คานธีกับการชนะสงครามของอังกฤษ

Socail Like & Share

คานธีวิมานทลาย
“เยอรมันพ่ายแพ้ สัมพันธมิตร” ข่าวปราชัยโคจรมาถึงอินเดียโดยรวดเร็ว ทำให้อินเดียเต็มเปี่ยมไปด้วยความปลาบปลื้มอย่างล้นเหลือ เพราะมีความมั่นใจว่าอังกฤาผู้ได้รับเกียรติยศเป็นผู้ชนะสงคราม เป็นผู้มีสมัญญาแต่สมัยกระโน้นมาว่า เป็นสุภาพบุรุษ จะต้องรักษาคำพูด โดยมอบอำนาจการปกครองให้แก่อินเดีย เป็นการตอบแทนบุญคุณและสมานไมตรีไว้

แต่ตรงกันข้ามกับความคาดหมาย รัฐบาลกลับเสนอร่างพระราชบัญญัติใหม่ขึ้นสู่สภานิติบัญญัติ ว่าด้วยการกำจัดสิทธิของยุวชน และมอบอำนาจพิเศษให้แก่ตำรวจ

สาเหตุเสนอร่างพระราชบัญญัติอันขัดกับหลักของอารยชนนั้น มีอยู่ดังต่อไปนี้ คือ

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๕ ลอร์ด เคอร์ซัน เป็นผู้ครองตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ในระหว่างบรรดาผู้สำเร็จราชการทั้งหลาย หาผู้เฉลียวฉลาดยิ่งไปกว่าท่านผู้นี้ได้ยากนัก ตั้งแต่แรกที่ท่านเข้ามา ท่านเคยตั้งข้อสังเกตและบันทึกไว้ว่าเนื่องจากชาวเบงคอลมีไหวพริบความรู้ความเฉลียวฉลาดยิ่งไปกว่ามณฑลอื่นๆ รัฐบาลจึงควรวางหลักการให้แตกความสามัคคีขึ้นระหว่างชาวเบงคอลด้วยกัน และทั้งควรจะย้ายเมืองหลวงไม่ให้ตกอยู่ภายในขอบเขตแห่งการกบฎ หากจะเกิดมีขึ้นในมณฑลเบงคอล ความจริงเรื่องการตื่นเต้นในทางการเมือง มณฑลเบงคอลเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นครั้งแรก เหตุนั้นท่านทาทาไภเนารซี ผู้นำคนหนึ่งแห่งมณฑลบอมเบจึงกล่าวไว้ว่า “สิ่งใดเบงคอลคิดขึ้นวันนี้ สิ่งนี้อินเดียคิดขึ้นพรุ่งนี้” (What Bengal thinks today INDIA thinks tomorrow)

อาศัยเหตุดังว่านี้ ลอร์ดเคอร์ซัน จึงแบ่งมณฑลเบงคอลออกเป็น ๒ มณฑล คือเบงคอลตะวันออกกับเบงคอลตะวันตกการแบ่งมณฑลซึ่งตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ รวมเป็นมณฑลเดียวกันมาแล้ว ออกเป็น ๒ มณฑลดังนี้ มิได้เป็นที่พอใจแก่ชาวเบงคอลเลย จึงเกิดการจลาจลขึ้นภายใต้ความควบคุมของท่านสุเรนทรนาถ วนฺโทยปาธฺยาย ผู้มีสมัญญาว่าเป็นบิดาแห่งการเมืองอินเดีย (Father of Indian politics) การจลาจลคราวนี้ อาศัยโครงการแต่อย่างเดียว คือการบอยค๊อตสินค้าอังกฤษ ในที่สุดมาใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เมื่อพระเจ้ายอร์ซที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงประกาศให้มณฑลทั้ง ๒ รวมเป็นมณฑลเดียวกันแต่ให้ย้ายเมืองหลวงจากกัลกัตตาไปตั้งที่เมืองเดลลี ทั้งนี้โดยดำเนินตามคำแนะนำของลอร์ดเคอร์ซันดังได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น

ถึงเบงคอลจะได้รวมเป็นมณฑลเดียวกัน ตามความประสงค์เดิมแล้วก็จริง แต่ทว่าเบงคอลได้ตื่นจากความหลับเสียแล้ว ฐานะอันน่าทุเรศที่ตนอยู่ใต้บังคับของอังกฤษ เขาได้พากันตื่นตัว รู้สึกว่าเป็นการทำลายมนุษยธรรมของตน พวกยุวชนจึงรวมกันตั้งสมาคมลับขึ้นสมาคมหนึ่ง มีวัตถุประสงค์จะกู้อินเดียให้เป็นอิสระโดยใช้อาวุธเป็นกรณี สมาคมนี้มีสาขาแผ่กว้างออกไป จนกระทั่งหัวเมืองต่างๆ ของอินดีย มีนักเรียนและนิสิตสมัครเข้าเป็นสมาชิกนับจำนวนพันๆ ขั้นต่อมา สมาคมได้ขยายสาขาออกไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เพื่อติดต่อกับรัฐบาลต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์อังกฤษ ทั้งได้ทำการซื้อเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เตรียมไว้ด้วย ในที่สุดสมาคมได้กำหนดเอาวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๑๙๑๖ เป็นวันลงมือ ก่อรัฐประหารขึ้นทั่วทุกเมืองสำคัญๆ ของอินเดียพร้อมกัน แต่ว่าเหตุการณ์บางอย่างงานนี้มิได้บรรลุผลสำเร็จ รัฐบาลทำลายสมาคมนี้เสียทันและจับสมาชิก ในฐานะผู้ก่อการกบฎไว้ได้นับจำนวนพันๆ เป็นธรรมดา ถ้าผู้ก่อรัฐประหารทำการไม่สำเร็จก็ต้องได้รับสมญาว่าเป็นผู้ก่อกบฎ ถ้าสำเร็จด้วยดีก็มีนามว่ารัฐบาลชุดใหม่ ผู้สละชีพเพื่อชาติ อันเป็นวิธีมองกันคนละด้านละมุม เพื่อจะดำเนินการสอบสวนและสืบสวนถึงเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้จัดการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง ภายใต้ความควบคุมของ มร. เราว์แลตต์ คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอความเหตุให้ออกพระราชบัญญัติ กำจัดสิทธิยุวชนขึ้นและมอบอำนาจพิเศษให้แก่ตำรวจ เมื่อรัฐบาลร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสร็จแล้ว (มีชื่อ Rowlatt Bill เพราะ มร.เราว์แลตต์ เป็นผู้แนะนำ) เสียงคัดค้านได้ดังสนั่นหวั่นไหวขึ้นทั่วทุกด้านทุกมุมของอินเดีย ประชาชนนับจำนวนหมื่นๆ พากันมาประชุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับคัดค้านความดำริของรัฐบาล ผู้นำทั้งหลายขอร้องให้รัฐบาลหวลระลึกถึงความเสียสละของอินเดียในยามสงครามและคำสัญญาของรัฐบาลที่จะมอบอำนาจปกครองให้แก่ชาวอินเดีย แต่รัฐบาลแสดงท่าทางเหมือนคนหูหนวก หรือเป็นผู้ดื้อดึงเกินไป จึงทำให้คณะพรรคต่างๆ เข้ารวมเป็นคณะเดียวคัดค้านกิริยาท่าทางและแนวความดำริของรัฐบาล แต่ก็หาได้ประสบผลแต่ประการใดไม่ ในที่สุด แทนที่จะตอบแทนความเสียสละของอินเดีย ดังที่ประเทศอารยประเทศต่างๆ ควรจะกระทำ รัฐบาลอังกฤษตอบแทนอินเดียโดยดำริออกพระราชบัญญัติ เราว์แลตต์ กำจัดสิทธิของยุวชนที่มีอยู่แต่กำเนิด พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้จึงได้รับสมัญญาว่ากฎหมายดำ

ดังนั้น วิมาน คืออำนาจการปกครอง ซึ่งท่านคานธีกับผู้อื่นๆ ทั้งหลาย ได้สร้างไว้บนเวหาในยามสงครามนั้นจึงได้ทลายลงในที่สุด

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี