รัตนชาติหรือนพรัตน์ที่ดี

Socail Like & Share

ความสำคัญของแหวนนั้นไม่ได้อยู่ที่เรือนแหวน แต่สำคัญอยู่ที่สิ่งที่เอามาทำเป็นหัวแหวนมากกว่า เพราะเรือนแหวนเป็นที่รู้กันว่าเหมาะที่สุดก็คือทองคำหรือรัตนชาติทองคำขาว หรือเงิน ซึ่งมีราคาที่คนพอมีฐานะธรรมดาก็อาจจะซื้อหาเอาได้ แต่ถ้าเป็นหัวแหวนที่มีราคาแพงแล้วก็สุดปัญญาเราๆ ท่านๆ จะซื้อหาได้เหมือนกัน เรื่องของหัวแหวนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

สิ่งที่จะเอามาทำเป็นหัวแหวนนิยมใช้รัตนชาติ ซึ่งมีลักษณะโปร่งตา แข็งใส มีรัศมีหรือประกายแวววาว เช่นเพชร ทับทิม มรกต หรือหินมีค่าทึบแสง เช่น โอปอล โมรา หยกเป็นต้น หรือตามความนิยมของคนไทยสิ่งที่จะเอามาทำเป็นหัวแหวนคือแก้วเก้าประการที่เรียกกันว่า นพรัตน์หรือเนาวรัตน์ ซึ่งโบราณาจารย์เรียบเรียงเป็นคำคล้องจองกันไว้ว่า

“เพชรดี มณีแดง        เขียวใสแสงมรกต
เหลืองใสสดบุษราคัม    แดงแก่ก่ำโกเมนเอก
สีหมอกเมฆนิลกาล    มุกดาหารหมอกมัว
แดงสลัวเพทาย        สังวาลย์สายไพฑูรย์” ดังนี้

ความจริง แก้วเก้าประการนี้มิใช่เรียกชื่ออย่างที่เราเรียกดังกล่าวข้างต้นไปทุกตำราก็หาไม่ บางตำราจัดแก้วอย่างหนึ่ง แทนแก้วอีกอย่างหนึ่งก็มี เช่นตามตำราของอินเดีย มีเพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เหมือนของเรา แต่ต่อไปเป็นราชาวดีกับแก้วประกาฬ

ตำราว่าด้วยอัญมณีที่เรียกกันว่าตำรานพรัตน์มีคนแต่งกันหลายชาติหลายภาษาอย่าง ดร.จี.เอฟ.คุนซ์ ผู้เชี่ยวชาญอัญมณี และเป็นที่ปรึกษาของบริษัท Tiffany แห่งมหานครนิวยอร์คซึ่งเป็นบริษัทค้าเพชรพลอยที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ก็ได้แต่งตำราเช่นว่านี้ด้วยเขากล่าวว่า อัญมณีกลุ่มหนึ่งเป็นที่นิยมยกย่องว่าเป็นของสูงและนำโชคลาภมาให้ของบรรดาผู้ที่ถือศาสนาพราหมณ์ หรือลัทธิฮินดูมาแต่โบราณ อัญมณีกลุ่มนี้ก็คือนพรัตน์นั่นเอง

แต่ไม่ว่าชาติใดภาษาใดจะแต่งตำราก็ตาม เข้าใจกันว่าได้ลอกจากตำราของอินเดียโบราณกันไปทั้งนั้น รวมทั้งตำรานพรัตน์ของไทยเราด้วย

ตำรารัตนชาติหรือตำรานพรัตน์ของไทยเรานั้นว่ากันว่า พระยาสุริยวงศ์มนตรี พระมหาวิชาธรรม หลวงลิขิตปรีชา หลวงภักดีจินดา และนาชมได้ร่วมกันแต่งขึ้นแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งขึ้นต้นด้วยภาษาบาลี เพื่อความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งภาษาบาลีสมัยนั้นก็เหมือนภาษาอังกฤษสมัยนี้ ใครแต่งหนังสือถ้าไม่วงเล็บภาษาอังกฤษไว้ ก็ดูเหมือนเป็นคนไม่มีความรู้ ขาดความเชื่อถือไป ดังนั้นหนังสือเก่าของเราจึงต้องมีภาษาบาลีหรือสันสกฤตนำหน้าเสมอ แม้ตำรายาก็ยังขึ้นต้นว่า “สิทธิการิยะ โบราณท่านว่า” เป็นต้น ตำรานพรัตน์ก็ขึ้นต้นตามแบบฉบับว่า

วชิรํรตฺตํ อินฺทนีลํ        เวฬริยํ รตฺตกาลมิสฺสกํ
โอทาตมิสฺสกํ นิลํ        ปุสฺสราคํ มุตฺตหารญฺจาติ
อิมานิ นวกาทินี รตนานิ ตสฺมา รตนชาติโย อเนวิธา นานาปเทเสสุ
อุปฺปชฺชนฺตีติ เวทิตพฺพา.

ถ้าจะแปลก็พอจะได้ความว่า รัตนชาติทั้งหลายที่เกิดขึ้นในนานาประเทศนั้นมีหลายอย่าง เช่นแก้วเก้าประการที่จะกล่าวนี้เป็นต้นคือ แก้ววิเชียร(เพชร) แก้วแดง ได้แก่ ทับทิมอินทนิล แก้วไพฑูรย์ แก้วรัตกาลมิศก แก้วโอทาตมิศก นิลรัตน์ แก้วบุษราคัม และมุกดาหาร

เมื่อขึ้นต้นอารัมภบทเป็นภาษาบาลีแล้ว ตำรานพรัตน์ก็ได้กล่าวถึงลักษณะคุณสมบัติและโทษวิบัติของแก้วเก้าประการไว้มากมาย ซึ่งเห็นว่าถ้าจะนำมากล่าวในที่นี้ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังบ้าง โดยเฉพาะท่านผู้ฟังที่เป็นสตรี ซึ่งนิยมอัญมณีอันมีค่าต่างขวนขวายมาประดับร่างกายให้สวยงามจนบางคนต้องเดือดร้อนเพราะความแวววาวของเพชรพลอยก็มีมาแล้ว เข้าใจว่าเพราะอัญมณีอันนั้นมีโทษมากกว่าคุณ จะได้พูดถึงเพชรพลอยเหล่านี้ตามลำดับไปจนกว่าจะหมดทั้งเก้าประการ

๑. นพรัตน์ประการที่ ๑ คือวชิรหรือเพชร  ซึ่งนับเป็นรัตนะที่มีค่ามากที่สุด และเป็นวัตถุที่แข็งที่สุดในบรรดาแก้วทั้งหลาย ความหมายของเพชรหมายความว่าแข็งด้วย เช่นใจเพชร เหล็กเพชร คนโบราณคงจะเห็นว่าเพชรเป็นของวิเศษ จนถึงยกย่องให้เพชรเป็นอาวุธของพระอินทร์ที่เรียกกันว่าวัชร พระอินทร์จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วชิรปาณี มีเพชรในมือ

ตามตำรานพรัตน์อธิบายว่าเพชรนั้นมีสามประการคือ ประถมชาติ ทุติยชาติ และตติยชาติ

เพชรประถมชาตินั้น แยกชื่อเฉพาะออกไปอีก ๕ ประการ คือ ขัติยชาติ สมณชาติ พรหมชาติ แพทย์ชาติและสูทชาติ การแบ่งชั้นหรือชนิดของเพชรอย่างนี้อนุโลมตามวรรณของอินเดียนั่นเอง แต่เติมสมณชาติเข้าอีกประการหนึ่ง ทำให้เข้าใจว่าผู้แต่งตำรานพรัตน์ต่อมาคงจะนับถือพุทธศาสนาอยู่ด้วย

เพชรอันได้นามขัติยชาตินั้น มีลักษณะน้ำแดงดังผลตำลึงสุก มีรัศมีขาว เหลือง ดำ เขียว รุ้ง เมื่อส่องดูที่แดดจะเห็นประกายวาวออกจากเหลี่ยมเป็นสีเบญจรงค์ ผู้ถือเพชรขัติยชาติ ท่านว่าผิเป็นไพร่ก็จะกลับได้เป็นนาย ผิเป็นนายจะได้เลื่อนขึ้นเป็นขุน ผิเป็นขุนก็จะได้เลื่อนขึ้นครองเมือง ถ้าเป็นราชตระกูลจะได้เป็นกษัตริย์ ผิว่าทำสงครามจะมีชัยชนะศัตรูจะพ่ายทุกทิศ ท่านให้เอาเพชรขัติยชาติผูกเรือนธำมรงค์ใส่นิ้วชี้มือขวา

เพชรอันได้นามว่าสมณชาตินั้น มีลักษณะเหลืองดังน้ำมันไก่ ประกายแดง เขียว ขาว ดำ และหงสบาท คือสีคล้ายเท้าหงส์ คือสีแดงปนเหลือง สีแดงเรื่อ หรือสีแสด เมื่อส่องดูกับแสงแดดจะปรากฏรัศมีทอกันดังดวงตะวันยามเที่ยง เห็นประกายพุ่งจากเหลี่ยมเป็น ๕ สีทุกเหลี่ยม ท่านให้ผูกเพชรสมณชาตินี้เข้ากับเรือนแหวน สอดนิ้วชี้มือขวา ผู้สวมสอดจะจำเริญสุขสมบูรณ์ทุกประการ เหตุที่เพชรชนิดนี้มีสีเหลือง จึงได้ชื่อว่าสมณชาติก็เป็นได้

เพชรอันได้นามพราหมณชาติ มีลักษณะขาวช่วง, ประกายแคง, ดำ, เหลือง, เขียว และหงสบาท เมื่อต้องแสงตะวันปรากฏเป็นแสงทอกันดังแสงอาทิตย์ยามเที่ยง ผิวประดับเข้ากับเรือนแหวนไซร้ ท่านให้สวมสอดนิ้วชี้มือขวา จะเจริญด้วยลาภ ปลอดภัยและศัตรู

เพชรอันได้นามว่าแพศยชาติ มีพรรณเขียว รัศมีขาว, แดง, เหลือง, ดำและ หงสบาท ส่องดูที่แสงแดดจะเห็นเป็นแสงทอกันดังแสงตะวันยามเที่ยง ธำมรงค์อันประกอบด้วยเพชรชนิดนี้ พึงสอดใส่นิ้วมือขวา ก่อให้เกิดลาภ ค้าขายดี อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดอริศัตรู

เพชรอันได้นามว่าสูทชาติ มีพรรณดังสีตะกั่วตัด ประกายแดง, เหลือง, ขาว, เขียว และหงสบาท เมื่อส่องแดดเห็นเป็นรัศมีฉายเป็นดวงออกจากเหลี่ยม ด้านละ ๘ ดวง ประหนึ่งรุ้งกินน้ำ แสงทอกันราวกะดวงตะวันเมื่อเที่ยง ท่านให้ผูกเรือนสอดใส่นิ้วชี้มือขวา ก่อให้เกิดจำเริญสุขสวัสดิ์ ประกอบกิจการใดก็สำเร็จสมประสงค์ ที่ดีเป็นพิเศษคือการทำนาทำสวน ศัตรูทำร้ายมิได้

จะว่าด้วยเพชรทุติยชาติ อันประกอบด้วยคุณนานาประการ มีอยู่ ๔ จำพวก คือ จำพวกหนึ่งเป็นเพชรยอดมีพู ๖ พู เรียบดังแผ่นกระดาน ท้องและหลังเหมือนกัน จำพวกที่สองมีลักษณะเป็นเหลี่ยมมีแสงทอกัน จำพวกที่สามมีสีเหลืองผ่านเป็นสังวาล จำพวกที่สี่มีน้ำหนักเบากว่าแก้วผลึก แต่สีเป็นอย่างไรท่านไม่กล่าวถึง เพชรทุติยชาติทั้งสี่ประเภทนี้มีคุณสมบัติในทางอยู่ยงคงกะพัน ศาสตราวุธจะไม่ทำอันตรายแม้แต่ผิวหนังของผู้ที่ถือเพชรเหล่านี้ เป็นที่รักเป็นที่ชอบพอของคนทั้งหลาย ทำราชการก็จำเริญยศศักดิ์ ศัตรูทำร้ายมิได้ ป้องกันไฟไหม้บ้านเรือน ป้องกันอสรพิษทั้งปวง แต่มีข้อห้ามว่า ถ้าคนไข้ถือเพชรพวกนี้จะทำให้โรคกำเริบ

ส่วนเพชรตติยชาติ อันเป็นพวกสุดท้าย เป็นเพชรอันประกอบด้วยโทษอันบุคคลพึงระวัง ลักษณะโทษของเพชรชนิดนี้มีอยู่ ๑๒ ประการ คือ ไม่มีพู เบี้ยว เป็นตำหนิ(รอยยาว) ข้างในกลวง รอยร้าว เห็นเป็นรู เม็ดดังทนานมะพร้าว ช้ำ ดูเหมือนมีรอยเจาะไม่มีน้ำ(รุ้ง) อื่นแกม ผลเป็นรอยดั่งตีนกา ลักษณะโทษของเพชรเหล่านี้ผลร้ายจะหายไปได้ก็ต่อเมื่อช่างได้เจียระไนให้ร่องรอยดังกล่าวมาหมดไปแล้ว มิฉะนั้นผู้ใช้เพชรนั้นจะมีโทษเช่นต้องศาสตราวุธ แพ้ภัยศัตรู สมบัติวิบัติ เกิดโรคและอันตรายนานา

นอกจากนี้ตำรานพรัตน์ยังได้พรรณนาเรื่องของเพชรว่ามีกำเนิดจากประเทศใด  และจากอะไรบ้าง ดูเป็นเรื่องเฝือเกินไป เพียงเท่าที่ยกมานี้ก็ดูเหมือนว่าเราไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าประเภทของเพชรดังกล่าวมานี้จะมีอยู่จริงหรือไม่เพียงไรอยู่แล้ว แต่เป็นที่สังเกตอย่างหนึ่งว่า โบราณท่านนับถือว่าเพชรเป็นสิ่งวิเศษจริงๆ แต่ก็อาจจะให้โทษได้ถ้าลักษณะไม่ดีดังได้กล่าวแล้ว สำหรับเพชรที่มีตำหนินั้น จนบัดนี้เราก็ยังถือกันอยู่ว่าเป็นของที่ไม่ควรมีไม่ควรใช้เช่นเพชรที่มีรอยร้าวเป็นขนแมว มีจุดมีตำหนิ เป็นต้น ใช้แล้วให้โทษมากกว่าให้คุณ

บ่อเพชรที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ในทวีปอาฟริกา

เรื่องของเพชรเป็นเรื่องของสตรี แต่ก็ต้องมีผู้ชายเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ในฐานะเป็นผู้แสวงหาเพชรเพื่อเป็นของขวัญให้สตรี ท่านคงใคร่รู้ว่าเพชรนั้นราคาสักเท่าไร เรื่องราคาของเพชรหาความแน่นอนไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่าง เช่นคุณสมบัติความงามของเพชรประกอบกับความต้องการของคนที่ร่ำรวย เท่าที่ทราบ  เพชรที่ประมูลกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้มีราคาสูงสุดคือแหวนเพชร ๑ วงมีราคาถึง ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ลำพังเพชรหนัก ๖๙.๔๒ การัต แกเลอรี่ปาร์เก้เบร์เนท ในกรุงนิวยอร์ค เป็นผู้ประมูลได้ ต่อรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ดาราภาพยนตร์ชื่อริชาร์ด เบอร์ตัน ได้ซื้อต่อในราคา ๒๙ ล้านบาท เพื่อเป็นของขวัญให้แก่เอลิซเบธเทเลอร์ ภรรยา คนที่โชคดีที่สุดคงจะไม่ใช่เอลิซเบธเทเลอร์ แต่เป็นนายแกเลอรี่ปาร์เก้เบอร์เนท เพียงชั่วระยะเวลาเพียงคืนเดียวแกสามารถทำกำไรได้ถึง ๘ ล้านบาท มีใครบ้างที่สามารรถทำได้อย่างนายคนนี้

ตามปกติแล้ว เพชรนั้นหาเม็ดใหญ่ๆ หลายการัตยากเต็มที ส่วนใหญ่ก็มีน้ำหนักไม่กี่การัต อย่างที่เราเห็นวางอยูตามร้านค้าเพชรพลอยทั่วไป เพชรหนัก ๖๒ การัตกว่าที่ริชาร์ดเบอร์ตันซื้อให้เอลิซเบธเทเลอร์นี้นับว่าหายากอยู่แล้ว แต่ยังมีเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดหนักถึง ๑.๒๕ ปอนด์ ประมาณ ๓,๑๐๖ เมตริกการัต พบโดยร้อยเอก เอ็ม.เอฟ.เวล ในเหมืองพรีเมียร์ ทางตอนใต้ของอาฟริกา เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๘ เพชรเม็ดนี้ต่อมาได้รับการตั้งชื่อว่า คัลลิแนน ตามชื่อของ เซอร์โทมัส เมเจอร์ คัลลิแนน ผู้เป็นประธานเหมืองแห่งนั้น ต่อมาในปี ๒๔๕๐ รัฐบาลอังกฤษได้ขอซื้อ และขอขึ้นทูลเกล้าถวายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ ต่อมาเพชรคัลลิแนนนี้ ได้รับการเจียรไนจากช่างเมืองอัมสเตอร์ดัม แล้วให้ชื่อว่าสตาร์ออฟอาฟริกา หมายเลข ๑ เจียระไนได้ถึง ๗๔ หน้า หนัก ๕๓๐.๒ เมตริกการัต นับเป็นเพชรที่เม็ดใหญ่ที่สุด ถ้าได้ตกมาอยู่กับเราๆ ท่านๆ แล้ว รับรองว่าไม่มีวันที่จะนอนตาหลับ

เพชรที่หายากที่สุดคือเพชรสีฟ้าและเพชรสีชมพู เพชรสีฟ้าเม็ดใหญ่ที่สุด ชื่อเพชรแห่งความหวัง หนัก ๔๔.๔ การัต สถาบันสมิทโซเนียน โดยนายเฮนรี วินสตัน ช่างเพชร ซื้อไปเป็นมูลค่าประมาณ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนเพชรสีชมพูเม็ดใหญ่ที่สุดนั้นหนัก ๒๔ การัต ราคาประมาณ ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จะอยู่ที่ใครก็ไม่ทราบเหมือนกัน

๒. นพรัตน์อันดับที่ ๒ คือ ทับทิม  ทับทิมนั้นเป็นพลอยชนิดหนึ่งมีสีแดงทับทิมนี้เรียกว่า ปัทมราดหรือปัทมราชก็มี เรียกมณีแดงก็มี ทับทิมนี้ตามตำรากล่าวว่ามีสีแดง ดังบัวสัตบุศย์ สีดังดอกบัวจงกลนี สีดังดอกทับทิม สีดังแมลงเต่าทอง สีดังเปลวประทีปเมื่อใกล้ดับ สีดังดวงอาทิตย์ยามอุทัย สีดังเม็ดทับทิมสุกเข้ม สีดังตานกจากพราก ทับทิมเหล่านี้มีทั้งคุณและโทษ คือ เม็ดใดลักษณะไม่ดีเบี้ยวมีตำหนิก็ให้โทษ ปราศจากตำหนิจึงให้คุณ

๓. มรกต-นพรัตน์อันดับ ๓ มีตำนานเล่าไว้ว่า สมัยหนึ่งนานมาแล้ว มีพญานาคชื่อพาสุกินาคราช (วาสุกรีนาคราช) ถูกครุฑพาไป ณ ที่แห่งหนึ่งเพื่อจะกิน ครั้นเมื่อพญางูถูกครุฑจิกจะสิ้นชีวิตแล้ว ก็สำรอกอาหารเก่าออกจากท้อง ปรากฏว่าของที่สำรอกออกมาเป็นนาคสวาทและเป็นมรกต ส่วนน้ำลายกลายเป็นครุฑธิการ (เป็นอะไรไม่ทราบเหมือนกัน) หาเป็นโลหิตไม่ มรกต นาคสวาทและครุฑธิการจึงอุบัติขึ้นในโลก

ลักษณะของมรกตนาคสวาทนั้น ท่านพรรณนาว่ามีผิวสีดังเห็ดตับเต่าเขียวดังงูเขียนปากปลาหลด เขียวดังผิวไม้ไผ่ที่เพิ่งเกิดตั้งแต่หนึ่งถึงสองเดือน ใครพบมรกตมีลักษณะดังนี้ผิว่า ถูกเขี้ยวงาเช่นตะขาบและงูพิษขบต่อย ท่านให้เอามรกตนี้กลั้นใจชุบน้ำ เอาน้ำนั้นทาที่แผล และถอนพิษหายแล

วิธีทดลองเพื่อรู้ว่ามรกตใดเป็นนาคสวาทแท้หรือมิใช่ ท่านให้ทำเครื่องบัดพลี เครื่องกระยาบวงสรวงในเดือนสามหรือเดือนสี ตั้งไว้ ณ ที่อันควร ผิว่าดูในที่ตั้งบัดพลีนั้นเห็นคลับคล้ายงูอยู่ ก็พึงปลงใจเชื่อว่านั่นเป็นนาคสวาทแท้

มรกตนั้น พจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า แก้วสีเขียวใบไม้

ท่านพรรณนาลักษณะและคุณของมรกตไว้ต่อไปว่า มรกตอันทรงคุณวิเศษ ๙ ประการ สีเขียวใสดังขนคอนกดุเหว่า สีดังตานกแขกเต้า สีเขียวเหลืองดังใบจิก สีเขียวพรายดังแมลงค่อมทอง สีเขียวดังขี้ทองคำ สีเขียวดังใบข้าว สีดังใบโลด สีดังใบแคและงูเขียวสังวาลพระอินทร์ ๙ อย่างนี้ ทรงคุณวิเศษแก่ผู้ถือ มีแต่ความเจริญและป้องกันมิให้สัตว์เขี้ยวงาที่มีพิษขึ้นบ้านเรือนแล

มรกตที่ให้โทษแก่ผู้ครอบครองคือมรกตที่มีสีดังข้าวสุกขยำแกงฟักอย่างหนึ่ง มีดินอยู่ภายในอย่างหนึ่ง มีสีสะว้าม (สีอะไรไม่ทราบ จะคัดมาผิดหรือเปล่าก็ไม่มีทางรู้) อย่างหนึ่งและรูปพรรณเบี้ยวอีกอย่างหนึ่ง ต่อเมื่อเจียระไนสิ้นลักษณะเสียแล้วจึงให้คุณ

มรกตแท่งใหญ่ที่สุดก็เห็นจะไม่มีที่ไหนเท่าพระพุทธมหามณีรัตน์หรือพระแก้วมรกตของเรา ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพมหานครเป็นแน่

๔. นพรัตน์อันดับที่ ๔ คือบุษราคัม คือพลอยสีแดง

๕. นพรัตน์อันดับที่ ๕ คือ โกเมน คือพลอยสีแดงเข้ม ว่าได้มาจาก ภูเขาหิมาลัย หรือแม่น้ำสินธุ สำหรับโกเมนของอินเดียนั้นว่ามีลักษณะ ๔ ประเภท คือ สีขาว สีเหลืองซีด สีแดง สีน้ำเงิน

๖. นพรัตน์อันดับที่ ๖ คือนิล อันเป็นพลอยสีดำหรือขาบ ตามตำรานพรัตน์ว่าเกิดในแดนลังกามี ๓ จำพวกคือขัติยชาติจำพวกหนึ่งสีเขียวเจือน้ำแดง ชื่อพราหมณชาติ จำพวกหนึ่งสีเขียวเจือน้ำขาว ชื่อสูทชาติจำพวกหนึ่ง สีเขียวเจือน้ำดำ ยังมีนิลอีก ๑๑ จำพวก ล้วนมีคุณพิเศษคือ ชื่อปริวารนิล สีดั่งน้ำคราม ชื่อนิลอัญชันสีดังดอกอัญชัน ชื่ออินทนิลเมื่อส่องที่แดดจะเห็นเป็นสายขาวเลื่อมประภัสสร ชื่อสรลังกาคนิล สีเขียวพรายเหลืองดังปีกแมลงทับ ชื่อราชนิล สีดังสีตาวัว ชื่อนิลบลหรือนิลุบลสีดังดอกบังครั่ง ชื่อมหาราชนิลสีดังแววหางนกยูง ชื่อนิลคนธิ์ เนื้อเขียวเจือขาว ชื่อนิลมาศคนธี สีดังดอกผักตบ ชื่อพัทนิล สีดังขนคอนกดุเหว่า อีกจำพวกหนึ่งเอาสำลีปัดดูจะเป็นประกายจับสำลี นิล ๑๑ จำพวกดังพรรณนานี้เป็นของวิเศษให้คุณแก่ผู้ถือ

นิลอันให้โทษนั้นมี ๘ ประการ คือลักษณะหนึ่งขาวหม่น (นิลโพรด) มีอันธการ (ดำ) เชี่ยนตะโหนด (เข้าใจว่าจะเป็นเซี่ยนหรือเสี้ยนตาล) เป็นสีขาวและดำ ผลหรือเม็ดแตกลมเข้าอยู่ข้างใน (เป็นรู) หัวหรือยอดขาว สีน้ำอันวาวนั้นเหลืองดังสีน้ำขมิ้น น้ำเหลืองดังน้ำสนิมเหล็ก และข้างในนั้นมีดินเข้าไปอยู่ เหล่านี้เป็นนิลอันประกอบด้วยโทษให้ผลร้ายแก่ผู้ถือ

๗. นพรัตน์อันดับที่ ๗ คือมุกดาหาร  ได้แก่แก้วชนิดหนึ่งมีสีหมอกอ่อนๆ คล้ายสีของไข่มุกแต่ไม่ใช่ไข่มุก แต่ตามตำรานพรัตน์ว่ามุกมีกำเนิดเกิดในหัวปลา ในหอยโข่ง ในงาช้าง ในหัวเนื้อสมัน ในคอผู้หญิง ในคอผู้ชาย ในคอนกกระทุง ในต้นอ้อย ต้นข้าว ลำไม้ไผ่ ในหัวงู ในเขี้ยวหมู ในหอยทะเล ซึ่งออกจะพรรณนาเหลือเฟือเกินไป ถ้าดูตามนี้แล้วมุกดาหาร มิใช่แก้วแต่เป็นไข่มุกนั่นเอง

๘. นพรัตน์อันดับที่ ๘ คือ เพทาย  คือพลอยชนิดหนึ่งสีแดงสลัวๆ ท่านพรรณนาไว้ว่า เพทายมีอยู่ ๑๓ ชนิด คืออย่างหนึ่งชื่อ ริตุกะ สีเหลืองดังขมิ้น ชื่อจุมกุดิ สีขาวใส ชื่อครังคราทิ สีดั่งน้ำฝาง ชื่อสุรคนธิ์ สีแดงดังน้ำครั่ง น้ำภายในสีดังดอกสามหาวหรือผักตบ ชื่อไคเสบพเฉด สีเหลืองดังดอกคูณ ชื่อชไม สีหลายพรรณระคนกัน ชื่อทันตร สีดั่งน้ำค้างไหลไปมาอยู่ภายใน ชื่อรวางคะ ดังหนึ่งน้ำขังอยู่บนดอกบวบอยู่ภายใน ชื่อโควินท์สีแดงและภายในแดงดังปัทมราช ชื่อกตะ น้ำแดงแลขาวระคนกัน และน้ำแดงเหลืองระคนกัน

เพราะเหตุที่เพทายมีสีแดงคล้ายกับทับทิมหรือปัทมราช ท่านจึงแนะวิธีที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าแตกต่างกันอย่างไร คือให้เอาเพทายที่ใคร่รู้นั้นสีกับปัทมราช ผิว่าหารอยมิได้ไซร้ ท่านว่าเพทายนั้นคือปัทมราช ผิมีรอยท่านจึงว่าเป็นเพทายแล

๙. นพรัตน์อันดับที่ ๙ คือ ไพฑูรย์ คือพลอยสีเขียว มีน้ำเป็นรุ้งกลอกไปมา บางแห่งเรียกว่าเพชรตาแมว หรือแก้วสีไม้ไผ่ แต่ตามตำรานพรัตน์กล่าวว่าไพฑูรย์ที่เกิดจากเชิงเขาวิบูลบรรพตที่ชื่อว่ามรินหร มีพรรณขนานสลับสีดำ แดงขาวและเขียว ดังแมลงเต่าทอง นอกจากนี้ท่านยังแบ่งแยกไพฑูรย์ออกเป็นชื่อประถมชาติและทุติยชาติ ว่ามีสามจำพวก ฉวีดังแววหางนกยูง สีดังใบไผ่อ่อนพวกหนึ่ง เขียวเหลืองอ่อนดังงูเขียวปากปลาหลดพวกหนึ่ง สีดังปลีกล้วยแรกบานพวกหนึ่ง มีสีสลับกันตั้ง ๑๐ สีพวกหนึ่ง พวกหนึ่งลายดังจักรมีน้ำเป็นแนวแดง ขาว เหลือง เขียว ดำและหงสบาท พวกหนึ่งประกายดั่งตานกแขกเต้า พวกหนึ่งดั่งตานกพิราบ พวกหนึ่งดั่งตาตั๊กแตน

ท่านพรรณนาโทษของไพฑูรย์ไว้ว่า ไพฑูรย์เม็ดใด ช่างเจียระไนไม่หมดมลทินสิ้นโทษ คือสีนั้นตายกลางยอด จะทำให้ผู้ถือพลัดพรากจากลูกเมีย คนในเรือนจะตายจากอีกอย่างหนึ่งไพฑูรย์เม็ดใดหัวเว้าก็ดี เม็ดบางก็ดี จะพาให้ผู้ถือตกยาก จะต้องศาสตราวุธ จะผิดพี่ผิดน้อง อีกอย่างหนึ่งไพฑูรย์เม็ดใด เม็ดมีแผลรุ้ง ผู้ถือจะเป็นโทษ จะร้อนใจ จะกลายเป็นโจร

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านจะเห็นว่าคนโบราณนั้นนับถือว่าอัญมณีเหล่านี้เป็นของขลังสามารถให้คุณและให้โทษแก่ผู้ใช้ได้ คนไทยเราจึงใช้นพรัตน์ทำเป็นหัวแหวนเรียกว่าแหวนนพเก้าใช้สวมนิ้วชี้เมื่อจะทำการสิ่งใดที่เป็นมงคลเพื่อความขลังก็ใช้นิ้วที่สวมแหวนนี้ทำ เช่นเจิมหน้าคู่บ่าวสาว เป็นต้น

เมื่อพูดถึงนพรัตน์แล้ว ถ้าไม่พูดถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงของเราอย่างหนึ่งก็ดูจะไม่สมบูรณ์นั่นคือ “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์” หรือเรียกย่อว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์ (ใช้อักษรย่อว่า น.ร.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้ความว่า ได้มีสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมคงมีแต่สายสร้อยพระสังวาลประดับนพรัตน์ เรียกว่าสังวาลพระนพ เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับพิชัยสงครามหรือสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงเมื่อเวลาบรมราชาภิเษก โดยพราหมณ์เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงสมก่อนที่จะทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นของสำหรับแผ่นดิน พระสังวาลนี้เป็นสร้อยอ่อนทำด้วยทองคำล้วนมี ๓ เส้น เส้นหนึ่งยาวประมาณ ๑๒๔ ซม. มีดอกประจำยามทำด้วยทองประดับนพรัตน์ดอกหนึ่ง

จุลศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ.๒๓๒๕) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติ ได้ทรงรับพระสังวาลนี้สืบมา และได้สร้างขึ้นอีกสายหนึ่งเป็นสายแฝดประดับนพรัตน์เป็นดอกๆ เรียกว่า “พระมหาสังวาลนพรัตน์” ยาวประมาณ ๑๗๖ ซม. มีดอกประจำยาม ๒๗ ดอก ทำด้วยทองฝังมณีดอกละ ๑ ชนิด สลับกัน

ลุจุลศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ.๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างดารานพรัตน์เพิ่มขึ้นอีกเป็นเครื่องต้น และสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ จึงถือได้ว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้มีขึ้นในรัชกาลนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพระบรมวงศ์มีแต่ดาราไม่มีสังวาล เพราะสังวาลใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น จึงได้ทรงสร้างตรา (มหานพรัตน์) สำหรับห้อยติดกับแพรแถบสีเหลือง ขอบเขียวริ้วแดงและน้ำเงิน สะพายขวามาซ้ายแทนสังวาลด้วย และให้พระราชทานแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ด้วยแต่ก็มีเพียง ๘ สำหรับ รวมทั้งของพระกษัตริย์ด้วยอีก ๑ สำหรับ เป็น ๙ สำรับ ต่อมาเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) จึงตราพระราชบัญญัติใหม่กำหนดให้มีแหวนนพรัตน์เพิ่มขึ้น และกำหนดให้พระราชทานแก่ฝ่ายในด้วย ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้เพิ่มเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็น ๒๗ สำรับ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี