หยกเม็ดละหนึ่งล้านบาท

Socail Like & Share

พูดถึงเรื่องของแหวนแล้ววกมาถึงหัวแหวนจนกระทั่งถึงนพรัตน์ราชวราภรณ์นี้ก็นับว่ากวนพอสมควรทีเดียว แต่ถ้าพูดถึงหัวแหวนแล้วไม่พูดถึงอัญมณีอีกอย่างหนึ่งก็ดูจะไม่สมบูรณ์นั่นคือ หยก ซึ่งเป็นหินสีเขียวอ่อน เป็นของหยกคนจีนนิยมกันมาก ถือว่าใครใส่แหวนหยก หรือกำไลหยกจะเป็นสวัสดิมงคลอยู่เย็นเป็นสุข

ก่อนจะจบเรื่องแหวนก็ขอพูดถึงคำพังเพยเกี่ยวกับแหวนสักอย่างนั้นคือ คำว่า มือด้วนได้แหวน แล้วต่อไปว่าตาบอดได้แว่น และหัวล้านได้หวี คำพังเพยทั้งนี้มีความหมายว่า ผู้ที่ได้ของเหล่านั้นมาแต่ขาดอวัยวะที่จะใช้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เหมือนเราได้อะไรมาสักอย่างแล้วไม่สามารถจะใช้ได้นั่นเอง ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร

ผู้ใดฝันว่าได้สวมแหวน ถ้าเป็นคนโสดทายว่าจะได้คู่ครอง แต่ถ้ามีคู่ครองแล้วทายว่าจะได้บุตรแล

ขงจื๊อได้พูดถึงหยกไว้ว่า
“หยกเป็นสิ่งอบอุ่นและชุ่มชื้น    เหมือนกับความเลื่อมใสศรัทธา
หยกเป็นสิ่งที่แข็งแกร่งแน่นแฟ้น    เหมือนกับความฉลาดล้ำ
หยกเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ไร้ราคี        เหมือนกับความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
หยกที่ห้อยประดับนั้นมีลักษณะงามสง่า    เหมือนกับความสุภาพอ่อนโยน

เมื่อหยกกระทบกันเสียงใสนี้ก็จะได้ยินไปไกล ได้ยินอยู่นาน และเสียงนี้จะหยุดได้ทันที เหมือนทำนองเสนาะของดนตรี

หากหยกจะมีตำหนิ แต่ส่วนดีก็มิได้ถูกปิดบังเสีย หากหยกดีอย่างไม่มีที่ติก็ไม่ซ่อนส่วนเสียไว้ เหมือนกษัตริย์ผู้ครองแผ่นดิน

หยกมีความสดใส ช่วยให้สิ่งรอบข้างสว่างไสวเหมือนความจริง

หยกให้แสงสีรุ้งสดสวย เทียบด้วยสรวงสวรรค์

หยกแสดงถึงจิตบริสุทธิ์ ท่ามกลางความสงบของธารน้ำและภูเขาลำเนาไพรเหมือนพิภพ

และในโลกทั้งโลกอันกว้างใหญ่นี้ ไม่มีผู้ใดจะไม่ยกย่องค่าของหยก เหมือนกับเหตุผล”

นายแพทย์ หทัย  ชิตานนท์ ได้เล่าไว้ตอนไปเยือนประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เกี่ยวกับราคาของหยกว่า มีราคาตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท

นายแพทย์ หทัย กล่าวถึงหยกต่อไปว่า “อันที่จริงหยกนั้นเป็นหินชนิดหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท พวกแรกเป็เนไฟรท์คือหยกจีน ตั้งแต่สมัยโบราณ มีเนื้อหนาและแข็งมีหลายชนิดและหลายสี ที่มีมากที่สุดคือสีเขียวมะกอกเรียกว่าสิลาดล รองลงมาก็เป็นสีเหลืองที่เรียกว่า “ไขมันแกะ” และนอกจากนี้ก็มีสีน้ำตาล ชมพู เทา และน้ำเงิน มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น “หญ้ามอสในหิมะ” “สีม่วงของเส้นเลือดดำ” และ “กระดูกไก่” เป็นต้น หยกเนไฟรท์พบครั้งแรกเป็นก้อนกรวดอยู่ตามใต้ท้องแม่น้ำ หยกดำในมณฑลซินเกียง ต่อมาก็พบว่ามณฑลนี้เป็นแหล่งที่มีหยกมากที่สุด จึงได้ขุดมาทำเป็นรูปสลักต่างๆ สำหรับหยกอีกประเภทหนึ่งคือเจไดท์นั้น พบในประเทศพม่าเป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะใสเหมือนแก้ว และใช้ทำเป็นเครื่องประดับที่ดีที่สุดนั้น มีความใสคล้ายกับหยดน้ำมันสีเขียวสด ที่ดีรองลงมาคือสีเขียวมรกต และสีเขียวแอปเปิ้ล หยกที่ได้ไปเห็นเป็นบุญตาเม็ดละล้านบาท ก็คือหยกประเภทเจไดท์นี้เอง”

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี