ฤาษีแบ่งออกเป็น ๔ ชั้น

Socail Like & Share

เมื่อพูดถึงคำว่าฤาษี พวกเราแทบทุกคนคงเคยได้ยินคำนี้มาแล้ว และฤาษีนี้ดูเหมือนจะคุ้นเคยกับคนไทยเรามากที่สุด เพราะเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ของเราอันเป็นหนังสือฤาษีประโลมโลกรุ่นคุณปู่ได้กล่าวถึงฤาษีไว้แทบทุกเรื่องหรือเท่าที่อ่านมาก็ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่กล่าวถึงฤาษี แม้แต่เรื่องพระอภัยมณีวรรณคดีที่เรารู้จักกันดีอยู่จนทุกวันนี้ ท่านสุนทรภู่ก็ไม่ลืมที่จะเอาฤาษีไปเป็นตัวละครของท่าน

ฤาษีคือใคร  ฤาษีนั้นว่ากันว่าเป็นนักบวชพวกหนึ่งอยู่ในป่า แต่นักบวชพวกนี้นับถือศาสนาอะไร หรือนับถืออะไร ไม่มีกล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ฤาษีนี้ภาษาบาลีว่า อิสิ หรือ อิสี แปลว่า ผู้แสวงหาความดี และเชื่อกันว่าฤาษีนี้มีมาก่อนพุทธกาล และเป็นนักบวชที่ถือศาสนาพราหมณ์นั่นเอง เพราะมีการบูชาไฟซึ่งเรียกว่ากองกูณฑ์พิธี

มีผู้แปลคำว่าฤาษีว่า  ผู้มีปัญญาอันได้มาจากพระเป็นเจ้า และได้แบ่งแยกฤาษีออกเป็น ๔ ชั้น คือ

๑. ราชรรษีหรือราชฤาษี ได้แก่กษัตริย์ที่ออกบวชเป็นภาษี
๒. พราหมณรรษีหรือพราหมณฤาษี
๓. เทวรรษีหรือเทวฤาษี
๔. มหรรษีหรือมหาฤาษี

และว่าฤาษีนี้นับเป็นพราหมณ์ชั้นสูง ฤาษีที่ว่านี้คงเป็นพวกที่พราหมณ์แบ่งแยกไว้

ส่วนในหนังสือเทวกำเนิดได้แบ่งแยกฤาษีหรือเซียนเหย่งหรือเซียนเต่าไว้ ๕ จำพวกคือ

๑. เถียนเซียน คือเทพฤาษี อาศัยอยู่รอบเขาพระสุเมรุ
๒. เซียนเซียน คือบุรุษฤาษี เร่ร่อนอยู่ในอากาศ
๓. เหย่งเซียน คือนรฤาษี อาศัยอยู่ในหมู่คน
๔. ตี้เซียน คือภูมิฤาษี อยู่ตามในถ้ำต่างๆ

๕. กุ้ยเซียน คือเปรตฤาษี ไม่มีที่อยู่เป็นแห่ง เร่ร่อนอยู่

ฤาษีพวกนี้เป็นฤาษีของจีนเห็นจะอยู่ในลัทธิเต๋า

สำหรับในประเทศไทยเรานั้น เข้าใจว่ามีฤาษีอยู่นานแล้วเหมือนกัน เพราะปรากฏว่ามีเมืองหลายเมืองซึ่งฤาษีเป็นผู้สร้างเช่นนครลำพูน
หรือหิรภุญชัยก็ว่าฤาษีสร้างแล้วให้คนมาอัญเชิญพระนางจามเทวีขึ้นไปครอง เมืองศรีสัชนาลัยก็ว่าฤาษีสร้างเช่นเดียวกับเมืองพิษณุโลก แต่ฤาษีในเมืองไทยคงจะนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ด้วย ดังนั้นเรื่องของฤาษีก็หมายเอานักพรตพวกหนึ่งซึ่งสละบ้านช่องแล้วออกไปบำเพ็ญพรตอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรนั่นเอง เราจึงเรียกพวกนี้ว่า ฤาษีชีไพร

อย่างไรก็ตาม คำที่เราใช้เรียกฤาษีนั้นมีอยู่หลายคำ คือ

๑. สิทธา  หมายถึงฤาษีที่ทรงคุณธรรมอย่างมั่นคง มีวิมานอยู่ระหว่างพื้นดินกับพระอาทิตย์
๒. โยคี  หมายถึงผู้สำเร็จหรือกำลังศึกษาในโยคธรรมได้แก่พราหมณ์ที่เที่ยวทรมานตนในป่า
๓. มุนี  หมายถึงพราหมณ์ผู้มีความรู้ชั้นสูง ที่เรียกว่าจบไตรเภท คือฤคเวทยัชุรเวทและสามเวท
๔. ดาบส  หมายถึงผู้บำเพ็ญตบะเพื่อเผากิเลสมุ่งไปในทางทรมานกายและจิตหวังโลกุตรสุข ที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่าอัตกิลมถานุโยค เป็นวิธีการที่ตึงเกินไป พระพุทธองค์ไม่ประสงค์ให้พุทธบริษัทกระทำเพราะไม่ใช่ทางแห่งการแห่งตรัสรู้หรือหลุดพ้นจากกิเลส
๕. ชฎิล  หมายถึงนักพรตจำพวกหนึ่งที่มีผมมุ่นเป็นเซิง หรือเกล้าเป็นมวยสูง
๖. นักสิทธิ  หมายถึงฤาษีจำพวกครึ่งเทวดา ครึ่งมนุษย์ สถิตในอากาศระหว่างมนุษย์โลกกับอาทิตยโลก ว่ามีจำนวน ๘๘,๐๐๐ ตน ป่านนี้จะเพิ่มเหมือนพลเมืองของไทยหรือไม่ก็ไม่ทราบ

รวมความแล้วฤาษีก็มีหลายพวกและหลายระดับ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี