มหาตมะคานธีท้ารัฐบาล

Socail Like & Share

คานธี
เมื่อคองเกรส มอบอำนาจเผด็จให้ท่านคานธีแล้ว ท่านได้แยกหลักดำเนินแห่งคองเกรสออกเป็น ๒ สาย คือ สายหนึ่งได้แก่กิจการอันเกี่ยวในสังคม และอีกสายหนึ่งเกี่ยวในทางการเมือง ในการดำเนินกิจการเหล่านี้ ท่านได้ตั้งบทใหญ่ไว้ว่า หากหลักการไม่ร่วมมือ ไม่พอที่จะโน้มน้าวรัฐบาลให้ดำเนินนโยบายอันชอบด้วยประชามติแห่งอินเดียได้แล้วไซร้ อินเดียจะต้องเตรียมตัวเพื่อประกาศและดำเนินหลักการขัดขืนกฎหมาย (Civil Disobedience) ไว้เป็นคั่นต่อไป

ผู้รับอาสาจึงต้องมีหน้าที่จะพึงทำอยู่ ๒ ประการคือ สั่งสอนประชาชนเพื่อเตรียมตัวในการขัดขืนกฎหมายในขั้นต่อไป ๑ กับแนะนำประชาชนให้ดำเนินหลักการไม่ร่วมมืออย่างดี ๑

ดังกล่าวมาแล้ว หลักการไม่ร่วมมือที่ประชาชนทุกชั้นต้องทำ และทั้งเป็นหลักการที่สำคัญยิ่ง คือการบอยค๊อตสินค้าอังกฤษ เพื่อความสะดวกแก่ประชาชนคองเกรสได้ประกาสรายชื่อห้างร้านต่างๆ ทั่วอินเดียที่ทำการซื้อขายเฉพาะสินค้าอินเดีย และทั้งได้ประกาศชื่อห้างร้านต่างๆ ที่ทำการซื้อขายสินค้าอังกฤษด้วย มิหนำซ้ำยังได้ออกคำสั่งให้พวกผู้รับอาสาไปเที่ยวยืนอยู่ตามประตูห้างร้านที่ขายสินค้าอังกฤษและพูดขอร้องพวกประชาชนที่ผ่านไปมา ไม่ให้เข้าไปในห้างร้านนั้นๆ ด้วย บางครั้งพวกผู้รับอาสาถึงกับนอนขวางหน้าประตูไว้ และบอกกับประชาชนผู้ผ่านไปมาว่าผู้ใดต้องการจะเข้าไปซื้อของในห้างร้านนั้น ขอให้เขาเดินไปบนหลังของตนเถิด ย่อมเป็นธรรมดา ตามแง่ความรู้สึก การกระทำของพวกผู้รับอาสาเช่นว่านี้ ต้องเป็นเหตุทำให้การขายสินค้าอังกฤษถึงการตกต่ำลงโดยลำดับ และผลที่สุดหยุดชงักลงทันที

พร้อมๆ กับการสั่งให้ไปเฝ้าประตูห้างร้านสินค้าอังกฤษนี้ คองเกรสได้จักการสั่งห้ามไม่ให้ขายบรรดาเหล้าและน้ำเมาต่างๆ แม้ที่ทำขึ้นในอินเดียด้วย ในประเทศอินเดียคนดื่มเหล้ามีอยู่เฉพาะในพวกที่มีอาชีพทางชำระอุจจาระ กับพวกทำการทางซ่อมรองเท้า พวกเหล่านี้ชอบดื่มน้ำเมาที่ทำขึ้นจากต้นอินทผลัม และต้นตาล รัฐบาลจึงได้เก็บภาษีต้นไม้ชนิดนี้ในอัตราสูงมาก ดังนั้นคองเกรสจึงออกประกาศขอร้องไม่ให้พวกนี้ดื่มน้ำเมาต่อไป และทั้งได้สั่งผู้รับอาสาให้เที่ยวคอยขัดขวางตามร้านขายเหล้าชนิดนั้นด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังออกคำสั่งให้เจ้าของต้นไม้ชนิดนั้นตัดต้นไม้นั้นเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ก็เพื่อจะปิดประตูมิให้รัฐบาลเก็บภีได้ต่อไปอีก

การคอยขัดขวางตามห้างร้านต่างๆ นี้ เป็นวิธีทำให้รัฐบาลต้องรู้สึกเดือดร้อนมิใช่น้อย ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องรีบลงมือทำการปราบปรามอย่างร้ายแรง เช่นส่งทหารไปเที่ยวทุบตีไล่พวกผู้ที่รับอาสาที่เที่ยวกีดกันห้างร้านต่างๆ บางครั้งถึงกับยิงก็มี คองเกรสเห็นความดุร้ายของเจ้าหน้าที่มีถึงเช่นนี้ จึงเปลี่ยนให้ผู้รับอาสาสตรีไปทำการกีดขวางห้างร้านแทนที่จะใช้ผู้รับอาสาชาย ถึงกระนั้นหลักการปราบปรามของรัฐบาลจะได้ลดน้อยลงประการใดก็หาไม่ คองเกรสจึงเข้าใจได้ว่า หลักวัฒนธรรมของรัฐบาลอังกฤษไม่เคารพเพศหญิงมากยิ่งไปกว่าเพศชาย จึงทุบตีได้เหมือนเพศชาย ฉะนั้นเนื่องจากไม่มีบุคคลใดยินยอมให้พี่สาวน้องสาวถูกทุบตีตราบเท่าที่ตนยังมีชีวิตอยู่ คองเกรสจึงต้องเลิกใช้ผู้รับอาสาเพศสตรีในกิจการทางนี้ และกลับสั่งให้ผู้รับอาสาชายทำการแทนดังเดิมอีก

ท่านคานธี เมื่อเห็นความดุร้ายแห่งนโยบายของรัฐบาลเช่นนี้ จึงเขียนจดหมายเปิดเผยความจริงเสนอผู้สำเร็จราชการโดยด่วน มีข้อความดังต่อไปนี้

“อาศัยความยินยอมแห่งรัฐบาลอินเดีย การปราบปรามอย่างร้ายแรง ได้เริ่มขึ้นแล้วในมณฑลเบงคอล อาสาม สหมณฑล ปัญจาบ เดลลี วิหาร อุทิศยาบางส่วนและที่อื่นๆ อีกหลายแห่งด้วยกัน ฉันรู้ว่าพณะท่านได้คัดค้านไม่ให้ใช้คำว่า ปราบปราม (Repression) ในวิธีอันเกี่ยวแก่การกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลในมณฑลเหล่านั้น ตามความเห็นของฉันเห็นว่าการกระทำใดๆ ก็ตาม ซึ่งรัฐบาลดำเนินไปโดยเกินกว่าความจำเป็นในกรณีนั้นๆ นับว่าเป็นการปราบปรามโดยมิต้องสงสัย การปล้นทรัพย์ การทุบตีพวกที่ไม่มีโทษ ความประพฤติอย่างป่าเถื่อนต่อนักโทษการเมืองในเรือนจำ รวมทั้งการเฆี่ยนตีเหล่านี้จะถือว่าเป็นการกระทำอันชอบด้วยกฎหมายหรือหลักอารยธรรม หรือเป็นความจำเป็นมิได้เลยการกระทำของรัฐบาลในทางผิดกฎหมายเช่นนี้ เราจะบัญญัติศัพท์ให้เป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ นอกจากจะใช้คำว่าการปราบปรามชนิดที่ไม่ดำเนินตามกฎหมาย Lawless Repression”

“ฉันรับรองว่า ในหลักอันเกี่ยวแก่หัรตาลและกีดกันห้างร้าน พวกผู้รับอาสาได้ดำเนินการแรงไปหน่อยแต่ถึงอย่างไรก็ดี นั่นมิใช่เหตุผลที่เพียงพอถึงกับจะให้รัฐบาลนำกฎหมายอันแปลกประหลาดที่ตั้งขึ้นสำหรับปราบพวกผู้คิดหรือกระทำการปองร้ายมาใช้ห้ามปรามการกระทำหรือการประชุมที่ดำเนินไปในทางสงบได้ นโยบายเท่าที่รัฐบาลได้ดำเนินอยู่ เพื่อกำจัดพวกผู้ที่ปราศจากความผิดนั้น เราเข้าใจว่าเป็นการใช้กฎหมายในแง่ที่ผิดกฎหมายจึงสมญาว่า “การปราบปราม” อนึ่ง ถ้าอำนาจบริหารขัดขวางต่อเสรีภาพแห่งหนังสือพิมพ์ดังที่รัฐบาลเคยกระทำมา โดยอาศัยกฎหมายที่รัฐบาลได้ปฏิญาณไว้ว่า จะยกเลิกนั้น ก็เป็นอันตกอยู่ในลักษณะ “การปราบปรามนั่นเอง”

“ฉะนั้นกิจด่วนซึ่งประเทศควรจะรีบเร่งกระทำ แต่บัดนี้ คือช่วยตนให้พ้นจากอำนาจที่ตัดเสรีภาพในการพูด การประชุม การเขียน”

ในสถานการณ์เช่นนี้ มีทางเดียวที่ประเทศจะพึงดำเนินได้คือ ทางอหิงสา เพื่อบังคับให้รัฐบาลยอมตามความต้องการของประเทศ รวมทั้งสิทธิเบื้องต้น คือเสรีภาพในการพูดประชุมและเขียน ตามความเห็นของฉัน เหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้เกิดมีขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ย่อมส่อให้เห็นว่ารัฐบาลได้ผิดแผกไปจากทางของอารยชน ดังที่พณะท่านได้แจ้งไว้ว่าจะดำเนิน…กล่าวคือ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายไม่ขัดขวางกิจการของคณะไม่ร่วมมือ ตราบเท่าที่คณะนั้นจะรักษาหลักอหิงสาไว้พร้อมทั้งกายและวาจา หากรัฐบาลได้รักษาความเป็นกลางไว้ (neutral) และปล่อยให้มติประชาชน (public opinion) แน่นแฟ้นขึ้น จนปรากฎผลอย่างเต็มที่ได้ ฉันคงจะแนะนำให้งดการดำเนินนโยบาย การขัดขืนกฎหมายเสีย จนกว่าคองเกรสจะมีอิทธิพลทั่วประเทศ ถึงกับกำจัดการปองร้ายได้ทุกประการ และนำมหาชนอันมีจำนวนแสนๆ ให้ดำเนินการขัดขืนกฏหมายด้วยวินัยอันดียิ่ง แต่ว่าการปราบปรามอย่างที่ไม่ดำเนินตามกฎหมาย (ดังที่ไม่มีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ของประเทศที่อับโชคนี้) เป็นเหตุให้การดำเนินนโยบายการขัดขืนกฎหมายโดยมหาชน (Mass civil disobedience) กลายเป็นหน้าที่ประจำยิ่ง คณะกรรมการบริหารแห่งคองเกรสตกลงกันแล้วว่า จะดำเนินหลักการขัดขืนกฎหมายโดยมหาชนคราวละแคว้น ซึ่งฉันจะเป็นผู้เลือกให้ บัดนี้เลือกแคว้นบรรโดลีแล้ว อาศัยอำนาจที่คองเกรสได้มอบให้ฉัน ฉันคงจะอนุญาตให้แคว้นคุนตรูที่มีหมู่บ้าน ๑๐๐ ตำบลดำเนินหลักการขัดขืนกฎหมายก็ได้ ทั้งนี้ถ้าพวกเหล่านั้นรับว่าจะยึดมั่นอยู่ในหลักอหิงสา จะตั้งความสามัคคีกันระหว่างชั้นและวงงาน จะทำการทอผ้า และนุ่งห่มผ้าอินเดียด้วยมือ”

“แต่ก่อนที่ชาวบรรโดลี จะเริ่มดำเนินการขัดขืนกฎหมายอย่างจริงจัง ฉันของร้องพณะท่านผู้เป็นประมุขแห่งรัฐบาลอินเดียด้วยความเคารพว่า ขอให้พณะท่านจงพิจารณาดูนโยบายของรัฐบาลอีกที และปล่อยนักโทษการเมืองที่ได้รับโทษแล้ว หรือที่ยังคอยคำพิพากษาอยู่ เพราะกิจการที่ดำเนินไปในทางความไม่ปองร้าย ทั้งขอให้รัฐบาลเปิดเผยนโยบายที่ไม่ขัดขวางกิจการ ที่ไปในทางอหิงสา จงทุกประการ ถึงแม้ว่ากิจการเหล่านั้นจะตกอยู่ในลักษณะโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายปราบปรามประการใดๆ ฉันขอร้องต่อไปอีกว่า ขอให้พณะท่านยกเลิกกฎหมายต่างๆ ที่รอนเสรีภาพหนังสือพิมพ์และคืนจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ปรับหรือยึดไว้แต่ก่อนเสียเท่าที่ขอร้องนี้ ได้ขอร้องเฉพาะสิ่งที่รัฐบาลที่ถือตนว่าเป็นอารยชนทำกันอยู่ในทุกประเทศทุกวันนี้ ถ้าพณะท่านเห็นว่าจะสามารถแก้ไขนโยบายตามคำขอร้องนี้ได้ ขอได้แจ้งให้ทราบภายใน ๗ วัน ตั้งแต่วันที่นำจดหมายฉบับนี้ลงประกาศ ฉันจะเตรียมงดหลักการขัดขืนกฎหมาย จนกระทั่งกรรมการต่างๆ ซึ่ง ณ บัดนี้ถูกกักขังอยู่ เมื่อถูกปล่อยให้พ้นโทษแล้วจะพิจารณาสถานการณ์ใหม่ ถ้ารัฐบาลดำเนินตามคำขอร้องนี้ ฉันจะถือว่า รัฐบาลมีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะเคารพมติมหาชน ถ้าเป็นเช่นนั้นฉันจะไม่ลังเลใจในการแนะนำประเทศให้ดัดแปลงมติมหาชน โดยปราศจากการบังคับประการใดๆ และปล่อยมติมหาชนให้ร้องเรียกสิทธิโดยตนเองจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้น เราจะดำเนินนโยบายการขัดขืนกฎหมายเฉพาะในเมื่อรัฐบาลวางนโยบายผิดแผกออกไปจากนโยบายที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดหรือในเมื่อรัฐบาลปฏิเสธ หรือไม่อ่อนน้อม ต่อมติส่วนใหญ่แห่งพลเมืองอินเดีย”

ตั้งแต่วันที่จดหมายของท่าน ลงประกาสในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่กี่วัน รัฐบาลก็ออกคำแถลงการณ์ตอบจดหมายของท่านคานธี มีใจความคัดค้านคำกล่าวหาของท่าน แล้วยุติลงด้วยคำพูด “อินเดียมีทางเลือกอยู่ ๒ ทาง คือ การไม่ดำเนินตามกฎหมายพร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาจากนั้นทางหนึ่ง กับการดำเนินตามหลักที่ถือว่าเป็นรากฐานแห่งรัฐบาลที่อาศัยอารยธรรมอีกทางหนึ่ง”

คำแถลงการณ์ของรัฐบาล ได้ประกาศแพร่หลายไปทั่ว ณ วันที่ ๖ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๒๒ วันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๗ ท่านคานธีได้ลงประกาศคำตอบคัดค้านคำแถลงการณ์รัฐบาลมีใจความว่า

“ประชาชนอินเดีย มิใช่ผู้ไม่ยอมดำเนินตามกฎหมายรัฐบาลต่างหากที่ไม่ดำเนินตามกำหมาย ทั้งกระทำกิจอันสมแก่ผู้เป็นป่าเถื่อน เช่น
๑. เจ้าหน้าที่ทางการสั่งให้ยิงผู้ไร้อาวุธทั้งหลายในอำเภอเอนตาลีแห่งเมืองกัลกัตตา มิหนำซ้ำประพฤติต่อซากศพอย่างไร้มนุษยธรรม
๒.รัฐบาลได้ยอมรับแล้วว่า เจ้าหน้าที่พลเรือนฝ่ายสันติบาลได้ดำเนินอย่างดุร้ายฉกรรจ์(brutally)
๓. เจ้าหน้าที่ทางการสั่งให้ทำรายงานการประชุมที่เมืองทากา (ในเบงคอล) โดยใช้กำลังและจับเท้าผู้ไร้โทษทั้งหลายลากไปตามถนน
๔. ในเมืองอาลิคท เจ้าหน้าที่ได้จัดการกับผู้รับอาสาคองเกรสในทำนองเดียวกันนี้
๕. ในเมืองลาโทร (ในปัญจาบ) ทางการได้จัดการกับพวกผู้รับอาสาและมหาชนอย่างร้ายฉกรรจ์ และโดยมิจำเป็นดังปรากฎอยู่ในรายงานของคณะกรรมการ มีท่านโคกุลจันทร์เป็นประธาน
๖. ในเมืองซาสันธร ทางการได้จัดการกับพวกผู้รับอาสาอย่างไร้มนุษยธรรม (inhuman)
๗. ในเมืองเดหราดุน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพร้อมด้วยลูกน้องได้ยิงเด็กคนหนึ่งเสีย ทั้งได้ทำการปล้นทรัพย์ของชาวบ้าน ตามบ้านนอก ซึ่งแม้รัฐบาลวิหารก็ได้ยอมรับรองแล้ว
๘. ในเมืองโรมปุร ทางการได้สั่งให้เผาผ้าที่ทำขึ้นในอินเดีย พร้อมทั้งเอกสารต่างๆ ของคองเกรส
๙. ทางการสั่งให้ค้นสำนักงานของคองเกรสและทำการจับกุมในเวลาเที่ยงคืน

นี่แหละคือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ดำเนินตามกฎหมาย ได้แต่ดำเนินในทางแห่งความเป็นป่าเถื่อน (barbarism) เท่าที่แนยกเอามากล่าวนี้ นับว่าเป็นส่วนน้อยแห่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอินเดียอย่างจริงจัง ฉันขอกล่าวโดยไม่กลัวจะถูกคัดค้านว่า อัตราแห่งการไม่ดำเนินตามกฎหมายเท่าที่รัฐบาลกำลังกระทำอยู่ในอินเดีย ณ บัดนี้ ทำให้การประหัตประหารในเมืองชาลิยานวาลาวาคกลายเป็นเหตุการณ์เล็กน้อยไป ฉันเชื่อแน่ว่าการประหัตประหาร อย่างไร้มนุษยธรรมที่ได้กระทำมาแล้วในเมืองชาลิยานวาลาวาคนั้น เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในสมัยปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าขาวสะอาดกว่ากัน และข้อที่น่าสังเวชที่สุดคือ เนื่องจากประชาชนไม่ได้ถูกยิงหรือถูกฆ่าโดยตรงทีเดียว แต่ได้รับความทรมานอย่างร้ายกาจ โดยค่อยๆ กระทำไปอย่างที่คนธรรมดามองไม่เห็นชัด ผลซึ่งเกิดขึ้นจากการทรมานนั้น ยังไม่พอที่จะทำให้ทุกๆ คนก่อการกบฎต่อรัฐบาล”

“ฉันขอยืนยันว่า ในการยกเหตุร้ายต่างๆ มากล่าวนี้ ฉันได้พินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดละออก โดยสายกลางเป็นกรณี ฉะนั้นวิถีทางที่ประชาชนจะพึงเลือกถือได้ มิใช่ทางตามที่คำแถลงการณ์ของรัฐบาลได้กล่าวไว้ คือ “การไม่ดำเนินตามกฎหมายพร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาทางหนึ่ง กับการดำเนินตามหลักที่ถือกันว่า เป็นรากฐานแห่งรัฐบาลที่อาศัยอารยธรรมอีกทางหนึ่ง” คำแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า “การขัดขืนกฎหมายโดยมหาชน เป็นอันตรายแก่รัฐอย่างร้ายแรงถึงกับรัฐบาลต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนั้น ด้วยความเหี้ยมเกรียมและเคร่งครัด ทางที่ประชาชนอินเดียจะพึงเลือกได้มีแต่ทางเดียว คือการขัดขืนกฎหมายพร้อมทั้งอันตรายที่สืบเนื่องมากับการปราบปรามการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยนโยบายที่ไม่ยอมดำเนินตามกฎหมาย ฉันเห็นว่าเป็นการเหลือวิสัยเหลือเกินเพราะกลัวอย่างที่มองไม่เห็นตัวตนที่ผู้มีเกียรติยศคนใดจะทนนั่งดูดาย ไม่พยายามแก้ไขในเมื่อรัฐบาลกระทำการปล้นทรัพย์ และทำร้ายผู้ไม่มีความผิดทั่วประเทศ ในนามแห่งกฎหมายและความสงบเรียบร้อย”

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี