ศาลาชนิดต่างๆ

Socail Like & Share

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า ศาลาไว้ว่า ที่พักสำหรับคนทั่วไป ที่ว่าการของรัฐบาล เรือนที่ปลูกไว้ในวัดสำหรับทำบุญและศึกษาเล่าเรียน โดยนัยนี้ศาลาก็หมายเอาอาคารเป็น ๓ ชนิด คือศาลา

๑. ที่พักสำหรับคนเดินทางทั่วไป  ศาลาชนิดนี้เราจะเห็นอยู่ทั่วไปตามชนบท ซึ่งคนที่สัญจรไปมา ต้องอาศัยการเดินทางด้วยเท้าหรือด้วยเกวียนหรือยวดยานอย่างอื่น เรื่องที่พักเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็หายากในท้องถิ่นกันดาร ประชาชนที่มีใจบุญกุศลจึงช่วยกันสร้าง เพื่อให้ผู้เดินทางได้พักอาศัย เราจึงเห็นศาลาที่พักคนเดินทางมีอยู่ทั่วไปตามริมทางไม่ว่าทางบก หรือทางแม่น้ำลำคลอง

ท่านที่เคยอ่านประวัติของพระอินทร์ หรือท้าวสักกเทวราช ราชาเทวดาประจำชั้นดาวดึงส์แล้ว คงจะจำได้ว่าก่อนที่พระอินทร์จะได้ไปบังเกิดเป็นราชาของเทวดานั้น เดิมชื่อมาฆมาณพเป็นคนที่เสียสละเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้ชวนสมัครพรรคพวกสละแรงกายและทรัพย์สินสร้างศาลาที่พักคนเดินทาง เมื่อตายไปจึงมีวิมานงดงามเป็นเจ้าแห่งสรวงสวรรค์ ดังที่เราซึมทราบกันดีแล้ว เรื่องนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่คนโบราณเขาเห็นความสำคัญของศาลาที่พักของคนเดินทางเป็นอย่างมาก จึงพรรณนาอานิสงส์ของการสร้างศาลาไว้ถึงขนาดนั้น สมัยนี้ศาลาเช่นว่านี้นับวันแต่จะร่อยหรอลง คงมีอยู่แต่ตามชนบทเท่านั้น สำหรับในกรุงเทพฯ นั้น กลับมีที่พักคนโดยสารรถประจำทางขึ้นมาแทน ก็คือศาลาพักสำหรับผู้เดินทางเหมือนกัน

๒. ศาลาว่าการของรัฐบาล  ศาลานี้ปัจจุบันก็คือศาลากลางประจำจังหวัดนั่นเอง สมัยก่อนที่ว่าการประจำเมืองหรือที่ทำการของรัฐบาลประจำเมืองนั้น อยู่ที่บ้านของผู้เป็นเจ้าเมืองเอง คือเป็นทั้งที่พักของเจ้าเมืองและที่ทำการเสร็จไปในตัว เราเรียกที่พักของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าเมืองว่า จวน ทำไมจึงเรียกว่าจวนก็ไม่ทราบ วิธีการเช่นว่านี้มีอยู่ตลอดมาจนกระทั่งได้มีการปรับปรุงการปกครองให้เป็นแผนใหม่ขึ้นอย่างปัจจุบันเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระปิยะมหาราช จึงแยกศาลาว่าการของรัฐบาลออกเป็นสัดส่วนต่างหาก และเป็นของหลวงไม่ใช่ของส่วนตัวของเจ้าเมืองอย่างแต่ก่อน ที่ทำการของรัฐบาลเช่นว่านี้คงจะตั้งอยู่กลางชุมนุมชนหรือกลางเมือง จึงเรียกกันว่า ศาลากลางเมือง แต่ตอนหลังเรียกกันว่าศาลากลางเฉยๆ ผิดถูกอย่างไรไม่รับรอง เพราะนี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าไว้ในเรื่องสาส์นสมเด็จเกี่ยวกับเรื่องเมืองชุมพร และจวนของเจ้าเมืองตอนหนึ่งว่า

“ส่วนการปกครองแต่ก่อนไม่มีสถานที่ของรัฐบาล บ้านเจ้าเมืองเรียกกันว่า “จวน” อยู่ที่ไหนก็ว่าราชการเมืองที่นั่น มีแต่ศาลาโถงปลูกไว้ข้างหน้าบ้านหลัง ๑ “เรียกว่าศาลกลาง” เป็นที่สำหรับชำระความและประชุมกรรมการ”

ศาลากลางสมัยก่อนมีรูปแบบแปลกๆ ไปตามศิลปะการก่อสร้างของท้องถิ่นเป็นแห่งๆ ไป ครั้นต่อมาศาลากลางได้รับการออกแบบเป็นอาคารทรงไทย ไปดูที่ไหนก็เหมือนๆ กันทุกจังหวัดจึงดูไม่แปลกตาเหมือนสมัยก่อน

๓. ศาลาวัด  สำหรับศาลาประเภทนี้ก็คือศาลาที่สร้างไว้ในวัดนั่นเอง แต่ศาลาวัดนี้มีทั้งศาลาหลังเล็กๆ เช่น ศาลาสำหรับตักบาตร หรือมีศาลาขนาดใหญ่ที่เรียกว่าศาลาการเปรียญ ศาลาการเปรียญของวัดนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าตัวโบสถ์วิหาร นี่พูดถึงในทางใช้ประโยชน์ ไม่ได้พูดในแง่ของความมีสง่าราศี หรือความโอ่อ่าของวัด เพราะศาลาการเปรียญนั้นเป็นศาลาที่เรียกได้ว่าศาลาเอนกประสงค์ ใช้เป็นที่ทำบุญสุนทานก็ได้ ใช้เป็นที่ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ได้ ใช้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของกุลบุตรกุลธิดาก็ได้ โรงเรียนสมัยก่อนได้อาศัยศาลาวัดเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนทำให้คนเป็นคนมานับไม่ถ้วนแล้ว ผิดกับสมัยนี้ซึ่งมีอาคารโอ่โถง แต่คนที่เรียนอยู่ในอาคารทันสมัยเหล่านั้น นับวันแต่จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นทุกวัน ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด

นอกจากศาลาทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวมานี้แล้ว ยังมีศาลาอีกชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในชาดกหรือเรื่องราวเก่าๆ คือ บรรณศาลา ศาลาชนิดนี้ก็คือโรงที่มุงด้วยใบไม้ใช้เป็นที่อยู่ของฤาษีชีไพรนั่นเอง

เมื่อพูดถึงศาลาแล้วทำให้นึกถึงคำอีกคำหนึ่งคือคำว่า ศาล ศาลนั้นมีหลายอย่างคือ ศาลพระภูมิ ศาลเพียงตา ศาลหลักเมือง ศาลชำระคดีความหรือที่เราเรียกกันให้เต็มภาคภูมิว่าศาลสถิตยุติธรรม ทำไมจึงเรียกอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างชนิดนี้ว่าศาล เราลองมาคิดกันดูก็คงจะไม่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี