คานธีกับเหตุร้ายในจัมปารัน

Socail Like & Share

คานธี
การปะทะครั้งแรกกับรัฐบาลอังกฤาในอินเดีย
ดังได้กล่าวมาแล้วดังคำขอร้องของท่านโคเชล มหาตมะคานธีได้เที่ยวดูสถานการณ์ในอินเดียเป็นเวลาปีหนึ่ง เมื่อหนึ่งปีผ่านพ้นไปแล้ว ทำให้ท่านมีความเข้าใจในความเป็นไป ความเป็นอยู่ของอินเดีย ซาบซึ้งกว่าเดิมเป็นหลายเท่า กระนั้นก็ดี หลักการ และวิธีดำเนินการของท่านจะได้เปลี่ยนแปลงไปจากสายเดิมก็หาไม่ ท่านยังยึดถือหลักการอยู่ว่าการร้องขอ การร้องเรียกมิใช่ทางที่สิทธิต่างๆ จะกลับคืนมาได้ อินเดียจำจะต้องแสดงสมรรถภาพ และชิงเอาสิทธิเหล่านั้นกลับคืนมาโดยพลการให้จงได้

ตรงกันกับเวลานั้น ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นต้นเหตุให้ท่านคานธีต้องดำเนินนโยบายอีกอันหนึ่ง คือ การขัดขืนกฎหมาย

กล่าวคือ ในมณฑลวิหาร มีหัวเมืองๆ หนึ่งชื่อว่าจัมปารัน ณ ที่นั้น พวกฝรั่งหลายคนจ้างชาวอินเดียทำการเพาะปลูกเป็นอาชีพ ความประพฤติของนายจ้างฝรั่งต่อลูกจ้างอินเดียนั้น มักเป็นไปในทางบีบคั้นมาก ถึงกับข่าวนั้นแพร่ไปทั่วโลก อนึ่ง พวกกรรมกรเพาะปลูกเหล่านั้นมีความประสงค์ที่จะแก้ฐานะให้ดีขึ้น จึงรวมส่วผู้แทนไปยังคองเกรส ซึ่งในปีนั้น (ค.ศ. ๑๙๑๖) ประชุมกันที่เมืองลักขเนา และขอร้องให้ท่านคานธีพูดถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน ให้ที่ประชุมที่คองเกรสเข้าใจถึงฐานะ และเห็นใจพวกกรรมกร แต่ทว่ามหาตมะคานธีไม่ยอมพูดแม้แต่คำเดียว โดยอ้างเหตุว่าท่านยังไม่เคยเห็นเรื่องราวในจัมปารันด้วยตาของท่านเอง ฉะนั้นก่อนที่ท่านจะพูดหรือเสนอบัญญัติประการใด ในอันที่เกี่ยวแก่จัมปารันนั้น ท่านจะต้องไปดูสถานการณ์นั้นด้วยตนเองเสียก่อน

ฉะนั้นเมื่อการประชุมคองเกรสสิ้นสุดลง ท่านก็เตรียมตัวเดินทางไปยังจัมปารันทันที ข้าหลวงประจำจังหวัดจัมปารัน เมื่อได้ยินข่าวว่าท่านคานธีมาเยี่ยมดูเหตุการณ์ในจัมปารัน จึงออกคำสั่งห้ามไม่ให้ท่านเข้าไปในเขตจัมปารัน โดยอ้างเหตุว่า “การเยี่ยมจะเป็นเหตุทำลายความสงบของมหาชน และอาจเกิดความอลหม่านถึงกับเสียชีวิตก็เป็นได้ ฉะนั้นขอให้ท่านรีบไปเสียจากจัมปารันโดยด่วน”

ในการออกคำสั่งเช่นนี้ ข้าหลวงจับเหตุผิดเพราะว่าท่านคานธีมิใช่บุคคลชนิดที่ดำเนินตามกฎหมาย โดยฝ่าฝืนกิจที่ควรทำของตน ฉะนั้นเมื่อท่านได้รับคำสั่งเช่นนี้ท่านจึงได้ให้คำตอบไปว่า “ฉันไม่สามารถที่จะผ่านพ้นเขตแดนจัมปารันไปได้ ทั้งนี้เพราะเห็นประโยชน์ของมหาชน แต่ถ้าว่าทางการยินดีจะลงโทษ ฉันยินยอมรับทุกประการเพราะฝ่าฝืนคำสั่งนี้

ฉันขอคัดค้านอย่างแรงกล้า ถึงข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่าความมุ่งหมายของฉัน คือ ชวนก่อให้เกิดการตื่นเต้นไม่สงบราบคาบ ตรงกันข้าม ความปรารถนาของฉัน คือ การแสวงหาความรู้ที่แท้จริงเท่านั้น และนั่นฉันจะพยายามทำไปตราบใดที่ฉันยังเป็นอิสระอยู่”

ตำรวจจึงจับตัวท่านคานธี ส่งไปยังศาลอาญา (วันที่ ๑๗ เดือน กันยายน ค.ศ.๑๙๑๖) ท่านรับสารภาพว่าท่านได้ฝ่าฝืนคำสั่งนั้นจริง ทางการชั้นสูงเล็งเห็นว่าถ้าลงโทษคานธีในกรณีนี้ คงจะเกิดความไม่สงบขึ้นไม่เฉพาะแต่จังหวัดจัมปารันเท่านั้นอาจทั่วอินเดียก็เป็นได้ จึงปล่อยตัวท่านเป็นอิสระ ทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อทำการสืบสวนถึงสถานการณ์ความจริงของจัมปารัน มีท่านคานธีเข้าเป็นกรรมการคนหนึ่งด้วย

ผลแห่งการสืบสวนคราวนี้ ผลที่สุดคณะกรรมการเห็นว่า ความประพฤติของนายจ้างฝรั่งต่อลูกจ้างอินเดียมีความโหดร้ายเจือปนอยู่ด้วยจริง จึงแนะนำรัฐบาลออกพระราชบัญญัติว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินกับลูกจ้างเฉพาะจังหวัดจัมปารัน (Champaran Agrarian Act) ขึ้นเป็นอันตัดรอนสิทธิของเจ้าของที่ดินได้บางอย่าง ทำให้ลูกจ้างและผู้เช่าที่ดิน ได้รับความร่มเย็นเป็นอย่างมาก

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี