ต้นไม้ที่ควรปลูกทางทิศหรดี

ทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ให้ปลูกพิกุล ขนุน ราชพฤกษ์ สะเดา

พิกุล
พิกุล (Mimuesopa elengi Linn)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง กิ่งก้านค่อนข้างแจ้แบน คล้ายต้นหว้า
ดอกออกเป็นช่อ เป็นกระจุก ดอกเล็กๆ ขนาดนิ้วก้อย ริมดอกเป็นจักเล็กๆ โดยรอบ มีกลิ่นหอมมันๆ
ผล กลมโต คล้ายละมุดไทย (ละมุดสีดา) แต่เล็กกว่าเล็กน้อย ผลสุกแดงแสด รับประทานเป็นอาหารได้ รสฝาดหวานมัน เป็นต้นไม้ที่ปลูกกันทั่วประเทศ
เนื้อไม้สีขาวแกมแดงเรื่อๆ แก่นสีน้ำตาลแกมแดงเข้ม เสี้ยนตรงเนื้อละเอียดมากและสม่ำเสมอทนทานมาก เหนียว แต่เลื่อยไสกบตกแต่งง่าย ชักเงาได้ดี
ประโยชน์ของไม้
ใช้ทำเสา พื้น รอด ตง ด้ามเครื่องมือ โครงเรือเดินทะเล พวงมาลัยเรือ ไม้นวดข้าว ไถ ครก สาก กระเดื่อง เพลา วงล้อ ส่วนต่างๆ ของเกวียน ด้ามหอก คาน คันธนู คันกระสุน ไม้เท้า ด้ามร่ม หมอนรองรางรถไฟ
น้ำมันที่ได้จากเมล็ด ใช้ทำอาหาร ผสมยาจุดไฟ
ประโยชน์ทางยา
เปลือก ต้มเอาน้ำอม เป็นยากลั้วล้างปาก แก้ปากเปื่อยและปวดฟัน ฟันโยกคลอนหรือเหงือกบวม เป็นยาคุมธาตุ ดอกแห้งป่นทำยานัตถุ์ แก้ไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ แก้ปวดตามร่างกาย แก้ร้อนใน
เมล็ดตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาเม็ดสำหรับสวนทวาร แก้ท้องผูกเป็นพรรดึก
คติความเชื่อ
พิกุล มีพุ่มใบแน่น เหมาะที่จะปลูกไว้บังแดดตอนบ่าย มีประโยชน์ใช้สอยมากมายหลายอย่าง อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเอนกประการ
บางท้องถีนเห็นว่าไม่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้าน ควรจะปลูกตามวัดวาอารามก็มี

ราชพฤกษ์
ราชพฤกษ์ (cassia fistula Linn.)
ราชพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยงๆ ชอบขึ้นตามป่าผลัดใบหรือพื้นที่ที่มีการถ่ายเทน้ำได้
ใบเป็นช่อสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๒๕ ซม. มีใบย่อยรูปป้อมๆ หรือรูปไข่ ๓-๖ คู่
ดอกเป็นช่อยาว ๒๐-๔๕ ซม. กลีบรองกลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๕ กลีบ มักหลุดร่วงง่าย กลีบดอกยาวกว่ากลีบรอง มีกลีบเป็นรูปไข่ ๕ กลีบ ตามพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน เกสรตัวผู้มีขนาดต่างกัน ๑๐ อัน ก้านอับเรณูโค้งงอนขึ้น
ผล เป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยงๆ อาจยาวถึง ๕๐ ซม. ความกว้าง ของฝักเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๒.๐-๒.๕ ซม.
ฝักอ่อนสีเขียวและออกสีดำเมื่อแก่จัด ในฝักมีผนังเยื่อบางๆ กั้นเป็น ช่องๆ ตามขวางของฝัก และตามช่องเหล่านี้มีเมล็ดแบนๆ สีน้ำตาลอยู่
ประโยชน์ของไม้ ทำเสา เสาสะพาน สากตำข้าว ล้อเกวียน คานเกวียน คันไถ เปลือกมีน้ำ ฝักใช้ฟอกหนังได้ ทำส่วนต่างๆ ของเกวียน ทำด้ามเครื่องมือ ทำกลอง โทน รำมะนา
ประโยชน์ทางยา
เนื้อในฝัก รับประทาน ๘ กรัมเป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟอกหรือชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ
ดอก แก้ไข้ เป็นยาระบาย
เปลือกและใบ บดผสมทาฝีและเม็ดผื่นคันตามร่างกาย
ใบ ต้มรับประทานเป็นยาระบาย
ราก ฝนทา รักษาขี้กลากและเป็นยาระบาย
คติความเชื่อ
จากความสวยงามของดอกประกอบกับความสำคัญอื่นๆ ของพันธุ์ไม้นี้ กล่าวคือ เป็นที่ยอมรับนับถือกันมาแต่โบราณกาลว่า
ราชพฤกษ์หรือชัยพฤกษ์ เป็นไม้ที่มีคุณค่าสูง เป็นมงคลนาม ซึ่งชาวไทยแต่เดิมใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ อาทิ ในพิธีลงหลักเมือง จะใช้เสาแก่นชัยพฤกษ์ ยอดธงชัยเฉลิมพลของทหาร และคฑาจอมพลก็ใช้แก่นชัยพฤกษ์ อินธนูของข้าราชการพลเรือน ก็ปักดิ้นทองเป็นรูปช่อชัยพฤกษ์
ฝักคูณ ราชพฤกษ์ หรือชัยพฤกษ์ ใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีค่ายิ่งตามตำราแพทย์แผนโบราณ และที่สำคัญที่สุด คือ ดอกที่ออกเป็นช่อเหลืองอร่ามเต็มต้นนี้มีความหมายยิ่งแก่พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติของเรา
ด้วยความสำคัญของพันธุ์ไม้ดังกล่าวนี้ คณะกรรมการพิจารณาต้นไม้ และสัตว์แห่งชาติที่ได้แต่งตั้งจาก ท่านผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน จึงได้พิจารณาลงมติ เป็นเอกฉันท์ให้ชัยพฤกษ์หรือราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำชาติไทย และมตินี้ได้เป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนชาวไทยทั่วไป

ขนุน
ขนุน (Artocarpus hetcrophyllus, Lamk)
ขนุน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ใบดก หนา ทึบแข็ง ต้นสีเทาหม่น แตกกิ่งก้านสาขาร่มดี มีผลกลมรูปไข่ขนาดต่างๆ กัน ผิวของเปลือกเป็นหนามแหลมเล็กตลอดผล
เนื้อในเป็นยวงๆ มีรสหวาน ตั้งแต่ผลอ่อนจนถึงผลแก่ เมล็ดและซังรับประทานเป็นอาหารได้ทั้งสิ้น ปลูกกันทั่วประเทศ
ประโยชน์ทางยา
ก. ขนุนหนัง ดอกตัวผู้ที่ห้อยยาว เรียกว่า “ส่า” ตากแห้งเป็นชุดจุดไฟได้ สุมแทรกน้ำปูนใสทาลิ้นเด็ก แก้ซางซุม ละอองซาง
แก่นขนุน ใช้ผสมยากล่อมโลหิต แก้ปวดมูกเลือด ท้องร่วง
ข. ขนุนละมุด
ราก รับประทานแก้ท้องร่วง แก้ไข้
ใบ เผาไฟกับซังข้าวโพดให้ดำเป็นถ่าน แล้วใส่รวมกับก้นกะลามะพร้าวขูด ทำยาโรยรักษาบาดแผล
ไส้ขนุนละมุด (สุม) แก้พิษกาฬ พิษไข้
คติความเชื่อ
ตามชนบทเชื่อกันว่าปลูกขนุนในบริเวณบ้านแล้วจะมีคนสนับสนุนหรืออุดหนุนจุนเจือ
ขนุนพันธุ์ดี กิ่งทาบกิ่งหนึ่งสนนราคาเป็นร้อยเป็นชั่ง มีอยู่เพียงต้นเดียว ทาบกิ่งขาย ปีหนึ่งได้เงินเป็นเรือนพัน เรือนหมื่น ขนุนดังๆ รับรองอยู่ถึงไหนมีแฟนๆ ตามไปอุดหนุนแน่

สะเดา
สะเดา (Azadirachta indica, A. Juss, var. siamensis, Valeton)
สะเดาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและป่าแดงทั่วๆ ไป เว้นแต่ทางภาคใต้ ปลูกกันตามเรือกสวนทั่วไป
ใบ คล้ายเลี่ยนใบใหญ่ ริมใบเป็นจักรอบใบ
ดอก ออกเป็นช่อสีเขียวเหลือง
เปลือก เป็นร่องน้อยๆ
ดอกตูมและใบอ่อน มีรสขมใช้ลวกน้ำปลาหวาน รับประทานเป็นผักได้
ผล กลมชิดขนาดผลองุ่น มีรสขมจัดมาก
ประโยชน์ของไม้ ใช้ในการก่อสร้างบ้านเมือง ทำเสา ฝา เพดาน เกวียน เครื่องเล่น หีบใส่เสื้อผ้า เครืองมือกสิกรรม ทำพานท้ายและรางปืน
น้ำมันสะเดา กลั่นจากเมล็ดใช้จุดตะเกียง ปรุงเครื่องสำอางยางให้สีเหลืองเปลือกให้สีแดงใช้ย้อมผ้า
ใบ มีสารที่มีฤทธิ์ ในการกำจัดแมลง
ประโยชน์ทางยา
ดอก บำรุงธาตุ
ยาง ดับพิษร้อน
เปลือก รสฝาดสมาน แก้ท้องเดิน มูกเลือด
ราก แก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง
ผลอ่อน ใช้ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะพิการ
ก้านใบ ปรุงเป็นยาต้ม แก้ไข้ทุกชนิด
คติความเชื่อ
บางท้องถิ่นเชื่อกันว่า กิ่งและใบสะเดาสามารถป้องกัน ภูตผีปีศาจ
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ต้นไม้ที่ควรปลูกทางทิศใต้

ทิศทักษิณ (ใต้) ปลูกไม้ผล มีมะม่วง มะพลับ ตะโก

มะม่วง
มะม่วง (viangifera indica Linn.)
มะม่วง เป็นต้นไม้เก่าแก่ชนิดหนึ่ง ก่อนพุทธกาล มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบโต ยาวค่อนข้างหนา ออกดอกตามปลายยอด เป็นช่อสีขาวอมเหลือง ผลกลม หัวโต ก้นแหลม ผลดิบมีรสเปรี้ยว แก่จัดมีรสค่อนข้างมัน ผลสุกจัดมีรสหวาน รับประทานเป็นอาหารได้
ใบอ่อน ดอก รับประทานเป็นผักได้
ผลอ่อนเล็กๆ เรียกมะม่วงขบเผาะก็รับประทานเป็นผักได้
มะม่วงมีหลายพันธุ์หลายชนิด แต่ละพันธุ์มีรสอร่อยไปคนละอย่าง นิยมปลูกกันตามบ้านและสวนทั่วประเทศ
ประโยชน์ทางยา
ผลสุก รับประทาน เป็นยาบำรุงกำลังและระบายอ่อน เป็นยาขับปัสสาวะ
เปลือกผลดิบ เป็นยาคุมธาตุ
ดอก เปลือก เนื้อในเมล็ด รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด แก้อาเจียน
ใบ เผาเอาควัน สูดรักษาโรคเกี่ยวกับคอ และไอ
ยางจากผลและต้น ผสมกับน้ำส้มหรือน้ำมัน ทาแก้คัน แก้โรคผิวหนัง
คติความเชื่อ
คนไทยแต่ก่อนช่างจดช่างจำ เป็นผู้มีความกตัญญู รู้คุณบิดา มารดา ปู่ ย่า ตายาย ครูบาอาจารย์ ผู้มีอุปการะคุณ ไม่ว่าผู้นั้นหรือสิ่งนั้นจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เดรัจฉาน แม้กระทั่งรุกขชาติ สำหรับมะม่วง คงจะนึกถึง สวนอัมพวัน เมื่อครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปครั้งพุทธกาลก็เป็นได้

มะพลับ
มะพลับ (Diospyros siaraensis, Hachr.)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ใบโตยาว ลักษณะคล้ายใบมะม่วง ผลกลมคล้ายผลมังคุดหรือตะโกใบย่อมๆ มีขึ้นตามป่าแดง ป่าเบญจพรรณทุกภาค ผลสุกมีรสฝาด หวาน รับประทานเป็นอาหารได้ ผลให้สีน้ำตาล ใช้ยอมผ้า แห หนัง อวน
มะพลับมีอยู่ ๓ ชนิด คือ มะพลับใหญ่ มะพลับเล็ก และมะพลับดง

ประโยชน์ทางยา
เปลือกต้นมีน้ำฝาด ใช้เป็นยาห้ามเลือด และสมานบาดแผล รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ลงแดง แก้ปวดเบ่ง เปลือกต้นย่างให้เหลืองกรอบ ต้มเอาน้ำรับประทาน แก้กามตายด้าน เป็นยาบำรุงความกำหนัด
คติความเชื่อ
คนโบราณ คงมุ่งประโยชน์ใช้เป็นยารักษาโรคมากกว่าจะปลูกไว้เพื่อเป็นอาหาร
ตะโก (Diospyros dictyoneura)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบโตยาวสีเขียวสด ใบดก หนาทึบ ใบหนา ผลกลมคล้ายผลพลับ ขั้วผลมีจานรองรับผลสุกรับประทานได้ ผลดิบมียางมาก เปลือกดำมีรสฝาดเฝื่อน ยางใช้ย้อมแห อวนและหนัง ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณทั่วไป
ตะโก มี ๒ ชนิด คือ กะโกนา และกะโกสวน

ตะโกนา
ก. ตะโกนา (Diospyros rhodocalyx, Kurz.)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลกลมเล็ก เปลือกต้นดำ ผลเล็กเหมือนผลมังคุดหรือผลพลับ ผลสุกรับประทานเป็นอาหารได้ มีปลูกกันตามบ้านหรือเรือกสวนทั่วไป ใบ กลมโตขนาดใบข่อย มีขึ้นประปรายบ้างตามป่าดอน นิยมทำเป็นไม้ดัด ผลดิบมียางใช้ย้อมแห อวนได้
ประโยชน์ทางยา
รสฝาด เฝื่อนขม ผลแก้ท้องร่วง ตกโลหิต แก้มวน แก้กระษัย ฝีเน่าเปื่อย
เปลือกผล เผาเป็นถ่านแช่น้ำรับประทานขับระดูขาว ขับปัสสาวะ
เปลือกผล และเนื้อไม้ของต้น รับประทานเป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงความกำหนัด แก้โรคกามตายด้าน
เปลือก เข้ายามะเร็ง เผาเป็นถ่าน มีปฏิกิริยาเป็นด่าง แช่น้ำรับประทานขับระดูขาว ขับปัสสาวะ ต้มกับเกลือ รักษารำมะนาด แก้ปวดฟัน เป็นยาอายุวัฒนะ

ตะโกสวน
ข. ตะโกสวน (Diespyros pergrina, Gurke)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบโตยาวคล้ายใบชมพู่ไทย ผลแดง แต่ใบหนากว่ามาก ผลตเหมือนตะโกนา แต่โตและยาวกว่า ผลสุกรับประทานเป็นอาหารได้ ผลดิบมียางฝาดมาก ใช้ย้อมแหและอวนได้ดี แต่สู้ยางผลมะพลับไม่ได้ เป็นไม้เกิดตามป่าเบญจพรรณและปลูกกันตามเรือกสวนไร่นาทั่วไป ยางในผลมีน้ำฝาด
ประโยชน์ทางยา
เปลือกและผลอ่อน รับประทานแก้ท้องร่วง แก้อาเจียนได้ดี ต้มเอาน้ำชะล้างบาดแผล รับประทานแก้บิด
คติความเชื่อ
ตะโกเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ทนทานต่อความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศ มีประโยชน์ทางยา บรรพบุรุษของเราคงเห็นเป็นคุณมากกว่าโทษ จึงปลูกเอาไว้ใช้ประโยชน์
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ต้นไม้มงคลที่ควรปลูกทางทิศอาคเนย์

ทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)

ปลูก สารภี ยอ กระถิน

ต้นสารภี
สารภี(ochrocarpus siamensis)เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบทั่วประเทศ เนื้อไม้สีน้ำตาลแกมแดง เสี้ยนตรงสมํ่าเสมอและถี่เนื้อละเอียดแข็ง ค่อนข้างทนทาน เลื่อยผ่า ไสตกแต่งง่าย ใบหนาแข็งรูปไข่ยาว มีสีเขียวเข้มเป็นมัน พุ่มใบดก ไม่ผลัดใบ
ใบมียางขาวดอกเล็กเป็นช่อสีเหลือง ดอกออกเป็นช่อสวย มีกลิ่นหอม
ผลกลมยาวลักษณะคล้ายลูกมะกอก เปลือกหนา รับประทานได้ แต่ไม่มีรสอร่อยอย่างใด
เนื้อไม้ทำปืน ฝา รอด ตง เสา ฯลฯ
ประโยชน์ทางยา
ดอกปรุงเป็นยาหอมชูกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงเส้นประสาท แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย สารภี เป็นไม้ไทยๆ ที่มีอายุยืน

ยอบ้าน
ยอ (ยอบ้าน) (Morinda citrifolia)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ใบหนาแข็งสีเขียวเข้ม ใบโต ขนาดฝ่ามือ ก้านใบเป็นสี่เหลี่ยม ใบมีรสขมจัดใช้ปรุงเป็นผักรองห่อหมก หรือแกงอ่อมรับประทานเป็นอาหารได้
ดอกเล็กๆ สีขาว มีผลกลมยาว โตขนาดผลไข่ไก่ เป็นตารอบผล เป็นปุ่มๆ ตลอดผล
ผลอ่อนสีเขียว พอแก่จัดสีขาว มีกลิ่นฉุนมาก คนแก่ชอบรับประทานผลสุก มีปลูกตามบ้านทั่วๆ ไป
สีจากเนื้อไม้ ใบ เปลือกราก ให้สีเหลืองแกมแดง ใช้ย้อมผ้า
ประโยชน์ทางยา
-ผลอ่อน รับประทานเป็นยาแก้คลื่นเหียน อาเจียน
-ผลสุกงอม เป็นยาขับระดูสตรีและขับลมในลำไส้
-ใบ อังไฟพอตายนึ่ง ปิดหน้าอก หน้าท้อง แก้ไอ แก้ม้ามโต แก้จุกเสียด แก้ไข้
-ใบสด ตำพอกศีรษะเป็นยาแก้เหา
-ใบสด ลวกน้ำข้าวร้อนๆ ปิดพอกแผลกลาย รักษาแผล
-ใบสด ย่างไฟพอตายนึ่ง ปิดตามแขนขา แก้อาการปวดเมื่อย

ยอป่า
ยอป่า (Morinda coreia, Ham.)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ต้นใบกิ่งก้าน คล้ายกับยอบ้าน ผิดกันแต่ยอป่าใบแคบ ยาวเรียวกว่า มีผลกลม ตาตื้น ผลเกลี้ยงไม่มีปุ่มนูนเหมือนยอบ้าน ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณทั่วๆ ไป เว้นแต่ทางภาคใต้
โบราณท่านปลูกใกล้บ้าน เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการประกอบอาหารและเป็นยารักษาโรคบางชนิด เหตุผลที่เกี่ยวกับเคล็ดลับความเชื่อคงหวังให้ผู้คน “สรรเสริญ เยินยอ” หรือ “ยกยอ ปอปั้น” ในสิ่งที่ดีงาม

กระถิน
กระถิน (Leucaena glauca, Benth)
เป็นไม้พุ่ม ถิ่นเดิมของอเมริกา ใบเล็กย่อย ละเอียด ลักษณะใบคล้ายมะขาม ดอกเป็นดอกรวมกลมโตเท่าผลมะไฟ เป็นฝอยฟูคล้ายดอกกระทุ่มสีขาวล้วน ฝักแบนยาวประมาณ ๔ นิ้ว กว้างครึ่งนิ้ว มีเมล็ดเรียงอยู่ข้างในฝัก แบนคล้ายเมล็ดแตงกวา ปลูกกันทั่วไปเป็นแนวรั้วบ้าน
ยอดอ่อนและฝัก รับประทานเป็นผักสดได้ดี มีกลิ่นคล้ายชะอม
ประโยชน์ทางยา
รับประทานแก้ท้องร่วง สมานแผล ห้ามเลือด
คติความเชื่อ บางแห่งเชื่อกันว่าป้องกันเสนียดจัญไร
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ไม้มงคลที่ควรปลูกทางทิศตะวันออก

ต้นไม้กับความเชื่อ
คนไทยรักต้นไม้ เล่นต้นไม้มาช้านาน มีวิธีเล่นที่ผิดแผกแตกต่าง จากคนชาติอื่นโดยมิได้ มุ่งเอาแต่ความสวยงามตามธรรมชาติเท่านั้น หากแต่มีกรรมวิธีในการเล่นที่เต็มไปด้วยศิลปและศาสตร์อย่างลึกซึ้งละเมียดละไม ทุ่มเทความรัก ทนุถนอม ให้ความชื่นชมเอ็นดูแนบแน่นในจิตใจ ยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและวิญญาณ หรือนับเนื่องเป็นสมาชิก หน่วยหนึ่งของครอบครัวตนก็ว่าได้
บรรพบุรุษของเรา ท่านจะทำจะเล่นสิ่งใด มักจะทำเป็นกิจจะลักษณะ พยายามศึกษาค้นคว้าทดลองหาความรู้ และประสบการณ์จากสิ่งนั้นๆ อย่างถึงแก่นแท้แห่งความจริง การเล่นต้นไม้ก็เช่นกัน ท่านสามารถจำแนกแยกแยะ แบ่งเป็นพวกเป็นชนิด เรียนรู้ลักษณะนิสัยความเป็นอยู่ และประโยชน์สรรพคุณจากต้นไม้ทุกแง่ทุกมุม เพื่อนำมาผนึก ผสมผสาน ปรับเข้ากับชีวิตประจำวันได้อย่างสนิทสนม เป็นต้นว่านำมาใช้เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตอย่างผาสุก อันได้แก่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ รู้จักนำมาประดับตกแต่งอาคารเคหะสถานเพื่อความสวยงาม ความรื่นรมย์ให้เป็นอาหารตาอาหารใจ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถนำไปใช้ทางคงกระพันชาตรี ทางโชคลาภ เมตตามหานิยม ให้คนหลงใหลรักใคร่ ใช้ในทางคุ้มเกรง ป้องกันภัยต่างๆ เล่นจนแม้กระทั่งชื่อของต้นไม้ อันเชื่อว่า จะเกิดความเป็นสิริมงคล ยังความสุขสงบร่มเย็นมาให้แก่ตนเองและครอบครัว
กรรมวิธีในการปลูก การเตรียมดิน ให้ปุ๋ย ให้น้ำ ดูแลรักษา ตลอดจนการนำส่วนของต้นไม้ไปใช้มากไปด้วยพิธีรีตองประกอบด้วยเวทย์มนต์หรือคาถาอาคมกำกับ โดยเชื่อว่าส่วนของพืชนั้นจะเกิดฤทธานุภาพ (ขลัง) บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ยังความสัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่ตนปรารถนาได้ ครั้นประสบความสำเร็จเข้า ความรัก หลงใหล เชื่อถือ ศรัทธาก็เกิดขึ้นกระชับแน่นในจิตใจ คุณฤทธิ์อภินิหารต่างๆ นั้น เป็นความเชื่อระดับบุคคล บางสิ่งก็พิสูจน์ได้ แต่มีบางอย่างที่ยังหาเหตุผลไม่ได้
คนสมัยก่อนนั้น ท่านจะประกอบกิจการงานใด ไม่ว่าจะเป็นงานพิธี หรือกิจส่วนตัวก็ตาม ก็มักจะถือเคล็คเชื่อโชคลาง กำโชคกำชัยให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองเอาไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการพูดจา กินอยู่หลับนอน การแต่งกาย แม้กระทั่งการปลูกต้นไม้ ท่านก็ยังเลือกเอานามที่เรียกขานให้บังเกิดสิริมงคล หาฤกษ์ดูยาม เลือกวันเวลาและทิศทางปลูกให้ถูกต้องโฉลก ใครจะร่ำลือว่าอะไรที่ไหนดีที่ไหนดัง ถึงจะต้องบากบั่นดั้นด้นไป สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายซื้อหามาด้วยทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใดก็ตาม เป็นต้องสืบเสาะหามาไว้ในครอบครอง
ในยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์ยังรู้จักและเข้าใจธรรมชาติน้อย หาเหตุผลได้ยาก เชื่อถือในสิ่งต่างๆ ที่มองไม่เห็น ความเชื่ออยู่เหนือเหตุผล ความเชื่อดูช่างมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์มากทีเดียว จนดูกลายเป็นกลัว ทางออกเฉพาะหน้าก็คือพยายามประจบประแจง เอาอกเอาใจ มิให้ สิ่งที่น่ากลัวนั้นโกรธและลงโทษตนได้ สรรหาสิ่งของที่ถูกใจมาเซ่นไหว้เคารพบูชาให้มาเป็นพวกเดียวกับคน อ้อนวอนขอประโยชน์และภาวนาขอให้ช่วยเหลือในสิ่งที่พึงประสงค์ ซึ่งแต่ละท้องถิ่น อาจมีความเชื่อถือคล้ายคลึงหรืออาจจะแตกต่างกันออกไป ถึงจะเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม ความเชื่อหาได้ลดราลงไม่แม้แต่น้อย กลับเพิ่มมากกว่าเก่าด้วยซ้ำ
บรรพบุรุษไทยเขามีความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้กันมานานแล้ว ดังจะเห็นได้จาก “ตำราพรหมชาติ” ชึ่งชี้แนะการปลูกต้นไม้รอบบริเวณบ้านไว้ โดยเชื่อว่าต้นไม้อะไรบ้าง ปลูกแล้วจะเกิดความเป็นสิริมงคลและอัปมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ผู้เขียนเห็นเป็นเรื่องน่าสนใจ น่าจะทำความเข้าใจกันให้กระจ่างเสียที มิฉะนั้นจะเป็นความลับดำมืดต่อไปอย่างไม่รู้ขอบเขตไม่มีที่สิ้นสุด
ไม้มงคล
ไม้มงคล หมายถึง ต้นไม้ที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนและเอาเคล็ดจากชื่อในการเรียกขาน หรือมีผู้ทักให้เสียงที่เปล่งออกมาเป็นสิริมงคลแก่ตน ผู้เป็นเจ้าของและครอบครัว ดังจะได้กล่าวต่อไป
๑. ทิศบูรพา (ตะวันออก) โบราณท่านให้ปลูกไผ่สีสุก กุ่ม มะพร้าว วิเคราะห์กันตามเหตุผล

ไผ่สีสุก
กอไผ่สีสุก (Bambusa spp.) ช่วยพรางแสงแดดยามเช้าด้านตะวันขึ้น ไผ่สีสุกลำต้นเป็นไม้ขนาดกลางไม่ใหญ่โตเหมือนไผ่ตงหรือไผ่บง หรือเล็กกว่าไผ่รวก กอและพุ่มใบของไผ่สีสุกไม่แน่นทึบจนเกินไปเหมือนไผ่อื่น อีกทั้งยังได้อาศัยไม้จักสาน กระบุง กระจาด ตะกร้า เครื่องใช้ต่างๆ ได้
เหตุผลประการสำคัญ ชื่อเป็นมงคลนามกล่าวคือ เพื่อให้ “ความมั่งมี-สีสุก” มีอันจะกิน “อยู่เย็นเป็นสุข” หรือมีอนาคตที่สุกใสอะไรทำนองนั้น

กุ่มบก
กุ่ม (Crataeva religiosa)
เป็นต้นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๑๐-๒๐ เมตร ใบมี ๓ แฉก ชอบขึ้นตามข้างลำธาร แต่ไม่สู้พบมากนัก ยอดอ่อนใช้ปรุงอาหารได้ แต่ไม่นิยมนำมาปรุงสดๆ ต้องดองน้ำเกลือตากแดดทิ้งไว้ประมาณ ๒-๓ วันแล้วจึงนำไปปรุงอาหาร จะผัดหรือแกงก็ได้
กุ่มมี 2 ชนิด คือ กุ่มบก กับ กุ่มน้ำ กุ่มบก เป็นไม้เกิดตามป่าดอน ปลายใบป้อมๆ มีใบย่อย 3 ใบ คล้ายใบทองหลาง เปลือกต้นหนา สีขาวหม่นๆ ช่อดอกเป็นช่อแบน เช่นพุ่มอื่นๆ ผลกลมคล้ายผลกระทิง โตขนาดลูกหมากแก่สุกสีแดงนกชอบกิน ใบอ่อนดองรับประทานได้
ประโยชน์ทางยา
ใบต้มรับประทานบำรุงหัวใจ ใบสดตำทารักษาโรคผิวหนัง เปลือกต้มรับประทานเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่น มักใช้รวมกับเปลือกกุ่มน้ำเปลือกทองหลางใบมัน
กุ่มนํ้า เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมถึงขนาดกลาง ใบแคบเขียวสด หนาทึบใบยาว ปลายแหลม ขึ้นตามริมน้ำ ลำคลอง ห้วยหนองทั่วไป เว้นทางภาคใต้ ดอกและใบอ่อน ใช้ดองเปรี้ยวรับประทานเป็นผักได้
เนื้อไม้สีขาวนวลแกมเหลืองอ่อน เมื่อยังสดเหนียวมาก อ่อนพอควร
ประโยชน์ทางยา
รากแช่น้ำรับประทานเป็นยาธาตุ เปลือกต้มรับประทานเป็นยาตัดลม ขับลมในลำไส้
สมัยก่อนคงปลูกไว้เพื่อใช้ยอดอ่อนและดอกเป็นอาหาร ใช้ใบสด เปลือกและรากปรุงยารักษาโรค ผู้เขียนเคยเห็นดอกกุ่มออกเต็มต้น ดูสวยงามติดตา จึงขออนุโลมประโยชน์ ในแง่ปลูกกันเป็นไม้ดอกไม้ประดับอาคารบ้านเรือนอีกอย่างหนึ่ง
คิดว่าคนโบราณคงปลูกไว้เอาชื่อเป็นเคล็ดเช่นเดียวกับไผ่สีสุก เมื่อมั่งมีสีสุกแล้วก็คงจะหวังให้เก็บเงินไว้ เป็นกลุ่ม เป็นก้อน มีฐานะเป็นปึกแผ่นกระมัง

มะพร้าว
มะพร้าว (Cocos nucifera, Linn.)
ทางใบมะพร้าวพรางแสงได้ดี เช่นเดียวกับกอไผ่ทางตากแห้งเป็นเชื้อเพลิงหุงข้าว ก้านในทำไม้กวาด ไม้กลัด ใช้เสียบดอกมะลิปักแจกันบูชาพระ ใบอ่อนห่อข้าวต้มมัด ผลอ่อน-แก่และน้ำเป็นอาหาร กาบทำเชือก หุ้มกิ่งตอน สุมควันไล่ยุง กะลาทำเชื้อเพลิงหุงหาอาหาร ทำกะโหลก กระบวยตักน้ำ ทำทะนานตวงข้าวสาร น้ำมะพร้าวอ่อนมีฮอร์โมน ดื่มช่วยให้เด็กในครรภ์แข็งแรง น้ำมะพรไวจากผลแก่ใช้ดองผัก
ชาวสวนหลายแห่งนิยมปลูกมะพร้าวเป็นแนวรอบที่เพื่ออาศัยรากป้องกันดินพังทลาย และเป็นแนวกำบังลม
ประโยชน์จากมะพร้าวมีมากมายสุดพรรณนามีหรือคนสมัยก่อนจะไม่นำมาปลูกไว้ใช้สอยในชีวิตประจำวัน
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

สมุนไพรในครัว

สมุนไพรในครัว
บรรพบุรุษของเรา ท่านรู้จักพืชพรรณธัญญาหารและสามารถนำมาประกอบอาหารได้ดีกว่าคนรุ่นเรา นอกจากจะนำมาใช้เป็นอาหารในชีวิตประจำวันแล้ว ยังใช้เป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากอาหารที่บริโภคแต่ละมื้อแต่ละวัน ซึ่งล้วนแต่เป็นยาแทบทั้งสิ้น
ในฤดูร้อน อาหารจะเป็นพวก ฟัก แฟง แตงบวบ มะระ น้ำเต้า ผักบุ้ง ผักกะเฉด เป็นต้น ที่รับประทานแก้ร้อนใน ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ลดอุณหภูมิในร่างกาย ปรับอุณหภูมิภายในให้เท่ากับภายนอกราวกับ นำเอาเครื่องปรับอากาศสอดใส่เข้าไว้ในร่างกายก็ไม่ปาน ถึงอากาศ ภายนอกจะร้อนระอุ แต่ทว่าร่างกายเย็นสบาย ไม่อ่อนเพลียเลยแม้แต่น้อย
ย่างฤดูฝน คนส่วนมากมักจะเป็นหวัดคัดจมูก น้ำมูกไหล อย่ากระนั้นเลย จำต้องหาอาหารที่มีรสเปรี้ยวรสแซ่บ เช่น ต้มยำ ต้มส้ม แกงส้ม ต้มโคร้ง โฮกอือ แกงเลียง พล่า ยำ ลาบ ฯลฯ ซึ่งต้องใส่ หัวหอม พริก กะเพรา โหระพา แมงลัก มะกรูด มะนาว หรือส้มต่างๆ ช่วยขับลมในลำไส้รักษาธาตุและเพิ่มวิตามินซีให้เกิดภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย แก้ไข้กระวนกระวาย คลายหวัดได้ชะงัด
เข้าฤดูหนาว ลมหนาวโชยพาไข้เปลี่ยนฤดูแวะมาเยี่ยมเยียน แม่บ้านจัดแจงแกงส้มดอกแค ลวกยอดอ่อนและดอกจิ้มน้ำพริก ลวกดอกสะเดาจิ้มน้ำปลาหวาน แกงขี้เหล็ก เป็นการตัดไข้หัวลมเอาไว้ก่อน
เห็นไหม… ความอัจฉริยะของบรรพบุรุษไทยเรา ท่านรู้จักนำเอาพันธุ์ไม้หลายหลากชนิดมาบริโภคเป็นอาหาร แล้วยังสามารถใช้ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย เรียกว่า “กันสองชั้น” หรือกระสุนนัดเดียว ยิงนกได้สองตัว
ใบไม้ต่างๆ (ยอดอ่อน) เช่น เสม็ดแดง แต้ว หัวปลี มะกอกน้ำหวาน ฯลฯ ที่ใช้เป็นผักสดจิ้มน้ำพริกกะปิ กะปิคั่ว น้ำพริกปลาร้า หรือหลนต่างๆ นั้น ต่างก็มีรสฝาด (เป็นด่าง) จะเข้าไปทำปฏิกริยากับกรดในกระเพาะอาหาร ให้มีสภาพเป็นกลางแล้ว ยังช่วยในการย่อยและขับถ่ายได้ดี ทำให้ท้องไม่อืดเฟ้อเรอเปรี้ยว หรือมีแก๊สในกระเพาะมาก ไม่จำเป็นต้องหายาช่วยย่อยแก้ท้องอืด ขับลมขับแก๊สมารับประทานอาหารเหมือนกันเดี๋ยวนี้ที่นิยมอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แต่รับประทานผักน้อย
อาหารไทยหลายชนิดที่เข้าพวกหอม กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ ผักชี คึ่นฉ้าย ชะอม เปราะหอม มะกรูด สะระแหน่ เป็นต้น ล้วนแต่สรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด เฟ้อ บำรุงธาตุ ช่วยผายลม ทำให้ท้องสบาย ขับถ่ายสะดวก
มนุษย์เผ่าไทย เป็นเผ่าที่มีอารยธรรมเก่าแก่ชาติหนึ่ง มีประวัติสืบทอดอันยาวนานบนผืนแผ่นดินแห่งนี้มาหลายชั่วอายุคน มีขนบธรรม เนียม ประเพณีและวัฒนธรรมทางด้านต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอันน่าภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม นาฏกรรม การสังคีต หรือความเป็นอยู่ในเรื่องปัจจัยสี่ ล้วนแต่มีความเป็นมาน่าสนใจไม่แพ้ชนชาติอื่น และการใช้สมุนไพรในครัวบำบัด รักษาโรคนั้น มีความพิสดารมิใช่น้อย
ปู่ย่าตาทวดของเรา ท่านรู้จักผสมผสานสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว นำมาผนึกเข้าในชีวิตประจำวันได้อย่างวิเศษช่างสังเกต ช่างจดจำ พากเพียรศึกษา แล้วปรับธรรมชาติ ให้กลมกลืนกับชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างเหมาะสม ดังจะเห็นได้จากอาหารการกินแบบไทยๆ
หากจะย้อนไปดูอาหารไทยแต่ละอย่าง พิจารณากันให้ถ่องแท้ มิเพียงแต่จะมีคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น ยังได้สรรพคุณทางยาอีกด้วย เช่น
แกงป่าปลาดุก เครื่องแกงมีพริก ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผิวมะกรูด กะปิ กระชาย ใบกะเพรา ซึ่งเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้หวัดคัดจมูก ลดไขมันในเส้นเลือด เพิ่มความกำหนัด เจริญธาตุ เจริญอาหาร แก้โรคเบื่ออาหารในเวลาเดียวกัน
แกงเลียง เป็นยาประสระน้ำนมในหญิงลูกอ่อน ขจัดหวัด เรียกน้ำย่อย คุมธาตุ ขับผายลมและระบายท้อง
แกงเผ็ดผัดเผ็ด จะพูดกันก็คือ ยาธาตุเราดีๆ นี้เอง
แกงจืดตำลึงหมูสับ ใบตำลึงมีธาตุเหล็กและวิตามินซีสูง บำรุงเลือดให้งาม กระเทียมและพริกไทยที่ใส่ในหมูสับ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันมิให้เส้นเลือดอุดตัน รักษาโรคกระเพาะลำไส้
ผักบุ้งผัด ฟักทองผัด ให้วิตามินเอ บำรุงสายตา
ผัดถั่วงอก ให้แคลเซี่ยม บำรุงกระดูก
น้ำพริกต่างๆ เรียกน้ำย่อย เจริญอาหาร ขับเหงื่อ
แกงส้ม ต้มส้ม ต้มยำ ต้มโคร้ง ทำให้คอโปร่ง แก้ไข้กระวนกระวาย คลายหวัด ขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ระบายท้อง ฯลฯ
“อาหารไทยมีรสจัด เผ็ดร้อนและรสเปรี้ยวนำ ตามมาด้วยรสเค็มและหวาน”
ดังนั้น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มะนาวหรือส้มต่างๆ จึงเป็นดารายอดนิยมนำแสดง ดุจดาวค้างฟ้าเรื่อยมาทุกยุค ทุกสมัย
น้ำปลาและเกลือ เป็นดาราประกอบ เสริมดารานำแสดงให้เด่นขึ้น
น้ำตาลปึก น้ำตาลปีบ น้ำตาลทราย เป็นตัวแสดงประกอบเล็กๆ น้อยๆ
ขิงข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ใบโหระพา กะเพรา แมงลัก กระชาย สะระแหน่ หอม กระเทียม เป็นตัวแสดงสมทบ ถ้าเป็นดนตรีลูกทุ่งก็เรียก “ลูกหาบ” หรือ “หางเครื่อง” นั่นแล
กะปิ ปลาร้า ต้องยอมรับว่าเป็นดาราอาวุโสสำหรับอาหารไทยทีเดียว
แม่บ้านหรือแม่ครัว เป็นผู้กำกับการแสดง เรื่องจะดี นักแสดงจะเด่น จะได้รับรางวัลตุ๊กตาทองหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้กำกับการแสดง
ค่านิยมของสังคมไทยสมัยก่อน ลูกผู้หญิงจะเป็นกุลสตรี หรือไม่นั้น เขาดูกันที่งานบ้านการเรือนโดยเฉพาะงานครัวเป็นสำคัญ ผู้ใดมีฝีไม้ลายมือเก่งงานครัว จะได้รับการยกย่องยอมรับนับถือว่าเป็น “แม่ครัว” มีงานบุญงานสังคมที่ใด จะได้รับเชิญไปเป็นแม่งานจัดการเรื่องอาหารการกิน มีอำนาจเต็ม บังคับบัญชาเรื่องอาหารให้คนอื่นๆ (ลูกมือ) ให้เตรียมโน่นจัดนี่ทั้งอาหารคาวและหวาน
แต่ละหมู่บ้านแต่ละตำบล จะมีผู้กำกับการแสดง (แม่ครัว) ยอดนิยมประจำ คะแนนนิยมก็มาจากผู้ชิม ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสิน
บางครั้งบางคราวมีงานใหญ่ แต่ละคณะมาพบกัน ใครมีฝีมือ เคล็ดลับหรือลูกเล่นอย่างไรก็ขยับและสำแดงออกมาสุดฝีมือ ประกาศศักดิ์ศรีแห่งตนออกมาให้ปรากฏ เกณฑ์ลูกสั่งหลานและเพื่อนบ้านมาโชว์ฟอร์มเท่าไรเท่ากัน เสียหายเท่าไรไม่ว่า ต้องการชื่อเสียง
ความสุขของแม่ครัวอยู่ที่ฝีมือในรสอาหารที่เยี่ยมยอด เลอเลิศไร้เทียมทาน ประเดี๋ยววงโน้นประเดี๋ยววงนั้นเรียกหาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา จนอาหารหมดเกลี้ยงไม่เหลือหรอ แม่ครัวยิ้มแกมแทบปริหายเหน็ดหายเหนื่อยเอาทีเดียว
สังคมแต่ก่อนไม่นิยมออกไปรับประทานอาหารกันนอกบ้าน เขาจะจัดอาหารเลี้ยงดูกินเหล้าเมายากันภายใน ขนเพื่อนเข้าบ้านว่างั้นเถอะ กินกันในหมู่เพื่อนฝูง ญาติสนิท มิตรสหาย นับเป็น “การประหยัดได้ประโยชน์และปลอดภัยจากสารพิษ” โดยแท้ ก่อให้เกิดความรักใคร่สนิทสนมกลมเกลียวสมัครสมานสามัคคีกันอย่างแน่นแฟ้น อีกทั้งยังเป็นการจูงใจ “อวดเสน่ห์ปลายจวัก” ของแม่ไอ้หนู ลูกสาว หลานสาวของตนนั่นเอง ลือกันไปทั่วบาง
“ผัดเผ็ดแกงเผ็ดแกงป่าต้องบ้านโน้นจึงจะเยี่ยม”
“น้ำพริก พล่า ยำ ต้องบ้านนั้นถึงจะยอด”
“ต้มโคร้ง ต้มยำ โฮกอือ ต้องบ้านนี้จึงจะเรี่ยม”
อะไรทำนองนี้
นับตั้งแต่ข้าวสารอาหารหลัก     เรารู้จักคุณข้าวสุกถ้วนทุกหน้าหากว่านำเอามาตำกับสุรา            เป็นลมพิษชะโลมทาจะหายคัน    ข้าวเหลือบูดมิได้อุ่นมีคุณค่า    ตำพอกปิดฝีทาหายปวดนั่น
ข้าวตังกินหายสิ้นอยากน้ำพลัน        แม้แต่น้ำซาวข้าวนั้นใช้ถอนพิษ    หัวหอมแดงหอมไทยมิใช่ชั่ว        บำรุงหัวใจสร่างสว่างจิต
กลิ่นฉุนฉมดมแก้หวัดทีละนิด    ตำสุมปิดกระหม่อมเด็กเล็กเข้าที
หัวกระเทียมเยี่ยมยอดทางคุณค่า        ล้วนเป็นยาสาระพัดพยาธิหนี
เป็นยาธาตุยาถ่ายฆ่าบักเตรี        หลอดลมอักเสบลี้บรรเทาไอ
แก้ปวดหัวโขลกสระพลันกันผมหงอก    ตำแหลกพอกหัวเหน่าขัดเบาไหล
ทาถูนวดแก้ปวดเส้นไซร้    ชักกระตุกแก้ได้พอไว้วาง
แง่งขิงข่ายาอายุวัฒนะ    บำรุงธาตุขับเสมหะขับลมว่าง
อาหารย่อยผ่านลำไส้ไม่ระคาง     แก้ไข้สร่างคลื่นเหียนอาเจียนพลอย
พริกขี้หนูชูโรงรสแซบซ่า    มื้อไหนหาพริกไม่ได้ไม่อร่อย
กันมิได้ให้พาลเรี่ยวแรงน้อย        ปวดหัวบ่อยใบพริกตำดินสอพอง
ขมิ้นข้าวแง่งอ่อนจิ้มกะปิคั่ว    เต้าเจี้ยวหลนใช่ชั่วแง่งแก่ต้อง
หั่นฝอยใส่ผัดปลาไหลผัดปลาดุกทอง    กลิ่นหอมต้องจมูกแยกแปลกกระชาย
ขมิ้นชันชาวใต้ใช้แกงเหลือง        ทั้งเป็นเครื่องประทินผิวผุดผ่องหลาย
เหลืองราวทองน่ามองไปทั้งกาย        ทั้งเป็นยารักษาหายผดผื่นคัน
ขยี้ดมแก้หวัดคัดจมูก        น้ำขมิ้นหยอดตาถูกหายบวมนั่น
ผสมกับปูนแดงสำแดงพลัน        แก้ฟกเขียวหายครันถึงบวมช้ำ
ลูกมะดันน่าขันรสเปรี้ยวจี๊ด    ไทยยังคิดทำหายกลายหวานฉ่ำ
วิธีแก้แช่อิ่มช่างคิดทำ            นี่แหละวัฒนธรรมของคนไทย
โหระพาสะระแหน่แน่ครือกัน    พืชสำคัญพล่ายำต้องนำใส่
เป็นผักจิ้มกินทั่วทุกครัวไทย        โรยใส่หน้าแกงคั่วให้ดูน่ากิน
มะนาวน้ำปลาพริกขี้หนูของคู่ปาก        น้ำพริกปลาทูคู่ยากสุดผันผิน
เปิบด้วยมืออร่อยเหาะเหมาะถูกลิ้น        ไทยทั้งสิ้นกินได้ให้ทุกมื้อ
รากมะนาวถอนพิษผิดสำแดง        แก้ไข้แฝงไข้จับไม่กลับดื้อ
ฝนสุราทาปวดฝีถึงครางฮือ                ใบนั้นหรือกัดฟอกระดูสตรี
ใบมะกรูดรูดใส่หม้อยำต้ม            เพื่อดับข่มคาวปลาให้พาหนี
รากถอนพิษผิดสำแดงสบายดี            ผลดองดีแก้กระษัยและระดู
น้ำในผลนั้นไซร้ใช้สระผม        กันรังแคยังนิยมใช้ทาถู
เหงือกแก้เลือดออกไรฟันพรรณนารู้    ไม้ใช้ทำคันซออู้พานท้ายปืน
มะขามไทยดีกว่ามะขามเทศ    คุณวิเศษเหลือล้ำคำอรรถตื้น
ใบอ่อนแกงส้มแกงแซบแทบลืมกลืน    เนื้อในฝักเมืองอื่นเสนอซื้อ
เปลือกเมล็ดคั่วไฟใช้คุมธาตุ        ในเมล็ดใช้พิฆาตไส้เดือนหือ
รกมะขามแก้เสมหะรูดื้อ            ไม้เนื้อแข็งนั่นหรือประโยชน์ล้ำ
ใบแมงลักผักแกงเลียงช่างเหมาะสม    โรยขนมจีนน้ำยารสซาบซ่า
เมล็ดแช่น้ำกะทิกลืนชื่นอุรา                เป็นทั้งยาแก้บิดชะงัดแล
ต้นตะไคร้ใช้ดับกลิ่นคาวสัตว์        แกงเผ็ดผัดหั่นพล่ายำทุบต้ม
สรรพคุณแก้เบื่ออาหารพาลเป็นลม        เจริญอาหารน่าดูชมทุกวันคืน
ระดูขาวระดูขัดบำบัดได้            แก้กษัยไตพิการพาลขมขืน
มัดทั้งฟ่อนหย่อนแช่น้ำให้ฉ่ำชื้น            สองสามคืนใส่ลูกน้ำใช้เลี้ยงปลา
กะเพราแดงแรงกว่ากะเพราขาว    ผัดเผ็ดเนื้อไก่กินข้าวโอชะไฉน
แก้จุกเสียดท้องขึ้นท้องร่วงไซร้        เคี้ยวกินปวดท้องคลายหายทันใด
กะเพราสดบดกับเกลือเจือน้ำผึ้ง    ละลายน้ำสุกจึงหยอดคอให้
ทารกเป็นยาถ่ายผายลมไซร้            ขับขี้เทาออกไปคุณเหลือล้ำ
กระชายทำน้ำพริกห่อหมกอร่อย    หั่นเป็นฝอยใส่แกงป่าแกงบอนน้ำ
ยาขนมจีน, ผัดเผ็ดปลาไหลทำ        ปลาร้าหลนเป็นเครื่องนำขับคาวปลา
รากแก่ๆ หั่นๆ ให้เป็นแว่น        ตากแห้งชงกินแทนชาแก้มืดหน้า
สวิงสวายมวนท้องเรื่อยเมื่อยกายา    ใบรักษาโรคในปากและในคอ
หัวเผาไฟน้ำปูนใสฝนกันเข้า        ขับปัสสาวะระดูขาวแก้บิดหนอ
บำรุงกามแกร่งพลังยังหนุ่มฟ้อ        แพทย์โบราณท่านยกยอว่าโสมไทย
พริกไทยรู้ชูรสต้มแกงจืด        รสหายชืดโอชะอร่อยศอ
ยังแก้ลมอัมพฤษษ์อัมพาตรอ        ใบนั้นหนอแก้ลมป่วนปวดมวนท้อง
ดอกนั้นแน่แก้ตาแดงดังโลหิต    เครือแก้บิดท้องร่วงเสมหะคล่อง
แก้เมื่อยขบกระษัยไส้ลำพอง    ยาอายุวัฒน์ต้องพริกไทยดำ
ยอบ้านอ่อนหนกไฟเผา    เอาต้มเป็นน้ำกระสาย
กินแก้คลื่นเหียนหาย            อาเจียนจับหยุดฉับพลัน
ผลสุกขับระดู            สตรีผู้ไม่สุขสันต์
ใบอังไฟพลัน                แก้เคล็ดยอกคลายชอกช้ำ
เตยหอมกลิ่นหอมชื่นใจ        บำรุงฤทัยให้หายระทวยระทด
คั้นน้ำสีเขียวมรกต            ลอดช่องคล่องซด กะทิสดเอร็ดอร่อยแล
หัวปลีเอาราดด้วย        กะทิ
กินกับน้ำพริกซิ                แซ่บแท้
โลหิตจางพลันผลิ            ผลิตเพิ่ม
ในเลือดน้ำตาลมากแก้        โรคไส้พิการ
ชะพลูใบเผ็ดแก้            เสมหะ
ต้นรักษาเสลดปะ            อกแห้ง
รากขับเสมหะ                อุจจาระ
ผลขับเสลดให้แล้ง            โล่งคอ
สะเดาลวกน้ำร้อนจัด        ลงจาน
หอมกระเทียมเจียวตาล        เคี่ยวไว้
รสขมเจริญอาหาร            เอมโอช
เมล็ดเคี่ยวน้ำมันใช้            แก้โรคผิวหนัง
ถั่วพูพืชล้มลุก            เครือเถา
ฝักอ่อนลวกพลิกเผา            ผักจิ้ม
หั่นซอยโขลกปลาเอา            ทอดกะทะ
หัวหั่นคั่วไฟลิ้ม                ดื่มแก้หลังเพลีย
ตำลงค่าสี่บาท            เถาทอดพาดกับไม้
จิ้มพริกแทนผักได้            ใส่ต้มแกงเลียง
สรรพคุณดับพิษเห็น            เป็นยาเย็นสะกัดน้ำ
ใช้หยอดตาปวดซ้ำ            อีกทั้งตาแดง
ฟักทองเนื้อละม้าย        เหมือนทอง
ยอดดอกอ่อนแทนผอง            ผักจิ้ม
เมล็ดถ่ายพยาธิร้อง            ออกหมด
รากเร่งกามราคปิ้ม            เปรียบคล้ายคชสาร
กระถินปลูกรอบรั้ว        เริงลม
ใบเพิ่มพูนพลังชม            ชื่นไสร้
เครี่องเคียงหอยนางรม        รสเลิศ
ใบตากแห้งใช้เลี้ยง            ไก่ดี
กุยช่ายต้มเลือดหมู        ชาวจีนชูเชิดอ้าง
จับฝุ่นละอองตกค้าง            หลอดคอ
แกงเลียงแก่แม่หญิง        ลูกอ่อนอิงนมหลั่งน้อย
นมจักไหลเคลื่อนคล้อย        พรั่งพรู
เอาสุราเป็นกระสาย        โขลกใบหมายแต่น้ำ
ยารักษาชอกช้ำ                ปวดใน
บัวบกอยู่บนบก            กำลังตกบำรุงเสีย
แก้ได้หายอ่อนเพลีย            ละเหี่ยใจไม่เมื่อยล้า
ใช้ขับปัสสาวะ            โรคเส้นประสาทหนักหนา
ใบเถาโขลกเอามา            แต่งน้ำดื่มแก้ช้ำใน
มะระขี้นก ริมรั้วลูกดก รสขมเป็นยา ผลต้มหรือเผา เอายอดอ่อนมาลวกจิ้มพริกป่ารักษาข้อดี แก้โรคม้ามตับ ใช้เป็นยาขับพยาธิยอมหนี แก้ปากเป็นชุม ชุบโรคสตรี ระดูฤดีให้มีประจำเดือน
ผักหวานบ้านบ่งบอก     รสหวานออกปรุงและเลี้ยง
หมูผสมต้มซดเกลี้ยง        ใบเอามาทำยาเขียว
รากปรุงกระทุงไข้    ทั้งน้อยใหญ่ให้ลดเลี้ยว
ถอนพิษหน้าซีดเซียว        ประเดี๋ยวหายสบายแล
บวบเป็นพืชล้มลุก     เถาเครือ
ปลูกง่ายดกเหลือเฟือ        มากแท้
ผลอ่อนลวกมะเขือ        จิ้มพริก
เมล็ดแก่บำบัดแก้        คลื่นไส้อาเจียน
เปราะหอมหอมเปราะแท้     ใบบาง
เป็นเครื่องเทศหัวพลาง        กลิ่นเนื้อ
ใบจิ้มกะปิคั่วคราง            กรอบอร่อย
แก้หวัดซางเกลื้อนเกื้อ            อืดเฟ้อเรอหาย
ขี้เหล็กทั้งห้าเครื่อง        ปรุงยา
ถ่ายพิษกระสายตา            แสบไสร์
แก่นแก้โรคเหน็บชา            ม้ามหย่อน
กระพี้แก้พิษให้                เหือดร้อนนอนสบาย
มะเขือพวงอร่อยจิ้ม        น้ำพริก
แก้ปวดกล้ามเนื้อพลิก            ฟกช้ำ
ไอเป็นเลือดระริก            หลั่งไหล
ผีปวดบวมหนองน้ำ            สร่างสิ้นทรมาน
มันเทศหัวตำพอกแผล     เริมงูสวัด
ตากแห้งอังไฟจัด            แก้ริดสีดวงทวาร ฯ
ในครัวของเรานี้ หากพิจารณาดูกันให้ดีๆ จะพบสมุนไพรใกล้ตัวหลายชนิด บรรพบุรุษของเราท่านรู้จักนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทางอาหารและยามาบำบัดรักษาอาการแห่งโรคต่างๆ กันมาแล้วในอดีต ถ้าคนรุ่นเราจะลองคิดทบทวนนำมาประยุกต์ใช้ เจริญรอยตามกันบ้างในยามนี้ คงจะดีหาน้อยไม่
ขับเสภา
สมุนไพรของไทยมีอยู่ทั่ว    แม้กระทั่งในครัวปรุงอาหาร
ทุกสิ่งสรรพ์รวมกันรับประทาน    สุดประมาณประมวลล้วนเป็นยา
อัจฉริยะบรรพบุรุษท่าน    นำพืชพันธุ์ปรุงอาหารซ่อนคุณค่า
คนไทยเราฉลาดกินสิ้นพรรณนา    ฝูงฝรั่งมังค่าหารู้กิน
อาหารไทยมักรสเด็ดมากเผ็ดร้อน    ผัดเผ็ดพริกไทยอ่อนทั่วทุกถิ่น
ทำแกงส้มต้มยำเป็นอาจิณ            พล่ายำลาบลู่ถูกลิ้นกินทุกวัน
ตำพริกใส่ตะไคร้กระเทียมหอม    โหระพาไม่ยอมขาดแม่นมั่น
สะระแหน่แมงลักเจ้ากะเพรานั้น        ผักต่างๆ กินแกมกันล้วนเลอคุณ
ขอสาธกยกครัวไทยมาให้รู้        วัฒนธรรมเก่าเกินกู่ก่อน “พ่อขุน
รามคำแหง” รวมไทยให้อดุลย์        เราก็คุ้นกินอาหารประสานยา ฯ
ถวัลย์ นวลักษณกวี ประพันธ์บทร้อยกรอง
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ประเพณีการทำขวัญผึ้ง

ขวัญผึ้ง

ประเพณีการทำขวัญผึ้ง
ตำบลศรีคีรีมาส อำเภอคีรีมาส สุโขทัย
การทำขวัญผึ้งเป็นประเพณีของชาวตำบลศรีคีรีมาศ อำเภอคีรีมาศ สุโขทัยมาเป็นเวลานาน เพิ่งจะเลิกพิธีกรรมของประเพณีนี้เมื่อประมาณ ๔๐ กว่าปีมานี้เอง (นับถึง พ.ศ. ๒๕๒๖) ศูนย์ศึกษาและวิจัยวัฌนธรรมพื้นบ้าน หัวเมืองฝ่ายเหนือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก ได้ศึกษาประเพณีดังกล่าวตามแนวทางประ วัติศาสตร์-การฟื้นประวัติศาสตร์ (Historical reconstruc¬tion) อันเป็นแนวทางหนึ่งในวิชาคติชน (Folklore) มุ่งที่จะฟื้นประเพณีให้กลับมาเข้าสู่แนวทางปฏิบัติของชาวตำบล ศรีคีรีมาศให้ได้ตรงตามแนวปฏิบัติของประเพณีแบบดั้งเดิม ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อจะศึกษาโครงสร้างของประเพณี ทั้งโครงสร้างพื้นผิว และโครงสร้างลึก (deep structure) อันจะเป็นพื้นฐานให้ศึกษาหน้าที่ของประเพณีนี้ที่มีต่อสังคม

วิธีการศึกษาที่ใช้ในการฟื้นประเพณีครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นวิธีการเบื้องต้นของระเบียบวิธีวิจัยเชิงธรรมชาตินิยมซึ่งกำหนคให้ผู้ศึกษาเข้าไปรู้จักและคลุกคลีอยู่ในสังคมประเพณีนั้นโดยตรง ทั้งนี้ได้มีนิสิตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก ผู้ได้ศึกษาวิชาคติชน ระดับปริญญาโทจำนวน ๑๑ คน ปริญญาตรี จำนวน ๒๑๑ คน เข้าไปศึกษาในกลุ่มผู้เกี่ยวเนื่องในพิธีกรรมจำนวนประมาณ ๑,๗๐๐ คน การศึกษาได้กระทำต่อเนื่องกันเริ่มในเดือนธันวาคม ๒๕๒๕ จนถึงวันประกอบพิธีคือวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๖

ความมุ่งหมายในการนำเสนอบทความครั้งนี้ ก็เพื่อจะให้รายละเอียดของพิธีกรรมที่ใช้ในประเพณีการทำขวัญผึ้ง ตลอดจนการวิเคราะห์หาโครงสร้างลึกของประเพณี ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างเสริมทฤษฎีคติชน กับเพื่อใช้ประกอบเป็นแนวทางอันอาจจะใช้ในการวางแผนงานพัฒนาสังคมเศรษฐกิจการศึกษาและวัฒนธรรม

การนำเสนอบทความจัดกระทำเป็นสองตอน ตอนแรกกล่าวถึงรายละเอียดของประเพณีและตอนที่สองกล่าวถึงการวิเคราะห์หาโครงสร้างลึกของประเพณีตามสำนึกของผู้วิเคราะห์ซึ่งได้เข้าร่วมในพิธีกรรมของประเพณีในฐานะผู้สังเกตการณ์มาโดยตลอด

การศึกษารายละเอียดของประเพณีนั้นแบ่งเป็นสองขั้นตอนเริ่มแรกจากการสนทนาสัมภาษณ์วิทยากรตามวิธีการเบื้องต้นของระเบียบวิธีการวิจัยเชิงธรรมชาตินิยม วิทยากรที่ให้ข้อมูลมีทั้งหมด ๙ คน เป็นชาย ๘ คน หญิง ๑ คน อายุสูงสุดของวิทยากร ๗๒ ปี ต่ำสุด ๕๐ ปี วิทยากรทุกคนเคยเห็นพิธีกรรมของประเพณีการทำขวัญผึ้งมาแล้ว

เมื่อสัมภาษณ์และได้ข้อมูลต่างๆ ของประเพณีตั้งแต่ความมุ่งหมาย รายละเอียดของพิธีกรรมแล้ว ผู้ศึกษาได้ร่วมกับวิทยากรวางขั้นตอนของพิธีกรรมขึ้น จากนั้นได้นำพิธีกรรมที่เรียบเรียงขั้นตอนขึ้นนี้ไปเสนอให้ชาวบ้านอื่นๆ ผู้เคยร่วมพิธีกรรมได้วิจารณ์ความถูกต้อง จำนวนชาวบ้านที่ให้คำวิจารณ์ทั้งหมด ๕๐ คน

จากนั้นนำข้อวิจารณ์ของชาวบ้านดังกล่าวมาเสนอวิทยากร และขอความเห็นเกี่ยวกับขั้นตอนและรายละเอียดของพิธีกรรม เมื่อได้ข้อยุติแล้ว จึงเรียบเรียงขั้นตอนและรายละเอียดของพิธีกรรมขึ้นอีกครั้งหนึ่งพร้อมทั้งสรรหาบุคคลผู้ประกอบพิธีและผู้เกี่ยวข้องในการประกอบพิธีตามคำแนะนำของวิทยากร เมื่อได้บุคคลตามที่ต้องการทุกประการแล้ว จึงเตรียมดำเนินการพิธีกรรมตามประเพณีที่เคยทำมา

ส่วนการวิเคราะห์หาโครงสร้างลึกของประเพณีตามสำนึกของผู้วิเคราะห์นั้น ผู้ศึกษาได้ประมาณการจากสภาพการณ์ทุกประการของพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นในด้านของสถานที่ เวลา บุคคลและพฤติกรรมของบุคคล ตลอดจนสิ่งแฝงเร้นในสำนึกของผู้เข้าร่วมในพิธีกรรม

รายละเอียดของประเพณี
พิธีกรรมของประเพณีทำขวัญผึ้งจัดขึ้นในวันขึ้นสามค่ำเดือนสาม สถานที่ประกอบพิธีอยู่ในป่าทึบ ห่างจากหมู่บ้านราว ๒๐๐ เส้น สถานที่ประกอบพิธีอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม แต่มีหลักเกณฑ์การเลือกสถานที่ว่า จะต้องมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมักจะเป็นต้นยาง และต้นไม้นั้นจะต้องเคยมีผึ้งหลวงมาทำรังอยู่เสมอๆ ทุกปี

เมื่อกำหนดสถานที่แล้ว ในวันขึ้นสองค่ำเดือนสาม ชาวบ้านจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นชายฉกรรจ์จำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐ คน จะไปเตรียมสถานที่ประกอบพิธี โดยถากถางพื้นที่รอบต้นไม้ใหญ่ที่ใช้ประกอบพิธี แล้วกำหนดเขตโดยใช้ไม้ไผ่สานสูงประมาณเอวกั้นเป็นอาณาเขตเป็นวงกลม มีต้นไม้ใหญ่เป็นจุดศูนย์กลางของวงกลมมีรัศมีสามวา ไม้ไผ่ สานจะเป็นรั้วกั้นเป็นปริมณฑลรอบต้นไม้ใหญ่ เว้นช่องทางให้เข้าแปดช่องทาง เรียกว่าประตูแปดทิศ แต่ละประตูจะมีศาลตีนเดียวทำด้วยไม้ไผ่ สูงประมาณสองวา สำหรับเป็นที่วางเครื่องเซ่นสังเวย ตรงหน้าต้นไม้ใหญ่จะมีศาลตีนเดียวใหญ่อีกหนึ่งศาล การเตรียมสถานที่จะต้องรีบกระทำให้เสร็จในตอนบ่ายของวันขึ้นสองค่ำเดือนสาม

ในวันเดียวกันนี้ ชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนโดยเฉพาะ เด็ก สตรี และคนชรา ซึ่งมิได้ออกไปเตรียมสถานที่จะช่วยกันทำขนมแดกงาเป็นรูปรังผึ้ง เพื่อจะเตรียมนำไปติดไว้รอบๆ บริเวณสถานที่ประกอบพิธี จะมีรังผึ้งซึ่งทำจากขนมแดกงากี่รังก็ได้ แต่จะต้องมีรังหนึ่งซึ่งยาวประมาณหนึ่งศอก เป็นรังผึ้งหลวงที่ใช้ประกอบพิธีกรรม

การทำรังผึ้งด้วยขนมแดกงา เริ่มต้นด้วยการนำข้าวเหนียวไปล้างด้วยน้ำให้สะอาดแช่น้ำไว้จนข้าวเหนียวขึ้นน้ำ แล้วนำไปนึ่งให้สุก เมื่อสุกแล้วเทข้าวเหนียวที่ยังร้อนอยู่ลงไปในครกไม้ที่ใช้ตำข้าว โรยเกลือลงไปบนข้าวเหนียวเล็กน้อย โขลกให้ข้าวเหนียวแหลกจนค่อนข้างเหลวนำงาดำที่คั่วแล้วผสมลงในข้าวเหนียว โขลกจนน้ำมันงาออก สังเกตว่าน้ำมันงาออกได้จากการที่ข้าวเหนียวไม่ติดครก เมื่อโขลกข้าวเหนียวจนได้ที่แล้วจึงนำไปใส่กระด้ง นวดและผสมงาดำ อีกจนข้าวเหนียวนั้นออกสีดำ นำไปปั้นเป็นรูปรังผึ้งแล้ว ติดไว้กับกิ่งไม้ พร้อมที่จะนำไปแขวนรอบๆ บริเวณประกอบพิธีกรรมในวันรุ่งขึ้น

ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งจะจัดเตรียมเครื่องเซ่นสังเวยไว้ให้พร้อมก่อนเช้าตรู่วันขึ้นสามค่ำ เดือนสาม เครื่องเซ่นสังเวยประกอบด้วยบายศรี หัวหมูหนึ่งหัว ตีนหมูสี่ตีน หางหมูหนึ่งหาง ไก่ต้มหนึ่งตัว เหล้าป่า ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวขาว ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ข้าวสุกจากปากหม้อ ผักหญ้าปลายำ มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล หมากพลูสามคำ ธูปสามดอก เทียนขี้ผึ้งหนึ่งเล่ม

นอกจากนี้แล้วชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนจะต้องเตรียมเหล้าป่าไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อจะได้นำไปในวันรุ่งขึ้นครั้นรุ่งเช้าวันขึ้นสามค่ำ เดือนสาม เมื่อน้ำค้างบนใบหญ้าเริ่มแห้งแล้ว ชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนจะช่วยกันนำรังผึ้ง เครื่องเซ่นสังเวย และเหล้าเดินทางไปยังสถานที่ประกอบพิธีในป่าทึบดังกล่าวแล้ว การเดินทางไปนั้นจะไปเป็นหมู่คณะใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นหญิง ชาย เด็ก และคนชรา จะเข้าไปร่วมพิธีโดยทั่วกัน ในขณะที่เดินทางไปก็จะส่งเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นการคุยกันหรือการร้องรำทำเพลง ตลอดจนการเคาะจังหวะต่างๆ ให้เป็นที่ครึกครื้นสนุกสนาน สตรีและเด็กจะเตรียมเสบียงอาหารกลางวันมาด้วย

ประมาณเพล ชาวบ้านทั้งหมดที่มาในพิธีก็จะมารวมกันอยู่รอบๆ บริเวณสถานที่ประกอบพิธี ส่งเสียงดังแสดงความสนุกสนานโดยตลอด
บุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านในเรื่องของพิธีกรรม จะนำเครื่องเซ่นสังเวยไปจัดไว้ที่ศาลตีนเดียว ทั้งเก้าศาล และที่ศาลใหญ่นั้นจะมีเครื่องเซ่นสังเวยขนาดใหญ่วางไว้ข้างหน้าด้วย

ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งจะต้องเป็นผู้หลักผู้ใหญ่และมีฐานะดีจะนำผ้าม่วง ผ้าไหม ไปพันรอบต้นไม้ใหญ่แล้วแขวนพวงเงิน พวงทอง ด้ายขาว ด้ายแดง อย่างละ ๑ ไจ ไว้รวมกัน ด้ายแดงด้ายขาวอีกส่วนหนึ่งจะนำไปพันรอบต้นไม้ใหญ่เก้ารอบ

ส่วนชาวบ้านรุ่นหนุ่ม จะนำรังผึ้งซึ่งทำด้วยขนมแดกงาไปประคบ แขวนไว้ตามต้นไม้ รอบๆ บริเวณสถานที่ทำพิธี ชาวบ้านทั้งหลายต่างก็จะพูดคุยกันด้วยเสียงอันดังว่า “มีรังผึ้งมากจริง” “มีผึ้งมากจริง”

ครั้นได้เวลาประกอบพิธีกรรมทำขวัญผึ้ง ชาวบ้านทุกคนจะเงียบสงบ ผู้ที่จะประกอบพิธีประมาณ ๒๐ คนจะเข้าไปนั่งอยู่ในเขตปริมณฑล ส่วนชาวบ้านอื่นๆ จะนั่งอยู่รอบนอก

ชาวบ้านราวเก้าคนจะจุดธูปเทียน และนำไปปักไว้ที่ศาลใหญ่และศาลทั้งแปดทิศ แล้วผู้ทำพิธีทำน้ำมนต์เพื่อใช้ปัดเสนียดจัญไร พรมน้ำมนต์ที่เครื่องเซ่นสังเวยและประพรมน้ำมนต์แก่ผู้ที่อยู่ในปริมณฑล ไพว้พระรัตนตรัย กระทำธรณีสาร แล้วร่ายคำสวดและทำขวัญดังต่อไปนี้

สาธุ สักเค กาเม คิริสิตร ตะเต จันทริเขวิมาเร ทีเป รเถจะคาเม ตรุวันคาหะเน เคหวัดทุมมิ เขตเตทุมมาจายันตุเควา ชะระทะระวิสะเมยะ คะคันทัมนา คามิตถัง ถาสังค เตยะตังนิวาระวัดจะนัง สาคะโอเมสุนันตุ ทำมาสะวะนะกาโร อะยัมพะทันตา ทำมะสะวะนะกาโรอะยัมพะทันตา ทำมะสะวะนะกาโร อะยัมพะทันตา

บททำขวัญ บทเชิญนางไม้
ข้าพเจ้าจะขออัญเชิญพระภูมิเจ้าหน้าที่ นางแม่ธรณี นางแม่คงคา (ไอ) ขอเชิญพระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ พระเวสสูวัณ ขอเชิญเทพยดาอารักษ์ผู้ปกปักรักษาอยู่ในบ้าน ป่าพงไพรใหญ่ยาวในเขาหลวง ขอเชิญทั้งปวงจงมาสังเวยเครื่องกระยาหารทั้งหัวหมู เป็ด (อ้อ เป็ดไม่มีนะ) มีไก่ (หัวเราะ) ขนมต้มขนมแกง ขนมต้มลูกใหญ่ (หัวเราะ) ขนมต้มมีขนมต้ม ขนมแกง ข้าวเหนียวแดงข้าวเหนียวขาว ขอเชิญจงมาขอเชิญพระยานางไม้ทั้งปวงที่อยู่ในเขาหลวงขอเชิญจงมาให้พร้อมกันในวันนี้ วันนี้ก็ฤกษ์งามยามดี ขอเชิญเจ้าป่าดงพงไพรใหญ่กว้างใน เขาหลวงขอเชิญทั้งปวงจงมาประสิทธิ์พรให้แก่พวกข้าพเจ้า ที่ได้มากันในวันนี้ ต่อนี้ไปก็จะเชิญนางไม้แล้วนะครับ

ข้าพเจ้าจะประนมหัตถ์นมัสการนิ้วข้าพเจ้าสิบนิ้วจะยกขึ้นเหนือหว่างคิ้วข้าพเจ้าทั้งสองมังคละปัดโต ประกอบไปด้วยมิ่งมงคลแปดประการ ข้าพเจ้าจะขอเชิญ (เอย….) ขวัญ เจ้าพระยานางไม้เจ้าแม่เอย….เอย….มาเถิดนะมะแม่มามาเร็วพลันข้าพเจ้าจะขอเชิญเทพ (ไอ) พยาดา พระยานางไม้ เจ้าแม่ (เออ….เอย) มาเถิดมาอยู่เขาหลวงอย่าเป็นห่วงซึ่งสิงขรอย่าเที่ยวเร่ร่อนอยู่กลางดินกินผลไม้ ดงยาง นางเป็น บาขวัญเจ้าพระยานางไม้ เจ้าแม่เอยมาเถิดนะมะแม่มา ม้า มาเป็นใหญ่ในเขาหลวง อย่าขอเขาหลวงข้าพเจ้าจะเชิญซึ่งทั้งพญาผึ้งทั้งปวงมาอยู่เขาหลวงมาอยู่ที่นี่ อยู่พงไพรป่าพงไพรใหญ่ยาวที่เขาหลวง ข้าพเจ้าจะขอเชิญ (เอย….) พ่อผึ้งและแม่ผึ้งทั้งปวงจงชวนพาลูกหลานพร้อมกับทั้งบริวารมาทำรังรวงยาใหญ่ยาวที่เขาหลวงฝ่ายมนุษย์ทั้งปวงก็รวบรัดมัดคบพู่ผึ้งก็บินหวู่ ๆๆๆ ว่อนร่อนอยู่ตามอากาศฝ่ายประเหมาะผึ้งที่มีความสามารถจึงรวบรัดตัดรังใส่ถังและครุแล้วก็โรยครุลงถึงพื้นพระธรณีเอย….บัดนี้จึงเอาไปถวายพระชินสีห์องค์พระสัมมาสัมพุทโธธิญาณ ตั้งแต่ทั้งนั้นพระยาคชสารกับวานร เอาไปถวายพระพุทธเจ้าเป็นคำกล่าวมาตั้งแต่ครั้งนาน

บัดนี้ข้าพเจ้าจะขอทำขวัญผึ้งมีข้าวเหนียวนั้นแทนทำรังรวงมีขนมต้มลูกใหญ่ เอาน้ำอ้อย น้ำตาลใส่เป็นรังผึ้งจึงเป็นประเพณีมาถึงกาลบัดตั้งแต่โบราณมาจนกระทั่งถึงบัดนี้…นี้ข้าพเจ้าจะขอเชิญเทพยดาอารักษ์ที่ข้าพเจ้าได้ชุมเชิญมาสังเวยในเครื่องกระยาหารในครั้งนี้จงมาคุ้มครองป้องกันประสิทธิ์ธะพรให้แก่พวกข้าพเจ้าที่ได้มาทำขวัญในกาลพิธีครั้งนี้ขอจงให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญ อย่าได้มีโพยภัยเข้ามากดกั้นใน (วิทยากรพูดกันเองฟังไม่รู้เรื่อง) โพยภัยอย่าได้มี มีแต่ความสุขความเจริญ พร้อมกันทุกถ้วนหน้าจงถึงนิพพาน ทั่งเถอะธนสาร ทั่วกาลนานเทอญ ขอจงอวยชัยให้พรแก่ข้าพเจ้าจงมี คนใดที่เสียงโตๆ ให้โห่ร้องเอาชัย ข้าพเจ้าครั้งนี้ก็สาธุพร้อมๆ กัน พวกเรานะก็เสร็จพิธี

เมื่อร่ายคำสวดและทำขวัญแล้วกลุ่มชาวบ้าน ทั้งชายหญิงก็จะสมมติตนว่าเป็นพ่อผึ้งแม่ผึ้งมาจากป่าต่างๆ นำเด็กๆ ซึ่งสมมติว่าเป็นลูกผึ้ง ชวนกันเข้ามาทางประตูทั้งแปดทิศ ผู้เฝ้าประตูจะซักถามที่มาของผึ้งสมมติเหล่านั้น เมื่อเข้ามาแล้ว ก็จะชวนกันออกไปทางประตูที่อยู่ตรงกันข้าม แล้วชวนกันเข้ามาใหม่อีกทางประตูอื่นๆ จนครบแปดประตู จากนั้นผู้ประกอบพิธีทั้งหมดก็จะอำลาต้นไม้ใหญ่เป็นอันเสร็จพิธี

หลังจากเสร็จพิธี ชาวบ้านจะเล่นขโมยรังผึ้ง โดยสมมติให้ชาวบ้านหลายๆ คนเป็นขโมยไปลักรังผึ้งที่แขวนไว้ตามต้นไม้ ชาวบ้านหลายๆ คนสมมติว่าเป็นตำรวจจะไปจับกุมขโมยเหล่านั้นมาให้ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาจะตัดสินให้จำคุกขโมยทั้งหลายเป็นปี แต่จำนวนปีที่ต้องโทษในคุกนั้นให้เปลี่ยนเป็นดื่มเหล้าเป็นก๊อก เช่นจำคุกสิบปี ก็ให้ดื่มเหล้าสิบก๊อกแทน การเล่นเช่นนี้จะเป็นที่สนุกสนานของชาวบ้านมาก ในเวลาเล่นจะมีเสียงหัวเราะดังลั่นไปทั่ว ในขณะเดียวกันชาวบ้านที่เมามากจนขาดสติ ก็จะได้รับการพยุงจากเพื่อนๆ เป็นอย่างดี เมื่อเป็นที่สนุกสนานพอสมควรแล้ว ชาวบ้านก็จะเดินทางกลับเป็นคณะเช่นเดียวกับตอนที่มาประกอบพิธี

บทวิเคราะห์ประเพณีทำขวัญผึ้งโดยใช้สำนึกของผู้ศึกษา
การวิเคราะห์ประเพณีการทำขวัญผึ้งในครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้ใช้สำนึกของตนเองเป็นหลัก เหตุที่ผู้ศึกษาใช้วิธีอันล่อแหลมเช่นนี้ในการวิเคราะห์ก็เพราะว่าผู้ศึกษารู้จักและคลุกคลีอยู่กับชาวตำบลศรีคีรีมาศเป็นเวลา ๑๖ ปี และได้ทำวิจัยในตำบลนี้เกี่ยวกับคติชนแล้วสองเรื่อง กับเป็นผู้ศึกษาประเพณีการทำขวัญผึ้งมาแล้วประมาณห้าปี อนึ่งในการฟื้นประเพณีนี้ขึ้นมานั้นผู้ศึกษาอยู่ในฐานะของผู้ฟื้นและผู้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ผู้ศึกษาขอเสนอผลการวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้
๑. สถานที่ซึ่งใช้ประกอบพิธี เป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านคาดว่าผึ้งจะมาทำรัง เหตุนี้จึงต้องทำในป่าลึก
หมายเหตุ การนำเสนอรายละเอียดของประเพณีนี้จัดทำในรูปของสไลด์และเทปบันทึกเสียง
๒. วันที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม คือวันขึ้นสามค่ำ เดือนสาม เพราะเป็นฤดูกาลที่ผึ้งจะทำรังด้วยดอกสมุนไพร พร้อมที่จะมีการตีผึ้งได้ในเดือนห้า
๓. ประเพณีนี้น่าจะเกิดขึ้นจากการที่ราษฎรส่งส่วยให้แก่แผ่นดินแทนการใช้แรงงานการส่งส่วยเช่นที่ว่านี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
๔. ประเพณีนี้เล็กไปเพราะมีการปรับปรุงประมวลรัษฎากรใน พ.ศ. ๒๔๗๖
๕. ชาวบ้านทั่วไปถือว่าพิธีกรรมนี้จะนำศิริมงคลมาให้แก่ผู้ตีผึ้ง ทำให้ได้น้ำผึ้งคุณภาพดี มีปริมาณมากนี้เป็นโครงสร้างพื้นผิวของประเพณี
๖. สิ่งซ่อนเร้นในใจของชาวบ้านในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีนี้ก็คือต้องการความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย และสิ่งลึกลับต่างๆ ในขณะออกไปตีผึ้ง ด้วยเหตุนี้จึงต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อให้หลักประกันว่าสิ่งลึกลับอันมีอำนาจในป่าจะไม่ทำอันตราย การส่งเสียงดังและให้มีเล่นเสียงดัง ก็เพื่อเป็นการขับไล่สัตว์ร้ายให้หนีไปไกลๆ จากพิธีเป็นเวลาหลายๆ เดือนคลุมไปจนถึงเวลาไปตีผึ้งซึ่งจะมาทำรังในป่าบริเวณประกอบพิธีกรรมด้วย ข้อความในข้อ ๖ นี้ แสดงโครงสร้างลึกของประเพณีการทำขวัญผึ้ง

ที่มาโดย:ดร. ประจักษ์ สายแสง

ประเพณีแอ่วสาว

ประเพณีอู้สาว

ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษกับการแบ่งเนื้อที่เรือนและกฎเกณฑ์การใช้เนื้อที่ของประเพณีแอ่วสาว
ผีที่ใกล้ชิดคน คือ ผีบรรพบุรุษเป็นผีประจำอยู่ในเรือนคอยดูแลเอาใจใส่ให้ลูกหลานที่ยังอยู่มีความสุขความเจริญ หากลูกหลานตั้งตนอยู่ในจารีตประเพณี หรือคอยให้ร้ายแก่คนในบ้านที่ประพฤตินอกรีตนอกรอยประเพณี นี้เป็นคติความเชื่อของคนไทยมาแต่เดิมซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังนับถืออยู่ และการเรียกผีบรรพบุรุษของแต่ละภาคของไทยเรียกชื่อต่างๆ กันไป ทางภาคเหนือเรียกว่า “ผีปู่ย่า” ตามความเห็นของ Andrew Turton ผู้บรรยายวิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัย ลอนดอนกล่าวว่า “ผีปู่ย่า” คือวิญญาณกลุ่มเครือญาติอาวุโส และมีความสำคัญในโครงสร้างของครอบครัวที่สิงสถิตของผีปู่ย่านั้นเขาจะปลูกศาลหรือหอไว้ทางเบื้องหัวนอน บางทีอาจจะตรงมุมบ้านที่เห็นว่าเหมาะสมศาลเป็นเรือนเล็กๆ ยกพื้นสูง มีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ธูปเทียน
เชี่ยนหมากคนโทน้ำวางเอาไว้ ผีปู่ย่านี้ยังแยกออกเป็น “ผี เรือน” อีก คือเมื่อมีคนในตระกูลแยกออกไปตั้งเรือนเป็นครอบครัวใหม่ ก็จะแยกหรือแบ่งผีเอาไปด้วย คือ แบ่งเอาดอกไม้บูชาผีปู่ย่าไปยังบ้านเรือนของตนและไปทำหิ้งไว้ด้านหัวนอนไม่สร้างศาล หรือหอผีอีกเพราะถือว่าหอผีนั้นอยู่ที่บ้านเดิม คือ “เก้าผี” แล้ว หิ้งผีที่แยกมาจากหอเก้า“ผี” นั้นจะอยู่ในห้องนอนใหญ่ที่สมาชิกในครอบครัวนอนอยู่รวมกัน โดยทำหิ้งยาวประมาณ ๒ เมตร หรือเล็กกว่านั้น ติดอยู่กับฝาเรือนบริเวณที่ติดกับเสาเอก” (หรือ เสามงคล ได้แก่ เสาต้นที่ ๒ ด้านตะวันออกนับจากด้านในสุดของเรือนนอนออกมา ซึ่งจะมีเสานางอยู่ตรงกันข้าม) ฉะนั้นภายในห้องนอนนี้จึงเป็นส่วนที่สิงสถิตของผีปู่ย่าอีกด้วย ถือเป็นบริเวณหวงห้ามสำหรับผู้ที่ไม่ใช่เครือญาติหรือผู้ที่ “ไม่เป็นผีเดียวกัน” (ผีบรรพบุรุษเดียวกัน) การล่วงล้ำเข้าไปในห้องนอนซึ่งมี “ข่มประตู” แบ่งเขตไว้จะถือว่าผิดผี (ผิดจารีตข้อห้ามของสังคมลานนา ทำให้ผีบรรพบุรุษโกรธ) ผู้ที่ล่วงล้ำเข้าไปจะต้องทำพิธี “เสียผี” (คือ ต้องสมาด้วยเครื่องสังเวยพร้อมกับเงินค่าปรับ) ผู้ที่แยกผีเรือนไปด้วยนี้มักจะเป็นฝ่ายหญิงเพราะการสืบต่อผีปู่ย่านั้น สืบทอดทางผ่ายหญิง แม้ที่บ้านเก้าผีที่มีศาลแล้วก็ยังมีหิ้งผีบรรพบุรุษผีเรือนอยู่ภายในห้องนอนอีกหิ้งผีภายใน ห้องนี้เป็นที่สิงสถิตของผีที่มีอาวุโสต่ำตามศักดิ์ของเครือญาติ ส่วนวิญญาณผีบรรพบุรุษเก่าๆ แก่ๆ ก็จะอยู่กับหอผีที่อยู่นอกตัวเรือน
ฉะนั้นห้องนอนจึงเป็นห้องที่เป็นส่วนหวงห้าม และเป็นบริเวณส่วนตัวของสมาชิกในตระกูลเดียวกันเท่านั้นที่จะเข้าออกได้ ซึ่งอาจจะเรียกว่า “ส่วนใน” ก็ย่อมได้ “ส่วนนอก” ก็คงได้แก่เติ๋นและชานนั่นเองเพราะอยู่นอกเขตหวงห้ามเป็นส่วนเปิดเสรีที่แขก และบุคคลภายนอก จะขึ้นมานั่งคุยกับเจ้าของบ้านได้โดยไม่มีข้อห้ามทางสังคมแต่อย่างใด แม้กระทั่งหนุ่มจากบ้านอื่นจะมา “แอ่วสาว” ในยามค่ำคืนก็มี
สิทธิที่จะนั่งคุยกับลูกสาวของเจ้าของบ้านได้จนถึงเวลาดึกๆ โดยที่พ่อแม่ของสาวไม่รังเกียจแต่อย่างใด แม้พ่อแม่จะเปิดโอกาสให้หนุ่มๆ ได้พบลูกสาวของตนก็ตาม หากแต่ประเพณีการ “เสียผี” หรือสมาลาโทษผีเรือนเมื่อมีการละเมิดแนวปฏิบัติโดยที่พ่อแม่นอนฟังอยู่ด้วยในห้องนอนหรือแอบสังเกตการณ์จากช่องของฝาเรือน การแอ่วสาวนั้นเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่งของลานนา วางกติกาในลักษณะระบบปทัสถาน (Norm) จากคติความเชื่อของการนับถือผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นประเพณีที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวในหมู่บ้านได้มีโอกาสคุ้นเคยกันด้วยตัวเองอย่างตรงไปตรงมาในสายตาของผู้ใหญ่ คำว่า“แอ่วสาว” แปลว่า “ไปเที่ยวหาผู้หญิงโดยฝ่ายชายจะเป็นผู้ไป ตามปกติในภาคเหนือในช่วง ๕๐-๖๐ ปีที่แล้วมาหลังประกอบการงานในตอนกลาง วันและหลังรับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้วประมาณ ๒๑.๐๐ น. เป็นต้นไป หนุ่มจะนำเอาเครื่องดนตรี ได้แก่ ซึง สะล้อ เปี๊ยะ ขลุ่ย เป็นต้นออกจากบ้านไปหาสาวที่หมายจะรัก การที่เขาไม่ไปแต่หัวค่ำเพราะเกรงว่าจะไป “เหยียบเอาถ้วยน้ำพริก” เข้า คือ หมายถึงว่าเกรงจะไปเจอเวลาอาหารเย็น เพราะชาวเหนือส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารเย็นกันเกือบจะ ๒ ทุ่มแล้ว ขณะที่เดินไประหว่างทาง มือก็จะดีดซึงหรือสีสะล้อเบาๆ พร้อมกับ “จ้อย” (พรํ่าบทกวีประเภทค่าวเป็นทำนองเสนาะอ่อนหวาน) ไปด้วย ส่วนหญิงสาวจะนั่งทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปั่นฝ้าย มัดพลู เสียบหมากอยู่บริเวณเติ๋นตรงส่วน “ฝาลับนาง” ฝ่ายชายเมื่อมาถึงบ้านผู้หญิงแล้วก็มักจะขึ้นมานั่งตรงเติ๋นในส่วนที่เรียกว่า “ขม” คือบริเวณชายเติ๋นที่ชิดกับชานเรือน บทเจรจาผูกรักของหนุ่มสาวในช่วงนี้มีลักษณะพิเศษต่างกว่าภาคอื่นๆ กล่าวคือ หนุ่มและสาวจะต้องเรียนรู้คำกล่าวเจรจาที่สืบต่อกันมา หรือแต่งขึ้นใหม่ด้วยปฏิภาณ เป็นถ้อยคำที่มีสัมผัสคล้องจองเหมือนคำประพันธ์ประเภท “ค่าว” เพียงแต่คำกล่าวเหล่านั้นมักจะสั้นพอได้ใจความที่แสดงความในใจโต้ตอบกัน บทเจรจาดังกล่าวเรียกว่า “คำคร่าว-คำเครือ “คำอู้บ่าว-อู้สาว” หรือ “คำหยอกสาว”จัดว่าเป็นวรรณกรรมมุขะปาฐะอย่างหนึ่ง ศัพท์บางคำที่ใช้นั้นเป็นสื่อทางสัญลักษณ์ ที่มีความหมายที่ลึกซึ้ง การที่บิดา- มารดาของหญิงสาวให้สิทธิแก่ลูกสาวของตนพูคคุยในเชิงเกี้ยวพาราสี (courtship) กับชายหนุ่มได้โดยเสรีที่บ้านในยามค่ำคืนได้ และลูกสาวจะมีโอกาสพูดคุยกับหนุ่มเชิงรักใคร่ก็ต่อเมื่อตนอายุได้ ๑๕ ปีขึ้นไป เพราะถือว่าเป็นสาวแล้ว การที่ลูกสาวได้สิทธิเช่นนี้ภาษาถิ่นของลานนาเรียกว่า “ประเพณี อยู่นอก” ศัพท์คำนี้ใช้กับลูกสาวโดยเฉพาะ เนื่องจากถึงเวลาหลับนอนแล้วแต่ลูกสาวยังคงพูดคุยกับ หนุ่มที่บริเวณเติ๋นนอกต้องนอนอยู่ ขณะเกี้ยวพาราสีกันนั้นหนุ่มสาวจะยึดขอบเขตและกติกาของการ “นับถือผี” เพราะสาวจะไม่เปิดโอกาสให้หนุ่มแตะเนื้อต้องตัวหนุ่มเองก็จะไม่ล่วงละเมิดจับต้องตัวสาวหรือล่วงล้ำเข้าไปในส่วนหวงห้ามอันเป็นที่สิงสถิตของผีเรือน หากละเมิดข้อห้ามดังกล่าวก็จะถือว่า “ผิดผี”
เพราะทำให้ผีบรรพบุรุษหรือผีเรือนโกรธ เมื่อหนุ่ม “ผิดผี” แล้วก็ต้องทำพิธี “เสียผี” หรือ “ใส่ผี” ให้ถูกต้องตามประเพณีการ “เสียผี” หรือ “ใส่ผี” ก็คือการขอขมาต่อผีบรรพบุรุษและผีเรือนของผู้หญิงโดยฝ่ายชายจะต้องนำเครื่องสังเวยมีหัวหมูต้มให้สุก ๑ หัว ขนม ข้าวต้มมัด ดอกไม้ธูป เทียน และสุรา ๑ ขวด อาจจะมีไก่ต้มอีกสัก ๑-๒ ตัว แล้ว แต่เจ้าของผี (บิดามารดาของผู้หญิง) จะบอกให้ทราบพร้อมกับเงิน “ค่าผี” มากน้อยแล้วแต่คู่กรณีทางฝ่ายหญิงจะเรียกร้องมา นำมาให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงทำพิธีสังเวย “ผีปู่ย่า” ที่หอเก้าผี หรือที่หิ้งผีภายในตัวเรือนเป็นอันเสร็จพิธี แต่อย่างไรก็ตามการผิดผีจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหญิงและชายต่างรับปากฝากรักกันแล้ว
เมื่อหนุ่มคุยกับสาวเป็นเวลาพอสมควร หนุ่มก็มักจะชวนกันเดินกลับเป็นกลุ่ม หากหนุ่มคนใดที่มีคนรักเป็นที่ยอมรับกันแล้ว หนุ่มสาวคู่นั้นอาจจะคุยกันต่อหลังจากพวก หรือคนอื่นๆ เดินทางกลับหมู่บ้านของตนแล้ว พวกที่แอ่วสาวกลับมาดึกๆ จะมีการ “จ้อย” ขับลำนำไปตามทาง ซึ่งลำนำในการ “จ้อย” นั้นอาจจะกล่าวถึงผู้หญิงในเชิงตัดพ้อ หากเดินทางกลับเป็นหมู่บางครั้งจะ “จ้อย” ในทำนองตลกคะนองไม่เป็นสาระนักและเป็นลำนำสั้นๆ เรียกว่า “ค่าวว้อง” และ “ค่าวก้อม” เพราะเมื่อจ้อยหรือขับจบเรื่องก็จะวนขึ้นต้นบทเดิมใหม่ วนเวียนไปมา ส่วนการ “จ้อย” ในเชิงตัดพ้อนอกเหนือจากเป็นการระบายความอึดอัดในอกแล้ว ก็ยังเป็นการให้เสียงไปด้วยว่าผู้ที่ส่งเสียงอยู่นั้นมิได้มาร้าย ลำนำในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะพรรณนาถึงดาวเดือนในยามดึกน้ำค้างและหมอกอันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติยามค่อนรุ่ง เคล้ากับคำอวยพรให้ผู้หญิงมีความสุข ส่วนตัวผู้ชายจะวังเวงอ้างว้างในเชิงหมดหวังและทอดอาลัย เพราะหญิงมีคู่เสียแล้ว (ง่อมงันใจดวงธัยเหี่ยวม้าน บ่มีคู่ป้องนอนพิง บ่มีคู่ซ้อน ใฝ่ข้องอาสิง หนาวเย็นคิง คนเดียวดั้น เพิ่นมีคู่สมเซยซมเฝื้อฝันแต่ตัวชายเรายากไร้)
ครั้นหนุ่มกลับมาถึงบ้านก็จะนอนที่เติ๋นหน้าห้องนอนนั่นเอง โดยไม่ต้องปลุกใคร เพราะเติ๋นจะใช้เป็นส่วนนอนของลูกชายเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม และเริ่ม “แอ่วสาว” ได้แล้ว
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์