ต้นไม้ที่ควรปลูกในทิศตะวันตก

Socail Like & Share

ทิศประจิม (ตะวันตก) ตามตำราให้ปลูกต้น มะขาม มะยม พุทรา

มะขาม
มะขาม (Tamarindus indica, Linn)
เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ใบเล็กเป็นฝอยคล้ายใบโสน แผ่กิ่งก้านสาขา บานแจ้ ดอกเล็กๆ เป็นช่อสีเหลืองๆ แดงๆ ฝักกลมยาว มีรอยขั้นเป็นปล้องๆ มีรสเปรี้ยว ปลูกกันตามบ้าน วัดและริมถนน เป็นไม้ร่มเงาได้ดี มีทั่วประเทศ
ประโยชน์
ยอดอ่อน ดอกอ่อน ฝัก ทั้งอ่อนทั้งแก่ รับประทานเป็นอาหาร
ลำต้น ทำเป็นเขียงดีที่สุด เพราะเนื้อไม้หยุ่นเด้งได้ ทำครก สาก กระเดื่อง ทำเพลา ดุมรถ เกวียน กระสวย คาน กลึง และแกะสลักเผาเป็นถ่านให้ความร้อนสูง
ฝักมี ๒ ชนิด
ชนิดฝักกลมยาวค่อนข้างตรงเรียก “มะขามขี้แมว” มีรสเปรี้ยวพอควร
ชนิดฝักแบนใหญ่ยาว งอโค้งคล้ายเคียวเกี่ยวหญ้า รสเปรี้ยวจัด เรียก “มะขามกระดาน”
ประโยชน์ทางยา
เนื้อในฝัก เป็นยาถ่าย
เปลือก เป็นยาสมาน คุมธาตุ
เนื้อในเมล็ด เป็นยาเบื่อไส้เดือน
ใบอ่อน ต้มเอาน้ำโกรกศีรษะ แก้หวัดคัดจมูก
เปลือกหุ้มเมล็ด เรียก “มะขามขบ” คือ เมล็ดคั่วไฟให้ไหม้เกรียม กระเทาะเอาเปลือกออก เป็นยาฝาดคุมธาตุ
เส้นฝอยที่หุ้มเนื้อมะขาม เรียก “รกมะขาม” เป็นยา แก้โลหิตประจำเดือนพิการ
นํ้าส้มมะขามเปียกกับเกลือ ละลายน้ำสูบสวนทวาร แก้พรรดึก ท้องผูกได้ดี
คติความเชื่อ

เชื่อกันว่า ปลูกมะขามไว้ให้คนเกรงขามคร้ามเกรง

มะยม
มะยม (Phyllanthus distichus, Muell, Arg)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ต้นสูงประมาณ ๔-๕ เมตร ใบ กลมปลายแหลม เป็นใบประกอบแบบขนนก ดอก ออกเป็นสีแดงเรื่อๆ มีผลกลมโตขนาดนิ้วมือ มีพู ๓ พู ๖ เหลี่ยม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล รสเปรี้ยวจัด รับประทานเป็นอาหารได้
มีบางต้นพอออกดอกเต็มต้น แล้วก็ร่วงหมด ไม่ติดผลเลย เราเรียก “มะยมตัวผู้”
ประโยชน์ทางยา
ราก ใช้ปรุงเป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้ประดง แก้น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน แก้ไข้
ใบ ต้มเอาน้ำอาบแก้คัน, หืด หัด สุกใส ไข้หัวทั้งปวง
คติความเชื่อ
นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ยังเชื่อกันว่า “ปลูกต้นมะยมไว้” ผู้คนจะได้นิยมหรือมีนะเมตตามหานิยม ว่ากันยังงั้น

พุทรา
พุทรา (Zizyphus jujuba, Miller)
พุทรา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบกลมโต รูปไข่ ขนาด ๑ นิ้วฟุต ตามต้นและกิ่งก้านมีหนาม ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น ผลกลมโตเท่าผลมะไฟ
บางชนิดผลกลม ปลายผลแหลม คล้ายผลละมุด บางชนิดมีผลหวานสนิท บางชนิดเปรี้ยวและฝาด โดยมากเกิดขึ้นเองตามป่าทั่วๆ ไปแทบทุกจังหวัด และมีผู้ปลูกไว้ตามบ้านและสวน
ประโยชน์ทางยา
หมอแผนโบราณ ใช้เปลือกต้นซึ่งมีรสฝาดต้มรับประทานแก้ท้องร่วง แก้อาเจียน และใช้เมล็ดเผาไฟ ป่นทำเป็นยาแก้ซางชักของเด็กได้ดี บางแห่งใช้ใบตำสุมศีรษะเด็ก แก้หวัดคัดจมูกเวลาเย็นๆ
คติความเชื่อ
นิยมปลูกคู่กับมะยม คงหวังให้ผู้คนนิยมไม่สร่างซากระมัง
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *