การประชุมปรึกษางานมหาสงครามของคานธี

Socail Like & Share

คานธีการประชุมปรึกษางานมหาสงคราม ณ เมืองเดลลี
การหยุดงานในเมืองอาหัมมทาวาทได้สิ้นสุดลงในตอนปลายเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๑๘ ในเดือนต่อมาคือเดือนเมษายน ๑๙๑๘ ท่านได้รับเชิญจากผู้สำเร็จราชการเพื่อเข้าประชุมปรึกษาหารือเรื่องสงครามโลก ณ กรุงเดลลี สถานการณ์ของอินเดียในสมัยนั้น…ทางการเมืองก็ดี หรือทางเศรษฐกิจก็ดี…ถึงความตึงเครียดมาก ถึงกับรัฐบาลเกือบจะหมดปัญญา วางนโยบายการปกครองอินเดียอย่างไร ความจริงในสมัยนั้นรัฐบาลอินเดียเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อันร้ายแรงอยู่ ๒ ประการ ประการหนึ่งเพราะอำนาจมหาสงครามฐานะเศรษกิจตกต่ำลงอย่างน่ากลัว ประการที่ ๒ ประชาชนชั้นสูงผู้ได้รับการศึกษาฉวยโอกาสขณะที่รัฐบาลอังกฤษต้องแบ่งกำลังไปใช้ในงานสงครามก่อกวนให้เกิดความตื่นเต้นขึ้นทั่วอาณาจักรอินเดีย เพื่อเรียกสิทธิการปกครองตัวเองกลับคืนมาให้จงได้

ฉะนั้นจึงขอกล่าวถึงฐานะการเมืองของอินเดีย ในสมัยมหาสงครามเสียด้วย ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ก่อนอินเดียมีคณะพรรคการเมืองอยู่ ๒ คณะ คือ Moderate Party กับ Extremist Party ทั้ง ๒ คณะร่วมกันเคยเป็นสมาชิกของคองเกรส แต่ในกาลต่อมาอิทธิพลของพรรค Extremists มากทวีคูณขึ้นทุกที ทำให้คณะ Moderate แตกร้าวกับคองเกรส ปลีกตัวออกตั้งสมาคมของตนขึ้นอีก สมาคมหนึ่งมาใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ภายใต้การอำนวยการของท่านอมพิกาจรนมชุมทารผู้เป็นประธานแห่งคองเกรส ทั้ง ๒ ฝ่าย ได้ทำการประนีประนอมให้เข้ามาร่วมอยู่ในคองเกรสเป็นหน่วยเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นคองเกรสได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์เก่า ตั้งวัตถุประสงค์ขึ้นใหม่คือการแสวงหาสิทธิในการปกครองบ้านเมือง (Home Rule) อาศัยวัตถุประสงค์ คือ Home Rule เกิดมีคณะพรรคการเมืองขึ้นอีกคณะหนึ่ง เรียกว่า Home Rule Party เป็นที่น่าแปลกใจมิใช่น้อยที่ประธานแห่งคณะนี้กลายเป็นสตรีชาวอังกฤษ ซึ่งโลกรู้จักกันในนามว่า Mrs. Annie Bessant ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน The Osophical Society ของโลกมาแล้วหลายปี อิทธิพลของคณะพรรคนี้ ได้เผยแพร่ออกไปทั่วอาณาจักรอินเดีย นโยบายสำคัญของคณะนี้ คือการขัดขวางนโยบายของรัฐบาลภายในขอบเขตของกฎหมาย จนกว่ารัฐบาลจะยอมมอบสิทธิการปกครองให้แก่ชาวยุโรป ฉะนั้นเมื่อสงครามได้ระเบิดขึ้น ณ ดินแดนยุโรป และรัฐบาลอังกฤษขอความช่วยเหลือจากอินเดีย คณะ Home Rule จึงประกาศคำแถลงการณ์ขัดขวางรัฐบาล และแนะนำประชาชนไม่ให้ช่วยเหลือรัฐบาลอังกฤษแม้แต่ประการใด รัฐบาลรู้สึกลำบากใจมิใช่น้อยที่ได้เห็นมหาชนชาวอินเดียตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ผู้สำเร็จราชการจึงได้ให้คำสัญญาว่า ถ้าอินเดียเข้าช่วยเหลือในงานสงคราม รัฐบาลอังกฤษจะให้รัฐบาลธรรมนูญมอบอำนาจการปกครองแก่ชาวอินเดีย แล้วเชื้อเชิญบรรดาผู้นำของประเทศ ไปประชุมที่กรุงเดลลีเพื่อปรึกษาหารือ ว่าจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นว่านี้ได้อย่างไร

การที่มหาตมะคานธีรับเชื้อเชิญเข้าประชุม ปรึกษาหารือคราวนี้นั้น มิได้เป็นที่พอใจแก่ปวงชน ทั้งนี้คงเนื่องมาจากเหตุในการประชุมคราวนี้ รัฐบาลมิได้เชื้อเชิญคณะผู้นำคณะ Home Rule เข้าร่วมในประชุมด้วยทุกๆ คนหวังว่า มหาตมะคานธีคงจะปฏิเสธไม่ยอมรับคำเชื้อเชิญ ความจริงครั้งแรกท่านก็ได้กระทำเช่นนั้น แต่ต่อมาท่านกลับใจรับคำเชิญนั้นโดยออกแถลงการณ์หลังจากการประชุมว่า

“ฉันรับรองว่า สมัยเมื่อราชอาณาจักรอังกฤษตกอยู่ในข่ายอันตราย เราจำต้องช่วยเหลือตามมีตามเกิดโดยมิปริปากบ่นแม้แต่คำเดียว เพราะว่าในอนาคตไม่ไกลนัก เราหวังจะเป็นภาคีแห่งราชอาณาจักรเหนือทะเล และมีสิทธิเท่าๆ กันทุกราชอาณาจักร แต่ทว่า การที่ว่าเราจะช่วยเหลืออังกฤษครั้งนี้ก็เพราะเราหวังจะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของเราโดยเร็วพลัน เพราะเหตุนี้เอง และเพราะอาศัยข้อที่ว่าดำเนินตามหน้าที่ย่อมเป็นต้นเหตุนำมาซึ่งสิทธิ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจะให้รัฐธรรมนูญแก่อินเดียในเร็วๆ นี้ คองเกรสจึงจะขอดัดแปลงหลักการสำคัญของตน ตามคำสัญญาของรัฐบาลที่เคยให้ไว้ฉันยังแน่ใจว่า การที่กรรมการหลายท่านในที่ประชุมตกลงรับปากที่จะช่วยเหลือรัฐบาล ก็เพราะท่านเหล่านั้นมีความไว้วางใจในคำสัญญาของรัฐบาลที่ว่าจะให้รัฐธรรมนูญแก่อินเดีย ถ้าฉันจะพึงสามารถทำให้ผู้ร่วมชาติของฉันกลับไปสู่สถานการณ์เดิมได้ ฉันจะขอร้องให้คองเกรสถอนญัตติต่างๆ และไม่ให้พูดถึง Home Rule หรือ Responsible Government ตลอดเวลามหาสงครามนี้เลย ฉันจะขอร้องให้อินเดียอุทิศเลือดเนื้อของชายฉกรรจ์ทุกคน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชอาณาจักร ซึ่ง ณ บัดนี้ตกอยู่ในฐานะเข้าด้ายเข้าเข็ม อนึ่ง ฉันรู้ว่าเพราะการทำนี้ในที่สุดอินเดียคงจะเป็นประเทศที่อังกฤาเห็นใจมาก และเรื่องการถือผิวคงจะกลายเป็นเรื่องอดีตไปแต่อันที่จริงผู้ที่ได้รับการศึกษาทั้งหลายทั่วอินเดีย ตกลงใจที่จะไม่ดำเนินตามหลักการนี้ และคนเหล่านี้มีอานุภาพเหนือพลเมืองอย่างมากมาย

ฉันแน่ใจว่าอินเดียคงจะพอใจในรัฐธรรมนูญแบบใดๆ ที่มีสิทธิไม่น้อยกว่า Home Rule และนั่นจะต้องให้ภายในเวลาอันใกล้ที่สุด ฉันรู้ว่ามีชาวอินเดียเป็นจำนวนมาก ยินดีที่จะเสียสละทุกอย่างเพราะความมุ่งหมายเช่นว่านี้ ถึงแม้เขาเหล่านั้นจะรู้อยู่ว่าเสียสละสำหรับราชอาณาจักรอังกฤษ แต่อินเดียจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับอาณาเขตทั่วไปฉะนั้นสมัยเมื่อการรับ Home Rule เข้ามาใกล้ ถ้าเรารับช่วยเหลือราชอาณาจักรให้พ้นอันตรายแห่งสงครามได้ การกระทำนั้น จะนำ Home Rule มาให้เราเป็นแน่แท้

ฉะนั้นถึงแม้ว่า ฉันจะได้ขอร้องให้อินเดียอุทิศชายฉกรรจ์ทุกคนเพื่อป้องกันราชอาณาจักรก็จริง แต่ส่วนความช่วยเหลือทางการเงินฉันยังไม่ได้รับปาก เพราะเท่าที่ฉันเห็นมาแล้วอย่างประจักษ์ ประชาชนอินเดียได้สละเงินช่วยสงครามมาแล้วเกินกว่ากำลังตน จึงไม่สามารถที่จะสละเงินช่วยได้อีกฉันรู้ว่าคำพูดของฉันคือ คำพูดของประชาชนอินเดียส่วนมาก”

อาศัยคำแถลงการณ์ฉบับนี้ พอที่จะเห็นได้ว่ามหาตมะคานธี ยังมั่นคงอยู่ในคำสัญญาของรัฐบาลอังกฤษทั้งๆ ยังหลงฝันอยู่ด้วยว่า อินเดียคงจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับประเทศอังกฤษโดยประการทั้งปวง ความฝันของท่านได้สลายไปโดยไม่เหลือหลอเพราะเหตุใดนั้น เหตุการณ์ต่อมาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ท่านเห็นโดยประการทั้งปวง

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี