คานธีกับพระราชบัญญัติกำจัดสิทธิชาวผิวเหลือง

Socail Like & Share

คานธี
เมื่อการกบฏสิ้นสุดลง ท่านคานธีได้กลับไปสู่โยฮันสเบอก ทำการว่าความไปตามเคย แต่การดำเนินอาชีพด้วยความสงบสุข ดูเหมือนจะไม่มีอยู่ในดวงตาของท่าน ฉะนั้นเมื่อการกบฏผ่านพ้นไปแล้วไม่กี่วันนัก รัฐบาลทรานสวาลประกาศว่าจะเสนอร่างพระราชบัญญัติจำกัดสิทธิชาวอาเซียฉบับแก้ไข (Draft Asiatic Law Amendment Ordinance) ขึ้น ให้สภานิติบัญญัติพิจารณา เป็นธรรมดาในเหตุการณ์เช่นนี้ มหาตมะคานธีจะนิ่งเงียบอยู่เฉยๆ ทำดูดายดังคนทั่วไปมิได้เป็นแน่ ท่านเข้าใจได้ทันทีว่า ถ้าชาวอินเดียส่วนรวมไม่ทำการคัดค้านการใช้พระราชบัญญัตินี้เสียในขั้นต้น ผลร้ายจะบังเกิดขึ้นแก่ชาวอินเดียอย่างแน่ท่านจึงได้เรียกประชุมคณะผู้ใหญ่ชาวอินเดียในอาฟริกาใต้เพื่อหารือว่า ควรปฏิบัติอย่างไร ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรก็จงทำเถิด ชาวอินเดียจะไม่ยอมดำเนินตามพระราชบัญญัตินี้เป็นอันขาด เพื่อซ้อมความเข้าใจในเรื่องนี้ให้แน่นอนทั่วไป และเพื่อก่ออานุภาพขึ้นในจิตใจของชนชาวอินเดีย ที่พำนักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น ท่านจึงได้กำหนดวันทำการปฏิญาณตนว่าจะไม่ยอมดำเนินตามพระราชบัญญัติ ที่สภานิติบัญญัติได้เสนอขึ้นนี้โดยเด็ดขาดและมีโอกาสเมื่อใดจะขัดขืนเมื่อนั้น วันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๐๖ ท่านได้นัดประชุมทำการปฏิญาณตนดังกล่าวแล้ว ทั้งท้าให้รัฐบาลลงโทษในฐานะเป็นผู้ขัดขืนกฏหมายได้ตามแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร

อนึ่ง ถึงรัฐบาลทรานสวาลจะเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นก็จริง แต่การที่จะประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติได้นั้น ต้องอาศัยการทรงเห็นชอบของพระเจ้ากรุงอังกฤษ ฉะนั้น ท่านคานธีจึงเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องเดินทางไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อทำการเจรจากับผู้ใหญ่ในวงการรัฐบาล ขอให้สั่งระงับร่างพระราชบัญญัตินี้ มิให้ออกเป็นกฎหมายได้ ในที่สุดแห่งการคัดค้านของลอร์ด เอลกิน ได้ออกคำสั่งให้งดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ไว้ชั่วคราว แต่การสั่งงดนี้หาได้ยืดเวลาอยู่นานเท่าไรไม่ คืออีกไม่กี่วันร่างนั้นกลับได้รับการยินยอมจากสภานิติบัญญัติอีก แล้วโดยอาศัยพระบรมราชานุมัติ ทางการของรัฐบาลได้ประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติจนได้

การสงครามตามหลักอหิงสา ระหว่างท่านคานธีกับรัฐบาลอังกฤษเริ่มขึ้นแต่นี้ไป

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี