ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ

วัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมร บ้านหัวสำโรง สระสองตอนและดงยาง
ชาวบ้านหัวสำโรง สระสองตอนและดงยางเป็นชาวไทยเชื้อสายเขมรที่บรรพบุรุษอพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ๆ เป็นอำเภอพนมสารคามในปัจจุบันเป็นเวลานานนับร้อยปี บุตรหลานของคนอพยพกลุ่มนี้ยังคงใช้ภาษาที่ ๑ อยู่ ในหมู่บ้านของตน สืบทอดประเพณีและความเชื่อดั้งเดิมอันแสดงความเป็นกลุ่มชนต่างเผ่าพันธ์กับชาวไทยภาคกลาง เนื่องจากชาวบ้าน ๓ หมู่บ้านเหล่านี้มิได้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับหมู่บ้านชาวไทยภาคกลาง ซึ่งดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สังคมเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน เหตุนี้เองชาวไทยเชื้อสายเขมรเหล่านี้จึงรับวิถีชีวิตของชาวนาไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตน และรับวัฒนธรรมหลวงที่มีรากฐานจากพุทธศาสนาเข้าเป็นหลักในการดำเนินชีวิตนอกเหนือไปจากนั้น ชาวบ้านกลุ่มดังนี้ยังได้รับวัฒนธรรมของชาวลาวเวียงอันเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงที่แพร่กระจายเข้ามายังหมู่บ้านของตน โดยเหตุนี้ชาวไทยเชื้อสายเขมรใน ๓ หมู่บ้านดังกล่าวแล้วนี้จึงดำเนินอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่มีความหลายหลาก
ผลของการศึกษาได้พบ ว่าวัฒนธรรมพื้นบ้านของชนกลุ่มน้อย ๓ หมู่บ้านนี้มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. วัฒนธรรมพื้นบ้านที่แสดงความเป็นกลุ่มชนต่างเผ่าพันธุ์กับชาวไทย ได้แก่
๑.๑ ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ
๑.๑.๑ การเซ่นดนตา
๑.๑.๒ การเลี้ยงผี
๑.๑.๓ เบบาจาตุม
๑.๒ เพลงพื้นบ้านเขมร
๑.๒.๑ เพลงปฏิพากย์
๑.๒.๒ เพลงประกอบพิธีกรรม
๑.๓ งานหัตถกรรม
๑.๓.๑ งานไม้
๑.๓.๒ เครื่องปั้นดินเผา
๒. รับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนลาว
๓. รับวัฒนธรรมของชาวไทยภาคกลาง
๓.๑ วัฒนธรรมหลวง
๓.๒ วัฒนธรรมพื้นบ้าน
๓.๒.๑ เพลงพื้นบ้าน ได้แก่ เพลงประกอบ การเล่น (เพลงระบำ) เพลงประกอบการทำงาน (เพลงชางชัก) และเพลงประกอบพิธีกรรม (เพลงแห่นางแมวและเพลงสวดคฤหัสถ์)
๓.๒.๒ หัตถกรรมพื้นบ้าน
วัฒนธรรมพื้นบ้านที่แสดงความเป็นกลุ่มชนต่างเผ่าพันธุ์กับชาวไทย
ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ
ความเชื่อหลักของชนกลุ่มนี้ คือ ความเชื่อในอิทธิพลของดินฟ้าอากาศ และสิ่งแวดล้อม อันเป็นความเชื่อถือในธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่ามีอำนาจและสามารถให้คุณให้โทษได้ ความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อผีสางเทวดา แม้ชาวบ้านเหล่านี้จะนับถือพุทธศาสนาแล้วก็ตามที แต่ความเชื่อผีสางเทวดาอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมก็ยังคงเป็นรากฐานอยู่ชั้นล่าง พุทธศาสนาซ้อนอยู่ชั้นบนจะเห็นได้จากการผสมผสานความ
เชื่อดั้งเดิมเข้ากับการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตน ในบริเวณวัด แม้กระนั้นก็ยังมองเห็นความเชื่อผีบรรพบุรุษ (ancestor worship) อันเป็นรากฐานดั้งเดิมของเขาปรากฏอยู่ในประเพณีต่างๆ เช่น
การเซ่นดนตา (ส่งเรือ) เป็นประเพณีที่ทำต่อเนื่องกัน ๒ วัน คือ เย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เขานำอาหารและผลไม้ไปเช่นผีบรรพบุรุษในบริเวณโบสถ์ประมาณตี ๔ ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำนำอาหารเครื่องกิน เครื่องนุ่งห่ม รูปปั้นคนและสัตว์เลี้ยงใส่ลงไปในเรือที่ทำด้วยกาบกล้วย แล้วนำเรือไปลอยในแม่น้ำลำคลองหนองบึง ถือว่าเป็นการส่งอาหาร ผู้คนและสัตว์เลี้ยง พาหนะ ตลอดจนถึงเสื้อผ้า ไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้มีกินมีใช้ในภพนั้นๆ
การเลี้ยงผีเขมร การเลี้ยงผีเป็นพิธีกรรมในการรักษาโรคของชนกลุ่มนี้ เขาเชื่อกันว่ามีคนเจ็บป่วยในบ้านจะต้องผิดผี กล่าวคือผีญาติพี่น้องเป็นผู้ทำให้เจ็บป่วย วิธีรักษาต้องให้คนทรงเป็นผู้ติดต่อกับผีด้วยการทำพิธี “ขึ้นหิ้ง” อันเป็นพิธีเชิญผีญาติพี่น้องมาถามว่าผู้ป่วย ผิดผีผู้ใด คนทรงจะเชิญผีญาติพี่น้องด้วยเพลงประจำตัวของผีญาติพี่น้องเหล่านั้น ด้วยการเป่าปี่เขมรและตีกลองเขมร ผู้ป่วยอาจจะผิดผีทั้งฝ่าย บิดามารดา และผิดผีคราวละหลายๆ คนก็เป็นได้ บางคนผิดผีถึงญาติพี่น้องถึง ๑๑ คน เมื่อทราบว่าผิดผี ผู้ใดคนทรงก็ทำหนาที่บนบานศาลกล่าวแทนผู้ป่วย เมื่อหายป่วยจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีเขมรตามที่บนไว้ เครื่องเซ่นในการเลี้ยงผีได้แก่ เหล้า ไก่ต้ม หัวหมู กล้วย ๑ หวี และผ้าแดง ๑ ผืนสำหรับคลุมร่างคนทรง คนทรงจะทำพิธีเชิญผีด้วยการตีกลองและเป่าปีเป็นเพลงประจำตัวผีทีละตนเช่นเดิม เมื่อผีแต่ละตนรับเครื่องเซ่นแล้วคนทรงจะใช้น้ำมะพร้าวอ่อนพ่นศีรษะผู้ป่วยพรอมทั้งอวยชัยให้พรให้อยู่เย็นเป็นสุขก่อนจะเลิกพิธีเลี้ยงผีจะมีผู้รำเก็บดอกไม้ คือ พวงดอกลั่นทมที่ผูกอยู่ที่มุมผ้าขาวทั้ง ๔ มุม ที่ขึงอยู่ในห้องที่ประกอบพิธี อาวุธที่ใช้รำตัดดอกลั่นทมได้แก่ดาบ ผู้รำจะเป็นใครก็ได้อยู่ในพิธีเลี้ยงผีเวลาที่ติดต่อกับผีไม่ว่าจะเป็นพิธีใดก็ตามจะติดต่อในตอนกลางคืน
เบบาจาตุม เป็นประเพณีการแต่งงานหรือการขอขมาก็ตามอันเป็นประเพณีเกี่ยวกับการมีคู่ครองจะต้องมีการไหว้ผีปู่ย่าตายาย เครื่องเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายายได้แก่ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว อาหารคาวหวาน อย่างละ ๑ สำรับ เหล้า ๑ ขวด ไก่ต้ม ๑ ตัว และดอกหมาก ช่อละ ๓ ดอก เมื่อคู่บ่าวสาวไหว้ผีบรรพบรุษแล้วจะมีผู้กล่าวอวยพรเป็นภาษาเขมร ๓ ครั้ง ญาติพี่น้องจะซัดช่อดอกหมาก สลับกับคำอวยพรทั้ง ๓ ครั้ง พิธีนี้เรียกว่า “เบบาจาตุม” ข้อแตกต่างไปจากคนไทยอีกประการหนึ่ง คือ ในระหว่างงานแต่งงานฝ่ายชายจะต้องหาคนไปให้ฝ่ายหญิงใช้ในงานตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ส่วนพิธีรดน้ำก็เหมือนพิธีไทย กล่าวคือพระสงฆ์เป็นผู้ซัดน้ำก่อน แล้วจึงให้บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่รดที่ศีรษะ ส่วนเงินรับไหว้เรียกว่าเงินผูกแขน ญาติผู้ใหญ่รับไหว้ เป็นผู้ผูกข้อมือซ้ายของคู่แต่งงาน ในวันที่ ๓ ของพิธีแต่งงาน
อันที่จริง สาระสำคัญความเชื่อเรื่องผีของชาวบ้าน ๓ หมู่บ้านนี้ก็เหมือนกับชาวไทยทั่วๆ ไป กล่าวคือ เชื่อกันว่าผีมีอำนาจทั้งให้ดีและให้ร้าย ความแตกต่างอยู่ตรงพิธีกรรมเท่านั้น
ที่มาโดย:นารี สาริกะภูติ