ลัทธิการสร้างศาลมาจากไหน

Socail Like & Share

ลัทธิการสร้างศาลเจ้าเห็นจะเนื่องมาจากชนชาวจีนมากกว่าชนชาติอื่น เพราะปรากฏว่าในประเทศจีนนั้นเต็มไปด้วยศาลเจ้า และเมื่อคนจีนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย คนจีนก็นำเอาลัทธิความเชื่อถือเกี่ยวกับวิญญาณเข้ามาในประเทศไทยด้วย การสร้างศาลเจ้าก็คือสร้างสถานที่ให้วิญญาณของผู้ตายที่นับถือกันว่าเป็นคนดีได้สิงสถิตศาลเจ้าอยู่เป็นที่พึ่งของคนอยู่ข้างหลังนั่นเอง อย่างกวนอู ซึ่งเป็นทหารเอกคนหนึ่งของเล่าปี่ในเรื่องสามก๊ก เป็นนักรบที่เข้มแข็งกล้าหาญและมีความกตัญญู เมื่อกวนอูถูกสำเร็จโทษแล้วเมื่อ พ.ศ. ๗๖๒ ชื่อเสียงเกียรติคุณของกวนอูปรากฏว่าเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในสงคราม ยังเป็นที่นับถือเลื่องลือในหมู่ชาวจีนสืบมา เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ทางราชการสมัยซ้องฮุยจงฮ่องเต้ ยกย่องให้เป็น “กง” อันเป็นตำแหน่งชั้นสูงสุดของขุนนางจีน และเรียกชื่อว่า “กวนกง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๑๖๗๑ เลื่อนขึ้นเป็นอ๋องหรือเจ้า แล้วเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเทพารักษ์เรียกว่า “กวนตี๋” หรือ “เจ้ากวนอู” เมื่อพ.ศ. ๒๑๗๗ ในสมัยเม่งบ้วนและฮ่องเต้ เจ้ากวนอูก็เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า บูตี่ คือ เจ้าแห่งสงคราม เพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ พระเจ้าเต้ากวางฮ่องเต้ในราชวงศ์เชงกำลังทรงปราบปรามกบฏชาวจีนที่ถือศาสนาอิสลาม พอดีพวกศัตรูต้องแตกหนีไป เพราะปรากฏตามทางสอบสวนว่าเจ้ากวนอูยกทัพมาช่วย พระเจ้าเต้ากวางจึงทรงยกย่องเจ้ากวนอูขึ้นเป็นเจ้าแห่งสงคราม อันเป็นเจ้าที่ชาวจีนทำรูปขึ้นไว้บูชา และมีศาลเจ้าอยู่ทั่วไปในประเทศจีน ที่ในประเทศเกาหลีมีผู้นิยมนับถือมาก กล่าวกันว่าเมื่อสามร้อยปีเศษที่ล่วงมานี้ เจ้ากวนอูบันดาลให้ญี่ปุ่นที่ยกมาตีเกาหลีตกใจกลัวต้องกลับไป

เรื่องของศาลเจ้ากวนอูเพียงผู้เดียวยังมากมายทั่วประเทศจีนถึงอย่างนี้ แล้วคนอื่นอีกมากมายเล่าจะไม่ทำให้ศาลเจ้ามีเต็มเมืองจีนได้อย่างไร ถึงแม้ในประเทศไทยเองก็ยังมีศาลเจ้าจีนอยู่ทั่วทุกหัวระแหง พูดง่ายๆ ว่ามีคนจีนอยู่ที่ไหนก็ต้องมีศาลเจ้าอยู่ที่นั่น

ศาลอีกชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ คือ ศาลเพียงตา ศาลเพียงตานี้เป็นศาลที่ยกเสาขึ้นสี่เสาไม่มีหลังคาใช้ในการพิธีชั่วคราว เช่นในการทำพิธียกเสาเรือนหรือพวกโจรทำพิธีก่อนเข้าปล้นเป็นต้น หรือบางทีพวกที่นับถือผีสาง เมื่อจะทำพิธีเรียกผีก็มักจะต้องปลูกศาลเพียงตาขึ้นก่อนเพื่อทำพิธีชั่วคราว ศาลชนิดนี้จึงต้องทำขึ้นอย่างง่ายๆ เพื่อจะวางเครื่องเซ่นเป็นครั้งคราวเท่านั้น ลองมาดูวิธีปลูกศาลเพียงตาตอนเณรแก้วเรียกผีก็ได้ กลอนตอนนี้มีอยู่ว่า

“ตกแต่งตัวผูกลูกสะกด        พร้อมหมดเครื่องรางปรอทมั่น
นุ่งยกกนกเป็นเครือวัลย์        รูปสุบรรณบินเหยียบวาสุกรี
เพลาะดำร่ำหอมห่มกระหวัด    พู่ตัดติดห้อยข้างชายคลี่
คาดปั้นเหน่งกระสันมั่นดี        เหน็บกริชด้ามมีศีรษะกา
จัดเครื่องบัตรพลีพลีเลิศ        ข้าวสารเสกประเสริฐแกล้วกล้า
มือถือเทียนชัยแล้วไคลคลา        จันทราส่องแสงสว่างทาง

ท้องฟ้าดาดาษดาวประดับ        แสงระยับยามสองส่องสว่าง
พระจันทร์ตรงทรงกลดดังกลดกาง        อยู่ในกลางด้าวเด่นทุกดวงดาว
รีบเร่งมาถึงซึ่งป่าช้า            ปลูกศาลเพียงตาดาดผ้าขาว
แล้วจุดเทียนสว่างกระจ่างพราว    ทิ้งสายสิญจน์ก้าวสะกดวง”

นี่เป็นเรื่องของศาลเพียงตา

ศาลหลักเมือง  คือศาลซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลักของเมืองนั่นเอง การสร้างเมืองสมัยก่อนถือกันว่าต้องเลือกชัยภูมิให้ดีบ้านเมืองจึงจะอยู่ดีมีความสุข ข้าศึกมาตีก็ไม่แตก หรือต้องพ่ายแพ้ไป เมื่อเลือกได้ชัยภูมิแล้วก็มีพิธีฝังหลักเมืองเป็นปฐมก่อนที่จะก่อสร้างอย่างอื่น พิธีฝังหลักเมืองสมัยก่อนมีเรื่องเล่ากันว่าต้องฝังคนทั้งเป็นลงไปด้วย โดยเลือกเอาผู้หญิงมีครรภ์แก่และเลือกเอาคนที่ชื่อว่าอินทร์ จันทร์ มั่น คง ซึ่งเป็นมงคลสนามฝังลงไปด้วย พิธีการเช่นว่านี้จะเคยมีที่ไหนยังไม่ปรากฏหลักฐาน เป็นเพียงเรื่องที่เล่าลือกันทั้งนั้นแม้แต่หลักเมืองของเราในกรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สร้างขึ้นคราวสร้างกรุงเทพฯ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการฝังคนทั้งเป็นอย่างที่ว่ากันเลย เรื่องฝังคนทั้งเป็นนี้มีหลักฐานรับรองว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า มิใช่พระมหากษัตริย์ที่จะทรงทำเช่นนั้น ก็คือประกาศห้ามฆ่าสัตว์ ซึ่งประกาศใช้ในรัชสมัยของพระองค์ตอนหนึ่งว่า

“แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้ข้าทูลละอองผู้ใหญ่ผู้น้อยรักษาเมือง ผู้ทั้งกรมการเมือง เอก โท ตรี จัตวา ทั้งปวงบรรดามีศาลเทพารักษ์ พระภูมิเจ้าที่ พระเสื้อเมืองทรงเมือง ให้บำรุงซ่อมแปลงที่ปรักหักพังนั้นให้บริบูรณ์ และแต่งเครื่องกระยาบวดผลไม้ถั่วงาเป็นต้น และธูปเทียนของบูชาฟ้อนรำระบำบวงสรวงพลีกรรมถวายสิ่งซึ่งอันสมควรแก่เทพารักษ์ แต่อย่านับถือว่ายิ่งกว่าพระไตรสรณคม ห้ามอย่าให้พลีกรรมด้วยฆ่าสัตว์” ดังนี้

การที่เล่าลือกันว่าฝังคนทั้งเป็นพร้อมทั้งหลักเมืองนั้นเป็นเรื่องที่เหลวไหล ตามประกาศหรือกฎหมายฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่าคนสมัยนั้นต่างนับถือผีสางเทวดากันมากจนถึงกับฆ่าสัตว์ตัดชีวิตพลีกรรมเทพารักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จึงทรงประกาศห้ามดังกล่าวแล้ว

เรื่องของเทพารักษ์หรือเจ้าองค์ไหนชอบอะไรนี่ก็แปลก อย่างท้าวมหาพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณในกรุงเทพฯ ท่านชอบช้างไม้และพวงมาลัยดอกไม้ ปรากฏว่าคนเอาช้างและพวงมาลัยไปถวายกันมาก โดยเฉพาะช้างไม้นั้นปีหนึ่งๆ ทางโรงแรมเอราวัณประมูลขายได้เงินมองให้องค์การกุศลหรือวัดวาอารามได้เงินมิใช่น้อย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี