มหาตมะคานธีกับสงครามอหิงสา

Socail Like & Share

คานธี
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกำจัดสิทธิของชาวอาเซียได้รับพระบรมราชานุมัติ กลับกลายเป็นพระราชบัญญัติขึ้น การร้องทุกข์ การวิงวอนของท่านคานธีต่อผู้ใหญ่ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ ทั้งในภาคอาฟริกาใต้ และกรุงลอนดอน จึงมิเป็นผลแม้แต่ประการใด ฉะนั้นทางแก้ไขกฎหมายอันขัดกับหลักมนุษยธรรมให้หมดฤทธิ์ไปนั้น จึงเหลืออยู่แต่ทางเดียวคือทางการต่อสู้ การต่อต้าน ไม่ยอมดำเนินตามกฎหมาย แม้รัฐบาลจะลงโทษอย่างร้ายแรงเพียงไรก็ตาม

เพราะเหตุนี้เอง ร่างพระราชบัญญัติประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อใด มหาตมะคานธีก็เริ่มประกาศสงครามต่อรัฐบาลเมื่อนั้น แต่วิธีการของท่านได้ผิดแผกไปจากวิธีการสงครามโดยทั่วๆ ไป กล่าวคือสงครามของท่านเป็นสงครามต่อรัฐบาล ผู้ดำเนินหลักการอันขัดต่อหลักมนุษยธรรม เป็นสงครามต่อนโยบาย ซึ่งชิงเอาสิทธิจากพวกที่ไร้อาวุธ มาสะสมอำนาจของตน เป็นสงครามต่อความไม่จริง ความไม่ยุติธรรม อำนาจของรัฐบาล อาศัยความปองร้ายเป็นหลักดำเนิน และการยึดถืออาวุธเป็นเครื่องอุปกรณ์ ฉะนั้นถ้าจะต่อสู้กับอำนาจนี้ จึงต้องอาศัยความไม่ปองร้ายเป็นหลักดำเนิน และการไม่อ่อนน้อมต่ออำนาจเดรฉานศักดิ์เป็นเครื่องอุปกรณ์ นี้แหละเป็นทางต่อสู้กับอำนาจปองร้ายดังพระบรมศาสดาคือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งอินเดีย ทรงชี้ไว้เมื่อ ๒๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว มหาตมะคานธีจึงได้เลือกเอาทางนี้ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งมีอาวุธและอิทธิพลแพร่ไปเกือบทุกมุมโลก

อาศัยการแสดงปาฐกถา การเขียนบทนำลงในหนังสือพิมพ์ และยิ่งไปกว่านั้น อาศัยตนเป็นตัวอย่างท่านปลุกใจบรรดาชาวอินเดียซึ่งพำนักอาศัยอยู่ ณ ภาคอาฟริกาใต้ ไม่ให้อ่อนน้อมต่อรัฐบาลอังกฤา ตราบใดที่ไม่เลิกใช้กฎหมายฉบับใหม่นี้ คนนับจำนวนพันๆ พากันมาร่วมอยู่ภายใต้ธงของท่านคานธี พากันแห่ขบวนเดินไปตามถนนคัดค้านกฎหมายฉบับใหม่ ตามตำบลใหญ่ และตามหัวเมือง มหาชนพากันไปประชุมคัดค้านกฎหมายที่ทำลายมนุษยธรรมนั้น ฝ่ายทางอินเดียซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพวกที่กำลังจะได้รับความทรมานจากรัฐบาล หาได้อยู่เฉยๆ ไม่ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ สภานิติบัญญัติ มหาชนพากันคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ทั่วภาคอาฟริกาใต้และอินเดียตื่นเต้นไปด้วยการคัดค้านกฎหมายอันขัดต่อหลักอารยธรรม แต่เป็นสิ่งที่น่าเสียใจไม่น้อย ที่ถึงแม้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น เพื่อกำจัดสิทธิของชาวอาเซียโดยทั่วไปก็จริงแต่ไม่มีประเทศใดนอกจากประเทศอินเดีย ได้แสดงคำคัดค้านแม้แต่คำเดียว

รัฐบาลเห็นความตื่นเต้นครึกโครมอย่างไม่นึกฝันเช่นนี้รู้สึกแปลกใจในสมรรถภาพของอินเดียผู้ไร้อาวุธ กล้าต่อสู้กับมหาอำนาจเช่นอังกฤาอันประกอบไปด้วยสรรพาวุธที่ทันสมัย จึงเป็นการเหลือวิสัยที่รัฐบาลจะนิ่งอยู่ได้อีก ผลก็คือ รัฐบาลต้องลงมือปราบปรามพวกก่อการไม่สงบทันที แต่ย่อมเป็นธรรมดาที่ผู้ที่ได้อุทิศชีวิตให้แก่ประเทศชาติแล้ว ย่อมไม่มีความกลัวต่อนโยบายการปราบปรามของรัฐบาล ถึงการปราบปรามนั้นจะมีพิษร้ายแรงแฝงอยู่เพียงไรก็ตาม ในที่สุดตอนปลายปี ค.ศ.๑๙๐๗ มหาตมะคานธีและพวกพ้องอีกหลายคนได้ถูกจับ นี่นับเป็นครั้งแรกที่ท่านคานธีได้สถาปนาเรือนจำให้เป็นปูชนียสถานแก่ชาวอินเดียโดยทั่วไป

พวกพ้องของท่าน ได้รับการลงโทษให้จำคุก ๖ เดือน พร้อมทั้งให้ทำงานหนักด้วย ส่วนท่านคานธีให้จำคุกเพียง ๒ เดือน โดยไม่ต้องทำงาน ท่านเห็นความแตกต่างกันในการลงโทษเช่นนี้ จึงคัดค้านขอร้องให้ตนได้รับการลงโทษหนักกว่าคนอื่น เพราะท่านเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ แต่ศาลมิยอมปฏิบัติ ตามคำขอร้องของท่าน ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลเข้าใจเอาว่า ถ้าท่านคานธีต้องรับลงอาญาน้อยกว่าอื่นๆ คนอื่นๆ คงจะคิดน้อยใจ เอาใจออกห่างแตกแยกกับท่านแต่ตรงกันข้าม ผู้ร่วมชาติของท่านคานธี มีความไว้วางใจในตัวท่านเพียงพอ นโยบายนั้นจึงมิได้มีผลเลย

การลงโทษท่านคานธีหรือผู้นำอื่นๆ จะทำการตื่นเต้นและการคัดค้านให้สงบลงก็หาไม่ ตรงกันข้ามประชาชนเห็นความโหดร้ายของฝ่ายรัฐบาล จึงยิ่งรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลอย่างแรงกล้าขึ้น ผลที่สุดความเกลียดชังนั้นยิ่งมากขึ้นทุกที

ในที่สุด รัฐบาลสำนึกตัวได้ว่า อำนาจอาวุธและอธรรม ไม่สามารถดับอำนาจใจและธรรมได้ ฉะนั้นหลังจากที่พวกผู้ก่อการ ได้ถูกจำคุกแล้ว ๓ สัปดาห์ก็ถูกปล่อย (General Smutts) หัวหน้าฝ่ายรัฐบาล เริ่มเจรจาเรื่องกฎหมายนี้กับฝ่ายท่านคานธี มีการประนีประนอมกันตามข้อต่อไปนี้ คือ
๑. ชาวอาเซีย สมัครใจที่จะจดทะเบียนลงชื่อได้
๒. รัฐบาลนี้จะถอนกฎหมายนี้ออกทันที และไม่เก็บภาษีคนเข้าเมืองจากชาวอาเซีย

การประนีประนอมนี้ ได้ทำการตกลงกันด้วยปากบ้างเป็นลายลักษณ์อักษรบ้าง ส่วนข้อที่ว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายฉบับนั้น พลเอก สมัตส์ ได้กระทำกับท่านคานธีต่อหน้าพยานฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ

ฉะนั้น มหาตมะคานธีจึงประกาศให้ยกเลิกการต่อสู้และไปทำการจดทะเบียนที่ว่าการอำเภอตามข้อตกลง แต่เป็นโชคร้ายสำหรับท่านที่ทางการรัฐบาลยังมิได้ประกาศข้อตกลงนั้นให้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ชาวอินเดียผู้บ้าเลือดบางคน จึงกลับหุนหันเข้าใจไปว่าท่านคานธีขายชาติให้แก่อังกฤษเสียแล้ว จึงได้ประกาสเลิกการต่อสู้ เพราะความเข้าใจผิดเช่นนี้ พวกเขาจึงพากันไปทุบตีท่านคานธี ในขณะที่ท่านกำลังจะไปที่ว่าการอำเภอ อย่างไรก็ดี ท่านรอดพ้นจากอันตรายนั้นได้ แล้วหลังจากการกลับจากที่ว่าการอำเภอ ท่านได้นำข้อตกลงระหว่างท่านกับรัฐบาล ลงในหนังสือพิมพ์ และกล่าวย้ำว่ารัฐบาลจะถอนกฎหมายนี้พร้อมกับ ภาษี ๓ ปอนด์แน่นอน แต่ด้วยเหตุไรก็ตามรัฐบาลหาได้ดำเนินตามข้อตกลงนั้นไม่ กฎหมายพร้อมทั้งภาษี ๓ ปอนด์ จึงยังขูดเลือดเนื้ออยู่ตามเคย ท่านได้เตือนรัฐบาลแล้วหลายครั้งสิ้นเวลาหลายเดือน แต่รัฐบาลแกล้งทำเหมือนไม่รู้ไม่ชี้ ท่านต่อว่าพลเอก สมัตส์ ว่าเป็นผู้เสียสัตย์ ทั้งแสดงความจำนงว่า ท่านและคณะของท่านจะไม่ไว้วางใจในคำพูดของสมัตส์ หรือของรัฐบาลที่พลเอกสมัตส์เป็นผู้แทนอีก เพราะความเสียสัตย์ทางฝ่ายรัฐบาลเป็นเหตุเช่นนี้ การต่อสู้จึงได้เริ่มฟักตัวขึ้นอีก

ในคราวนี้ ท่านได้ถูกจำคุก ๒ ครั้ง แต่การต่อสู้ก็ยังคงดำเนินอยู่ดังเดิม ชาวอินเดียพากันเดินเข้าเมืองโดยไม่ยอมเสียภาษีแม้แต่สตางค์เดียว แต่ยอมให้เจ้าหน้าที่กักขังตัวไว้ในคุกตลอดเวลาที่รัฐบาลต้องการ ในที่สุดเพื่อจะทำให้มีการแตกร้าวกันขึ้น ระหว่างท่านคานธีกรับคณะรัฐบาล จึงปล่อยตัวท่านคานธีออกเป็นอิสระแต่กักขังคนอื่นไว้ ถึงกระนั้นการต่อสู้ก็ยังหาสิ้นสุดลงไม่ เมื่อท่านได้เห็นว่าการเจรจากับรัฐบาลประจำอาฟริกาใต้มิเป็นผลท่านจึงเดินทางไปยังอังกฤษ เพื่อจะทำการเจรจากับรัฐบาลกลางโดยตรงทีเดียว ในที่สุดมาใน ค.ศ.๑๙๑๑ ได้มีการตกลงชั่วคราวขึ้นระหว่างคณะอินเดียกับรัฐบาล

ข้อตกลง ค.ศ.๑๙๑๑ รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกำจัดสิทธิของชาวอาเซียเสีย ปี ๑๙๑๑ ผ่านพ้นไปแล้วในห้วงอดีต แต่ฝ่ายรัฐบาลยังคงเงียบอยู่ มาถึง ค.ศ.๑๙๑๒ เรื่องราวจะคืบหน้าต่อไปก็หาไม่ ในปีนี้ท่านโดเชลผู้นำอันลือชื่อของอินเดียในสมัยนั้น และซึ่งท่านคานธีนับถือเสมือนหนึ่งอาจารย์ฝ่ายการเมือง ไปเยี่ยมเยียนอาฟริกาใต้ อาศัยการเจรจาของท่านผู้นี้ คณะมนตรีฝ่ายสภาอาฟริกาใต้ รับภาระที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเก่า แต่ ค.ศ.๑๙๑๒ ก็ได้ผ่านพ้นไปในทำนองเดียวกันกับ ค.ศ. ๑๙๑๑ อีก

มาใน ค.ศ. ๑๙๑๓ ท่านคานธีเห็นว่า ออกจะเป็นการเหลือวิสัยที่จะไว้ใจในคำพูดของรัฐบาลอังกฤษ ได้ต่อไปอีก ผลที่สุด อหิงสา ก็ได้เริ่มขึ้นอีกระหว่างสัจธรรมกับอสัจธรรม แต่ทว่ามีกำลังรุนแรงยิ่งกว่าคราวที่แล้วๆ มา

ในที่นี้ ขอกล่าวถึงหลักสงครามอหิงสาสักหน่อยเพราะว่าหลักนี้ ท่านคานธีได้ยึดถือเป็นหลักดำเนินกิจการทั้งปวง ทั้งในภาคอาฟริกาใต้และอินเดีย และหลักนี้เองที่ทำให้ชื่อของท่านคานธี แผ่กระจายไปทั่วโลกกว้างขวางเหมือนกลิ่นดอกไม้

ถ้าหากรัฐบาลดำเนินหลักการ หรือนโยบายขัดกันกับความเห็นของประชาชน ประชาชนอาจจะต่อต้านอำนาจบริหารของรัฐบาลได้ การต่อต้านนี้มีอยู่ ๒ ประการคือต่อต้านโดยคิดทำการประทุษร้ายต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล ๑ ตามภาษาอังกฤษแปลว่า Active resistance ส่วนการต่อต้านประเภทที่ ๒ เรียกว่า Passive resistance

การที่ท่านคานธีได้ต่อต้านอำนาจบริหารของรัฐบาล โดยแสดงตนเป็นผู้ขัดขืนต่อกฎหมายนั้น นับว่าเป็นการต่อต้านประเภทที่ ๒ ฉะนั้นการต่อสู้ระหว่างท่านกับรัฐบาล ท่านจึงเคยกล่าวเสนอว่าเป็น Passive resistance แต่ครั้งหนึ่งท่านได้ไปยังที่ประชุม ชาวฝรั่งแห่งหนึ่งในภาคอาฟริกาใต้ ณ ที่นั้น ท่านได้ยินว่า ชาวฝรั่งมักตีความของคำว่า Passive resistance แคบไปกว่าอย่างที่ท่านหมายอยู่ คือว่า ฝรั่งเข้าใจไปว่า Passive resistance นับว่าเป็นวิธีการของพวกอ่อนแด ผู้ซึ่งไม่สามารถจะทำรัฐประหารโดยการประทุษร้ายได้ เพราะขาดอาวุธ แต่ความจริงในใจเขาคิดอยู่เสมอว่าจะทำการประทุษร้ายรัฐบาล ในเมื่อโอกาสจะมาถึง ฉะนั้น ตามความเข้าใจของฝรั่ง หลัก Passive resistance จึงมีความปองร้ายระบายอยู่ในตัว

ส่วนท่านคานธี ท่านเห็นไปคนละแง่ทีเดียว ท่านเห็นว่าการที่ท่านต่อต้านอำนาจรัฐบาลโดยมิคิดปองร้ายนั้นมิใช่เพราะท่านขาดอาวุธ แต่เพราะท่านเห็นว่า หลักอหิงสาเป็นหลักของเดรแนศักดิ การป้องกันหรือชิงสิทธิโดยอาศัยอาวุธสมกับสัตว์ซึ่งยังข้องอยู่ในมิจฉาจาร หาใช่เป็นทางดำเนินของผู้อ่อนแอไม่…เป็นทางดำเนินของผู้ดำรงอยู่ในสัมมาจารผู้ยึดถือความจริง ถึงจะมีอาวุธ ท่านจะไม่ยอมใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ เพราะว่าสิทธิอันชอบด้วยสัจธรรม เราสามารถชิงเอามาเป็นของตนได้ โดยอาศัยความจริง มิใช่โดยอาศัยอาวุธ สัตว์เดรฉานชิงสิทธิโดยอาศัยอาวุธ มนุษย์ผู้ใดยอมตัวลงในระดับเดียวกันกับสัตว์เดรฉานสามารถใช้อาวุธเป็นเครื่องมือได้ แต่ผู้สำนึกตนได้ว่าเป็นมนุษย์ ย่อมไม่ทำเช่นนั้น

เนื่องจากหลักของท่านคานธีมีอยู่เช่นนี้ ฉะนั้นเพื่อจะกันความเข้าใจผิด ท่านจึงเห็นสมควรที่จะเปลี่ยนคำว่า Passive resistance เสีย แล้วบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้น ความจำนงใจดังว่านี้ท่านได้นำไประบายลงในหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งได้ประกาศด้วยว่า ผู้ที่แนะนำศัพท์ที่เหมาะให้ได้ ท่านจะให้รางวัลแก่เขา ญาติของท่านผู้หนึ่งชื่อว่า มคนลาลคานธี แนะนำว่า สทาคฺรห (สตฺ+อาคฺรหะ) การยึดไว้ซึ่งสิ่งที่ดี มหาตมะคานธีเห็นชอบด้วยคำนี้ แต่แปลงเป็นสัตยาคารหะ (สฺย+อาคฺรหะ) การยึดไว้ซึ่งสัจธรรม ท่านมคนลาล จึงได้รับรางวัลตามที่ประกาศไว้ ตั้งแต่นั้นมา หลักการหรือวิธีการต่อสู้ต่อต้านของท่านคานธีจึงเรียกว่า สัตฺยาคฺรหะ และผู้ที่จะสมัครตนเป็นผู้รับอาสาสัตฺยาคฺรหะนี้ จะต้องปฏิญาณตนว่า จะไม่ทำการปองร้ายผู้ใดๆ ถึงแม้ผู้นั้นเขาจะทำร้ายแก่เราเพียงไรก็ตามที

บัดนี้ ขอย้อนกล่าวถึงการต่อสู้ครั้งที่ ๒ ที่ได้ปรารภไว้ตอนต้นอีก เมื่อเกิดมีความเข้าใจอย่างแน่วแน่ว่า รัฐบาลจะไม่รักษาคำพูดของตน ท่านคานธีได้ประกาศสัตยาเคราะห์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๓ การประกาศสัตยาเคราะห์นี้ขยายบริเวณเลยมณฑลทรานสวาลไปถึงเนตาลด้วย ตามพระราชบัญญัติกำจัดสิทธิชาวอาเซียมีว่าชาวอาเซียผู้ใดปรารถนาเข้าเมืองทรานสวาล ต้องเสียภาษีเข้าเมือง ๓ ปอนด์ ฉะนั้นท่านคานธีจึงได้รวบรวมคณะชาวอินเดียคณะหนึ่ง มีจำนวนหลายพัน แล้วนำคณะนี้เดินขบวนเข้าไปในพรมแดนทรานสวาล โดยไม่ยอมเสียภีเข้าเมือง ทุกคนในคณะนี้ได้ปฏิญาณตนว่าจะรับอาญาแทนที่จะเสียภาษีเข้าเมือง มหาตมะคานธีปฏิญาณบัญญัติฉบับนี้ ตราบนั้นท่านจะรับประทานอาหารแต่มื้อเดียว พรรคอาสาสัตยาเคราะห์ ได้เริ่มเดินทางออกจากเนตาลไปสู่พรมแดนทรานสวาล เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจไมตรีต่อพรรคอาสาสัตยาเคราะห์ เหล่ากรรมกรทั่วอาฟริกาใต้พากันหยุดงาน (Strike) ทั้งหมด มหาชนจำนวนหมื่นๆ พากันไปประชุมคัดค้านพระราชบัญญัติแทบทุกเมือง ในอาฟริกาและอินเดีย พร้อมๆ กันกับเหตุการณ์นี้ มีเหตุการณ์อีกรายหนึ่งเกิดขึ้น และทำให้การตื่นเต้นรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ศาลสูงแห่งอาฟริกาใต้ อาศัยคำร้องของรัฐบาลได้ออกประกาศ การแต่งงานของหญิง ชาวอินเดียว่าผิดกฎหมายพวกหญิงทั้งหลายจึงพากันเดินขบวนไปตามถนนของทรานสวาล คัดค้านคำพิพากษาของศาลสูง ทางอินเดียก็ได้เรี่ยไรเงิน ส่งไปช่วยเหลือการปฏิวัติตามหลักสัตยาเคราะห์ในอาฟริกาใต้คราวนี้ด้วย

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ลอร์ดฮารดินจ์ ผู้สำเร็จราชการของอินเดีย เป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญมิใช่น้อยที่ท่านผู้นี้ได้เข้ากับฝ่ายอินเดีย โดยท่านได้ร้องขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเหตุการณ์ในอาฟริกาใต้ ในอังกฤษ ลอร์ดแอมปทิลล์ ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาคณะหนึ่ง แต่รัฐบาลกล่าวคัดค้าน คณะกรรมการคณะนั้นจึงทำอะไรมิได้ กระนั้นก็ดี เนื่องจากสถานการณ์กำลังตึงเครียดขึ้นทุกที รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปล่อยตัวพวกผู้นำออกมา และจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง แต่กรรมการฝ่ายคณะนี้ มิเป็นที่พอใจของอินเดีย มหาตมะคานธีและผู้นำอื่นๆ จึงทำการบอยค๊อตคณะกรรมการนี้ และประกาศห้ามชาวอินเดียทั่วไป ไม่ให้ช่วยเหลือคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา

เมื่อได้ปรากฎว่า เพราะความดื้อดึงของฝ่ายรัฐบาลจึงมองไม่เห็นหนทาง ที่สถานการณ์จะกลับมาสู่ปรกติภาพได้ ชาวอังกฤษ ๒ คน ชื่อว่า มร. แอนดรูส์กับเปียรสัน จึงต้องทำการประนีประนอมกัน

ในขณะนั้น เผอิญเกิดมีเหตุการณ์ขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งในที่สุดกลับเป็นกรณีให้รัฐบาลอังกฤษกับชาวอินเดียประนีประนอมกันได้ กล่าวคือ ในขณะที่คณะกรรรกรอินเดียกำลังหยุดงานอยู่ และทั้งขณะที่กำลังดำเนินสัตยาเคราะห์อยู่ทั่วทุกแห่งนั้น กรรมกรอังกฤษเกิดหยุดงานตามด้วย ทำให้รัฐบาลอยู่ในแหล่งความลำบากมิใช่น้อย มหาตมะคานธีผู้มีใจตั้งมั่นอยู่ในสัจธรรม จึงประกาศเลิกสัตยาเคราะห์ทันที โดยอ้างเหตุผลว่า หลักอารยธรรมอินเดีย สอนอินเดียไม่ให้ต่อสู้กับฝ่ายที่ตกอยู่ในความลำบาก ฉะนั้นตราบใดที่รัฐบาลยังต่อสู้กับเหตุการณ์อันปัจจุบัน ตราบนั้นชาวอินเดียจะระงับสัตยาเคราะห์ชั่วคราวก่อน

การเห็นน้ำใจรัฐบาลดังว่านี้ เห็นเหตุนำมาซึ่งมิตรภาพระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับชาวอินเดีย ในภาคอาฟริกาใต้อีกประการหนึ่ง รัฐบาลเลิกพระราชบัญญัติจำกัดสิทธิชาวอาเซียอย่างเด็ดขาด และยอมให้ชาวอินเดียมีสิทธิเสมอด้วยฐานะพลเรือน (Civil Status) เท่าเทียมกับชาวอังกฤษโดยประการทั้งปวง สงครามอหิงสา ซึ่งได้เริ่มขึ้นแต่ ค.ศ. ๑๙๐๗ จึงได้ยุติลงด้วยสวัสดิภาพใน ค.ศ. ๑๙๑๔ โดยทางหิงสาจำต้องอ่อนน้อมต่อเดชพลแห่งอหิงสา

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี