การแบ่งศาลยุติธรรม

Socail Like & Share

ปัจจุบันนี้ ได้แบ่งศาลยุติธรรมออกเป็น ๓ ขั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุด

ศาลชั้นต้นนั้นแบ่งออกเป็น
๑. ศาลแขวง
๒. ศาลคดีเด็กและเยาวชน
๓. ศาลจังหวัด

ศาลทั้งสามนี้มีอยู่ตามหัวเมือง โดยเฉพาะศาลจังหวัดนั้นมีอยู่ทุกจังหวัดส่วนศาลแขวงนั้นมีเฉพาะที่จังหวัดใหญ่ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระศาลจังหวัดเกี่ยวกับคดีเล็กๆ ศาลยุติธรรม1น้อยๆ ส่วนศาลคดีเด็กและเยาวชนนั้น มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เด็กกระทำผิด แต่ก็มีอยู่ไม่กี่แห่งในหัวเมืองและในกรุงเทพมหานคร

๔. ศาลอาญา
๕. ศาลแพ่ง

ทั้งสองศาลนี้ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครแยกคดีอาญาและคดีแพ่งพิจารณาแต่ละศาล เพราะในกรุงเทพฯ มีคดีความมาก แยกกันก็เป็นการสะดวก ไม่เหมือนศาลจังหวัดซึ่งคนน้อยจึงรวมการพิจารณาคดีอาญาและคดีแพ่งไว้ในศาลเดียวกัน

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังประกาศตั้งศาลแรงงานขึ้นอีกศาลหนึ่ง พิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับแรงงาน

ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา  นั้นมีอย่างละ ๑ ศาล ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น

คดีที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาแล้ว หากคู่ความไม่พอใจก็อาจจะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใต้กฎหมายที่อนุญาตไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วหากคู่ความไม่พอใจอีก ก็อาจจะยื่นฎีกาให้ศาลฎีกาพิพากษาได้อีกศาลหนึ่ง แต่ก็ต้องแล้วแต่เรื่องเป็นเรื่องๆ ไป มิใช่ว่าจะยื่นฎีกาได้เสมอไปเมื่อศาลฎีกาตัดสินแล้วคดีเป็นอันถึงที่สุด

ปัจจุบันนี้ การปกครองของเราได้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น ๓ อย่างคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการหรืออำนาจในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี อำนาจทั้งสามประการนี้ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ผู้ที่จะออกกฎหมายก็คือสภาผู้แทนราษฎร หรือสภานิติบัญญัติ ส่วนอำนาจบริหารนั้นรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้โดยผ่านเจ้าหน้าที่ของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ อำนาจตุลาการนั้นเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ ใช้ภายใต้กฎหมายและในนามพระมหากษัตริย์ เรื่องอำนาจของศาลนี้ ยังมีคนเข้าใจผิดอยู่อีกมากว่าผู้พิพากษาอยู่ในอำนาจของฝ่ายปกครอง ศาลพิพากษาแล้วคู่ความไม่พอใจไปฟ้องร้องผู้ว่าราชการจังหวัดว่าศาลตัดสินไม่ยุติธรรมก็มี ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยตัดสินใหม่ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ถ้าท่านมาเป็นความที่ศาลแล้ว ก็ต้องดำเนินการตามทางของศาลสถิตยุติธรรม คือเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินอย่างใดแล้วท่านยังไม่พอใจก็อาจจะอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้อีก ผู้พิพากษานั้นตัดสินความตามตัวบทกฎหมายและพยานหลักฐาน ซึ่งอาจจะมีความเห็นผิดแผกแตกต่างกันบ้าง แต่ก็เพื่อความยุติธรรมแก่ราษฎรเป็นที่ตั้ง การตัดสินความนั้นจะให้ถูกใจของคนทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าจะลำบากอยู่สักหน่อย แต่กฎหมายก็เปิดโอกาสให้ท่านที่ไม่พอใจได้มีโอกาสขอให้ศาลสูงตัดสินใหม่ได้อยู่แล้ว จึงไม่ควรที่จะวิ่งเต้นไปให้ฝ่ายอื่นมามีอำนาจเหนือศาลอีก บางคนศาลตัดสินแล้ว วิ่งไปหากลุ่มหรือศูนย์ต่างๆ ให้ช่วยเหลือก็มี หรือวิ่งไปหานายกรัฐมนตรีช่วยเหลือก็มี ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านแสวงหาความยุติธรรมนอกบทบัญญัติของกฎหมาย เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องลำบากเอง เพราะไม่มีใครที่จะช่วยเหลือท่านได้ ถ้าท่านเดินผิดทาง

ท่านเคยคิดหรือไม่ว่า ทำไมเราจึงเรียกสถานที่ซึ่งตัดสินคดีความหรือชำระความว่าศาล คำนี้ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือที่เรารู้จักในพระนามว่า น.ม.ส. ทรงเขียนว่า ศาน เพราะทรงรังเกียจว่าคำว่า ศาล มาจากภาษามคธสันสกฤต ซึ่งแปลว่าต้นรังหรือศาลา ศานนั้นทรงเห็นว่าเป็นคำไทยทีเดียว เช่นเดียวกับคำว่าศานเพียงตาหรือศานเจ้า เรื่องนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงสันนิษฐานไว้ในศาส์นสมเด็จตอนหนึ่งว่า

“หนังสือเก่าท่านก็เขียนสะกด น เกล้ากระหม่อมยอมรับไม่มีอะไรเถียง อันชื่อว่าศานนั้นนึกได้สามอย่าง ศานเพียงตาอย่างหนึ่ง ทำเป็นพื้นลดสองชั้น ชั้นบนเข้าใจว่าตั้งเจว็ด ชั้นลดตั้งเครื่องพลีถัดไป อีกอย่างหนึ่งก็ศานเจ้าแบบไทย ก็เหมือนกับศานเพียงตานั่นเอง แต่มีหลังคาขึ้นที่สามก็คือศานพิพากษาคดี นี่ก็เป็นจนด้วยเกล้าทีเดียวด้วยไม่เคยเห็น ถ้าหากมีลักษณะเหมือนศานเจ้าก็ไม่เหมาะที่จะประชุมชำระความบนนั้น เหมาะที่จะเป็นโรงเสียมากกว่า แต่คำพูดก็มีว่าโรงศานติดกันอยู่ จะเป็นได้หรือไม่ว่าที่ชำระความนั้นมีศานอยู่ในโรง เวลาจะพิพากษาคดีท่านผู้พิพากษาเผ่นขึ้นไปนั่งบนศาน อย่างพระเทศน์ขึ้นธรรมาสน์ในการเปรียญ หรือจะดูอีกทางหนึ่ง พระโรงราชวินิจฉัยของพระเจ้าแผ่นดิน เช่นพระที่นั่งอมรินทร์ก็มีบุษบกมาลาตั้งในพระโรง เป็นที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกวินิจฉัยคดี”

ปัจจุบันนี้ การจัดสถานที่ชำระความของศาล จัดเป็นห้องฝ่ายธุรการที่เจ้าพนักงานศาล เช่นจ่าศาลเป็นต้นทำงานอยู่ส่วนหนึ่ง ห้องพักของผู้พิพากษาหรือห้องทำงานก่อนพิจารณาคดีอีกส่วนหนึ่ง ส่วนห้องที่ชำระความนั้นเรียกว่าห้องพิจารณาจัดอยู่ส่วนหนึ่งต่างหาก ในห้องนั้นมีที่นั่งของผู้พิพากษายกพื้นสูงวางเก้าอี้และข้างหน้าเป็นโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือเรียกว่าบัลลังก์ เหนือบัลลังก์นี้มีพระบรมฉายาลักษณ์ติดไว้เบื้องสูง ถัดหน้าบัลลังก์ออกมาเป็นโต๊ะของเสมียนหน้าบัลลังก์ทางขวามือเป็นที่นั่งของคู่ความผู้เป็นโจทก์ ทางซ้ายมือเป็นที่นั่งฝ่ายจำเลย ตรงกลางเป็นคอกสำหรับพยานยืนให้การ หลังนั้นออกไป เป็นที่นั่งของผู้ที่เข้าฟังการพิจารณาคดี ห้องพิจารณาคดีหรือบัลลังก์นี้ จะมีมากน้อยเพียงใดก็แล้วแต่ศาลนั้นจะมีคดีความมากหรือน้อย

เมื่อพูดถึงศาลแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่ได้ สิทธิอันนี้ก็คือสิทธิที่ประเทศที่มีอิทธิพลทางตะวันตกสมัยหนึ่งไม่ยอมให้คนในชาติหรืออารักขาของตนมาขึ้นศาลของประเทศที่ตนได้เข้ามาอาศัยและได้ทำความผิดหรือมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ประเทศที่ถูกตัดรอนสิทธิทางศาลเช่นนี้มีอยู่หลายประเทศทางเอเซีย รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย เราถูกประเทศทางตะวันตกมาทำสัญญาไม่ยอมให้คนของเขาขึ้นศาลไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ตลอดมาจนเราได้พยายามปรับปรุงกฎหมายของเราและแก้ไขสัญญาเช่นว่านี้ให้หมดไปเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๒ ภายหลังที่เราต้องเสียเอกราชในทางศาลไปถึง ๘๓ ปีเศษ เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้มีผู้เขียนไว้มากแล้ว จึงจะไม่ขอกล่าวให้ยาวความในที่นี้อีก

เรื่องของศาลเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตราบใดที่คนเรายังเคารพนับถือกฎหมายอยู่และเคารพในอำนาจของศาล ตราบนั้นคนเราก็จะอยู่ด้วยความสงบสุข แต่ทุกวันนี้คนบางพวกบางหมู่พยายามที่จะพูดว่า กฎหมายทุกวันนี้ไม่ยุติธรรมแก่สังคม เพราะเป็นกฎหมายของพวกศักดินาบ้าง ของนายทุนบ้าง ไม่ยุติธรรมแก่คนจน ก็แล้วแต่ท่านจะคิด ข้าพเจ้าคิดว่าตัวบทกฎหมายไทยและการปกครองของไทยนั้น ให้เสรีภาพแก่คนใช้ชาติมากเกินกว่าที่เราคิดถึงมากมายนัก มากจนเราจะสำลักเสรีภาพลงไปสู่ความหายนะสักวันหนึ่ง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี