คานธีผู้พยาบาลกาฬโรคและนำกองบรรเทาทุกข์

Socail Like & Share

คานธี

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ กาฬโรคได้ระบาดขึ้นในเมืองโยฮันสเบอก (Johanesburg) ทั้งนี้เพราะทางการเทศบาบซึ่งมีสมาชิกล้วนเป็นชาวอังกฤา ไม่ค่อยจะเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของชาวผิวเหลือง หนังสือพิมพ์ Indian Opinion ได้ลงบทนำแนะนำเทศบาลให้แก้ไขการสุขาภิบาลของเมืองโดยทั่วไป ถึงกระนั้นถ้าตำบลนั้นๆ ไม่เป็นที่อยู่ของฝรั่ง ทางการเทศบาลก็หาได้เอาใจใส่ประการใดไม่

เมื่อกาฬโรคแรกเกิด ยังไม่ระบาดแพร่หลาย มีคนป่วยตายเพียง ๒-๓ ราย ท่านคานธีได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้จัดการปราบเสียแต่เนิ่นๆ แต่ทางการของรัฐบาลกลับทำไม่รู้ไม่ชี้ และปฏิเสธข่าวเสียสิ้น รายงานร้องทุกข์ของท่านจึงมิเป็นผลแม้แต่น้อย

ต่อมาอีกอาทิตย์หนึ่งเท่านั้น กาฬโรคได้แพร่ไปทั่วเมืองถึงกับทางการของรัฐบาลและเทศบาลไม่สามารถที่จะปฏิเสธข่าวได้อีก กระนั้นก็ดี ทางการยังหาได้จัดการประการใดไม่ มหาตมะคานธีเมื่อเห็นว่ากาฬโรคกำลังระบาดยิ่งขึ้น แต่เทศบาลยังนิ่งนอนใจอยู่เหมือนทองไม่รู้ร้อน จึงพร้อมกับมิตรสหาย ๒-๓ คน จัดการตั้งโรงพยาบาลส่วนตัวขึ้น และท่านเองก็ได้ลงมือทำหน้าที่เป็นผู้พยาบาลด้วย ในกิจการส่วนนี้ แม้เทศบาลที่เคยเพิกเฉยก็ได้ชมเชยท่านคานธี ผู้อุทิศชีวิตร่างกายสำหรับสาธารณะประโยชน์เช่นนี้เหมือนกัน

ในที่สุด กาฬโรคได้สงบลง โดยได้ผลาญชีวิตพลเมืองเสียมิใช่น้อย แต่ทว่าก่อนที่พิษร้ายแห่งกาฬโรคจะหมดสิ้นลงนั้น เหตุการณ์อันน่าหวาดเสียวได้แทรกขึ้นอีกรายหนึ่ง ทำให้ท่านคานธีจำต้องอำลาบ้านเรือนอันสงบสุขไปทำการบรรเทาทุกข์ในสนามรบ อันชุ่มชื้นไปด้วยหยาดโลหิต สาเหตุนี้ เนื่องมาแต่การกบฏของชาวเมืองต่อรัฐบาลอังกฤษนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอาฟริกาใต้ จึงไม่จำเป็นที่จะกล่าวในที่นี้ ขอพูดเพียงแต่ว่า การเป็นอยู่อย่างอิสระเป็นนิสัยสันดานของมนุษย์ แม้ตลอดถึงสัตว์ด้วย มนุษย์ถึงจะเป็นอนารยะชนสักเพียงไรก็ตาม ย่อมไม่ยอมที่จะแลกเปลี่ยนอิสรภาพ กับอารยธรรมคือไม่ยอมที่จะรับเอาอารยธรรมโดยเสียสละความเป็นอิสระจึงย่อมเป็นธรรมดาที่ชาวพื้นเมือง จะก่อการกบฎต่อรัฐบาลที่ทำลายอิสรภาพของเขา โดยอาศัยการอำนวยอารยธรรมเป็นเครื่องตัดรอนอิสรภาพลง

ท่านคานธีได้สันนิษฐานไว้แต่ก่อนแล้วว่า เรื่องราวระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับชาวพื้นเมืองนั้น ในที่สุดจะเป็นเหตุให้นองเลือด จึงได้ส่งครอบครัวไปอยู่เสียที่นิคมพีนิกส์ และได้จัดกองบรรเทาทุกข์ชาวอินเดียเตรียมล่วงหน้าไว้

ในการจัดการบรรเทาทุกข์ครั้งนี้ ชั้นแรกเมื่อท่านได้มองเห็นสถานการณืของชาวพื้นเมืองอันน่าอนาถ ท่านต้องต่อสู้กับใจตนเองหลายครั้งหลายหนว่า การที่ท่านยอมตนเข้าเป็นฝ่ายอังกฤษนั้น เป็นการชอบด้วยธรรมหรือ ฝ่ายที่ประกอบด้วยอาวุธทันสมัย ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เข้ามาแย่งชิงท้องถิ่นที่อยู่ที่กินของผู้อื่น ทำลายอิสรภาพของเขา ยึดที่ดินไว้เป็นของตน และเหยียบย่ำเจ้าของเดิมลงเป็นทาส ฝ่ายนั้นชอบด้วยธรรมหรือว่า ฝ่ายที่กล้าต่อต้านฝ่ายบุกรุกด้วยมือเปล่า พลีชีวิตเพื่อรักษาอิสรภาพล้มตายระเนระนาดอยู่ตามพื้นเหมือนมดที่ถูกบี้ถูกเฆี่ยนจนหนังถลอกปอกเปิดล้มสลบอยู่ตามใต้พุ่มไม้ และในบ้านเรือนของตน ฝ่ายนั้นชอบด้วยธรรม คำตอบปัญหานี้ ท่านได้รับหลังจากการนึกคิดและการพบเห็นความเป็นไปแห่งการกบฏคราวนี้นี้น คือประวัติชีวิตต่อไปของท่านคานธี

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี