ศาลยุติธรรม

Socail Like & Share

ศาลอีกชนิดหนึ่ง คือศาลยุติธรรม
ศาลที่ชำระความหรือศาลสถิตยุติธรรมนี้ ก็คือที่ชำระคดีความหรือตัดสินความเมื่อราษฎรได้ทำความผิดทางศาลยุติธรรมอาญาหรือพิพาทกันในทางแพ่งนั่นเอง

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องตัวศาล จะได้พูดถึงเรื่องอำนาจชำระคดีความเสียก่อน แต่เดิมมานั้นอำนาจการปกครองของไทยเราอยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลเพียงคนเดียว คือพระมหากษัตริย์หรือเจ้าเมืองผู้เป็นประมุขของประเทศ อย่างที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิแหละผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้จึงแล่งความแก่ข้าด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน” ดังนี้ ครั้งแรกๆ เมื่อบ้านเมืองยังมีผู้คนน้อยอยู่ ประมุขของประเทศเป็นผู้ตัดสินคดีเอง ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น มีผู้คนมากขึ้น การที่ประมุขของประเทศจะตัดสินคดีเอง ย่อมจะกระทำไม่ได้ จึงได้แต่งตั้งผู้ตัดสินคดีขึ้นมาทำการแทน อย่างเช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งผู้ตัดสินความขึ้นที่เรียกว่า ผู้พิพากษาหรือตุลาการ แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังสงวนอำนาจไว้ที่จะทรงตัดสินคดีด้วยพระองค์เองได้เสมอ วิธีการเช่นว่านี้ปฏิบัติมาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ การศาลยุติธรรมก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จะได้ทรงปรับปรุงใหม่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น ศาลได้กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เช่นเรื่องเกี่ยวกับที่ดินกระทรวงเกษตรมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี คดีเกี่ยวแก่การภาษีอากรกระทรวงการคลังมีหน้าที่พิพากษาคดีเป็นต้น เรียกว่ากระทรวงไหนมีหน้าที่รักษากฎหมายฉบับใด ก็มีหน้าที่ตัดสินความตามกฎหมายฉบับนั้นด้วย สำหรับหัวเมืองนั้น หน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีขึ้นอยู่กับเจ้าเมือง ไม่ได้แยกอำนาจศาลออกต่างหากอย่างทุกวันนี้

ต่อมารัชกาลที่ ๕ จึงได้ทรงจัดการปกครองออกเป็นกระทรวง และตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น ได้ยุบเลิกศาลตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่มากมายนั้นมาขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรมเพียงแห่งเดียว สำหรับศาลหัวเมืองก็แต่งตั้งผู้พิพากษาออกไปประจำอยู่แยกอำนาจปกครองกับอำนาจศาลการพิจารณาออกต่างหากจากกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี