รำพันพิลาป

อันโลกีย์วิสัยที่ในโลก                ความสุขโศกสิ้นกายก็หายสูญ
เป็นมนุษย์สุดแต่ขอให้บริบูรณ์        ได้เพิ่มพูนผาสุกสนุกสบาย
ขอบุญพระจะให้อยู่ชมพูทวีป        ช่วยชุบชีพชูเชิดให้เฉิดฉาย
ไม่ชื่นเหมือนเพื่อนมนุษย์ก็สุดอาย        สู้ไปตายตีนเขาลำเนาเนิน

เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ตั้งชื่อผิดไปจากนิราศอื่นๆ ตามคำนำของกรมศิลปากรว่า แต่งในปีรัชกาลที่ ๓ เสวยราชย์ คือ พ.ศ. ๒๓๖๗ และสุนทรภู่ถูกถอดในปีเดียวกันนั้น พอถูกถอดสุนทรภู่ก็บวช เที่ยวหัวเมืองเสียพักหนึ่ง แล้วก็มาจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ

เนื้อนิราศ

สุนทรภู่ฝันถึงเทพธิดาผู้ปรารถนาดีต่อท่าน

“เมื่ออยากฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง    เดือนหงายส่องแสงสว่างดังกลางวัน
เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา        ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์        พระรำพันกรุณาด้วยปรานี
ว่านวลหงส์องค์นั้นอยู่ชั้นฟ้า        ชื่อโฉม เทพธิดา มิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้        เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ
จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด        มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร    จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียง

แล้วสุนทรภู่ก็เคลิบเคลิ้มรำพันรัก แต่ตอนหลังก็คิดได้จึงสารภาพไว้ว่า

“โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน    ที่หมายมั่นเหมือนจะหมางระคางเขิน
ก็คิดเห็นเป็นเคราะห์จำเพาะเผชิญ    ให้ห่างเหินโหยหวนรำจวนใจ
จึงแต่งความตามฝันรำพันพิลาป        ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาสัย
จะสั่งสาวชาวบางกอกทั้งนอกใจ        ก็กลัวภัยให้ขยาดพระอาชญา
จึงเอื้อมอ้างนางสวรรค์ตามฝันเห็น    ให้อ่านเล่นเป็นเล่ห์เสน่หา
ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา            รักแต่เทพธิดาสุราลัย
ได้ครวญคร่ำร่ำเรืองเป็นเครื่องสูง        พอพยุงยกย่องให้ผ่องใส
ทั้งสาวแก่แม่ลูกอ่อนลาวมอญไทย    เด็กผู้ใหญ่อย่าเฉลียวว่าเกี้ยวพาน
พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย        อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน        เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง

แล้วสุนทรภู่ก็บอกเหตุที่จะต้องจากวัดเทพธิดาไปด้วยความอาลัย

“โอ้ยามนี้ปีขาลสงสารวัด    เคยโสมนัสในอารามสามวษา
สิ้นกุศลผลบุญการุณา        จะจำลาเลยลับไปนับนาน

ตอนหนึ่งได้รำพึงถึงศิษย์ คือพระสิงหะ (หมายถึงเจ้าฟ้าอาภรณ์) กับพระอภัย (หมายถึง เจ้าฟ้ากลาง) ว่า

พระสิงหะพระอภัยพระทัยจืด        ไม่ยาวยืดยกยอฉลอเฉลิม
เมื่อกระนั้นจันทน์และกระแจะเจิม        ได้พูนเพิ่มเหิมฮึกอยู่ตึกราม

ด้วยเหตุที่เป็นเรื่องฝัน สุนทรภู่ได้ใช้จินตนาการถึงเรื่องต่างประเทศตามความรู้ของตน คือคิดจะพานางในฝันไปเที่ยวต่างประเทศ ว่า

“แล้วจะใช้ใบเยื้องไปเมืองเทศ    ชมประเภทพวกแขกแปลกภาษา
ทั้งหนุ่มสาวเกล้ามวยสวยโสภา    แต่งกายาอย่างพราหมณ์งามงามดี
ล้วนนุ่งห่มโขมพัสตร์ถือสัตย์ศิล    ใส่เพชรนิลแนบประดับสลับสี
แลพิลึกตึกตั้งล้วนมั่งมี            ชาวบุรีขี่รถบทจร
จะเชิญแก้วแววเนตรขึ้นเขตแคว้น        จัดซื้อแหวนเพชรรัตน์ประภัสสร
ให้สร่างทรวงดวงสุดาสัตถาวร        สว่างร้อนรับขวัญทุกวันคืน
จะระวังนั่งประคองเคียงน้องน้อย        ให้ใช้สอยสารพัดไม่ขัดขืน
กลืนไว้ได้ในอุระก็จะกลืน            ให้แช่มชื่นชมชะเลทุกเวลา
แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม    ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา
ไปเกาะที่อีเหนาชาวชวา            วงศ์อะสัญแดหวาน่าหัวเราะ
จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว            ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ
ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ        ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม
ไม่แง่งอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน            ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม
รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม        จะพาข้ามเข้าละเมาะเกาะมาลากา
เดิมของแขกแตกฝาหรั่งไปตั้งตึก        แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา
เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวิยะดา            ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาคร
แม้นเหมือนหมายสายสุดใจไปด้วยพี่    จะช่วยชี้ชมตลิ่งเหล่าสิงขร
ประคองเคียงเอียงเอกเขนกนอน        ร้องละครอิเหนาเข้ามาลากา
แล้วจะใช้ใบบากออกจากฝั่ง            ไปชมละเมาะเกาะวังกัลปังหา
เกิดในน้ำดำนิลดังศิลา            เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน
ชะเลรอบขอบเขาเป็นเงาง้ำ        เวลาน้ำขึ้นกระเพื่อมถึงเงื้อมหิน
เห็นหุบห้องปล่องชะลาฝูงนาคิน    ขึ้นหากินเกยนอนฉะอ้อนเนิน
ภูเขานั้นวันหนึ่งแล่นจึงรอบ        เป็นเขตขอบเทพเจ้าจอมเขาเขิน
จะชื่นชวนนวลละอองประคองเดิน    เลียบเหลี่ยมเนินเพลินชมพนมนิล
จริงน่ะจ๋ะจะเก็บทั้งกัลปังหา        เม็ดมุกดาคลื่นสาดกลางหาดหิน
เบี้ยอี้แก้แลรอบขอบคีริน        ระรื่นกลิ่นไม้หอมมีพร้อมเพรียง
สะพรั่งต้นผลดอกออกไม่ขาด    ศิลาลาดลดหลั่นชั้นเฉลียง
จะค่อยเลียบเหยียบย่องประคองเคียง    เป็นพี่เลี้ยงเพียงพี่ร่วมชีวา
จำปาดะองุ่นหอมกรุ่นกลิ่น        ก้าแฝ่ฝิ่นสุนธุต้นบุหงา
ด้วยเกาะนี้ที่ทำเลเทวดา        แต่นกกาก็มิได้ไปใกล้กราย
แล้วจะใช้ใบไปดู เมื่องสุหรัด        ถ้าคลื่นซัดซึ้งวนชลสาย
ตั้งตึกรามตามตลิ่งแขกหญิงชาย    แต้มผ้าลายกะลาสีพวกตีพิมพ์
พื้นม่วงตองทองช้ำย่ำมะหวาด    ฉีกวิลาศลายลำยองเขียนทองจิ้ม
ทำที่อยู่ดูพิลึกล้วนตึกทิม        เรียบเรียงริมฝั่งสมุทรแลสุดตา
จะตามใจให้เพลินเจริญเนตร    ชมประเภทพราหมณ์แขกแปลกภาษา
ได้แย้มสรวลชวนใช้ใบลีลา        ไปมั่งกล่า ฝาหรั่งระวังกระเวน
กำปั่นไฟใหญ่น้อยออกลอยเที่ยว    ตลบเลี้ยวแลวิ่งดังจิ้งเหลน
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน    เวียนกระเวนไปมาทั้งตาปี
เมืองมังกล่าฝาปรั่งอยู่ทั้งแขก        พวกเจ๊กแซกแปลกหน้าทำภาษี
แลพิลึกตึกรามงามงามดี            ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา
ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง    ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา
ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา            วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย
แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ            คนซื้อร้องเรียกหาจึงมาขาย
ด้วยไม่มีตีโบยขโมยขะมาย            ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ
นอกกำแพงแขวงเขตประเทศถิ่น        เป็นสวนอินตะผาลำ ทับน้ำหวาน
รองอ่างไว้ใช้ทำแทนน้ำตาล            ต้องแต่งงานขันหมากเหลือหลากจริง
ถึงขวบปีมีจันทน์ทำขวัญต้น            แต่งเหมือนคนขอสู่นางผู้หญิง
แม้นถึงปีมีลูกใครปลูกทิ้ง            ไม่ออกจริงจั่นหล่นลำต้นตาย
บ้านตลาดกวาดเลี่ยนเตียนตล่ง        ถึงของหลงลืมไว้ก็ไม่หาย
ไปชมเล่นเช่นฉันว่าประสาสบาย        บ้านเมืองรายหลายประเทศต่างเพศพันธุ์
จะพาไปให้สร้างทางกุศล            ขึ้นสิงหลเห็นจะได้ไปสวรรค์
ไหว้เจดีย์ที่ทำเลเวฬุวัน            พระรากขวัญอันเป็นยิ่งเขาสิ่งคุตร
คิดจะใช้ใบข้ามไปตามเข็ม        เขียนมาเต็มเล่มแล้วจะสิ้นสมุด
เหมือนหมายทางต่างทวีปเรือรีบรุด    พอสิ้นสุดสายมหาอารณพ
เหมือนเรื่องรักจักประเวศประเทศถิ่น     มิทันสิ้นสุดคำก็จำจบ
แม้นขืนเคืองเปลื้องปลิดไม่คิดคบ        จะเศร้าซบโศกสะอื้นทุกคืนวัน
เหมือนยักษีที่สิงขรต้องศรกก        ปักตรึงอกอานุภาพซ้ำสาปสรร
อยู่นพบูรีที่ตรงหว่างเขานางประจัญ    เสียงไก่ขันขึ้นนนทรีคอยตีซ้ำ
แสนวิตกอกพระยาอุนนาราช        สุดหมายมาดไม่มีที่อุปถัมภ์
ศรสะเทือนเหมือนอุระจะระยำ        ต้องตีซ้ำซ้ำในฤาทัยระทม
ถึงกระไรได้อุตส่าห์อาสาสมัคร        ขอเห็นรักสักเท่าซีกกระผีกผม
พอชื่นใจได้สว่างสร่างอารมณ์        เหมือนนิยมสมคะเนเถิดเทวัญ
ถวิลหวังสังวาสสวาทแสวง            ให้แจ่มแจ้งแต่งตามเรื่องความฝัน
ฝากฝีปากฝากคำที่สำคัญ            ชื่อรำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอน
เปรียบเหมือนกับขับกล่อมสนอมเสน่ห์    สำเนียงเห่เทวัญริมบรรจถรณ์
เสวยสวัสดิ์วัฒนาสถาวร            วานฟังกลอนกลอยแก่เถิดแม่เอย ฯ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

นิราศเมืองเพชร

ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย    ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง    จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา
ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก    สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา

ขณะนี้ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะวรรณคดีไทยได้มีผู้สนใจนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เรื่องนิราศเมืองเพชร ของท่านมหากวีเอกสุนทรภู่ ซึ่งสำนักวรรณกรรมแห่งวิทยาลัยครูเพชรบุรี ได้หยิบยกนิราศเมืองเพชรมาตีความใหม่ เน้นประวัติความเป็นมาของท่านสุนทรภู่ว่าน่าจะเป็นชาวเพชรบุรี มีเชื้อสายพราหมณ์ ระบุไว้อย่างชัดเจนในต้นฉบับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ข้อความในสมุดไทยบางฉบับไม่ตรงกัน โดยเฉพาะนิราศเมืองเพชรที่นำมาตีพิมพ์เผยแพร่และเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ ได้ขาดข้อความตอนสำคัญไปมาก จากการเปิดเผยของอาจารยเสยย์ เกิดเจริญ อดีตอธิการวิทยาลัยครูเพชรบุรี ร่วมกับ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว อาจารย์ภาษาไทย วิทยาลัยครูเพชรบุรี ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวรรณคดีไทย ทำให้ยุทธจักรวรรณกรรมต่างสนใจกันมากทีเดียว เพราะขณะนี้ก็ใกล้จะครบรอบวันเกิดของท่านในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙ รวม ๒๐๐ ปี พอดี จะมีการสมโภชมโหฬาร ทั้งนี้ก็เพราะองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ยกย่องพระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นกวีเอกของโลก ดังนั้นในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งการศึกษาวรรณกรรมของท่านสุนทรภู่ จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปใหม่ก็คงจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ก่อนที่จะวิพากษ์อะไรลงไปก็ขอให้ศึกษานิราศเมืองเพชรเสียก่อนตามต้นฉบับที่เรียนกันมา ว่านิราศเรื่องนี้ มีดีอย่างไร

สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรเป็นเรื่องสุดท้าย เป็นนิราศที่สมบูรณ์ที่สุดเทียบได้กับนิราศภูเขาทองทีเดียว สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรตอนที่ได้พึ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว นัยว่าโปรดให้ไปธุระเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กล่าวไว้ในนิราศพอเป็นเค้าๆ ว่า “อธิษฐานถึง คุณกรุณา ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ ถึงทางเขตของประสงค์คงอาสา”

เนื้อนิราศ

สุนทรภู่ออกเดินทางโดยเรือ ไปทางเดียวกับนายนรินทร์ธิเบศ (อิน) ผู้แต่งโคลงนิราศนรินทร์ ซึ่งผ่านคลองโคกขาม แล้วเขียนโคลงอย่างกำกวมไว้ว่า “โคกขามดอนโคกคล้าย สัณฐาน’’ เป็นเหตุให้ผู้อ่านตีความว่าโคกนี้มีความหมายไปในทางหยาบคาย ท่านสุนทรภู่คงจะเคยได้ทราบเรื่องนี้พอสมควร ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งสุนทรภู่ท่านชอบพูดอะไรให้ชัด ไม่กำกวม ท่านเลยแก้ต่างนายนรินทร์ เสียให้กระจ่างแจ้งจางปางว่า

“ถึงโคกขามคร้ามใจได้ไต่ถาม    โคกมะขามดอกมิใช่อะไรอื่น..”

ก็เห็นจะไม่ต้องตีความกันอีกนะครับ เพราะความหมายชัดในตัวอยู่แล้ว

สุนทรภู่เดินทางถึงเขาตะคริวสวาท แต่ชาวเพชรบุรีเรียก เขาตะคริว เฉยๆ ต่อมาภายหลัง เพี้ยนเป็น เขาตะเครา สุนทรภู่อธิษฐานต่อหน้าพระปฏิมาทองสำริดตอนหนึ่งว่า

“ให้ได้แหวนแทนทรงสักวงหนึ่ง    กับแพรซึ่งหอมห่มให้สมหวัง”

แล้วสุนทรภู่ก็เดินทางเข้าเขตเพชรบุรีพบชาวเมืองคนหนึ่งก็ไถ่ถามเขาว่า บ้านขุนแขวงนั้นยังไม่ไกลอยู่หรือ? ชายนั้นย้อนถามทันควันว่า

“จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา    ถ้าพานหนักพักหนึ่งก็ถึงดอก”

สุนทรภู่ได้ฟังคำตอบถึงกับสะดุ้งโหยงอุทานออกมาว่า “สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา” ซึ่งมีความหมายว่า ชาวเมืองเพชรชอบเล่นลิ้นตีฝีปากเก่งมากเอาการ

การเดินทางไปเมืองเพชรของสุนทรภู่นั้นปรากฎว่าเคยมาแล้วหนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รู้จักมักคุ้นรักใคร่กับชาวเมืองเพชรเป็นอย่างดี ดังนั้นในนิราศเมืองเพชรสุนทรภู่จึงพรรณนาถึงเรื่องราวในอดีตไว้มากทีเดียว พอมาเพชรบุรีคราวนี้ สุนทรภู่จึงได้ใปเที่ยวเยี่ยมเยียนแทบทุกคน คนแรกที่ควรกล่าวถึงก็คือขุนรองซึ่งสุนทรภู่เขียนเล่าไว้ว่า

“ถึงบ้านโพธิ์โอ้นึกให้ลึกซึ้ง            เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร
กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่        สถิตที่ทับนามาอาศัย
เป็นคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ    จึงทำให้หมองหมางเพราะขวางคอ
นึกชมบุญขุนรองร้องท่านแพ่ง    เขาจะแปลงปลูกทับกับเป็นหอ
จนผู้เฒ่าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ    เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอน”
เป็นต่างคนต่างแคล้วแล้วกันไป    แต่ปรางทองน้องหญิงยังจริงจิต
แสนสนิทนับเนื้อว่าเชื้อไข        จะแวะหาสารพัดยังขัดใน
ต้ออายใจจำลากลัวช้าการ”

ตรงนี้น่าจะเป็นเพราะสุนทรภู่ไปยุ่งกับนางนวลคนต่อมาที่สุนทรภู่มาอาศัยคือหม่อมบุนนาคท่านว่า

“ถึงต้นตาลนึกคุณหม่อมบุนนาค
เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังคระไลย
มาทำไร่ทำนาท่านการุญ”

เมื่อเรือมาจอดที่ท่าหน้าสะพาน มีศิษย์หาก็กุลีกุจอกันมารับสุนทรภู่ว่า

“ทั้งพี่ปรางนางใหญ่ได้ให้ผ้า        เมื่อครั้งมาสอนบุตรสุดสรรเสริญ
ได้ห่มหนาวคราวระกำจงจำเริญ..”

นอกจากนั้นสุนทรภู่ยังได้เขียนสัพยอกไว้เป็นความขันๆ อีกหลายราย
“ครั้นไปเยือนหลานบ้านวัดเกาะ ยังทวงเพลาะแพรดำที่ทำหาย ต้องให้สีทับทิมจึงยิ้มพราย” ต่อจากนั้นสุนทรภู่ก็ไปบ้านตาลเรียง

“แล้วไปบ้านตาลเรียงเคียงบ้านไร่
ที่นับในเนื้อช่วยเกื้อหนุน
พอวันนัดซัดน้ำเขาทำบุญ
เห็นคนวุ่นหยุดยั้งยืนรั้งรอ
เขาว่าน้องของเราเป็นเจ้าสาว
ไม่รู้ราวเรื่องเร่อมาเจอหอ
เหมือนจุดไต้ว่ายน้ำมาตำตอ
เสียแรงถ่อกายมาก็อาภัพ
จะแทนคุณบุญมาประสายาก
ต้องกระดากดังหนึ่งศรกระดอนกลับ
ได้ฝากแต่แพรผ้ากับป้าทรัพย์
ไว้สำรับหนึ่งนั้นทำขวัญน้อง
ไปปีหนึ่งครึ่งปีเมื่อมีลูก
จะมาผูกมือบ้างอย่าหมางหมอง”

อีกคนหนึ่งชื่อขำ สุนทรภู่ว่า

“แค้นแต่ขำกรรมอะไรที่ไหนน้อง
เฝ้าท้องท้องทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน
จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ

คนหนึ่งชื่อทองมี สุนทรภู่ว่า
เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก

ครั้นจะหักเล่าก็กลัวผัวจะหึง
ได้เคยเป็นเห็นฝีมือมักดื้อดึง
จะตูมตึงแตกช้ำระยำเย็น

คนหนึ่งที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาก คืออิน
ทีไหนไหนไมตรียังดีสิ้น

เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา
พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ
เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลางตอเป็นกอเตย
ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้น

ครั้นเมื่อสุนทรภู่ไปไหว้พระที่วัดพระนอน
มีผ้าของใครคนหนึ่งติดตัวไปด้วย ท่านเล่าว่า

ยังมีแต่แพรหอมถนอมชม
ได้คลี่ห่มอุระพระประธาน
อุทิศว่าผ้านี้ของพี่น้อง
ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัครสมาน
มาห่มพระจะได้ผลดลบันดาล
ได้พบพานภายหน้าสถาพร
ทั้งรูปงามทรามประโลมโฉมแฉล้ม
ขอให้แก้มสองข้างอย่างเกสร
ทั้งเนื้อหอมพร้อมสิ้นกลิ่นขจร
คนแสนงอนให้มาง้อมาขอชิม

ต่อมาจึงไปเขาหลวง หวนถึงความหลังว่า

คิดถึงปีเมื่อเป็นบ้าเคยมานอน
ชมลูกจันทน์กลั่นกลิ่นระรินรื่น
จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน
เห็นห้องหินศิลายิ่งอาวรณ์
เคยกล่าวกลอนเห่ชาโอ้ชาตรี
จนจวนรุ่งฝูงนกวิหคร้อง
เรไรซ้องเสียงจังหรีดดังดีดสี
คิดคะนึงถึงตัวกลัวต้องตี
ต่อช้าปีจึงค่อยวายฟายน้ำตา
โอ้ยามยากจากบุรินทร์มาถิ่นเถื่อน
ไม่มีเรือนแรมอยู่ในคูหา
เดือนสว่างต่างไต้เมื่อไสยา
แผ่นศิลาต่างฟูกกระดูกเย็น

หลังจากนั้นสุนทรภู่ไปวัดเขาบันไดอิฐและวัดมหาธาตุ แล้วจึงลงเรือกลับกรุงเทพฯ

ศิลปะการประพันธ์
ต่อไปนี้จะขอยกข้อความที่แสดงศิลปะการประพันธ์ของสุนทรภู่ในนิราศเรื่องนี้มาเสนอ

เรื่องแรกที่นักกลอนจะต้องสังเกต คือการเล่นกลอนอื่นอีกแห่งหนึ่ง สุนทรภู่ชอบเล่นนัก เพราะมีคำเช่นนี้เพียง ๔ คำเท่านั้น จีน-ปีน-ตีน และศีล (สิน) ท่านว่า

ต่างเลี้ยวเรือลงหน้าบ้านท่าจีน
เป็นประมงหลงละโมบด้วยโลภลาภ
ไม่กลัวบาปช่างนับแต่ทรัพย์สีน
ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลาตีน
ตะกายปีนเลนเล่นออกเป็นแปลง

อนึ่ง สุนทรภู่ไม่ยอมจนคำ คำเสียงแอะมีความหมายอยู่ไม่กี่คำ แต่ท่านก็หาสัมผัสได้อย่างดี คือ

“พอถึงตัวเต็มเบียดเขาเสียดแซะ
ทั้งยุงชุมรุมกัดปัดเปรียะประ
เสียงผัวะผะพึบพับปุบปับแปะ
ที่เข็นเคียงเรียงลำขยำแขยะ
มันเกาะแกะกันจริงหญิงกับชาย

ทีนี้ลองฟังกลอน อิ ของสุนทรภู่บ้าง

“เขาไปเที่ยวเกี่ยวข้าวอยู่เฝ้าห้อง    เหมือนพี่น้องนึกโอ้อโสหิ
เนื้อเอ๋ยเนื้อเหลือเจ็บจนเล็บลิ    ยังปริปริปริ่มพร้อยเป็นรอยราย”

ต่อไปนี้เราควรศึกษากลอนที่แสดงลักษณะของส์ตว์ต่างๆ ท่านพรรณนาได้ถูกต้องตามหลักชีววิทยาอยู่บ้างเหมือนกัน

เมื่อพรรณนาถึงปู ท่านว่า

โอ้เอ็นดูปูไม่มีซึ่งศีรษะ        เท้าระกะก้อมโกงโม่งโค่งขัน
ไม่มีเลือดเชือดฉะปะแต่มัน    เป็นเพศพันธุ์ไร้ผัวเพราะมัวเมา
แม้นเมียออกลอกคราบไปคาบเหยื่อ    เอามาเผื่อภรรยาเมตตาเขา
ระวังดูอยู่ประจำทุกค่ำเช้า    อุตส่าห์เฝ้าฟูมฟักเพราะรักเมีย
ถึงทีผัวตัวลอกพอออกคราบ        เมียมันคาบคีบเนื้อเป็นเหยื่อเสีย
จึงเกิดไข่ไร้ผัวเที่ยวยั้วเยี้ย    ยังแต่เมียเคลื่อนคล้อยขึ้นลอยแพ

ส่วนแมงดานั้น ท่านพรรณนาว่า

ให้สมีขี่หลังเที่ยวฝังแฝง        ตามหล้าแหล่งเลนเค็มเล็มภักษา
เขาจับเป็นเห็นสมเพชเวทนา    ทิ้งแมงตาผัวเสียเอาเมียไป
ฝ่ายตัวผู้อยู่เดียวเที่ยวไม่รอด    เหมือนตาบอดมิได้แจ้งตำแหน่งไหน
ต้องอดอยากจากเมียเสียน้ำใจ    ก็บรรลัยแลกลาดดาษดา
แม้เดี๋ยวนี้มีหญิงไม่ทิ้งผัว        ถึงรูปชั่วฉันจะรักให้หนักหนา
โอ้อาลัยใจนางอย่างแมงดา        แต่ดูหน้าในมนุบย์เห็นสุดแล

ตอนหนึ่งสุนทรภู่ชมนํ้าใจชาวเพชรบุรีไว้น่าฟังว่า

ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี
เห็นจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำตะโหนดประโยชน์ทรัพย์
มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร

เมื่อหวนคิดถึงเรื่องส่วนตัว สุนทรภู่ปรารภเรื่องรักไว้เป็นนัยว่าตนอาภัพ ท่านว่า

ถึงคลองเคยเตยแตกใบแฉกงาม
คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง
ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย
ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ

เมื่อถึงวัดบางนางนองก็ว่า
ถึงวัดบางนางนองแม้นน้องพี่    มาถึงนี่จะต้องนองน้ำตา
ตัวคนเดียวเที่ยวเล่นไม่เป็นห่วง    แต่เศร้าทรวงสุดหวังที่ฝั่งฝา
ที่เห็นเห็นเป็นแต่ปะได้ปละตา    ก็ลอบลักรักษาคิดอาลัย

สุนทรภู่วิจารณ์เรื่องความรักกับเงินไว้อย่างเผ็ดร้อน เมื่อตอนถึงบางหลวงท่านว่า

“ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
เมียขาวขาวสาวสวยล้วยรวยโป
หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก
ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเรียกหอห้อง
ต้องขัดข้องแข็งกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก
เอาเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก
ได้กินเล็กกินน้อยอร่อยใจ”

เรามีสำนวนอยู่บทหนึ่งว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” สุนทรภู่สงสัยว่าจะมาจากการทำนาเกลือ ท่านจึงว่า

ถึงบางขวางข้างซ้ายชายชาลา    ไขคงคาขังน้ำไว้ทำเกลือ
หรือบ้านนี้ที่เขาว่าตำราร่ำ        ช่างปั้นน้ำเป็นตัวน่ากลัวเหลือ

เมื่อถึงคลองคด ท่านก็เปรียบว่า

อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่        เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด
ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด        ถึงคลองคดก็ยังไม่เหมือนใจคน

หอยจุ๊บแจงถูกชาวประมงเรียก สุนทรภู่ได้คติว่า

เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสน่หา            แต่หากว่าพูดยากปากเป็นหอย
เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย    จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก

พอพบวังร้าง ท่านก็ปลงว่า

เดิมเป็นป่ามาเป็นวังตั้งประทับ    แล้วก็กลับเป็นป่าไม่ฝ่าฝืน
เหมือนมียศลดลงไม่คงคืน        นึกสะอื้นอายใจมาในเรือ

สุนทรภู่ นอกจากจะเขียนกลอนอย่างไพเราะเพราะพริ้งแล้ว ท่านยังสามารถบรรยายภูมิสถานบ้านเรือนของเพชรบุรีได้อย่างชัดเจน

“พอแดดร่มลมชายสบายจิต        เที่ยวชมทิศทุ่งทางกลางวิถี
ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี        เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์        มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร
พะโองยาวก้าวตีนปีนทะยาน        กระบอกตาลแขวนก้นคนละพวง”

เมื่อสังเกตการใช้ถ้อยคำและเสียงสัมผัสแล้ว จะเห็นได้ว่า ท่านสุนทรภู่ได้ตั้งใจแต่งนิราศเรื่องนี้เป็นพิเศษ ปรากฎว่าใช้ถ้อยคำที่มีเสียงสัมผัสต่างๆ กันถึง ๖๕ เสียง (นิราศภูเขาทองใช้เพียง ๓๐ เสียง) มากที่สุดในบรรดานิราศของท่าน นอกจากนั้นท่านยังได้ฝากกลอนสัมผัสบังคับที่มีคำรับส่งเพียง ๔ คำ ไว้ถึง ๓ ชุด อย่างที่ไม่ปรากฎในนิราศเรื่องอื่นๆ มาก่อนเลย

ชุดเสียง อีน (ยกมาบ้างแล้ว ขอเน้นอีกครั้ง)

“บ้างถอนเหล็กชักถ่อหัวร่อร่า        บ้างก็มาบ้างก็ไปทั้งใต้เหนือ
บ้างขับร้องซ้องสำเนียงจนเสียงเครือ    ต่างเลี้ยวเรือลงหน้าบ้านท่าจีน
เป็นประมงหลวงละโมบด้วยโลภลาภ    ไม่กลัวบาปเลยช่างนับแต่ทรัพย์สิน
ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลา ตีน        ตะกาย ปีน เลนเล่นออกเป็นแปลง”

ชุดเสียง เอ็ก
“ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก    ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
เมียขาวขาวสาวสวยล้วยรวยโป        หัวอกโอ้อายใจมิใช่ เล็ก
ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเอาหอห้อง    ต้องขัดข้องแข็งกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก
มีเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก        ถึงลวดเหล็กลนร้อนอ่อนละไม”

ชุดเสียง เอ็ม

“ตะบูนต้นผลห้อยย้อยระย้า        ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม
เป็นคราบน้ำคร่ำคร่าแตกตารุม    ดูกระปุ่มกระปิ่มตุ่มติ่ม เต็ม
ลำพูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม        มีขวากล้อมแหลมรายดังปลาย เข็ม
เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคล เค็ม    บ้างเก็บ เล็ม ลากก้ามครุ่มคร่ามครัน”

ดังได้กล่าวมาแล้วตอนต้นว่า สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่าน นับเป็นนิราศที่มีความไพเราะดีเด่นเรื่องหนึ่ง นักศึกษาวรรณคดีหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์ วอลเตอร์ เอฟ. เวลลา ก็ยกย่องว่า นิราศเมืองเพชร เป็นนิราศที่ดีเด่นที่สุดในบรรดานิราศของท่านสุนทรภู่ ไม่ใช่นิราศภูเขาทอง แม้แต่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว อาจารย์วิทยาลัยครูเพชรบุรี ก็ลงความเห็นว่า “ก็แหละบรรดานิราศของท่านสุนทรภู่นั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นเป็นเฉพาะตัวว่า นิราศเมืองเพชรเป็น นิราศดีที่สุดของท่านสุนทรภู่ ไม่ว่าจะพิจารณากันในด้านวรรณศิลป์และหรือสาระที่ท่านผู้แต่งได้เก็บบรรจุไว้ (และเมื่อได้สอบชำระนิราศเมืองเพชรเสร็จแล้ว จึงได้ทราบว่า นิราศเมืองเพชรเป็นนิราศที่ยาวที่สุดอีกด้วยคือยาวถึง ๔๙๘ คำกลอน)”

นิราศเรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าท่านสุนทรภู่มีความผูกพันอยู่กับเมืองเพชรบุรียิ่งกว่าเมืองใดๆ ที่ท่านเคยไป และได้แต่งเป็นนิราศไว้ กล่าวคือ ท่านได้เดินทางมาเมืองเพชรบุรีหลายคราว และมีอยู่คราวหนึ่งที่ท่านได้พาแม่จันทร์มาหลบซ่อนอยู่ในถํ้าเขาหลวง (วัดบุญทวี หรือวัดถํ้าแกลบ จังหวัดเพชรบุรี) เมื่อมาคราวแต่งนิราศ สุนทรภู่ได้ไปชมเขาหลวงอีกครั้งหนึ่ง ปรากฎว่าลายมือที่ท่านเคยเขียนไว้ที่ผนังถํ้าเขาหลวงเมื่อครั้งกระโน้นยังอยู่ และมีส่วนปลุกเร้าให้ท่านระลึกนึกถึงความหลัง

สุนทรภู่ได้ชื่อว่า เป็นกวีที่ได้บุกเบิกลีลากลอนสุภาพอย่างใหม่ (เคยเรียกกันในสมัยอยุธยาตอนปลายว่า เป็น กลบทมธุรสวาที) ขึ้นสู่ความนิยมอย่างสูงได้สำเร็จงดงาม และยังสามารถนำสิ่งที่พบเห็น หรือได้ยินได้ฟังมาแต่งเป็นกลอนได้อย่างสละสลวยน่าฟัง เช่นเมื่อท่านเดินทางมาถึงอ่าวยี่สาน จังหวัดเพชรบุรี เห็นหอยจุ๊บแจง ก็นำบทร้องของเด็กมาประสมประสานได้อย่างยอดเยี่ยมว่า

“โอ้เอ็นดูหนูน้อยน้อยร้องหอยเหาะ    ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา
ล้วนจุ๊บแจงแผลงฤทธิ์เขาปลิดมา        กวักตรงหน้าเรียกให้มันได้ยิน
จุ๊บแจงเอ๋ยเผยฝาหาข้าวเปียก        แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน
ทั้งงวงทั้งงางอกออกมากิน            ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย
เขาร่ำเรียกเพรียกหูได้ดูเล่น            มันอยากเป็นลูกเขยทำเงยหงาย
เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย        โอ้นึกอายจุ๊บแจงแกล้งสำออย
เหมือนจะรู้ในเล่ห์เสน่หา            แต่หากว่าพูดยากเป็นปากหอย
เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย    จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก”

เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๙ นายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมการฝึกหัดครูเป็นหัวหน้าคณะ นำข้าราชการ นักวิชาการของกรมการฝึกหัดครู สื่อมวลชน และผู้แทนกรมศิลปากร รวมทั้งหมดประมาณ ๕๐ คน ไปยังจังหวัดเพชรบุรีเพื่อร่วมการสัมมนาที่วิทยาลัยครูจังหวัดเพชรบุรีจัดขึ้น ในหัวข้อด้านประวัติกวีและประวัติวรรณคดีไทยที่เพิ่งค้นพบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับเรื่องต้นตระกูลของสุนทรภู่ว่า ปูย่าตายายของท่านเป็นชาวเมืองเพชรบุรี

การสัมมนามีขึ้นตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น.-๑๒.๐๐ น. มีท่านอธิบดีกรมการฝึกหัดครูเป็นประธาน สมาชิกผู้เข้าร่วมการสัมมนามีนักวิชาการกรมการฝึกหัดครู สื่อมวลชนทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกรมศิลปากร และผู้แทนส่วนราชการในจังหวัด วิทยากรผู้เสนอหลักฐานเรื่องนี้ คือ นายล้อม เพ็งแก้ว นักวิชาการด้านวรรณคดี อาจารย์วิทยาลัยครูจังหวัดเพชรบุรี สาระสำคัญในการสัมมนามีดังนี้

หลักฐานเกี่ยวกับกำเนิดและตระกูลวงศ์ของสุนทรภู่เท่าที่ปรากฎอยู่ในทุกวันนี้ทราบกันแต่เพียงว่า สุนทรภู่เกิดที่พระราชวังหลัง ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราชและสถานีรถไฟบางกอกน้อย เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ไม่มีหลักฐานใดๆ บอกถึงชื่อของบิดามารดา เพียงแต่ทราบกันว่าบิดาของสุนทรภู่หย่าขาดจากภริยาตั้งแต่สุนทรภู่แรกเกิดมา แล้วไปบวชอยู่ที่บ้านกรํ่า เมืองแกลง จนตลอดชีวิต และมารดาของสุนทรกู่ได้รับหน้าที่เป็นพระนมของพระธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง ทั้งสุนทรภู่ก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่ตลอดวัยเด็กและวัยหนุ่ม จนกระทั่งกรมพระราชวังหลังทิวงคต หลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับต้นตระกูลปู่ย่าตายายของสุนทรภู่ไม่เคยมีกล่าวถึง ไม่ว่าจากหลักฐานผลงานที่ท่านแต่งไว้เองหรือข้อมูลจากที่อื่น

นายล้อม เพ็งแก้วชี้แจงว่า ตัวเขาและผู้ร่วมงานตั้งใจจะชำระนิราศเมืองเพชรให้สมบูรณ์ เพื่อพิมพ์ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีของสุนทรภู่ จึงได้ค้นคว้าดูว่า นอกจากนิราศเมืองเพชรฉบับพิมพ์ ซึ่งกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ไว้หลายครั้งแล้ว ยังมีฉบับตัวเขียนอยู่อีกกี่ฉบับ ก็พบว่ามีต้นฉบับตัวเขียนเป็นสมุดไทยเรื่องนิราศเมืองเพชรอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ถึง ๙ ฉบับ อันทางราชการและเอกชนอื่นๆ ไม่เคยตรวจสอบเพื่อเผยแพร่มาก่อน นายล้อม เพ็งแก้ว จึงได้ขอถ่ายไมโครฟิล์ม ไปตรวจสอบโดยละเอียดทั้ง ๙ ฉบับ ๗ ฉบับมีข้อความผิดเพี้ยนกันกับฉบับพิมพ์แพร่หลายไปบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีอยู่ ๒ ฉบับ ซึ่งฉบับหนึ่งเป็นของหอสมุดมาแต่เดิม อีกฉบับหนึ่ง ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๙ มีเนื้อความลางแห่งแปลกไปกว่าฉบับอื่นๆ และที่ผิดแปลกไปนั้นเป็นเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประวัติสุนทรภู่และเมืองเพชรบุรีทั้งสิ้น วิทยากรได้นำเสนอเนื้อ ความของนิราศเพชรบุรีที่ผิดแปลกไปนี้ เพราะฉบับพิมพ์ตัดทิ้งไปซึ่งอาจจะเกิดจากความบกพร่องของการพิมพ์หรือผู้ตรวจสอบชำระก็ได้ ข้อความบทกลอนในฉบับเขียน ซึ่งในฉบับพิมพ์ขาดไปตอนที่ยืนยัน เรื่องต้นตระกูลของสุนทรภู่ไว้ด้วย อย่างไรก็ดี ทางวิทยาลัยครูเพชรบุรีได้จัดสัมมนาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อ วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๙ ซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติเพราะต้องศึกษาอีกมาก แต่อาจเป็นไปได้ว่าญาติของท่าน สุนทรภู่อาจอยู่เพชรบุรีอีกแห่งหนึ่ง นอกจากเมืองแกลง จังหวัดระยอง ก็ได้?

สถานที่กล่าวถึงในนิราศเมืองเพชร

วัดหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม)    บางสะใภ้
วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม)    แม่กลอง
วัดสังข์กระจาย            คลองช่อง
คลองบางลำเจียก        ยี่สาน
คลองเตย                บ้านสองพี่น้อง
บางหลวง                ปากตะบูน
วัดบางนางชี (วัดนางชี)    คลองบางตะบูนใหญ่
วัดบางนางนอง (วัดนางนอง)    วัดร้าง (พระเจ้าเสือ)
บางหว้า                บางหอ
วัดจอมทอง (วัดราชโอรสาราม)    เขาตะคริวสวาท (เขาตะเครา)
บางประทุน            บ้านบางครก
คลองขวาง                บ้านใหม่
บางระแนะ                บางกุ่ม
วัดไทร                บ้านโพธิ์
บางบอน            บ้านหม่อมบุนนาค
วัดกก            วัดกุฎีทอง
บ้านศีรษะกระบือ (หัวกระบือ)    บางคดอ้อย
บ้านศีรษะละหาน (หัวละหาน)    พริบพรี (เพชรบุรี)
โคกขาม            วัดพลับพลาชัย
ย่านซื่อ            บ้านตาลเรียง
มหาชัย            บ้านไร่
ท่าแร้ง            วัดเขาบันไดอิฐ
บางขวาง            เขาหลวง (วัดบุญทวี-ถํ้าแกลบ)
คลองสามสิบสอง    วัดมหาธาตุ เพชรบุรี
คลองสุนัขหอน

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

นิราศพระประธม

สาธุสะพระประธมบรมธาตุ        จงทรงศาสนาอยู่อย่ารู้สูญ
ข้าทำบุญคุณพระช่วยอนุกูล        ให้เพิ่มพูนสมประโยชน์โพธิญาณ
หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ    ให้สืบชื่อช่อฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ    พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร
อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง        แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร
ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน    ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา

อาจารย์ ธนิต อยู่โพธิ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้เขียนคำนำอธิบายเรื่องนิราศพระประธม ของสุนทรภู่ ไว้ในฉบับชำระใหม่ ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๔ กล่าวว่า

“พระปฐมเจดีย์ ในจังหวัดนครปฐมบัดนี้ แต่ก่อนเคยเรียกกันมาในสมัยหนึ่งว่าพระประธม และมีนิทานเล่าประกอบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทมและนิพพานที่นั่น แล้วภายหลังพระยาพาน ประสงค์จะล้างกรรมที่ทำปิตุฆาฎ จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์สูงชั่วนกเขาเหิน สวมลงตรงที่พระพุทธเจ้าเคยบรรทม จึงเรียกกันว่าพระประธม และต่อมาเมื่อพระเจดีย์ชำรุดลง ก็คงจะมีพุทธศาสนิกชนผู้ทราบนิทานดังกล่าวนี้ และมีศรัทธาเลื่อมใสออกทุนทรัพย์ปฏิสังขรณ์และก่อสร้างปูชนียวัตถุเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ตามยุคตามคราว แล้วพากันมาสักการะบูชาเป็นเทศกาลประจำปีมาช้านาน และฤดูที่กำหนดเป็นเทศกาลขึ้นไหว้ประจำปีก็คงจะเป็นระยะเวลากลางเดือน ๑๒ เช่น ครั้งรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เสด็จไปนมัสการ ใน พ.ศ. ๒๓๗๗ เช่นที่ปรากฎในพระนิพนธ์โคลงนิราศ พระประธม ก็เสด็จในเดือน ๑๒ ท่านสุนทรภู่ไปนมัสการ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ตามที่แต่งไว้ในนิราศพระประธมนี้ ก็ไปในเดือน ๑๒ เหมือนกัน และในรัชกาลที่ ๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในพระบวรพุทธศาสนา ได้เสด็จธุดงค์ไปทรงนมัสการเมื่อ พ.ศ.- ๒๓๗๔ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ตามเสด็จหลายรูป มีหลักฐานบอกไว้แต่เพียงว่าเสด็จในฤดูแล้ง ยังมีที่ทรงปักกลดประทับอยู่ ณ เชิงพระเจดีย์ด้านเหนือ แต่เข้าใจว่าเมื่อไม่ใช่ฤดูเทศกาล ก็คงปล่อยทิ้งรางไว้ จะมีก็แต่พระภิกษุสงฆ์อยู่ดูแลบ้าง และแถวถิ่นนั้นก็คงจะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงบ้าง จึงปรากฏกล่าวถึงในนิราศพระประธมนี้และในหนังสืออื่น ว่าเป็นบริเวณป่ารกร้าง มีสัตว์ป่า เช่น กวาง ทราย และไก่เถื่อน เป็นต้น ซึ่งผู้คนที่ไปนมัสการได้พบปะอยู่เสมอ ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงค้นพบหนังสือเก่า เรียกไว้ว่า พระปฐมเจดีย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระประธมว่า “พระปฐมเจดีย์” ตามหนังสือเก่า และโปรดให้ทำการบูรณะเป็นการใหญ่มาตลอดรัชกาล แต่การบูรณะปฏิสังขรณ์ยังไม่เสร็จบริบูรณ์ตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้บูรณะต่อมา และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็มาสำเร็จลงต่อในรัชกาลที่ ๗ เช่น พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ และงานนมัสการที่กำหนดเป็นฤดูเทศกาลประจำปี ก็มีในเดือน ๑๒ สืบเนื่องตลอดมาจนบัดนี้

ถ้าท่านผู้อ่านนิราศพระประธมเล่มนี้ ได้เคยอ่านกลอนเรื่อง รำพันพิลาป ของสุนทรภู่ ฉบับชำระใหม่และพิมพ์จำหน่ายในงานกวีวรรณนา ณ วัดเทพธิดาราม เนื่องในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดของสุนทรภู่ ครบ ๑๗๕ ปี เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านย่อมจะทราบดีแล้วว่า ท่าน สุนทรภู่แต่งรำพันพิลาป ตามความฝันของท่านในคืนวันจันทร์ เดือน ๘ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ ซึ่งเวลานั้น ท่านมีอายุ ๕๖ ปี และยังครองเพศเป็นสมณะอยู่ แต่ได้บอกล่าวในหนังสือรำพันพิลาปนั้นว่า

โอ้ปีนี้ปีขาลสงสารวัด        เคยโสมนัสในอารามสามวัสสา
สิ้นกุศลผลบุญกรุณา        จะจำลาเลยลับไปนับนาน

แล้วดูเหมือนท่านสุนทรภู่จะได้ลาสิกขาบทในปีขาล เข้าใจว่าคงจะสึกราวข้างขึ้นเดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษาในปีนั้น แล้วเข้าถวายตัวพึ่งพระบารมีอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นเสด็จดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิม ธนบุรี ครั้นต่อมาในเดือน ๑๒ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ นั้นเอง ท่านสุนทรภู่ก็เดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ บอกวันออกเดินทางไว้ในเบื้องต้น นิราศพระประธมของท่านว่า “ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ” เข้าใจว่า เป็นวันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๓๘๕ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากเหตุการณ์ใน “รำพันพิลาป” ราว ๓-๔ เดือน ในระยะนั้น ท่านสุนทรภู่ยังอยู่ตัวคนเดียว แต่คงจะริรักแม่หม้ายสักคนหนึ่ง และน่าจะยังมิได้ตกร่องปล่องชิ้นกันจึงรำพึงรำพันไว้ว่า

โอ้หน้าหนาวคราวนี้เป็นที่สุด    ไม่มีนุชแนบชมเมื่อลมหวน
พี่เห็นนางห่างเหยังเรรวน        มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทน

ท่านสุนทรภู่เดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์คราวนี้มีบุตรชายร่วมเดินทางไปด้วย ๒ คน คนหนึ่งคือ นายตาบ และอีกคนหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นนายนิล เข้าใจว่าลงเรือแถวท่าพระราชวังเดิม จังหวัดธนบุรี แล้วไปตามเส้นทาง ดูท่านจะเปลี่ยวเปล่า ว้าเหว่อยู่มาก จึงรำพึงรำพันถึงความหลังที่เคยเกี่ยวข้องกับใครต่อใครมากมายหลายหน้า และเข้าใจว่า ท่านสุนทรภู่มิได้เว้นรำพึงรำพันถึงแม้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เช่นเมื่อเดินทางผ่านวัดสัก ได้รำพันไว้ว่า
ถึงวัดสักเหมือนพึ่งรักที่ศักดิ์สูง        สูงกว่าฝูงเขาเหินเห็นเกินสอย
แม้นดอกฟ้าคลาเคลื่อนหล่นเลื่อยลอย    จะได้คอยเคียงรับประคับประคอง

พิจารณาตามบทกลอนในนิราศพระประธมนี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อยังรุ่นหนุ่ม ท่านสุนทรภู่คงจะท่องเที่ยวโปร่งปรุตลอดแถวย่านคลองบางกอกน้อย จนถึงบางกรวยและบางสีทอง และรู้จักมักคุ้นอย่างมีความหมายกับผู้หญิงยิงเรือมากหน้าหลายตาในย่านนั้น เมื่อท่านเดินทางผ่านไปในถิ่นนี้อีก จึงเป็นเหตุให้รื้อฟื้นความทรงจำอย่างมีความหมายและสร้างเป็นบทกลอนอันพริ้งเพรา ดูช่างเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจเสียจริงๆ ยิ่งกว่ากวีอื่นใดที่เดินผ่านเส้นทางสายเดียวกัน ครั้นผ่านพ้นย่านที่เคยมีผู้รู้จักมักคุ้นแล้ว ท่านก็หยิบเอาของกินที่มีผู้จัดหามาให้เป็นเสบียงกลางทางเช่น ฟักเชื่อม จันอับ และมะพลับแช่อิ่ม แล้วกินพลางรำพันถึงเจ้าของไปพลาง ด้วยบทกลอนอันไพเราะเพราะพริ้ง นอกนั้นก็พรรณนาถึงถิ่นฐานบ้านช่องและสิ่งพบเห็นตามทางที่ผ่านไป คลุกคละปะปนกับความรู้สึกของท่าน ว่าถึงปูนอายุของท่านก็ทำให้น่าคิดว่าระยะนั้น ท่านสุนทรภู่คงจะกำลังติดต่ออยู่กับใครสักคนหนึ่ง ซึ่งเป็นแม่หม้าย แต่ยังรวนเรไม่ตกร่องปล่องชิ้น เช่นกล่าวมาข้างต้น จึงรำพันถึงไว้อีกว่า

สงสารแต่แม่หม้ายสายสวาท    นอนอนาถหนาวน่าน้ำตาไหล
อ่านหนังสือหรือว่าน้องจะลองใน    เสียดายใจจางจืดไม่ยืดยาว
แม้นยอมใจให้สัตย์จะนัดน้อง    ไปร่วมห้องหายหม้ายทั้งหายหนาว

เมื่อเดินทางไปถึงวัดพระประธม ท่านสุนทรภู่ได้พรรณนาถึงองค์พระและบริเวณ ซึ่งรกเป็นราวป่า ตามสภาพที่เป็นอยู่ในสมัยนั้น เห็นจะตั้งอกตั้งใจไปไหว้ด้วยความมุ่งมั่นมีศรัทธาแก่กล้าในแรงบุญจริงๆ จึงชวนบุตรชาย ๒ คน ปีนป่ายขึ้นไปทำประทักษิณและนมัสการ พลางตั้งจิตอธิษฐานเสียหลายแง่หลายมุม พร้อมทั้งกล่าวอ้างกระทบกระเทียบถึงใครต่อใครแฝงความหมายไว้ยืดยาว แต่ก็อ่านไพเราะน่าพัง ครั้นลงจากองค์พระแล้วก็พาบุตรเข้าไปในโบสถ์ ได้พบท่านผู้เฒ่า คงจะชาวบ้านแถวนั้น ซึ่งรู้นิทานเรื่องพระยากงพระยาพานดี ท่านสุนทรภู่ได้ “ถามผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้ หวังจะให้ทราบความตามประสงค์” แต่เรื่องราวเกี่ยวกับพระยาพานสร้างพระประธมที่ท่านสุนทรภู่ได้ยินได้ฟังแล้ว นำมาแต่งไว้ในนิราศพระประธมนี้ มีพลความแตกต่างไปบ้างจาก “ตำนานพระปฐมเจดีย์” ที่ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ รวบรวมไว้ เป็นทางช่วยให้เราทราบพลความเพิ่มเติมต่างออกไปอีก จึงได้ทำเชิงอรรถเปรียบเทียบไว้ในหน้านั้นๆ เมื่อท่านสุนทรภู่ออกมานอกโบสถ์ ก็ตรวจนํ้าแผ่ส่วนบุญให้แก่บิดา มารดาครูอาจารย์ของท่าน และในตอนท้ายได้อุทิศกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วยความรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ครั้นแล้วก็ถวายกุศลแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย แล้วก็จบนิราศพระประธม”

แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก    ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์

อมตกวีไทยได้มีสภาพเป็นพ่อค้าเรือเร่ และกวีรับจ้างอยู่นานเท่าใดไม่แน่ ดาวประจำชีพของท่านก็ฉายแสงรุ่งโรจน์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นข้อน่าพิศวงในความผันแปรของชีวิตของกวีแห่งชาติผู้นี้ ตกทุกข์ได้ยากคราวใดก็ไม่ถึงที่อับจนจนเหลือเกิน ไม่ช้าบุญปางหลังก็นำให้ได้ที่พึ่งที่ดีเสมอ คราวนี้ท่านได้พึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์) และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระพี่นางของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ นับว่าสุนทรภู่ได้ร่มโพธิ์ร่มไทรที่แผ่สาขาให้ความร่มเย็นเป็นสุขอีกครั้งหนึ่ง สุนทรภู่ได้กรวดนํ้าถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่า

“ถวายองค์มงกุฎอยุธเยศ        ทรงเสวตคชงามทั้งสามสาร
เสด็จถึงซึ่งบุรีนีรพาน            เคยโปรดปรานเปรียบเปี่ยมได้เทียมคน
สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าออก        น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน
ขอพบเห็นเป็นข้าฝ่ายุคล            พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน
ถึงล่วงแล้วแก้วเกิดกับบุญฤทธิ์        ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ
สิ้นแผ่นดินทินกรจรจำรูญ            ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน
ดังจินดาห้าดวงช่วงทวีป            ได้ชูชีพช่วยทุกข์เมื่อฉุกเฉิน
เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน            จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา
อนึ่งน้อมจอมนิกรอัปสรราช            บำรุงศาสนาสงฆ์ทรงสิกขา
จงไพบูลย์พูนสวัสดิ์วัฒนา            ชนมาหมื่นแสนอย่าแค้นเคือง”

พระอภัยมณีงานชิ้นเยี่ยมของสุนทรภู่เป็นที่โปรดปรานของเจ้าหญิงพระองค์นี้มาก มีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อไปจนถึงเล่ม ๙๔ นับว่าทรงติดพระอภัยมณีจนถึงกับทรงกำชับให้แต่งเดือนละเล่ม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพิเคราะห์สำนวนว่า พระอภัยมณีตอนหลังๆ นี้สุนทรภู่เห็นจะมิได้แต่งคนเดียว อาจขอให้ศิษย์ช่วงแต่งบ้างก็เป็นได้เพราะอาจมีธุระแต่งเองไม่ทัน นอกจากนั้นสุนทรภู่ยังแต่งสิงหไตรภพถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกเรื่องหนึ่ง แต่งได้ ๑๕ เล่มสมุด โดยยัง ไม่จบ อาจหยุดเมื่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๘๘ ในรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นได้

เนื้อนิราศ

สุนทรภู่เดินทางด้วยเรือพร้อมกับบุตรชาย 2 คน ผ่านวัดทองระลึกถึงน้องสาวทั้งสอง คือ ฉิมและนิ่ม และเมียที่ชื่อแก้วว่าตายและทำศพที่วัดนี้ เมื่อถึงบางบำรุรำพันประหนึ่งจะเคยไปรักซ้อนเข้ากับเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง ว่า

“บำตำรุเหมือนบำรุบำรุงรัก            จะพึ่งพักพิศวาสเหมือนมาดหมาย
ไม่เหมือนนึกตรึกตรองเพราะสองราย    เห็นฝักฝ่ายเฟื่อนหลงด้วยทรงโลม”

ถึงบางกรวยระลึกถึงแม่งิ้ว รำพันว่า “โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี” และว่านายตาบมองคลองบ้านดูมารดา

ถึงบางศรีทองนึกถึงคนชื่อศรีทองว่า     เคยเป็นคู่บอกสักวา ปากหวานเหมือนนํ้าตาล

“ทุกวันนี้พี่เฒ่าเราก็หง่อม    เธอเป็นจอมเราเป็นจนต้องบ่นหา”

เมื่อถึงบ้านธรรมศาลาได้อธิษฐานว่า

“เดชะคำทำคุณการุณัง            เป็นที่ตั้งวาสนาให้ถาวร
ขอสมหวังดังสวาทอย่าคลาดเคลื่อน    ให้ได้เหมือนหมายรักในอักษร
หนังสือไทยอธิษฐานสารสุนทร        จงถาวรเพิ่มรักเป็นหลักโลม”

ในที่สุดเดินทางถึงพระปธม ได้นมัสการและอธิษฐานว่า

“สาธุสะพระปธมบรมธาตุ        จงทรงศาสนาอยู่ไม่รู้สูญ
ข้าท่ำบุญคุณพระช่วยอนุกูล        ให้เพิ่มพูนสมประโยชน์โพธิญาณ
หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ    ให้ลือชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาล    พระทรงสารศรีเสวตเกศกุญชร
อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างๆ            แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร
ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน    ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา
อนึ่งหญิงทิ้งสัตย์เราตัดขาด            ถึงน้ำเนื้อธรรมชาติไม่ปรารถนา
ข้างนอกนวลส่วนข้างใจใจสุดา        เหมือนปลาร้าร้ายกาจอุจาดจริง
ถึงรูปชั่วตัวดำระยำยาก        รู้รักปากรักหน้าประสาหญิง
ถึงปากแหว่งแข้งคอดไม่ทอดทิ้ง        จะรักยิ่งยอดรักให้หนักครัน
จนแก่กกงกเงิ่นเดินไม่รอด            จะสู้กอดแก้ตาจนอาสัญ
อันหญิงลิงหญิงค่างอย่างนั้น        ไม่ผูกพันพิศวาสให้คลาดคลา
ขอเดชะพระมหาอานิสงส์            ซึ่งเราทรงศักราชพระศาสนา
เสน่ห์ไหนให้คนนั้นกรุณา            เหมือนในอารมณ์รักประจักษ์จริง
หนึ่งน้องหญิงมิ่งมิตรพิศาวาส        ซึ่งสิ้นชาติชนม์ภพสบสมัย
ขอคุณพระอานิสงส์ช่วยส่งไป        ถึงห้วงไตรตรึงส์สถานพิมานแมน
ที่ยังอยู่คู่เคยไม่เชยชื่น                จงปรากฏยศยืนกว่าหมื่นแสน
มั่งมีมิตรพิศวาสอย่าขาดแคลน        ให้หายแค้นเคืองทั่วทุกตัวคน
นารีใดที่ได้รักแต่ลักลอบ            เสน่ห์มอบหมายรักเป็นพักผล
เผอิญขัดพลัดพรากเพราะยากจน        แบ่งกุศลส่งสุดาทุกนารี
ให้ได้คู่สู่สมภิรมย์รัก                ที่สมศักดิ์สมหน้าเป็นราศรี
สืบสกูลพูนสวัสดิ์ในปฐพี            ร่วมชีวีกัสองคนไปจนตาย
แต่นารีขี้ปดโต้หลดหลอก            ให้ออกดอกเหมือนวี่วันที่มั่นหมาย
ทั้งลิ้นน้องสองลิ้นเพราะหมิ่นชาย        เป็นแม่หม้ายเท้งเต้งวังเวงใจ
ที่จงจิตพิศวาสอย่าคลาดเคลื่อน        ให้ได้เหมือนหมายมิตรพิสมัย
อย่าหมองหมางห่างเหเสน่ห์ใน        ได้รักใคร่ครองกันจนวันตาย
เป็นคู่สร้างทางกุศลจนสำเร็จ        สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ยังมิถึงซึ่งนิพพานสำราญกาย        จะกลับกลายเป็นไฉนอย่าไกลกัน
แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก            ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์
แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร์            ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นแมงภู่            ได้ชื่นชูสู่สมชมเกสร
เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร            ได้เชยช้อนชมทะเลทุกเวลา
แม้นเป็นถ้ำน้ำใจใคร่เป็นหงส์        จะได้ลงสิงสู่ในคูหา
แม้นเนื้อเย็นเป็นเทพธิดา            พี่ขออาศัยเสน่ห์เป็นเทวัน”

ศิลปะการประพันธ์

คราวนี้สุนทรภู่กำลังมีจิตใจแจ่มใสชื่นบานในบทพรรณนาโวหาร ท่านจะทราบประวัติและตำนานเรื่องพระยากงพระยาพาน บ้านพะเนียดที่จับจูงช้างโขลงเข้าโรงหลวง

เมื่อถึงบทพิศวาส สุนทรภู่ได้ตัดพ้อแม่ม่วงซึ่งเลิกกันแล้วอย่างโหยหวน

“ถึงบางม่วงง่วงจิตคิดถึงม่วง    แต่จากทรวงเสียใจอาลัยเหลือ
มะม่วงงอมหอมหวนเหมือนนวลเนื้อ    มิรู้เบื่อบางม่วงเหมือนดวงใจ
เห็นต้นรักหักโค่นต้นสนัด            เป็นรอยตัดรักขาดให้หวาดไหว
เหมือนตัดรักตัดสวาทขาดอาลัย        ด้วยเห็นใจเจ้าเสียแล้วนะแก้วตา”

ส่วนหญิงที่สุนทรภู่กำลังรักและคร่ำครวญถึงจะเป็นใครก็ตาม ท่านเรียกของท่านว่า น้องเนื้อนพคุณ จะต้องงาม

“พี่เคยเห็นเช่นเคยเชยฉันใด        จนชั้นไฝที่ริมปากไม่อยากเบือน”

และพรํ่าว่า

“โอ้อกพี่นี้ก็ร้อนด้วยความรัก    ถึงฝนสักแสนห่าไม่ฝ่าฝืน
ไม่เหมือนรสพจมานเมื่อวานซืน    จะชูชื่นใจพี่ด้วยปรีดิ์เปรม
โอ้เปรียบชายคล้ายนกวิหคน้อย    จะเลื่อนลอยลงสรงกับหงส์เหม
ได้ใกล้เคียงเมียงริมจะอิ่มเอม    แสนเกษมสุดสวาทไม่คลาดลาย..”

หญิงผู้นี้คงจะต้องสูงศักดิ์นัก

เมื่อถึงตำบลลานตากฟ้าจึงครวญว่า

“โอ้แผ่นฟ้ามาตากถึงภาคพื้น    น่าจะยื่นหยิบเตือนได้เหมือนใจ
เจ้าหนูน้อยพลอยว่าฟ้าน้ำตก    ใครช่างดำยกฟ้าขึ้นมาได้
แม้นแดนดินสิ้นฟ้าสุราลัย        จะเปล่าใจจริงจริงทั้งหญิงชาย… ”

และได้รำพันพ้ออีกแห่งว่า

“โอ้กระต่ายหมายจันทร์ลงชั้นฟ้า            เทวดายังช่วยรับประคับประคอง
มนุษย์หรือถือว่าดีว่ามีศักดิ์                มิรับรักเริดร้างให้หมางหมอง
ไม่เหมือนเดือนเหมือนกระต่ายเสียดายน้อง    จึงขัดข้องขัดขวางทุกอย่างไป…”

พูดถึงแง่ปรัชญาท่านได้เปล่งเสียงสอนไว้หลายตอน เช่นเห็นเขาหีบอ้อย ก็ว่า

“เห็นน้ำอ้อยย้อยรางที่วางเรียง        โอ้พิศเพียงชลนาที่จาบัลย์
อันลำอ้อยย่อยยับเหมือนกับอก        น้ำอ้อยตกเหมือนน้ำตาตวงกว่าขัน
เขาโหมไฟในโรงโขมงควัน        ให้อัดอั้นอกกลุ้มรุมระกำ
อันน้ำในใจคนเหมือนต้นอ้อย    ข้างปลายกร่อยชืดชิมไม่อิ่มหนำ
ต้องหับหนีบแตกให้แหลกลำ    นั่นแหละน้ำจึงจะหวานเพราะจานเจือ”

ว่าถึงความคิดเห็นตามหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน สุนทรภู่ไม่เชื่องมงายในไสยศาสตร์ทั้งหลาย เมือไปเจ็บที่เมืองแกลงเคยรักษาด้วยคนทรงไม่พอใจ บ่นว่า

“….ให้คนทรงลงผีเมื่อพี่เจ็บ        ว่าเพราะเก็บดอกไม้ที่ท้ายเขา
ไม่งอนง้อขอสู่ทำดูเบา            ท่านปู่เจ้าเคืองแค้นจึงแทนทด
ครั้นตาหมอขอโทบก็โปรดให้    ที่จริงใจพี่ก็รู้อยู่ว่าปด
แต่ชาวบ้านท่านถือข้างท้าวมด    จึงสู้อดนิ่งไว้ในอุรา…”

คราวนี้สุนทรภู่ได้ประณามคนทรงว่า

“เห็นคนทรงปลงจิตอนิจจัง        ให้คนทั้งปวงหลงลงอุบาย
ซึ่งคำปดมดท้าวว่าเจ้าช่วย        ไม่เห็นด้วยที่จะได้ดังใจหมาย
อันเจ้าผีนี้ถึงรับก็กลับกลาย        ถึงเจ้านายที่ได้พึ่งจึงจะดี
แต่บ้านนอกคอกนาอยู่ป่าเขา    ไม่มีเจ้านายจึงต้องพึ่งผี”

ในตอนสุดท้ายของนิราศพระประธม สุนทรภู่ได้พรรณนาไว้อย่างกินใจตอนหนึ่งว่า

สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก        น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน
โอ้พระคุณทูลกระหม่อมจอมสกล        พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน
ถึงล่วงแล้วแก้เกิดกับบุญฤทธิ์        ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ
สิ้นแผ่นดินทินกรรอนจำรูญ            ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน
ดังจินดาห้าดวงช่วงทวีป            ได้ชูชีพช่วยทุกข์เมื่อฉุกเฉิน
เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน            จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา
อนึ่งน้อมจอมนิกรอัปสรราช             บำรุงศาสนสงฆ์ทรงสิกขา
จงไพบูลย์พูลสวัสดืวัฒนา            ชนมาหมื่นแสนอย่าแค้นเคือง
ษิโณทกตกดินพอสิ้นแสง            ตะวันแดงดูฟ้าเป็นผ้าเหลือง
เข้าพลบค่ำร่ำระวีราศีประเทือง        ก็จบเรื่องแต่งชมประธมเอย”

สถานที่กล่าวถึงในนิราศพระประธม
๑. วัดระฆัง ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามท่าช้างวังหลวง
๒. บางกอกน้อย คลองแยกแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกเหนือสถานีรถไฟธนบุรี เดิมเป็นลำนํ้าเจ้าพระยา
๓. วังหลัง ตั้งอยู่แถวบริเวณศิริราชพยาบาล
๔. บางหว้าน้อย เดี๋ยวนี้เรียกบางว้า ยังมีโบสถ์วัดบางว้าหรือวัดอัมรินทรารามอยู่ในบริเวณสถานีรถไฟธนบุรีเป็นสำคัญ
๕. วัดทอง วัดสุวรรณาราม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองบางกอกน้อย
๖. วัดปะขาว วัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดาราม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองบางกอกน้อย
๗. บางบำหรุ ตำบลในอำเภอบางกอกน้อย บางตำหรุก็เรียก มีคลองแยกจากคลองบางกอกน้อยที่ใต้วัดนายโรง ไปจดวัดสนาม (นอก) เหนือวัดพิกุล
๘. บางขุนนนท์ ตำบลในอำเภอบางกอกน้อย และมีคลองบางขุนนนท์ แยกคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ตอนเหนือวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ในท้องที่อำเภอตลิ่งชัน
๙. บางระมาด คลองแยกและตำบลในอำเภอตลิ่งชัน
๑๐. วัดไก่เตี้ย ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย และมีปากคลองแยกที่วัดไก่เตี้ย ในท้องที่อำเภอตลิ่งชัน
๑๑.  สวนหลวง อยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย ระหว่างวัดน้อยในถึงวัดชัยพฤกษ์มาลา ต่อมาตกเป็นที่ของคุณจอมกลีบในรัชกาลที่ ๕ แล้วแบ่งขายบ้าง ถวายเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดชัยพฤกษมาลาบ้าง และมีที่ซึ่งตกเป็นของนางชื่น แดงอร่าม ภายในที่ผืนนี้ ยังมีสระกว้างยาวประมาณร้อยเมตรและมีลำคู (ตรงข้ามวัดพิกุล) ขุดแยกจากคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกเข้าไปสู่สระ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นทางเรือพระที่นั่งในเวลาเสด็จประพาส แต่เดี๋ยวนี้คูและสระตื้นเขินเสียแล้ว
๑๒. บางขวาง คลองลัดในอำเภอบางกรวย แยกจากคลองมหาสวัสดิ์ ตรงข้ามวัดชัยพฤกษ์มาลา ไปบรรจบคลองวัดสัก ปัจจุบันเรียกกันว่า คลองขวาง
๑๓. วัดพิกุล วัดพิกุลตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกคลองบางกอกน้อย
๑๔. บางสนาม มีคลองแยกอยู่เหนือวัดพิกุล และมีวัดสนามนอกอยู่ริมคลอง ตำบลวัดชะลอ อำเภอบางกรวย
๑๕. สวนแดน คลองในอำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรีอยู่ระหว่างวัดไก่เตี้ยกับวัดน้อยในปากคลองแยกจากคลองบางกอกน้อย ที่วัดไก่เตี้ยไปจดคลองศาลเจ้า ยาวราว ๓ กิโลเมตร
๑๖. วัดเกด ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย ตำบลวัดชะลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
๑๗. วัดชะลอ ตั้งอยู่ปากคลองวัดชะลอ คลองวัดชะลอนี้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์โปรดให้ขุดมาเชื่อมคลองบางกอกน้อยที่วัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๐ ต่อมาเลยเรียกคลองขุดเชื่อมตอนนี้เป็นคลองบางกอกน้อยไปด้วย และคำว่าวัดชะลอเรียกตำบลขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรีด้วย ที่ว่าการอำเภอบางกรวย ตั้งอยู่เหนือวัดชะลอตรงทางร่วมของคลองบางกรวย และคลองแม่น้ำอ้อมกับคลองบางกอกน้อย ในตำบลวัดชะลอ
๑๘. บางกรวย คลองบางกรวย แยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาตรงหน้าวัดเขมาภิรตาราม มาทะลุที่ปากคลองวัดชะลอ หรือที่เรียกรวมเป็นคลองบางกอกน้อยตรงเหนือวัดชะลอ ต่อคลองแม่นํ้าอ้อม เหนือที่ตั้งที่ว่าการอำเภอบางกรวย
๑๙. บางสีทอง คลองแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งขวา ตอนหน้าเมืองนนทบุรี มาต่อกับคลองแม่นํ้าอ้อมเหนือที่ว่าการอำเภอบางกรวย
๒๐. บางอ้อช้าง เดี๋ยวนี้เรียกบางอ้อยช้างและมีวัดบางอ้อยช้าง ตั้งอยู่ปากคลองบางอ้อช้าง ซึ่งแยกคลองแม่นํ้าอ้อม ทางฝั่งตะวันออก
๒๑. วัดสัก มีคลองวัดสักแยกทางฝั่งตะวันตก
๒๒. บางขนุน ตำบลนี้ขึ้นในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองแยกซ้ายทางฝั่งตะวันตกเข้าไปวัดบางขนุน ว่าแต่ก่อนครั้งท้าวอู่ทองเรียกกันมาว่าบางถนนภายหลังมาเรียกเพี้ยนเป็น บางขนุน
๒๓. บางขุนกอง ตำบลนี้ขึ้นในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองแยกทางฝั่งตะวันตก
๒๔. บางนายไกร มีวัดบางไกรนอก ตั้งอยู่ริมคลองแม่นํ้าอ้อม และมีคลองบางนายไกร แยกทางฝั่งตะวันตกเข้าไปวัดบางไกรใน ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าควรจะเรียกวัดบางนายไกรนอกและวัดบางนายไกรใน ไม่ควรจะตัดคำว่า “นาย” ออกเสีย ณ ที่วัดบางนายไกรใน มีปริศนาลายแทงว่า “วัดบางนายไกร มีตะเข้สระใหญ่ไปใข่สระขวาง ไข่แล้วโบกหาง เอาคางทับไว้” มีพระพุทธรูปหลายองค์ ในโบสถ์และวิหารวัดบางนายไกรในว่านำมาจากวัดนาฬิเก ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ในตำบลบางขุนกอง
อำเภอบางกรวยนั่นเอง และว่าที่วัดนาฬิเกก็มีปริศนาลายแทงว่า “วัดนาฬิเกมีตะเข้สามศอก ใครคิดไม่ออก ให้เอาที่ถอกทาปูน”
๒๕. บางระนก คลองแยกฝั่งตะวันตกจากคลองแม่นํ้าอ้อมในท้องที่อำเภอบางกรวย
๒๖. บางคูเวียง คลองแยกจากคลองแม่นํ้าอ้อมฝั่งตะวันตก มาเชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์ ที่ใต้สถานีธรรมสพน์ ตำบลขึ้นในอำเภอบางกรวย
๒๗. บางม่วง มีคลองบางม่วงแยกทางฝั่งตะวันตกที่ปากคลองมีวัดอัมพวัน ตำบลบางม่วง ขึ้นในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๒๘. บางใหญ่ คลองยาว ๑๒ กิโลเมตรไปต่อคลองโยง และมีตำบลขึ้นในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ปากคลองด้านใต้
๒๙. บางกระบือ คลองแยกจากคลองบางใหญ่ ด้านตะวันตก ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๓๐. บางสุนัขบ้า ปัจจุบันมีวัดชื่อบางโค และมีคลองซึ่งเรียกว่าบางโคบ้า คงจะเรียกกันมาตามชื่อเดิม อยู่ในตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ แต่ในนิราศนี้พรรณนาถึงบางสุนัขบ้า จะเป็นแห่งเดียวกันหรืออย่างไรไม่ทราบ
๓๑. บางโสน มีคลองโสนแยกคลองบางใหญ่ในอำเภอบางใหญ่ทางฝั่งตะวันออกมาเชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์
๓๒. บ้านใหม่ธงทอง ตาบลขึ้นในอำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๓๓. คลองโยง เป็นคลองแยกต่อจากคลองบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ไป ออกแม่นํ้านครชัยศรี เมื่อยังไม่ขุดคลองมหาสวัสดิ์ การเดินทางไปมาแต่ก่อนได้ใช้คลองโยงนี้เป็นทางเชื่อมคมนาคม แต่หน้าแล้งนํ้าตื้นต้องใช้ควายโยงลากเรือ เช่นที่กล่าวถึงในนิราศนี้
๓๔. บางเชือก หมู่บ้านในตำบลบ้านใหม่ ตำบลบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๓๕. ลานตากฟ้า ตำบลในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
๓๖. งิ้วราย ตำบลขึ้นในอำเภอนครชัยศรี มีวัดงิ้วรายและสถานรถไฟสายใต้ชื่อวัดงิ้วราย
๓๗. สำประทวน ตำบลขึ้นอำเภอนครชัยศรี มีวัดสัมปทวนอยู่ฝั่งตะวันตกแม่นํ้านครชัยศรี
๓๘. ปากน้ำสำประโทน แถวที่ตั้งที่ว่าการอำเภอนครชัยศรี แต่ก่อนเรียกกันว่าตำบลปากนํ้า คงหมายถึงปากนํ้าเข้าคลองบางแก้ว
๓๙. บางแก้ว คลองและตำบลขึ้นอำเภอนครชัยศรี มีคลองบางแก้วแยกแม่นํ้าฝั่งขวา เหนือวัดกลางและใต้โรงกลั่นสุรา
๔๐. โพเตี้ย มีหมู่บ้านโพเตี้ยอยู่ในตำบลท่าตำหนัก แต่ปัจจุบันไม่มีต้นโพเตี้ยแล้ว คงมีเนินดินอยู่ในบริเวณบ้านของนายบุก อินทพงศ์ เหนือรางอุทัยแยกคลองบางแก้ว หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าตำหนัก อำเภอนครชัยศรี
๔๑. บางกระชับ ตำบลท่ากระชับขึ้นในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ถ้าเข้าไปตามคลองบางแก้ว ตำบลท่ากระชับอยู่เลยตำบลท่าตำหนักเข้าไป ฝั่งตะวันออกเป็นตำบลท่ากระชับ มีวัดไทรอยู่ริมคลองวัดบางแก้วอยู่ตรงวัดไทร
๔๒. วัดสิงห์ อยู่ริมคลองบางแก้วฝั่งตะวันตก ในตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี มีผู้จำปริศนาลายแทงที่วัดนี้ไว้ว่า “ตะริดติ้ดตี่ กะดี่สอง ผินหน้าลงคลอง สองตะกร้าโกยเอา”
๔๓. วัดท่า (ใน) อยู่ริมคลองบางแก้วฝั่งตะวันตก ในตำบลท่าพระยา อำเภอนครชัยศรี และมีศาลาวัดอยู่ริมถนนเพชรเกษมทางซ้ายมือ และปัจจุบันมีถนนพอรถยนต์เข้าไปได้ถึงวัด ระยะ ราว ๒ กิโลเมตร
๔๔. บ้านกล้วย มีบ้านกวยในตำบลท่าพระยา ขึ้นในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
๔๕. บ้านธรรมศาลา ตำบลขึ้นอำเภอเมืองนครปฐม มีวัดธรรมศาลา อยู่ด้านใต้ของถนนสายเพชรเกษม ในวัดมีโคกอิฐขนาดใหญ่อยู่หลังวิหาร เข้าใจว่าเป็นฐานพระเจดีย์
๔๖. บ้านเพนียด ตำบลขึ้นในอำเภอนครชัยศรี
๔๗. วัดพระประธม วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

สถานที่กล่าวถึงในโคลงนิราศสุพรรณ

มหานาค ชื่อตำบล ขึ้นอำเภอป้อมปราบ มีคลองมหานาคเลียบข้างวัดสระเกศออกไปขนานกับถนนดำรงรักษ์ไปผ่านวังสระปทุม และไปบรรจบกับคลองแสนแสบ คลองมหานาคนี้ต่อกับคลองบางลำภู และคลองโอ่งอ่าง ที่ตรงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หน้ากรมโยธาธิการ

วัดสระเกศ อยู่ปากคลองมหานาค ตำบลสำราญราษฎร์ อำเภอพระนคร เดิมชื่อวัดสะแก เป็นวัดโบราณ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรื้อสถาปนาใหม่ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างภูเขาถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระเจดีย์บนยอดภูเขาทองแต่ไม่สำเร็จ มาสำเร็จในรัชกาลที่ ๕ และในรัชกาลปัจจุบันนี้ได้มีการประดับกระเบื้องทององค์พระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง

เชิงเลน คือ วัดบพิตรภิมุฃ อยู่ในคลองโอ่งอ่างฝั่งใต้ ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธวงศ์ เดิมชื่อวัดตีนเลนหรือวัดเชิงเลน เป็นวัดโบราณ กรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานนามเปลี่ยนใหม่ว่าวัดบพิตรภิมุข

วัดเลียบ คือวัดราชบูรณะ เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดเลียบ อยู่ในเขตกำแพงพระนครแถบพาหุรัด เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงช่วย และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชบุรณะ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ถอนสีมาเก่าแล้วทรงสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างปรางค์องค์ใหญ่ ในรัชกาลต่อๆ มาให้ทรงปฏิสังขรณ์บ้าง เมื่อสงครามโลกคราวที่สอง ได้ถูกระเบิดทำลายเสียหายยับเยิน เพิ่งบูรณะขึ้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน

วัดแจ้ง คือวัดอรุณราชวราราม อยู่บนฝั่งตะวันตกของลำนํ้าเจ้าพระยา เหนือพระราชวังเดิม เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดแจ้ง พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีทรงปฏิสังขรณ์ส่วนบนอุโบสถเก่า รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชธารามก่อน ภายหลังเป็นวัดอรุณราชวราราม ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระปรางค์เป็นยอดมงกุฎและปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเพิ่มเติมบ้างและในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิสังขรณ์มากเพราะเพลิงไหม้พระอุโบสถ

ฉนวน ทางเดินสำหรับเจ้านายฝ่ายในเสด็จออกทางท่าราชวรดิษฐ

ท่าช้างว้งหลวง อยู่ริมลำนํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตรงข้ามวัดระฆังโฆสิตาราม อยู่ในเขตตำบลพระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร

วังหลัง ตั้งอยู่แถวบริเวณศิริราชพยาบาล สุนทรภู่มีความสัมพันธ์กับวังหลังมาก โดยที่มารดาได้เป็นนางนมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่เคยอยู่ในวังหลังกับมารดาและได้ถวายตัวเป็นข้าในพระราชวังหลังมาตั้งแต่ยังเด็กจนกระทั่งรุ่นหนุ่ม ได้ลอบรักใคร่กับหญิงชื่อจัน จนได้รับโทษทั้งสองคน แล้วต่อมาสุนทรภู่ก็ได้จันเป็นภรรยา ทำนองเจ้าครอกข้างในชื่อทองอยู่ซึ่งเป็นอัครชายาในกรมพระราชวังหลังจะยกประทานให้

คลองบางกอกน้อย คลองแยกแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเหนือสถานีรถไฟธนบุรี เดิมเป็นลำนํ้าเจ้าพระยา

บ้านบุ ชื่อตำบลขึ้นในอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันนี้ยังมีตลาดบ้านบุอยู่

วัดชีปะขาว คือ วัดศรีสุดาราม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองบางกอกน้อย วัดนี้เป็นสำนักศึกษาในวัยเยาว์ของสุนทรภู่ เดิมเรียกกันว่า วัดชีผ้าขาวหรือเรียกวัดปะขาวก็มี เป็นวัดโบราณมีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร ครั้นในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ได้ทรงสถาปนาใหม่ ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่าวัดศรีสุดาราม

บางบำรุ คือบางบำหรุ ชื่อตำบลในอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี บางทีเรียกว่าบางตำหรุ ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของคลองบางกอกน้อย มีคลองบางบำหรุแยกจากคลองบางกอกน้อยที่ใต้วัดนายโรง ไปจดวัดสนาม (นอก) เหนือวัดพิกุลทอง มีวัดบางบำหรุอยู่ในลำคลองนี้

บางระมาด ตำบลในอำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี อยู่ทางฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย มีคลองบางระมาด แยกคลองศาลเจ้า ตรงข้ามวัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) ไปจดหนองขี้เหล็ก ในอำเภอตลิ่งชัน

สวนหลวง อยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย ระหว่างวัดน้อยในถึงวัดชัยพฤกษ์มาลา ต่อมาตกเป็นที่ของคุณจอมกลีบในรัชกาลที่ ๕ แล้วแบ่งขายบ้าง ถวายเป็นธรณีสงฆ์ของวัดชัยพฤกษ์มาลาบ้าง และมีที่ซึ่งตกเป็นของนางชื่น แดงอร่าม ภายในที่ผืนนี้ยังมีสระกว้างยาวประมาณร้อยเมตร และมีลำคู (ตรงข้ามวัดพิกุล) ขุดแยกจากคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกเข้าไปสู่สระซึ่งกล่าวกันว่า เป็นทางเรือพระที่นั่งในเวลาเสด็จประพาส แต่เดี๋ยวนี้คูและสระตื้นเขินเสียแล้ว

วัดพิกุล ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของคลองบางกอกน้อย บางทีก็เรียกว่าวัดพิกุลทอง เพื่อให้ต่างกับวัดพิกุลอีกแห่งหนึ่งที่ใต้อำเภอบางใหญ่ ซึ่งเรียกว่าวัดพิกุลเงิน

บางขวาง ชื่อคลองอยู่ในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แยกจากคลองมหาสวัสดิ์ ตรงข้ามวัดชัยพฤกษ์มาลา ปัจจุบันเรียกกันว่า คลองขวาง

บางกรวย เป็นชื่อตำบล ขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ตั้งที่ว่าการอำเภอที่เหนือวัดชะลอ มีคลองบางกรวยแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตรงข้ามวัดเขมาภิรตาราม มาต่อกับคลองวัดชะลอที่ขุดในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เหนือวัดชะลอ คลองบางกรวยนี้เดิมเป็นตอนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เมื่อขุดคลองใหม่ กระแสน้ำเปลี่ยนจากแม่น้ำอ้อมมาเดินทางหน้าวัดเฉลิมพระเกียรติ แม่น้ำเดิมจึงแคบและตื้นเขินกลายเป็นคลองไป

บางศรีทอง หรือบางสีทอง ชื่อตำบล ขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางสีทอง แยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งขวาตอนหน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรีไปต่อกับคลองแม่นํ้าอ้อมเหนือที่ว่าการอำเภอบางกรวย บางสีทองนี้เคยมีชื่อว่ามีลำไยดี

บางกร่าง ตำบลขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

บางขนุน ตำบลขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี อยู่ริมคลองแม่นํ้าอ้อมฝั่งใต้ มีคลองบางขนุนแยกจากคลองแม่นํ้าอ้อมเข้าไป ในคลองนี้มีวัดบางขนุนเป็นวัดโบราณ มีหอไตรเก่า ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในนิราศพระประธมของสุนทรภู่อ้างว่ากันว่าบางถนน ภายหลังมาเรียกเพี้ยนเป็น บางขนุน

บางขุนกอง ตำบลขึ้นในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองแยกทางฝั่งตะวันตก

บางคูเวียง ตำบลขึ้นอำเภอบางกรวย บางทีเรียกบางโคเวียง อยู่ติดกับบางระนก มีคลองบางคูเวียงแยกจากคลองแม่นํ้าอ้อมฝั่งตะวันตก มาเชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์ที่ใต้สถานีธรรมสพน์

บางม่วง ตำบลขึ้นอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางม่วงแยกทางฝั่งตะวันตก จากเหนือวัดอัมพวันหรือวัดบางม่วง ไปเชื่อมกับคลองบางโสน

บางใหญ่ เป็นชื่อคลอง ตำบลและอำเภอ ขึ้นจังหวัดนนทบุรี ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ปากคลองบางใหญ่ทางฝั่งซ้ายของลำคลองแม่นํ้าอ้อม อำเภอบางใหญ่เดิมเป็นกิ่งอำเภอ เรียกกิ่งบางแม่นาง ต่อมายกเป็นอำเภอบางแม่นาง แล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นอำเภอบางใหญ่

คลองบางใหญ่ แยกจากคลองแม่นํ้าอ้อมยาว ๑๒ กิโลเมตร ผ่านไปเข้าคลองโยง ผ่านตำบลลานตากฟ้า ออกแม่นํ้านครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ในสมัยโบราณเมื่อยังไม่ได้ขุดคลองมหาสวัสดิ์ในรัชกาลที่ ๔ การคมนาคมระหว่างจังหวัดพระนคร ธนบุรี และนนทบุรี ได้อาศัยผ่านเส้นทางสายนี้

วัดใหม่ธงทอง ชื่อวัดในตำบลบ้านใหม่ธงทอง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

บ้านลานตากฟ้า ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

บ้านกระจัน อยู่ในตำบลท่ากระจัน ขึ้นอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

บ้านศศิธร

บ้านขโมย หรือบางขโมย

บางปลา อยู่ในตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

บางปลี

บางระกำ อยู่ในตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในแผนที่บางระกำอยู่ก่อนบางปลา

บางยุง อยู่ในตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

บางกระบือ หรือบางควาย

บ้านไซ หรือบ้านบางไทร

บ้านหินมล

บางหลวง อยู่ในตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

บางน้อย อยู่ในตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

บางหวาย หรือบ้านบางหวาย

บ้านบางสาม

บ้านด่าน

บางซอ หรือบ้านบางซอ อยู่ในตำบลบางเตากง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านตเภาทลาย มีแต่บ้านสำเภาล่ม

บางปลาร้า

บางสะแก

บ้านคันชั่ง อยู่ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านกุ่ม อยู่ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

บางนางแม่หม้าย หรือบ้านบางแม่หม้าย ตำบลบางแม่หม้าย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

คลองกฤษณา ชื่อคลองในตำบลสำลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บางเลน หรือบ้านบางเลน อยู่ในตำบลบางแม่หม้าย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บางบัว อยู่ในตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านดารา อยู่ในตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านชีปขาว อยู่ในตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านชีหน หรือบางยี่หน อยู่ในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บางปลาม้า อยู่ในตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

คุ้งโพกระ อยู่ในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

โคกคราม ชื่อตำบลในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดสวนหงส์ อยู่ในตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

ตลาดแก้ว อยู่ในตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

วังตาเพชร อยู่ในตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

สวนขิง อยู่ในตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านยอด อยู่ในตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านขนมจีน อยู่ในตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

โพธิ์คอย ชื่อประตูนํ้าและประตูระบายนํ้า ในคลองส่งนํ้าบางปลาม้า อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และมีวัดโพธิ์คอยในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านตาลราย อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดมะนาวหวาน อยู่ในตำบลทับตีเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ทับขี้เหล็ก ปัจจุบันมีแต่ ตำบลทับตีเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดฝาง อยู่ในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ท่าระหด ตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บางนางสุข อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ย่านยายท้าว อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ท่าโขลง อยู่ในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านกุฎีทอง อยู่ในตำบลทับตีเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

โคกหม้อ อยู่ในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านลาว อยู่ในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บางน้ำตก อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

เมืองสุพรรณบุรี อยู่ที่ตำบลท่าพี่เลี้ยง ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดพระรูป อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดประตูสาร อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวกันว่า บ้านขุนช้างอยู่ใกล้ๆ วัดประตูสาร มีผู้ชี้ว่าน่าจะอยู่ตรงที่เป็นบริเวณโคกใหญ่ ระหว่างคลองวัดผึ้งกับแม่นํ้าสุพรรณบุรี ใกล้วัดประตูสาร ปัจจุบันมีเรือนคุณยายไห นาคสุวรรณ อายุกว่า ๘๔ ปี เป็นต้น ตั้งอยู่บนโคกนั้น ท่านผู้ชี้สถานที่อธิบายบอกว่า โคกใหญ่นี้แม่ในฤดูนํ้ามาก นํ้าท่วมไปทุกหนทุกแห่งแต่ก็ไม่ท่วมโคกนี้ และยังมีที่เป็นแอ่งอยู่ข้างโคกใหญ่ กล่าวกันว่าเคยเป็นคอกช้าง ซึ่งดูสมกับว่าที่ขุนศรีวิชัยบิดาขุนช้างเป็นนายกองช้าง กรมช้างนอก

วัดกระไกร หรือวัดตะไกร อยู่ติดกับวัดประตูสารในตำบลรั้วใหญ่ ฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าสุพรรณ ทราบว่าโบราณสถานของวัดตะไกรถูกรื้อเสียเมอราว ๑๐ กว่าปีมานี้ แล้วปราบเนื้อที่ตั้งเป็นโรงเรียนวัดประตูสาร จึงไม่มีโบราณสถานอันใดเหลืออยู่ แต่หลังวัดประตูสารออกมาทางทิศตะวันออก ยังมีลำคลองวัดป่าให้เห็นอยู่ และที่ถนนหน้าศาลาวัดประตูสาร ก็ยังเห็นสะพานและปากคลองริมแม่นํ้า สุพรรณเป็นคลองคั่นระหว่างวัดประตูสารกับวัดตะไกร แต่เดิมมาในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ว่า “ทองประศรีนั้นอยู่วัดตะไกร” แต่ในโคลงนิราศสุพรรณนี้ท่านสุนทรภู่ว่า “วัดกระไกรใกล้บ้านที่ ศรีประจัน ถามเหล่าชาวสุพรรณ เพื่อนชี้”

วัดแค อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดในที่เสภาขุนช้างขุนแผนกล่าวว่า ขุนแผนเมื่อยังเป็นเณรแก้วได้มาอยู่เรียนวิชาต่างๆ กับอาจารย์คง ปัจจุบันนี้มีต้นมะขามต้นหนึ่ง ลำต้นใหญ่กว่า ๕ คนอ้อม กล่าวกันว่าเมื่อเณรแก้วเรียนวิชาเสกใบมะขามเป็นต่อเป็นแตน ได้ใช้ใบมะขามจากต้นนี้

ท่าสิบเบี้ย อยู่ริมลำน้ำสุพรรณ ในตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดฝาโถ อยู่ในตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่แถวบริเวณที่เป็นบ้านพักศึกษาธิการ และครูใหญ่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด ในปัจจุบันวิหารและอุโบสถถูกนํ้าเซาะตลิ่งพัง จมหายไปในแม่นํ้าสุพรรณเสียแล้ว

วัดป่าเลไลยก์ อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ในวิหารมีพระพุทธรูปโบราณนั่งห้อยพระบาทขนาดใหญ่สูงถึง ๒๑ เมตร ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปปางประทานเทศนาสมัยทวาราวดี แต่ภายหลังคงชำรุดแล้วถูกบูรณปฏิสังขรณ์ต่อมาช่างผู้ปฏิสังขรณ์ไม่ทราบความหมายเดิม จึงดัดแปลงพระหัตถ์เปลี่ยนไปเลยเรียกว่า พระป่าเลไลยก์ ในสมัยโบราณ วัดนี้
เป็นแหล่งกลางที่สุพรรณบุรีมาร่วมกันทำบุญบำเพ็ญกุศลในงานเทศกาล เช่น งานสงกรานต์ ก่อพระทราย เทศน์มหาชาติ งานไหว้พระ

โพคลาน อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

โพหลวง อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

สำประทิว อยู่ในตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านรัดช้าง อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านธรรมกูล อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดสว่างอารมณ์ อยู่ในตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

โพธิ์พระยา ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านซ่อง อยู่ในตำบลโพธิ์พระยา ชายเขตอำเภอเมืองต่อกับอำเภอศรีประจันต์

บางมดแดง ตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์

วังยาง หรือบ้านวังยาง ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์

บ้านตาลเสี้ยน อยู่ในตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านศรีจัน หรือบ้านศรีประจันต์ อยู่ในตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ด่านขนอน หรือ หัวขนอน อยู่ในตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บางกระพุ้ง อยู่ในตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านใหม่ อยู่ในตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านกร่าง อยู่ในตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านไร่ อยู่ในตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

วังปราน หรือ วังกานต์ อยู่ในตำบลวังนํ้าซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บางม่วง หรือ พังม่วง อยู่ในตำบลวังนํ้าซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านย่านยาว อยู่ในเขตอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

ศาลปู่เจ้า อยู่ในตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านกล้วย อยู่โนตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

คลองน้ำซับ หรือวังนํ้าซับ อยู่ในตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
บ้านหว้า หรือบ้านวังหว้า อยู่ในตำบลวังหว้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

วังหิน อยู่ในตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

ย่านยาว อยู่ในตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

วังฉลาม อยู่ในตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บางขวาก อยู่ในตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

สามชุก อยู่ในตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

สามเพ็ง อยู่ในตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านชัดหอม อยู่ในตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านทึง (วัดขี้ทึ้ง) อยู่ในตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านกระตั้ว
บ้านโป่งแดง อยู่ในตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

คลองกระเสียว อยู่ในตำบลกระเสียว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บางแวก

สองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง

หมู่บ้านกระเหรี่ยง

หมู่บ้านละว้า

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

โคลงนิราศสุพรรณ

วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า        เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย            ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย            ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า        คลาดแคล้วแล้วหนอ

คิดคำรำลึกไว้            ใคร่เตือน
เคยรักเคยร่วมเรือน        ร่วมรู้
อย่าเคืองเรื่องเราเยือน       ยามแก่ แม่เอย
ใครที่มีชู้ชู้                ช่วยค้ำคำโคลง

บางทีคนเราทั้งหลายก็ต้องมานั่งเสียใจว่างานที่เขาทำลงไปแล้วนั้น หากไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า เพราะมันทำลายเกียรติที่เขาเคยสร้างไว้แล้วให้อับเฉาไป สำหรับในทางวงวรรณคดี ข้าพเจ้าอยากจะยกเรื่องการแต่งนิราศสุพรรณเป็นคำโคลงของสุนทรภู่เป็นอุทาหรณ์ หากสุนทรภู่จะไม่แต่งโคลงเสียเลยในชีวิต แต่งแต่กลอนสุภาพที่เคยถนัดอย่างเดียวแล้ว รัศมีแห่งเกียรติทางการประพันธ์ของสุนทรภู่จะบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะท่านได้เกียรติสูงสุดอยู่แล้วในศิลปะของกลอนสุภาพ แต่นี่ท่านสุนทรภู่หาญไปแต่งนิราศสุพรรณเป็นโคลง อันมิใช่มือขวาตนเข้า นิราศสุพรรณจึงแต้มจุดดำแก่เกียรติทางงานนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่ด่างพร้อยเพราะนิราศสุพรรณบ้างแต่ก็ไม่มากมายนัก ถึงกระนั้นก็ตาม ข้าพเจ้ามีเหตุผลบางประการ ที่จะให้ความยุติธรรมแก่อมตกวีผู้นี้ ดังจะได้อภิปรายต่อไป

อันศิลปินนั้นย่อมมีอัจฉริยวุฒิเป็นพิเศษเฉพาะอย่าง ยากนักที่จะให้ศิลปินเชี่ยวชาญในศิลปะได้ในทุกสาขา ในวงวรรณคดีย่อมเป็นที่รับรองกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นเจ้าแห่งกลอนบทละคร สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเป็นยอดกวีทางลิลิตและฉันท์ นายนรินทร์ อันเป็นเอกในกระบวนนิราศคำโคลงและสุนทรภู่ชนะเลิศในกระบวนกลอนสุภาพ เป็นสาขาๆ ไป ดังนั้น เมื่อสุนทรภู่ไปหาญแต่งนิราศสุพรรณเป็นคำโคลงเข้า สุนทรภู่ต้องเป็นรองเขา นักวรรณคดีถือว่าสุนทรภู่ แพ้นรินทร์อินอย่างหลุดลุ่ยในกระบวนคำโคลงพิศวาส และดูเหมือนจะสู้พระยาตรังเจ้าของนิราศคำโคลงมีชื่อไม่ได้อีกด้วย แต่สุนทรภู่ก็มีวิสัยเป็นนักกีฬาที่รู้แพ้รู้ชนะท่านย่อมแพ้อย่างชื่นตาในการประลองศิลปะแห่งโคลง ดังจะเห็นได้ว่าไม่ได้แต่งโคลงอีกเลยตลอดชีวิต

ทำไมสุนทรภู่จึงแต่งนิราศสุพรรณเป็นคำโคลง? ย่อมเป็นที่รู้กันว่าสุนทรภู่นั้นเป็นกวีที่หยิ่งในศิลปะของตนยิ่งนัก ทั้งมีนิสัยเป็นคนเปิดเผยพูดตรงไปตรงมา ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงใคร มีอหังการเป็นอย่างมาก และโดยเฉพาะหยิ่งนักในกระบวนกลอนของตน ตามธรรมดาคนเราย่อมมีคนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ คนที่เห็นสุนทรภู่เด่นนักก็อิจฉา แกล้งแคะไค้ ยั่วเย้าสุนทรภู่ จนหนักเข้าถึงประมาทว่าสุนทรภู่นั้นแต่งได้ดีแต่กระบวนกลอน คำประพันธ์ชนิดอื่นคงทำไม่ได้ดี สุนทรภู่นั้นเป็นคนวู่วามที่ไม่ชอบให้คนท้า และยิ่งท้าด้วยอาการประมาทด้วยแล้วก็ออกรับทันที คือสุนทรภู่ลงมือทำพระไชยสุริยา เป็นกาพย์ และทำนิราศสุพรรณเป็นโคลง เพื่อเป็นปฏิกริยาต่อคำประมาทที่ท่านทนอยู่ไม่ไหว

โดยประวัตินิราศสุพรรณแต่งเมื่อ ๒๓๘๔ (ดูคำอรรถและบันทึกของกรมศิลปากรในประวัติสุนทรภู่ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ) เวลานั้นสุนทรภู่บวชอยู่ที่วัดเทพธิดาอายุ ๕๕ ปี นับเป็นนิราศเรื่องที่ ๔ ของกวีผู้นี้ นิราศสุพรรณเขียนภายหลัง “โคลัมบา” ของเมริเม และ “รัศมี กับเงา” ของวิคเตอฮูโก เพียงปีเดียวเวลานั้นกีโซต์นักประพันธ์และนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสุนทรภู่กำลังรุ่งโรจน์ในทางการเมืองและมีโอกาสตั้งรัฐบาลกีโซต์ (๑๘๔๖-๑๘๔๘) แต่สุนทรภู่กำลังคลั่งเรื่องเล่นแร่แปรธาตุ ที่ไปเมืองสุพรรณครั้งนั้นก็มีนัยว่าจะไปหาแร่ การเดินทางของสุนทรภู่เต็มไปด้วยการผจญภัย เมืองสุพรรณสมัยสุนทรภู่รกร้างและเปล่าเปลี่ยวมากเต็มไปด้วยเสือตามฝั่งนํ้า ซํ้าในแม่นํ้ามีจระเข้ชุกชุม สุนทรภู่เดินทางโดยเรือและแบบหนีเสือปะจระเข้จริงๆ

เนื้อนิราศ
สุนทรภู่เดินทางโดยเรือจากวัดเทพธิดาไปตามคลองมหานาค มีนายพัด นายตาบ (บุตรชาย) และคนอื่นติดตามไปด้วย เมื่อผ่านวัดสระเกศเราได้ความรู้ว่า แม่ของท่านตายแล้ว และศพอยู่ที่วัดนั้น เมื่อเรือผ่านมาถึงฉนวนเห็นพระที่นั่งที่เคยเฝ้าพระพุทธเลิศหล้าฯ ในการชำระนิพนธ์ก็รำลึกถึงพระคุณท่าน “สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้า กลับร้างห่างฉนวน” ผ่านท่าช้างก็รำพึงว่าเป็นที่ที่ได้รับพระราชทานจากพระพุทธเลิศหล้าฯ ไปถึงวังหลังก็ระลึกถึงชีวิตตอนหนุ่มว่าเคยอยู่กับคุณจัน เดินทางไปจนถึงเมืองสุพรรณซึ่งเวลานั้นรกร้างและเปล่าเปลี่ยวมาก เต็มไปด้วยเสือแม้แต่ริมฝั่งแม่นํ้าก็มีเสือชุม สุนทรภู่ได้ไปเห็นถิ่นฐานบ้านช่องของคนสำคัญในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่น ขุนช้าง ศรีประจัน ทองประศรี วัดที่ พิมพิลาไลยสร้าง สุนทรภู่ได้ไปไหว้วัดพระป่าเลไลยก็อธิษฐานว่าดังนี้

ขอเดชุพระพุทธเจ้า    จงเห็น
อุตส่าห์มาเช้าเย็น    ยากไร้
ปรารถนาว่าจะเป็น    ปัจเจกพุทธ ภูมิเอย
บุญช่วยด้วยให้ได้    ดุจข้าอาวรณ์

ยังไปไม่พ้นภพ          สงสาร
ขอปะพระศรีอารย์        อีกเหล้า
ตราบถึงซึ่งพระนิพพาน    ภายภาค หน้าเอย
ขอสุขทุกข์โศกเศร้า      สิ่งร้ายหายสูญ

ต่อจากนั้นก็ได้ไปพบแร่เหล็กอย่างดี และแร่ทองแดง แต่มิได้ปรากฏว่าได้แสดงความสนใจมากมายนัก

ว่าถึงกระบวนพรรณนาและบรรยาย นิราศสุพรรณมีรสด้อยกว่าเรื่องอื่นๆ ของสุนทรภู่ สังเกตดูตลอดนิราศพูดถึงสิ่งที่พบเห็นอย่างย่อๆ แทบทั้งนั้น ถึงกระนั้นก็ตามเราจะได้พบเรื่องแปลกๆ หลายเรื่อง เช่น ลาวฟ้าแลบ ลาวเปลือย สาวกะเหรี่ยงผูกลูกปัดแดง ครอบครัวชรา (ผัวอายุ ๑๒๐ ปียังสนเข็มได้เมียอายุ ๑๑๘ ปี) ประวัติบ้านทึงและลูกชายสุนทรภู่กับผู้หญิง จะเล่าบางเรื่องดังนี้

ผู้เฒ่าเล่าเรื่องหย้าน        บ้านทึง
ท้าวอู่ทองมาถึง           ถิ่นถุ้ง
แวะขอเชือกหนังขึง        เขาไม่ ให้แฮ
สาปย่านบ้านเขตคุ้ง        คี่ทิ้งถึงแปลง

ศิลปะการประพันธ์

บัดนี้จะพูดถึงศิลปะในทางพิศวาสของสุนทรภู่ตามที่ปรากฎในนิราศสุพรรณสุนทรภู่ได้นำชื่อเมีย ชู้ และคู่รักของตนหลายคนมาเป็นทางระบายอารมณ์พิศวาส ผ่านตำบลใดหรือพบสิ่งใดอันจะเป็นเหตุให้หวนประหวัดถึงคนไหน อมตกวีของเราก็ระบุชื่อคนรักของตน คุณจัน แม่งิ้ว แม่กลิ่น แม่แก้ว แม่ม่วง แม่น้อย แม่สุข และแม่บัวคำ ตลอดจน “นกน้อยลอยลม” ตัวหนึ่งที่เคยกก แต่คนที่ได้รับเกียรติคร่ำครวญหวนโหยด้วยความอาลัยมากที่สุดคือ คุณจัน-ที่สุนทรภู่ได้มาเป็นเมียด้วยความลำบากยากเข็ญและต้องหลุดมือไปเป็นของเขาอื่นอย่างว่าวขาดลมลอย คงจะเป็นคุณจันนี่เองที่ทำให้สุนทรภู่ รู้ถึงอิทธิพลหญิงในศิลปะการประพันธ์ ท่านจึงกล่าวว่า “ใครที่มีชู้ชู้ช่วยคํ้าคำโคลง” เมื่อเรือมาถึงบ้านบุ สุนทรภู่ก็พ้อคุณจันซึ่งหลุดมือตนไปเป็นของเขาอื่นแล้วว่า “มีคู่ชู้ชื่นหน้า นุชปลื้มลืมเดิม” และบ่นด้วยศิลปะอันแสดงความเสียดายอย่างเศร้าๆ เต็มไปด้วยความเสน่หาอาลัย

เสียดายสายสวาทโอ้            อาวรณ์
รักพี่มีโทษกร                กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร           เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง            แตกฟ้าผ่าสลาย

แล้วรำพึงครวญครํ่าอย่างสิ้นหวัง

เดือนดับลับโลกคง        คืนค่ำ อีกเอย
จันพี่นี้ลับหน้า            นับสิ้นดินสวรรค์

เมื่อผ่านบางกรวย สุนทรภู่รำพันถึงแม่งิ้วเมียที่ตายแล้วตรวจนํ้าไปให้ โคลงบทหนึ่งรำพึงว่า

ยามยลต้นงิ้วป่า        หนาหนาม
นกบาปวาบวับหวาม    วุ่นแล้ว
คงจะปะงิ้วทราม        สวาทเมื่อ ม้วยแฮ
งิ้วกับพี่มิแคล้ว        คึ่นงิ้วลิ่วสูง

เมียรักอีกคนหนึ่งที่อมตกวีฝากทำนองพิศวาสไว้ในนิราศสุพรรณ คือ แม่ม่วง (ในโคลงเรียก ม่วงหม่อม) ดูเหมือนจะเป็นแม่ของลูกที่ชื่อนิล สุนทรภู่เปรียบ

นึกมดอดสูใจ        จงมะม่วง หวงแฮ
เพียงพี่มิมอดม้วย    ไม่สิ้นถวิลหวัง

ข้าพเจ้าสังเกตว่าสุนทรภู่ต้องการแสดงความผิดเพื่อนทุกประการของตนในโคลงนิราศสุพรรณ ไม่เอาอย่างใคร อย่างที่นายนรินทร์และพระยาตรังชอบทำ สุนทรภู่ต้องการเป็นตนของตนเอง และดูเหมือนจะต้องนำเพื่อนเสียด้วย โคลงนิราศนั้นโดยมากเขามักเริ่มร่ายสดุดี แต่สุนทรภู่ไม่สดุดีอะไรเลย (อาจเป็นเพราะเป็นรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งไม่โปรดสุนทรภู่นัก และสุนทรภู่เคยว่า “จะหยิบยกธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง”-นิราศภูเขาทอง) สุนทรภู่ยังแทรกทำนองนาคบริพันธ์ ในโคลงนิราศของท่านด้วย ซึ่งนายนรินทร์หรือพระยาตรังไม่ทำ ขอคัดมาให้ดูดังนี้

สาวเอยเคยอ่อนหนุ้ม        อุ้มสนอม
ออมสนิทชิดกลิ่นหอม       กล่อมให้
ไกลห่างว่างอกตรอม        ออมตรึก รฦกเอย
เลยอื่นขึ้นครองได้        ไคร่หว้าน่าสรวล

ลักษณะแห่งความผิดเพื่อนที่สุนทรภู่ถูกติก็คือ สุนทรภู่ไปเล่นสัมผัสในในคำโคลงด้วย นักวรรณคดีบางท่านว่าสัมผัสในลีลาไม่เหมาะกับโคลง แต่ข้าพเจ้ายังไม่เคยทราบว่าระเบียบโคลงจะห้ามสัมผัสในสุนทรภู่นั้นถือว่าเสียงสัมผัสเป็นศิลปะที่เรียกความไพเราะ สุนทรภู่เคยใช้มันได้ผลมาแล้วในกลอน จึงสมัครใช้สัมผัสในโคลงของตนด้วยเป็นการใช้สิทธิ์ของเอกชนในฐานะผู้นำศิลปะชนิดหนึ่ง นี่คือลักษณะของนักก้าวหน้าและผู้ถางทางสำหรับผู้อื่น แต่ทำไมสุนทรภู่จึงเข็นครกขึ้นภูเขาไม่ไหว? นํ้าน้อย ย่อมแพ้ไฟ

อันที่จริงสัมผัสในนั้นข้าพเจ้าก็เคยเห็นกวีเล่นกันทุกคนในโคลง นรินทร์อิน “เอียงอกเท อกอ้างอวดองค์ อรเอย” กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส “โกสุมชุ่มช้อยอรชร” พระยาชัยวิชิต (เผือก) “เอมอ่านอิ่มใจเสบย สบายจิต” ศรีปราชญ์ “คนเดียวมาจากเจ้า เจ็บอก อ่อนเอย” สัมผัสของสุนทรภู่ที่เห็นผิดเพื่อน ก็คือนิยมสัมผัสด้วยสัมผัสในระหว่างวรรค อาจเป็นการเสนอศิลปะเพื่อความเป็นต้นคิดของสุนทรภู่ก็ได้เช่น

๑. เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว
๒. มหานาคชวากรุ้ง คุ้งคลอง
๓. เลี้ยวลัดวัดสระเกศก้ม คมลา
๔. เรือรุ่งฝูงนกร้อง ก้องดง
๕. เงียบเหงาเปล่าอกแด ดูแปลก แรกเอย
๖. เคยอยู่คู่สำราญ ร่วมเย่า เจ้าเอย” ดังนี้เป็นต้น

บางทีจะเป็นด้วยสัมผัสดังนี้กระมังที่ทำให้ศิลปะแห่งโคลงของสุนทรภู่ดูยืดยาดไปขาดเสียงกระชับหนักแน่นอยู่บาง นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีข้อผิดแปลกไปกว่าโคลงของคนอื่นอย่างไร หลายบทที่มีความงามอย่างมาก งามทั้งความคิด งามทั้งรูปโคลง ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างความงามในแง่แปลกมาให้ชมสักบทดังนี้

ทุกข์ใครในโลกล้น        ล้ำเหลือ
ไม่เท่าควายลากเรือ        รับจ้าง
หอบฮักจักขุเจือ            เจิ่งชุ่ม ชลเอย
มนุษย์ดุจติดค้าง           เฆี่ยนเจ้าเอาเงิน

นอกจากความผิดเพื่อนด้วยประการต่างๆ ดังอภิปรายมาแล้ว ดูเหมือนว่าในนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ต้องการอารมณ์สนุก และเอาอุปนิสัยเด่นของงานนั่นเองมาเปิดเผย เช่นเรื่องกินเหล้าและเรื่องเจ้าชู้ เมื่อสุนทรภู่ไปไหว้พระวัดป่าเลไลยก็ได้อธิษฐานว่าดังนี้

ยังไปไม่พ้นภพ        สงสาร
ขอปะพระศรีอารย์    อีกเหล้า
ตราบถึงซึ่งนิพพาน    ภายภาค หน้าเอย
ขอสุขทุกข์โศกเศร้า    สิ่งร้ายหายสูญ

ข้อความในบาทที่สองนี้หมายความได้ ๒ แง่ คำว่า เหล้า หมายถึงอะไรแน่ สุนทรภู่อาจหมายถึงสุรา มิฉะนั้นจะใช้คำอื่นแทนโดยมิต้องให้เสียเอกโทษโทโทษเลย เช่นตรงนั้นอาจใช้คำว่าด้วยก็ได้ (ไม่จำเป็นต้องใช้เล่าเป็นเหล้า) ถ้าเป็นจริงก็แปลว่าสุนทรภู่ขอพบเหล้าทุกชาติไป

อารมณ์สนุกในเรื่องเจ้าชู้สุนทรภู่ก็ได้แสดงไว้อย่างขบขันและครื้นเครง สุนทรภู่ได้สอนให้ลูกชาย คือพัดกับตาบเกี้ยวสาวลาว แต่ลูกไม่เจ้าชู้เหมือนพ่อ เกี้ยวไม่เป็นอายผู้หญิง สุนทรภู่จึงปรารภว่า

ลูกเอยเฉยเช่นปั้น    ปูนขาว
สาวเพ่งเล็งหลบสาว    ซิ่นแล้ว
ปะเป็นเช่นพ่อคราว    ครั้งหนุ่ม
ตายราบลาภไม่แคล้ว   คลาดช้านาที

ตอนค่ำลูกสาวลาวมาหาแต่คนเดียว เอาของมาให้ และนั่งใกล้ ลูกชายท่านกวีเจ้าชู้ก็ยังไม่แสดงบทบาทให้สมใจพ่อ สุนทรภู่จึงปรารภถึงความลำบากของการมีลูกผู้หญิง    และความโง่ของลูกตัวเองว่า

บุราณท่านว่าเลี้ยง    ลูกสาว
มันมักหักรั้วฉาว        เช่นพร้อง
หนุ่มชายฝ่ายรุ่นราว    รักขยัน พรั่นแฮ
ลูกโง่โซแสบท้อง      บ่รู้สู่สาว

ในเรื่องภาษาของสุนทรภู่นั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม) นักวรรณคดีชั้นอาจารย์ได้เคยพูดถึงความสามารถของสุนทรภู่อยู่บ่อยๆ ท่านเคยกล่าวถึงการใช้สัมผัสของสุนทรภู่ สระบางสระเช่น อีน หาคำใช้ยาก ในภาษาไทยมีเพียง ๔ คำ คือ ศีล ตีน ปีน จีน แต่สุนทรภู่ก็เอามาใช้ได้อย่างเหมาะสม อย่างอัศจรรย์ ท่านยกตัวอย่างจากเรื่องพระอภัยมณีตอนบรรยายลักษณะของชีเปลือยว่า

“ไม่นุ่งผ้าคากรองครองหนังเสือ    ประหลาดเหลือโล่งโต้งโม่งโค่งขัน
น่าเหียนรากปากมีแต่ขี้ฟัน        กรนสนั่นนอนร้ายเหมือนป่ายปีน
ประหลาดใจใยหนอไม่นุ่งผ้า      จะเป็นบ้าไปหรือว่าถือศีล
หนวดถึงเข่าเคราถึงนมผมถึงตีน    ฝรั่งจีนแขกไทยก็ใช่ที’’

สุนทรภู่จะต้องการ “เป็นนาย” ภาษาไทยให้ได้ ไม่ยอมจนสัมผัส และคำจำพวกอีน ก็นำมาใช้ในโคลงนิราศสุพรรณเหมือนกัน

ลุดลชนบทบ้าน            ขนมจีน
โรงเจ๊กตั้งริมตีน            ท่าน้ำ
นั่งนับทรัพย์สิ่งสีน        สยายเพ่า เล่าแฮ
เมียช่างสางสลวยล้ำ        สลับผู้หูหนาง

พูดถึงความจริงในการเขียนโคลงนิราศกันแล้ว ข้าพเจ้าว่าสุนทรภู่ชนะเลิศชนะนายนรินทร์ สุนทรภู่เปิดเผยยิ่งกว่าพระยาตรัง สุนทรภู่เขียนด้วยใจมากกว่าหัว เขียนเพราะอารมณ์บันดาลจริงๆ หน้าไหนที่กล้าบอกความจริงอย่างสุนทรภู่บ้าง เมีย ชู้ คนรักมีเท่าไรสุนทรภู่บอกหมด นายนรินทร์นั้นแม้แต่ชื่อเมียที่เขารักเทิดทูน จนไม่รู้จะฝากใคร สวยอย่างสามภพหาไม่ได้ ดีอย่างนั้นหวานอย่างนี้ ล้วนแต่พูดเกินความจริงทั้งเพ แต่นายนรินทร์ก็หากล้าเปิดเผยชื่อเมียของเขาให้ใครรู้จักไม่ ตรงกันข้าม สุนทรภู่จาระไนชื่อไว้หมดอย่างไม่อับอายครั่นคร้าม ข้อติฉินนินทาใดๆ ข้าพเจ้ารักสุนทรภู่นักในเรื่องเขียนด้วยคำซื่อสุจริตและจริงใจ สุนทรภู่หลงความรู้สึกจากหัวใจลงสู่ปากกาหรือดินสอของท่านโดยซื่อเสียจริงๆ ขอคัดมาให้ชมสักบทหนึ่งดังนี้

วัดแจ้งแต่งตึกตั้ง            เตียงนอน
เคยปกนกน้อยคอน        คู่พร้อง
เคยลอบตอบสามสมร        สมานสมัคร รักเอย
จำจากพรากนุชน้อง        นกน้อยลอยลม

นิราศสุพรรณมีทุกรส พิศวาส, หรรษา, ธรรมคติ และการด่าอย่างเจ็บปวด ข้าพเจ้าได้เสนอสำนวนพิศวาสไว้ในเรื่องก่อนบ้างแล้ว ในที่นี้จะขอนำเอาการด่าเชิงกวีของสุนทรภู่มาให้ฟังสัก ๒ บท บทแรกด่าขุนนาง บทหลังด่าตระลาการ

กาเหยี่ยวเที่ยวว้าว่อน            เวหา
ร่อนร่ายหมายมัจฉา            โฉบได้
ขุนนางอย่างเฉี่ยวกา            กินสัตว์ สูเอย
โจนจับปรับไหมใช้            เข่นข้าด่าตี

ยางเจ่าเซาจับจ้อง            จิกปลา
กินเล่นเป็นภักษา            สุกล้ำ
ตระลาการท่านศรัทรา           ถือสัตย์ สวัสดิ์แฮ
บนทรัพย์กลับกลืนกล้ำ        กล่าวคล้ายฝ่ายยาง

เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นการยุติธรรมหรือ ที่เราจะหาว่านิราศสุพรรณของสุนทรภู่สู้ของคนอื่นไม่ได้ สุนทรภู่อาจแพ้เขาในกระบวนความงามของโคลง แต่ในกระบวนความงามของความคิด และความซื่อแห่งการแสดงออก ข้าพเจ้าว่าสุนทรภู่ชนะใครๆ หมด นิราศสุพรรณจึงเป็นทองคำขาวที่ทาบไว้กลางทองคำอื่นบนผืนปฐพีวรรณคดีไทย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

นิราศอิเหนา

จะหักอื่นขืนหักก็จักได้            หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก        แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ
จะสร้างพรตอดรักหักสวาท        เผื่อจะขาดข้อคิดพิสมัย
แม้นน้องนุชบุษบานิคาลัย        จะได้ไปสู่สวรรค์ชั้นโสฬส
จงหยุดทัพยับยั้งตั้งอาศรม        รักษาพรหมจรรย์ด้วยกันหมด
ปะตาปาอายันอยู่บรรพต        อุตส่าห์อดอาลัยก็ไม่คลาย
ภาวนาว่าจะตั้งปลงสังเวช        ก็หลับเนตรเห็นคู่ไม่รู้หาย
จะสวดมนต์ต้นถูกถึงผูกปลาย    ก็กลับกลายเรื่องราวเป็นกล่าวกลอน

ชีวิตในระหว่างสมณเพศของอมตกวีไม่ใคร่อยู่กับที่ จากวัดราชบูรณะไปอยู่วัดเทพธิดา จากวัดเทพธิดาไปอยู่วัดพระเชตุพน และสุดท้ายที่ไปจำพรรษาคือวัดมหาธาตุ นัยว่าเวลานั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณลาผนวชจากวัดพระเชตุพนแล้ว แต่ยังทรงอุปถัมภ์สุนทรกู่อยู่ จึงชวนให้มาจำพรรษาที่วัดมหาธาตุซึ่งอยู่ใกล้วัดของพระองค์ท่านเพื่อจะได้สะดวกในการถวายภัตตาหาร และการติดต่อส่วนพระองค์ เช่น เวลาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจะไปทรงเล่นสักวาที่ใด ก็มักจะนิมนต์พระสุนทรภู่ไปด้วยสำหรับเป็นผู้บอกสักวาในเรือของท่าน เพราะสุนทรภู่มีชื่อเสียงดีในเชิงสักวามาแล้วตั้งแต่รุ่นหนุ่มในที่สุดสุนทรภู่ก็สึก รวมเวลาบวชอยู่ ๗-๘ พรรษา ปีที่สึกก็ควรจะเป็นราว พ.ศ. ๒๓๗๖-๗ อายุประมาณ ๔๗-๔๘ ปี ในระหว่างสึกเป็นฆราวาสก็ยังคงอาศัยพึ่งพระคุณพระองค์เจ้าลักขณานุคุณอยู่อย่างปกติ ลูกอยู่วังหลัง เมียไม่มีเป็นเนื้อเป็นตัว

งานประพันธ์ของสุนทรภู่ในระยะพึ่งพระคุณพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ คือ นิราศอิเหนา กับ พระอภัยมณี (ต่อเรื่อยมาจากที่แต่งในคุกเมื่อรัชกาลที่ ๒) นิราศอิเหนาแต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ

นิราศอิเหนาผิดกับนิราศอื่นๆ ของสุนทรภู่ทั้งหมด สุนทรภู่งดพูดถึงตัวเองชั่วคราว มอบบทบาทแห่งความพิศวาสให้แก่อิเหนา ดาราเอกของวรรณกรรมชิ้นสำคัญยิ่งแห่งยุครัตนโกสินทร์ เป็นนิราศแห่งความคิดคำนึงของสุนทรภู่ซึ่งอาศัยอิทธิพลแห่งวรรณคดีจูงใจให้เขียนโดยแท้ เป็นการเขียนเพื่อหย่อนอารมณ์ตามวิสัย “นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ”

เนื้อนิราศ
ผู้อ่านควรศึกษาพระราชนิพนธ์อิเหนาในรัชกาลที่ ๒ ประกอบเสียก่อน เนื้อนิราศมีว่า บุษบา นางเอกของเรื่องถูกลมหอบไป อิเหนาเที่ยวตามพร้อมทั้งกองทัพ รำพึงรำพันด้วยความเสน่หาอาลัย เที่ยวติดตามตลอดไปจนประเทศใกล้เคียงชวา เช่น มะละกา สิ้นเวลา ๗ เดือนก็ไม่พบ จึงสร้างอาศรม บวชอยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่ง

ศิลปะการประพันธ์
ด้วยเหตุที่เรื่องนี้เป็นนิราศแห่งความเพ้อฝันอย่างเสรี สุนทรภู่จึงบรรจงศิลปะของท่านอย่างงดงาม กลอนสัมผัสดี ใจความเด่นชัดทุกตอน เต็มไปด้วยความพร่ำเพ้อรำพันอย่างไพเราะจับใจ

พูดถึงกระบวนกลอน ผู้อ่านจะชมชื่นอย่างเพลิดเพลิน เช่น

“โอ้รินรินกลิ่นนวลยังหวนหอม    เคยถนอมแนบทรวงดวงสมร
ยังรื่นรื่นชื่นใจอาลัยวรณ์        สะอืนอ้อนอารมณ์ระทมทวี…”

“โอ้อกเอ๋ยเคยอุ่นละมุนละม่อม        เคยโอบอ้อมอ่อนตามไม่ห้ามหวง
ยังเคลิบเคล้นเช่นปทุมกระพุ่มพวง    เคยแนบทรวงไสยาสน์ไม่คลาคคลา”

เป็นกลอนเบาๆ ฟังง่ายระรื่นหู แต่ซาบซึ้งตรึงใจยิ่งนัก เต็มไปด้วยสัมผัสในซึ่งช่วยให้กลอนชูรสขึ้นอย่างถึงใจ

บทพรรณนานั้นแทนที่จะพูดถึงตำบลต่างๆ ที่ผ่านไป ศิลปินฝีปากเอกได้ทำให้ต่างกับเรื่องอื่นโดยหันมาพูดถึงเครื่องใช้ต่างๆ ของบุษบา ทุกสิ่งล้วนเป็นเครองกระตุ้นเสน่หาอาลัย

“เห็นแท่นทองที่ประทมภิรมย์สงวน    ไม่เห็นนุชสุดจะทรงพระองค์ฃซวน… ’’

“บนยี่ภู่ปูเปล่าเศร้าสรด        ระทวยทดทอดทบซบกันแสง… ”

“เห็นน้ำพุดุดั้นตรงบัลลังก์        เคยมานั่งสรงชลที่บนเตียง
เจ้าสรงด้วยช่วยพี่สีขนอง        แต่น้ำต้องถูกหนีดก็หวีดเสียง…”

ช่างเต็มไปด้วยความยวนยีระคนความเศร้า แต่เป็นเศร้าเพราะรักจึงดูดดื่มยิ่งนัก จะขอยกบทบรรยายลักษณะชมธรรมชาติที่มีความดีเด่นให้ชมดังนี้

“คิดถึงนุชบุษบาแม้นมาเห็น            จะลงเล่นลำธารละหานหิน
ฝูงปลาทองท่องไล่เล็มไคลกิน        กระดิกลิ้นงดงามตามกระบวน
ปลาเนื้ออ่อนอ่อนกายขึ้นว่ายเคลื่อน    ไม่อ่อนเหมือนเนื้อน้องประคองสงวน
ปลานวลจันทร์นั้นก็งามแต่นามนวล    ไม่งามชวนชื่นเช่นระเด่นดวง…”

นอกจากนี้ท่านจะได้ฟังธรรมชาติอื่นๆ อย่างไพเราะ
พูดถึงอารมณ์สวาทก็ดีดดิ้น ดุดัน และท้าทาย

“ดูเวหาว่าแสนแค้นพระพาย        ไม่พาสายสวาทคืนมาชื่นใจ…”

“ต้องพลัดพรากเพราะว่าลมทำข่มเหง     แม้นพบเห็นเป็นต้องไม่กลัวเกรง
จะรำเพลงกริชรานสังหารลม”
แล้วครวญอย่างอ่อนใจ

“โอ้นกเอ๋ยเคยอยู่มาสู่ถิ่น    แต่ยุพินลิบลับไม่กลับหลัง
ครั้นแลดูสุริย์แสงก็แดงดัง    หนึ่งน้ำครั่งคล้ำฟ้านภาลัย
เหมือนครั้งนี้พี่มาโศกแสนเทวษ    ชลเนตรแดงเดือดดังเลือดไหล
โอ้ตะวันครั้นจะลบภพไตร        ก็อาลัยโลกยั้งหยุดรั้งรอ
ประหลาดนักรักเอ๋ยมาเลยลับ    เหมือนเพลิงดับเด็ดเดียว ไปเจียวหนอ… ”

สุนทรภู่บอกบทให้อิเหนาเทิดบุษบายิ่งกว่าหญิงใดๆ ในพิภพ “ระตูต่างส่งธิดามาถวาย ไม่ไยดีอีนังซังกะตาย เหมือนแก้วหายได้ปัด ไม่ทัดเทียม”
แล้วปรารภว่า

“แม้นมิตามความรักเฝ้าชักชวน        ให้ปั่นป่วนไปตามเพราะความรัก
จะหักอื่นขืนหักก็จักได้                หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก            แต่ตัดรักนี้ม่าดประหลาดใจ”

แม้เมื่อบวชแล้วก็หักสวาทไม่ได้ ดังว่า

“ภาวนาว่าจะตั้งปลงสังเวช        ก็หลับเนตรเห็นคู่ไม่รู้หาย
จะสวดมนต์ต้นถูกไปผูกปลาย    ก็กลับกลายเรื่องราวเป็นกล่าวกลอน”

ความเรื่องบวชแล้วคิดถึงผู้หญิงดังนี้ก็ไม่ผิดไปจากชีวประวัติของสุนทรภู่เอง ในที่สุดอิเหนาก็อธิษฐาน

“จะเกิดไหนในจังหวัดปฐพี            ให้เหมือนปี่กับขลุ่ยต้องทำนองกัน
เป็นจีนจามพราหมณ์ฝรั่งและอังกฤษ    ให้สนิทเสน่หาตุนาหงัน
แม้นเป็นไทยให้เป็นวงศ์ร่วมพงศ์พันธุ์    พอโสกันต์ให้ได้อยู่เป็นคู่ครอง”

นิราศอิเหนาสั้นรองจากนิราศภูเขาทอง แต่เป็นเรื่องที่แต่งอย่างอารมณ์เสรีประกอบทั้งผู้แต่งมีความชำนิชำนาญจัดเจนยิ่งถึงขีด “สุด” แล้ว บวชแล้ว มีเมียแล้ว และร้างแล้ว เห็นโลกชัดเจนหมด ศิลปะในนิราศนี้จึงนับว่าดี ข้าพเจ้าสมัครจะให้เป็นที่ ๓ ในนิราศสุนทรภู่ทั้งหมด (นิราศเมืองเพชรเป็นที่ ๒ นิราศภูเขาทองเป็นที่ ๑)

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

สถานที่กล่าวถึงในนิราศวัดเจ้าฟ้า

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เดิมมีชื่อว่า วัดโพธาราม เรียกกันสั้นๆ ว่า วัดโพธิ์ท่าเตียน

วัดระฆังโฆสิตาราม
ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ    แทบพระบาทบุษบงองค์อัปสร
ไม่ทันลับกัปกัลป์พุทธันดร    พระด่วนจรสู่สวรรคครรไล
ละสมบัติขัตติยาทั้งข้าบาท    โอ้อนาถนึกน่าน้ำตาไหล
เป็นสูญลับนับปีแต่นี้ไป    เหลืออาลัยแล้วที่พระมีคุณ

วัดระฆังโฆสิตาราม ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามท่าช้างวังหน้า เดิมชื่อวัดบางว้าใหญ่ หรือบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณ สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีทรงปฏิสังขรณ์ ถึงรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทพสุดาวดี ทรงสร้างเพิ่มเติมมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามใหม่ว่า วัดระฆังโฆสิตาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกบ้าง

อนึ่ง คำว่า “บุษบงองค์อัปสร” ในกลอนข้างต้นนี้ หมายถึง เจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ซึ่งได้รับพระราชทานเพลิงศพใหม่ๆ พอสุนทรภู่ผ่านวัดระฆังโฆสิตารามก็กราบพระธาตุของเจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ผู้มีพระคุณ พรรณนาไว้ในนิราศวัดเจ้าฟ้าว่า

‘‘เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูนทราย    แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน
ทั้งหนูตาบกราบไหว้ร้องไห้ว่า    จะคมลาลับไปในไพรสัณฑ์
เคยเวียนเฝ้าเกล้าจุกให้ทุกวัน    สารพันพึ่งพา ไม่อนาทร’’

คลองบางกอกน้อย
ถึงปากง่ามนามบอก บางกอกน้อย    ยิ่งเศร้าสร้อยทรวงน้องดังต้องศร
เหมือนน้อยทรัพย์ลับหน้านิราจร        ไปแรมรอนราวไพรใจรัญจวน
เคยชมเมืองเรืองระยับจะลับแล้ว        ไปชมแถวทุ่งนาล้วนป่าสวน
เคยดูดีพี่ป้าหน้านวลนวล            จะว่างเว้นเห็นล้วนแต่มอมแมม
เคยชมชื่นรื่นรสแป้งสดสะอาด        จะชมหาดเห็นแต่จอกกับดอกแขม
โอ้ใจจืดมืดเหมือนเมื่อเดือนแรม        ไม่เยื้อนแย้มกลีบกลิ่นให้ดิ้นโดย

บางกอกน้อย เป็นชื่อคลองที่แยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกเหนือสถานีรถไฟธนบุรี ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เดิมเป็นลำแม่นํ้าเจ้าพระยา เริ่มจากปากคลองบางกอกน้อย ผ่านปากคลอง บางระมาด บางพรม บางเชือกหนัง บางจาก บางแวก ภาษีเจริญ ไปออกคลองบางกอกใหญ่

สมเด็จพระไชยราชาโปรดให้ขุดคลองลัดจากปากคลองบางกอกน้อยมาถึงปากคลองบางใหญ่ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๐ เมื่อขุดคลองลัดตอนนี้เสร็จแล้ว กระแสนํ้าก็เริ่มเปลี่ยนทางเดินไหลลงคลองลัดที่ชุดใหม่ ทำให้แม่นํ้าเดิมตื้นเขินกลายเป็นคลองไปในที่สุด คลองขุดก็เริ่มกว้างขึ้น กลายเป็นแม่นํ้าเจ้าพระยาดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

บางขุนพรหม
ถึงบางพรหม หรหมมีอยู่สี่พักตร์    เห็นลิบลับแลชวนให้หวนโหย
เพราะห่วงพุ่มภุมรินไม่บินโบย    ระร่วงโรยรสสิ้นกลิ่นผกา
โอ้คิดไปใจหายเสียดายรัก        เหมือนเกรียกจักแจกซีกกระผีกผม
จึงเจ็บอกฟกช้ำระกำตรม        เพราะสิ้นลมล่อลวงจะช่วงใช้

บ้านบางขุนพรหม อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีวัดใหม่อมตรส หรือ วัดบางขุนพรหม เป็นสำคัญ

บางจาก
ถึงบางจากน้องไม่มีที่จะจาก    โอ้วิบากกรรมสร้างแต่ปางไหน
เผอิญหญิงชิงชังน่าคลั่งใจ        จะรักใคร่เขาไม่มีปรานีเลย

บ้านบางจาก อยู่ใต้วัดภคินีนาถ แขวงบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

บางพลู
ถึงบางพลูพลูใบใส่ตะบะ    ถวายพระเพราะกำพร้านิจจาเอ๋ย
แม้นมีใครใจบุญที่คุ้นเคย    จะได้เชยพลูจีบหมากดิบเจียม
นี่จนใจได้แต่ลมมาชมเล่น    เปรียบเหมือนเช่นฉากฉายพอหายเหียน
แม้นเห็นรักจักได้ตามด้วยความเพียร    ฉีกทุเรียนหนามหนักคูสักคราว

บางพลู คือ บ้านบางพลู อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือสะพานกรุงธนบุรี ขึ้นตำบลบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีคลองบางพลูกับวัดบางพลูเป็นสำคัญ

บางอ้อ
ถึงบางอ้อคิดจะใคร่ได้ไม้อ้อ        ทำแพนซอเสียงแจ๋วเที่ยวแอ่วสาว
แต่ยังไม่เคยเชยโฉมประโลมลาว    สุดจะกล่าวกล่อมปลอบให้ชอบใจ

บ้านบางอ้อ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางอ้อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

บางซื่อ
ถึงบางซื่อ ชื่อบางนี้สุจริต    เหมือนชื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร
มิตรจิตขอให้มิตรใจจร        ใจสมรขอให้ซื่อเหมือนชื่อนาง

บ้านบางซื่อ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เดิมเคยเป็นอำเภอ ต่อมาภายหลังยุบรวมกับอำเภอดุสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ มีคลองบางซื่อซึ่งแยกจากคลองวังหินไหลไปทางทิศตะวันตกไปร่วมกับแม่นํ้าเจ้าพระยาที่ตำบลบางซื่อ คลองนี้กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๘ กิโลเมตร มีนํ้าตลอดทั้งปี มีประตูระบายนํ้าอยู่ห่างจากสถานีรถไฟบางซื่อ ๓ กิโลเมตร

บางซ่อน
ถังบางซ่อน ซ่อนเงื่อนไม่เยื้อนแย้ม    ถึงหนามแหลมเหลือจะบ่งที่ตรงไหน

บ้านบางซ่อน อยู่ทางฝั่งตะวันออกแม่นํ้าเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระราม ๖ ขึ้นตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีคลองบางซ่อน ซึ่งแยกจากคลองเปรมประชากร ในตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ไหลไปทางทิศตะวันตก ผ่านคลองประปาไปออกแม่นํ้าเจ้าพระยาที่บริเวณใต้สะพานพระราม ๖ ข้างวัดสร้อยทอง คลองนี้กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๓ กิโลเมตร มีนํ้าตลอดทั้งปี

บางเขน
โอ้บางเขน เวรสร้างไว้ปางไหน    จึงเข็ญใจจนไม่มีที่จะรัก
เมื่อชาติหน้ามาเกิดในเลิศโลก    ประสิทธิโชคชอบฤทัยทั้งไตรจักร
กระจ้อยร่อยกลอยใจวิไลลักษณ์    ให้สาวรักสาวกอดตลอดไป

บ้านบางเขน อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางเขนเก่าเป็นสำคัญ คลองนี้ตั้งต้นจากคลองบางบัว ตำบลอนุสาวรีย์บางเขน เขตบางเขน มาออกแม่นํ้าเจ้าพระยาที่วัดปากนํ้าบางเขน คลองนี้ยาว ๑๐.๕ กิโลเมตร ตอนปลายคลอง แยกออกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาเป็น ๒ ทาง ทางข้างเหนืออยู่ในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เรียกว่า คลองบางเขนเก่า ทางข้างใต้อยู่ในเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เรียกว่า คลองบางเขนใหญ่

ตลาดแก้ว
ตลาดแก้วแล้วแต่ล้วนสวนสล้าง    เป็นชื่ออ้างออกนามตามวิสัย
แม้นขายแก้วแววฟ้าที่อาลัย        จะซื้อใส่บนสำลีประชีรอง
ประดับเรือนเหมือนหนึ่งในเพชรสำเร็จแล้ว    ถนอมแก้วกลอยใจมิให้หมอง
ไม่เหมือนนึกตรึกตราน้ำตานอง        เห็นแต่น้องหนูแนบแอบอุรา

บ้านตลาดแก้ว ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

วัดเขียน
ถึงวัดเขียน เหมือนหนึ่งเพียรเขียนอักษร        กลกลอนกล่าวกล่อมถนอมโฉม
เดชะชักรักลอบปลอบประโลม            ขอให้โน้มน้อมจิตสนิทใน

วัดเขียน อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ใต้คลองบางสีทอง ขึ้นตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนบุรี

บางสีทอง
ถึงคลองบางขวางบางสีทองมองเขม้น    ไม่มองเห็นสีทองที่ผ่องใส
แม้นทองคำธรรมดาจะพาไป        นี่มิใช่สีทองเป็นคลองบาง

บ้านบางสีทอง อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ขึ้นตำบลบางสีทอง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางสีทอง ซึ่งแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยา ที่ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ไหลไปบรรจบคลองบางกอกน้อยเหนือที่ว่าการอำเภอบางกรวย ตรงข้ามวัดตะโหนด

บางแวก
พอลมโบกโศกสวนมาหวนหอม        เหมือนโศกตรอมตรึกตรองมาหมองหมาง
ถึงบางแวกแยกคลองเป็นสองทาง        เหมือนจืดจางใจแยกไปแตกกัน

บางแวก ที่กล่าวถึงในนิราศวัดเจ้าฟ้านี้ เข้าใจว่าอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อาจจะเป็นคลองบางใหญ่ที่สุนทรภู่เรียกว่า บางแวกก็ได้

ตลาดขวัญ
ตลาดขวัญ ขวัญฉันนี้ขวัญหาย        ใครเข้าขายขวัญหรือจะซื้อขวัญ
แม้นขวัญฟ้าหน้าอ่อนเหมือนท่อนจันทน์    จะรับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวาง

บ้านตลาดขวัญ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

บางขวาง
ถึงบางขวาง ขวางอื่นสักหมื่นแสน        ถึงต่างแดนดงดอนสิงขรขวาง
จะตามไปให้ถึงห้องประคองคาง        แต่ขัดขวางขวัญความขามระคาย

บ้านบางขวาง อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีวัดบางขวาง เป็นสำคัญ

บางธรณี
มาถึง บางธรณี ทวีโศก        ยามวิโยคยากใจให้สะอื้น
โอ้สุราหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น        ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้    ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ    เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา
ถึงบ้านบางธรณีแล้วพี่จ๋า        แผ่นพสุธาก็ไม่ไร้ไม้มะเขือ
เขากินหมูหนูพัดจะกัดเกลือ        ไม่ถ่อเรือแหหาปลาตำแบ

บ้านบางธรณี อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางธรณีเป็นสำคัญ คลองนี้แยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยา เหนือโรงงานทอกระสอบ ของกระทรวงอุตสาหกรรม คลองนี้ยาว ๒.๖ กิโลเมตร มีนํ้าตลอดทั้งปี

ปากเกร็ด
ถึงปากเกร็ดเตร็ดเตร่มาเร่ร่อน        เที่ยวสัญจรตามระลอกเหมือนจอกแหน
มาถึงเกร็ดเขตมอญสลอนแล        ลูกอ่อนแอ้อุ้มจูงพะรุงพะรัง

บ้านปากเกร็ด ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

บ้านลาว
ถึงบ้านลาว เห็นแต่ลาวพวกชาวบ้าน    ล้วนหูยานอย่างบ่วงเหมือนห่วงหวาย
ไม่เหมือมลาวชาวกรุงที่นุ่งลาย    ล้วนกรีดกรายหยิบหย่งทรงสำอาง

บ้านลาว อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

บางพูด
ถึงบางพูด พูดมากคนปากหมด        มีแต่ปดเป็นอันมากเขาถากถาง
ที่พูดน้อยคอยประคิ่นลิ้นลูกคาง        เหมือนหญิงช่างฉอเลาะปะเหลาะชาย

บ้านบางพูด ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

บางกระไน (บางตะไนย์)
ถึง บางกระไน ได้เห็นหน้าบรรดาพี่    พวกนารีเรืออ้อยเที่ยวลอยขาย
ดูจริตติดจะงอนเป็นมอญกลาย        ล้วนแต่งกายกันไรเหมือนไทยทำ

บ้านบางกระไน ปัจจุบันเขียนเป็น “บางตะไนย์” อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางคูวัด อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีคลองบางตะไนย์และวัดบางตะไนย์ เป็นสำคัญ

วัดเทียนถวาย
ถึงไผ่รอบขอบเขื่อนดูเหมือนเขียน        ชื่อวัดเทียนถวายอยู่ฝ่ายขวา

วัดเทียนถวาย อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บ้านใหม่
ข้างซ้ายมือขึ้นบ้านใหม่ทำไร่นา        นางแม่ค้าขายเต่าสาวทึมทึก

บ้านใหม่ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บางทะแยง
ถึงย่านขวางบางทะแยงเป็นแขวงทุ่ง    ดูเวิ้งวุ้งหว่างละแวกล้วนแฝกฝือ
เห็นไรไรไม้พุ่มครุมครุมเครือ            เหมือนรูปเสือสิงห์โตรูปโคควาย
ท่านบิดรสอนหนูให้รู้ว่า            มันผินหน้าออกนั้นกันฉิบหาย
แม้นปากมันผันเข้าข้างเจ้านาย        จะล้มตายพรายพลัดเร่งตัดรอน

บ้านบางทะแยง ปัจจุบันยังหาไม่พบ เข้าใจว่าอยู่ในอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บางหลวง
เลยบางหลวง ล่วงทางมากลางแล้ว

บ้านบางหลวง ตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บ้านกระแชง
เลยบางหลวงล่วงทางมากลางแจ้ง    ถึงบ้านกระแชงหุงจันหันฉันผักโหม
ยังถือมั่นขันตีนี้ประโลม            ถึงรูปโฉมพาหลงไม่งงงวย

บ้านกระแชง อยู่ในท้องที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

สามโคก
พอเลยนาคบากข้ามถึง สามโคก    เป็นคำโลกสมมุติสุดวิสัย
ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้    ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์
หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง    ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ
พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ        ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง
จึงที่นี่มีนามชื่อสามโคก        เป็นคำโลกสมมุติสุดแถลง
ครั้ง พระโกศ โปรดปรานประทานแปลง        ที่ตำแหน่งมอญมาสามิภักดี
ขอปทุมธานีที่เสด็จ            เดือนสิบเบ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก
มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก            พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา

บ้านสามโคก ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

บ้านงิ้ว
ถึงบ้านงิ้ว งิ้วต้นแต่พ้นหนาม    ไม่งอกงามเหมือนแม่งิ้วที่ผิวเหลือง
เมื่อแลพบหลบพักตร์ลักชำเลือง    ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
มาลับนวลหวนให้เป็นไม้งิ้ว        เสียดายผิวพักตร์ผ่องจะหมองโฉม
เพราะเสียรักหนักหน่วงน่าทรวงโทรม    ใครจะโลมเรียมรสช่วยชดเจือ ฯ

บ้านงิ้ว หรือบ้านป่างิ้ว ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

โพธิ์แตง
ถึงโพธิ์แตง คิดถึงแตงที่แจ้งจัก    ดูน่ารักรสชาติประหลาดเหลือ
แม้นลอยฟ้ามาเดี๋ยวนี้ที่ในเรือ    จะฉีกเนื้อนั่งกลืนให้ชื่นใจ

บ้านโพธิ์แตง อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามคลองเกาะใหญ่ อยู่ในท้องที่ตำบลโพธิ์แตง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวัดโพธิ์แตงเหนือและวัดโพธิ์เเตงใต้เป็นสำคัญ

เกาะใหญ่ราชคราม
ถึงเกาะหาดราชคราม รำรามรก    เห็นนกหกหากินบินไสว
เขาถากถางกว้างยาวทั้งลาวไทย    ทำนาไร่ร้านผักรั้วฟักแฟง
สุดละเมาะเกาะกว้างสว่างโว่ง    แลตะโล่งลิบเนตรทุกเขตแขวง
เห็นควันไฟไหม้ป่าจับฟ้าแดง    ฝูงนกแร้งร่อนตัวเท่าถั่วดำ

เกาะใหญ่ราชคราม ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บางไทร
ถึงด่านทาง บางไทร ไขว่เฉลว    เห็นไพร่เลวหลายคนอยู่บนด่าน
ตุ้งก่าตั้งนั่งขักควักน้ำตาล        คอยว่าขานขู่คนลงค้นเรือ
ไม่เห็นของต้องห้ามก็ลามขอ    มะละกอกุ้งแห้งแตงมะเขือ
ขอส้มสูกจุกจิกทั้งพริกเกลือ        จนชาวเรือเหลือระอาด่าในใจ
แต่ลำเราเขาไม่ได้ค้นมาพ้นด่าน    ดูภูมิฐานทิวชลาพฤกษาไสว
ถึงอารามนามตั้งวัดบางไทร        ต้นไทรใหญ่อยู่ที่นั่นน้องวันทา
เทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิตพุ่ม        เพราะเคยอุ้มอุณรุทสมอุษา
ใคร่น่าจูบรูปร่างเหมือนนางฟ้า    ช่วยอุ้มพามาให้เถิดจะเชิดชม

บางไทร เป็นชื่อตำบลและอำเภอ ขึ้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลบางไทร อำเภอนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยารวมอยู่ในแขวงขุนเสนา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแขวงเสนา ถึงรัชกาลที่ ๓ แยกเป็นแขวงเสนาใหญ่และแขวงเสนาน้อยถึง พ.ศ. ๒๔ภ๘ จัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล แขวงเสนาน้อยเปลี่ยนเป็นอำเภอเสนาน้อย แต่ชาวบ้านยังคงเรียกอำเภอบางไทร ต่อมาภายหลังได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งฝั่งขวาลำนํ้าบางไทร (แม่นํ้าน้อย) ที่ตำบลราชคราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ จึงเรียกว่า อำเภอราชคราม ถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ กลับเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางไทร ต่อมาจนกระทั่งบัดนี้

เกาะเกิด
ถึงเกาะเกิด เกิดสวัสดิ์พิพัฒน์ผล        อย่าเกิดคนติเตียนเป็นเสี้ยนหนาม
ให้เกิดลาภราบเรียบเงียบเงียบงาม    เหมือนหนึ่งนามเกาะเกิดประเสริฐทรง

เกาะเกิด เป็นชื่อตำบล ขึ้นอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเกาะชื่อเกาะเกิดเป็นสำคัญ บนเกาะเกิดนี้เคยมีไร่แตงโมรสดีมีชื่อเสียง เรียกกันติดปากว่า แตงโมเกาะเกิด

เกาะบางปะอิน
ถึงเกาะเรียงเคียงคลองเป็นสองแยก    ป่าละแวกวังราชประพาสสินธุ์
ได้นางห้ามงามพร้อมชื่อ หม่อมอิน    จึงตั้งถิ่นที่เพราะเสนาะนาม
หวังถวิลอินน้องละอองเอี่ยม            แสนเสงี่ยมงามพร้อมเหมือนหม่อมห้าม
จะหายศอตส่าห์พยายาม            คงจะงามพักตร์พร้อมเหมือนหม่อมอิน

เกาะบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เกาะพระ
ถึงเกาะพระ ไม่เห็นพระปะแต่เกาะ    แต่ชื่อเพราะชื่อพระสละหลง
พระของน้องนี้ก็นั่งมาทั้งองค์        ทั้งพระสงฆ์เกาะพระมาประชุม
ขอคุณพระอนุเคราะห์ทั้งเกาะพระ        ให้เปิดปะตรุทองสักสองขุม
คงจะมีพี่ป้ามาชุมนุม                จะอ้อนอุ้มแอบอุราเป็นอาจิณ

เกาะพระ อยู่ตรงทางแยกแม่นํ้าเจ้าพระยา มีคลองล้อมรอบเกาะ อยู่ตรงข้ามกับวัดโพธิ์ ตำบลโรงช้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เกาะเรียน
ถึงเกาะเรียน เรียนรักก็หนักอก    แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย
เมื่อเรียนกันจนจบถึงกบเกย        ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง
แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย        รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์
ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง    มีแต่หลงลมลวงน่าทรวงโทรม

เกาะเรียน เป็นชื่อตำบล ขึ้นอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากจะเป็นชื่อตำบลแล้ว ยังมีเกาะที่เกิดขึ้นกลางแม่นํ้าเจ้าพระยา เรียกชื่อว่า “เกาะเรียน”

วัดพนัญเชิง
มาถึงวัด พนัญเชิง เทิงถนัด        ว่าเป็นวัดเจ้าฟ้าพระกลาโหม
ผนังก่อย่อมุมเป็นซุ้มโคม        ลอยโพยมเยี่ยาฟ้านภาลัย
มีศาลาท่าน้ำดูฉ่ำชื่น            ร่มระรื่นรุกขาน่าอาศัย
บิดาพร่ำร่ำเล่าให้เข้าใจ        ว่าพระใหญ่อย่างเยี่ยงที่เสี่ยงทาย
ถ้าบ้านเมืองเคืองเข็ญจะเป็นเหตุ    ก็อาเพศพังหลุดทรุดสลาย
แม้พาราผาสุกสนุกสบาย        พระพักตร์พรายเพราพริ้มดูอิ่มองค์
แต่เจ็ดย่านบ้านนั้นก็นับถือ        ร้องเรียกชื่อว่าพระเจ้าปูนเถ้าก๋ง
ด้วยบนบานการได้ดังใจจง        ฉลององค์พุทธคุณกรุณัง
แล้วก็ว่าถ้าใครน้ำใจบาป        จะเข้ากราบเกรงจะทับต้องกลับหลัง
ตรงหน้าท่าสายชลเป็นวนวัง        ดูพลั่งพลั่งพลุ่งเชี่ยวน่าเสียวใจ
เข้าจอดเรือเหนือหน้าศาลาวัด    โสมนัสน้องใหม่เสื่อมที่เลื่อมใส
ขึ้นเดินเดียวเที่ยวหาสุมาลัย        จำเพาะได้ดอกโศกที่โคกนา
กับดอกรักหักเด็ดได้เจ็ดดอก        พอใส่จอกจัดแจงแบ่งบุปฝา
ให้กลั่นมั่งทั้งบุนนาคเพื่อนยากมา        ท่าบิดาดีใจกระไรเลย

วัดพระเจ้าพนัญเชิง อยู่ริมนํ้าข้างใต้พระนคร วัดนี้เป็นวัดที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมใครจะเป็นผู้สร้างไม่ปรากฎหลักฐาน ปรากฏแต่ว่าพระเจ้าพนัญเชิงนั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๗ คือ ก่อนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒๐ เมตร ๑๗ เซนต์สูงตลอดพระรัศมี ๑๙ เมตร สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงซ่อมใหม่ครั้งหนึ่ง และพระเจ้าแผ่นดินในกรุงศรีอยุธยาคงจะซ่อมแซมกันต่อมาอีกหลายพระองค์ แต่ไม่ ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ดังมีเรื่องราวปรากฏแต่เพียงว่า เมื่อพระนครศรีอยุธยาจะเสียแก่ข้าศึก พระพุทธรูปองค์นี้มีนํ้าพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้างเท่านั้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระปฐมบรมราชวงศ์จักรีก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์ และสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์นี้ ทรงปฏิสังขรณ์กันสืบต่อมาอีกหลายพระองค์ โดยเฉพาะพระพุทธรูป พระเจ้าพนัญเชิงนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งองค์ เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๙๗ แล้วถวายพระนามว่า พระพุทธไตรรัตนนายก ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ เกิดเพลิงไหม้ผ้าห่มพระเจ้าพนัญเชิง องค์พระชำรุดหลายแห่ง พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ซ่อมใหม่ เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ พระหนุของพระเจ้าพนัญเชิงได้พังทลายลงตลอด ถึงพระปรางค์ทั้งสองข้าง ราชบัณฑิตยสภาได้จัดนายช่างขึ้นไปซ่อมแซม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และในคราวเดียวกันนี้ พระธรรมไตรโลก (ฉาย) เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้ให้เก็บเศษทองที่เหลือติดกระดาษ ซึ่งสับปุรุษทิ้งไว้ในพระวิหารจัดการสำรอกได้ทองคำหนัก ๑๑ บาท และมีผู้อื่นบริจาคร่วมอีก ๔๖ บาท รวมเป็น ๕๗ บาท จัดทำพระอุณาโลมเปลี่ยนจากของเดิมซึ่งเป็นทองแดงปิดทอง

พระเจ้าพนัญเชิงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ผู้ที่ไปเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถ้ามีเวลาพอ ควรจะหาโอกาสไปนมัสการและเสี่ยงเซียมซีดูโชคชะตาราศีของตนที่วัดนี้ดูบ้าง ถ้าผู้ใดไม่ไป ก็จะไม่ได้ชมพระพุทธรูปโบราณที่ใหญ่โตและมีลักษณะงดงามองค์หนึ่ง ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้พยายามก่อสร้างไว้ด้วยความประณีตบรรจง รูปฉายาลักษณ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ค่อยปรากฏ ในหนังสือใดๆ เลย เพราะถ่ายลำบาก เนื่องจากวิหารสั้นและพระพุทธรูปนั้นสูงใหญ่เกินกว่าหน้ากล้องที่จะถ่ายให้หมดทั้งพระองค์ได้ แม้แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่รวมบรรดารูปฉายาลักษณ์ของพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ ในประเทศไทยไว้ได้เกือบทั้งหมดก็ตาม แต่ก็ยังขาดรูปฉายาลักษณ์ของพระเจ้าพนัญเชิงนี้อยู่อีกองค์หนึ่ง

คลองสวนพลู อยู่ข้างวัดพนัญเชิง หรือวัดหลวงพ่อโต

วัดใหญ่ชัยมงคล อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หนองพลวง เป็นหนองกลางทุ่ง อยู่เหนือถนนสายวังน้อย-อยุธยา ตอนระหว่างถนนไปวัดใหญ่ชัยมงคล

วัดเจ้าฟ้าอากาศ เข้าใจว่า เป็น วัดเขาดิน ในบัดนี้ อยู่ในตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อนึ่ง มีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องนิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ ให้ความเห็นว่า วัดเจ้าฟ้าอากาศ น่าจะอยู่ไกลกว่านี้ เพราะการเดินทางของสุนทรภู่ดูลำบากมากเอาการ ระยะทางก็น่าจะไกลกว่าวัดเขาดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาจจะอยู่ในแถบอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี จะต้องสอบหาหลักฐานทางด้านภูมิศาสตร์ต่อไปว่าจะเป็นได้หรือไม่

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ศิลปะการประพันธ์นิราศวัดเจ้าฟ้า

พูดโดยส่วนรวมศิลปะการประพันธ์ในนิราศวัดเจ้าฟ้าดูเหมือนจะหย่อนกว่านิราศเรื่องอื่นๆ หลายเรื่อง สุนทรภู่จึงใช้สำนวนเณรหนูพัดแทนตน จะอย่างไรก็ดีนิราศวัดเจ้าฟ้ายังมีรสเพราะอยู่หลายตอน

ว่าถึงศิลปะทางกลอนก็ราบรื่น มีการเล่นคำ ซํ้าคำที่ไพเราะและดีดดิ้นน่าพังเช่น

“ตลาคขวัญขวัญฉันนี้ขวัญหาย        ใครเขาขายขวัญหรือจะซื้อขวัญ
แม้ขวัญฟ้าหน้าอ่อนเหมือนท่อนจันทน์    จะรับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นว่าง…”

และ

“เห็นสวาทขาดทิ้งกิ่งสนัด    เปีนรอยตัดต้นสวาทให้ขาดสาย
สวาทนี้พี่ก็ขาดสวาทวาย    แสนเสียดายสายสวาทที่ขาดรอย (ลอย?)’’

อนึ่ง โวหารเปรียบเทียบเชิงปรัชญาก็น่าฟัง เช่น

“ถึงบางพรหมพรหมมีอยู่สี่พักตร์        คนรู้จักแจ้งจิตทั่วทิศา
ทุกวันนี้มีมนุษย์อยุธยา            เป็นร้อยหน้าพันหน้ายิ่งกว่าพรหม’’

เป็นการด่ามนุษย์หน้าไหว้หลังหลอกและล่อลวงได้อย่างไพเราะ ดุดัน เสียจริงๆ

“อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา        ที่ป่าช้านี้แหละเหมือนกับเรือนตาย
กลับกายกลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน    พระนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย
อันรูปเหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย    แล้วต่างตายตามกันเป็นมั่นคง…”

นี่คือการปลงสังเวชในความเป็นอนัตตาของสังขารโดยอมตกวีผู้ครองสมณเพศ

ทีนี้จะพูดถึงกระบวนพรรณนาและบรรยาย บทพรรณนาไปเด่นอยู่ที่ประวัติและตำนาน เช่น นกยางไม่มีตัวผู้ ประวัติสามโคก (ปทุมธานี) สมัยพระเจ้าอู่ทองจนสมัยรัชกาลที่ ๒ ประวัติพระใหญ่วัดพนัญเชิง และประวัติวัดเจ้าฟ้าอากาศ ส่วนบทบรรยายเช่นธรรมชาติมีอยู่ทั่วไป

‘‘…เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน        ไปที่ถิ่นทำรังประนังนอน
บ้างแนบคู่ชูคอเข้าซ้อแซ้        เสียงจอแจโจนจับสลับสลอน
บ้างคลอเข้าเคล้าเคียงประเอียงอร    เอาปากป้อนปีกปกกกประคอง
ที่ไร้คู่อยู่เปลี่ยวเที่ยวเดี่ยวโดด    ไม่เต้นโลดแลเหงาเหมือนเศร้าหมอง
ลูกน้อยน้อยคอยแลชะแง้มอง    เหมือนนกน้องตามน้อยกลอยฤทัย
มาตามติดบิดากำพร้าแม่        สุดจะแลเหลียวหาที่อาศัย
เห็นลูกนกอกน้องนี้หมองใจ        ที่ฝากไข้ฝากผีไม่ม่เลย…’’
พูดถึงบทพิศวาสในนิราศวัดเจ้าฟ้าผิดกับนิราศเรื่องอื่น เพราะในเรื่องนี้สุนทรภู่วางตัวอยู่หลังฉากพิศวาสเสียแล้ว คือวางตัวเป็นนักบวช สุนทรภู่ปรารภว่าเมื่อเขียนนิราศนี้ไม่มีคนรักว่า

“ไม่อ่อนหวานปานเพราะเสนาะโสต    ด้วยอายโอฐมิได้อ้างถึงนางไหน
ที่เขามีที่ฝากจากอาลัย            ได้ร่ำไรเรื่องหญิงจึงพริ้งเพราะ ที่กล่าวแกล้งแต่งเล่นเพราะเป็นหม้าย…”

เมื่อสุนทรภู่มอบเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ให้แก่เด็ก ก็จำต้องเขียนทำนองพิศวาสไปตามทำนองกลางๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความรักของตนเอง

“ถึงเกาะเรียนเรียนรักก็หนักอก    แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย
เมื่อเรียนกันจนจบถึงกบเกย        ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง
แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย        รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์
ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง    มีแต่หลงลมลวงน่าทรวงโทรม”

“…โอ้ดูสุริยงจะลงลับ            มิใคร่ดับดวงได้อาลัยหลัง
สอดแสงแฝงรถเข้าบดบัง        เหมือนจะสั่งโลกาให้อาลัย
แต่คนเราชาววังทั้งทวีป        มาเร็วรีบร้างมิตรพิสมัย
ไม่รอรั้งสั่งสวาทประหลาดใจ    โอ้อาลัยแลลับกับวิญญา… ”

”นารีใดไร้รักอย่างหนักหน่วง    จะโรยร่วงรกเรี้ยวแห้งเหี่ยวหาย
ที่เมตตาอยู่ก็อยากจะฝากกาย    อย่าหมิ่นชายเชิญตรึกให้ลึกซึ้ง
เหมือนภุมรินบินหาซึ่งสาโรช    ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง
แต่ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงส์        ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมงภู่ชม…”

ในตอนสุดท้ายของนิราศวัดเจ้าฟ้า สุนทรภู่ได้พรรณนาไว้ตอนท้ายว่า

จึงจดหมายรายเรื่องที่เคืองเข็ญ        ไปเที่ยวเล่นลายแทงแสวงหา
เห็นสิ่งไรในจังหวัดรัถยา            ได้จดมาเหมือนหนึ่งมีแผนที่ไว้
ไม่อ่อนหวานขานเพราะเสนาะโสต    ด้วยอายโอฐมิได้อ้างถึงนางไหน
ที่เขามีที่จากฝากอาลัย            ได้รํ่าไรเรื่องหญิงจึงพริ้งเพราะ
นี่กล่าวแกล้งแต่งเล่นเพราะเป็นหม่าย    เหมือนเร่ขายคอนเรือมะเขือเปราะ
คิดคะนึงถึงตัวน่าหัวเราะ            เกือบกระเทาะหน้าแว่นแสนเสียดาย
นารีใดไร้รักอย่างหนักหน่วง            จะโรยร่วงรกเรี้ยวแห้งเหี่ยวหาย
ที่เมตตาอยู่ก็อยากจะฝากกาย        อย่าหมิ่นชายเชิญตรึกให้ลึกซึ้ง
เหมือนภุมรินบินหาซึ่งสาโรช        ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง
แต่ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงส์            ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมงภู่ชม
เช่นกระต่ายกายสิทธิ์นั้นผิดเพื่อน        ขึ้นแต้มเดือนได้จนชิดสนิทสนม
เสน่ห์หาอาลัยใจนิยม                จะใคร่ชมเช่นกระต่ายไม่วายตรอม
แต่เกรงเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มแจ้ง    สุดจะแฝงฝากเงาเฝ้าถนอม
ขอเดชะจะได้พึ่งให้ถึงจอม            ขอให้น้อมโน้มสวาทอย่าคลาดคลา
ไม่เคลื่อนคลายหน่ายแหนงจะแฝงเฝ้า    ให้เหมือนเงาตามติดขนิษฐา
ทุกค่ำคืนชื่นชุ่มพุ่มผกา            มิให้แก้วแววตาอนาทร
มณฑาทิพย์กลีบบานตระการกลิ่น    ภุมรินหรือจะร้างห่างเกสร
จงทราบความตามใจอาลัยวอน        เดชะกลอนกล่าวปลอบให้ตอบคำ
จะคอยฟังดังหนึ่งคอยสอยสวาท        แม้นเหมือนมาดหมายจะชิมให้อิ่มหนำ
ถ้าครั้งนี้มิได้เยื้อนยังเอื้อนอำ        จะต้องครํ่าคร่าเปล่าแล้วเราเอย ฯ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

นิราศวัดเจ้าฟ้า

อสุภธรรมกรรมฐานประหารเหตุ        หวนสังเวชว่าชีวังจะสังขาร์
อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา                ที่ป่าช้านี่ก็เหมือนกับเรือนตาย
กลับเกลียดกลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน        พระนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย
อันร่างเหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย    แล้วต่างตายตามกันไปมั่นคง

อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ เขียนคำนำอธิบายเรื่องนิราศวัดเจ้าฟ้าไว้ในฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังนี้

“นิราศวัดเจ้าฟ้านี้ ท่านสุนทรภู่ขึ้นต้นไว้เป็นทำนองว่าสามเณรพัด ผู้บุตรขาย เป็นคนแต่ง เมื่อคราวตามท่านสุนทรภู่ไปค้นหาสมบัติโบราณ ตามลายแทง คือกล่าวขึ้นต้นไว้ว่า

เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร
เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร
กำจัดจรจากนิเวศน์พระเชตุพน

ที่ดัดแต่งเป็นของสามเณรพัดนั้น คงจะเกิดความคิดลองแผลงให้เป็นสำนวนคนอื่นแต่งดูบ้าง หรือโดยเหตุที่เวลานั้น ท่านสุนทรภู่ยังบวชเป็นพระภิกษุครองสมณเพศอยู่ จะแต่งเป็นของตนเอง ถ้าว่ากลอนผาดโผนไป ก็เกรงจะเสียสมณสารูปจึงขึ้นต้นเป็นของสามเณรพัดบุตรชายของท่านเป็นผู้แต่งเสีย แต่เมื่อท่านผู้อ่านที่ช่างสังเกตลองอ่านไปให้ตลอด ก็ย่อมจะจับได้ว่าที่แท้นั้นเป็นบทกลอนของท่านสุนทรภู่แต่งขึ้นด้วยตนเอง เช้น พรรณนาถึงเรื่องราวบางอย่าง ความหลังบางตอน หญิงคนรักบางคน ล้วนเป็นเรื่องของท่านสุนทรภู่เองทั้งนั้น…

วัดเจ้าฟ้า หรือที่เรียกไว้ในนิราศนี้ว่า “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” นั้น เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ยังไม่เคยพบว่ามีท่านผู้ใดสืบสวนไว้ ข้าพเจ้าลองอ่านนิราศแล้วกำหนดเส้นทางไว้ก่อน ครั้นเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๔ จึงได้ชักชวนท่านที่สนใจและชอบสนุกในการค้นหาความรู้ทางนี้ พากันเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะนั้นนํ้ากำลังท่วมทุ่งจึงจัดหาเรือหางยาวเล่นตัดทุ่งและเข้าลำคลองไป ตามแนวทางที่ระบุถึงในเรื่องนิราศ ไปจนถึงสถานที่ซึ่งมีกล่าวว่า

พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด    ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูนสูง
เที่ยวเลียบชมลมเย็นเห็นนกยูง    เป็นฝูงฟ้อนหางที่กลางทราย

และมีกล่าวถึง “ดินโขด” หรือ “โขดดิน” ไว้อีก ๒-๓ แห่ง เมื่อข้าพเจ้ากับคณะแล่นเรือไปถึงนั้น เป็นเวลาราวเที่ยงวัน และ “โขดดิน” ในฤดูนั้น สูงขึ้นมาเหนือน้ำ ซึ่งในปัจจุบันเป็นวัดมีกุฎีสงฆ์และศาลาการเปรียญตั้งอยู่เบื้องล่าง ในฤดูนํ้าท่วมทุ่ง กุฎีและศาลาการเปรียญก็หล่ออยู่ในนํ้า แต่ตัวพระอุโบสถตั้งอยู่บนโขดดิน พอดีวันนั้นมีงานทอดกฐิน ได้เรียนถามท่านเจ้าอาวาสและท่านผู้เฒ่า อายุ ๘๓ ปี ที่มาร่วมกุศลเทศกาล ท่านเล่าว่าวัดนั้นมีชื่อว่า วัดเขาดินขึ้นอยู่ในตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ซักไซ้เท่าไรก็ไม่มีใครเคยทราบว่าวัดนี้เคยมีชื่อว่า “วัดเจ้าฟ้าอากาศ” บอกได้แต่ว่าเดิมเป็นวัดร้าง ชาวบ้านใช้เป็นที่พักควายและเป็นบ่อนชนไก่ในฤดูนํ้าท่วม ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๗ ท่านอุปัชฌาย์ศรี วัดประดู่ทรงธรรมได้มาปฏิสังขรณ์และก่อสร้างกุฎีสงฆ์ ให้เป็นวัดมีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา แล้วมาปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ พระประธานในพระ อุโบสถแต่เดิมเป็นพระพุทธรูปศิลา ต่อมาได้ซ่อมพอกปูนปิดทองเสียใหม่ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และว่าเคยมีแผ่นจารึก แต่ไม่ได้อ่านกันไว้ซํ้าบอกจำหน่ายเสียด้วยว่า ในคราวปฏิสังขรณ์ครั้งหลัง ได้นำลงบรรจุไว้ใต้ฐานชุกชีพระประธาน เรื่องราวที่ฟังเล่าดังกล่าว ก็ดูตรงกับที่กล่าวไว้ในนิราศ และที่ว่ามีแผ่นศิลาจารึกนั้น ก็อาจเป็นจารึกบอกชื่อวัด เช่นที่ว่า

นามนั้นเขาเขียนแจ้งที่แท่งหิน
วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์
ได้ทราบสิ้นสืบสายเพราะลายแทง
ท่านสุนทรภู่เดินทางไปในคราวแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านี้เมื่อปีใด จำต้องหาหลักฐานอื่นช่วยประกอบพิจารณา แต่เมื่อเรารู้กันว่า ท่านสุนทรภู่เคยเป็นข้าอยู่ในวังหลัง และท่านเจ้าครอกทองอยู่ พระอัครชายาในกรมพระราชวังหลังโปรดอุปการะทั้งท่านสุนทรภู่และบุตรของท่านตลอดมา จึงพอจะสังเกต กำหนดจากคำกลอน ๒ แห่งในนิราศได้คือตอนที่ผ่านหน้าวัดระฆัง กล่าวไว้ว่า

ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ
แทบพระบาทบุษบงองค์อัปสร

และมีกล่าวต่อไปอีกว่า

เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูนทราย
แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน

ดูเป็นความว่า เมื่อเรือผ่านมาทางหน้าวัด ได้มองเห็นพระปรางค์วัดระฆังและเห็นเชิงตะกอนที่ วัดอัมรินทร์ รวมข้อความ ๒ คำกลอนนี้ คงจะหมายถึงว่าเห็นเชิงตะกอนที่ถวายเพลิงเจ้าครอกทองอยู่ที่วัด
อัมรินทร์ และได้นบไหว้อัฐิกับอังคารของท่านที่บรรจุไว้ในพระปรางค์วัดระฆัง ดังนี้ก็อาจเป็นได้ เวลาถวายเพลิงศพเจ้าครอกทองอยู่ เป็นข้างขึ้นเดือน ๑๑ ปีวอกอัฐศก ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๙ ด้วยเหตุนี้ จึงพอกำหนดได้ว่า ท่านสุนทรภู่คงจะเดินทางไปวัดเจ้าฟ้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านี้ขึ้นในปลายปีนั้นหรือปีถัดมา แต่ไม่ก่อนหน้านั้น ขณะนั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งท่านสุนทรภู่เคยได้พึ่งพระบารมีอยู่ ก็สิ้นพระชนม์ไปเสียใน พ.ศ. ๒๓๗๘ แล้ว ท่านสุนทรภู่คง กำลังคิดหาที่พึ่งอื่นต่อไปอีก จึงมีความบอกไว้ในนิราศอีกแห่งหนึ่งว่า

อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง        ให้ทราบซึ้งสุจริตพิสมัย
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย    น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน

ซึ่งก็แสดงอยู่ว่าท่านสุนทรภู่คงจะได้มีโอกาสเริ่มติดต่อและหวังพึ่งพระบารมีกรมหมื่นอัปสร¬สุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว จึงเผยความในใจออกมาตีแผ่ไว้อย่างน่ารู้ในกลอนนิราศเรื่องนี้ด้วย

ท่านสุนทรภู่เดินทางไปค้นหาสมบัติตามลายแทงคราวนี้ มีลูกชายไปด้วย ๒ คน คือสามเณรพัด กับ นายตาบและมีศิษย์ตามไปด้วยอีก ๔ คน ระบุไว้ในนิราศนี้มีชื่อ กลั่น (คือ สามเณรกลั่น ผู้ แต่งนิราศพระแท่นดงรัง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖) จัน มาก และ บุนนาก กับมีคนแจวเรืออีก ๒ คน ซึ่งคงจะเป็นผู้ใหญ่ คือ ตามา และตาแก้ว แต่ไปทำการไม่สำเร็จ ว่าถูกอาถรรพณ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำแดงฤทธิ์ เป็นพายุฝนพัดเอาข้าวของเครื่องบัดพลีบวงสรวงตลอดจนผ้าห่มและตำราลายแทงปลิวหายไปหมด จึงพากันกลับ และแวะไปอาศัยพระยาชัยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุงเก่า ซึ่งเป็นเพื่อนของท่านสุนทรภู่ มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ แล้วจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ดังมีเรื่องราวพิสดารพรรณนาเป็นคำกลอนอันไพเราะ และน่าอ่านน่ารู้อยู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้า”

อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา ที่ป่าช้านี่แหละเหมือนกับเรือนตาย

หลังจากแต่งนิราศสุพรรณแล้ว สุนทรภู่ก็ย้ายจากวัดเทพธิดามาอยู่วัดพระเชตุพนฯ เป็นการนำให้สุนทรภู่เข้าใกล้จินตกวีแบบฉบับผู้สูงศักดิ์ คือสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่ทราบความเกี่ยวข้องในระหว่างสองมหากวีสุนทรภู่คงจะได้รับพระเมตตาจากสมเด็จกรมพระปรมานุชิตเป็นอย่างดี อนึ่ง ที่วัดพระเชตุพนฯ นี้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณกำลังทรงผนวชอยู่ คงจะได้ทรงอนุเคราะห์ช่วยเหลือสุนทรภู่ตามวิสัยของศิษย์กับครู ชีวิตตอนนี้ค่อยสงบและราบรื่นกว่าเดิม

นิราศวัดเจ้าฟ้าแต่งเมื่อสุนทรภู่อยู่วัดพระเชตุพนฯ และไปวัดเจ้าฟ้าแห่งกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง สุนทรภู่ไปกับสามเณรพัดและนายตาบผู้เป็นบุตรพร้อมกับศิษย์อื่นๆ มีข้อแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ นิราศเรื่องนี้สนุทรภู่เลี่ยงให้เป็นสำนวนของสามเณรพัด ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงแฝงนามไว้เช่นนั้น แต่ตอนท้ายนิราศอดจะบอกไว้ไม่ได้ว่า “นี่กล่าวแกล้งแต่งเล่นเพราะเป็นหม้าย” ใครเป็นหม้าย? ต้องเป็นสุนทรภู่ไม่ใช่สามเณรพัด

เนื้อนิราศ

สาเหตุที่สุนทรภู่นิราศไปวัดเจ้าฟ้าคราวนี้เพื่อไปหายาอายุวัฒนะลายแทงที่ได้ตำรามาจากเมืองเหนือ สรรพคุณของยานี้มี “ว่ายากินรูปร่างงามอร่ามเรือง แม้ฟันหักจักงอกผมหงอกหาย แก่กลับกลายหนุ่มเนื้อนั้นเรื่อเหลือง….”การเดินทางคงไปทางเรือตามเคย พอผ่านวัดระฆังก็กราบพระธาตุของเจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ซึ่งได้รับพระราชทานเพลิงใหม่ๆ “เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูนทราย แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน ทั้ง หนูตาบกราบไหาร้องไห้ว่าจะคมลาลับไปในไพรสัณฑ์ เคยเวียนเฝ้าเกล้าจุกให้ทุกวัน สารพันพึ่งพาไม่อาทร’’ สุนทรภู่เดินทางไปถึงวัดพนัญเชิงก็จอดเรือที่หน้าศาลาวัดได้ขึ้นไปนมัสการพระนิราศดำเนินความ ตอนนี้ว่า “ท่านบิดรได้ประกาศว่าชาตินี้ ทั้งรูปชั่วตัวดำทั้งต่ำศักดิ์ ถวายรักไว้กับศีลพระชินสีห์ ต่อเมื่อไร ใครรักมาภักดี จงอารีรักตอบด้วยขอบคุณ” อีกตอนหนึ่งเป็นสำนวนเณรพัดอธิษฐานว่า “…อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง ให้ซาบซึ้งสุจริตพิสมัย อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน…” ข้อความนี้ล้วนเป็นสิ่งที่สุนทรภู่เคยประสบมาแล้วทั้งนั้น หลังจากนั้นก็เดินทางอย่างลำบากกรากกรำขึ้นบกที่วัดใหญ่ไปตามลายแทง กินเวลานาน จึงมาถึงวัดเจ้าฟ้าอันเป็นวัดร้างมาแต่โบราณ มีประวัติพิสดารและว่ามียาอายุวัฒนะอยู่ใต้องค์พระ สุนทรภู่ไปตั้งพิธีขุดในเวลากลางคืน พอเริ่มพิธีก็เกิดเหตุวิปริตต่างๆ นัยว่า เกิดด้วยอำนาจปีศาจเลยต้องเลิกไม่อาจขุด และ “ถวายวัดตัดตำราไม่อาลัย ขออภัยพุทธรัตน์ปฏิมา” แล้วก็ กลับ ขากลับได้แวะไปเยี่ยมพระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุง สุนทรภู่เคยไม่แวะเยี่ยมเมื่อคราวนิราศภูเขาทองเพราะเกรงว่าท่านจะรังเกียจเพราะตนตกยากแต่คราวหลังๆ ไปและได้รับการรับรองดีเสมอ เมื่อประจักษ์อัธยาศัยดังกล่าวนี้จึงอำนวยพรอย่างน่าฟัง หลังจากนั้นก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ
ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

สถานที่กล่าวถึงในนิราศภูเขาทอง

วัดราชบุรณราชวรวิหาร
โอ้อาวาสราชบูรณะ พระวิหาร        แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น        เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง            ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งอำลาอาวาสนิราศร้าง            มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร

วัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อว่าวัดเลียบ ตั้งอยู่ในเขตกำแพงพระนครแถบพาหุรัด พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงช่วยในการปฏิสังขรณ์ด้วย เมื่อปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว รัชกาลที่ ๑ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชบุรณะ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ถอนสีมาเก่าแล้วทรงสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ และในรัชกาลต่อๆ มาก็ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกบ้าง

สุนทรภู่ก่อนออกเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง จำพรรษาอยู่ ณ วัดนี้ เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของนิราศภูเขาทองของท่าน จึงเริ่มออกเรือจากวัดราชบูรณะเป็นอันดับแรก

หน้าวัง (พระบรมมหาราชวัง)
ถึงหน้าวัง ดังหนึ่งใจจะขาด        คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร        แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด    ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น            ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย    ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา            ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป

หน้าวัง หรือพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ มีอาณาบริเวณคิดเป็นเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๑๕๒ ไร่ มีกำแพงใบเสมาก่ออิฐถือปูนและป้อมปราการรายล้อมอยู่โดยรอบทั้ง ๔ ด้าน ภายในกำแพงพระบรมมหาราชวังแบ่งแยกอาณาบริเวณสำหรับปลูกสร้างอาคารไว้เป็นสัดส่วน คือ พื้นที่ตอนเหนือซึ่งเป็นด้านหน้าทางฟากตะวันออกเป็นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่าวัดพระแก้วมรกต ฟากตะวันตกเป็นอาคารสถานที่ของทางราชการ พื้นที่ตอนกลางเป็น หมู่พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถาน ส่วนพื้นที่ตอนในเบื้องหลังพระมหาปราสาทราชมณเฑียร เป็นเขตฝ่ายใน ซึ่งในสมัยก่อนใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และข้าบาทบริจาริกาในองค์พระมหากษัตริย์

หมู่พระมหาปราสาทราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวังนี้ ล้วนก่อสร้างขึ้นด้วยความประณีต วิจิตรบรรจง เป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่มีค่าประมาณมิได้ เป็นสถานที่สำคัญที่ชาวต่างประเทศนิยมเข้ามาชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

อนึ่ง คำว่า “บพิตรอดิศร” ในกลอนข้างต้นนี้ หมายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงสุนทรภู่ให้รับราชการอยู่ ในกรมพระอาลักษณ์และเป็นกวีที่ปรึกษาในราชสำนัก มีบรรดาศักดิ์เป็นที่ขุนสุนทรโวหาร เมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคตแล้ว สุนทรภู่ก็ตกอับ กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“แต่เรานี้ที่สุนทรประทานตัว        ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ    ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด        ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี”

หน้าแพ (ตำหน้กแพ)
ถึง หน้าแพ แลเห็นเรือที่นั่ง        คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย    แล้วลงเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ    เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง    มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ    ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา        วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์

หน้าแพ หรือตำหนักแพ ปัจจุบันคือ ท่าราชวรดิษฐ์ เดิมเป็นแพลอยอยู่ในนํ้าเรียกว่า “ตำหนักแพ” สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับทอดพระเนตรงานซึ่งมีในลำแม่นํ้า เช่น การลอยพระประทีป เป็นต้น และเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าแทนในเวลาเสด็จทางชลมารค ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จโปรดให้สร้างขึ้นใหม่เปลี่ยนจากแพของเดิมมาเป็นตั้งเสาบนบก แล้วพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย” ส่วนท่านั้นพระราชทานนามว่า “ท่าราชวรดิษฐ์”

อนึ่ง คำว่า “พระจมื่นไวย” ในกลอนข้างต้นนี้ คือ จมื่นไวยวรนารถ (เผือก) หัวหมื่นมหาดเล็กในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็กแล้วเป็นพระยาไชยวิชิต สิทธิสาตรามหาประเทศราช ชาติเสนาบดี ผู้รักษากรุงเก่า พระยาไชยวิชิต (เผือก) นี้ เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นกวีมีชื่อเสียงปรากฏผลงานกวีนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น โคลงและกลอนยอพระเกียรติ ๓ รัชกาล (รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) โคลงฤาษีดัดตนท่าแก้แน่นหน้าอก (พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน) บททำขวัญนาค (ในหนังสือประชุม เชิญขวัญ) บทสักวาเรื่องอิเหนาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๓

พระยาไชยวิชิต (เผือก) ถึงอนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๓

หอพระอัฐิ
ดูในวังยังเห็นหอพระอัฐิ        ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล
ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล        ให้ผ่องพ้นภัยสำราญผ่านบุรินทร์

หอพระอัฐิ คือ หอพระธาตุมณเฑียร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี คือ พระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระทุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระศรีสุลาลัย ในรัชกาล ที่ 2 และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม สมเด็จพระบรมราชชนก

วัดประโคนปัก
ถึงอารามนามวัด ประโคนปัก        ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน        มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา
ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย            แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา
อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา            อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง

วัดประโคนปักคือ วัดดุสิตาราม กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เหนือปากคลองบางกอกน้อย เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดเสาประโคน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ทรงสถาปนา สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาเสนานุรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด เสด็จแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดดุสิตาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกบ้าง

โรงเหล้า   
ถึงโรงเหล้า เตากลั่นควันโขมง        มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา        ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญชวชกรวดน้ำขอสำเร็จ        สรรเพชญ์โพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย            ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก        สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป            แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

โรงเหล้า คือ โรงงานสุราบางยี่ขัน ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตรงกันข้ามกับบางขุนพรหม อยู่ในท้องที่ตำบลบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มองเห็นปล่องได้เด่นชัดแต่ไกล เรียกกันติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า “สุราบางยี่ขัน”

บางจาก
ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง        มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน            จึงต้องขืนใจพรากมาจากเมือง

บ้านบางจาก อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยาใต้วัดภคินีนาถ แขวงบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีคลองบางจาก ซึ่งแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาตรงเขตวัดภคินีนาถด้านทิศใต้เป็นสำคัญ คลองนี้มีนํ้าตลอดทั้งปี

บางพลัด
ถังบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง        ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน

บ้านบางพลัด อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลบางพลัดนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๘ มีฐานะเป็นอำเภอซึ่งตั้งที่ว่าการอำเภอที่ปากคลองบางพลัด ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๑ ถูกยุบรวมเข้ากับอำเภอบางกอกน้อย มีสะพานพระราม ๖ ข้ามแม่นํ้าทางรถไฟสายใต้ให้เดินเข้ารวมสถานีกรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙ ปัจจุบันเป็นตำบลบางพลัด มีวัดบางพลัดใน (จันทาราม) และคลองบางพลัด เป็นสำคัญ ปาก¬กลองบางพลัดแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ข้างวัดอาวุธวิกาสิตาราม (วัดบางพลัดนอก) คลองนี้ ยาว ๒ กิโลเมตร มีนํ้าตลอดทั้งปี

บางโพธิ์
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์        ร่มนิโรธรุกขมูลให้พูนผล
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล            ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกาย

บ้านบางโพธิ์ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพ¬นหานคร เดิมเป็นชื่อตำบล เรียกตำบลบางโพธิ์ขึ้นเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันไม่ได้เป็นตำบลแล้ว แต่เรียกกันตามชื่อเดิมว่า บางโพธิ์ มีวัดบางโพโอมาวาสเป็นสำคัญ

บ้านญวน
ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสะพรั่ง        มีข้องขังกุ้งปลาไว้ค้าขาย
ตรงหน้าโรงโพงพางเขาวางราย        พวกหญิงชายพร้อมเพรียงเขาเมียงมอง

บ้านญวน อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพ¬นหานคร มีวัดอนัมนิกายาราม หรือที่เรียกกันว่า วัดญวนบางโพธิ์ เป็นสำคัญ

วัดเขมาภิรตาราม   
จะเหลียวกลับลับเขตประเทศสถาน    ทรมานหม่นไหม้ฤทัยหมอง
ถึงเขมาอารามอร่ามทอง            พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน
โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จบรมโกศ        มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น
ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน            ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา
โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเล่นฉลอง            เพราะตัวต้องตกประดาษวาสนา
เป็นบุญน้อยพลอยนึกโมทนา        พอนาวาติดชลเข้าวนเวียน

วัดเขมาภิรตาราม อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา เหนือวัดปากนํ้า ตรงกันข้ามกับปากคลองบางกรวย (คลองตลาดแก้ว) ขึ้นตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เดิมชื่อวัดเขมา เป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา พ.ศ. ๒๓๗๑ สมเด็จพระศรีสุ่ริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ ทรงปฏิสังขรณ์ และสร้างอัครเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ ไว้มุมพระอุโบสถ ต่อมาพ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ปฏิสังขรณ์และสร้างพระมหาเจดีย์ใหม่สูง ๓๐ เมตร (๑๔ วา) และเลื่อนอัครเจดีย์ทั้ง ๔ องค์ไปตั้งอยู่ ๔ มุมของพระมหาเจดีย์ เสร็จแล้วโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปโลหะ จากวังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาประดิษฐานไว้หน้าพระประธานในพระอุโบสถ แล้วพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า “วัดเขมาภิรตาราม” หลังจากปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้มีงานฉลอง ปรากฏหลักฐานในประกาศรัชกาลที่ ๔ ว่า “… ก็ได้ทรงพระศรัทธาเสด็จไปทำมหกรรมการฉลอง ทรงบำเพ็ญพระกุศลในที่นั้นเป็นอันมาก ในปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑)”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ขณะที่ทางวัดกำลังรื้อสิ่งสลักหักพังที่องค์พระมหาเจดีย์ เพื่อปฏิสังขรณ์นั้นได้พบพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้ทำพิธีอัญเชิญไปบรรจุไว้ในองค์พระมหาเจดีย์

โบราณวัตถุสถานที่น่าสนใจภายในวัดเขมาภิรตาราม นอกจากที่กล่าวมาแล้วคือ

พระที่นั่งมูลมณเฑียร พระที่นั่งนี้เดิมสร้างเป็นตำหนักไม้อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ต่อมารัชกาลที่ ๔ โปรดให้รื้อและแก้ไขเป็นตึก ปลูกขึ้นใหม่อยู่ระหว่างพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ กับบริเวณพระพุทธนิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้รื้อไปปลูกที่วัดเขมาภิรตาราม โดยทรงพระราชอุทิศให้เป็นโรงเรียน ปัจจุบันใช้เป็นห้องสมุดของโรงเรียนกลาโหมอุทิศ

ตำหนักแดง ปัจจุบันอยู่ภายในบริเวณวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ อธิบายไว้ในประวัติวัดเขมาภิรตาราม ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ว่า

“ตำหนักแดงนั้น เดิมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างเป็นตำหนักหมู่ใหญ่ในวังหลวงถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ คู่กับตำหนักเขียว ซึ่งทรงสร้างถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ที่เรียกว่าตำหนักแดงตำหนักเขียว ก็เพราะเหตุที่ทาสีแดง ตำหนัก ๑ ทาสีเขียวตำหนัก ๑ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สิ้นพระชนม์แล้ว กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ผู้เป็นพระธิดา ก็ได้ประทับอยู่ตำหนักแดงต่อมา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์เสด็จออกไปประทับอยู่พระราชวังเดิม กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับได้มีการรื้อตำหนักเครื่องไม้ในวังหลวง สร้างเป็นตึก สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อตำหนักแดงไปปลูกถวายสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ที่พระราชวังเดิม ต่อมาเมื่อกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์สิ้นพระชนม์ลง สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระราชทานตำหนักตึกของกรมสมเด็จพระอมรินทร์ฯ แด่กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระตำหนักแดงก็ว่างอยู่ ครั้นเมื่อกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์สวรรคตลงอีก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้รื้อไปปลูกถวายเป็นกุฎีพระราชาคณะวัดโมฬีโลก
เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายจากวัดโมฬีโลกไปปลูกเป็นกุฎีเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และทรงสร้างกุฎีตึกแทนพระตำหนักแดงของเดิมพระราชทานให้เป็นกุฎีพระราชา คณะวัดโมฬีโลก

ถึงแม้จะถูกรื้อถูกย้ายที่ตั้ง ๓ ครั้งแล้วก็ดี ตำหนักแดงที่ยังอยู่ในวัดเขมาภิรตารามเวลานี้ ยังคงเป็นรูปอยู่ได้ด้วยความอุตสาหะของเจ้าอาวาสและพระภิกษุสงฆ์ในวัดเขมาภิรตารามอุตส่าห์สงวนไว้ โดยก่ออิฐรองข้างล่างให้คงอยู่แต่ฝาและโครงไม้ชั้นบน ส่วนพื้นได้ถูกเปลี่ยนบ้าง คือเปลี่ยนเอาไม้ใหม่มาใส่แทนไม้เก่าที่ผุพัง และยกพื้นขึ้นให้เสมอกัน เพราะพื้นเดิมมีสูงตอนหนึ่ง ตํ่าตอนหนึ่ง อนึ่ง ตำหนักแดงนี้มีเสาจุนเชิงชายจากพื้นดินทำนองเดียวกับตำหนักแดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเวลานี้ เสาจุนชิงชายเหล่านี้ต้องทิ้งเพราะผุพังจนเหลือวิสัยที่จะรักษาไว้ได้ ทางด้านเหนือได้สร้างมุขต่อเติมออกไป แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตำหนักแดงจะได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ยังพอเป็นอาหารของนักประวัติศาสตร์ได้บ้าง เพราะเป็นชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นตัวอย่างปราสาทราชวังเมื่อร้อยห้าสิบปีมาแล้ว ซึ่งเป็นเรือนฝากระดานนี่เอง นับว่าเป็นเรือนไม้ที่รักษาไว้ได้นานที่สุดชิ้นหนึ่ง นักเรียนประวัติศาสตร์จะได้เห็นชีวิตของสมเด็จพระราชินีเมื่อ ๑๓๐ ปีมาแล้วว่าประทับอยู่ในที่เช่นไร เมื่อย่างเข้าไปในตำหนักแดงจะเห็นห้องกว้าง ซึ่งในครั้งกระนั้นคงเป็นห้องนั่งเล่น นั่งประชุมของพวกสาวสรรค์จับเขม่าถอนไรทาขมิ้นเหลืองไปทั้งตัว ตอนต่อไปมีฝากั้นห้อง แบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนข้างซ้ายมือไม่ได้กั้นอย่างมิดชิด เป็นแต่มีรอยไม้ประกับเสา เข้าใจว่าคงใช้ม่านกั้นในตอนนั้น แต่ทางขวามือกั้นเป็นห้องบรรทม ประตูข้างบนเล็กข้างล่างโตตามแบบก่อสร้างของไทยโบราณ ห้องบรรทมไม่กว้างนัก ฝาตำหนักข้างนอกแลเห็นกรอบไม้ตามแบบเรือนฝากระดานอย่างดี แต่ข้างในกรุแผ่นไม้อีกชั้นหนึ่งสีแดงที่มีอยู่ แต่เดิมได้ถูกทับด้วยสีอื่น ยังคงเหลือสีแดงอยู่บางแห่ง รวมความว่าตำหนักแดงเป็นชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะต้องพยายามสงวนไว้ให้นานที่สุดที่จะอยู่ได้

ตำหนักแดงนี้มีหลังหนึ่งที่ถูกรื้อไปเสียเมื่อเร็วๆ นี้เอง เพราะหมดความสามารถที่จะรักษาไว้ได้แต่ส่วนตำหนักใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ คงจะรักษาไว้ได้อีกนาน”

อนึ่ง คำว่า “สมเด็จบรมโกศ’, ที่กล่าวไว้ในกลอนข้างต้นนั้น หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตลาดแก้ว
ตลาดแก้วแล้วไม่เห็นตลาดตั้ง    สองฟากฝั่งก็แต่ล้วนสวยพฤกษา
โอ้รินรินกลิ่นดอกไม้ใกล้คงคา    เหมือนกลิ่นผ้าแพรดำร่ำมะเกลือ

บ้านตลาดแก้ว อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามปากคลองบางสีทองขึ้นตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี คู่กับตลาดขวัญ ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ซึ่งย้ายมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๗

ปากเกร็ด
ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า        ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา    ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย
โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง            เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย
นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ            ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่างพึงคิด

บ้าน ปากเกร็ด อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เดิมเป็นที่อยู่ของพวกมอญซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ปัจจุบันคงมีชาวมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกกันติดปากว่า บ้านมอญ

บ้านใหม่
ถึงบ้านใหม่ใจจิตก็คิดอ่าน        จะหาบ้านใหม่มาดเหมือนปรารถนา
ขอให้สมคะเนเถิดเทวา        จะได้ผาสุกสวัสดิ์กำจัดภัย

บ้านใหม่ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บางเดื่อ
ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด    บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน    อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา

บ้านบางเดื่อ หรือบางมะเดื่อ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบางเดื่อ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีคลองบางเดื่ออยู่เหนือวัดนํ้าวนและอยู่ใต้วัดบางเดื่อ เป็นสำคัญ

บางหลวง
ถึงบางหลวงเชิงรากเหมือนจากรัก        สู้เสียศักดิ์สังวาสพระศาสนา
เป็นล่วงพ้นรนราคราคา            ถึงนางฟ้าจะมาให้ไม่ไยดี

บ้านบางหลวง อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีวัดบางหลวงตั้งอยู่ปากคลองบางหลวงเป็นสำคัญ คลองนี้มีนํ้าตลอด

เชิงราก (เชียงราก)
ถึงบางหลวง เชิงราก เหมือนจากรัก    สู้เสียศักดิ์สังวาสพระศาสนา

บ้านเชิงราก ปัจจุบันเรียก “เชียงราก” มีคลองเชียงรากซึ่งแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออก ที่เหนือปากคลองมีศาลเจ้าและวัดมะขามเป็นสำคัญ มีทั้งคลองเชียงราก (ใหญ่) และคลองเชียงรากน้อย นอกจากเชียงรากจะเป็นชื่อคลองแล้ว ยังเป็นชื่อตำบล ๒ ตำบล คือ ตำบลเชียงรากน้อย และตำบลเชียงรากใหญ่ ขึ้นอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

สามโคก
ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า        พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี        ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง        แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่ สุนทร ประทานตัว            ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ        ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด            ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง            อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี
เหลืออาลัยใจกตรมระทมทวี            ทุกวันนี้ก็ซังกายทรงกายมา

สามโคก เป็นชื่อตำบลและอำเภอ ขึ้นจังหวัดปทุมธานี เดิมเป็นเมืองที่ตั้งของเมืองสามโคก เป็นชื่อเมืองเก่าของปทุมธานี มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ฉบับองค์การค้าของคุรุสภาพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๐๓ หน้า ๓๐ กล่าวว่า “เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างวัดตองปุขึ้นใหม่ โปรดให้พระสงฆ์รามัญมาอยู่วัดตองปุ และให้พระมหาสุเมธาจารย์เป็นเจ้าอาวาส พระไตรสรณธัชนั้นมีพระราชโองการให้อยู่วัดบางหลวง เป็นเจ้าคณะรามัญ ในแขวงเมืองนนทบุรีและสามโคก พระสุเมธน้อยนั้น โปรดให้ครองวัดบางยี่เรือใน” ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พร้อมด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้เสด็จไปประทับที่พลับพลาริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งซ้าย เยื้องกับเมืองสามโคก มีราษฎรนำดอกบัวมาทูนเกล้าฯ ถวายเป็นเนืองนิตย์ พระองค์จึงพระราชทานนามเมืองสามโคกเสียใหม่ว่า “เมืองปทุมธานี” โดยเหตุที่มีดอกบัวอยู่ทั่วไป ดังที่สุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี    ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว”

และให้ยกจวนกลางทำเป็นวัด เรียกว่า “วัดปทุม” ที่ตั้งเมืองปทุมธานี ปรากฎว่าย้ายหลายครั้ง ปัจจุบันคือจังหวัดปทุมธานี

อนึ่ง คำว่า “สุนทร” ที่กล่าวถึงในนิราศภูเขาทองนั้น หมายถึง “สุนทรภู่” ท่านมักจะใช้คำสรรพนามแทนตัวท่านว่า “สุนทร”

ส่วนคำว่า “พระโกศ” ที่กล่าวถึงในนิราศวัดเจ้าฟ้า หมายถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งโปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองสามโคกเป็น “เมืองปทุมธานี”

บ้านงิ้ว
ถึงบ้านงิ้วเห็นแต่วิ้งละลิ่วสูง        ไม่มีฝูงสัตว์สิงกิ่งพฤกษา
ด้วยหนามดกรกดาษระดะตา    นึกก็น่ากลัวหนามขามขามใจ
งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม        ดังขวากแซมเสี้ยมแซกแตกไสว
ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย        ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง
เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว        ยังคลาดแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง
ทุกวันนี้วิปริตผิดทำนอง        เจียนจะต้องปีนบ้างหรืออย่างไรฯ

บ้านงิ้ว หรือบ้านป่างิ้ว อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี มีวัดป่างิ้วเป็นสำคัญ

เกาะใหญ่ราชคราม
โอ้คิดมาสารพัดจะตัดขาด        ตัดสวาทตัดรักมิยักไหว
ถวิลหวังนั่งนึกอนาถใจ        ถึง เกาะใหญ่ราชคราม หอยามเย็น
ดูห่างย่านบ้านช่องทั้งสองฝั่ง    ระวังทั้งสัตว์น้ำจะทำเข็ญ
เป็นที่อยู่ผู้ร้ายไม่วายเว้น        เที่ยวซ่อนเร้นตีเรือเหลือระอา

เกาะใหญ่ เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี มีคลองเกาะใหญ่ ซึ่งแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตก ตรงข้ามกับวัดโพธิ์แตงเหนือ วัดโพธิ์แตงใต้ มีวัดท้ายเกาะใหญ่ ตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ
ส่วนคำว่า “ราชคราม” เป็นชื่อเดิมของอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบัน เป็นตำบลราชคราม อำเภอบางไทร ตั้งอยู่ตรงที่ร่วมของแม่นํ้าน้อย (แม่นํ้าสีกุก) กับลำแม่นํ้าใหญ่ คือ แม่นํ้าเจ้าพระยา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ตั้งเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอราชคราม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของลำนํ้าบางไทร (แม่นํ้าน้อย) ที่ตำบลราชคราม เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๗. ถึงพ.ศ. ๒๔๘๑ กลับเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางไทร และเป็นชื่อที่เรียกกันต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ตำบลกรุงเก่า
พอรอนรอนอ่อนแสงพระสุริยน    ถึงตำบล กรุงเก่า ยิ่งเศร้าใจ

ตำบลกรุงเก่า หมายถึงกรุงศรีอยุธยา คำว่า “กรุงเก่า” เป็นชื่อเดิมของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอนี้เดิมมีชื่อว่า อำเภอรอบกรุง ครั้นต่อมาเมื่อเปลี่ยนชื่อจังหวัดและมณฑลในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอกรุงเก่า ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ เป็นอำเภอพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๐๐

ท่าหน้าจวน
มาถึงท่าหน้า จวน จอมผู้รั้ง            คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย    ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก        อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร        จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ

ท่าหน้าจวน คือจวนผู้รักษากรุงเก่าในสมัยนั้น เข้าใจว่าจะอยู่ในวังจันทรเกษม ผู้รักษากรุงเก่า คือ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งเคยสนิทสนมกับสนุทรภู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นไวยวรนารถ กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย    แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง”

วัดหน้าพระเมรุ
มาจอดท่าหน้า วัดพระเมระข้าม    ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน
บ้างขึ้นล่องสองลำเล่นสำราญ    ทั้งเพลงการเกี้ยวแก้กันแซ่เซ็ง
บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ        ระบาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง
มีโคมรายแลอร่ามเหมือนสำเพ็ง    เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู
อ้ายลำหนึ่งครึ่งท่อนกลอนมันมาก    ช่างยาวลากเลื้อยเจื้อยจนเหนื่อยหู
ไม่จบบทลดเลี้ยวเหมือนเงี้ยวงู    จนลูกคู่ขอทุเลาว่าหาวนอนฯ

วัดหน้าพระเมรุ อยู่ฝั่งขวาแม่นํ้าลพบุรีและริมคลองสระบัวตรงข้ามพระราชวังโบราณด้านเหนือ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงสามัญ ชั้นตรี เป็นวัดโบราณที่สำคัญวัดหนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่า พระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างเมื่อจุลศักราช ๘๖๕ พ.ศ. ๒๐๔๗ ประทานนามว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ต่อมาภายหลังเรียกกันทั่วไปว่า “วัดหน้าพระเมรุ” คงจะสร้างตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชา พระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่ครองกรุงศรีอยุธยา หรืออาจจะเอานามวัดพระเมรุซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ที่สวนนันทอุทยาน ทางตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ ตำบลห้วยจระเข้ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มาตั้งชื่อวัดนี้ก็ได้

ตามพงศาวดารกล่าวว่า ก่อนที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะทรงทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เมื่อพ.ศ. ๒๐๙๒ ได้โปรดให้พนักงานออกไปปลูกราชสัณฐาคาร (พลับพลา) ณ ตำบลวัดพระเมรุราชิการามกับวัดหัสดาวาส ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากวัดหน้าพระเมรุเล็กน้อย มีราชบัลลังกาอาสน์ ๒ พระที่นั่งสูงเสมอกัน ระหว่างพระที่นั่งห่าง ๔ ศอก แล้วให้แต่งรัตนตยาอาสน์สูงกว่าราชอาสน์อีกพระที่นั่งหนึ่ง ให้เชิญพระศรีรัตนตรัยออกไปไว้เป็นประธาน

ต่อมาภายหลังวัดนี้ได้ชำรุดทรุดโทรม ปรากฎว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยา ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ และ พ.ศ. ๒๓๘๑ ในรัชกาลที่ ๓ และเมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระยาเพทราชา พระยาโบราณบุรานุรักษ์ กรมการเร่งให้ช่างรักช่างกระจก ลงรักประดับกระจกพระพุทธรูปวัดหน้าพระเมรุ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางราชการได้ทำการบูรณะวัดนี้ โดยสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าลพบุรี ตรงหน้าวัด และทำถนนเข้าวัดยาว ๑๑๘ เมตร ซ่อมพระอุโบสถและวิหารน้อย

เจดีย์ภูเขาทอง
ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ        เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อ ภูเขาทอง            ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น    เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได        คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด        ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน        เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม

วัดภูเขาทอง เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ ประวัติการสร้างวัดและองค์พระเจดีย์ประธาน ซึ่งพบหลักฐานจากพงศาวดาร ประกอบกับคำให้การชาวกรุงเก่ามีความเป็น ๓ ประการ ดังจะขอนำมาเสนอเพื่อเป็นแนวทางพิจารณาดังนี้

๑. พงศาวดารเหนือ กล่าวว่าสมัยหนึ่งพระนเรศวรหงสากษัตริย์มอญผู้ครองเมืองสะเทิม ได้ยกพยุหแสนยากร ๔๐ แสนมาล้อมกรุง ได้ตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลนนตรี เมื่อได้ทราบว่าพระนารายณ์ได้ครองราชสมบัติก็เกรงพระเดชานุภาพ จึงแต่งหนังสือแจ้งไปยังพระนารายณ์เป็นใจความว่า ที่ได้ยกพลมาครั้งนี้ เพื่อจะสร้างวัดพนันกันคนละวัด ฝ่ายพระนารายณ์ก็รับคำพนันนั้น โดยตรัสว่า “พระเจ้าพี่จะสร้าง ก็สร้างเถิด คนละมุมเมือง เจ้าพี่สร้างทางทิศพายัพ เราจะอยู่ข้างทิศหรดี” พระนเรศวรหงสาจึงสร้างพระเจดีย์กว้าง ๓ เส้น สูง ๗ เส้น ๔ วา ๒ ศอก ก่ออยู่ ๑๕ วัน ถึงบัวกลุ่มให้นามว่า “วัดภูเขาทอง” พระนารายณ์เห็นว่าจะแพ้จึงคิดเป็นกลอุบายทำโครงไม้เอาผ้าขาวคาด พระนเรศวรหงสาเห็นเช่นนั้นคิดกลัว ก็เลิกทัพกลับไป เจดีย์ที่พระนารายณ์ทรงสร้างพงศาวดารเหนือกล่าวว่า คือ เจดีย์วัดชัยมงคล

๒. จากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า สมเด็จพระราเมศวร ซึ่งเป็นราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ปฐมกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้สถาปนาวัดนี้ขึ้น ซึ่งมีความตามพงศาวดารว่า “ศักราช ๗๔๙ เถาะ นพศก (พ.ศ. ๑๙๓๐) สถาปนาวัดภูเขาทอง”

๓. สำหรับองค์พระเจดีย์ประธานของวัดนั้น ตามหนังสือคำให้การของชาวกรุงเก่าว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๒ อันเป็นปีที่ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาแก่ข้าศึก ความในคำให้การของชาวกรุงเก่าเขียนไว้ดังนี้ “ในเวลาเมื่อพระเจ้าหงสาวดียังประทับอยู่พระนครศรีอยุธยานั้น ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งที่ตำบลทุ่งภูเขาทอง ขนานนามพระเจดีย์นั้นว่า เจดีย์ภูเขาทอง ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้”

เมื่อพิจารณาจากหลักฐาน ๓ ประการที่ยกมา และได้อ่านพงศาวดารฉบับอื่นๆ ประกอบ แล้วทำให้เชื่อได้ว่า สมเด็จพระราเมศวรทรงสถาปนาวัดภูเขาทองขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๓๐ แต่องค์พระเจดีย์ ซึ่งเป็นหลักของวัดนั้น ชั้นเดิมอาจเป็นได้ว่าสมเด็จพระราเมศวรสร้างไว้เพียงองค์ขนาดเล็ก ต่อมาเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีชัยชนะเหนือกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ แล้วจึงโปรดให้สร้างเจดีย์ ทับหรือครอบเจดีย์เก่าของสมเด็จพระราเมศวรอีกชั้นหนึ่ง ส่วนความตามพงศาวดารเหนือนั้นถ้าจะพูดถึงศักราชและขนาดขององค์เจดีย์และกำลังพลทหารแล้ว ก็ไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ดีก็ยังมีเค้าซึ่งแสดงถึงความจริงสอดคล้องกับคำให้การชาวกรุงเก่าอยู่บ้าง ในข้อที่ว่าพระนเรศวรหงสาเป็นกษัตริย์หงสาวดียกพลมาล้อมกรุง ตั้งอยู่ที่ทุ่งนนตรี ซึ่งน่าจะหมายถึงกรุงศรีอยุธยา

มีข้อที่น่าคิดและน่าพิจารณาอยู่อีกประการหนึ่งว่า พระเจดีย์องค์ที่พระเจ้าหงสาวดีทรงสร้างนี้ กล่าวกันว่าจะเป็นแบบเจดีย์มอญว่าโดยหลักฐานทางเอกสารจะเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด เมื่อค้นต่อไปก็ได้หลักฐานว่าหลังจากที่พระเจ้าหงสาวดีสร้างครอบไว้แล้ว ๑๒๑ ปี หมอแกมป์เฟอร์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นหมอประจำคณะทูตของเนเธอร์แลนด์ ได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และได้แวะเข้ามาพัก ณ กรุงศรีอยุธยา ๒๓ วัน (ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ถึงวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๓) ได้พรรณนาบรรยายภาพของพระเจดีย์ภูเขาทองไว้ รู้สึกว่าใกล้ชิดกับรูปทรงหรือแบบอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก หมอแกมป์เฟอร์ยังได้บันทึกไว้ว่า เจดีย์องค์นี้ไทยสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกที่มีชัยชนะแก่กษัตริย์มอญอย่างใหญ่หลวง ณ ที่นั้นไทยได้เข่นฆ่าและตีทัพอันใหญ่หลวงของข้าศึกแตกพ่ายไป การที่แกมป์เฟอร์เขียนว่าไทยเป็นผู้สร้างนั้น พิจารณาแล้วเป็นได้ทั้งน่าเชื่อและไม่น่าเชื่อ ทว่าไม่น่าเชื่อ ก็เห็นจะมีอยู่เพียงประการเดียวคือ อาจได้รับคำบอกเล่าผ่านล่าม จึงไม่เข้าใจในภาษาอย่างซึ้ง หรืออาจได้รับคำบอกเล่าจากฝรั่งซึ่งเข้าใจเหตุการณ์ผิดพลาดก็ได้ ส่วนที่ว่าน่าเชื่อนั้นดูออกจะมีนํ้าหนักอยู่โดยเหตุผล ดังนี้

๑. พม่าจะสร้างเจดีย์เป็นที่ระลึกในชัยชนะครั้งนี้ขึ้นมาในประเทศไทย จนมีขนาดใหญ่ถึงปานนี้เชียวหรือ
๒. จากคำให้การชาวกรุงเก่าที่ว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองโปรดให้สร้างนั้น คำให้การนี้ เกิดมีขึ้นก็เมื่อเสียกรุงแล้ว (หลัง พ.ศ. ๒๓๑๐) ไทยที่ตกเป็นเชลยในเวลานั้น อาจให้การไว้กับพม่า ในเรื่องที่ผ่านมาแล้วถึง ๗๗ ปี ผิดพลาดไปก็ได้ หรือบางทีจะให้การเสริมเกียรติพม่าเพื่อเอาใจในฐานะที่ตนตกเป็นเชลยก็ได้
๓. แกมป์เฟอร์รับฟังความจากคนไทยโดยผ่านล่ามหรือไม่ผ่านก็ตาม แต่คนไทยผู้นั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ในปี ๒๒๓๓ ก่อนคำให้การชาวกรุงเก่าอย่างน้อยถึง ๗๗ ปี
๔. ในเรื่องรูปทรงแบบอย่างของเจดีย์นั้น แกมป์เฟอร์ได้พรรณนาไว้ละเอียดลออถี่ถ้วนใกล้เคียงกับของจริงที่เป็นอยู่ปัจจุบันมาก ดังจะยกข้อเขียนนั้นมาลงไว้เป็นแนวทางพิจารณาดังนี้

“    เจดีย์นี้ดูรูปป้อมๆ แต่งดงามมาก สูงราว ๔๐ ฟาทมเศษ ตั้งอยู่บนฐานจตุรัส ยาวประมาณด้านละ ๑๔๐ เพซ สูงราว ๑๒ ฟาทม เรียวเป็นเถาขึ้นไป ทุกด้านย่อมุมเป็น ๓ แฉกขึ้นไป จนถึงยอด ดูเป็นรูปหลายเหลี่ยม มี ๔ ชั้นซ้อนกัน ชั้นบนสอบแคบลงทำให้ยอดชั้นบนลงมามีที่ว่าง เหลือเป็นระเบียงเดินได้รอบทุกชั้น เว้นแต่ชั้นล่างสุดทำเป็นรูปงอนอย่างประหลาด และที่ริมระเบียงกั้นเป็นลูกกรง ยกหัวเม็ดที่มุมอย่างดงาม ที่มุมตอนกลางของทุกๆ ชั้นทำเหมือนกันอย่างหน้าตึก ประกอบด้วยความงามและการประดับประดายิ่งกว่าที่อื่นโดยเฉพาะชั้นยอดตรงปลายเรียวแหลมนั้นงามเป็นพิเศษ ตรงกลางมีบันไดแล่นจากพื้นขึ้นไปยังชั้นบนซึ่งเป็นบานของโครงชั้นที่ ๒ มีชั้นบันได ๗๔ ชั้นด้วยกัน (ปัจจุบัน ๗๕ ชั้น) ชั้นหนึ่งสูง ๙ นิ้ว (ปัจจุบันวัดได้ ๘ นิ้ว) ยาว ๔ เพซ (ปัจจุบันวัด ได้ ๒.๑๐ เมตร) โครงชั้นที่ ๒ สร้างขึ้นบนพื้นชั้นบนของโครงแรก เป็นโครงสี่เหลี่ยมจตุรัสเหมือนกัน ยาวด้านละ ๓๖ เพซ เรียวชะลูดขึ้นไป ตรงกึ่งกลางฐานทำให้ดูงาม มีลูกกรงล้อมรอบเหมือนกัน ปล่อยที่ว่างบนพื้นฐานราวด้านละ ๕ เพซ บันไดสุดลงตรงระเบียงนี้ ปากทางประกอบด้วยเสางามขนาบทั้ง ๒ ข้าง ฐานหรือชั้นล่างของโครงชั้นที่ ๒ เป็นรูป ๘ เหลี่ยม ทางด้านใต้ ด้านตะวันออก ด้านตะวันตก และด้านเหนือยาวด้านละ ๑๑ เพช ส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันตก เฉียงเหนือยาวด้านละ ๑๒ เพซ มีหยักงอนเหมือนโครงเบื้องล่าง สูงราว ๒-๓ ฟาทม ถัดขึ้นไปไม่ต่างอะไรกับตึกยอดแหลม ซึ่งชั้นบนทำเป็นเสาสั้นๆ เว้นระยะห่างกันเล็กน้อยระหว่างแต่ละเสาปล่อยว่าง เสาเหล่านี้หนุนติดกับตัวเจดีย์สูงเรียวขึ้นไปเป็นที่สุดด้วยยอดแหลมยาว น่าพิศวงอย่างยิ่ง ที่ยอดแหลมนี้ ทนฟ้าทนลมเป็นเวลานานถึงเพียงนี้ได้อย่างไร นอกจากเจดีย์ที่กล่าวนี้แล้วก็มีโบสถ์ วิหาร การเปรียญของพระ ซึ่งกำแพงล้อมรอบก่อด้วยอิฐอย่างประณีต พระอุโบสถนั้นรูปร่างแปลก มีหลังคาหลายชั้นมีเสาจุนอยู่”

หลังจากที่หมอแกมป์เฟอร์ได้มาชม และพรรณนาลักษณะของเจดีย์องค์นี้แล้ว ได้พบหลักฐานจากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาพอสรุปได้ความว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๗ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โปรดให้ปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์และพระอารามวัดภูเขาทอง ความในพงศาวดารฉบับนั้นเขียนไว้ว่า

“ในปีนั้น (หมายถึงจุลศักราช ๑๑๐๑ หรือ พ.ศ. ๒๒๘๗) ทรงพระกรุณาโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์และพระอารามภูเขาทอง ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ “พิจารณาจากเอกสารที่ยกมา ๒ ประการข้างบนนี้ ประกอบกับแบบอย่างของพระเจดีย์ยุคต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทำให้เห็นว่าพระเจดีย์ องค์นี้เป็นเจดีย์แบบยุคที่ ๓ ของสมัยอยุธยาคือ นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลงมาจนถึงพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ. ๒๑๗๓ ถึง พ.ศ. ๒๒๗๕) ฉะนั้น หากเดิมเป็นเจดีย์ทรงไทย (พระราเมศวรโปรดให้สร้าง) แล้วพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองโปรดให้สร้างครอบไว้เป็นแบบมอญจริงแล้ว ข้อสันนิษฐานก็มีอยู่ว่า จะต้องมีการซ่อมแปลงแบบอย่างที่เป็นมอญมาเป็นแบบไทยอีกครั้งหนึ่งใน ระหว่างปี ๒๑๗๓ ลงมาซึ่งไม่เกิน พ.ศ. ๒๒๓๓ (ปีที่แกมป์เฟอร์มาสู่กรุงศรีอยุธยา) และที่พงศาวดาร ได้บันทึกไว้ว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์นั้น สันนิษฐานว่า อาจเป็นเพียงปฏิ-สังขรณ์บางส่วนที่ชำรุด และแก้ไขลวดลายเท่าที่เห็นว่างามเท่านั้นหาใช่เปลี่ยนแปลงแบบอย่างจากมอญมาเป็นไทยไม่ ข้อนี้มีเหตุผลสนับสนุนอยู่ก็คือ ระยะเวลาที่หมอแกมป์เฟอร์เข้ามาแล้วบรรยายภาพไว้ (คือ ปี ๒๒๓๓) นั้นแบบอย่างเจดีย์ก็เป็นทรงเหลี่ยม ต่อมาอีก ๕๔ ปี ที่พงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์คงไม่ชำรุดทรุดโทรมหักพังลงมาถึงรากฐานเป็นแน่ ประจักษ์พยานยังเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้อีกไม่น้อย ต่อจากนี้ยังไม่พบหลักฐานว่ามีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ครองกรุงศรีอยุธยา โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดหรือพระเจดีย์องค์นี้เลย ในส่วนที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศบูรณะ พระอาราม นอกจากองค์พระเจดีย์ประธานแล้ว อาจจะบูรณะพระอุโบสถและอื่นๆ อีก เป็นต้นว่าสร้างพระเจดีย์รายเพิ่มขึ้น เพราะลวดลายของพระเจดีย์รายบางองค์ส่อว่าทำอย่างประณีตบรรจง โดยเฉพาะลวดลายส่วนบนของเสาประตูซุ้มเข้าพระอุโบสถเป็นลายเฟื่องที่ประณีตบรรจงสวยงามมาก ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ หลังจากเสียกรุงเวลาล่วงมาอีกราว ๖๓ ปี สุนทรภู่ได้มานมัสการ เมื่อปีขาล เดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๗๓ ได้เขียนนิราศภูเขาทองบรรยายภาพวัดและพระเจดีย์ไว้ มีความดังต่อไปนี้

“ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ    เจริญรสธรรมาบูขาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง            ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น    เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได        คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด        ในจังหวัดวงแขวงกำเพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน        เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น        ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม
ประทักษิณจินตนาพยายาม        ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย    ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน
เป็นลมทักขิณาวัฏน่าอัศจรรย์    แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก
ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก    เผยอแยกยอดสุดก็หลุดหัก…

กลอนนิราศสุนทรภู่บรมครูกวีกลอน ได้ให้ภาพพจน์อย่างเห็นได้ชัด แสดงว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบอย่างหนึ่งอย่างใด จนเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางราชการได้บูรณะองค์พระเจดีย์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยต่อเติมปล้องไฉน ปลี และลูกแก้ว โดยเฉพาะลูกแก้วทำด้วยทองคำหนัก ๒,๕๐๐ กรัม ซึ่งอาจจะเป็นความหมายว่า ได้บูรณะขึ้นในคราวฉลองพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ข้อคิดและเหตุผลต่างๆ ดังที่ได้เสนอมานี้ อาจเป็นแนวทางที่จะได้ค้นคว้าศึกษาและสันนิษฐาน ในทางโบราณคดีต่อไป

ตลอดระยะเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวง โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
๑. หนังสือบรรยาย ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา เขียนไว้ว่า พระอารามอันเป็นหลักของพระนคร นอกกรุงเทพมหานครศรีอยุธยามีวัดภูเขาทองรวมอยู่ด้วย ดังจะขอคัดมาลงไว้ ดังนี้

“อนึ่ง เป็นหลักกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาราชธานีใหญ่นั้น คือพระมหาปราสาทสามองค์ กับพระมหาธาตุวัดพระราม ๑ วัดหน้าพระธาตุ ๑ วัดราชบูรณะ ๑ และพระมหาเจดีย์ฐานวัดสวนหลวง สพสวรรย์ ๑ วัดขุนเมืองใจ ๑ กับพระพุทธปฏิมากรวัดพระศรีสรรเพชญ ๑ วัดมงคลบพิตร ๑ และนอกกรุงเทพฯ นั้นคือ พระมหาเจดีย์ฐานวัดพระยาไทสูง ๒ เส้น ๖ วา ๑ วัดภูเขาทอง สูง ๒ เส้น ๕ วา กับประประธานวัดเจ้าพะแนงเชิงของพระเจ้าสามโปเตียน ๑”
๒. วัดนี้เป็นวัดที่พระราเมศวร พระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาทรงสร้าง
๓. ทำเนียบวัดในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าระบุไว้ว่า วัดนี้เป็นพระอารามหลวง รวมอยู่ด้วยเป็นอันดับที่ ๒๘

วัดนี้คงตกเป็นพระอารามราษฎร์หลังจากเสียกรุงไปแล้ว ต่อมาราว พ.ศ. ๒๔๗๑ วัดนี้ชำรุดทรุดโทรมจนไม่มีพระภิกษุพำนักอยู่ จึงกลายเป็นวัดร้างเรื่อยมา ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้บูรณะขึ้น จึงได้รับสถาปนาเป็นวัดมีพระสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง

มีเรื่องตามพงศาวดารอันเกี่ยวกับพระภิกบุวัดนี้ได้ช่วยเหลือในการป้องกันพระนครศรีอยุธยา อยู่เรื่องหนึ่ง คือเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๖ พระเจ้าหงสาวดีได้ยกพลมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหานาคซึ่งบวชอยู่วัดนี้ได้สึกออกมาช่วยเหลือตั้งค่ายกันทัพเรือ ตั้งค่ายแต่วัดภูเขาทองลงมาจนถึงวัดป่าพลู ได้สะสมกำลังญาติโยมทาสชายหญิงช่วยกันขุดคู คือขุดจากคลองวัดภูเขาทองลงมาข้างใต้เลี้ยวมาทางตะวันตก ผ่านวัดขุนญวน วัดป่าพลู ไปออกแม่น้ำใหญ่ คลองนี้ยังมีร่องรอยอยู่เรียกว่าคลองมหานาค

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด