ปลูกไม้มงคลทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) โบราณท่านให้ปลูกทุเรียน ไผ่รวก มะตูม

ทุเรียน
ทุเรียน (Durio Zibethinus, Linn)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ใบเขียวเป็นมัน ท้องใบคาดด้วยเกล็ดน้ำตาล (สีทอง) ใบรูปไข่ยาว ปลายใบมีติ่งแหลมเรียว ผลมีหนามหยาบแหลมคม เนื้อในผลรับประทานเป็นอาหารได้ มีรสหวานมัน เนื้อ ทุเรียนมีธาตุกำมะถันปนอยู่ รับประทานมากๆ ทำให้เกิดความร้อน แต่แก้แผลโรคผิวหนังได้ ทำให้ฝีแห้ง
ประโยชน์ทางยา
เปลือกผล ปรุงเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย
คติความเชื่อ
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่เลือกปลูก ดินเค็ม น้ำกร่อย ความชื้นในอากาศน้อย ไม่เหมาะกับทุเรียน อยากปลูกเอาเคล็ด ควรหาทุเรียนเทศมาปลูกแทนคงไม่ผิดกติกา ขออนุญาตจูงให้เข้าสู่ประเด็น โบราณท่านคงหมายถึง “ความเป็นผู้คงแก่เรียน” ก็ได้

ไผ่รวก
ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis)
เป็นพืชในวงศ์หญ้าชนิดหนึ่ง ขึ้นในป่าแทบทุกชนิด ยกเว้นป่าเลนน้ำเค็ม และป่าพรุ นิยมปลูกกันทั่วทุกภาค เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตลอดจนเป็นแนวกันลมตามหมู่บ้าน ในเมืองไทยมีไม้ไผ่มากกว่า ๒๐ ชนิด
หน่อของไม้ไผ่แต่ละชนิด งอกขึ้นมาตอนต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-กันยายน ใช้เป็นอาหารได้ดี ขนาดของหน่อไม้ไผ่รวก โตประมาณข้อมือ ก่อนที่จะนำหน่อไม้มาปรุงอาหารนั้น ควรนำมาต้มให้สุกเสียก่อนเพื่อลดความขื่นขม แล้วจึงนำไปประกอบอาหารตามใจชอบ เช่น ต้ม แกง ผัดหรือใช้เป็นผักจิ้ม
ลำต้นแก่ ใช้ปรุงเป็นเครื่องเรือน สมัยก่อนทำหลักด้ามเครื่องมือและทำเครื่องใช้ต่างๆ
ประโยชน์ทางยา
ราก ใช้เป็นยาถอนพิษ เบื่อเมาต่างๆ
ใบ ตรงยอดอ่อนที่ม้วน รวมกับยอดอ่อนของไผ่อื่นๆ อีก ๔ ชนิด ต้มน้ำให้เด็กดื่ม แก้ปัสสาวะรดที่นอน
คติความเชื่อ
ยังหาหลักฐานไม่พบ
มะตูม (Aegle marmelos)
พบในป่าผลัดใบผสมป่าเต็งรังและปลูกกันทั่วไป สูงประมาณ ๕-๑๕ เมตร เป็นไม้ผลัดใบในฤดูร้อน ลำต้นมีหนามให้ผลสุกราวๆ เดือนมีนาคม-เมษายน ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลืองโตประมาณเท่ากำปั้น ใบอ่อนใช้รับประทาน โดยจิ้มน้ำพริกเป็นผักสด แกงบวน ต้องใส่น้ำคั้นจากใบมะตูม
ผลดิบเมื่อนำมาหั่นบางๆ ตากแดดให้แห้งเอาไปย่างไฟพอเกรียม ใช้ชงน้ำร้อนแทนใบชาได้ มีกลิ่นหอม เนื้อของผลสุก เมื่อแกะเอาเมล็ดซึ่งมียางเหนียวๆ ออกรับประทานได้มีรสหวาน
เนื้อและเปลือกจากผลสุก ต้มใส่น้ำตาลถวายพระเรียก “น้ำอัฏฐบาล” ปลูกกันตามหัวไร่ปลายนาและตามสวน
ประโยชน์
ไม้ใช้ทำลูกหีบ ทำตัวถังเกวียน ทำหวี ยางที่หุ้มเมล็ดใช้แทนกาว เปลือกผลให้สีเหลืองใช้ย้อมผ้า
ประโยชน์ทางยา
ผลอ่อน หั่นตากแดดปรุงเป็นยาแก้ธาตุพิการ
ผลสุก รับประทานเป็นยาช่วยย่อยอาหาร
เปลือกของรากและลำต้น เป็นยารักษาไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้
ใบสด คั้นเอาน้ำกินแก้หวัด และหลอดลมอักเสบ แก้ตาบวม แก้เยื่อตาอักเสบ
ผลดิบ เป็นยาสมาน รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะ แก้ท้องเสีย แก้บิด
ผลสุก เป็นยาระบาย แก้โรคไฟธาตุอ่อน แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ท้องเสีย แก้บิดเรื้อรัง
คติความเชื่อ
ใบ ใช้ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ เขาพิธีพุทธาภิเษกต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ใบมะตูมทัดหูให้แก่ เอกอัครราชทูต ที่ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบถวายบังคมลาไปรับตำแหน่งในต่างประเทศ
ต้นไม้ตามตำราพรหมชาติที่แนะให้ปลูกตามทิศทั้งแปดนั้น นอกจากจะยังประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และเป็นสมุนไพรใกล้มือแล้ว โบราณท่านยังถือคตินิยม มีเคล็ดลับความเชื่อในชื่อที่เป็นมงคลนามอีกด้วย อันถือว่าเป็นอุบายในการเรียกหากำลังใจ ให้เกิดมานะพยายามที่จะต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก