ชีวิตราชการในรัชกาลที่ ๒ ของสุนทรภู่

ราวปีพ.ศ. ๒๓๕๖ ปรากฎว่ามีการทิ้งบัตรสนเท่ห์กันมาก จนกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระองค์เจ้าสุคันธรสในรัชกาลที่ ๑) ถูกกล่าวหาว่าทิ้งบัตรสนเท่ห์ และต้องถูกจำขัง สุนทรภู่ก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ทิ้งบัตรสนเท่ห์ด้วย ด้วยความกลัวต่อพระราชอาญาสุนทรภู่จึงหนีไปเพชรบุรีพร้อมกับแม่จัน โดยไปหลบซ่อนอยู่ที่ถํ้าเขาหลวงหลายวัน ความตอนนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชร ว่า

“โอ้ยามยากจากบุรินทร์มาถิ่นเถื่อน    ไม่มีเรือนแรมอยู่ในคูหา
เดือนสว่างต่างไต้เมื่อไสยา        แผ่นศิลาต่างฟูกกระดูกเย็น
ยังรินรินกลิ่นกลั่นจันทร์กระแจะ    เหมือนจะแนะนำจิตให้คิดเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น    โอ้จำเป็นเป็นกรรมจงจำไกล’’

ปลายปีพ.ศ. ๒๓๖๐ เมื่อเห็นว่าเรื่องสงบลงแล้ว สุนทรภู่และแม่จันได้พากันออกจากถํ้าไปพักที่บ้านขุนรองเพื่อนเก่าซึ่งเวลานั้นได้เลื่อนเป็นขุนแพ่งและมีภรรยาแล้ว ในเวลานั้นสุนทรภู่คงจะยึดอาชีพเป็นครูบ้าง แต่งหนังสือบ้าง จนมีลูกศิษย์หญิงชายหลายคน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า บางทีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะได้ทอดพระเนตรเห็นสำนวนกลอนของสุนทรภู่ในเวลาสอบสำนวน หาผู้ทิ้งหนังสือสนเท่ห์คราวนั้นและงานที่สุนทรภู่แต่งขึ้น เช่น โคบุตร นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท คงจะปรากฎชื่อเสียงทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์คงจะพอพระราชหฤทัยในความสามารถและความรอบรู้ของสุนทรภู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอาตัวมารับราชการเป็นอาลักษณ์ ในขณะนั้นคงเป็นเวลาที่สุนทรภู่และแม่จันยังคงอยู่ที่เพชรบุรี และเมื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ ญาติผู้ใหญ่คงจะหมดความรังเกียจเพราะเห็นว่าได้รับราชการตามพระบรมราชโองการ จึงอนุญาตให้สุนทรภู่และแม่จันเข้าพักอาศัยในพระราชวังหลังตามเดิม

สุนทรภู่ได้รับราชการในกรมอาลักษณ์ ในปีพ.ศ. ๒๓๖๓ ขณะนั้นอายุได้ ๓๕ ปี และตอนต้นปีพ.ศ. ๒๓๖๓ แม่จันก็ให้กำเนิดบุตรคือหนูพัด

ในระหว่างรับราชในราชสำนักรัชกาลที่ ๒ นี้ สุนทรภู่ได้ทำความดีความชอบหลายครั้ง จนเป็นที่โปรดปรานมากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นกวีที่พอพระทัยในการพระราชนิพนธ์บทละคร ในราชสำนักของพระองค์มีกวีที่ปรึกษาหลายคน ตำแหน่งของสุนทรภู่เป็นตำแหน่งที่ต้องอยู่รับใช้อย่างใกล้ชิดในการพระราชนิพนธ์ กล่าวกันว่าสุนทรภู่ได้รับความชอบเมื่อสามารถต่อกลอนพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทนางสีดาว่า

“จงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด    เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่”

บทที่จะแต่งต่อไปเกิดขัดข้อง คือจะต้องแต่งบทของหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาได้โดยเร็ว เหล่ากวีซึ่งเป็นที่ปรึกษาไม่มีใครสามารถจะแต่งบทให้พอพระราชหฤทัย จึงทรงลองดำรัสให้สุนทรภู่ แต่งต่อ สุนทรภู่ได้แต่งต่อไปว่า

“ชายหนึ่งผูกศออรไท        แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
บัดนั้น                วายุบุตรแก้ได้ดังใจหาย”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพอพระราชหฤทัยและยกย่องความฉลาดของสุนทรภู่ในคราวนี้มาก เพราะบทที่สุนทรภู่แต่งถวายเข้ากับกระบวนการเล่นละครได้เหมาะสมดีมาก

อีกครั้งหนึ่งเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ถึงตอนศึกสิบขุนสิบรถ บทชมรถทศกัณฐ์มีว่า

“รถที่นั่ง                บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล    ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง        เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน            พื้นแฝนดินกระเด็นไปเป็นจุณ”

ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะแต่งต่อไป โดยมีความประสงค์จะให้มีความประกอบให้สมกับเป็นรถมหึมาจริงๆ จึงโปรดให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่จึงว่า

“นทีตีฟองนองระลอก        คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน    อนันต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท    สุราวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเลือน        คลาเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา”

เล่ากันว่าความที่สุนทรภู่แต่งถวายนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงยกย่องสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาคนหนึ่ง และทรงตั้งให้เป็นขุนสุนทรโวหาร มีตำแหน่งในกรมพระอาลักษณ์ ได้รับพระราชทานให้ปลูกบ้านอยู่ใกล้ท่าช้าง แต่อยู่ในกำแพงวังชั้นนอก และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าเป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่ง เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน

สุนทรภู่ได้เป็นขุนนางและมีตำแหน่งรับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ประกอบคุณความดีและได้รับความดีความชอบในฐานะทีแต่งกลอนได้ถูกพระทัยหลายครั้ง แต่กระนั้น สุนทรภู่ก็ยังมิได้ละทิ้งนิสัยเจ้าชู้และความเป็นนักเลงสุรา ครั้งหนึ่งสุนทรภู่เมาสุราอย่างเต็มที่ได้ไปหามารดา เมื่อมารดากล่าวตักเตือนก็อาละวาดขู่เข็ญต่างๆ ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งได้เข้ามาห้ามปราม สุนทรภู่ซึ่งเป็นคนมีอารมณ์ฉุนเฉียวอยู่แล้ว และประกอบด้วยฤทธิ์ของสุราจึงเกิดโทสะมากขึ้น เข้าทำร้ายร่างกายญาติผู้ใหญ่ถึงกับบาดเจ็บสาหัส ญาติผู้นั้นได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเป็นเหตุให้กริ้วมาก จึงรับสั่งให้เอาตัวสุนทรภู่ไปจำคุก และสุนทรภู่ได้นำประสบการณ์ที่ต้องติดคุกครั้งนี้มาแทรกไว้ในเสภาเรื่องขุนช้าง- ขุนแผน ตอนเมื่อพลายงามจะขออยู่ในคุกกับขุนแผน

มีคำเล่ากันมาอีกข้อหนึ่งว่าในระหว่างที่ติดคุกนั้น สุนทรภู่ได้เริ่มแต่งหนังสือเรื่องพระอภัยมณีขึ้น เพื่อขายฝีปากเลี้ยงตัวในเวลาที่ติดคุกอยู่นั้น (แต่กรมศิลปกรสันนิษฐานว่า สุนทรภู่คงจะแต่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นขายจริงแต่คงไม่ใช่เรื่องพระอภัยมณี เพราะเรื่องพระอภัยมณีนั้นสุนทรภู่เริ่มแต่งในสมัยรัชกาลที่ ๓)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงความตอนนี้เอาไว้ว่า ประเพณีการแต่งหนังสือขายในสมัยเมื่อยังไม่ใช้การพิมพ์นั้น เมื่อแต่งขึ้นแล้วใครอยากจะอ่านก็มาขอลอกเอาไป ผู้แต่งคิดเอาค่าแต่งตามแต่ผู้ต้องการอ่านจะยอมให้ ผู้มีชื่อเสียงเช่นสุนทรภู่คงจะได้ค่าแต่งแรงอยู่ ประเพณีที่กล่าวมานี้เป็นทางหากินของพวกกวีที่ขัดสนมาช้านาน คุณพุ่มธิดาพระราชมนตรี (ภู่) ยังแต่งกลอนขายมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕

สุนทรภู่ติดคุกได้ไม่นานก็พ้นโทษในราวปลายปีพ.ศ. ๒๓๖๔ หรือต้นปีพ.ศ. ๒๓๖๕ เหตุที่พ้นโทษนั้นเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งติดขัดไม่มีผู้ใดจะแต่งต่อให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยได้ จึงรับสั่งให้เบิกตัวสุนทรภู่ออกมา สุนทรภู่มีโอกาสต่อกลอนต้องพระราชหฤทัยอีกครั้งหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้ออกจากคุกมารับราชการตามเดิม

เมื่อตอนที่สุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาอยู่นั้นได้คุยว่า สำนวนกลอนที่จะแต่งให้เป็นคำปากตลาดนั้น ต้องเป็นไพร่เช่นตนจึงจะแต่งได้ ความข้อนี้มีนัยความหมายว่า ถ้าเป็นเจ้านายก็คงจะแต่งไม่ได้ ความนี้ทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไกรทอง เพื่อพิสูจน์ให้ปรากฏว่าเจ้านายก็ทรงแต่งกลอนให้เป็นสำนวนตลาดได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่ากันว่าสุนทรภู่ได้ทำให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไม่พอพระทัยหลายครั้ง เรื่องมีว่า พระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมอบให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไปแต่งบทละครเรื่องอิเหนาตอนบุษบาเล่นธาร เมื่อทรงพระนิพนธ์แล้วก็รับสั่งให้สุนทรภู่ช่วยตรวจแก้ สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่าเห็นดีอยู่แล้ว ความบางตอนตามพระนิพนธ์ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ว่า

“น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว    ว่าย (ปลา) แหวกกอบัวอยู่ไหวไหว”

เมื่อถึงเวลาอ่านถวายหน้าพระที่นั่ง ต่อหน้าชุมนุมกวีที่ปรึกษา สุนทรภู่กลับตีบทข้างต้นว่า ยังมีข้อบกพร่องและข้อแก้เป็น

“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา    ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว”

พระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดและทรงรับสำนวนที่สุนทรภู่แก้ขึ้นใหม่ การกระทำดังกล่าวทำให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงละอาย เพราะเป็นการหักหน้าและมีเจตนากลั่นแกล้ง เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่

ต่อมาสุนทรภู่ได้ทำเรื่องให้เป็นที่ขัดพระทัยของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัยรับสั่งให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แต่งบท ละครเรื่องสังข์ทองตอนท้าวสามลให้ธิดาทั้งเจ็ดเลือกคู่ พระองค์ทรงนิพนธ์คำปรารภของท้าวสามลว่า

“จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว    ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา”

ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ได้ติติงเป็นเชิงคำถามว่า “ลูกปรารถนาอะไร” พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแก้ใหม่ว่า “ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา” ทรงขัดเคืองสุนทรภู่มากยิ่งขึ้น และนับแต่นั้นมาก็ทรงมึนตึงสุนทรภู่มาตลอด

ในระหว่างรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๒ นี้ สุนทรภู่ได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อนิ่ม เป็นชาวบางกรวย มีบุตรด้วยกันชื่อตาบ อาจจะด้วยเหตุที่สุนทรภู่มีภรรยาใหม่หรือเป็นเพราะเหตุอย่างอื่นทำให้แม่จันหย่ากับสุนทรภู่ แล้วไปมีสามีใหม่ ส่วนภรรยาคนที่ชื่อนิ่ม พอมีบุตรได้ไม่ช้าก็ตาย เจ้าครอกข้างในจึงรับบุตรสุนทรภู่ทั้งสองคนไปเลี้ยงในพระราชวังหลัง นอกจากภรรยาที่ชื่อจันกับชื่อนิ่มแล้ว สุนทรภู่ยังมีคู่รักอีกหลายคนซึ่งระบุชื่อไว้ในนิราศ แต่ไม่ปรากฏว่าสุนทรภู่อยู่กับใครได้นาน

ตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ราวปีพ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๗ สุนทรภู่ทำหน้าที่ถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งประสูติกับเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยดี พระอัครชายา ในช่วงนี้สุนทรภู่ได้แต่งกลอนเรื่องสวัสดิรักษาถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ และกรมศิลปากรยังเข้าใจว่าสุนทรภู่คงจะได้เริ่มแต่งเรื่องสิงหไกรภพตอนต้นๆ ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ด้วย

สุนทรภู่รับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงปีวอก พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ทรงพระประชวร และได้เสด็จสวรรคตในปีเดียวกันนั้น ภายหลังประชวรอยู่ได้ ๘ วัน สิริพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา
ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ชีวประวัติของสุนทรภู่

สุนทรภู่
สุนทรภู่เป็นกวีคนสำคัญของชาติคนหนึ่ง ชีวิตของท่านอยู่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นกวีที่มีชีวิตอยู่ถึง ๔ แผ่นดิน คือถือกำเนิดในรัชกาลที่ ๑ และถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ ๔ ถึงแม้ในยุคสมัยของสุนทรภู่จะมีกวีที่เรืองนามอีกหลายท่าน และแต่ละท่านมีความเด่นในด้านของตนเอง พระบาท¬ศมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นจินตกวีบทละครรำที่มีพระเกียรติสูงสุด สมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงสันทัดในด้านลิลิตและฉันท์จนหาใครเทียบได้ยาก นายนรินทร์ธิเบศ (นรินทร์อิน) เป็นยอดในเรื่องโคลงรำพันพิศวาส สำหรับสุนทรภู่เป็นเอกเหนือกวีคนอื่นๆ ในเรื่องกลอนสุภาพและนิยายประโลมโลก

สุนทรภู่” เป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไป โดยการนำบรรดาศักดิ์มาผสมกับชื่อจริง กล่าวคือ ชื่อเดิมของท่านว่า “ภู่” และเมื่อรับราชการได้รับแต่งตั้งเป็น “ขุนสุนทรโวหาร”ในรัชกาลที่๒ และ เป็น “พระสุนทรโวหาร” เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๔

แม้ว่าสุนทรภู่จะมีชาติกำเนิดในตระกูลสามัญชน แต่ด้วยความสามารถปราดเปรื่องในการแต่งกลอน ได้ช่วยส่งให้สุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาในราชสำนัภของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่วรรณคดีประเภทร้อยกรองได้เจริญถึงขีดสุด อาจจะกล่าวได้ว่าสุนทรภู่เกิดมาเพื่อเขียนหนังสือโดยแท้ ท่านเขียนหนังสือได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขียนมาตลอด ๔ รัชกาล ประมาณ ๕๐ ปี และสามารถจะเขียนหนังสือได้ทุกสถานที่ ทั้งในบ้าน ในวัด ในวัง ในเรือ หรือในคุก ผลงานของท่านจึงให้คุณค่าอย่างสูงส่ง เป็นที่ชื่นชมของประชาชนชาวไทยมาจนทุกวันนี้และกวีรุ่นหลังได้อาศัยทัศนะงานนิพนธ์เป็นแบบอย่างสืบมา

ชีวประวัติของสุนทรภู่ประดุจความฝันหรือนวนิยายเรื่องหนึ่ง เพราะตลอดชีวิตเต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่สั่นสะเทือนใจ มีทั้งความรุ่งโรจน์ ตกยากทุกข์เข็ญจนเลือดตาแทบกระเด็น แล้วก็กลับรุ่งโรจน์ขึ้นมาอีก มีตำแหน่งเป็นกวีที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ทีเป็นจอมกวี แต่ต่อมาต้องกลายเป็นคนขี้คุก เป็นพ่อค้าเรือเร่ เป็นคนเจ้าชู้ หรือแม้แต่เป็นคนขี้เมาเมียทิ้ง

ศาสตราจารย์เจือ สตะเวทิน ได้กล่าวถึงผลงานของสุนทรภู่ไว้ว่า หากสุนทรภู่สามารถใช้สื่อภาษาที่เป็นสากล ในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือใช้ภาษาที่คนทั่วโลกสามารถเข้าใจ หรือว่าโลกสามารถเข้าใจภาษาไทยได้ดีกว่านี้ เมื่อนั้นทั่วโลกอาจจะตะลึงในจิตตารมณ์ที่สุนทรภู่ได้สร้างขึ้น เพราะจิตใจและวิญญาณในทางศิลปะการประพันธ์ของสุนทรภู่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากวีชาติอื่นเลย แต่ในเมื่อโลกเข้าใจภาษาไทยน้อยมาก เสียงศิลปะและความคิดของสุนทรภู่จึงก้องกังวานอยู่เฉพาะ ภายในประเทศไทยเท่านั้น ไม่สะท้อนออกไปกว้างไกลเท่าใดเลย

ถึงแม้ว่าสุนทรภู่จะถึงแก่อนิจกรรมไปนานแล้ว แต่ผลงานนิพนธ์ของท่านยังคงอยู่ ยังเป็นมรดกที่ลํ้าค่าของชาติไทย โดยเฉพาะงานนิพนธ์ที่เป็นนิราศยังเป็นที่ประทับใจมาตลอด เมื่อถึงวันนี้ ชาวไทยได้เทิดทูนท่านในฐานะอมตกวีที่ควรแก่การสดุดีเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันยกย่องว่าเป็น “บรมครูทางกลอนแปด” และในปีพ.ศ. ๒๕๒๗ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เสนอต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้ประกาศเกียรติคุณว่า สุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของชาติไทย มีผลงานทางด้านวัฒนธรรมดีเด่นและเป็นกวีของประชาชน รวมทั้งให้องค์การแห่งนี้ช่วยเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของสุนทรภู่ไปยังสมาชิกทั่วโลกอีกด้วย

ในการเรียบเรียงชีวประวัติของสุนทรภู่ครั้งนี้ ผู้เขียนขอน้อมถวายความเคารพแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงพระนิพนธ์ประวัติสุนทรภู่ขึ้นมา และคำสันนิษฐานของพระองค์ได้เป็นแนวสำหรับผู้สนใจรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแนวทาง นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้อาศัยงานเขียนของผู้รู้อีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์เจือ สตะเวทิน อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล เป็นบรรทัดฐานในการเรียบเรียงครั้งนี้ จึงกราบเรียนมาด้วยความเคารพและสำนึกในพระคุณมาตลอด

ปฐมวัยของอมตกวี

พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่คนทั่วไปเรียกกันเป็นสามัญว่า “สุนทรภู่” เกิดในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือนแปด ขึ้น ๑ คํ่า ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ภายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าได้ ๑๙ ปี และหลังจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีได้ ๔ ปี ในระยะนั้นเป็นเวลาที่ประเทศไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระทุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้องทำศึกสงครามกับกองทัพพม่าที่ตำบลท่าดินแดง

สุนทรภู่เกิดในสกุลสามัญชน บิดามารดาชื่อใดไม่ปรากฎ เกี่ยวกับบรรพชนของสุนทรภู่ มีการสันนิษฐานเอาไว้หลายประเด็นตามหลักฐานที่แต่ละคนได้ศึกษามาและยังเป็นที่ถกเถียงกันจนทุกวันนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า บิดาของสุนทรภู่ เป็นชาวบ้านกรํ่า ในเขตอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชาวเมืองใด ได้มาอยู่ด้วยกันในกรุงเทพฯ เมื่อสุนทรภู่อายุได้ประมาณ ๒ ขวบ บิดากับมารดาได้หย่ากัน ฝ่ายมารดาได้สามีใหม่ มีลูกหญิงสองคนชื่อฉิมและนิ่ม และได้เป็นนางนมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ จึงได้อยู่กับมารดาที่พระราชวังหลัง และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังตั้งแต่ยังเด็ก

บางท่านได้สันนิษฐานไว้ว่า บรรพบุรุษฝ่ายบิดาและมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ปู่ของสุนทรภู่ได้พาญาติและบิดาของสุนทรภู่ซึ่งขณะนั้นยังเล็กอยู่ พยายามลงมาตามสายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านกรํ่า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ปู่ของสุนทรภู่คงจะรับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย และเมื่อสิ้นสมัยกรุงธนบุรีจึงได้กลับไปอยู่ที่ระยองตามเดิม ส่วนบรรพบุรุษทางฝ่ายมารดาเป็นชาวไทยที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน และมาตั้งหลักฐานอยู่ที่กรุงธนบุรี มารดาของสุนทรภู่จึงเป็นชาวกรุงธนบุรีนั้นเอง

นายล้อม เพ็งแก้ว อาจารย์ภาษาไทยวิทยาลัยครูเพชรบุรี ได้สันนิษฐานและแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบรรพบุรุษของสุนทรภู่ โดยพบหลักฐานที่ปรากฎท้ายเรื่องนิราศเมืองเพชรที่พบใหม่ และได้สรุปไว้ว่าบรรพชนของสุนทรภู่เป็นสกุลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี ตอนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าก็ได้พลัดพรากกันไป ต่อเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว บรรพชนรุ่นบิดามารดาจึงได้มาเป็นข้าอยู่ในกรมพระราชวังหลัง

การศึกษา สุนทรภู่ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ริมคลองบางกอก¬น้อย กรุงเทพฯ ดังความที่ปรากฎในโคลงนิราศสุพรรณ ตอนหนึ่งว่า

“วัดปะขาวคราวรุ่นรู้        เรียนเขียน
ทำสูตรสอนเสมียน            สมุดน้อย
เดินระวางระวังเวียน            หว่างวัด ปะขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย            สวาทห้างกลางสวน”

สุนทรภู่คงจะมีความเฉียวฉลาด ปราดเปรื่องในเรื่องวิชาการทางการหนังสือเป็นอย่างยิ่ง มีความรู้ในวิชาเลขและหนังสือ ต่อมาได้สอนวิชาเหล่านี้ให้แก่ผู้ที่จะทำหน้าที่เสมียน โดยสอนอยู่ที่วัดชีปะขาว นอกจากจะมีอาชีพครูแล้ว สุนทรภู่ยังได้เคยเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวนและอาชีพ บอกดอกสร้อยสักวา ซึงเป็นการละเล่นที่นิยมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

เป็นที่น่าเสียดายว่า บทสักวาของสุนทรภู่ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ และไม่มีใครจดจำเอาไว้ จึงไม่เป็นที่ทราบกันแพร่หลาย มิฉะนั้นแล้วชาวไทยคงจะได้ชื่นชมโวหารของสุนทรภู่ทางด้านนี้ ในหนังสือของ ศาสตราจารย์เจือ สตะเวทิน ได้เขียนสักวาที่เป็นโวหารของสุนทรภู่เอาไว้บทหนึ่ง โดยกล่าวไว้ว่าทราบมาจากนายแปลก หลานสุนทรภู่ จึงขอคัดมาอีกต่อหนึงดังนี้

“สักวามาพบประสบโฉม    งามประโลมผิวสีฉวีเหลือง
เมื่อผันแปรแลพบหลบชำเลือง    ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
พี่หมายรักจักถนอมใคร่กล่อมเกลี้ยง    เป็นคู่เคียงเรียงน้องประคองโฉม
ไม่สมรักหนักหน่วงเพียงทรวงโทรม    มิได้โลมน้องแก้วเสียแล้วเอย”

การเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนมาตั้งแต่วัยรุ่นเช่นนี้ ประกอบกับการมีใจรัก ทำให้สุนทรภู่ไม่ชอบทำงานด้านอื่นจึงลาออกจากงานมาอยู่ที่พระราชวังหลังกับมารดาเช่นเดิม และหันเหวิถีชีวิตสู่การประพันธ์บทกลอนตามใจรัก ในช่วงนี้สุนทรภู่คงจะมีชื่อเสียงและเริ่มเป็นที่รู้จักกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะในวงการสักวาและกลอนดอกสร้อยและคงจะแต่งบทกลอนเบ็ดเตล็ดต่างๆ รวมทั้งนิทานคำกลอนเรื่องโคบุตรด้วย แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสุนทรภู่แต่งนิทานเรื่องโคบุตรเมื่อใด สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งก่อนนิราศเมืองแกลง หรือเมื่ออายุประมาณ ๒๐ ปี

วัยหวานของท่านภู่

ด้วยวัยที่หนุ่มคะนอง ประกอบกับความเป็นอัจฉริยะในเชิงกลอน และการได้พำนักในบริเวณพระราชวังหลังทำให้สุนทรภู่ได้ไปลอบรักกับสาวชาววังชื่อจัน เมื่อความนี้ทรงทราบถึงกรมพระราชวังหลัง เป็นเหตุให้ถูกกริ้วและต้องโทษเวรจำด้วยกันทั้งคู่ แต่ถูกขังอยู่ได้ไม่นานเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตในปีพ.ศ. ๒๓๔๙ ทั้งคู่ก็พ้นโทษ

หลังจากพ้นโทษแล้วพอถึงปีพ.ศ. ๒๓๕๐ สุนทรภู่ได้ออกเดินทางไปเมืองแกลง จังหวัดระยองเพิ้อไปหาบิดาซึ่งกำลังบวชอยู่ ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี สาเหตุของการไปเมืองแกลงอีกประการหนึ่งคือ เพื่อต้องการจะไปบวชเป็นการสะเดาะเคราะห์กรรมที่ถูกคุมขัง หรือมีอายุครบเกณฑ์บวชแล้ว ในการเดินทางมีลูกศิษย์ช่วยแจวเรือไปให้สองคน แสดงว่าในเวลานั้นสุนทรภู่เริ่มจะมีชื่อเสียงบ้างแล้ว จึงมีผู้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ในครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเมืองแกลงขึ้น นับเป็นนิราศเรื่องแรก

เส้นทางไปเมืองแกลงของสุนทรภู่คราวนั้น โดยออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนเจ็ด ใช้เรือประทุนเป็นพาหนะเดินทาง นอกจากจะมีลูกศิษย์ช่วยแจวเรือให้แล้ว ยังมีคนขี้ยาชาวเมืองระยองรับนำทางอีกคนหนึ่ง ออกไปทางคลองสำโรง คลองศีรษะจระเข้ ไปออกปากนํ้าบางมังกร (บางปะกง) แล้วขึ้นบกที่บางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี จากนั้นเดินทางบกต่อไป เมื่อถึงเมืองระยองคนขี้ยาที่ทำหน้าที่นำทางได้หลบหนี สุนทรภู่พยายามถามชาวบ้านจนถึงวัดป่าที่บิดาบวชอยู่

เมื่อได้พบบิดาแล้วแต่ยังไม่ได้บวชสุนทรภู่ก็ป่วยเป็นไข้ป่า รักษาตัวอยู่หลายวันกว่าจะหายเป็นปกติและล้มเลิกความคิดที่จะบวช จากนั้นได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ รวมเวลาที่สุนทรภู่ออกไปเมืองแกลงราว ๓ เดือน เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็มาอยู่ที่พระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ (พระโอรสองค์น้อยในกรมพระราชวังหลัง) ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง และได้แม่จันมาเป็นภรรยาคนแรก ซึ่งคงจะเป็นเพราะพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลัง หรือที่เรียกกันว่าเจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ประทานให้ แต่สุนทรภู่อยู่กินกับแม่จันได้ไม่นานเท่าใดก็มีเรื่องทะเลาะโกรธกัน อาจจะมีสาเหตุมาจากนิสัยเจ้าชู้หรือนิสัยชอบดื่มเหล้าจนเมามายของสุนทรภู่ก็เป็นได้

ปีพ.ศ. ๒๓๕๐ สุนทรภู่ได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์พระโอรสในกรมพระราชวังหลังไปนมัสการพระทุทธบาท จังหวัดสระบุรี กลับมาได้แต่งนิราศพระบาทขึ้น มีถ้อยคำครํ่าครวญ อาลัยความรักที่มีต่อแม่จันเป็นอย่างยิ่ง ในระยะนั้นคงจะยังโกรธกันอยู่ ดังความบางตอนในนิราศพระบาท

“นี่ดู ดู เราขาดแล้วบาดจิต    พี่ขาดมิตรมาไกลถึงไพรสัณฑ์
นึกเฉลียวเสียวทรวงถึงดวงจันทร์    จะขาดกันเสียเหมือนเขาพี่เข้าใจ”

ต่อมาแม่จันคงจะนำความเรื่องนิสัยเมาเหล้าของสุนทรภู่ไปร้องทุกข์ต่อพระองค์เจ้าปฐมวงค์ เป็นเหตุให้ทรงขุ่นเคืองพระทัย เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สุนทรภู่รู้สึกคับแค้นใจจึงลาออกจากมหาดเล็ก โดยไปหาอาชีพใหม่ในทางเป็นผู้บอกบทละคร และน่าจะไปบอกบทให้แก่คณะของนายบุญยัง นายโรงละครนอกที่มีชื่อเสียง สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้เป็นหลักฐานในโคลงนิราศสุพรรณว่า

“บางระมาดมิ่งมิตรครั้ง    คราวงาน
บอกบทบุญยังพยาน            พยักหน้า
ประทุนประดิษฐาน            แทนห้อง หอเอย
แหวนประดับกับผ้า            พี่อ้างรางวัล”

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ยอดกวีศรีสยาม

สุนทรภู่10
ยี่สิบหกมิถุนาเวียนมาถึง
หวนคำนึงยอดกวีศรีสยาม
สุนทรภู่ครูกลอนกระฉ่อนนาม
ต่างเกรงขามในฝีมือเลื่องลือไกล
สิบนิ้วน้อมประนมก้มเกศา
กราบบูชาคารวะอาจารย์ใหญ่
วางรากฐานกานท์กลอนอักษรไทย
ตราตรึงไว้ในแผ่นดินศิลป์กวี
ชีวิตเศร้าเคล้าทุกข์ทั้งสุขโศก
ยามวิโยคถูกถอดยศหมดศักดิ์ศรี
ต้องขึ้นล่องผจญภัยในนที
เมาสตรีทั้งเมารักเมาอักษรา
พระสุนทรโวหารผ่านชีวิต
จนสัมฤทธิ์งานอเนกเอกล้ำค่า
เพราะเจ้านายหลายองค์ทรงกรุณา
ชุบเลี้ยงมาคราเริ่มต้นจนเปรมปรีดิ์
สองศตวรรณสุนทรภู่ครูท่านเกิด
ทั่วโลกเทิดคุณวุฒิพิสุทธิ์ศรี
ยูเนสโกจัดฉลองสองร้อยปี
ยอดกวีศรีสยาม สมนานเทอญ
ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

คำสดุดีพระสุนทรโวหาร(ภู่)

สุนทรภู่9

เนื่องในวาระครบรอบวันเกิดสองร้อยปี
ไทยผ่องเพ็ญเด่นท้าสายตาโลก    ไม่ใช่โชคหรืออำนาจอันอาจหาญ
แต่ที่เลิศเจิดจรัสชัชวาล            นั้นเพราะงานศิลปวัฒนธรรม
พระสุนทรโวหารชาญอักษร        บิดากลอนครบคล้อยสองร้อยฉนำ
และสหประชาชาติประกาศย้ำ        เป็นปราชญ์ล้ำเลิศหล้าในสากล
ปราชญ์ไทยเฟื่องเลื่องหล้ามีห้าท่าน    สร้างผลงานจรัสยุคทุกแห่งหน
เพียงหนึ่งผู้อยู่ในชั้นสามัญชน        น้อมนำคนไทยมวลล้วนภูมิใจ
สุนทรภู่สู้สร้างสรรค์วรรณศรี        มอบชีวีไว้กับกลอนอักษรสมัย
จึงมากล้นผลประพันธ์อันเกริกไกร        ลูกหลานไทยศึกษาตราบช้านาน
ศิลปากรอนุรักษ์พิทักษ์ศิลป์        ไว้คู่ถิ่นแผ่นดินไทยเพิ่มไพศาล
วรรณคดีที่เพียงเพ็ญเด่นตระการ        มีงานท่านภู่ประจักษ์เป็นหลักตรา
คราวฉลองสองร้อยปีกวีรัตน์        ซึ่งโลกชัดเชิดหนุนรับคุณค่า
กรมศิลปากรพร้อมน้อมบูชา        ด้วยมาลากานท์กวีช่อนี้เอย
ที่มา:จุลสารกรมศิลปากร
สดุดีสุนทรภู่
“เมืองใด ไม่มีกวีแก้ว
เมืองนั้น ไม่แพร้วพิสมัย
เพราะมีสุนทรภู่ฟื้นฟูใจ
จึงเมืองไทยประเทืองดังเมืองทอง
เอกอาลักษณ์ศักดิ์ศรีกวีสยาม
ภาษางามยิ่งเพชรอันเก็จก่อง
เทิดศิลป์ศาสตร์ประกาศธรรมเกียรติลำยอง
ไทยทั้งผองน้อมคารวะสดุดี
ที่มา:โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์

บทประพันธ์สุนทรภู่

สุนทรภู่8

ครูกลอนท่านสอนรัก
ยกนิ้วประนมกรวอนเหนือเศียร    ต่างธูปเทียนบูชาอาจารย์สอน
สุนทรภู่อาการย์ด้านกาพย์กลอน        อำนวยพรให้เขียนคล่องต้องใจชน
สุนทรภู่ครูกลอนท่านสอนรัก    แจ้งประจักษ์ความจริงสิ่งสับสน
ที่ว่ารัก รักนั้นฉันมืดมนธ์            จึงคิดค้นอ่านกลอนสุนทรเรียน
ช่างหวานฉ่ำเย็นชื่นระรื่นจิต    เมื่อยังสาวเฝ้าคิดจนปวดเศียร
ยิ่งคิดถึงเรื่องรักชักวนเวียน            แล้วนี่ฉันจะเรียนได้อย่างไร
“ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก    สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป        แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน”
นิราศภูเขาทองไปลองอ่าน        ก็ได้ผ่านบทเรียนเขียนระรื่น
สุนทรภู่สอนไว้ให้กล้ำกลืน            เมารักนี้ขมขื่นไม่ชื่นเลย
“จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง        ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจ ไร้รักที่จักเชย            ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ”
นิราศเมืองเพชรบุรีมีใจเศร้า    สุนทรภู่หงอยเหงาเศร้าโศกโข
นึกถึงรักร้างไปไข้เซโซ            จะอวดโอ้รักใหม่ตั้งใจรอ
“ประหลาดนักรักเอ๋ยมาเลยลับ    เหมือนเดือนดับเด็ดเดี่ยวไปเจียวหนอ
ชลนัยน์ไหลหลั่งลงคลั่งคลอ        ยิ่งเย็นย่อเสียวทรวงให้ร่วงโรย”
จากนิราศอิเหนาแสนเศร้าโศก    ลมกรรโชกเหนื่อยใจให้หิวโหย
เหมือนหนึ่งใครใช้แซ่แค่โบกโบย        ร้องโอดโอยอนิจจาไม่น่าเลย
“จะรักใครเขาก็ไม่เมตตาตอบ    สมประกอบได้แต่สอดกอดเขนย
เอ็นดูเขาเฝ้านึกนิยมเชย            โอ้ใจเอ๋ยจะเป็นกรรมนั่นร่ำไป”
จากนิราศเมืองแกลงแจ้งประจักษ์        เรื่องความรักพิษสงอยู่ตรงไหน
สุนทรภู่รำพันได้ทันใจ                ฉันหวั่นไหวกลัวรักจักร้าวราน
“เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก    แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้งจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน            แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”
จากนิราศเจ้าฟ้าพาให้คิด        สุนทรภู่มีจิตคิดหลายแง่
อันเรื่องรักยากนักถ้าจักแปล        ที่รู้แน่รักนักก็มักงง
“แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย    รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์
ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง        มีแต่หลงลมลวงน่าทรวงโทรม”
อ่านนิราศเจ้าฟ้านิจจาเอ๋ย        อยากจะเอ่ยเรียนรักใช่หักโหม
จะเรียนรักหนักใจไม่ครึกโครม        อย่าโหมโรงให้ใครรู้อดสูใจ
“เห็นต้นรักหันโค่นต้นสนัด        เป็นรอยตัดรักขาดไม่หวาดไหว
เหมือนตัดรักตัดสวาทขาดอาลัย        ด้วยเห็นใจเจ้าแล้วนะแก้วตา”
จากนิราศพระประธมแสนขมขื่น    รักไม่ชื่นน้อยใจกระไรหนา
สุนทรภู่รู้รักชักนำมา                ให้ศึกษาต่อไปไม่เมามัว
“อันโศกอื่นหมื่นแสนในแดนโลก    มันไม่โศกซึ้งเหมือนหึงผัว
ถึงเสียทองของรักสักเท่าตัว            ค่อยยังชั่วไม่เสียดายเท่าชายเชือน”
พระอภัยมณีกวีวาด            สุนทรภู่สามารถหาใครเหมือน
ความหลังยังอยู่ไม่รู้เลือน            เป็นคำเตือนเพื่อนยาอย่าอาลัย
“โอดูเดือนเหมือนดวงสุดาแม่    กระต่ายแลเหมือนฉันคิดพิสมัย
เห็นแสงจันทร์อันกระจ่ายค่อยสร่างใจ    เดือนครรไลลับตาแล้วอาวรณ์”
จากนิราศเมืองแกลงอย่าแคลงจิต        สุนทรภู่ท่านประดิษฐ์คิดคำสอน
ให้รู้ทุกข์ รู้สุข ยามจากจร                เป็นคำกลอนน่าฟังยังศรัทธา
“ถึงทุกข์ใครในโลกที่โศกเศร้า        ไม่เหมือนเราภุมรินถวิลหา
จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา            ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน”
น่าเห็นใจท่านสุนทรผู้สอนรัก        อกแทบหักเหมือนไฟไหม้สุมขอน
อ่านแล้วคิดว่ารักแท้นั้นแน่นอน            แม้จะมรณ์ด้วยถ้อยคำก็กล้ำกลืน
“โอ้อกพี่นี้ร้อนด้วยความรัก            ถึงฝนสักแสนห่าไม่ฝ่าฝืน
ไม่เหมือนรสพจมานเมื่อวานซืน            จะชูชื่นใจพี่ด้วยปรีดิ์เปรม”
จากนิราศพระประธมฉันชมชอบ        สุนทรภู่รอบคอบตอบเกษม
สาวอ่านแล้วชื่นใจให้ปรีดิ์เปรม            ต่างอิมเอมเพราะรสหวานไปนานเลย
“โอ้คิดอื่นหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน        พี่ร่วมเรือนร่วมเตียงเคียงเขนย
สงัดเสียงเที่ยงคืนเคยชื่นเชย            เมื่อไรเลยจะคืนมาชื่นใจ”
อ่านนิราศพระประธมชมความคิด        แม่มิ่งมิตรสุนทรภู่เธออยู่ไหน
สุนทรภู่พร่ำรำพันทุกวันไป                เธอเที่ยวอยู่แห่งใดได้กลับมา
“อดอะไรจะเหมือนอดที่รสรัก        อดจะหักเสียด้วยใจอาลัยหา
ไม่เห็นรักหนักดิ้นสิ้นชีวา                จะเป็นบ้าเสียเพราะรักสลักทรวง”
พระอภัยมณีที่ท่านแต่ง            มีหลายแห่งสอนใจให้นึกห่วง
เรื่องลิ้นของมนุษย์ที่สุดลวง                อีกทั้งปวงภิตท่านคิดมา
“รักสตรีที่ไรก็ได้ทุกข์                ไม่มีสุขแสนประหลาดวาสนา
เขาออกตัวกลัวลิ้นสิ้นลังกา                เรานี้มาเลยหลงเข้าดงรัก”
“พระอภัยมณี” นั้นมีค่า            ฉันชอบบทเจรจาว่าหาญหัก
อันเถาวัลย์พันเกี่ยวลดเลี้ยวนัก            ยังประจักษ์น้อยกว่าจิตจริตมาร
“ถึงม้วยดิน สิ้นฟ้า มหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้นเกิดในใต้หล้าสุธาธาร                ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ        พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา                เชยผกาโกสุมปทุมทอง
“เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่            เป็นราชสีห์สิงสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง            เป็นคู่ครองพิสวาสทุกชาติไป”
แสนซาบซึ้งตรึงใจในความรัก        พึ่งประจักษ์รักแท้แน่ไฉน
เฝ้าติดตามความรักพิทักษ์ใจ            ถึงชาติไหนก็จะอยู่เป็นคู่ม้วย
“โอ้รักต้นคนรักเขาหักให้            ไม่ตัดได้เด็ดรักไม่พักฉวย
แต่รักน้องต้องประสงค์ถึงงงงวย            ใครไม่ช่วยชักนำสู้กล้ำกลืน”
ฉันเห็นใจในรักสลักจิต            คนึงคิดถึงท่านพลันขมขื่น
รักใครมีหนีไปไม่ได้คืน                 คงสอื้นเจ็บช้ำระกำนัก
“จะหักอื่นขืนหักก็จักได้            หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก            แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ”
อันที่จริงหญิงกับชายนั้นหมายรัก        สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
อันความรักเหมือนโคถึกฮึกหาญไป        ไม่หวั่นเกรงโพยภัยทั้งใจกาย
“อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นทราก     แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย        เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ”
จากเพลงยาวเขาถวายโอวาท        อย่าประมาทเสียงฉอเลาะเพราะสดใส
อย่าหลงลมคำคมของชายใด            เขาอาจหลอกล่อให้ตายใจพลัน
“แม้นชายใดใจประสงค์มาหลงรัก        ให้รู้จักเชิงชายที่หมายมั่น
อันความรักของชายนั้นหลายชั้น            เขาว่ารักรักนั้นประการใด”
สุภาษิตสอนหญิงติงไว้ก่อน        ท่านเฝ้าสอนหญิงนะเธออย่าเผลอไผล
อย่าเที่ยวเดินแอ่นอกยกสะไบ            ทั้งนัยน์ตาระวังไว้ใช่เหลียวแล
“อันนัยน์ตาพาตัวให้มัวหมอง        เหมือนทำนองแนะออกบอกกระแส
จริงไม่จริงเขาก็เอาไปเล่าแซ่            คนรังแกมันก็ว่านัยน์ตาคม”
ฉันคุยเพลินเดินไปไกลเรื่องรัก        ขอผ่อนพักสักครู่ดูเหมาะสม
ความรักมีที่ไหนใจระทม                แต่ขอชมรักสักนิดชิดใจกาย
“ด้วยวิสัยในประเทศทุกเขตแคว้น        ถึงโกรธแค้นความรักย่อมหักหาย
อันความจริงหญิงก็ม้วยลงด้วยชาย        ชายก็ตายลงด้วยหญิงจริงดังนี้”
ยังมีอีกมากมายหลายสิบบท        ที่ปรากฎบทกลอนสุนทรศรี
ของท่านยอดสุนทรภู่ครูกวี                สอนให้มีความรักสลักใจ
แม้ตัวฉันเกิดทันท่านสุนทร            จะกราบกรานขอพรอันสดใส
คงเป็นศิษย์ติดตามทั้งใกล้ไกล            นักเสียใจว่าเกิดช้ากว่าร้อยปี”
ที่มา:วรณี (สัชฌุกร) ศิริบุญ

แด่สุนทรภู่

สุนทรภู่7
สุนทรภู่ครูกวีมีชื่อนัก    ว่าเมาเหล้าเมารักเมาอักษร
ทั้งสามเมาเข้าอิงสิงสุนทร        ไม่วันพักผ่อนหย่อนใจกาย
ถ้าไม่เมาสุราหรือนารี        ก็เมาการกวีเป็นที่หมาย
ในชีวิตตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย    ไม่มีวายว่างเว้นเป็นคนเมา
แต่การเมาครู่เฉ่าสุนทรภู่        เมาทั้งรู้อักโขไม่โง่เขลา
มันเป็นเรื่องกรรมเวรเช่นเราเรา    ที่หลงเข้าหลุมกิเลสเหตุพาไป
ถึงเมาเหล้าก็ไม่เมาเป็นอาจิณ    ครั้นสร่างสิ่งชั่วกลับตัวได้
แถมจารึกบาปกรรมที่ทำไว้        ลงในเรื่องบทกลอนที่สอนคน
ที่มา:พระราชธรรมนิเทศ
อดีตประธานสำนักวัฒนธรรมทางสรรณกรรม
สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ

แด่อนุสาวรีย์ท่านสุนทรภู่(ระยอง)
ณ ที่นี้แดนฝันอันเพริศแพร้ว
ไพเราะแผ่วเพลงกลอนสุนทรภู่
บริวารยักษ์มนุษย์สุดเกรียวกรู
เฝ้าเชิดชูฉลองบาทมิคลาดคลาย
เอาดวงดาวพราวพร่างที่กลางสรวง
มาบำบวงบูชิตประดิษฐ์ถวาย
แทนมาลารวยรินกลิ่นกำจาย
เนตรขวาซ้ายวาววูบต่างธูปเทียนฯ
ที่มา:อนงค์  อินทรัมพรรย์

สุนทรภู่สดุดี

สุนทรภู่6
สองร้อยปีพระคุณสุนทรภู่            บรมครูสร้างสรรค์วรรณศิลป์
ปฏิภาณกวีสี่แผ่นดิน                เป็นยอดจินตกวีที่เชี่ยวชาญ
กลอนไพเราะเพราะพริ้งยอดยิ่งนัก    ท่านอาลักษณ์ลือเลื่องเรื่องโวหาร
ใส่สัมผัสจัดคำอย่างชำนาญ            ผลงานทานอยู่อย่างไม่สร่างซา
นิราศเรื่องเมืองแกลงแฝงความเศร้า    ท่านบอกเล่าเอาไว้ในเนื้อหา
เมื่อบุตรชายหมายพึ่งซึ่งบิดา            ต้องบุกป่าฝ่าดงสืบพงศ์พันธุ์
ไปพระบาทแต่งนิราศพระบาทหมาย    เป็นคำชายคิดคะนึงถึงคู่ขวัญ
พบสิ่งใดท่านใส่ไว้ครบครัน                ทั้งรูปปั้นถ้ำเขาลำเนาไพร
นิราศภูเขาทองของท่านภู่            กลอนชั้นครูที่ศิษย์จิตเลื่อมใส
ใสสดสวยด้วยคารมคมบาดใจ            สัมผัสในใส่สอดเป็นยอดกลอน
นิราศวัดเจ้าฟ้าว่าเณรพัด            เป็นผู้หัดเรียบเรียงเสียงอักษร
ทุกถ้อยคำทำนองของสุนทร            ด้วยบิดรสมมุติว่าบุตรชาย
นิราศเรื่องอิเหนาเอามาสร้าง        กล่าวถึงนางบุษบามาสูญหาย
อกอิเหนาเปล่าเปลี่ยวโดดเดียวดาย        เมื่อพระพายพัดฉุดบุษบา
นิราศเมืองสุพรรณนั้นโคลงสี่        ที่กวีเพลงยาวกล่าวภาษา
โคลงเรื่องเดียวเจียวหนอก็ขอลา            มีเนื้อหาพาทีดีมากมาย
คนโบราณกาลเก่าเขาเล่าแซ่        เรื่องเล่นแร่แปรธาตุต่างมาดหมาย
คำเขาเล่าลือเล่นเป็นนิยาย                ผลสุดท้ายไร้ผลยากจนลง
ยาอายุวัฒนะประเสริฐสุด            เรื่องสมมุติไม่มีที่ประสงค์
ข่าวเลื่องลือคือมันไม่มั่นคง                อย่าลุ่มหลงลงเล่นไม่เป็นการ
รำพันพิลาปความตามที่ฝัน        เขียนรำพันสอดใส่ลงในสาร
กล่าวถึงเทพธิดายุพาพาล                ในสถานเทพธิดาพระอาราม
ชวนชี้ชัดทัศนาทั่วอาวาส            ตรัวประภาษถูกใจทั้งไต่ถาม
จอมสุรางคนาพะงางาม                เจ้าแห่งความโสภาวิลาวรรณ
เมื่องฝันหายหมายฝันหันมองหา        พรรณนามาถึงรำพึงฝัน
ณ วัดเทพธิดาสุดจาบัลย์                สาวสวรรค์กลับวิมานท่านอกตรม
นิราศพระประธมบรมธาตุ            เจริญศาสนะเป็นปฐม
ด้วยศรัทธาปสาทะจะบังคม            พระบรมธาตุศาสดา
นิราศเพชรบุรีที่สุดท้าย            ด้วยเจ้านายหมายปองของต้องหา
พิเคราะห์คำสัมผัสถนัดตา                เป็นตำราควรคู่ภูเขาทอง
ทั้งเก้าเรื่องเฟื่องฟุ้งจรุงรส            ยอดของบทกวีไม่มีหมอง
เล่นสัมผัสจัดคำท่วงทำนอง            แบบร้อยกรองกลอนกานท์ท่านสุนทร
แม้สังขารท่านดับลับรูปขันธ์        คำประพันธ์ยังอยู่เป็นครูสอน
ชีวิตท่านยังอยู่คู่กับกลอน                ไม่จากจรจากลับเหมือนกับกาย
ศานุศิษย์สืบสรรค์วรรณศิลป์        ไม่สูญสิ้นเลื่อมทรามซึ่งความหมาย
กลอนท่านเด่นเป็นแบบอย่างแยบคาย        ต่างสืบสายสร้างสรรค์กันต่อมา
สองร้องปีที่ถึงจึงจารึก            น้อมรำลึกตามหลักนักภาษา
นักกลอนผู้สูงสุดดุจบิดา                ที่ล้ำค่าสูงส่งวงกวี
นิราศท่านงามมีเพียงนี้แน่            ฉันได้แต่สืบความตามวิถี
คำประพันธ์แต่หลังยังมากมี            สอนสตรีสอนบุรุษชุดนิทาน
บทละครกลอนกล่อมพร้อมกลอนสด    ยังปรากฎมากนักเป็นหลักฐาน
สุดบรรยายให้หมดพจมาน                จึงกล่าวขานงานนิราศของปราชญ์กลอน
ในวาระสดุดีกวีรัตน์                น้อมมนัสนึกคำทำอักษร
ถึงกวีมีคุณพระสุนทร                ประนมกรศิโรราบกราบพระคุณ.
ที่มา:ประจักษ์  ประภาพิทยากร   

รัตนกวี

สุนทรภู่5
แม้ “กวีฤาแล้งแหล่งสยาม”
หากแต่ตามศรีศักดิ์สร้อยอักษร
ยากหาใครไหนชาญเชี่ยวการกลอน
เทียมสุนทรภู่ผู้คนบูชา
หลากลำนำคำท่านเสกสรรถ้อย
ล้วยผูกร้อยกรองคำคมล้ำค่า
ประดุจเพชรรัตน์น้ำหนึ่งงามตา
สมสมญาว่ารัตนกวี
นับแต่วันท่านลับดับสังขาร
เหลือเพียงงานกานท์กลอนอักษรศรี
ตราบตลอดเวลาร้อยกว่าปี
มิอาจมีชาวไทยคนใดเลือน
ยังซึ้งใจในกลอนสุนทรท่าน
จำนิทานนิราศได้ไม่คลาดเคลื่อน
จดจำสุภาษิตตรึงจิตเตือน
แม้นแม้นเหมือนมีมนต์คอยดลใจ
คือนิรันดร์วรรณกรรมอันล้ำค่า
ยงคืนท้าทายทุกยุคสมัย
คืออาภรณ์พิลาศคล้องชาติไทย
อ่าอวดให้ชาติอื่นชมชื่นชู
ตราบเท่าที่มีไทยอยู่ในหล้า
นามเอกอาจารย์กลอนสุนทรภู่
อันเป็นที่ชื่นชมบรมครู
จักเคียงคู่ชาติเรานานเท่านาน…/
ที่มา: บุญสืบ  ชื่นทรวง

สุนทรภู่ยูเนสโก

สุนทรภู่4
แถลงปางสองร้อยปีศรีชาตะ            อัจฉริยยอดกวีศรีสยาม
เวียนบรรจบนบฉลองเจ้าของนาม        สุนทรภู่.ผู้อร่ามงามวาจา
ผีเสื้อสมุทรผุดว่ายสายน้ำหมึก          สินสมุทรสุดนึกคนึงหา
โอษฐ์อวยไชยชูเฉลิมเสริมมนตรา       พระอภัยแจ่มฟ้าอย่ารู้เฟือน
นางเงือกน้อยกลอยใจจ้าวสมุทร        พร้อมด้วยสุดสาครสุนทรเหมือน
นิลมังกรฟ้อนฟ้าตามมาเตือน          ชื่อพ่อภู่อย่ารู้เลือนเหมือนดาววับ
แม่วาลีรูปชั่วแต่ตัวแกล้ว            ความรู้แม่เลิศแล้วหาใครจับ
ยี่สิบหกมิถุนาฟ้าระยับ            อย่ารู้ดับจงรู้เด่นเห็นผลงาน
นาฎสุวรรณมาลีปี่โหยหา            สร้อยสุวรรณจันทร์สุดานางหน้าหวาน
สิบนิ้วต่างธูปผกาลดามาลย์            เศกเป็นกานท์กลอนไทยกราบในที
กรับเกริ่นถ้อยน้อยนิดประดิษฐ์เค้า       ลบลอยเศร้าโศกฉลองสิ้นหมองศรี
แม้กี่มือกี่หมึกผนึกกวี            ต่างวจีใจรู้ทุกผู้ไป
วาดตะวันวาดฟ้าฟองหล้าฟื้น           กวียืนชูธงดำรงไสว
ลำนำไผ่เบียดออดกอดกอไกว         “ละเวง” ไหว “ยูเนสโก” ไชโยนาม.
ที่มา: วิชัย  ไพวงศ์

ชีวิตและงานของท่านสุนทรภู่

สุนทรภู่3
ยี่สิบหกมิถุนายนครานั้น
ตรงวันจันทร์วันดีศรีสมัย
ปีมะเมียขึ้นหนึ่งค่ำตรึงใจ
เวลาในสองโมงเช้าฟ้าพราวพรรณ
บังเกิดเด็กคนหนึ่งซึ่งแสนแปลก
เพียงวันแรกมองโลกโชคเหหัน
พ่อกับแม่เริดร้างแยกทางกัน
สมัยนั้นพระพุทธยอดฟ้าครองธานี
เมื่อเด็กน้อยเจริญวัยได้ชื่อ “ภู่”
แม่เลี้ยงดูด้วยกมลปรนสุขศรี
ให้ความรู้การศึกษามาอย่างดี
ณ วัดชีปะขาวใกล้เคียงในวัง
จนถึงในวัยหนุ่มวัยรุ่มร้อน
“ภู่” เก่งกลอนการประพันธ์ฝันสมหวัง
สามารถบอกสักวาอย่างน่าฟัง
จนกระทั่งเป็นอาลักษณ์ยอกนักกลอน
ชื่อลือชาข้าบดินทร์ปิ่นนเรศร์
ก้องทั่วเขตโลกกวีศรีอักษร
ทั้งนิราศกาพย์นิทานงานกำจร
ชื่อกระฉ่อนแต่ท่านช้ำตรมน้ำตา
ถึงท่านภู่ครูกลอนม้วยมรณ์แล้ว
แต่งานแก้วก่องระยับประดับหล้า
โลกกวีศรีสยามงามโสภา
เกียรติก้องปรากฎงานท่านภู่เอย
ที่มา:เอนก  แจ่มขำ