การแบ่งฤาษีตามคัมภีร์เวสสันดร

Socail Like & Share

ในคัมภีร์เวสสันดรทีปนี หรือคัมภีร์ที่อธิบายเรื่องพระเวสสันดรได้แยกประเภทดาบสหรือฤาษีออกเป็น ๘ จำพวก คือ

๑. สปุตตกภริยา ดาบสมีบุตรมีภรรยา ได้แก่ดาบสที่ฤาษี1ออกบวชพร้อมด้วยบุตรภรรยา เช่น เกณียชฎิลเลี้ยงชีพด้วยกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น
๒. อุญฉาราริกา  ดาบสบูชาไฟ ได้แก่ดาบสสร้างอาศรมริมประตูเมือง สอนศิลปะศาสตร์แก่โอรสของกษัตริย์และบุตรของพราหมณ์เป็นต้นในอาศรมนั้น รับเงินและทองแล้วแลกของเป็นกับปิยะเช่นน้ำมันและข้าวสารเป็นต้น พวกนี้ดีกว่าพวกมีบุตรภรรยา
๓. สัมปัตตกาลิกา  ดาบสรับบิณฑบาตเฉพาะเวลา ได้แก่ดาบสที่รับอาหารเฉพาะแต่ในเวลาอาหาร เลี้ยงชีพไปวันหนึ่งๆ พวกนี้นับว่าประเสริฐกว่าพวกบูชาไฟ
๔. อนัคคิปักกิกา  ดาบสที่บริโภคของไม่สุกด้วยไฟ คือบริโภคแต่ใบไม้ หรือผลไม้ซึ่งไม่สุกด้วยไฟ ดาบสพวกนี้ดีกว่าพวกที่รับบิณฑบาตเฉพาะเวลา
๕. อัสสมุฏฐิกา  ดาบสใช้ก้อนหิน ได้แก่ดาบสที่ถือก้อนหินมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งถือมีดและหอยกาบเที่ยวจาริกไป เวลาหิวก็ถากเปลือกไม้ที่พบเข้าเคี้ยวกิน อธิษฐานอุโบสถเจริญพรหมวิหารสี่ ดาบสพวกนี้ประพฤติพรตดีกว่าพวกที่บริโภคของไม่สุกด้วยไฟ
๖. ทันตลุยยกา  ดาบสแทะเปลือกไม้บริโภค ดาบสพวกนี้บริโภคอาหารเช่นเดียวกับพวกที่ ๕ ผิดแต่ไม่ใช้เครื่องมืออย่างอื่นถากเปลือกไม้บริโภค เมื่อหิวกระหายขึ้นมาก็ใช้ฟันแทะเปลือกไม้ที่ต้องการบริโภคเป็นอาหาร เรียกว่าสันโดษกว่าพวกที่ ๕ ที่ต้องอาศัยเครื่องมืออย่างอื่นทำให้ต้องถือลำบากเป็นภาระ ดาบสพวกนี้ถ้าแก่ตัวลงฟันฟางหักเหี้ยนไปก็เห็นจะต้องเลิกประพฤติพรตแบบนี้หรือไม่เช่นนั้นก็คงจะให้อดตายไปเลยเป็นสิ้นเรื่องกันที ดาบสพวกนี้อธิษฐานอุโบสถและเจริญพรหมวิหารทั้ง ๔ เหมือนกับพวกที่ ๕
๗. ปวัตตผลิกา  ดาบสกินผลไม้ตามแต่จะได้ ได้แก่ดาบสพวกที่อาศัยหนองน้ำหรือราวป่าอยู่ แล้วบริโภคเหง้าบัวหรือรากบัวในหนองน้ำหรือบริโภคดอกไม้เมื่อถึงหน้าดอกไม้ และบริโภคผลไม้เมื่อถึงหน้าผลไม้ เมื่อผลไม้ดอกไม้ไม่มีก็กินสะเก็ดไม้ ไม่เที่ยวหาอาหาร อธิษฐานอุโบสถ เจริญพรหมวิหาร พวกนี้ดีกว่าพวกแทะเปลือกไม้ เพราะพวกนั้นยังต้องเที่ยวไป แต่ดาบสพวกนี้อยู่กับที่มีหรือไม่มีอะไรกินก็ไม่ไปแสวงหาที่อื่น
๘. วัณฎมุตตกา  ดาบสบริโภคใบไม้ที่หลุดจากขั้ว ได้แก่ดาบสที่บริโภคแต่ใบไม้ที่หลุดจากขั้วหล่นลงบนแผ่นดิน พวกนี้ยกย่องกันว่าวิเศษที่สุด

ดาบสพวกที่บริโภคแต่ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมานี้ยังได้แบ่งออกไปอีกเป็น ๓ พวกคือ พวกหนึ่งถือเคร่งครัดมากจะบริโภคเฉพาะใบไม้ผลไม้ที่หล่นลงมาอยู่แค่มือเอื้อมเท่านั้น ที่เคร่งครัดเพลาลงมาหน่อยก็ถือว่าบริโภคอยู่ต้นไหนก็บริโภคแต่ต้นนั้นไม่ไปเก็บจากต้นอื่นๆ ส่วนพวกที่ถืออย่างอ่อน ได้แก่พวกที่เที่ยวเก็บเอาที่หล่นลงมาจะเป็นของต้นไหนก็เอาทั้งนั้น

คัมภีร์ภควัทคีตา  ได้ให้ความหมายของคำว่าดาบสไว้ว่า เป็นชื่อเรียกนักพรตผู้ประกอบกรรม ๓ อย่างคือ ยัญ การบูชาไฟ ทาน การเสียสละโลกียสุข และตบะการบำเพ็ญเพียร

อย่างไรก็ตามนักบวชเช่นฤาษีนี้ต้องพึ่งพาอาศัยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผู้ที่เป็นฤาษีก็ต้องมีเครื่องใช้สอยหรือบริขารที่จำเป็นไว้ด้วย เช่น ขอสำหรับสอยผลไม้ เสียม สาแหรก ไม้คาน กระเช้าสานสำหรับใส่ผลไม้ และทัพพีประจำตนสำหรับตักเนยบูชาไฟ ไม้เท้าและถุงย่าม ส่วนเครื่องนุ่งห่มนั้นใช้เปลือกไม้บ้าง ใบไม้บ้าง หนังสัตว์ เช่นหนังสือบ้าง และนุ่งคากรองบ้าง

ในประเทศอินเดียพวกฤาษีคงจะมีมาก่อนพุทธกาล เพราะตอนพระพุทธเจ้าประสูตินั้น อสิตดาบสหรือกาฬเทวินดาบสได้เข้ามาเยี่ยมและถวายพระพรด้วย และนอกจากนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าออกผนวชใหม่ๆ ได้เข้าไปศึกษาอยู่ในสำนักของอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรวมบุตรจนสำเร็จได้บรรลุสมาบัติ ๘

ฤาษีทั้งหลายนับเป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ และตั้งสำนักส่วนใหญ่อยู่ที่นครตักศิลา ซึ่งเรียกว่าเป็นสำนักทิศาปาโมกข์ หรือเป็นนครมหาวิทยาลัยสมัยก่อนของชมพูทวีปทีเดียว ดังนั้นบรรดากษัตริย์ทั้งหลายจึงนิยมส่งโอรสไปศึกษาวิชาการต่างๆ จากสำนักทิศาปาโมกข์เหล่านั้น

ฤาษีทั้งหลายทำอะไรบ้าง ฤาษีหรือโยคีนั้นต้องบำเพ็ญตบะ ว่ากันว่าถ้าตบะแก่กล้าแล้วสามารถบันดาลอะไรได้หลายอย่าง สาปแช่งใครให้เป็นอะไรก็ได้ คนจึงกลัวฤาษี หรือโยคีกันมาก ลัทธิที่โยคีต้องศึกษาเล่าเรียนนั้นว่ามีอยู่ ๕ ชั้น คือ

๑.ตหโยคะ  เรียนบริหารร่างกาย ให้แข็งแรงสามารถต่อสู้โรคภัยตลอดถึงดื่มยาพิษหรือกินแก้วกระจกได้ ท่านที่เคยไปวัดพระเชตุพนที่กรุงเทพฯ คงจะเคยเห็นรูปปั้นฤาษีดัดตนท่าต่างๆ วางไว้ นั้นก็คือท่าที่ฤาษีทำการบริหารร่างกายดังกล่าวแล้ว เพราะฤาษีต้องนั่งทำจิตใจให้เป็นสมาธิเป็นเวลานาน จึงต้องมีการบริหารร่างกายแก้เมื่อยขบเป็นเครื่องช่วย ส่วนการที่สามารถดื่มยาพิษได้โดยไม่เป็นอันตรายนั้นมีผู้เล่าว่ามีโยคีหนุ่มคนหนึ่งสามารถดื่มยาพิษชนิดร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้คนตายได้เป็นร้อยคน โดยที่ตนไม่เป็นอะไรเลย นี่ก็คือผลของการบำเพ็ญโยคะอันที่ ๑
๒. ญาณโยคะ  เรียนศิลปะต่างๆ ให้รู้ทางธรรมหรือวิชาหัตถกรรม
๓. กรรมโยคะ  หัดฝึกใจให้ทำอะไรโดยไม่หวังผลตอบแทน หัดละโลภ โกรธ หลง
๔. ภักติ โยคะ  หัดภาวนา ฝึกดวงจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่
๕. ราชโยคะ  หัดให้เป็นคนวิเศษ เหนือมนุษย์สามัญ มีทิพโสต ทิพจักษุ นี้เป็นเรื่องของฤาษีหรือโยคีของอินเดีย และลัทธิโยคีนี้คงจะติดตามคนอินเดียเข้ามาในเมืองไทย เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว นิยายเรื่องฤาษีจึงติดอยู่ในจิตใจและในชีวิตของคนไทยต่อมาจนบัดนี้

พวกฤาษีคงจะมีคนนับถือว่าเป็นครูบาอาจารย์มาแต่เก่าก่อน โดยเฉพาะพวกนักแสดงเช่นหนังตลุง และละครชาตรี ต่างนับถือฤาว่าเป็นครูของตน นั่นก็แสดงว่าความรู้เกี่ยวกับการแสดงเหล่านี้ นักพรตเช่นฤาษีเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทให้นั่นเอง

ฤาษีจะหมดไปจากประเทศ่ของเราแล้วหรือยังก็ไม่ทราบ แต่พวกที่นับถือศาสนาพุทธแล้วไม่ได้บวช ได้แต่หลีกเร้นไปอยู่ตามถ้ำและภูเขาลำเนาไพรก็คงมีอยู่มาก ท่านเหล่านี้เราจะเรียกว่าฤาษีก็คงจะได้กระมัง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี