เพลงพื้นบ้านเขมร

เพลงปฏิพากย์ เพลงพื้นบ้านเขมร ที่มีผู้ร้องได้ในหมู่บ้านเป็นเพลงปฏิพากย์ เรียกว่า เพลงเซาะแซะ
เพลงกล่อมเด็ก เพลงกล่อมเด็ก เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่ถ่ายทอดจากปากสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
เพลงประกอบพิธีกรรม เพลงประกอบพิธีกรรมได้แก่เพลงเชิญผีเขมรที่ใช้ในพิธีเลี้ยงผีเพื่อรักษาโรค และเพลงแห่นางแมวเป็นเพลงประกอบพิธีกรรมในการขอฝน ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่เนื่องด้วยความสมบูรณ์ของพืชผล

งานหัตถกรรม
งานไม้ งานหัตถกรรมที่แสดงความเป็นชนกลุ่มน้อยต่างเผ่าพันธุ์ได้แก่เคียวเขมร ด้ามเคียวทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดงจีน หรือเขาสัตว์ วิธีเกี่ยวข้าวก็แตกต่างไปจากเคียวไทย กล่าวคือ ผู้เกี่ยวใช้เคียวด้านที่เป็นไม้รวบต้นข้าวไว้แล้วพลิกมือกลับ ใช้ด้านที่มีคมตัดกอข้าว ปัจจุบันนี้ชาวไทยเชื้อสายเขมรในฉะเชิงเทรา ยังคงใช้เคียวแบบนี้อยู่
เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในหมู่บ้านเหล่านี้เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในการเชิญผีรักษาโรค กล่าวคือมีการทำกลองเลี้ยงผี ตัวกลองทำด้วยดินเผา หน้ากลองขึงด้วยหนังงูหรือหนังวัวและมัดหน้ากลองให้ติดตัวกลองด้วยหวาย กลองเลี้ยงผีจึงนับได้ว่าเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่เกิดจากความเชื่อทางไสยศาสตร์อันสืบเนื่องมาจากเผ่าพันธุ์ของตนเอง

รับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนลาว
ชาวบ้านเชื้อสายเขมรกลุ่มนี้รับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนลาวได้แก่ประเพณีบุญข้าวหลามซึ่งเป็นชุมชนใกล้เคียง เข้าผสมผสานกับประเพณีการปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองของชาวไทยภาคกลางในกลางเดือน ๓ ในวันขึ้น ๑๔ คํ่า ชาวลาวเวียงและลาวพวนในอำเภอพนมสารคามซึ่งเป็นชุมชนลาวที่อยู่ใกล้เคียงกับชาวไทยเชื้อสายเขมร มีประเพณีที่น่าสนใจคือประเพณีบุญข้าวหลาม ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำชาวบ้านทุกบ้าน จะเผาข้าวหลาม เพื่อนำไปถวายพระในเช้าวันขึ้น ๑๕ คํ่า ในตอนสายพากันเดินไปขึ้นเขาดงยาง ซึ่งอยู่ห่างหมู่บ้านประมาณ ๖ กิโลเมตรเพื่อปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง บนเขาดงยาง และนำข้าวหลามไปรับประทานบนเขา ชาวไทยเชื้อสายเขมรรับประเพณีบุญ ข้าวหลามเข้าเป็นประเพณีของตนและปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวลาว

รับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวไทยภาคกลาง
วัฒนธรรมหลวง ชาวไทยเชื้อสายเขมรเหล่านี้ นับถือพุทธศาสนามาแต่ดั้งเดิม และอพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยอันเป็นดินแดนพุทธศาสนา พุทธศาสนาจึงหยั่งลึกลงไปในจิตใจชาวบ้านกลุ่มนี้ พุทธศาสนาและหลักธรรมคำสั่งสอนจึงเป็นแกนนำกำหนดวิถีชีวิตของเขา จนแทบจะกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา เหตุนี้เองชาวบ้านกลุ่มนี้จึงมีกิจกรรมประเพณีทางศาสนาแทบทุกเดือน

ชาวบ้านเหล่านี้เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดทำบุญตามประเพณีที่สำคัญทางศาสนา โดยถือเป็นเทศกาลงานส่วนรวมของสังคม ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวกับการทำบุญให้ทานและรวมถึงการรื่นเริง เป็นต้นว่า สงกรานต์ วิสาขบูชา อุปสมบท เข้าพรรษา ออกพรรษา เทศน์มหาชาติ ลอยกระทง มาฆบูชา ตรุษไทย สารทไทยและทอดผ้าป่า เป็นต้นประเพณีเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่แพร่กระจายจากเมืองหลวง อันเป็นศูนย์กลางของความเจริญในทุกๆ ด้านไปยังหมู่บ้านเหล่านี้
วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นบ้านของกลุ่มชนดังกล่าวนี้เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีรากฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม อาทิเช่น เพลงและงานหัตถกรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีวิตของเขา

เพลงพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้านเป็นวรรณกรรม มุขปาฐะ (oral literature) ที่เล่นสืบทอดกันมานานนับร้อยปี
เพลงพื้นบ้านที่เล่นในหมู่บ้านเหล่านี้มี ๓ ประเภทคือเพลงที่เป็นมหรสพได้แก่ เพลงระบำเหนือและเพลงระบำประกอบการเล่นช่วงรำ และชักคะเย่อในวันสงกรานต์ เพลงประเภทที่สองได้แก่ เพลงประกอบการงาน คือ เพลง ชางชัก เพลงประเภทที่ ๓ คือเพลงประกอบพิธีกรรมได้แก่ เพลงแห่นางแมวและเพลงสวดคฤหัสถ์

ระบำเหนือ (ระบำต่อกลอน) เป็นเพลงปฏิพากย์ขนาดยาวที่เล่นเป็นอาชีพอยู่ในแถบชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก ผู้เล่นระบำเหนือมักมีฝ่ายละ ๒ คน ที่เหลือนอกจากนั้นยืนล้อมวงเป็นลูกคู่ปรบมือให้จังหวะ ผู้เล่นและผู้ฟังระบำเหนือเป็นกลุ่มชนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เหตุนี้เองระบำเหนือจึงต้องมีลักษณะบางประการที่เอื้ออำนวยแก่ผู้ฟัง คือ ง่ายทั้งในด้านบทร้อยกรองและถ้อยคำ

ระบำเหนือนิยมเล่นกันในงานรื่นเริงและงานกุศล เป็นต้นว่าตรุษสงกรานต์ โกนจุกและบวชนาค เป็นต้น หรือเล่นในเวลาที่มีคนมาชุมนุมกันเช่นในลานนวดข้าวก็ได้ พลบคํ่าเป็นเวลาว่างงานในนา พ่อเพลงก็ยกขบวนนำหนุ่มๆ ในละแวกบ้านถือไต้คนละดวงไปที่ลานนวดข้าวหรือลานบ้านแม่เพลง เหตุที่ใช้ไต้ก็เพราะไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน เมื่อ มาถึงบ้าน แม่เพลงก็ผูกไต้เข้าที่เสาบ้าน แม่เพลงกับบ้านใกล้เคียง และยึดลานบ้านเป็นที่เล่น พอผูกไต้ก็เป็นที่ทราบกันว่าจะเล่นระบำเหนือที่บ้านนี้ พ่อเพลงก็ร้องเชิญแม่เพลงถึงบันไดบ้าน แม่เพลงและพรรคพวกที่ร้องได้รำได้และเป็นคนใจกล้าออกไปที่ลานบ้าน ระบำเหนือก็เริ่มต้นที่ลานบ้านนั่นเอง หรือฉะนั้นเจ้าภาพหาพ่อเพลงแม่เพลงไปเล่นที่บ้านในงานโกนจุกหรือบวชนาคก็ได้ ระบำเหนือก็เล่นกันที่บ้านเจ้าภาพนั่นเอง

เนื้อเรื่องที่เล่นระบำเหนือ มักเล่นกันเป็น ๓ แบบ คือ เล่นโดยตัดตอนจากวรรณคดีมาเล่นเช่น เวส¬สันดร สังข์ทอง หรือสังข์ศิลป์ชัย แบบที่สอง ถามไถ่เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะ อาทิเช่น อานิสงส์ในการบวช มารดาและภรรยาได้บุญคนละกี่ส่วน ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการให้จริยธรรมแก่ผู้ฟังซึ่งอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ส่วนแบบที่สาม เล่นเป็นแขวงต่างๆ เช่น แขวงรัก แขวงนาและแขวงหมอ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการเกี้ยวพาราสี มีถ้อยคำพาดพิงถึงเรื่องเพศ ซึ่งนักเพลงโต้ตอบกันด้วยถ้อยคำที่เป็นโวหาร และคำที่เป็นสัญลักษณ์ทางเพศ

แม้เพลงระบำเหนือจะเป็นมหรสพพื้นบ้านของกลุ่มชนผู้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ตามที แต่เนื้อหาสาระที่นักเพลงโต้ตอบกันนั้นได้สะท้อนชีวิตสังคมชนบทไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุดไม่ว่าจะเป็นความกตัญญู แนวคิค ความเชื่อ ค่านิยม ความทุกข์ ความสุข ความมี ความจน รวมไปถึงสภาพสังคมและความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น

ความกตัญญู :
สิบนิ้วประนมกรก้มเหนือเกศ    ไหว้คุณครูผู้วิเศษสุดใส
ไหว้ครูพักลักจำ                    ทั้งครูแนะครูนำบอกข้า
จะไหว้บิดามารดาที่ได้ป้อนข้าวนั้น      จงมาช่วยชูและช่วยฉัน
ธรรมะ :
สังขารของคนเรามันไม่เที่ยงแท้     เวลานี้มันแก่ลงไป
เกศาโลมาขาทันตา                ขาวเอ๋ยคนเราเกิดมานั่นไง
สภาพเศรษฐกิจ :
เอานิ้วใส่แหวนเอาแขนใส่สร้อย     ห้อยคอเม็ดปะหล่ำเอวนั้นคาดทองคำคมคาย
เนื้อร้องที่สะท้อนให้เห็นการแต่งกายของคนไทยในสมัยที่พ่อเพลงแม่เพลงยังเป็นหนุ่ม เป็นสาวไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับหรือทรงผม
ลาผมเป๋ผมโป่งที่รองทรงตกแสก            แม่หน้าขาวปลั่งงามแปลก
แม่บัวเขียวใส่เสื้อสีพลูที่ใส่ตุ้มหูดาวหาง        ล้วนของสั่งมาแต่ไกล
คนมั่งมีศรีสุขในทัศนะของพ่อเพลงแม่เพลงคือ “หม่อมแม่เมียนาย”
ให้น้องท้าวแขนแม่คุณเอ๋ยแอ่นแต้      เขาเรียกว่าหม่อมแม่เมียนาย
พิศดูพ่อคุณเอ๋ยงามแท้             เหมือนอย่างหม่อมแม่เมียนาย

สัญลักษณ์ทางเพศ:
ฉันจะเบ่งส้มซ่าให้ไปสักสองกลีบ    เพราะว่ามันเป็นของเปรี้ยวติดไป
เพราะถ้าแกเป็นลมให้แกะดมสักนิด    ไว้หว่างกลีบผิวติดเจียวพ่อคุณเอ๋ยถมไป
ระบำเหนือเป็นการเล่นเพลงโต้ตอบด้วยกลอนสดโดยอาศัยปฏิภาณของผู้เล่นเพลงดังเช่น นางประทุม นิยมสุข แม่เพลงระบำเหนือร้องบอกให้ฝ่ายชายทราบว่าตนเป็นคนแก่ แต่บอกด้วยโวหารข่มฝ่ายชายว่า
เกศาโลมานขาทันตา            ขาวเอ๋ยคนเราเกิดมานั่นไง
ดูถ้าจะเปรียบเป็นไก่ฉันเป็นไก่ตะเภา     ใครเขาก็รู้เคยเป็นแม่แต่ตัวผู้
แม่เพลงถามไถ่ราคาที่เจ้าภาพหาพ่อเพลงมาเล่นด้วยถ้อยคำเยาะเย้ยถากถางว่า
เขาเสียให้พี่กี่บาทเขาฟาดให้แกกี่เฟื้อง ถามว่าเขาหมดเขาเปลืองเท่าไร
หรือเขามีเงินเหรียญติดอยู่ในกลี่หมาก เลิกแล้วเขาเอายัดปากพ่อคุณเอ๋ยกลับไป

การเล่นเพลงเป็นการโต้ตอบชิงไหวชิงพริบระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่าย ผู้เล่นจะต้องใช้ปฏิภาณของคนแก้เพลงของอีกฝ่ายตก จึงถือว่ามีผีปากทัดเทียมกัน เช่น
(ชาย)    ทุกวันนี้พี่มาเจอน้องแม่ทองพังงา จะเช่าไร่ก็เช่านาว่าอย่างไร
โอ้ไอ้นาของน้องเป็นนาราง        พี่จะถากจะถอนให้สิ้นกลอน
(หญิง)    ฉันบอกว่าอาชีพพ่อชาวเอ๋ยของน้อง ทุกวันฉันหาบใบตองร้องขาย
ทุกคนทั้งยืนแกไม่ได้ยิน    แกนั่งเอาหูขัดหินถมไป
ให้แกย้อนรอยให้แกถอยเข้า            ไปทำนาเก่ารู้ไหม
แล้วให้ก้มหัวกราบลงไปขอบาปขอกรรม     ถึงจะลงมือทำถางไถ

ปัจจุบันนี้ชาวบ้านละแวกหัวสำโรง ดงยางและสระสองตอนเลิกดูระบำเหนือกันเสียแล้ว ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากรัฐบาลในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้ชักชวนให้ประชาชนรำวง ระบำเหนือที่เคยเฟื่องฟูก็ซบเซาถึงขั้นที่สูญหายไปจากความทรงจำของชาวบ้าน ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อไฟฟ้าเข้ามาถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านก็หันไปดูละครและภาพยนตร์ ทางโทรทัศน์ ซึ่งมีเนื้อหาหลากหลายกว่า
เพลงระบำ เพลงระบำเป็นเพลงพื้นบ้านประเภทเพลงปฏิพากย์สั้นที่เกิดจากการรวมหมู่ของชาวบ้านในงานวันนักขัตฤกษ์เฉพาะวันสงกรานต์เท่านั้น ชาวบ้านหัวสำโรง กิ่งอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เล่นเพลงระบำประกอบการเล่นช่วงรำและชักคะเย่อในวันสงกรานต์ตลอดทั้ง ๕ วัน ๕ คืน ตั้งแต่ขึ้น ๑๓ ค่ำไปจนถึงแรม ๒ คํ่า เวลาที่จะเล่น จะเล่นหลังจากทำบุญที่วัดหัวสำโรงอันเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ในตอนเช้าแล้ว ชาวบ้านจะไปชุมนุมกันที่โคนต้นไม้ใหญ่ในลานวัดเพื่อใช้เป็นที่เล่น
เพลงระบำ ที่เล่นประกอบการเล่นช่วงรำ และชักคะเย่อ เป็นเพลงระบำเหนือนั่นเอง ต่างกันแต่เนื้อเพลงระบำ ประกอบการเล่นไม่มีบทไหว้ครูและบทลา ส่วนเนื้อความที่ร้องเป็นการทักทาย ชมโฉมและเกี้ยวพาราสีกัน
การละเล่นประกอบเพลงระบำมีอยู่ ๒ ประเภทคือ ช่วงรำและชักคะเย่อ
ช่วงรำ ช่วงรำเป็นการละเล่นประกอบการเล่นเพลงระบำในวันสงกรานต์ของชาวบ้านหัวสำโรง ผู้เล่นช่วงรำมีอายุอยู่ในราว ๔๐-๗๐ ปีขึ้นไป การเล่นช่วงรำไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น โดยมากผู้เล่นมีประมาณ ๔-๑๐ คู่ ผู้เล่นๆ ปนกันโดยไม่แบ่งเพศ ข้อสำคัญผู้เล่นจะต้องพอด้นกลอนได้ และรำได้ เมื่อจะเริ่มเล่นผู้เล่นยืนล้อมวงโดยขี่คอกันเป็นคู่ๆ ผู้อยู่บนคอเป็นชายหรือหญิงก็ได้ ผู้อยู่บนคอคนหนึ่งที่ถือลูกช่วงอยู่ในมือจะโยนลูกช่วงไป ยังผู้อยู่บนคอคู่ถัดไป ผู้รับลูกช่วงได้จะโยนต่อไปทันทีที่ได้รับ ถ้าลูกช่วงพลาดจากมือผู้ใดผู้ขี่คอทุกคนจะลงจากคอคู่ของตนมายืนล้อมวง และเริ่มต้นเล่นเพลงระบำ ผู้ออกไปเล่นเพลงระบำคู่แรกมักจะเป็นผู้ที่รับลูกช่วงไม่ได้ คนที่เหลือยืนล้อมวงปรบมือกำกับจังหวะและเป็นลูกคู่ในระหว่างนี้คนที่ล้อมวงอยู่ก็จะผลัดกันเข้าไปร้องรำแก้เพลงกันสักครู่ก็กลับขึ้นขี่คอกันใหม่ คราวนี้ แต่ละคู่จะเปลี่ยนกัน กล่าวคือผู้ที่เคยถูกขี่จะเป็นผู้ขี่บ้างแล้วก็เริ่มโยนลูกช่วงกันใหม่ พอลูกช่วงตกก็ลงจากคอเพื่อเล่นเพลงระบำ
ชักคะเย่อ ชักคะเย่อเป็นการละเล่นประกอบเพลงระบำ เช่นเดียว กับช่วงรำที่ชาวบ้านหัวสำโรงเล่นในวันสงกรานต์เช่นกัน ผู้เล่นแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายๆ ละกี่คนก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน เมื่อตกลงแบ่งพวกกันได้แล้วก็ขีดเส้นแบ่งแดน หัวแถวของทั้ง ๒ ฝ่ายยืนจับไม้ยาวสัก ๒-๓ ฟุตในทางขวางทั้ง ๒ มือ ลูกน้องของแต่ละฝ่ายเกาะเอวหัวแถวของตนเหมือนงูกินหาง หัวแถวพยายามดึงไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามล้ำเส้น ฝ่ายใดล้ำเส้น ถือว่าแพ้ ชักคะเย่อที่ชาวบ้านเล่นกันในวันสงกรานต์เป็นการละเล่นจึงไม่มีกติกาที่ตายตัว บางครั้งผู้จับไม้ฝ่ายหญิงมี ๑๐-๒๐ คน แต่ฝ่ายชายมี ๒-๓ คนก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน แม้แต่หางแถวหลุดจากหัวแถวก็วิ่งมาเกาะใหม่ได้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ก็เริ่มต้นเล่นเพลงระบำกัน ครั้นเล่นเพลงระบำกันไปสักครู่ก็หันมาชักคะเย่อกันใหม่
อันที่จริงการเล่นช่วงรำและชักคะเย่อ ชาวบ้านผู้เล่นถือว่าเป็นการเล่นกันสนุกๆ ในวันนักขัตฤกษ์ ผู้เล่นจะไม่สร้างกฎเกณฑ์ให้ตายตัวลงไป เพราะถือกันว่าใครร้องได้รำได้ก็ออกไปร้องไปรำเพื่อสำเริงอารมณ์ จึงไม่สร้างกติกาขึ้นให้เป็นปัญหาให้ต้องโต้แย้งกันว่าผู้ใดละเมิดกฎ เนื้อร้องเพลงระบำประกอบการ เช่นช่วงรำและชักคะเย่อมักร้องเกี้ยวพาราสีกันเช่น
(ลูกคู่)  ไปเช่าระบำมาแต่ไหนเอย        ไปเช่าระบำมาแต่หนองบอนซ่อนใบ
น้องยักแขนซ้ายน้องมาย้ายแขนขวา    ใครเลยเขาไม่น่าเสียดาย
พูดถึงรูปร่างแม่คุณเอ๋ยเหมือนกินนร    รูปร่างแม่แตงอ่อนชื่นใจ
มายักแขนซ้ายก็แล้วมาย้ายแขนขวา    ใครเลยไม่น่าไม่น่าก็เสียดาย
(ลูกคู่)    หนองบอนซ่อนใบเขารำงามเอย    หนองบอนซ่อนใบเขารำงามเอย
(หญิง)    ช่างสวยจริงโว้ยช่างสวยจริงหวา    ใครเลยเขาจะไม่น่ารักใคร่
ช่างสวยทั้งหญิงน้องฝ่ายชาย    ดูรำก็ละม้ายช่างโสภา
น้องเอ๋ยรักจะเล่นก็ให้เต้นออกมา    สีนวลก็อย่าช้าร่ำไร
ให้แม่ยกแขนซ้ายแล้วให้แม่ย้ายแขนขวา    ดูเอ๋ยช่างน่าๆ ก็เสียดาย
(ลูกคู่) หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย        หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย
(ชาย) รูปร่างแม่คุณน้องเอ๋ยมันโสฬส        รูปร่างก็หมดจดก็วิไล
ช่างสวยจริงโว้ยก็ช่างสวยจริงหวา            คล้ายๆ องค์เทวาสุราลัย(ซ้ำ)
มาพิศสะเพ่งฉันเองมาเล็งสะพักตร์        ในอารมณ์นึกรักอยากได้
ช่างสวยจริงๆ ทุกสงสารพัน        เสียแรงก็หนอละบ้านอยู่ไกล
พี่เองหนอนึกเหมือนหนุมาน        พี่เองจะยกหนอเอาบ้านไปใกล้ๆ
นี่เองก็ยังเป็นเหมือนยังกา    ใครเขาจะมาเย็นๆ กลับไป
(ลูกคู่)    หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย     หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย
(ชาย)    แม่รักจะเล่นก็ให้แม่เต้นกระตุก ศรีนวลก็แม่ลุกมาไวๆ
มาเล่นกับพี่เสียเถิดนาน้อง    แม่สาริกาลิ้นทองแม่ชื่นใจ
แม่สาริกาลิ้นทองแม่ชื่นใจ    แม่ยกแขนซ้ายไม่น่าๆ ก็เสียดาย
(ลูกคู่)    ผักกระเฉดเอยกำละไพ เขารำงามเอย ผักกระเฉดเอ๋ยกำละไพ เขารำงามเอย
(หญิง)    พอได้ยินเสียงใครมาร้องเรียกเกริ่นๆ     ได้ยินชายมาร้องเชิญใกล้ๆ
ฉันจะออกไปดูเสียให้มันรู้แน่    ว่าสีคำดอกแคหรือใคร
น้องต้องเรียกน้องต้องเชิญเสียให้พี่ขึ้นบ้าน ว่ามีธุระต้องการอะไร
หรือว่าวัวแกหายหรือว่าควายที่พลัด    ถึงได้เดินเซซัดมาได้
ถ้ารักจะเล่นก็ให้พี่อยู่ก่อน    ถ้าแม้ธุระก็ร้อนๆ รีบไป
เชิญขึ้นมาข้างบนบ้านของน้องมันจนซิมันยาก    มากินพลูกินหมากแล้วไป
เชิญมากินพลูทั้งรากเชิญมากินหมากทั้งผล    กินกันตามยากจนเข็ญใจ
แม้นว่านั่งถึงฟากแม้นปากถึงข้าว        น้องไม่ให้ท้องเปล่ากลับไป
มากินปลาสลิดหนอเอ๋ยตากแดด        หรือมากินปลาแสลดกลับไป
มากินพลูทั้งรากมากินหมากทั้งโคน    มากินกันที่ดอกตามจนหนอชาย
เมื่อก่อนแกมาว่าวัวแกหายว่าควายแกพลัด    แกถึงได้เดินก็ทุลัดมาถึงนี่
วัวคอกแกหายหรือควายแกนอน        แกก็วิ่งออกมาก่อน
ฉันอยากหนอจะถามโฉมงามมาที่นี่    มาเสียเถิดพ่อคนดี
มีธุระถึงเย็นก็ให้พี่ขึ้นมานี่        ขึ้นมาถึงที่เป็นไร
(ลูกคู่)    หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย    หนองบอนซ่อนใบ เขารำงามเอย
เพลงชางชัก เพลงชางชักเป็นเพลงลากข้าวที่นวดแล้วให้รวมเข้าเป็นกองของชาวบ้านหัวสำโรง เพลงชางชักจึงจัดเป็นเพลงประกอบการงานที่เกิดจากการกสิกรรมอันเป็นอาชีพหลักของชาวนา
เพลงชางชักเป็นเพลงที่เล่นกันที่ลานนวดข้าวซึ่งจะเลือกใช้ที่ลานบ้านหรือท้องนาก็ได้ ก่อนอื่นชาวนาจะนำฟ่อนข้าวมาตั้งเป็นวงกลมที่กลางลาน พวกพ้องที่ตกแรงกันไว้ก็นำควายมาคนละตัวสองตัวมาช่วยกันย่ำฟ่อนข้าวให้แตก และให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง ถ้าขะเน็ดยังไม่ขาดก็ใช้ขอฉายตีให้ฟ่อนข้าวแตก พอข้าวร่วงจากรวงฟางก็จะลอยขึ้นมา ผู้ที่ถือขอฉายยืนอยู่ที่ขอบลานจะใช้ขอฉายเขี่ยฟางแยกมาไว้ที่ขอบลาน ถ้าเห็นว่าเมล็ดข้าวยังไม่หลุดจากรวงก็ไล่ควายให้เข้าไปย่ำให้เมล็คข้าวร่วงอีก ระหว่างนั้นก็เขี่ยฟางลอยออกเรื่อยๆ ต่อจากนั้นก็รุใหญ่ รุใหญ่หมายถึงการสงฟางออกจากกองข้าว ในขณะที่สงฟางอยู่นั้นชาวนาบางท้องที่ร้องเพลงสงคอลำพวนเล่น ชาวบ้านจังหวัดนี้ไม่มีเพลงสงคอลำพวน แต่มักจะร้องลิเกเล่นกันเหมือนกันแทบทุกหมู่บ้าน พอสงฟางออกแล้วก็ใช้ควายย่ำอีกครั้งหนึ่ง คนที่อยู่รอบๆ ลานก็คอยเขี่ยฟางออกไปที่ขอบลาน จากนั้นใช้กราดไล่ลำพวน (เศษฟาง) ออกก่อน แล้วจึงใช้ขอฉายขีดให้ฟางข้าวที่ขาดๆ ลอยขึ้นมา เขาใช้ขอฉายขีดเพียง 3 ครั้งเท่านั้น เมื่อเลิกใช้ขอฉายก็หันไปใช้คราดๆ ฟางออก พวกผู้หญิงใช้ไม้กวาด ที่ทำจากต้นข้าวต้มซึ่งเป็นพุ่มไม้เตี้ยๆ กวาดบนกองข้าวอีก เป็นครั้งสุดท้าย ถ้ามีลมโชยมาก็ใช้พลั่วตักข้าวสาด เศษฟาง ก็จะปลิวไปตามลม พอถึงขั้นนี้ก็เป็นอันว่ามีแต่ข้าวเปลือกกองอยู่เต็มลาน เพลงชางชักหรือเพลงชักกระดานก็เริ่มขึ้น ตอนนี้เอง
เมื่อจะลากกระดาน เจ้าภาพนำกระดานที่มีรูเจาะทั้งหัวและท้ายสำหรับเอาเชือกร้อย คนชักกระดานจะยืนเป็นแถวตรงกันข้าม อีกคนหนึ่งคอยกดกระดานไว้ การลากกระดาน ทำให้ข้าวที่กระจัดกระจายอยู่ตามลานให้มารวมกันที่หลักเกียด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของลาน ในขณะที่ลากกระดานนั้นชาวบ้าน ที่เจ้าบทเจ้ากลอนก็เริ่มเล่นเพลงลากกระดานหรือชักกระดาน หรือบางท้องที่เรียกว่าเพลงชางชักบ้าง เพลงชางชักก็มี เมื่อจะเล่นเพลงลากกระดานผู้เล่นจะโห่ขึ้น ๓ ราก่อนแล้วจึงเล่นเพลงชางชักก็เริ่มต้นเหมือนเพลงปฏิพากย์ทั่วๆ ไป คือ เริ่มต้นด้วยลูกคู่ก่อน แล้วจึงเป็นบทร้องของฝ่ายชายและหญิงโต้ตอบกันทุกครั้งที่ฝ่ายใดร้องจบลูกคู่จะรับขึ้นพร้อมกัน
ลูกคู่)    ต้อยตุเรียนเอิงเอ๋ยเวียนซ้าย    กงไสลริ้วๆ กงแซ
นางน้องของพี่นี่เอย     ทรามเชยไม่เหลียวมาแล
พี่ผูกสมัครรักน้องแท้ๆ     โอ้รักแม่แพรสีเอย
น้องก็รักชักคะเย่อ     ชักให้เสมอกันเอย
(ชาย) ชางชักเอยหงส์ทองน้องรัก    จะย่องไปหักเอาใบมะแว้ง
(ลูกคู) โอ้เจ้าชางชักเอยหงส์ทองน้องรัก จะย่องไปหักเอาใบมะแว้ง
หำบุญละนะสิ่งใดหนอ     จะได้ร่วมหอกับแม่ใส่เสื้อแดง
(หญิง)    ชางชักเอยหงส์ทองที่รัก    จะเข้าไปหักเอาดอกมะแว้ง
(ลูกคู่) โอ้เจ้าชางชักเอยหงส์ทองน้องรัก     จะเข้าไปหักเอาดอกมะแว้ง
ทำบุญสักกี่ชาติ         ก็ไม่ได้ฟาดกับแม่สาวเสื้อแดง
(ชาย)    โอ้ชางชักเอยหงส์ทองน้องรัก    จะย่องไปหักเอาใบลั่นทม
(ลูกคู่) โอ้เจ้าชางชักเอยหงส์ทองน้องรัก     จะย่องไปหักเอาใบลั่นทมทำบุญก็สิ่งใดหนอ    จะได้ร่วมหอกับแม่เอวกลม
(หญิง) ชางชักเอยวังเวงใจนัก จะย่องไปหักเอาดอกลั่นทม
(ลูกคู่) โอ้เจ้าชางชักเอยวังเวงใจนัก จะย่องไปหักเอาดอกลั่นทม
ทำบุญเสียให้ตาย    ก็ไม่ได้กับแม่เอวกลม
ฯลฯ
เพลงชางชักเป็นเพลงปฏิพากย์ที่ไม่จำกัดตัวผู้เล่น ประกอบกับผู้เล่นไม่จำเป็นต้องมีความสามารถสูงดังเช่นระบำเหนือ ผู้ใดที่ลากข้าวอยู่ในลานนวดข้าวที่พอจะด้นกลอนได้ ผลัดกันเป็นลูกคู่และต้นเสียง ทำให้มองเห็นว่าเพลงชางชัก ไม่มีการแยกผู้ฟังและผู้ร้อง ส่วนทำนองของเพลงชางชัก ค่อนข้างช้า เนื่องจากเป็นเพลงร้องในขณะที่ลากข้าวซึ่งผู้ลากต้องค่อยๆ ลากเพื่อจะกวาดข้าวที่กระจายอยู่ให้รวมเป็นกอง ผู้ลากร้องเล่นเพื่อบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการทำงาน
ปัจจุบันนี้หมู่บ้านหัวสำโรงเลิกเล่นเพลงชางชักในท้องนาเสียแล้ว เหตุที่เลิกเล่นเพราะความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์หลั่งไหลเข้าไปสู่หมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านหันไปใช้เครื่องนวดข้าวแทนแรงงาน ควาย ประกอบกับชาวบ้านมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งด่วนขายข้าวให้ได้ราคา
ชาวนาจึงไม่มีเวลามานั่งสงฟาง และเล่นเพลงลากกระดานดัง เช่นเคย อย่างไรก็ตามผู้เล่นเพลงชางชักได้ก็ยังคงพอมีอยู่บ้างที่หมู่บ้านนี้
เพลงประกอบพิธีกรรมที่มีอยู่ในหมู่บ้านหัวสำโรง สระสองตอน และงงยางได้แก่ เพลงแห่นางแมว และเพลงสวดคฤหัสถ์ อันเป็นประเพณีที่เนื่องด้วยการทำมาหากิน และการตาย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยวดยิ่งต่อชีวิตมนุษย์
เพลงแห่นางแมว เพลงแห่นางแมวเป็นเพลงประกอบพิธีกรรมที่เนื่องด้วยสังคมเกษตรกรรมของชาวนาไทยภาคกลาง ซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปีใดฝนล่าหมู่บ้านที่อยู่ห่างแม่น้ำลำคลองได้รับความเดือดร้อนเนื่องด้วยทำนาไม่ได้ เกิดข้าวยากหมากแพงเดือดร้อนทั่วหน้ากัน ชาวบ้านจึงทำพิธีขอให้ฝนฟ้าตก พิธีอ้อนวอนขอฝนจากเทวดาเป็นพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะคนโบราณเห็นว่าพืชพันธ์ธัญญาหารงอกงามด้วยฝนซึ่งเทวดาเป็นผู้ประทาน ปีใดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็คาดกันว่าเทวดาหลงลืม จึงอ้อนวอนขอฝนด้วยการแห่นางแมวและร้องรำทำเพลงให้มีเสียงดังขึ้นไปถึงบนสวรรค์
ผู้ทำพิธีแห่นางแมวจะนำแมวตัวเมียใส่ข้องเป็ด ภาชนะขังปลาซึ่งสานด้วยผิวไม้ไผ่ใช้ไม้คานสอดหามภาชนะนั้นแล้วเดินเป็นขบวนไปตามหมู่บ้าน ผู้เข้าขบวนผู้ใดมีกรับ ฉิ่ง ฆ้อง หรือเครื่องตีอะไรก็ตามก็ใช้ตีให้เกิดเสียงดัง บางคนนำกระดิ่งผูกคอวัวมาแขวนคอหรือผูกคอเพื่อเป็นการบอกกล่าวให้เทวดาทราบถึงความแห้งแล้ง เทวดาจะได้บันดาลให้ฝนฟ้าตก วัวจะได้มีหญ้ามีน้ำกิน คนในขบวนแห่บางคนใช้ใบตองหรือร่างแหนุ่งทับกางเกงชั้นในขาก๊วย การแห่นางแมวของชาวบ้านละแวกนี้แปลกไปจากหมู่บ้านอื่น กล่าวคือผู้แห่นางแมวจะต้องมีหัวหน้าเป็นผู้ร้องนำ คนที่เหลือในขบวนเป็นลูกคู่ ถ้าหัวหน้าเป็นหญิงก็จะบอกกล่าวผู้หญิงด้วยกันมาเข้าขบวนแห่ ในทำนองเดียวกันถ้าหัวหน้าเป็นชายผู้เข้าขบวนก็มักจะเป็นชาย ชาวบ้านกลุ่มนี้แห่นางแมวในตอนกลางคืนแม้ขณะนี้ไฟฟ้า ยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน การแห่นางแมวก็คงทำเหมือนที่ปู่ย่าตายายเคยทำกันมา กล่าวคือถือไต้ถือไฟกันคนละดวงสองดวง ผู้แห่ถ้าเป็นชายล้วน อาศัยความมืดเป็นเครื่องพราง ผู้เข้าขบวนแห่บางคนก็นุ่งร่างแหทับกางเกงขาก๊วย บางคนก็นุ่งเพียงใบตอง เมื่อขบวนแห่ไปถึงบ้านผู้ใด เจ้าของป้านก็เปิดประตูถือตะเกียงออกมา ผู้แต่งกายน่าหวาดเสียวก็วิ่งไปซ่อนใต้ถุนเรือนเอาต้นเสาบัง และหันหลังให้เจ้าของบ้าน เนื่องจากบ้านในชนบทส่วนใหญ่ เป็นเรือนชั้นเดียวใต้ถุนสูง ขณะที่ขบวนแห่ออกเดินไปตามหมู่บ้าน คนในขบวนก็ช่วยกันร้องบทแห่นางแมว เมื่อแวะเข้าไปที่บ้านผู้ใดหัวหน้านางแมวก็จะร้องด้นไปเรื่อย จนกว่าเจ้าของบ้านจะนำข้าวปลาอาหารหรือสุรามาใส่กระ บุงให้และตักน้ำสาดผู้เข้าขบวน พร้อมทั้งร้องให้ฝนเทลงมา ถ้าบ้านใดไม่ให้ข้าวปลาอาหารก็จะให้เป็นเงินโดยถือว่าเป็นการทำบุญร่วมกัน ขบวนแห่นางแมวก็จะชวนกันเดินไปตามบ้าน สมควรแก่เวลาก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ส่วนข้าวปลาอาหารก็นำมาทำบุญบ้าง รับประทานกันเองบ้าง
ดังได้กล่าวแล้วว่า ชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นกลุ่มชนผู้ใช้ ๒ ภาษา เหตุนี้เองเพลงแห่นางแมวจึงมีเนื้อร้องเป็นทั้งภาษาเขมรและภาษาไทย แต่ต่างกันที่เนื้อร้องเพลงแห่นางแมว ภาษาเขมรเป็นการด้นกลอนเหมือนบทแห่นางแมวลาว ส่วนบทแห่นางแมวไทยมีเนื้อร้องเหมือนหมู่บ้านอื่นๆ ทั่วไปในภาคกลาง ประเพณีการแห่นางแมวยังคงถือปฏิบัติกันอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวนี้ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ การ คมนาคมไม่สะดวก ชาวบ้านจึงยังคงดำเนินชีวิตเยี่ยงบรรพ¬บุรุษ ส่วนเนื้อร้องมีอยู่หลายสำนวน เช่น
นางแมวเอ๋ยขอฟ้าขอฝน     ขอน้ำมนต์รดก้นแมวบ้าง
เสียค่าจ้างไปหาแมวมา        แมวกินหนูให้หนูตายเน่า
ให้มีเหล้าให้เหล้าตายคอย        ใครมีกลอยให้กลอยตายนึ่ง
ผัวใครขี้หึงพึ่งกันไม่ได้            แม่หม้ายเอ๋ยอย่าเพิ่งขายลูก
ข้าวสารยังถูกลูกไม้ยังแพง        ทำตาแดงๆ ฝนก็เทลงมา
ทำตาแดงๆ ฝนก็เทลงมา        เทลงมาเทลงมา
เพลงสวดคฤหัสถ์     เพลงสวดคฤหัสถ์เป็นเพลงสวดที่ เนื่องด้วยการตายของพุทธศาสนิกชน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระภิกษุ ๔ รูปได้รับนิมนต์ให้ไปสวดพระอภิธรรมไนงานศพแห่งหนึ่ง บังเอิญให้ไปตั้งวงสวดศพหน้าโรงลิเก พระที่สวดจึงเพิ่มลูกเล่นถึงขึ้นนำเพลงพื้นบ้านมาร่วมเล่นด้วย และออกท่าร่ายรำให้เข้าจังหวะ การสวดพระเช่นนี้ได้เพิ่มความคึกคะนองมากขึ้นเป็นลำดับ ถึง ขั้นที่กระทรวงธรรมการห้ามปรามภิกษุสามเณรนำการขับร้องมาแทรกการสวดพระ คฤหัสถ์จึงรับมาสวดต่อ จึงเรียกว่าสวดคฤหัสถ์ และคงจะได้แพร่หลายออกไปยังต่างจังหวัด นักสวดในท้องถิ่นคงจะดัดแปลงการสวดให้สอดคล้องกับชีวิตตน เป็นต้นว่า นักสวดบ้านหัวสำโรงมีทั้งชายหญิงปนกันประมาณวงละ ๘-๑๖ คน
นักสวดคฤหัสถ์ที่บ้านหัวสำโรง เป็นกลุ่มนักสวดที่สืบทอดการสวดคฤหัสถ์มาจากปู่ย่าตายายของตน นักสวดสำรับนี้เป็นนักสวดอาชีพซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างไปจากนักสวดสำรับอื่น กล่าวคือนักสวดกลุ่มนี้มีทั้งชายและหญิง และสวดร่วมกันเช่นนี้มาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย อาทิ เช่น บิดานางเผย โสมเมา (นางเผยอายุ ๕๔ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔) เป็นนักสวดร่วมคณะกับ ย่านางบุญยิ่ง สุริวงศ์ (นางบุญยิ่งอายุ ๕๒ ปีใน พ.ศ. ๒๕๒๔) ข้อแตกต่างประการที่สอง คือ จำนวนนักสวดสำรับนี้สวด คราวละ ๘ คน ๑๒ คน หรืออาจจะถึง ๑๖ คนก็ได้ การที่มีนักสวดจำนวนมากและสวดปนกันทั้งชายหญิงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย เหตุที่นักสวดปนกัน จึงไม่ต้องแต่งกายเป็นหญิงดังเช่นนักสวดในกรงเทพฯ
การสวดคฤหัสถ์เป็นการสวดที่เนื่องด้วยการตาย ชาวบ้านหัวสำโรงจะสวดคฤหัสถ์ทุกๆ วันระหว่างการทำบุญเจ็ดวัน ผู้มีฐานะดีมักสวดในวันสวดศพที่ตรงกับวาระวันตาย และสวดในคราวเผาคืน ที่ชักศพขึ้นตั้งบนศาลาอีกคราวหนึ่ง เมื่อจะเริ่มต้นสวดมักสวดสำรับนี้ นั่งล้อมวงรอบตู้พระธรรม กลางวงมีเครื่องบูชาได้แก่กระทงขัน ๕ คือกระทง ๕ กระทง ที่ใส่ข้าวตอกดอกไม้ไม่จำกัดสี ธูป ๕ มัดๆ ละ ๓ ดอก และเทียน ๕ เล่ม ซึ่งจะจุดติดต่อกันตลอดเวลาที่สวด เครื่องบูชาดังกล่าวนี้วางอยู่ในโตกทองเหลือง ส่วนเครื่องยกครูวางอยู่ในจานต่างหาก เครื่องยกครูได้แก่ หมาก พลู ยากินกับหมาก เทียนและดอกไม้ ๕ กำ
พอจะเริ่มต้นสวด นักสวดชาย ๔ คนถือตาลปัตรบังหน้า หนึ่งใน ๔ คนเริ่มต้นตั้งนโมขึ้น ๓ จบ ต่อจากนั้น นักสวดชายก็สวด กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา พร้อมๆ กัน ส่วนนักสวดหญิงไม่สวดทั้ง ๒ บทนี้ นักสวดกลุ่มนี้จะไม่นำตาลปัตรมาเล่นกันดังนักสวดหรือสวดพระในกรุงเทพฯ ที่ใช้ตาลปัตรตีกันเวลาออกมุขตลก หรือใช้หัวแม่เท้าคีบด้าม ตาลปัตรเพื่อบังหน้า ในขณะที่แต่งตัว เพราะถือว่าตาลปัตร เป็นของสูงเกรงว่าจะเป็นบาปจึงไม่นำมาเล่นกันเช่นนั้น พอจบบทสวดอภิธรรมก็นำเนื้อความในพระมาลัย ซึ่งอยู่ในตู้พระธรรมมาสวดนำขึ้นก่อน ต่อจากนั้นก็เริ่มต้นเพลงสวดเพลงแรก นักสวดกลุ่มนี้เริ่มด้วยเพลงเปิดพระโกศ ต่อจากนั้นจะเลือกสวดด้วยเพลงใดก็ได้ เช่น นกขุนทอง ขงเบ้งดูดาว ชาละวัน และเพลงสุดท้ายของการสวดคือเพลงรามสูร เนื้อความในพระมาลัยจะนำมาสวดในตอนท้ายหลังจากจบเพลงรามสูรก็ได้ เครื่องดนตรีใช้เล่นประกอบเพลงสวดได้แก่ระนาด ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้
นักสวดกลุ่มนี้สวดออกสิบสองภาษาเช่นเดียวกับนักสวดในกรุงเทพฯ เพลงสวดออกสิบสองภาษาได้แก่
ขงเบ้งดูดาว    ออกจีน
มะเทิ่งเม้ยเจิง     ออกมอญ
พลายชุมพล    ออกมอญ
พวงมาลัย        ออกไทย
การสวดออกสิบสองภาษานั้นจะมีตัวตุ้ยและตัวภาษาลุกขึ้นมาเจรจาดัดสำเนียงให้เป็นจีนหรือเป็นมอญ เนื้อเพลงสวดนำมาจากวรรณคดีก็มี เช่นเพลงชาละวัน รามสูร และขงเบ้งดูดาว เป็นต้น
สำหรับการสวดออกไทยไม่มีเนื้อร้องตายตัว ผู้สวดจะต้องด้นเนื้อร้องเอง และอาจจะใส่เนื้อร้องเพื่อเย้าแหย่ผู้ฟังก็ได้ เช่น
พวงมาลัย
(ลูกคู่)    พวงมาลัยควรหรือลอยไปจากห้อง    เอ๋ยเจ้าพวงมาลัยควรหรือลอยไปจากห้อง
เจ้าลอยละล่องเข้าในห้องไหนเอ๋ย            เจ้าพวงมาลัยเอย
ทีละดอกดอกเอ๋ยสองดอกห้าดอก        ฉันรักเจ้าดอกมะขวิด
มาเล่นที่ศูนย์สังคีต                    ฉันแสนจะร่าเริงใจเอย
(ลูกคู่)
ตะละดอกเอ๋ย (เอ้าฮ้าไฮ้)        สองดอกสามดอก
ฉันรักเจ้าดอกสาเก        มันสมคะเนเสียจริงนะเอย
(ลูกคู่)
ตะละดอกเอ๋ย (เอาฮ้าไฮ้)    สองดอกสามดอก
ฉันรักเจ้าดอกฟักทอง            วันนี้มาเจอพี่น้องฉันชื่นใจเอย
(ลูกคู่)
ตะละดอกเอ๋ยห้าดอกสิบดอก    ฉันรักเจ้าดอกมะตาด
ถ้าตบรางวัลให้ฉันสักบาท            จะร้องไห้ขาดใจเอย
(ลูกคู่)
ตะละดอกดอกเอ๋ยสามดอก        ฉันรักเจ้าดอกตำลึง
ถ้าได้มาสักสลึง                    จะร้องให้ขาดใจเอย
ฯลฯ
พราหมณี
(สวดหมู่) นางพราหมณ์เจ้าไปตามพี่    เก็บดอกไม้เอ๋ยเก็บสิมาร้อยเล่น
ให้เอ๋ยสิก็เย็นใจ                    เก็บมาร้อยพวงมาลัยใส่หัตถา
(ต้นเสียงชาย) ลูกสาวสิก็ใครโว้ย (ลูกคู่)        นั่งอยู่บนหัวตะพาน
เอวก็กลมนมก็ยานเพียงบั้นเอว            อีแม่ทองสิก็งามทรัพย์
(ลูกคู่) ใครเขาจับของเจ้าจนเหลว        อีแม่ทองทั้งเปลวบั้นเอวเจ้าไว
(ต้นเสียงชาย) มีใครสู่ขอเจ้าแล้วหรือหนอ (ลูกคู่)    มีใครมาขอเจ้าแล้วหรือยัง
อีแม่ทองร้อยชั่งยังดีๆ
(หญิงต้นเสียง) น้ำเอ๋ยสิก็จะกิน    เรือเอ๋ยสิก็จะลอย
(ลูกคู่) พี่มาหลงรักสาวน้อยคอยๆ ไป
หัตถกรรมพื้นบ้าน หัตถกรรมพื้นบ้านเป็นงานสร้างสรรค์ของช่างฝีมือในท้องถิ่น ซึ่งสืบทอดวิธีเรียนจากช่างพื้นบ้านด้วยกัน งานหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นงานฝีมือที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเป็นของตนเอง กล่าวคือประคิษฐ์ขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ชาวบ้านหัวสำโรงสระสองตอนและดงยางเป็นเกษตรกร เหตุนี้หัตถกรรมพื้นบ้านจึงประดิษฐ์ขึ้น เพื่อสนองความต้องการของสังคมเกษตรกรรมและใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น อาทิเช่น ไม้ไผ่ หวาย และกาบหมาก เป็นต้น หัตถกรรมพื้นบ้านที่น่าสนใจของชาวบ้านกลุ่มนี้ คือ
งานไม้ เกวียนเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่สำคัญ ในอดีตชาวบ้านเคยใช้เกวียนเป็นพาหนะหลักในการคมนาคมขนส่งผลิตผลหลักทางเกษตรกรคือข้าว เครื่องมือทำเกวียน เป็นเครื่องมือชิ้นเล็กๆ มีอยู่ ๑๑ ชิ้น ปัจจุบันนี้ไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่พอที่จะทำล้อเกวียนได้ แม้จะมีช่างฝีมือทำเกวียนอยู่ในหมู่บ้านก็ตาม ส่วนครกตำข้าวประเภทต่าง ๆ ที่เคยใช้อยู่ในหมู่บ้านล้วนเป็นงานหัตถกรรมจากไม้ที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความสะดวกสบายทั้งสิ้นก็สูญหายไปจากหมู่บ้านเช่นกัน
เครื่องจักสาน เครื่องจักรสานที่ใช้กันอยู่ในหมู่บ้าน ดังกล่าวนี้ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั้งสิ้น อาทิเช่น ไม้ไผ่ หวาย กาบหมาก เป็นต้น เครื่องจักสานบางชนิดอาทิเช่น พ้อมใส่ข้าวปลูก สานด้วยไม้ไผ่และยาด้วยมูลสัตว์เพื่อป้องกันความชื้นและมิให้เมล็ดข้าวร่วง เครื่องจักสานบางชนิดทำหน้าที่เป็นเครื่องชั่งตวงวัดด้วย อาทิเช่น กะเพาะและสัด เป็นต้น กระชุภาชนะใส่ข้าวไปรับประทานในนา เป็นเครื่องจักสานที่มีรูปร่างงดงามแปลกตา บัดนี้ไม่มีผู้ทำได้เสียแล้ว ในไม่ช้าก็จะกลายเป็นหัตถกรรมที่สูญหาย กระบุง กระจาด กระโล่ กระด้ง และกระทายล้วนเป็นเครื่องจักสานที่มีรูปแบบเฉพาะตัว สานขึ้นอย่างงดงามและจักสานขึ้นใช้ในครัวเรือน ล้วนแต่กำลังจะสูญหายไปจาก หมู่บ้านเหล่านี้เช่นกัน เนื่องจากช่างฝีมือถึงแก่กรรม
เครื่องมือจับปลาที่สานด้วยไม้ไผ่และหวายก็มี เป็นต้นว่าสุ่มปลา สุ่มปลาออและข้องปลา ซึ่งสานด้วยผิวไม้ไผ่มัดด้วยหวายเป็นลวดลายที่สวยยงามและมีโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทาน เครื่องมือจับปลาบางชนิดทำเพื่อจบปลาที่มีรูปร่าง แปลกไปจากปลาทวไป เช่นลันเครื่องดักปลาไหล และตัวโอเครื่องเกี่ยวปลาหลด เป็นต้น
ในด้านสถาปัตยกรรมการจักสานมีบทบาทสำคัญในการปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ไม่น้อย อาทิเช่น การนำไม้ไผ่มาขัดสานเป็นฝาที่เรียกว่าฝาขัดแตะ
เครื่องจักรสานส่วนใหญ่ของชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นการขัดสานเพื่อให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการใช้ประโยชน์ใช้สอยเป็นเครื่องทุ่นแรง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องแข็งแรงทนทาน เหมาะแก่สภาพที่จะนำไปใช้ เครื่องจักสานที่ยกดอกงดงามจึงมีเป็นส่วนน้อย การประดิษฐ์จึงใช้หลัก (form follows functions) จึงนับได้ว่าประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีมือและมันสมอง ซึ่งเป็นเครื่องแสดงพุทธิปัญญาของผู้ประดิษฐ์อย่างไม่ต้องสงสัย
จริงอยู่ ชาวบ้านเหล่านี้แม้เป็นผู้ยากไร้ขาดแคลนทางด้านวัตถุและขาดการศึกษาโดยระบบ แต่เป็นผู้ร่ำรวยศิลปและวัฒนธรรมซึ่งได้รับการถ่ายทอดและสะสมมาเป็นเวลาช้านานหลายชั่วคน ศิลปวัฌนธรรมเหล่านี้กำลังจะสูญหายไป เนื่องจากผู้รู้และช่างฝีมือในหมู่บ้านถึงแก่กรรมไปเป็นจำนวนมาก การถ่ายทอดความรู้พื้นบ้านเหล่านี้ยังไม่สายเกินไปถ้าหากจะสนใจกันอย่างจริงจัง
ด้วยความตระหนักในความสำคัญของวัฒนธรรมพื้นบ้านของตนเอง ชาวบ้านหัวสำโรงและวัดได้ร่วมมือกันสร้างอาคาร “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน” ขึ้น ๑ หลังเพื่อเป็นสถานที่ๆ จะแสดงวิถีชีวิตของคนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ผู้บริหารศูนย์เป็นคณะชาวบ้านซึ่งมีความรักและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของคน และมีนโยบายอันแน่นอน ศูนย์นี้ยินดีที่จะให้ความร่วมมือแก่บุคคลภายนอกที่จะเข้าไปศึกษาเรื่องราวของหมู่บ้านเพื่อศึกษาและรวบรวบข้อมูลเหล่านี้ก่อนที่จะสูญไปกับกาลเวลา จึงเป็นที่หวังได้ว่าชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านของตนเอง
ที่มาโดย:นารี สาริกะภูติ