ต้นไม้อัปมงคล

Socail Like & Share

ต้นไม้อีกพวกหนึ่งที่โบราณถือว่า ถ้าปลูกในบริเวณบ้านจะเกิดอัปมงคล ได้แก่ โพธิ์ ไทร หวาย ระกำ สลัดได โศก หว้า ยาง ตาล ตะเคียน ลั่นทม มะกอก สำโรง รัก ซ่อนกลิ่น-ซ่อนชู้ เฟื่องฟ้า ตะไคร้ ราตรี เป็นต้น

ต้นโพธิ์
โพธิ์ (Ficus religiosa, Linn)
โพธิ์ เป็นต้นไม้ที่ชาวพุทธถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จึงเห็นสมควรปลูกแต่เพียงในวัดวาอารามเท่านั้น
ฤดูแล้ง (ฤดูหนาวต่อฤดูร้อน) ใบและผลสุกร่วงหล่นสกปรกเลอะเทอะ ติดเท้าเปรอะเปื้อนขณะเดินผ่าน ประโยชน์ทางอื่นมีน้อย ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครคิดนำต้นโพธิ์เข้ามาปลูกในบริเวณบ้าน

ต้นไทร
ไทร (Ficus)
โดยเฉพาะไทรย้อย มีรากห้อยย้อยจากกิ่งลงดิน ส่วนเหนือดินกลับกลายเป็นต้น ดูระเกะระกะ แผ่ขยายปริมณฑลออกไปเรื่อยไม่มีขอบเขต พุ่มใบดกหนา บดบังแสงแดดแก่ต้นไม้อื่นๆ กิ่งใหญ่อาจหักพาดทับหลังคาบ้าน ทับต้นไม้ และข้าวของต่างๆ เสียหาย ประโยชน์อื่นไม่ปรากฏชัด

หวายระกำสลัดได
หวาย ระกำ สลัดได
ต้นไม้ทั้งสามชนิดนี้มีหนามแหลมคม หากทิ่มตำมือ หรือเท้าเข้าให้แล้ว จะมีอาการเจ็บปวด จะบ่งหรือแคะเขี่ยออกได้ยาก
หวาย พูดถึงหวาย หูพลันได้ยินเสียงแหวกอากาศ ดัง “เควี้ยว” กระทบแผ่นหลังดัง “ขวับ” เนื้อหนังแตกเป็นแนวนูน เลือดกระฉูด คิดว่าคงไม่มีใครอยากได้ยินได้ฟัง เสียงอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความโหดเหี้ยมทารุณทรมานได้ยินชื่อก็ไม่อยากเข้าใกล้เสียแล้ว
ระกำ นึกถึงความชอกช้ำระกำทรวง ลำบากตรากตรำ เชื่อทุกคนอยากหนีไปให้ไกลแสนไกล
สลัดได สลัดรัก สลัดชีวิตคู่ที่เคยมีความสุขร่วมกัน ก็คงไม่มีใครปรารถนา

โศก
โศก ปัจจุบันถึงจะเปลี่ยนชื่อเป็นอโศกแล้วก็ตาม คนส่วนใหญ่ก็ยังรำลึกถึงชื่อเก่าอยู่ โดยกริ่งเกรงไปว่าจะได้รับแต่ ‘‘ความทุกข์ โศกเศร้าอาดูร” ใจไม่นิยม

หว้า
หว้า เป็นไม้ยืนต้น กิ่งก้านเปราะฉีก หักง่าย ออกผลเล็กๆ ตามลายกิ่ง เด็กๆ ที่แขนเดาะ ขาหักเพราะตกต้นไม้ ถามดูเถอะรายไหนรายนั้น ตกต้นหว้ามากกว่าต้นไม้อื่น เหตุนี้กระมัง จึงไม่นิยมปลูกไว้ตามบ้าน

ต้นยาง
ยาง หมายถึง ไม้ยางแดง ลำต้นสูงใหญ่ ที่โค่นนำไม้มาปลูกบ้านสร้างเรือน ต่อโลงศพ เห็นใช้ไม้ยางมากกว่าไม้อื่น ลำต้นสูงใหญ่นานไปเกรงจะโค่นล้มทับบ้านช่อง ห้องหอ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครคิดปลูกใกล้บ้าน

ต้นตาล
ตาล ต้นตาลเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว วงศ์ปาล์ม มีระบบรากฝอย ไม่มีรากแก้ว ลำต้นสูงใหญ่ ใช้เวลาเลี้ยงดูนานกว่าจะให้ผล ไม่มีสิ่งใดเป็นแก่นสาร อาจล้มเมื่อใดก็ได้ไม่พบเห็นปลูกตามบ้าน คงเห็นขึ้นอยู่ตามหัวไร่ปลายนา เท่านั้น

ต้นตะเคียน
ตะเคียน ตะเคียนต้นใหญ่ เชื่อกันว่ามีผีสางนางตะเคียนสิงอยู่ (ผีนางตะเคียน) เป็นคติความเชื่อมาแต่เดิม

ต้นสน
สน คงหมายถึง สนทะเล สนปฏิพัทธ เชื่อกันต่อๆ มาว่า ต้องปลูกตามวัดไม่นิยมปลูกตามบ้าน โดยเชื่อว่าหากปลูกไว้ตามบ้านจะถึงกับ “ขัดสนจนปัญญา จะกระทำการใดๆ มักจะไม่ราบรื่น ติดขัดไปเสียหมด มาวิเคราะห์ดูใบสนที่ร่วงหล่นลงดิน ใบมีน้ำมัน เป็นเหตุให้หญ้ายังไม่อาจ
จะงอกงามได้ ดังนั้นต้นไม้อื่นที่อยู่ในบริเวณนั้นจะพลอยหงอยเหงาและตายไปด้วย
อีกประการหนึ่ง ใบสนทั้งสด แห้ง เป็นเชื้อไฟอย่างดี อาจเป็นชนวนทำให้เกิดการลุกไหม้ลามไปติดบ้านเรือน

ลั่นทม
ลั่นทม เหตุผลเดิม ชื่อฟังดูเป็นอัปมงคล “ประหนึ่ง ทำให้เกิดความทุกข์ระทมใจ” เหตุผลใหม่จากการวิเคราะห์ วิจัยพบว่า “ยางลั่นทมมีสารไซยาไนด์” ซึ่งมีพิษต่อสัตว์เลือดอุ่น เช่น คน
มะกอก มีหลายชนิด เช่น มะกอกน้ำ มะกอกน้ำหวาน มะกอกฝรั่ง ฯลฯ ทั้ง ๓ ชนิดชอบขึ้นใกล้น้ำ โบราณท่านคงเพ่งเล็งตรงชื่อมากกว่า ประโยชน์อื่นๆ เช่น ดูประหนึ่ง เป็นคนกลับกลอก ไม่มีความจริงใจ” หรือ “มะกอก สามตะกร้าปาไม่ถูก” เป็นต้น
สำโรง เป็นไม้เนื้ออ่อน มีใบย่อย ๑๐ ใบแยกออกจากจุดเดียวกัน คล้ายใบมันสำปะหลัง หรือใบนุ่น ถ่านไม้สำโรง ใช้เป็นส่วนผสมดินปืน ในการทำพลุ ตะไล ผลมีลักษณะคล้ายเมล็ดบัวหลวง แคะเนื้อภายในออก เหลือแต่เพียงเปลือกเมล็ด ประจุดินดำเข้าไปแทน โผล่สายชนวนออกมาจุดไฟ เมล็ดสำโรงนี้จะวิ่งส่ายไปมา เกิดเสียงดัง เหมือนหัวไม้ขีดไฟไหม้ไฟติดต่อกัน เราเรียกเครื่องเล่นแบบนี้ว่า “จู้จี้”
ต้นสำโรงมีชื่อฟังคล้ายกับโลง เชื่อกันว่ามีผีสิงอยู่

ต้นรัก
รัก หากคำนึงถึงความหมายแล้ว คงจะไม่มีใครนำไปปลูกบริเวณบ้านเป็นแน่ไม่ว่าจะเป็นรักเร่ ถึงปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น “รักแรก” แล้วก็ตาม รักลา (ดอกมีกลีบชั้นเดียว) หรือ “รักซ้อน” (มีกลีบดอกมากกว่าชั้นเดียว) ก็ตาม โดยเฉพาะบ้านที่มีบุตรสาวยังไม่แต่งงาน ถึงมีครอบครัวแล้วก็เถอะน่า คงไม่อยากให้เป็นไปตามชื่อ เท่าที่ทราบยางรักมีพิษ ถูกผิวหนังจะเปื่อยเน่า ยิ่งกว่านั้น “ตัวบุ้ง” (ตัวอ่อนของแมลงผีเสื้อ) ชอบอาศัยอยู่ตามใบและยอดอ่อน เกาะเข้าตรงที่ใดเป็นได้คันยิบทีเดียว

ซ่อนกลิ่น
ซ่อนกลิ่น-ซ่อนชู้ ซ่อนกลิ่นมีกลีบดอกชั้นเดียว ส่วนซ่อนชู้นั้นมีกลีบดอกหลายชั้น (กลีบซ้อน) ช่อดอกนิยมใช้ในงานศพมากกว่างานพิธีอื่นๆ ชื่อเสียงเรียงนามก็ไม่ไพเราะเสนาะหู แถมยังใช้ประโยชน์ในวงแคบ ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบเห็นปลูกตามบ้านเรือนทั่วไปเช่นดอกไม้อื่น

เฟื่องฟ้า
เฟื่องฟ้า ชื่อก็งามนามก็ไพเราะ กิรดังได้ยินได้ฟังมา ปลูกไว้ในบ้านแล้วคนในบ้านจะทะเลาะเบาะแว้ง เกิดระหองระแหงกัน เท็จจริงอยู่ที่คนบอก คงเป็นเพราะหนามที่แข็งและแหลมคมทิ่มตำเท้า กิ่งที่ยื่นยาวเก้งก้าง มันชอบเกี่ยวเสื้อผ้า หรือเบียดบังต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้ก็เป็นได้ ลองปลูกเล่นเป็นไม้แคระ (บอนไซ) ดูบ้างซี เลี้ยงให้ต้นแคระจิ๋วและออกดอกเล็กๆ สีสดใส สวยงามไม่เบาเชียว

ตะไคร้
ตะไคร้ กล่าวกันว่าตะไคร้บ้านใครออกดอกจะมีเรื่องหย่าร้าง บ้านแตกสาแหรกขาด มีอยู่รายหนึ่งพ่อแม่ลูกต้องแตกกระสานซ่านเซ็นพลัดพรากจากกัน ขายที่ขายบ้านกันเลยทีเดียว
หลายคนต่างลงความเห็น เพราะตะไคร้ที่บ้านนั้นออกดอก จึงเป็นเช่นโบราณว่าไว้
ข้าพเจ้าวิเคราะห์ผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุที่สามีเป็นนักเลงการพนัน เสียพนันขันต่อจนต้องจำนองจำนำ แถมเกิดมีเมียน้อยเข้าอีก จึงเกิดเรื่องดังกล่าว
มองกันในมุมกลับ เรื่องที่เกิดอาจมาพร้อมกับตะไคร้ออกดอกก็เป็นได้ หรือตะไคร้ที่ออกดอกมาให้เห็นเป็นลางสังหรณ์ บอกให้ทราบถึงความวิปริตและเหตุการณ์ในอนาคตของครอบครัวนั้น

ต้นราตรี
ราตรี ราตรี เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดย่อม ดอกบานตอนกลางคืน ส่งกลิ่นหอมฉุนไปไกล จึงได้รับการขนานนามว่า “ราตรี” รุ่งเช้าดอกที่บานตอนกลางคืนจะร่วงหล่นหมด
ชาวจีนอายุ ๖๐ ปีผู้หนึ่ง เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ในแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ แมนจู ปกครองแผ่นดินซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้าย ก่อนจะมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบราชาธิปไตย มาเป็นประชาธิปไตยแบบคอมมูน โดยมี ดร. ซุนยัดเซน เป็นผู้นำ
สมัยนั้นบ้านเศรษฐีและขุนนาง นิยมปลูกเรือนหอให้บุตรีของตน แยกอยู่ต่างหากกับสาวใช้
ในฤดูใบไม้ร่วง (ชิวเทียน) ซึ่งตรงกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ และฤดูใบไม้ผลิ (ชุนเทียน) คืนเดือนหงาย พระจันทร์เต็มดวง แสงนวลอร่ามตา บรรดาบุตรีของเศรษฐี และขุนนาง พร้อมด้วยบรรดาสาวใช้คนสนิทจะพากันยกจะเข้จีน (ซาเจ็ง) ออกมาที่สวนหน้าเรือนหอ จุดกำยานลงใน

กระถาง ๓ ขา ให้ขจรขจายกลิ่นไปทั่วปริมณฑล ดีดจะเข้จีนเล่นเพลงไปเที่ยงคืน
ท่ามกลางแสงจันทร์และเสียงเพลง ในยามราตรีที่สงัด บรรยากาศจึงอบอวลด้วยอารมณ์พิศวาส
บิดา มารดาของกุลสตรีสมัยนั้น มีประสบการณ์ผ่านวัยหนุ่มสาวมาก่อน ทราบดีว่ากลิ่นของดอกราตรีมีอำนาจเร้นลับในทางปลุกเร้าอารมณ์เพศอย่างรุนแรง จึงห้ามปลูกต้นราตรีในบ้านและบริเวณใกล้เรือนหอของบุตรีแห่งตน ด้วยกริ่งเกรงไปว่า อารมณ์อันเปล่าเปลี่ยวของบุตรีจะ กระเจิดกระเจิงเริงโลดไปด้วยเหตุนี้ต้นราตรีจึงเป็นดอกไม้ต้องห้ามมาตั้งแต่ครั้งกระโน้นเป็นต้นมา
ในเมืองไทยเท่าที่ทราบ บางคนแพ้กลิ่นหอมฉุนของต้นราตรี เชื่อกันว่าดมนานๆ แล้วอาจทำให้เป็นวัณโรค ที่เป็นภัยอีกอย่างหนึ่งก็คืองูปิ่นแก้วชอบพำนักอาศัยอยู่ในพุ่มใบของต้นราตรี
สิทธิการิยะ            ผิว่าปลูกสร้างบ้าน
อยู่เย็นเห็นสราญ        ท่านให้ปลูกไม้มงคล
บูรพาปลูกไม้ไผ่        สีสุก
จักอยู่เย็นศรีสุก            สละสล้าง
ต้นกุ่ม มะพร้าว รุกข        ชาติ
ภัยพยาธิผิว์ร้ายร้าง        ห่างหาย
อาคเนย์หมายปลูกต้น        สารภี
เจิดแจ่มจิตโสภี                สุขยั้ง
ต้นยอยลยอดี                ปรากฏ
อีกกระถินกันเสนียดทั้ง        อัปรีย์
ทักษิณดีปลูกต้นไม้        กินผล
มะม่วงมากมายผล            ระย้า
มะพลับ ตะโก ขวน            ขวายปลูก
แปลกเปลี่ยนกินเมื่อหน้า        ออกผล
หรดีดลปลูกไม้            พิกุล
ยลยั่งยืนพิพิธกุล                สืบเชื้อ
ราชพฤกษ์ อีก ขนุน            หนุนเนื่อง
แล สะเดา กันโทษเรื้อ            เริดพลัน
ประจิมสรรปลูกต้น        มะขาม
ยังศัตรูเกรงขาม                ห่อนใกล้
มะยมนิยมนาม                นินนาท
ผิว์พุทรากันภูติไสร้            สร่างซา
พายัพท่านให้ปลูก        มะพูด
เอาเคล็ดคนมาพูด            เยี่ยมยิ้ม
มะนาวและมะกรูด            สระเกศ
งามเกศกัณฐ์พักตร์พริ้ม        ละเมียดละมัย
อุดรให้ปลูกส้ม            ป่อยปวง
ปานปล่อยทุกข์โศกทรวง        สร้างเศร้า
ส้มซ่า ว่างหัวทะลวง            หน้ามืด
มะเดื่อ หนอนบ่อนเข้า            ขับคุณ
อีสานขุนปลูกต้น            ทุเรียน
ไม้รวก มะตูมเพียร            เสาะไว้
ขุดบ่ออุทกเสถียร            ชลฉ่ำ
สำหรับหน้าแล้งได้            ผักปลา
หนึ่งจงอย่าปลูกไม้        โพธิ์ ไทร
หวายระกำ สลัดได            โศก หว้า
ยาง ตาล ตะเคียนไข            แค ลั่น-ทมแฮ
มะกอก สำโรงกล้า            อมงคล ฯ
บทสรุป
มีต้นไม้อีกหลายชนิดที่ชาวชนบท ยังคงเชื่อถือกันอยู่มาก
ชื่อนั้นสำคัญไฉน
ที่จริง ชื่อต่างๆ ของผลไม้เป็นสิ่งสมมติขึ้นทั้งสิ้น ลองตริตรองด้วยปัญญาเอาเถิด ใช้สามัญสำนึกและหาเหตุผล ทางวิทยาศาสตร์เข้าแก้ปัญหาก็คงได้ความจริง
คนเฒ่าคนแก่พูดเตือนสติสะกิดใจให้คิดอยู่เสมอว่า “โบราณก็อย่าถือ” และ “โบราณก็อย่าทิ้ง” สิ่งใดมีเหตุผล หรือเรื่องใดที่ยังไม่ตกลงปลงใจเชื่อ ก็ควรรับฟังไว้ก่อน อย่าเชื่อจนขาดสติ รอจนกว่าได้พิสูจน์ความจริงด้วยตนเองเสียก่อน น่าจะมีความจริงแฝงอยู่บ้างเป็นแน่
คนแต่ก่อนท่านไม่พูดหรือบอกอะไรตรงๆ มักจะทิ้งคำพูดไว้เป็นปริศนาหรือพูดสั้นๆ “โบราณเขาถือ” หรือ “เขาถือกันมาอย่างนั้น” เป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราที่จะต้องค้นหาเอาเอง
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *