลู่ทางแสดงความยุติธรรมให้จงได้ ฉันจึงขอร้องต่อ พณฯ ท่านด้วยความเคารพว่า ขอให้ท่านเรียกประชุมบรรดาผู้นำของชาติที่ประชาชนรับรองกันจริงๆ แล้วปรึกษาหารือช่วยมองหาทางที่จะนำให้ชาวอิสลามรู้สึกพอใจและปลอบขวัญชาวปัญจาบผู้ไร้ความผาสุกให้สดชื่นขึ้น”

แต่ว่าการที่จะแนะนำหลักการไม่ร่วมมือเป็นหลักดำเนินของอินเดีย ในการสู้รบกับรัฐบาลนั้น ต้องอาศัยการยินยอมของสภาคองเกรสเสียก่อน เพราะว่าสภาคองเกรสประดุจจะดังเป็นคณะราษฎรทั่วไปของอินเดีย ฉะนั้นหลักการหรือวิธีการใด คองเกรสรับรองหรือแนะนำอินเดียส่วนมากย่อมดำเนินตามหลักการหรือวิธีการนั้น เพราะเหตุนี้ ท่านคานธีจึงเห็นเป็นการจำเป็นที่คองเกรสจะต้องเรียประชุมพิเศษโดยด่วน”

คองเกรสได้นัดประชุมพิเศษ ณ เมือง กัลกัตตา เมื่อวันที่ ๑ เดือน สิงหาคม ค.ศ.๑๙๒๐ มหาตมะคานธีเสนอญัตติขอให้คองเกรสรับรองหลักการไม่ร่วมมือโดยถ้อยคำสำคัญดังต่อไปนี้

“ด้วยรัฐบาลของพระเจ้าจักรพรรดิ์ และรัฐบาลอินเดียมิได้ดำเนินการตามหน้าที่ของอิสลาม ในอันที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องพระเจ้าขลิฟา อัครมหาเสนาบดีเสียสัตย์ต่อชาวอิสลาม ทั้งนี้เห็นว่าย่อมเป็นหน้าที่ของชาวอินเดียผู้ไม่นับถือศาสนาอิสลามจะต้องช่วยเหลือพี่น้องของเขาคือชาวอิสลาม ในกรกำจัดอันตรายที่กำลังครอบงำศาสนาของเขาอยู่ โดยอาศัยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย”

“ด้วยรัฐบาลมิได้เอาใจใส่หรือป้องกันพวกไม่มีมลทิลในปัญจาบจากเหตุการณ์ที่ได้บังเกิดขึ้น ในเดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๑๙ ทั้งมิได้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในความประพฤติอย่างคนป่าเถื่อน และไม่สมกับเกียรติยศของทหาร มิหนำกลับทำให้เซอร์ไมเคล โอไดเออร์ ผู้ต้องรับผิดชอบในความผิดชอบของเจ้าหน้าที่ โดยทางอ้อมก็ดี ทางตรงก็ดี หรือและผู้ไม่เอาใจใส่ในความทุกข์ทรมานของประชาชนซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเขาเหล่านั้นหลุดพ้นจากโทษไปเสีย”

“ด้วยการอภิปรายกันในสภาสามัญ และสภาขุนนางได้แสดงให้เห็นว่า สภาทั้งสองขาดความเห็นอกเห็นใจชาวอินเดีย และสนับสนุนนโยบายการประหัตประหาร (Terrorism) ดังได้ดำเนินมาแล้วในปัญจาบ”

“ด้วยคำแถลงการณ์ของผู้สำเร็จราชการ ฉบับที่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงว่ารัฐบาลไม่มีความรู้สึกเสียใจในเรื่องพระเจ้าขลิฟาและปัญจาบ”

“สภาคองเกรสนี้จึงเห็นว่า ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่แก้ไขความผิดของตนและทำขวัญ ตราบนั้นจะไม่มีความสงบในอินเดีย และว่ามีอยู่ทางเดียวที่จะรักษาเกียรติยศของชาติ และป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายเช่นเดียวกันนี้ในอนาคตอีก ทางนั้นคือ การตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้น สภาคองเกรสยังมีความเห็นเลยไปอีกว่า สำหรับชาวอินเดียไม่มีทางดำเนินอื่นใดเลือกอีก นอกจากที่จะรับรองและดำเนินนโยบายคือการไม่ร่วมมือตามหลักอหิงสา จนกว่าการกระทำผิดทั้ง ๒ กระทงนั้นจะได้รับการแก้ไข และจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นได้”

“และเนื่องด้วยผู้ที่จะเป็นผู้นำ สำหรับโครงการนี้ต้องเป็นผู้ที่เคยได้ดัดแปลงมติของมหาชน และแทนมาแล้วจนตราบเท่าทุกวันนี้”

“และเนื่องด้วยความมั่นคงแห่งอำนาจรัฐบาลย่อมอาศัยทางคือ การใช้บรรดาศักดิ์ โรงเรียนภายใต้การดูแลของรัฐบาล ศาลและสภานิติบัญญัติ”

“และเนื่องด้วยการดำเนินหลักการต่อสู้ เพื่อบรรลุผลสำเร็จ ควรจะดำเนินไปในทางที่ประชาชนจะได้รับอันตรายน้อยที่สุด และเสียสละก็น้อยที่สุด สภาคองเกรสจึงแนะนำประชาชนทั้งหลายขอให้
ก. คืนบรรดาศักดิ์และลาออกจากตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และสมาชิกประเภทที่ ๒ (รัฐบาลเลือกตั้งทั้งหมด)
ข. ไม่ยอมรับเชื้อเชิญในพิธีงานฉลองต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นพิธีทางราชการหรือกึ่งราชการ ทั้งไม่ยอมรับเชื้อเชิญไปในพิธีเฝ้าแหนทั้งหมดด้วย
ค. ค่อยๆ ถอนกุลบุตรและกุลธิดา ออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ผู้บำรุงหรือควบคุม และจัดตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแห่งชาติขึ้นทุกมณฑล
ง. ค่อยๆ บอยค๊อตศาลอังกฤษ ทั้งฝ่ายทนานความและลูกความ และจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการส่วนตัวขึ้นเพื่อตัดสินคดีระหว่างกันเอง
จ. ไม่ยอมรับอาสาเป็นทหาร เสมียน และกรรมกรไปสงครามเมโสโปเตเมีย
ฉ. ถอนใบสมัครเป็นสมาชิกสภา ทั้งไม่ยอมให้เสียงแก่ผู้สมัครผู้ใด ซึ่งสมัครโดยขัดขืนคำขอร้องของสภาคองเกรส
ช. ด้วยหลักการไม่ร่วมมือ ต้องอาศัยวินัยและการเสียสละ ซึ่งถ้าขาดวินัยและการเสียสละแล้วไม่มีชาติใดที่จะบรรลุถึงความเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้
ซ. ด้วยในการต่อสู้แม้จะเป็นขั้นแรกควรจะเปิดโอกาสให้แก่ชายหญิงและเด็กทุกคน แสดงวินัยและการเสียสละได้

สภาคองเกรสจึงแนะนำให้ใช้ผ้าเฉพาะที่ทำขึ้นในอินเดียเอง

ด้วยโรงทอผ้าต่างๆ เท่าที่มีอยู่ในอินเดีย และซึ่งเป็นทุกอย่างของอินเดีย และอยู่ภายใต้การดูแลของอินเดียไม่สามารถทำด้ายและผ้าได้ พอกับจำนวนความต้องการของชาติ สภาคองเกรสนี้จึงแนะนำพวกทอผ้า (แบบทอด้ายหูก) ให้เริ่มทำการทอผ้า อันเป็นงานอาชีพที่มีการบำรุง”

เมื่อมหาตมะคานธีเสนอญัตติดังกล่าวมานี้จบลงเสียงปรบมือได้ดังสนั่นขึ้นทั่วทุกมุมห้องประชุม แต่มีข้อที่ทำให้ถึงกับเกิดการโต้เถียงขึ้นเล็กน้อย ๒ ข้อ คือ การถอนกุลบุตรกุลธิดาออกจากโรงเรียน กับการลาออกจากสมาชิกสภา แต่ข้อต้นมีการโต้แย้งกันมากกว่าข้อ ๒ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่บรรดาโรงเรียนต่างๆ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลทั้งสิ้น ในฐานะเป็นเจ้าของบ้าง เป็นผู้บำรุงบ้าง เป็นผู้ดูแลบ้าง เมื่อเป็นดังนั้นถ้าถอนนักเรียนออกจากโรงเรียนเสียหมด ก็แปลว่าจะไม่มีที่เล่าเรียนต่อไป แต่เหตุผลของท่านคานธีมีอยู่ว่า หลักการไม่ร่วมมือนี้มิได้หมายความว่าจะทำกันตลอดไป เป็นเพียงวิธีดำเนินการต่อสู้ระหว่างอินเดียกับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อกู้เกียรติยศของชาติ เพื่อกู้ประเทศให้เป็นอิสระชั่วคราวเท่านั้น ฉะนั้นการถอนนักเรียนออกจากโรงเรียน จึงนับว่าเป็นการกระทำเฉพาะชั่วคราว เมื่อยามการต่อสู้ผ่านพ้นไปแล้วนักเรียนจะได้เล่าเรียนเช่นเคยต่อไป เพราะเหตุนี้ โดยเห็นแก่ประโยชน์จำนวนใหญ่หลวงของชาติ ท่านจึงขอให้ผู้ปกครองทั้งหลายดำเนินการตามหลักนี้ชั่วคราว

ในที่สุด หลังจากการเปิดอภิปรายกันแล้ว ประธานขอให้มีการออกเสียงสำหรับญัตติของท่านคานธี สมาชิกมาประชุม ๕๘๑๔ คน ได้เสียงฝ่ายรับรอง ๓๘๒๘ เสียง ฝ่ายค้าน ๑๙๒๓ เสียง เหลืออีก ๖๓ คน ไม่ยอมออกเสีย

สภาจึงรับรองญัตติของท่านคานธี ไว้เป็นหลักการดำเนินของคองเกรสต่อไป

เมื่อท่านคานธีชนะเสียงโหวตดังนี้แล้ว ท่านผู้นำอื่นๆ ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็พลอยรับหลักการของท่านคานธีเป็นทางดำเนินด้วย โดยหวังกันว่าการประชุมสภาคองเกรสคราวนี้ เป็นสมัยประชุมวิสามัญมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักการใหม่ได้ เมื่อสภาคองเกรสจะประชุมในสมัยสามัญเดือนธันวาคม

พอถึงเดือนธันวาคม สมัยประชุมสามัญคองเกรสได้นัดประชุมที่เมืองนาคปุระ แต่ตรงกันข้ามกับความคาดหมายของท่านผู้นำเหล่านั้น คือในการประชุมคราวนี้มหาตมะคานธีได้ชนะคะแนนโหวตโดยไม่มีเสียงค้าน แม้แต่เสียงเดียว มิหนำซ้ำการประชุมคราวนี้ กลับทำให้วัตถุประสงค์ของคองเกรสเปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์เดิม ในข้อที่ว่า จะอยู่ภายในราชอาณาจักรอังกฤษ (Within the Brithish Empire) โดยมีสิทธิเท่าเทียมกันเป็น “เสรีภาพ” โดยไม่สำคัญต่อการปกครองของอังกฤษ (indifferent to British overloroship)

ท่านจิตรัญชันทาส ได้เป็นผู้นำคณะฝ่ายค้านท่านคานธีในการประชุมที่เมืองกัลกัตตา ท่านผู้นี้สำเร็จวิชากฎหมายมาจากประเทศอังกฤษ เป็นเนติบัณฑิตว่าความที่ศาลฎีกา ณ เมืองกัลกัตตา ชื่อเสียงในทางว่าความของท่านได้แผ่ไปทั่วอินเดีย ระหว่างเวลาที่มหาตมะคานธีกำลังเตรียมหลักการไม่ร่วมมือขึ้นเป็นหลักการปฏิบัติของคองเกรสนั้น รายได้ของท่านผู้นี้มีจำนวนสูงมาก ตกเดือนละ ๕๐,๐๐๐ รูปี ยิ่งกว่านั้นในขณะนั้นท่านกำลังรับจ้างรัฐบาลอินเดียเป็นทนายว่าความคดีรายหนึ่ง โดยตกลงราคาค่าจ้างเป็นงวดๆ ละ ๘๐,๐๐๐ รูปี

ในเรื่องหลักการไม่ร่วมมือ ความเห็นของท่านมีอยู่ว่า คองเกรสไม่ควรจะบอยค๊อตรัฐธรรมนูญที่เพิ่งได้รับมาใหม่ คือควรสมัครเป็นสมาชิกตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นแล้วเข้าควบคุมกิจการของรัฐบาล โดยอาศัยอำนาจสภาเป็นเครื่องมือ แต่สำหรับในการประชุมคองเกรส ณ เมืองนาคปุระ ท่านมหาตมะคานธีได้ขอร้องให้ท่านดำเนินตามหลักไม่ร่วมมือไปพลางก่อน ต่อเมื่อหลักการนั้นไม่บรรลุผลสำเร็จ จึงค่อยดำเนินตามหลักของท่านในภายหลัง ท่านจิตรัญชันทาสได้ยอมปฏิบัติตามคำขอร้องของท่านคานธี ญัตติของท่านจึงได้ผ่านสภาไปโดยไม่มีเสียงค้านเลย

เมื่อท่านจิตรัญชันทาสตกลงยอมรับหลักการนั้นเป็นทางดำเนิน ก็ต้องเลิกว่าความ และต้องคืนเงินค่าจ้างว่าความ ๘๐,๐๐๐ รูปี ให้แก่รัฐบาล แล้วท่านก็ยอมพลีกาย วาจาและใจ เพื่อประเทศชาติที่รักจนกระทั่งต้องถึงมรณกรรมเพราะการรับใช้ประเทศชาติของท่าน นอกจากนั้นท่านยังได้อุทิศบ้านอันกอปรด้วยลักษณะทัดเทียมปราสาทให้แก่ชาติ เพื่อตั้งเป็นโรงพยาบาลสตรีด้วย แล้วนำบุตรภรรยาไปอาศัยอยู่บ้านหลังเล็กๆ สืบไป ชาติหวนระลึกถึงความเสียสละอันใหญ่หลวงของท่านผู้นี้ จึงให้สมญาว่า “ท่านวีระแลเทศพันธ์” (เพื่อนประเทศ) จิตรัญชันทาสสืบมา

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี