จนวันตายก็ไหว้ครู “ภู่” สุนทร

สุนทรภู่2
ให้สองมือคือพุ่มปทุมทิพ
สองตาพริบพ่างเทียนเถกิงศรี
กับดวงใจอภิวันทน์กตัญชลี
กราบลงที่เท้าท่านครู “ภู่” สุนทร
สองร้อยปีที่ผ่านแม้นานเนิ่น
ไม่นานเกินกว่าจะจำลำนำอักษร
ซึ่งท่านครู “ภู่” เชลงเป็นเพลงกลอน
ยังอาวรณ์หวามไหวอยู่ในทราง
ทุกนิราศและนินทานท่านขานไข
ยังจับใจจินตนาไม่ลาล่วง
เพลงยาว เห่ เสภา กถาปวง
ประทับดวงจิตชนทุกคนไป
จึงขอเทิดท่าน “ภู่” ครูกลอนเอก
ปานเทพเสกสรรค์ส่งลงไฉน
อภิปูชนียชนของคนไทย
นานเท่าใดนามท่านอยู่คู่ขวานทอง
จะหาเพชรพิเศษค่าอาจหาพบ
จะหาครบคณาสมบัติไม่ขัดข้อง
แต่กับแก้วกวีอันยิ่งยรรยอง
สุดจะมองประเมินหามาโดยดาย
จึงสองมือคือพุ่มปทุมแก้ว
สองตาแพร้วพ่างเทียนวิเชียรฉาย
กับดวงจิตคิดอยู่ไม่รู้วาย
จนวันตาย…ก็ไหว้ครู “ภู่” สุนทร.
ที่มา:จินตนา  ปิ่นเฉลียว ภักดีชายแดน

แทบเท้าสุนทรภู่

สุนทรภู่1
ปางนิราศขาดรักมาหักร้าง
หนาวน้ำคำน้ำค้างเมื่อกลางค่ำ
จะจี้เจื้อยจักจั่นหวั่นประจำ
ที่เคยชื่นกลับช้ำไม่ฉ่ำโชย
เคยลำนำฉ่ำฉะนี้เพลงปี่น้อย
มาละห้อยขาดห้วนไม่หวนโหย
โอ้เคยดอมหอมด่วนลำดวนโดย
มาราโรยหอมร้างไปห่างเรือน
เพลงขลุ่ยครวญเพียงคลอพอคลับคล้าย
คิดว่าเหมือนว่าละม้ายก็ไม่เหมือน
สิ้นสุนทรภู่ท่านพาลสะเทือน
กลอนก็เกลื่อนกลาดกลายประกายกลอน
รำลึกคุณครุ่นคำมาคร่ำคิด
เอกสิทธิ์เอกศักดิ์เอกอักษร
เทิดท่านไว้ในสวรรค์อันบวร
กรุ่นกำจรกลอนประจำยังกำจาย
ค่อยร้อยคำเรียงคำรายความคิด
เนรมิตรเป็นวิมานประมาณหมาย
พิณสายรุ้งเริงร่ำจำเรียงราย
ร่ำระบายร่ายระบำบำบวงบรรพ์
บำบวงแก้วกวีกานท์บันดาลเกิด
ลือกระฉ่อนกลอนเฉิดเชิดฉายฉัน
คำกวีไหววิเวกเศกวงวรรณ
ศรีสุพรรณศิลป์เพิ่มเฟื่องเจิมพร
คือเพชรสายพรายแสงแห่งภาษา
ปลุกชีวิตปลิดชีวาพาไหวว่อน
ตะวันเรืองโรยรามารอนรอน
หวนสะท้อนให้สท้านสายธารไทย
ค่อยลอยเลื่อนวังหลังมาวังหลวง
ผลัดแผ่นดินผลัดดวงก็ร่วงได้
ยิ่งหนามเจ็บเหน็บจับคับแคบใจ
เหมือนนกไร้รังร่อยต้องลอยเรือ
แต่กาพย์กลอนไม่กลายประกายกล้า
คนนับหน้านอกในทั้งใต้เหนือ
ผลัดแผ่นฟ้าฟ้าฟื้นขึ้นเอื้อเฟื้อ
พระจอมเจิมจุนเจือเมื่อจวนเจียน
คำแปดคำเรียงคำร้อยความคิด
เป็นชีวิตเป็นประวัติฉวัดเฉวียน
ฝากคำน้อยค่อยประณตจดจำเนียร
ต่างรูปเทียนเทิดทูนท่านสุนทรฯ
ที่มา:เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์

สุนทรภู่

สุนทรภู่
ครั้นกรุงศรีอยุธยามหาสถาน            อวสานสิ้นยุคที่สุกใส
สองราชรวมร่วมสู้กอบกู้ไทย             จนสบชัยโชติชื่อบันลือนาม
ครั้นกรุงธนฯ ท้นทุกข์มียุคเข็ญ           กรุงเทพฯ เด่นเป็นศรีธานีสยาม
ศักดิ์ไทยเพิ่มเสริมยศปรากฎตาม          เหมือนสูรย์ยามเยือนส่องผ่องอัมพร
กรุงเทพฯ สี่ปีผ่านถึงวารเลิศ            ได้บังเกิดกวีรัตน์ประภัสสร
เหมือนเกิดแก้วแพร้วพร่างกลางนคร      เสริมสุนทรวรรณกรรมให้จำเริญ
แรกกำเนิดเกิดกายเด็กชาย “ภู่”             ไร้ผู้รู้เร้ากันกู่สรรเสริญ
ชีวิตท่านผ่านช้ำทนดำเนิน                   ชาญเผชิญโชคชะตาสารพัน
เริ่มการเรียนเขียนอ่านที่ วัดชีปะขาว      จนแพรวพราวเชิงวิชาภาษาสวรรค์
เริ่มหนุ่มหนักรักแท้แต่แจ่มจันทร์            เมื่อสมฝันแล้วก็เฟือนไม่เหมือนคิด
ครั้นพระพุทธเลิศหล้าฯ มาทรงราชย์    บรมนาถกรุณาประกาศิต
เสริมยศศักดิ์รักใคร่อยู่ใกล้ชิด            ร่วมลิขิตคำประพันธ์วรรณกวี
เมื่อวิบัติรัชกาลพระผ่านเผ้า          ก็โศกเศร้าเสียรูปซูบฉวี
ต้องตกจนทนทุกข์เฝ้าคลุกคลี            เป็นกวียากยับอัประมาณ
ทนเที่ยวท่องท้องถิ่นดินแดนอื่น        ได้ชมชื่นห้วยหนองคลองละหาน
มากรักฉ่ำช้ำใจหลายภัยพาล            จนวันผ่านเข้าสมัยวัยชรา
ได้บดินทร์ปิ่นเกล้าเจ้าสยาม            ประทานความชอบตั้งเป็นฝั่งฝา
เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ประจักษ์มา        ทุกข์ยากว้าวุ่นผ่านสราญรมย์
พระสุนทรโวหารชาญอักษร            ห้าปีผ่อนผ่านทุกข์พบสุขสม
วัยเจ็บสิบลาโลกสุขโศกตรม            ทิ้งชื่อฉมให้สถิตนิจนิรันดร์
สองร้องปีที่ผ่านนั้นนานแล้ว            แต่แสงแก้วแสนกองผ่องสีสัน
ด้วยผลงานท่านระยับคู่กัปกัลป์        เป็นมิ่งขวัญมั่นแขวนคู่แคว้นไทย
ที่มา:ภิญโญ  ศรีจำลอง

เพลงพื้นบ้านเขมร

เพลงปฏิพากย์ เพลงพื้นบ้านเขมร ที่มีผู้ร้องได้ในหมู่บ้านเป็นเพลงปฏิพากย์ เรียกว่า เพลงเซาะแซะ
เพลงกล่อมเด็ก เพลงกล่อมเด็ก เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่ถ่ายทอดจากปากสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
เพลงประกอบพิธีกรรม เพลงประกอบพิธีกรรมได้แก่เพลงเชิญผีเขมรที่ใช้ในพิธีเลี้ยงผีเพื่อรักษาโรค และเพลงแห่นางแมวเป็นเพลงประกอบพิธีกรรมในการขอฝน ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่เนื่องด้วยความสมบูรณ์ของพืชผล

งานหัตถกรรม
งานไม้ งานหัตถกรรมที่แสดงความเป็นชนกลุ่มน้อยต่างเผ่าพันธุ์ได้แก่เคียวเขมร ด้ามเคียวทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดงจีน หรือเขาสัตว์ วิธีเกี่ยวข้าวก็แตกต่างไปจากเคียวไทย กล่าวคือ ผู้เกี่ยวใช้เคียวด้านที่เป็นไม้รวบต้นข้าวไว้แล้วพลิกมือกลับ ใช้ด้านที่มีคมตัดกอข้าว ปัจจุบันนี้ชาวไทยเชื้อสายเขมรในฉะเชิงเทรา ยังคงใช้เคียวแบบนี้อยู่
เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในหมู่บ้านเหล่านี้เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในการเชิญผีรักษาโรค กล่าวคือมีการทำกลองเลี้ยงผี ตัวกลองทำด้วยดินเผา หน้ากลองขึงด้วยหนังงูหรือหนังวัวและมัดหน้ากลองให้ติดตัวกลองด้วยหวาย กลองเลี้ยงผีจึงนับได้ว่าเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่เกิดจากความเชื่อทางไสยศาสตร์อันสืบเนื่องมาจากเผ่าพันธุ์ของตนเอง

รับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนลาว
ชาวบ้านเชื้อสายเขมรกลุ่มนี้รับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนลาวได้แก่ประเพณีบุญข้าวหลามซึ่งเป็นชุมชนใกล้เคียง เข้าผสมผสานกับประเพณีการปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองของชาวไทยภาคกลางในกลางเดือน ๓ ในวันขึ้น ๑๔ คํ่า ชาวลาวเวียงและลาวพวนในอำเภอพนมสารคามซึ่งเป็นชุมชนลาวที่อยู่ใกล้เคียงกับชาวไทยเชื้อสายเขมร มีประเพณีที่น่าสนใจคือประเพณีบุญข้าวหลาม ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำชาวบ้านทุกบ้าน จะเผาข้าวหลาม เพื่อนำไปถวายพระในเช้าวันขึ้น ๑๕ คํ่า ในตอนสายพากันเดินไปขึ้นเขาดงยาง ซึ่งอยู่ห่างหมู่บ้านประมาณ ๖ กิโลเมตรเพื่อปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง บนเขาดงยาง และนำข้าวหลามไปรับประทานบนเขา ชาวไทยเชื้อสายเขมรรับประเพณีบุญ ข้าวหลามเข้าเป็นประเพณีของตนและปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวลาว

รับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวไทยภาคกลาง
วัฒนธรรมหลวง ชาวไทยเชื้อสายเขมรเหล่านี้ นับถือพุทธศาสนามาแต่ดั้งเดิม และอพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยอันเป็นดินแดนพุทธศาสนา พุทธศาสนาจึงหยั่งลึกลงไปในจิตใจชาวบ้านกลุ่มนี้ พุทธศาสนาและหลักธรรมคำสั่งสอนจึงเป็นแกนนำกำหนดวิถีชีวิตของเขา จนแทบจะกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา เหตุนี้เองชาวบ้านกลุ่มนี้จึงมีกิจกรรมประเพณีทางศาสนาแทบทุกเดือน

ชาวบ้านเหล่านี้เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดทำบุญตามประเพณีที่สำคัญทางศาสนา โดยถือเป็นเทศกาลงานส่วนรวมของสังคม ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวกับการทำบุญให้ทานและรวมถึงการรื่นเริง เป็นต้นว่า สงกรานต์ วิสาขบูชา อุปสมบท เข้าพรรษา ออกพรรษา เทศน์มหาชาติ ลอยกระทง มาฆบูชา ตรุษไทย สารทไทยและทอดผ้าป่า เป็นต้นประเพณีเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่แพร่กระจายจากเมืองหลวง อันเป็นศูนย์กลางของความเจริญในทุกๆ ด้านไปยังหมู่บ้านเหล่านี้
วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นบ้านของกลุ่มชนดังกล่าวนี้เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีรากฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม อาทิเช่น เพลงและงานหัตถกรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีวิตของเขา

เพลงพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้านเป็นวรรณกรรม มุขปาฐะ (oral literature) ที่เล่นสืบทอดกันมานานนับร้อยปี
เพลงพื้นบ้านที่เล่นในหมู่บ้านเหล่านี้มี ๓ ประเภทคือเพลงที่เป็นมหรสพได้แก่ เพลงระบำเหนือและเพลงระบำประกอบการเล่นช่วงรำ และชักคะเย่อในวันสงกรานต์ เพลงประเภทที่สองได้แก่ เพลงประกอบการงาน คือ เพลง ชางชัก เพลงประเภทที่ ๓ คือเพลงประกอบพิธีกรรมได้แก่ เพลงแห่นางแมวและเพลงสวดคฤหัสถ์

ระบำเหนือ (ระบำต่อกลอน) เป็นเพลงปฏิพากย์ขนาดยาวที่เล่นเป็นอาชีพอยู่ในแถบชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก ผู้เล่นระบำเหนือมักมีฝ่ายละ ๒ คน ที่เหลือนอกจากนั้นยืนล้อมวงเป็นลูกคู่ปรบมือให้จังหวะ ผู้เล่นและผู้ฟังระบำเหนือเป็นกลุ่มชนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เหตุนี้เองระบำเหนือจึงต้องมีลักษณะบางประการที่เอื้ออำนวยแก่ผู้ฟัง คือ ง่ายทั้งในด้านบทร้อยกรองและถ้อยคำ

ระบำเหนือนิยมเล่นกันในงานรื่นเริงและงานกุศล เป็นต้นว่าตรุษสงกรานต์ โกนจุกและบวชนาค เป็นต้น หรือเล่นในเวลาที่มีคนมาชุมนุมกันเช่นในลานนวดข้าวก็ได้ พลบคํ่าเป็นเวลาว่างงานในนา พ่อเพลงก็ยกขบวนนำหนุ่มๆ ในละแวกบ้านถือไต้คนละดวงไปที่ลานนวดข้าวหรือลานบ้านแม่เพลง เหตุที่ใช้ไต้ก็เพราะไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน เมื่อ มาถึงบ้าน แม่เพลงก็ผูกไต้เข้าที่เสาบ้าน แม่เพลงกับบ้านใกล้เคียง และยึดลานบ้านเป็นที่เล่น พอผูกไต้ก็เป็นที่ทราบกันว่าจะเล่นระบำเหนือที่บ้านนี้ พ่อเพลงก็ร้องเชิญแม่เพลงถึงบันไดบ้าน แม่เพลงและพรรคพวกที่ร้องได้รำได้และเป็นคนใจกล้าออกไปที่ลานบ้าน ระบำเหนือก็เริ่มต้นที่ลานบ้านนั่นเอง หรือฉะนั้นเจ้าภาพหาพ่อเพลงแม่เพลงไปเล่นที่บ้านในงานโกนจุกหรือบวชนาคก็ได้ ระบำเหนือก็เล่นกันที่บ้านเจ้าภาพนั่นเอง

เนื้อเรื่องที่เล่นระบำเหนือ มักเล่นกันเป็น ๓ แบบ คือ เล่นโดยตัดตอนจากวรรณคดีมาเล่นเช่น เวส¬สันดร สังข์ทอง หรือสังข์ศิลป์ชัย แบบที่สอง ถามไถ่เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะ อาทิเช่น อานิสงส์ในการบวช มารดาและภรรยาได้บุญคนละกี่ส่วน ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการให้จริยธรรมแก่ผู้ฟังซึ่งอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ส่วนแบบที่สาม เล่นเป็นแขวงต่างๆ เช่น แขวงรัก แขวงนาและแขวงหมอ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการเกี้ยวพาราสี มีถ้อยคำพาดพิงถึงเรื่องเพศ ซึ่งนักเพลงโต้ตอบกันด้วยถ้อยคำที่เป็นโวหาร และคำที่เป็นสัญลักษณ์ทางเพศ

แม้เพลงระบำเหนือจะเป็นมหรสพพื้นบ้านของกลุ่มชนผู้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ตามที แต่เนื้อหาสาระที่นักเพลงโต้ตอบกันนั้นได้สะท้อนชีวิตสังคมชนบทไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุดไม่ว่าจะเป็นความกตัญญู แนวคิค ความเชื่อ ค่านิยม ความทุกข์ ความสุข ความมี ความจน รวมไปถึงสภาพสังคมและความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น

ความกตัญญู :
สิบนิ้วประนมกรก้มเหนือเกศ    ไหว้คุณครูผู้วิเศษสุดใส
ไหว้ครูพักลักจำ                    ทั้งครูแนะครูนำบอกข้า
จะไหว้บิดามารดาที่ได้ป้อนข้าวนั้น      จงมาช่วยชูและช่วยฉัน
ธรรมะ :
สังขารของคนเรามันไม่เที่ยงแท้     เวลานี้มันแก่ลงไป
เกศาโลมาขาทันตา                ขาวเอ๋ยคนเราเกิดมานั่นไง
สภาพเศรษฐกิจ :
เอานิ้วใส่แหวนเอาแขนใส่สร้อย     ห้อยคอเม็ดปะหล่ำเอวนั้นคาดทองคำคมคาย
เนื้อร้องที่สะท้อนให้เห็นการแต่งกายของคนไทยในสมัยที่พ่อเพลงแม่เพลงยังเป็นหนุ่ม เป็นสาวไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับหรือทรงผม
ลาผมเป๋ผมโป่งที่รองทรงตกแสก            แม่หน้าขาวปลั่งงามแปลก
แม่บัวเขียวใส่เสื้อสีพลูที่ใส่ตุ้มหูดาวหาง        ล้วนของสั่งมาแต่ไกล
คนมั่งมีศรีสุขในทัศนะของพ่อเพลงแม่เพลงคือ “หม่อมแม่เมียนาย”
ให้น้องท้าวแขนแม่คุณเอ๋ยแอ่นแต้      เขาเรียกว่าหม่อมแม่เมียนาย
พิศดูพ่อคุณเอ๋ยงามแท้             เหมือนอย่างหม่อมแม่เมียนาย

สัญลักษณ์ทางเพศ:
ฉันจะเบ่งส้มซ่าให้ไปสักสองกลีบ    เพราะว่ามันเป็นของเปรี้ยวติดไป
เพราะถ้าแกเป็นลมให้แกะดมสักนิด    ไว้หว่างกลีบผิวติดเจียวพ่อคุณเอ๋ยถมไป
ระบำเหนือเป็นการเล่นเพลงโต้ตอบด้วยกลอนสดโดยอาศัยปฏิภาณของผู้เล่นเพลงดังเช่น นางประทุม นิยมสุข แม่เพลงระบำเหนือร้องบอกให้ฝ่ายชายทราบว่าตนเป็นคนแก่ แต่บอกด้วยโวหารข่มฝ่ายชายว่า
เกศาโลมานขาทันตา            ขาวเอ๋ยคนเราเกิดมานั่นไง
ดูถ้าจะเปรียบเป็นไก่ฉันเป็นไก่ตะเภา     ใครเขาก็รู้เคยเป็นแม่แต่ตัวผู้
แม่เพลงถามไถ่ราคาที่เจ้าภาพหาพ่อเพลงมาเล่นด้วยถ้อยคำเยาะเย้ยถากถางว่า
เขาเสียให้พี่กี่บาทเขาฟาดให้แกกี่เฟื้อง ถามว่าเขาหมดเขาเปลืองเท่าไร
หรือเขามีเงินเหรียญติดอยู่ในกลี่หมาก เลิกแล้วเขาเอายัดปากพ่อคุณเอ๋ยกลับไป

การเล่นเพลงเป็นการโต้ตอบชิงไหวชิงพริบระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่าย ผู้เล่นจะต้องใช้ปฏิภาณของคนแก้เพลงของอีกฝ่ายตก จึงถือว่ามีผีปากทัดเทียมกัน เช่น
(ชาย)    ทุกวันนี้พี่มาเจอน้องแม่ทองพังงา จะเช่าไร่ก็เช่านาว่าอย่างไร
โอ้ไอ้นาของน้องเป็นนาราง        พี่จะถากจะถอนให้สิ้นกลอน
(หญิง)    ฉันบอกว่าอาชีพพ่อชาวเอ๋ยของน้อง ทุกวันฉันหาบใบตองร้องขาย
ทุกคนทั้งยืนแกไม่ได้ยิน    แกนั่งเอาหูขัดหินถมไป
ให้แกย้อนรอยให้แกถอยเข้า            ไปทำนาเก่ารู้ไหม
แล้วให้ก้มหัวกราบลงไปขอบาปขอกรรม     ถึงจะลงมือทำถางไถ

ปัจจุบันนี้ชาวบ้านละแวกหัวสำโรง ดงยางและสระสองตอนเลิกดูระบำเหนือกันเสียแล้ว ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากรัฐบาลในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้ชักชวนให้ประชาชนรำวง ระบำเหนือที่เคยเฟื่องฟูก็ซบเซาถึงขั้นที่สูญหายไปจากความทรงจำของชาวบ้าน ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อไฟฟ้าเข้ามาถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านก็หันไปดูละครและภาพยนตร์ ทางโทรทัศน์ ซึ่งมีเนื้อหาหลากหลายกว่า
เพลงระบำ เพลงระบำเป็นเพลงพื้นบ้านประเภทเพลงปฏิพากย์สั้นที่เกิดจากการรวมหมู่ของชาวบ้านในงานวันนักขัตฤกษ์เฉพาะวันสงกรานต์เท่านั้น ชาวบ้านหัวสำโรง กิ่งอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เล่นเพลงระบำประกอบการเล่นช่วงรำและชักคะเย่อในวันสงกรานต์ตลอดทั้ง ๕ วัน ๕ คืน ตั้งแต่ขึ้น ๑๓ ค่ำไปจนถึงแรม ๒ คํ่า เวลาที่จะเล่น จะเล่นหลังจากทำบุญที่วัดหัวสำโรงอันเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ในตอนเช้าแล้ว ชาวบ้านจะไปชุมนุมกันที่โคนต้นไม้ใหญ่ในลานวัดเพื่อใช้เป็นที่เล่น
เพลงระบำ ที่เล่นประกอบการเล่นช่วงรำ และชักคะเย่อ เป็นเพลงระบำเหนือนั่นเอง ต่างกันแต่เนื้อเพลงระบำ ประกอบการเล่นไม่มีบทไหว้ครูและบทลา ส่วนเนื้อความที่ร้องเป็นการทักทาย ชมโฉมและเกี้ยวพาราสีกัน
การละเล่นประกอบเพลงระบำมีอยู่ ๒ ประเภทคือ ช่วงรำและชักคะเย่อ
ช่วงรำ ช่วงรำเป็นการละเล่นประกอบการเล่นเพลงระบำในวันสงกรานต์ของชาวบ้านหัวสำโรง ผู้เล่นช่วงรำมีอายุอยู่ในราว ๔๐-๗๐ ปีขึ้นไป การเล่นช่วงรำไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น โดยมากผู้เล่นมีประมาณ ๔-๑๐ คู่ ผู้เล่นๆ ปนกันโดยไม่แบ่งเพศ ข้อสำคัญผู้เล่นจะต้องพอด้นกลอนได้ และรำได้ เมื่อจะเริ่มเล่นผู้เล่นยืนล้อมวงโดยขี่คอกันเป็นคู่ๆ ผู้อยู่บนคอเป็นชายหรือหญิงก็ได้ ผู้อยู่บนคอคนหนึ่งที่ถือลูกช่วงอยู่ในมือจะโยนลูกช่วงไป ยังผู้อยู่บนคอคู่ถัดไป ผู้รับลูกช่วงได้จะโยนต่อไปทันทีที่ได้รับ ถ้าลูกช่วงพลาดจากมือผู้ใดผู้ขี่คอทุกคนจะลงจากคอคู่ของตนมายืนล้อมวง และเริ่มต้นเล่นเพลงระบำ ผู้ออกไปเล่นเพลงระบำคู่แรกมักจะเป็นผู้ที่รับลูกช่วงไม่ได้ คนที่เหลือยืนล้อมวงปรบมือกำกับจังหวะและเป็นลูกคู่ในระหว่างนี้คนที่ล้อมวงอยู่ก็จะผลัดกันเข้าไปร้องรำแก้เพลงกันสักครู่ก็กลับขึ้นขี่คอกันใหม่ คราวนี้ แต่ละคู่จะเปลี่ยนกัน กล่าวคือผู้ที่เคยถูกขี่จะเป็นผู้ขี่บ้างแล้วก็เริ่มโยนลูกช่วงกันใหม่ พอลูกช่วงตกก็ลงจากคอเพื่อเล่นเพลงระบำ
ชักคะเย่อ ชักคะเย่อเป็นการละเล่นประกอบเพลงระบำ เช่นเดียว กับช่วงรำที่ชาวบ้านหัวสำโรงเล่นในวันสงกรานต์เช่นกัน ผู้เล่นแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายๆ ละกี่คนก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน เมื่อตกลงแบ่งพวกกันได้แล้วก็ขีดเส้นแบ่งแดน หัวแถวของทั้ง ๒ ฝ่ายยืนจับไม้ยาวสัก ๒-๓ ฟุตในทางขวางทั้ง ๒ มือ ลูกน้องของแต่ละฝ่ายเกาะเอวหัวแถวของตนเหมือนงูกินหาง หัวแถวพยายามดึงไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามล้ำเส้น ฝ่ายใดล้ำเส้น ถือว่าแพ้ ชักคะเย่อที่ชาวบ้านเล่นกันในวันสงกรานต์เป็นการละเล่นจึงไม่มีกติกาที่ตายตัว บางครั้งผู้จับไม้ฝ่ายหญิงมี ๑๐-๒๐ คน แต่ฝ่ายชายมี ๒-๓ คนก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน แม้แต่หางแถวหลุดจากหัวแถวก็วิ่งมาเกาะใหม่ได้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ก็เริ่มต้นเล่นเพลงระบำกัน ครั้นเล่นเพลงระบำกันไปสักครู่ก็หันมาชักคะเย่อกันใหม่
อันที่จริงการเล่นช่วงรำและชักคะเย่อ ชาวบ้านผู้เล่นถือว่าเป็นการเล่นกันสนุกๆ ในวันนักขัตฤกษ์ ผู้เล่นจะไม่สร้างกฎเกณฑ์ให้ตายตัวลงไป เพราะถือกันว่าใครร้องได้รำได้ก็ออกไปร้องไปรำเพื่อสำเริงอารมณ์ จึงไม่สร้างกติกาขึ้นให้เป็นปัญหาให้ต้องโต้แย้งกันว่าผู้ใดละเมิดกฎ เนื้อร้องเพลงระบำประกอบการ เช่นช่วงรำและชักคะเย่อมักร้องเกี้ยวพาราสีกันเช่น
(ลูกคู่)  ไปเช่าระบำมาแต่ไหนเอย        ไปเช่าระบำมาแต่หนองบอนซ่อนใบ
น้องยักแขนซ้ายน้องมาย้ายแขนขวา    ใครเลยเขาไม่น่าเสียดาย
พูดถึงรูปร่างแม่คุณเอ๋ยเหมือนกินนร    รูปร่างแม่แตงอ่อนชื่นใจ
มายักแขนซ้ายก็แล้วมาย้ายแขนขวา    ใครเลยไม่น่าไม่น่าก็เสียดาย
(ลูกคู่)    หนองบอนซ่อนใบเขารำงามเอย    หนองบอนซ่อนใบเขารำงามเอย
(หญิง)    ช่างสวยจริงโว้ยช่างสวยจริงหวา    ใครเลยเขาจะไม่น่ารักใคร่
ช่างสวยทั้งหญิงน้องฝ่ายชาย    ดูรำก็ละม้ายช่างโสภา
น้องเอ๋ยรักจะเล่นก็ให้เต้นออกมา    สีนวลก็อย่าช้าร่ำไร
ให้แม่ยกแขนซ้ายแล้วให้แม่ย้ายแขนขวา    ดูเอ๋ยช่างน่าๆ ก็เสียดาย
(ลูกคู่) หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย        หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย
(ชาย) รูปร่างแม่คุณน้องเอ๋ยมันโสฬส        รูปร่างก็หมดจดก็วิไล
ช่างสวยจริงโว้ยก็ช่างสวยจริงหวา            คล้ายๆ องค์เทวาสุราลัย(ซ้ำ)
มาพิศสะเพ่งฉันเองมาเล็งสะพักตร์        ในอารมณ์นึกรักอยากได้
ช่างสวยจริงๆ ทุกสงสารพัน        เสียแรงก็หนอละบ้านอยู่ไกล
พี่เองหนอนึกเหมือนหนุมาน        พี่เองจะยกหนอเอาบ้านไปใกล้ๆ
นี่เองก็ยังเป็นเหมือนยังกา    ใครเขาจะมาเย็นๆ กลับไป
(ลูกคู่)    หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย     หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย
(ชาย)    แม่รักจะเล่นก็ให้แม่เต้นกระตุก ศรีนวลก็แม่ลุกมาไวๆ
มาเล่นกับพี่เสียเถิดนาน้อง    แม่สาริกาลิ้นทองแม่ชื่นใจ
แม่สาริกาลิ้นทองแม่ชื่นใจ    แม่ยกแขนซ้ายไม่น่าๆ ก็เสียดาย
(ลูกคู่)    ผักกระเฉดเอยกำละไพ เขารำงามเอย ผักกระเฉดเอ๋ยกำละไพ เขารำงามเอย
(หญิง)    พอได้ยินเสียงใครมาร้องเรียกเกริ่นๆ     ได้ยินชายมาร้องเชิญใกล้ๆ
ฉันจะออกไปดูเสียให้มันรู้แน่    ว่าสีคำดอกแคหรือใคร
น้องต้องเรียกน้องต้องเชิญเสียให้พี่ขึ้นบ้าน ว่ามีธุระต้องการอะไร
หรือว่าวัวแกหายหรือว่าควายที่พลัด    ถึงได้เดินเซซัดมาได้
ถ้ารักจะเล่นก็ให้พี่อยู่ก่อน    ถ้าแม้ธุระก็ร้อนๆ รีบไป
เชิญขึ้นมาข้างบนบ้านของน้องมันจนซิมันยาก    มากินพลูกินหมากแล้วไป
เชิญมากินพลูทั้งรากเชิญมากินหมากทั้งผล    กินกันตามยากจนเข็ญใจ
แม้นว่านั่งถึงฟากแม้นปากถึงข้าว        น้องไม่ให้ท้องเปล่ากลับไป
มากินปลาสลิดหนอเอ๋ยตากแดด        หรือมากินปลาแสลดกลับไป
มากินพลูทั้งรากมากินหมากทั้งโคน    มากินกันที่ดอกตามจนหนอชาย
เมื่อก่อนแกมาว่าวัวแกหายว่าควายแกพลัด    แกถึงได้เดินก็ทุลัดมาถึงนี่
วัวคอกแกหายหรือควายแกนอน        แกก็วิ่งออกมาก่อน
ฉันอยากหนอจะถามโฉมงามมาที่นี่    มาเสียเถิดพ่อคนดี
มีธุระถึงเย็นก็ให้พี่ขึ้นมานี่        ขึ้นมาถึงที่เป็นไร
(ลูกคู่)    หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย    หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย
เพลงชางชัก เพลงชางชักเป็นเพลงลากข้าวที่นวดแล้วให้รวมเข้าเป็นกองของชาวบ้านหัวสำโรง เพลงชางชักจึงจัดเป็นเพลงประกอบการงานที่เกิดจากการกสิกรรมอันเป็นอาชีพหลักของชาวนา
เพลงชางชักเป็นเพลงที่เล่นกันที่ลานนวดข้าวซึ่งจะเลือกใช้ที่ลานบ้านหรือท้องนาก็ได้ ก่อนอื่นชาวนาจะนำฟ่อนข้าวมาตั้งเป็นวงกลมที่กลางลาน พวกพ้องที่ตกแรงกันไว้ก็นำควายมาคนละตัวสองตัวมาช่วยกันย่ำฟ่อนข้าวให้แตก และให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง ถ้าขะเน็ดยังไม่ขาดก็ใช้ขอฉายตีให้ฟ่อนข้าวแตก พอข้าวร่วงจากรวงฟางก็จะลอยขึ้นมา ผู้ที่ถือขอฉายยืนอยู่ที่ขอบลานจะใช้ขอฉายเขี่ยฟางแยกมาไว้ที่ขอบลาน ถ้าเห็นว่าเมล็ดข้าวยังไม่หลุดจากรวงก็ไล่ควายให้เข้าไปย่ำให้เมล็คข้าวร่วงอีก ระหว่างนั้นก็เขี่ยฟางลอยออกเรื่อยๆ ต่อจากนั้นก็รุใหญ่ รุใหญ่หมายถึงการสงฟางออกจากกองข้าว ในขณะที่สงฟางอยู่นั้นชาวนาบางท้องที่ร้องเพลงสงคอลำพวนเล่น ชาวบ้านจังหวัดนี้ไม่มีเพลงสงคอลำพวน แต่มักจะร้องลิเกเล่นกันเหมือนกันแทบทุกหมู่บ้าน พอสงฟางออกแล้วก็ใช้ควายย่ำอีกครั้งหนึ่ง คนที่อยู่รอบๆ ลานก็คอยเขี่ยฟางออกไปที่ขอบลาน จากนั้นใช้กราดไล่ลำพวน (เศษฟาง) ออกก่อน แล้วจึงใช้ขอฉายขีดให้ฟางข้าวที่ขาดๆ ลอยขึ้นมา เขาใช้ขอฉายขีดเพียง 3 ครั้งเท่านั้น เมื่อเลิกใช้ขอฉายก็หันไปใช้คราดๆ ฟางออก พวกผู้หญิงใช้ไม้กวาด ที่ทำจากต้นข้าวต้มซึ่งเป็นพุ่มไม้เตี้ยๆ กวาดบนกองข้าวอีก เป็นครั้งสุดท้าย ถ้ามีลมโชยมาก็ใช้พลั่วตักข้าวสาด เศษฟาง ก็จะปลิวไปตามลม พอถึงขั้นนี้ก็เป็นอันว่ามีแต่ข้าวเปลือกกองอยู่เต็มลาน เพลงชางชักหรือเพลงชักกระดานก็เริ่มขึ้น ตอนนี้เอง
เมื่อจะลากกระดาน เจ้าภาพนำกระดานที่มีรูเจาะทั้งหัวและท้ายสำหรับเอาเชือกร้อย คนชักกระดานจะยืนเป็นแถวตรงกันข้าม อีกคนหนึ่งคอยกดกระดานไว้ การลากกระดาน ทำให้ข้าวที่กระจัดกระจายอยู่ตามลานให้มารวมกันที่หลักเกียด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของลาน ในขณะที่ลากกระดานนั้นชาวบ้าน ที่เจ้าบทเจ้ากลอนก็เริ่มเล่นเพลงลากกระดานหรือชักกระดาน หรือบางท้องที่เรียกว่าเพลงชางชักบ้าง เพลงชางชักก็มี เมื่อจะเล่นเพลงลากกระดานผู้เล่นจะโห่ขึ้น ๓ ราก่อนแล้วจึงเล่นเพลงชางชักก็เริ่มต้นเหมือนเพลงปฏิพากย์ทั่วๆ ไป คือ เริ่มต้นด้วยลูกคู่ก่อน แล้วจึงเป็นบทร้องของฝ่ายชายและหญิงโต้ตอบกันทุกครั้งที่ฝ่ายใดร้องจบลูกคู่จะรับขึ้นพร้อมกัน
ลูกคู่)    ต้อยตุเรียนเอิงเอ๋ยเวียนซ้าย    กงไสลริ้วๆ กงแซ
นางน้องของพี่นี่เอย     ทรามเชยไม่เหลียวมาแล
พี่ผูกสมัครรักน้องแท้ๆ     โอ้รักแม่แพรสีเอย
น้องก็รักชักคะเย่อ     ชักให้เสมอกันเอย
(ชาย) ชางชักเอยหงส์ทองน้องรัก    จะย่องไปหักเอาใบมะแว้ง
(ลูกคู) โอ้เจ้าชางชักเอยหงส์ทองน้องรัก จะย่องไปหักเอาใบมะแว้ง
หำบุญละนะสิ่งใดหนอ     จะได้ร่วมหอกับแม่ใส่เสื้อแดง
(หญิง)    ชางชักเอยหงส์ทองที่รัก    จะเข้าไปหักเอาดอกมะแว้ง
(ลูกคู่) โอ้เจ้าชางชักเอยหงส์ทองน้องรัก     จะเข้าไปหักเอาดอกมะแว้ง
ทำบุญสักกี่ชาติ         ก็ไม่ได้ฟาดกับแม่สาวเสื้อแดง
(ชาย)    โอ้ชางชักเอยหงส์ทองน้องรัก    จะย่องไปหักเอาใบลั่นทม
(ลูกคู่) โอ้เจ้าชางชักเอยหงส์ทองน้องรัก     จะย่องไปหักเอาใบลั่นทมทำบุญก็สิ่งใดหนอ    จะได้ร่วมหอกับแม่เอวกลม
(หญิง) ชางชักเอยวังเวงใจนัก จะย่องไปหักเอาดอกลั่นทม
(ลูกคู่) โอ้เจ้าชางชักเอยวังเวงใจนัก จะย่องไปหักเอาดอกลั่นทม
ทำบุญเสียให้ตาย    ก็ไม่ได้กับแม่เอวกลม
ฯลฯ
เพลงชางชักเป็นเพลงปฏิพากย์ที่ไม่จำกัดตัวผู้เล่น ประกอบกับผู้เล่นไม่จำเป็นต้องมีความสามารถสูงดังเช่นระบำเหนือ ผู้ใดที่ลากข้าวอยู่ในลานนวดข้าวที่พอจะด้นกลอนได้ ผลัดกันเป็นลูกคู่และต้นเสียง ทำให้มองเห็นว่าเพลงชางชัก ไม่มีการแยกผู้ฟังและผู้ร้อง ส่วนทำนองของเพลงชางชัก ค่อนข้างช้า เนื่องจากเป็นเพลงร้องในขณะที่ลากข้าวซึ่งผู้ลากต้องค่อยๆ ลากเพื่อจะกวาดข้าวที่กระจายอยู่ให้รวมเป็นกอง ผู้ลากร้องเล่นเพื่อบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการทำงาน
ปัจจุบันนี้หมู่บ้านหัวสำโรงเลิกเล่นเพลงชางชักในท้องนาเสียแล้ว เหตุที่เลิกเล่นเพราะความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์หลั่งไหลเข้าไปสู่หมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านหันไปใช้เครื่องนวดข้าวแทนแรงงาน ควาย ประกอบกับชาวบ้านมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งด่วนขายข้าวให้ได้ราคา
ชาวนาจึงไม่มีเวลามานั่งสงฟาง และเล่นเพลงลากกระดานดัง เช่นเคย อย่างไรก็ตามผู้เล่นเพลงชางชักได้ก็ยังคงพอมีอยู่บ้างที่หมู่บ้านนี้
เพลงประกอบพิธีกรรมที่มีอยู่ในหมู่บ้านหัวสำโรง สระสองตอน และงงยางได้แก่ เพลงแห่นางแมว และเพลงสวดคฤหัสถ์ อันเป็นประเพณีที่เนื่องด้วยการทำมาหากิน และการตาย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยวดยิ่งต่อชีวิตมนุษย์
เพลงแห่นางแมว เพลงแห่นางแมวเป็นเพลงประกอบพิธีกรรมที่เนื่องด้วยสังคมเกษตรกรรมของชาวนาไทยภาคกลาง ซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปีใดฝนล่าหมู่บ้านที่อยู่ห่างแม่น้ำลำคลองได้รับความเดือดร้อนเนื่องด้วยทำนาไม่ได้ เกิดข้าวยากหมากแพงเดือดร้อนทั่วหน้ากัน ชาวบ้านจึงทำพิธีขอให้ฝนฟ้าตก พิธีอ้อนวอนขอฝนจากเทวดาเป็นพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะคนโบราณเห็นว่าพืชพันธ์ธัญญาหารงอกงามด้วยฝนซึ่งเทวดาเป็นผู้ประทาน ปีใดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็คาดกันว่าเทวดาหลงลืม จึงอ้อนวอนขอฝนด้วยการแห่นางแมวและร้องรำทำเพลงให้มีเสียงดังขึ้นไปถึงบนสวรรค์
ผู้ทำพิธีแห่นางแมวจะนำแมวตัวเมียใส่ข้องเป็ด ภาชนะขังปลาซึ่งสานด้วยผิวไม้ไผ่ใช้ไม้คานสอดหามภาชนะนั้นแล้วเดินเป็นขบวนไปตามหมู่บ้าน ผู้เข้าขบวนผู้ใดมีกรับ ฉิ่ง ฆ้อง หรือเครื่องตีอะไรก็ตามก็ใช้ตีให้เกิดเสียงดัง บางคนนำกระดิ่งผูกคอวัวมาแขวนคอหรือผูกคอเพื่อเป็นการบอกกล่าวให้เทวดาทราบถึงความแห้งแล้ง เทวดาจะได้บันดาลให้ฝนฟ้าตก วัวจะได้มีหญ้ามีน้ำกิน คนในขบวนแห่บางคนใช้ใบตองหรือร่างแหนุ่งทับกางเกงชั้นในขาก๊วย การแห่นางแมวของชาวบ้านละแวกนี้แปลกไปจากหมู่บ้านอื่น กล่าวคือผู้แห่นางแมวจะต้องมีหัวหน้าเป็นผู้ร้องนำ คนที่เหลือในขบวนเป็นลูกคู่ ถ้าหัวหน้าเป็นหญิงก็จะบอกกล่าวผู้หญิงด้วยกันมาเข้าขบวนแห่ ในทำนองเดียวกันถ้าหัวหน้าเป็นชายผู้เข้าขบวนก็มักจะเป็นชาย ชาวบ้านกลุ่มนี้แห่นางแมวในตอนกลางคืนแม้ขณะนี้ไฟฟ้า ยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน การแห่นางแมวก็คงทำเหมือนที่ปู่ย่าตายายเคยทำกันมา กล่าวคือถือไต้ถือไฟกันคนละดวงสองดวง ผู้แห่ถ้าเป็นชายล้วน อาศัยความมืดเป็นเครื่องพราง ผู้เข้าขบวนแห่บางคนก็นุ่งร่างแหทับกางเกงขาก๊วย บางคนก็นุ่งเพียงใบตอง เมื่อขบวนแห่ไปถึงบ้านผู้ใด เจ้าของป้านก็เปิดประตูถือตะเกียงออกมา ผู้แต่งกายน่าหวาดเสียวก็วิ่งไปซ่อนใต้ถุนเรือนเอาต้นเสาบัง และหันหลังให้เจ้าของบ้าน เนื่องจากบ้านในชนบทส่วนใหญ่ เป็นเรือนชั้นเดียวใต้ถุนสูง ขณะที่ขบวนแห่ออกเดินไปตามหมู่บ้าน คนในขบวนก็ช่วยกันร้องบทแห่นางแมว เมื่อแวะเข้าไปที่บ้านผู้ใดหัวหน้านางแมวก็จะร้องด้นไปเรื่อย จนกว่าเจ้าของบ้านจะนำข้าวปลาอาหารหรือสุรามาใส่กระ บุงให้และตักน้ำสาดผู้เข้าขบวน พร้อมทั้งร้องให้ฝนเทลงมา ถ้าบ้านใดไม่ให้ข้าวปลาอาหารก็จะให้เป็นเงินโดยถือว่าเป็นการทำบุญร่วมกัน ขบวนแห่นางแมวก็จะชวนกันเดินไปตามบ้าน สมควรแก่เวลาก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ส่วนข้าวปลาอาหารก็นำมาทำบุญบ้าง รับประทานกันเองบ้าง
ดังได้กล่าวแล้วว่า ชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นกลุ่มชนผู้ใช้ ๒ ภาษา เหตุนี้เองเพลงแห่นางแมวจึงมีเนื้อร้องเป็นทั้งภาษาเขมรและภาษาไทย แต่ต่างกันที่เนื้อร้องเพลงแห่นางแมว ภาษาเขมรเป็นการด้นกลอนเหมือนบทแห่นางแมวลาว ส่วนบทแห่นางแมวไทยมีเนื้อร้องเหมือนหมู่บ้านอื่นๆ ทั่วไปในภาคกลาง ประเพณีการแห่นางแมวยังคงถือปฏิบัติกันอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวนี้ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ การ คมนาคมไม่สะดวก ชาวบ้านจึงยังคงดำเนินชีวิตเยี่ยงบรรพ¬บุรุษ ส่วนเนื้อร้องมีอยู่หลายสำนวน เช่น
นางแมวเอ๋ยขอฟ้าขอฝน     ขอน้ำมนต์รดก้นแมวบ้าง
เสียค่าจ้างไปหาแมวมา        แมวกินหนูให้หนูตายเน่า
ให้มีเหล้าให้เหล้าตายคอย        ใครมีกลอยให้กลอยตายนึ่ง
ผัวใครขี้หึงพึ่งกันไม่ได้            แม่หม้ายเอ๋ยอย่าเพิ่งขายลูก
ข้าวสารยังถูกลูกไม้ยังแพง        ทำตาแดงๆ ฝนก็เทลงมา
ทำตาแดงๆ ฝนก็เทลงมา        เทลงมาเทลงมา
เพลงสวดคฤหัสถ์     เพลงสวดคฤหัสถ์เป็นเพลงสวดที่ เนื่องด้วยการตายของพุทธศาสนิกชน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระภิกษุ ๔ รูปได้รับนิมนต์ให้ไปสวดพระอภิธรรมไนงานศพแห่งหนึ่ง บังเอิญให้ไปตั้งวงสวดศพหน้าโรงลิเก พระที่สวดจึงเพิ่มลูกเล่นถึงขึ้นนำเพลงพื้นบ้านมาร่วมเล่นด้วย และออกท่าร่ายรำให้เข้าจังหวะ การสวดพระเช่นนี้ได้เพิ่มความคึกคะนองมากขึ้นเป็นลำดับ ถึง ขั้นที่กระทรวงธรรมการห้ามปรามภิกษุสามเณรนำการขับร้องมาแทรกการสวดพระ คฤหัสถ์จึงรับมาสวดต่อ จึงเรียกว่าสวดคฤหัสถ์ และคงจะได้แพร่หลายออกไปยังต่างจังหวัด นักสวดในท้องถิ่นคงจะดัดแปลงการสวดให้สอดคล้องกับชีวิตตน เป็นต้นว่า นักสวดบ้านหัวสำโรงมีทั้งชายหญิงปนกันประมาณวงละ ๘-๑๖ คน
นักสวดคฤหัสถ์ที่บ้านหัวสำโรง เป็นกลุ่มนักสวดที่สืบทอดการสวดคฤหัสถ์มาจากปู่ย่าตายายของตน นักสวดสำรับนี้เป็นนักสวดอาชีพซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างไปจากนักสวดสำรับอื่น กล่าวคือนักสวดกลุ่มนี้มีทั้งชายและหญิง และสวดร่วมกันเช่นนี้มาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย อาทิ เช่น บิดานางเผย โสมเมา (นางเผยอายุ ๕๔ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔) เป็นนักสวดร่วมคณะกับ ย่านางบุญยิ่ง สุริวงศ์ (นางบุญยิ่งอายุ ๕๒ ปีใน พ.ศ. ๒๕๒๔) ข้อแตกต่างประการที่สอง คือ จำนวนนักสวดสำรับนี้สวด คราวละ ๘ คน ๑๒ คน หรืออาจจะถึง ๑๖ คนก็ได้ การที่มีนักสวดจำนวนมากและสวดปนกันทั้งชายหญิงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย เหตุที่นักสวดปนกัน จึงไม่ต้องแต่งกายเป็นหญิงดังเช่นนักสวดในกรงเทพฯ
การสวดคฤหัสถ์เป็นการสวดที่เนื่องด้วยการตาย ชาวบ้านหัวสำโรงจะสวดคฤหัสถ์ทุกๆ วันระหว่างการทำบุญเจ็ดวัน ผู้มีฐานะดีมักสวดในวันสวดศพที่ตรงกับวาระวันตาย และสวดในคราวเผาคืน ที่ชักศพขึ้นตั้งบนศาลาอีกคราวหนึ่ง เมื่อจะเริ่มต้นสวดมักสวดสำรับนี้ นั่งล้อมวงรอบตู้พระธรรม กลางวงมีเครื่องบูชาได้แก่กระทงขัน ๕ คือกระทง ๕ กระทง ที่ใส่ข้าวตอกดอกไม้ไม่จำกัดสี ธูป ๕ มัดๆ ละ ๓ ดอก และเทียน ๕ เล่ม ซึ่งจะจุดติดต่อกันตลอดเวลาที่สวด เครื่องบูชาดังกล่าวนี้วางอยู่ในโตกทองเหลือง ส่วนเครื่องยกครูวางอยู่ในจานต่างหาก เครื่องยกครูได้แก่ หมาก พลู ยากินกับหมาก เทียนและดอกไม้ ๕ กำ
พอจะเริ่มต้นสวด นักสวดชาย ๔ คนถือตาลปัตรบังหน้า หนึ่งใน ๔ คนเริ่มต้นตั้งนโมขึ้น ๓ จบ ต่อจากนั้น นักสวดชายก็สวด กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา พร้อมๆ กัน ส่วนนักสวดหญิงไม่สวดทั้ง ๒ บทนี้ นักสวดกลุ่มนี้จะไม่นำตาลปัตรมาเล่นกันดังนักสวดหรือสวดพระในกรุงเทพฯ ที่ใช้ตาลปัตรตีกันเวลาออกมุขตลก หรือใช้หัวแม่เท้าคีบด้าม ตาลปัตรเพื่อบังหน้า ในขณะที่แต่งตัว เพราะถือว่าตาลปัตร เป็นของสูงเกรงว่าจะเป็นบาปจึงไม่นำมาเล่นกันเช่นนั้น พอจบบทสวดอภิธรรมก็นำเนื้อความในพระมาลัย ซึ่งอยู่ในตู้พระธรรมมาสวดนำขึ้นก่อน ต่อจากนั้นก็เริ่มต้นเพลงสวดเพลงแรก นักสวดกลุ่มนี้เริ่มด้วยเพลงเปิดพระโกศ ต่อจากนั้นจะเลือกสวดด้วยเพลงใดก็ได้ เช่น นกขุนทอง ขงเบ้งดูดาว ชาละวัน และเพลงสุดท้ายของการสวดคือเพลงรามสูร เนื้อความในพระมาลัยจะนำมาสวดในตอนท้ายหลังจากจบเพลงรามสูรก็ได้ เครื่องดนตรีใช้เล่นประกอบเพลงสวดได้แก่ระนาด ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้
นักสวดกลุ่มนี้สวดออกสิบสองภาษาเช่นเดียวกับนักสวดในกรุงเทพฯ เพลงสวดออกสิบสองภาษาได้แก่
ขงเบ้งดูดาว    ออกจีน
มะเทิ่งเม้ยเจิง     ออกมอญ
พลายชุมพล    ออกมอญ
พวงมาลัย        ออกไทย
การสวดออกสิบสองภาษานั้นจะมีตัวตุ้ยและตัวภาษาลุกขึ้นมาเจรจาดัดสำเนียงให้เป็นจีนหรือเป็นมอญ เนื้อเพลงสวดนำมาจากวรรณคดีก็มี เช่นเพลงชาละวัน รามสูร และขงเบ้งดูดาว เป็นต้น
สำหรับการสวดออกไทยไม่มีเนื้อร้องตายตัว ผู้สวดจะต้องด้นเนื้อร้องเอง และอาจจะใส่เนื้อร้องเพื่อเย้าแหย่ผู้ฟังก็ได้ เช่น
พวงมาลัย
(ลูกคู่)    พวงมาลัยควรหรือลอยไปจากห้อง    เอ๋ยเจ้าพวงมาลัยควรหรือลอยไปจากห้อง
เจ้าลอยละล่องเข้าในห้องไหนเอ๋ย            เจ้าพวงมาลัยเอย
ทีละดอกดอกเอ๋ยสองดอกห้าดอก        ฉันรักเจ้าดอกมะขวิด
มาเล่นที่ศูนย์สังคีต                    ฉันแสนจะร่าเริงใจเอย
(ลูกคู่)
ตะละดอกเอ๋ย (เอ้าฮ้าไฮ้)        สองดอกสามดอก
ฉันรักเจ้าดอกสาเก        มันสมคะเนเสียจริงนะเอย
(ลูกคู่)
ตะละดอกเอ๋ย (เอาฮ้าไฮ้)    สองดอกสามดอก
ฉันรักเจ้าดอกฟักทอง            วันนี้มาเจอพี่น้องฉันชื่นใจเอย
(ลูกคู่)
ตะละดอกเอ๋ยห้าดอกสิบดอก    ฉันรักเจ้าดอกมะตาด
ถ้าตบรางวัลให้ฉันสักบาท            จะร้องไห้ขาดใจเอย
(ลูกคู่)
ตะละดอกดอกเอ๋ยสามดอก        ฉันรักเจ้าดอกตำลึง
ถ้าได้มาสักสลึง                    จะร้องให้ขาดใจเอย
ฯลฯ
พราหมณี
(สวดหมู่) นางพราหมณ์เจ้าไปตามพี่    เก็บดอกไม้เอ๋ยเก็บสิมาร้อยเล่น
ให้เอ๋ยสิก็เย็นใจ                    เก็บมาร้อยพวงมาลัยใส่หัตถา
(ต้นเสียงชาย) ลูกสาวสิก็ใครโว้ย (ลูกคู่)        นั่งอยู่บนหัวตะพาน
เอวก็กลมนมก็ยานเพียงบั้นเอว            อีแม่ทองสิก็งามทรัพย์
(ลูกคู่) ใครเขาจับของเจ้าจนเหลว        อีแม่ทองทั้งเปลวบั้นเอวเจ้าไว
(ต้นเสียงชาย) มีใครสู่ขอเจ้าแล้วหรือหนอ (ลูกคู่)    มีใครมาขอเจ้าแล้วหรือยัง
อีแม่ทองร้อยชั่งยังดีๆ
(หญิงต้นเสียง) น้ำเอ๋ยสิก็จะกิน    เรือเอ๋ยสิก็จะลอย
(ลูกคู่) พี่มาหลงรักสาวน้อยคอยๆ ไป
หัตถกรรมพื้นบ้าน หัตถกรรมพื้นบ้านเป็นงานสร้างสรรค์ของช่างฝีมือในท้องถิ่น ซึ่งสืบทอดวิธีเรียนจากช่างพื้นบ้านด้วยกัน งานหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นงานฝีมือที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเป็นของตนเอง กล่าวคือประคิษฐ์ขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ชาวบ้านหัวสำโรงสระสองตอนและดงยางเป็นเกษตรกร เหตุนี้หัตถกรรมพื้นบ้านจึงประดิษฐ์ขึ้น เพื่อสนองความต้องการของสังคมเกษตรกรรมและใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น อาทิเช่น ไม้ไผ่ หวาย และกาบหมาก เป็นต้น หัตถกรรมพื้นบ้านที่น่าสนใจของชาวบ้านกลุ่มนี้ คือ
งานไม้ เกวียนเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่สำคัญ ในอดีตชาวบ้านเคยใช้เกวียนเป็นพาหนะหลักในการคมนาคมขนส่งผลิตผลหลักทางเกษตรกรคือข้าว เครื่องมือทำเกวียน เป็นเครื่องมือชิ้นเล็กๆ มีอยู่ ๑๑ ชิ้น ปัจจุบันนี้ไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่พอที่จะทำล้อเกวียนได้ แม้จะมีช่างฝีมือทำเกวียนอยู่ในหมู่บ้านก็ตาม ส่วนครกตำข้าวประเภทต่าง ๆ ที่เคยใช้อยู่ในหมู่บ้านล้วนเป็นงานหัตถกรรมจากไม้ที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความสะดวกสบายทั้งสิ้นก็สูญหายไปจากหมู่บ้านเช่นกัน
เครื่องจักสาน เครื่องจักรสานที่ใช้กันอยู่ในหมู่บ้าน ดังกล่าวนี้ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั้งสิ้น อาทิเช่น ไม้ไผ่ หวาย กาบหมาก เป็นต้น เครื่องจักสานบางชนิดอาทิเช่น พ้อมใส่ข้าวปลูก สานด้วยไม้ไผ่และยาด้วยมูลสัตว์เพื่อป้องกันความชื้นและมิให้เมล็ดข้าวร่วง เครื่องจักสานบางชนิดทำหน้าที่เป็นเครื่องชั่งตวงวัดด้วย อาทิเช่น กะเพาะและสัด เป็นต้น กระชุภาชนะใส่ข้าวไปรับประทานในนา เป็นเครื่องจักสานที่มีรูปร่างงดงามแปลกตา บัดนี้ไม่มีผู้ทำได้เสียแล้ว ในไม่ช้าก็จะกลายเป็นหัตถกรรมที่สูญหาย กระบุง กระจาด กระโล่ กระด้ง และกระทายล้วนเป็นเครื่องจักสานที่มีรูปแบบเฉพาะตัว สานขึ้นอย่างงดงามและจักสานขึ้นใช้ในครัวเรือน ล้วนแต่กำลังจะสูญหายไปจาก หมู่บ้านเหล่านี้เช่นกัน เนื่องจากช่างฝีมือถึงแก่กรรม
เครื่องมือจับปลาที่สานด้วยไม้ไผ่และหวายก็มี เป็นต้นว่าสุ่มปลา สุ่มปลาออและข้องปลา ซึ่งสานด้วยผิวไม้ไผ่มัดด้วยหวายเป็นลวดลายที่สวยยงามและมีโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทาน เครื่องมือจับปลาบางชนิดทำเพื่อจบปลาที่มีรูปร่าง แปลกไปจากปลาทวไป เช่นลันเครื่องดักปลาไหล และตัวโอเครื่องเกี่ยวปลาหลด เป็นต้น
ในด้านสถาปัตยกรรมการจักสานมีบทบาทสำคัญในการปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ไม่น้อย อาทิเช่น การนำไม้ไผ่มาขัดสานเป็นฝาที่เรียกว่าฝาขัดแตะ
เครื่องจักรสานส่วนใหญ่ของชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นการขัดสานเพื่อให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการใช้ประโยชน์ใช้สอยเป็นเครื่องทุ่นแรง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องแข็งแรงทนทาน เหมาะแก่สภาพที่จะนำไปใช้ เครื่องจักสานที่ยกดอกงดงามจึงมีเป็นส่วนน้อย การประดิษฐ์จึงใช้หลัก (form follows functions) จึงนับได้ว่าประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีมือและมันสมอง ซึ่งเป็นเครื่องแสดงพุทธิปัญญาของผู้ประดิษฐ์อย่างไม่ต้องสงสัย
จริงอยู่ ชาวบ้านเหล่านี้แม้เป็นผู้ยากไร้ขาดแคลนทางด้านวัตถุและขาดการศึกษาโดยระบบ แต่เป็นผู้ร่ำรวยศิลปและวัฒนธรรมซึ่งได้รับการถ่ายทอดและสะสมมาเป็นเวลาช้านานหลายชั่วคน ศิลปวัฌนธรรมเหล่านี้กำลังจะสูญหายไป เนื่องจากผู้รู้และช่างฝีมือในหมู่บ้านถึงแก่กรรมไปเป็นจำนวนมาก การถ่ายทอดความรู้พื้นบ้านเหล่านี้ยังไม่สายเกินไปถ้าหากจะสนใจกันอย่างจริงจัง
ด้วยความตระหนักในความสำคัญของวัฒนธรรมพื้นบ้านของตนเอง ชาวบ้านหัวสำโรงและวัดได้ร่วมมือกันสร้างอาคาร “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน” ขึ้น ๑ หลังเพื่อเป็นสถานที่ๆ จะแสดงวิถีชีวิตของคนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ผู้บริหารศูนย์เป็นคณะชาวบ้านซึ่งมีความรักและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของคน และมีนโยบายอันแน่นอน ศูนย์นี้ยินดีที่จะให้ความร่วมมือแก่บุคคลภายนอกที่จะเข้าไปศึกษาเรื่องราวของหมู่บ้านเพื่อศึกษาและรวบรวบข้อมูลเหล่านี้ก่อนที่จะสูญไปกับกาลเวลา จึงเป็นที่หวังได้ว่าชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านของตนเอง
ที่มาโดย:นารี สาริกะภูติ

ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ

วัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมร บ้านหัวสำโรง สระสองตอนและดงยาง
ชาวบ้านหัวสำโรง สระสองตอนและดงยางเป็นชาวไทยเชื้อสายเขมรที่บรรพบุรุษอพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ๆ เป็นอำเภอพนมสารคามในปัจจุบันเป็นเวลานานนับร้อยปี บุตรหลานของคนอพยพกลุ่มนี้ยังคงใช้ภาษาที่ ๑ อยู่ ในหมู่บ้านของตน สืบทอดประเพณีและความเชื่อดั้งเดิมอันแสดงความเป็นกลุ่มชนต่างเผ่าพันธ์กับชาวไทยภาคกลาง เนื่องจากชาวบ้าน ๓ หมู่บ้านเหล่านี้มิได้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับหมู่บ้านชาวไทยภาคกลาง ซึ่งดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สังคมเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน เหตุนี้เองชาวไทยเชื้อสายเขมรเหล่านี้จึงรับวิถีชีวิตของชาวนาไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตน และรับวัฒนธรรมหลวงที่มีรากฐานจากพุทธศาสนาเข้าเป็นหลักในการดำเนินชีวิตนอกเหนือไปจากนั้น ชาวบ้านกลุ่มดังนี้ยังได้รับวัฒนธรรมของชาวลาวเวียงอันเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงที่แพร่กระจายเข้ามายังหมู่บ้านของตน โดยเหตุนี้ชาวไทยเชื้อสายเขมรใน ๓ หมู่บ้านดังกล่าวแล้วนี้จึงดำเนินอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่มีความหลายหลาก
ผลของการศึกษาได้พบ ว่าวัฒนธรรมพื้นบ้านของชนกลุ่มน้อย ๓ หมู่บ้านนี้มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. วัฒนธรรมพื้นบ้านที่แสดงความเป็นกลุ่มชนต่างเผ่าพันธุ์กับชาวไทย ได้แก่
๑.๑ ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ
๑.๑.๑ การเซ่นดนตา
๑.๑.๒ การเลี้ยงผี
๑.๑.๓ เบบาจาตุม
๑.๒ เพลงพื้นบ้านเขมร
๑.๒.๑ เพลงปฏิพากย์
๑.๒.๒ เพลงประกอบพิธีกรรม
๑.๓ งานหัตถกรรม
๑.๓.๑ งานไม้
๑.๓.๒ เครื่องปั้นดินเผา
๒. รับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนลาว
๓. รับวัฒนธรรมของชาวไทยภาคกลาง
๓.๑ วัฒนธรรมหลวง
๓.๒ วัฒนธรรมพื้นบ้าน
๓.๒.๑ เพลงพื้นบ้าน ได้แก่ เพลงประกอบ การเล่น (เพลงระบำ) เพลงประกอบการทำงาน (เพลงชางชัก) และเพลงประกอบพิธีกรรม (เพลงแห่นางแมวและเพลงสวดคฤหัสถ์)
๓.๒.๒ หัตถกรรมพื้นบ้าน
วัฒนธรรมพื้นบ้านที่แสดงความเป็นกลุ่มชนต่างเผ่าพันธุ์กับชาวไทย
ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ
ความเชื่อหลักของชนกลุ่มนี้ คือ ความเชื่อในอิทธิพลของดินฟ้าอากาศ และสิ่งแวดล้อม อันเป็นความเชื่อถือในธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่ามีอำนาจและสามารถให้คุณให้โทษได้ ความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อผีสางเทวดา แม้ชาวบ้านเหล่านี้จะนับถือพุทธศาสนาแล้วก็ตามที แต่ความเชื่อผีสางเทวดาอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมก็ยังคงเป็นรากฐานอยู่ชั้นล่าง พุทธศาสนาซ้อนอยู่ชั้นบนจะเห็นได้จากการผสมผสานความ
เชื่อดั้งเดิมเข้ากับการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตน ในบริเวณวัด แม้กระนั้นก็ยังมองเห็นความเชื่อผีบรรพบุรุษ (ancestor worship) อันเป็นรากฐานดั้งเดิมของเขาปรากฏอยู่ในประเพณีต่างๆ เช่น
การเซ่นดนตา (ส่งเรือ) เป็นประเพณีที่ทำต่อเนื่องกัน ๒ วัน คือ เย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เขานำอาหารและผลไม้ไปเช่นผีบรรพบุรุษในบริเวณโบสถ์ประมาณตี ๔ ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำนำอาหารเครื่องกิน เครื่องนุ่งห่ม รูปปั้นคนและสัตว์เลี้ยงใส่ลงไปในเรือที่ทำด้วยกาบกล้วย แล้วนำเรือไปลอยในแม่น้ำลำคลองหนองบึง ถือว่าเป็นการส่งอาหาร ผู้คนและสัตว์เลี้ยง พาหนะ ตลอดจนถึงเสื้อผ้า ไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้มีกินมีใช้ในภพนั้นๆ
การเลี้ยงผีเขมร การเลี้ยงผีเป็นพิธีกรรมในการรักษาโรคของชนกลุ่มนี้ เขาเชื่อกันว่ามีคนเจ็บป่วยในบ้านจะต้องผิดผี กล่าวคือผีญาติพี่น้องเป็นผู้ทำให้เจ็บป่วย วิธีรักษาต้องให้คนทรงเป็นผู้ติดต่อกับผีด้วยการทำพิธี “ขึ้นหิ้ง” อันเป็นพิธีเชิญผีญาติพี่น้องมาถามว่าผู้ป่วย ผิดผีผู้ใด คนทรงจะเชิญผีญาติพี่น้องด้วยเพลงประจำตัวของผีญาติพี่น้องเหล่านั้น ด้วยการเป่าปี่เขมรและตีกลองเขมร ผู้ป่วยอาจจะผิดผีทั้งฝ่าย บิดามารดา และผิดผีคราวละหลายๆ คนก็เป็นได้ บางคนผิดผีถึงญาติพี่น้องถึง ๑๑ คน เมื่อทราบว่าผิดผี ผู้ใดคนทรงก็ทำหนาที่บนบานศาลกล่าวแทนผู้ป่วย เมื่อหายป่วยจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีเขมรตามที่บนไว้ เครื่องเซ่นในการเลี้ยงผีได้แก่ เหล้า ไก่ต้ม หัวหมู กล้วย ๑ หวี และผ้าแดง ๑ ผืนสำหรับคลุมร่างคนทรง คนทรงจะทำพิธีเชิญผีด้วยการตีกลองและเป่าปีเป็นเพลงประจำตัวผีทีละตนเช่นเดิม เมื่อผีแต่ละตนรับเครื่องเซ่นแล้วคนทรงจะใช้น้ำมะพร้าวอ่อนพ่นศีรษะผู้ป่วยพรอมทั้งอวยชัยให้พรให้อยู่เย็นเป็นสุขก่อนจะเลิกพิธีเลี้ยงผีจะมีผู้รำเก็บดอกไม้ คือ พวงดอกลั่นทมที่ผูกอยู่ที่มุมผ้าขาวทั้ง ๔ มุม ที่ขึงอยู่ในห้องที่ประกอบพิธี อาวุธที่ใช้รำตัดดอกลั่นทมได้แก่ดาบ ผู้รำจะเป็นใครก็ได้อยู่ในพิธีเลี้ยงผีเวลาที่ติดต่อกับผีไม่ว่าจะเป็นพิธีใดก็ตามจะติดต่อในตอนกลางคืน
เบบาจาตุม เป็นประเพณีการแต่งงานหรือการขอขมาก็ตามอันเป็นประเพณีเกี่ยวกับการมีคู่ครองจะต้องมีการไหว้ผีปู่ย่าตายาย เครื่องเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายายได้แก่ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว อาหารคาวหวาน อย่างละ ๑ สำรับ เหล้า ๑ ขวด ไก่ต้ม ๑ ตัว และดอกหมาก ช่อละ ๓ ดอก เมื่อคู่บ่าวสาวไหว้ผีบรรพบรุษแล้วจะมีผู้กล่าวอวยพรเป็นภาษาเขมร ๓ ครั้ง ญาติพี่น้องจะซัดช่อดอกหมาก สลับกับคำอวยพรทั้ง ๓ ครั้ง พิธีนี้เรียกว่า “เบบาจาตุม” ข้อแตกต่างไปจากคนไทยอีกประการหนึ่ง คือ ในระหว่างงานแต่งงานฝ่ายชายจะต้องหาคนไปให้ฝ่ายหญิงใช้ในงานตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ส่วนพิธีรดน้ำก็เหมือนพิธีไทย กล่าวคือพระสงฆ์เป็นผู้ซัดน้ำก่อน แล้วจึงให้บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่รดที่ศีรษะ ส่วนเงินรับไหว้เรียกว่าเงินผูกแขน ญาติผู้ใหญ่รับไหว้ เป็นผู้ผูกข้อมือซ้ายของคู่แต่งงาน ในวันที่ ๓ ของพิธีแต่งงาน
อันที่จริง สาระสำคัญความเชื่อเรื่องผีของชาวบ้าน ๓ หมู่บ้านนี้ก็เหมือนกับชาวไทยทั่วๆ ไป กล่าวคือ เชื่อกันว่าผีมีอำนาจทั้งให้ดีและให้ร้าย ความแตกต่างอยู่ตรงพิธีกรรมเท่านั้น
ที่มาโดย:นารี สาริกะภูติ

ต้นไม้อัปมงคล

ต้นไม้อีกพวกหนึ่งที่โบราณถือว่า ถ้าปลูกในบริเวณบ้านจะเกิดอัปมงคล ได้แก่ โพธิ์ ไทร หวาย ระกำ สลัดได โศก หว้า ยาง ตาล ตะเคียน ลั่นทม มะกอก สำโรง รัก ซ่อนกลิ่น-ซ่อนชู้ เฟื่องฟ้า ตะไคร้ ราตรี เป็นต้น

ต้นโพธิ์
โพธิ์ (Ficus religiosa, Linn)
โพธิ์ เป็นต้นไม้ที่ชาวพุทธถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จึงเห็นสมควรปลูกแต่เพียงในวัดวาอารามเท่านั้น
ฤดูแล้ง (ฤดูหนาวต่อฤดูร้อน) ใบและผลสุกร่วงหล่นสกปรกเลอะเทอะ ติดเท้าเปรอะเปื้อนขณะเดินผ่าน ประโยชน์ทางอื่นมีน้อย ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครคิดนำต้นโพธิ์เข้ามาปลูกในบริเวณบ้าน

ต้นไทร
ไทร (Ficus)
โดยเฉพาะไทรย้อย มีรากห้อยย้อยจากกิ่งลงดิน ส่วนเหนือดินกลับกลายเป็นต้น ดูระเกะระกะ แผ่ขยายปริมณฑลออกไปเรื่อยไม่มีขอบเขต พุ่มใบดกหนา บดบังแสงแดดแก่ต้นไม้อื่นๆ กิ่งใหญ่อาจหักพาดทับหลังคาบ้าน ทับต้นไม้ และข้าวของต่างๆ เสียหาย ประโยชน์อื่นไม่ปรากฏชัด

หวายระกำสลัดได
หวาย ระกำ สลัดได
ต้นไม้ทั้งสามชนิดนี้มีหนามแหลมคม หากทิ่มตำมือ หรือเท้าเข้าให้แล้ว จะมีอาการเจ็บปวด จะบ่งหรือแคะเขี่ยออกได้ยาก
หวาย พูดถึงหวาย หูพลันได้ยินเสียงแหวกอากาศ ดัง “เควี้ยว” กระทบแผ่นหลังดัง “ขวับ” เนื้อหนังแตกเป็นแนวนูน เลือดกระฉูด คิดว่าคงไม่มีใครอยากได้ยินได้ฟัง เสียงอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความโหดเหี้ยมทารุณทรมานได้ยินชื่อก็ไม่อยากเข้าใกล้เสียแล้ว
ระกำ นึกถึงความชอกช้ำระกำทรวง ลำบากตรากตรำ เชื่อทุกคนอยากหนีไปให้ไกลแสนไกล
สลัดได สลัดรัก สลัดชีวิตคู่ที่เคยมีความสุขร่วมกัน ก็คงไม่มีใครปรารถนา

โศก
โศก ปัจจุบันถึงจะเปลี่ยนชื่อเป็นอโศกแล้วก็ตาม คนส่วนใหญ่ก็ยังรำลึกถึงชื่อเก่าอยู่ โดยกริ่งเกรงไปว่าจะได้รับแต่ ‘‘ความทุกข์ โศกเศร้าอาดูร” ใจไม่นิยม

หว้า
หว้า เป็นไม้ยืนต้น กิ่งก้านเปราะฉีก หักง่าย ออกผลเล็กๆ ตามลายกิ่ง เด็กๆ ที่แขนเดาะ ขาหักเพราะตกต้นไม้ ถามดูเถอะรายไหนรายนั้น ตกต้นหว้ามากกว่าต้นไม้อื่น เหตุนี้กระมัง จึงไม่นิยมปลูกไว้ตามบ้าน

ต้นยาง
ยาง หมายถึง ไม้ยางแดง ลำต้นสูงใหญ่ ที่โค่นนำไม้มาปลูกบ้านสร้างเรือน ต่อโลงศพ เห็นใช้ไม้ยางมากกว่าไม้อื่น ลำต้นสูงใหญ่นานไปเกรงจะโค่นล้มทับบ้านช่อง ห้องหอ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครคิดปลูกใกล้บ้าน

ต้นตาล
ตาล ต้นตาลเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว วงศ์ปาล์ม มีระบบรากฝอย ไม่มีรากแก้ว ลำต้นสูงใหญ่ ใช้เวลาเลี้ยงดูนานกว่าจะให้ผล ไม่มีสิ่งใดเป็นแก่นสาร อาจล้มเมื่อใดก็ได้ไม่พบเห็นปลูกตามบ้าน คงเห็นขึ้นอยู่ตามหัวไร่ปลายนา เท่านั้น

ต้นตะเคียน
ตะเคียน ตะเคียนต้นใหญ่ เชื่อกันว่ามีผีสางนางตะเคียนสิงอยู่ (ผีนางตะเคียน) เป็นคติความเชื่อมาแต่เดิม

ต้นสน
สน คงหมายถึง สนทะเล สนปฏิพัทธ เชื่อกันต่อๆ มาว่า ต้องปลูกตามวัดไม่นิยมปลูกตามบ้าน โดยเชื่อว่าหากปลูกไว้ตามบ้านจะถึงกับ “ขัดสนจนปัญญา จะกระทำการใดๆ มักจะไม่ราบรื่น ติดขัดไปเสียหมด มาวิเคราะห์ดูใบสนที่ร่วงหล่นลงดิน ใบมีน้ำมัน เป็นเหตุให้หญ้ายังไม่อาจ
จะงอกงามได้ ดังนั้นต้นไม้อื่นที่อยู่ในบริเวณนั้นจะพลอยหงอยเหงาและตายไปด้วย
อีกประการหนึ่ง ใบสนทั้งสด แห้ง เป็นเชื้อไฟอย่างดี อาจเป็นชนวนทำให้เกิดการลุกไหม้ลามไปติดบ้านเรือน

ลั่นทม
ลั่นทม เหตุผลเดิม ชื่อฟังดูเป็นอัปมงคล “ประหนึ่ง ทำให้เกิดความทุกข์ระทมใจ” เหตุผลใหม่จากการวิเคราะห์ วิจัยพบว่า “ยางลั่นทมมีสารไซยาไนด์” ซึ่งมีพิษต่อสัตว์เลือดอุ่น เช่น คน
มะกอก มีหลายชนิด เช่น มะกอกน้ำ มะกอกน้ำหวาน มะกอกฝรั่ง ฯลฯ ทั้ง ๓ ชนิดชอบขึ้นใกล้น้ำ โบราณท่านคงเพ่งเล็งตรงชื่อมากกว่า ประโยชน์อื่นๆ เช่น ดูประหนึ่ง เป็นคนกลับกลอก ไม่มีความจริงใจ” หรือ “มะกอก สามตะกร้าปาไม่ถูก” เป็นต้น
สำโรง เป็นไม้เนื้ออ่อน มีใบย่อย ๑๐ ใบแยกออกจากจุดเดียวกัน คล้ายใบมันสำปะหลัง หรือใบนุ่น ถ่านไม้สำโรง ใช้เป็นส่วนผสมดินปืน ในการทำพลุ ตะไล ผลมีลักษณะคล้ายเมล็ดบัวหลวง แคะเนื้อภายในออก เหลือแต่เพียงเปลือกเมล็ด ประจุดินดำเข้าไปแทน โผล่สายชนวนออกมาจุดไฟ เมล็ดสำโรงนี้จะวิ่งส่ายไปมา เกิดเสียงดัง เหมือนหัวไม้ขีดไฟไหม้ไฟติดต่อกัน เราเรียกเครื่องเล่นแบบนี้ว่า “จู้จี้”
ต้นสำโรงมีชื่อฟังคล้ายกับโลง เชื่อกันว่ามีผีสิงอยู่

ต้นรัก
รัก หากคำนึงถึงความหมายแล้ว คงจะไม่มีใครนำไปปลูกบริเวณบ้านเป็นแน่ไม่ว่าจะเป็นรักเร่ ถึงปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น “รักแรก” แล้วก็ตาม รักลา (ดอกมีกลีบชั้นเดียว) หรือ “รักซ้อน” (มีกลีบดอกมากกว่าชั้นเดียว) ก็ตาม โดยเฉพาะบ้านที่มีบุตรสาวยังไม่แต่งงาน ถึงมีครอบครัวแล้วก็เถอะน่า คงไม่อยากให้เป็นไปตามชื่อ เท่าที่ทราบยางรักมีพิษ ถูกผิวหนังจะเปื่อยเน่า ยิ่งกว่านั้น “ตัวบุ้ง” (ตัวอ่อนของแมลงผีเสื้อ) ชอบอาศัยอยู่ตามใบและยอดอ่อน เกาะเข้าตรงที่ใดเป็นได้คันยิบทีเดียว

ซ่อนกลิ่น
ซ่อนกลิ่น-ซ่อนชู้ ซ่อนกลิ่นมีกลีบดอกชั้นเดียว ส่วนซ่อนชู้นั้นมีกลีบดอกหลายชั้น (กลีบซ้อน) ช่อดอกนิยมใช้ในงานศพมากกว่างานพิธีอื่นๆ ชื่อเสียงเรียงนามก็ไม่ไพเราะเสนาะหู แถมยังใช้ประโยชน์ในวงแคบ ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบเห็นปลูกตามบ้านเรือนทั่วไปเช่นดอกไม้อื่น

เฟื่องฟ้า
เฟื่องฟ้า ชื่อก็งามนามก็ไพเราะ กิรดังได้ยินได้ฟังมา ปลูกไว้ในบ้านแล้วคนในบ้านจะทะเลาะเบาะแว้ง เกิดระหองระแหงกัน เท็จจริงอยู่ที่คนบอก คงเป็นเพราะหนามที่แข็งและแหลมคมทิ่มตำเท้า กิ่งที่ยื่นยาวเก้งก้าง มันชอบเกี่ยวเสื้อผ้า หรือเบียดบังต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้ก็เป็นได้ ลองปลูกเล่นเป็นไม้แคระ (บอนไซ) ดูบ้างซี เลี้ยงให้ต้นแคระจิ๋วและออกดอกเล็กๆ สีสดใส สวยงามไม่เบาเชียว

ตะไคร้
ตะไคร้ กล่าวกันว่าตะไคร้บ้านใครออกดอกจะมีเรื่องหย่าร้าง บ้านแตกสาแหรกขาด มีอยู่รายหนึ่งพ่อแม่ลูกต้องแตกกระสานซ่านเซ็นพลัดพรากจากกัน ขายที่ขายบ้านกันเลยทีเดียว
หลายคนต่างลงความเห็น เพราะตะไคร้ที่บ้านนั้นออกดอก จึงเป็นเช่นโบราณว่าไว้
ข้าพเจ้าวิเคราะห์ผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุที่สามีเป็นนักเลงการพนัน เสียพนันขันต่อจนต้องจำนองจำนำ แถมเกิดมีเมียน้อยเข้าอีก จึงเกิดเรื่องดังกล่าว
มองกันในมุมกลับ เรื่องที่เกิดอาจมาพร้อมกับตะไคร้ออกดอกก็เป็นได้ หรือตะไคร้ที่ออกดอกมาให้เห็นเป็นลางสังหรณ์ บอกให้ทราบถึงความวิปริตและเหตุการณ์ในอนาคตของครอบครัวนั้น

ต้นราตรี
ราตรี ราตรี เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดย่อม ดอกบานตอนกลางคืน ส่งกลิ่นหอมฉุนไปไกล จึงได้รับการขนานนามว่า “ราตรี” รุ่งเช้าดอกที่บานตอนกลางคืนจะร่วงหล่นหมด
ชาวจีนอายุ ๖๐ ปีผู้หนึ่ง เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ในแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ แมนจู ปกครองแผ่นดินซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้าย ก่อนจะมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบราชาธิปไตย มาเป็นประชาธิปไตยแบบคอมมูน โดยมี ดร. ซุนยัดเซน เป็นผู้นำ
สมัยนั้นบ้านเศรษฐีและขุนนาง นิยมปลูกเรือนหอให้บุตรีของตน แยกอยู่ต่างหากกับสาวใช้
ในฤดูใบไม้ร่วง (ชิวเทียน) ซึ่งตรงกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ และฤดูใบไม้ผลิ (ชุนเทียน) คืนเดือนหงาย พระจันทร์เต็มดวง แสงนวลอร่ามตา บรรดาบุตรีของเศรษฐี และขุนนาง พร้อมด้วยบรรดาสาวใช้คนสนิทจะพากันยกจะเข้จีน (ซาเจ็ง) ออกมาที่สวนหน้าเรือนหอ จุดกำยานลงใน
กระถาง ๓ ขา ให้ขจรขจายกลิ่นไปทั่วปริมณฑล ดีดจะเข้จีนเล่นเพลงไปเที่ยงคืน
ท่ามกลางแสงจันทร์และเสียงเพลง ในยามราตรีที่สงัด บรรยากาศจึงอบอวลด้วยอารมณ์พิศวาส
บิดา มารดาของกุลสตรีสมัยนั้น มีประสบการณ์ผ่านวัยหนุ่มสาวมาก่อน ทราบดีว่ากลิ่นของดอกราตรีมีอำนาจเร้นลับในทางปลุกเร้าอารมณ์เพศอย่างรุนแรง จึงห้ามปลูกต้นราตรีในบ้านและบริเวณใกล้เรือนหอของบุตรีแห่งตน ด้วยกริ่งเกรงไปว่า อารมณ์อันเปล่าเปลี่ยวของบุตรีจะ กระเจิดกระเจิงเริงโลดไปด้วยเหตุนี้ต้นราตรีจึงเป็นดอกไม้ต้องห้ามมาตั้งแต่ครั้งกระโน้นเป็นต้นมา
ในเมืองไทยเท่าที่ทราบ บางคนแพ้กลิ่นหอมฉุนของต้นราตรี เชื่อกันว่าดมนานๆ แล้วอาจทำให้เป็นวัณโรค ที่เป็นภัยอีกอย่างหนึ่งก็คืองูปิ่นแก้วชอบพำนักอาศัยอยู่ในพุ่มใบของต้นราตรี
สิทธิการิยะ            ผิว่าปลูกสร้างบ้าน
อยู่เย็นเห็นสราญ        ท่านให้ปลูกไม้มงคล
บูรพาปลูกไม้ไผ่        สีสุก
จักอยู่เย็นศรีสุก            สละสล้าง
ต้นกุ่ม มะพร้าว รุกข        ชาติ
ภัยพยาธิผิว์ร้ายร้าง        ห่างหาย
อาคเนย์หมายปลูกต้น        สารภี
เจิดแจ่มจิตโสภี                สุขยั้ง
ต้นยอยลยอดี                ปรากฏ
อีกกระถินกันเสนียดทั้ง        อัปรีย์
ทักษิณดีปลูกต้นไม้        กินผล
มะม่วงมากมายผล            ระย้า
มะพลับ ตะโก ขวน            ขวายปลูก
แปลกเปลี่ยนกินเมื่อหน้า        ออกผล
หรดีดลปลูกไม้            พิกุล
ยลยั่งยืนพิพิธกุล                สืบเชื้อ
ราชพฤกษ์ อีก ขนุน            หนุนเนื่อง
แล สะเดา กันโทษเรื้อ            เริดพลัน
ประจิมสรรปลูกต้น        มะขาม
ยังศัตรูเกรงขาม                ห่อนใกล้
มะยมนิยมนาม                นินนาท
ผิว์พุทรากันภูติไสร้            สร่างซา
พายัพท่านให้ปลูก        มะพูด
เอาเคล็ดคนมาพูด            เยี่ยมยิ้ม
มะนาวและมะกรูด            สระเกศ
งามเกศกัณฐ์พักตร์พริ้ม        ละเมียดละมัย
อุดรให้ปลูกส้ม            ป่อยปวง
ปานปล่อยทุกข์โศกทรวง        สร้างเศร้า
ส้มซ่า ว่างหัวทะลวง            หน้ามืด
มะเดื่อ หนอนบ่อนเข้า            ขับคุณ
อีสานขุนปลูกต้น            ทุเรียน
ไม้รวก มะตูมเพียร            เสาะไว้
ขุดบ่ออุทกเสถียร            ชลฉ่ำ
สำหรับหน้าแล้งได้            ผักปลา
หนึ่งจงอย่าปลูกไม้        โพธิ์ ไทร
หวายระกำ สลัดได            โศก หว้า
ยาง ตาล ตะเคียนไข            แค ลั่น-ทมแฮ
มะกอก สำโรงกล้า            อมงคล ฯ
บทสรุป
มีต้นไม้อีกหลายชนิดที่ชาวชนบท ยังคงเชื่อถือกันอยู่มาก
ชื่อนั้นสำคัญไฉน
ที่จริง ชื่อต่างๆ ของผลไม้เป็นสิ่งสมมติขึ้นทั้งสิ้น ลองตริตรองด้วยปัญญาเอาเถิด ใช้สามัญสำนึกและหาเหตุผล ทางวิทยาศาสตร์เข้าแก้ปัญหาก็คงได้ความจริง
คนเฒ่าคนแก่พูดเตือนสติสะกิดใจให้คิดอยู่เสมอว่า “โบราณก็อย่าถือ” และ “โบราณก็อย่าทิ้ง” สิ่งใดมีเหตุผล หรือเรื่องใดที่ยังไม่ตกลงปลงใจเชื่อ ก็ควรรับฟังไว้ก่อน อย่าเชื่อจนขาดสติ รอจนกว่าได้พิสูจน์ความจริงด้วยตนเองเสียก่อน น่าจะมีความจริงแฝงอยู่บ้างเป็นแน่
คนแต่ก่อนท่านไม่พูดหรือบอกอะไรตรงๆ มักจะทิ้งคำพูดไว้เป็นปริศนาหรือพูดสั้นๆ “โบราณเขาถือ” หรือ “เขาถือกันมาอย่างนั้น” เป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราที่จะต้องค้นหาเอาเอง
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ปลูกไม้มงคลทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) โบราณท่านให้ปลูกทุเรียน ไผ่รวก มะตูม

ทุเรียน
ทุเรียน (Durio Zibethinus, Linn)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ใบเขียวเป็นมัน ท้องใบคาดด้วยเกล็ดน้ำตาล (สีทอง) ใบรูปไข่ยาว ปลายใบมีติ่งแหลมเรียว ผลมีหนามหยาบแหลมคม เนื้อในผลรับประทานเป็นอาหารได้ มีรสหวานมัน เนื้อ ทุเรียนมีธาตุกำมะถันปนอยู่ รับประทานมากๆ ทำให้เกิดความร้อน แต่แก้แผลโรคผิวหนังได้ ทำให้ฝีแห้ง
ประโยชน์ทางยา
เปลือกผล ปรุงเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย
คติความเชื่อ
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่เลือกปลูก ดินเค็ม น้ำกร่อย ความชื้นในอากาศน้อย ไม่เหมาะกับทุเรียน อยากปลูกเอาเคล็ด ควรหาทุเรียนเทศมาปลูกแทนคงไม่ผิดกติกา ขออนุญาตจูงให้เข้าสู่ประเด็น โบราณท่านคงหมายถึง “ความเป็นผู้คงแก่เรียน” ก็ได้

ไผ่รวก
ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis)
เป็นพืชในวงศ์หญ้าชนิดหนึ่ง ขึ้นในป่าแทบทุกชนิด ยกเว้นป่าเลนน้ำเค็ม และป่าพรุ นิยมปลูกกันทั่วทุกภาค เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตลอดจนเป็นแนวกันลมตามหมู่บ้าน ในเมืองไทยมีไม้ไผ่มากกว่า ๒๐ ชนิด
หน่อของไม้ไผ่แต่ละชนิด งอกขึ้นมาตอนต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-กันยายน ใช้เป็นอาหารได้ดี ขนาดของหน่อไม้ไผ่รวก โตประมาณข้อมือ ก่อนที่จะนำหน่อไม้มาปรุงอาหารนั้น ควรนำมาต้มให้สุกเสียก่อนเพื่อลดความขื่นขม แล้วจึงนำไปประกอบอาหารตามใจชอบ เช่น ต้ม แกง ผัดหรือใช้เป็นผักจิ้ม
ลำต้นแก่ ใช้ปรุงเป็นเครื่องเรือน สมัยก่อนทำหลักด้ามเครื่องมือและทำเครื่องใช้ต่างๆ
ประโยชน์ทางยา
ราก ใช้เป็นยาถอนพิษ เบื่อเมาต่างๆ
ใบ ตรงยอดอ่อนที่ม้วน รวมกับยอดอ่อนของไผ่อื่นๆ อีก ๔ ชนิด ต้มน้ำให้เด็กดื่ม แก้ปัสสาวะรดที่นอน
คติความเชื่อ
ยังหาหลักฐานไม่พบ
มะตูม (Aegle marmelos)
พบในป่าผลัดใบผสมป่าเต็งรังและปลูกกันทั่วไป สูงประมาณ ๕-๑๕ เมตร เป็นไม้ผลัดใบในฤดูร้อน ลำต้นมีหนามให้ผลสุกราวๆ เดือนมีนาคม-เมษายน ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลืองโตประมาณเท่ากำปั้น ใบอ่อนใช้รับประทาน โดยจิ้มน้ำพริกเป็นผักสด แกงบวน ต้องใส่น้ำคั้นจากใบมะตูม
ผลดิบเมื่อนำมาหั่นบางๆ ตากแดดให้แห้งเอาไปย่างไฟพอเกรียม ใช้ชงน้ำร้อนแทนใบชาได้ มีกลิ่นหอม เนื้อของผลสุก เมื่อแกะเอาเมล็ดซึ่งมียางเหนียวๆ ออกรับประทานได้มีรสหวาน
เนื้อและเปลือกจากผลสุก ต้มใส่น้ำตาลถวายพระเรียก “น้ำอัฏฐบาล” ปลูกกันตามหัวไร่ปลายนาและตามสวน
ประโยชน์
ไม้ใช้ทำลูกหีบ ทำตัวถังเกวียน ทำหวี ยางที่หุ้มเมล็ดใช้แทนกาว เปลือกผลให้สีเหลืองใช้ย้อมผ้า
ประโยชน์ทางยา
ผลอ่อน หั่นตากแดดปรุงเป็นยาแก้ธาตุพิการ
ผลสุก รับประทานเป็นยาช่วยย่อยอาหาร
เปลือกของรากและลำต้น เป็นยารักษาไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้
ใบสด คั้นเอาน้ำกินแก้หวัด และหลอดลมอักเสบ แก้ตาบวม แก้เยื่อตาอักเสบ
ผลดิบ เป็นยาสมาน รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะ แก้ท้องเสีย แก้บิด
ผลสุก เป็นยาระบาย แก้โรคไฟธาตุอ่อน แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ท้องเสีย แก้บิดเรื้อรัง
คติความเชื่อ
ใบ ใช้ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ เขาพิธีพุทธาภิเษกต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ใบมะตูมทัดหูให้แก่ เอกอัครราชทูต ที่ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบถวายบังคมลาไปรับตำแหน่งในต่างประเทศ
ต้นไม้ตามตำราพรหมชาติที่แนะให้ปลูกตามทิศทั้งแปดนั้น นอกจากจะยังประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และเป็นสมุนไพรใกล้มือแล้ว โบราณท่านยังถือคตินิยม มีเคล็ดลับความเชื่อในชื่อที่เป็นมงคลนามอีกด้วย อันถือว่าเป็นอุบายในการเรียกหากำลังใจ ให้เกิดมานะพยายามที่จะต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ปลูกไม้มงคลทางทิศเหนือ

ทิศอุดร (ทิศเหนือ) ในตำราให้ปลูกส้มป่อย ส้มซ่า และมะเดื่อ

ส้มป่อย
สมป่อย (Acacia concinna, DC.)
เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพาดพิงต้นไม้อื่น ลักษณะทั่วไปคล้าย กระถิน ตลอดทั้งต้น และกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบมีรสเปรี้ยวจัดคล้ายใบส้มเสี้ยว ฝักแบนเล็ก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและที่รกร้างว่างเปล่าทั่วๆ ไป
เปลือกของเถา ให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมแห อวน
ใบ ให้สีเขียว ใช้ย้อมผ้าและไหม
ฝัก ใช้ฟอกผมและขัดล้างเครื่องเงิน เครื่องทอง
ประโยชน์ทางยา
ต้น เป็นยาระบาย
ฝัก เป็นยาขับเสมหะ ทำให้อาเจียน เป็นยาปลูกผม กำจัดขี้รังแค ใช้ทำขี้ผึ้งปิดแผลโรคผิวหนัง ต้มเป็นยาแก้ไข้มาเลเรีย
ใบ รสเปรี้ยว ฟอกโลหิต
คติความเชื่อ
ใบส้มป่อย ใบเงิน ใบทอง ใบมะกรูด หญ้าแพรก ใบราชพฤกษ์ ใบมะตูมและใบหมากผู้หมากเมีย ใช้เขาพิธี ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์สะเดาะโศก ใช้กันมาแต่ครั้งโบราณ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
บางแห่งเชื่อกันว่า ปลูกต้นส้มป่อยไว้ขับภูตผีปีศาจ

ส้มซ่า
ส้มซ่า(Citrus)
เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบขนาดกลาง ค่อนข้างหนา มีหูใบเล็กตรงโคนใบ คล้ายส้มจุก ผลโตกว่าผลมะกรูดเล็กน้อย ผิวหยาบขรุขระค่อนข้างหนา ผิวเปลือกของผลเฉือนและหั่นฝอยโรยใส่หมี่กรอบ ให้กลิ่นหอม
ประโยชน์ทางยา
ใบส้มซ่า ร่วมกับใบส้มต่างๆ ต้มน้ำอาบ ทำให้ผิวเกลี้ยงเกลา เบาเนื้อเบาตัว รักษาโรคผิวหนัง
คติความเชื่อ
คงแก้เคล็ดให้บุตรหลาน มีชื่อเสียงขจรขจาย ซู่ซ่า ไปทั่วเมืองกระมัง

มะเดื่อ
มะเดื่อ (Aganosma glomerata, Roxb)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเกลี้ยงสีนวลๆ ใบโตขนาดใบโพธิ์ มีผลสากคาย มีดอกมีผลกลมโตขนาดผลหมากย่อมๆ มีเกสรอยู่ภายในผล ผลสุกมีสีแดง มีแมลงหวี่เจาะเข้าไปฟักไข่ในผลนั้น พอตัวแก่ผลมะเดื่อจะสุกพอดี มีแมลงหวี่พากันเจาะรูออกมามาก
ผลดิบรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกปลาแจ่ว ปลาร้า กะปิคั่ว ใบอ่อนต้มกะทิ ห่อเมี่ยง
เนื้อไม้ ใช้ทำแอก ไถ ทำหีบใส่ของ ไม้จิ้มฟัน
มะเดื่อมีหลายชนิด เช่น มะเดื่ออุทุมพร มะเดื่อดิน มะเดื่อหว้า มะเดื่อถา มะเดื่อน้ำ มะเดื่อปล้องหิน มะเดื่อหอม มะเดื่อฝรั่ง ฯลฯ

ประโยชน์ทางยา
เปลือกต้น มีรสฝาด ต้มรับประทานแก้ท้องร่วง แก้อาเจียน ภายนอก ใช้ห้ามเลือด ชะล้างบาดแผล
ราก รับประทานเป็นยาแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ แก้ร้อนใน ระงับความร้อนกระทุ้งพิษ
คติความเชื่อ
หาหลักฐานยืนยันยังไม่ได้
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ไม้มงคลที่ควรปลูกทางทิศพายัพ

ทิศพายัพ(ตะวันตกเฉียงเหนือ) ปลูกมะพูด มะนาว มะกรูด

มะพูด
มะพูด (Carcinia xanthochyma)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ใบหนาแข็งเป็นรูปไข่ยาวรี ผลกลมโตคล้ายผลส้มเขียวหวาน ผลดกออกตามกิ่ง โตเต็มที่ขนาดผลส้มเขียวหวาน ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลืองส้ม รสเปรี้ยวๆ หวานๆ รับประทานเป็นอาหารได้
ผลจะสุกประมาณเดือนเมษายน-กรกฎาคม ในภาคกลางพบปลูกกันมากแต่ไม่ค่อยแพร่หลาย
ประโยชน์ทางยา
เปลือกมีรสฝาด ใช้ชำระบาดแผล
คติความเชื่อ
“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต” (สุนทรภู่)
ประโยชน์ทั่วไปไม่สู้มีมากนัก คนแต่ก่อนคงเอาเคล็ด หาต้นมะพูดมาปลูกไว้ใกล้บ้านเป็นร่มเงา และคงหวังให้ลูกหลานเป็นคนช่างพูด ช่างเจรจาก็เป็นได้

มะนาว
มะนาว (Citrus aurantifolia, Sevingle)
เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ ๓-๔ เมตร ใบแข็งหนาเขียวสด ดอกขาว เหลือง กลีบหนาแข็งคล้ายดอกส้ม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
ผลกลมโตขนาดผลหมากเขื่องๆ ใบและผิวมีน้ำมัน ผิวขม น้ำในผลมี รสเปรี้ยวจัดมาก ใช้น้ำเปรี้ยวปรุงน้ำพริก และอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือขูดผิวออกทำเป็นมะนาวดอง ปลูกกันตามบ้านเรือนทั่วไปเป็นสวนครัว ใช้กันทุกครัวเรือนทั่วทุกจังหวัดทั่วประเทศ อาหารไทยๆ แทบทุกมื้อ แทบจะขาดมะนาวไม่ได้เลย
ประโยชน์ทางยา
น้ำในผล สีฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน ปรุงเป็นยากัดเสมหะ แก้ไอ
ราก เป็นยาถอนพิษสำแดง ไข้กลับหรือไข้ซ้ำ
เมล็ด คั่วผสมเป็นยากวาด แก้ซางเด็ก
คติความเชื่อ
คนบ้านป่า เดินทางด้วยเกวียนเทียมโคหรือกระบือ เมื่อได้กลิ่นสาบเสือจะหยุดเดิน จะเฆี่ยนตีอย่างไรก็ไม่ยอมเดิน เจ้าของเกวียนจะขูดผิวมะนาวหรือผิวมะกรูดป้ายจมูก ให้ดับกลิ่นสาบเสือ โค กระบือ จึงจะเดินต่อไป ดังนั้นการเดินทางสมัยก่อนผ่านป่าละเมาะผ่านดง ผู้เดินทางจึงมักจะพกพาผลมะนาวและมะกรูดติดตัวไปด้วยเสมอ

มะกรูด
มะกรูด (Citrus hystrix)
เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง ใบสีเขียวเข้ม หนา เป็นมัน มีหูใบตรงโคนใบใหญ่ออก ๒ ข้างของเส้นกลางใบ รวมกับใบจริงที่อยู่ตรงปลาย จึงมองดูคล้ายเลข ๘ อารบิค
ผลกลมมีจุกตรงขั้ว ผิวขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำ มีต่อมน้ำมัน
น้ำในผลมีรสเปรี้ยวจัด
ประโยชน์
ผิวของผล ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกงเผ็ด ผัดเผ็ด
น้ำในผล ใส่แกงเทโพ (แกงคั่วผักบุ้ง)
ผลแก่ นวดผิวเอาต่อมน้ำมันออก ดองเปรี้ยว ดองเค็มเป็นอาหาร
เนื้อไม้ มีสีขาว นำมาทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
ประโยชน์ทางยา
ผิวจากผล (ผิวมะกรูด ขิง ไพล พริกไท ดีปลี) ปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้ผายลม แก้เรอ แก้แน่นอก แน่นท้อง ขับระดู นาในผลมีรสเปรี้ยว กัดเสมหะในลำคอ ในทรวงอกให้ละลาย แก้กัดฟอก
ประจำเดือนของสตรี แก้ไอ น้ำมะกรูดใช้ถูฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน น้ำมะกรูดผสมกับปูนแดงทาแก้ปวดท้อง
ผล นำมาหมักดอง (เปรี้ยวหรือเค็ม) เป็นยาแก้กระษัย ฟอกล้างระดู บำรุงโลหิตระดู
ราก เป็นยาถอนพิษสำแดง คล้ายรากมะนาว
คติความเชื่อ
เช่นเดียวกับผลมะนาว
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ต้นไม้ที่ควรปลูกในทิศตะวันตก

ทิศประจิม (ตะวันตก) ตามตำราให้ปลูกต้น มะขาม มะยม พุทรา

มะขาม
มะขาม (Tamarindus indica, Linn)
เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ใบเล็กเป็นฝอยคล้ายใบโสน แผ่กิ่งก้านสาขา บานแจ้ ดอกเล็กๆ เป็นช่อสีเหลืองๆ แดงๆ ฝักกลมยาว มีรอยขั้นเป็นปล้องๆ มีรสเปรี้ยว ปลูกกันตามบ้าน วัดและริมถนน เป็นไม้ร่มเงาได้ดี มีทั่วประเทศ
ประโยชน์
ยอดอ่อน ดอกอ่อน ฝัก ทั้งอ่อนทั้งแก่ รับประทานเป็นอาหาร
ลำต้น ทำเป็นเขียงดีที่สุด เพราะเนื้อไม้หยุ่นเด้งได้ ทำครก สาก กระเดื่อง ทำเพลา ดุมรถ เกวียน กระสวย คาน กลึง และแกะสลักเผาเป็นถ่านให้ความร้อนสูง
ฝักมี ๒ ชนิด
ชนิดฝักกลมยาวค่อนข้างตรงเรียก “มะขามขี้แมว” มีรสเปรี้ยวพอควร
ชนิดฝักแบนใหญ่ยาว งอโค้งคล้ายเคียวเกี่ยวหญ้า รสเปรี้ยวจัด เรียก “มะขามกระดาน”
ประโยชน์ทางยา
เนื้อในฝัก เป็นยาถ่าย
เปลือก เป็นยาสมาน คุมธาตุ
เนื้อในเมล็ด เป็นยาเบื่อไส้เดือน
ใบอ่อน ต้มเอาน้ำโกรกศีรษะ แก้หวัดคัดจมูก
เปลือกหุ้มเมล็ด เรียก “มะขามขบ” คือ เมล็ดคั่วไฟให้ไหม้เกรียม กระเทาะเอาเปลือกออก เป็นยาฝาดคุมธาตุ
เส้นฝอยที่หุ้มเนื้อมะขาม เรียก “รกมะขาม” เป็นยา แก้โลหิตประจำเดือนพิการ
นํ้าส้มมะขามเปียกกับเกลือ ละลายน้ำสูบสวนทวาร แก้พรรดึก ท้องผูกได้ดี
คติความเชื่อ
เชื่อกันว่า ปลูกมะขามไว้ให้คนเกรงขามคร้ามเกรง

มะยม
มะยม (Phyllanthus distichus, Muell, Arg)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ต้นสูงประมาณ ๔-๕ เมตร ใบ กลมปลายแหลม เป็นใบประกอบแบบขนนก ดอก ออกเป็นสีแดงเรื่อๆ มีผลกลมโตขนาดนิ้วมือ มีพู ๓ พู ๖ เหลี่ยม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล รสเปรี้ยวจัด รับประทานเป็นอาหารได้
มีบางต้นพอออกดอกเต็มต้น แล้วก็ร่วงหมด ไม่ติดผลเลย เราเรียก “มะยมตัวผู้”
ประโยชน์ทางยา
ราก ใช้ปรุงเป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้ประดง แก้น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน แก้ไข้
ใบ ต้มเอาน้ำอาบแก้คัน, หืด หัด สุกใส ไข้หัวทั้งปวง
คติความเชื่อ
นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ยังเชื่อกันว่า “ปลูกต้นมะยมไว้” ผู้คนจะได้นิยมหรือมีนะเมตตามหานิยม ว่ากันยังงั้น

พุทรา
พุทรา (Zizyphus jujuba, Miller)
พุทรา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบกลมโต รูปไข่ ขนาด ๑ นิ้วฟุต ตามต้นและกิ่งก้านมีหนาม ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น ผลกลมโตเท่าผลมะไฟ
บางชนิดผลกลม ปลายผลแหลม คล้ายผลละมุด บางชนิดมีผลหวานสนิท บางชนิดเปรี้ยวและฝาด โดยมากเกิดขึ้นเองตามป่าทั่วๆ ไปแทบทุกจังหวัด และมีผู้ปลูกไว้ตามบ้านและสวน
ประโยชน์ทางยา
หมอแผนโบราณ ใช้เปลือกต้นซึ่งมีรสฝาดต้มรับประทานแก้ท้องร่วง แก้อาเจียน และใช้เมล็ดเผาไฟ ป่นทำเป็นยาแก้ซางชักของเด็กได้ดี บางแห่งใช้ใบตำสุมศีรษะเด็ก แก้หวัดคัดจมูกเวลาเย็นๆ
คติความเชื่อ
นิยมปลูกคู่กับมะยม คงหวังให้ผู้คนนิยมไม่สร่างซากระมัง
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก