นิราศเมืองเพชร

Socail Like & Share

ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย    ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง    จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา
ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก    สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา

ขณะนี้ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะวรรณคดีไทยได้มีผู้สนใจนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เรื่องนิราศเมืองเพชร ของท่านมหากวีเอกสุนทรภู่ ซึ่งสำนักวรรณกรรมแห่งวิทยาลัยครูเพชรบุรี ได้หยิบยกนิราศเมืองเพชรมาตีความใหม่ เน้นประวัติความเป็นมาของท่านสุนทรภู่ว่าน่าจะเป็นชาวเพชรบุรี มีเชื้อสายพราหมณ์ ระบุไว้อย่างชัดเจนในต้นฉบับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ข้อความในสมุดไทยบางฉบับไม่ตรงกัน โดยเฉพาะนิราศเมืองเพชรที่นำมาตีพิมพ์เผยแพร่และเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ ได้ขาดข้อความตอนสำคัญไปมาก จากการเปิดเผยของอาจารยเสยย์ เกิดเจริญ อดีตอธิการวิทยาลัยครูเพชรบุรี ร่วมกับ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว อาจารย์ภาษาไทย วิทยาลัยครูเพชรบุรี ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวรรณคดีไทย ทำให้ยุทธจักรวรรณกรรมต่างสนใจกันมากทีเดียว เพราะขณะนี้ก็ใกล้จะครบรอบวันเกิดของท่านในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙ รวม ๒๐๐ ปี พอดี จะมีการสมโภชมโหฬาร ทั้งนี้ก็เพราะองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ยกย่องพระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นกวีเอกของโลก ดังนั้นในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งการศึกษาวรรณกรรมของท่านสุนทรภู่ จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปใหม่ก็คงจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ก่อนที่จะวิพากษ์อะไรลงไปก็ขอให้ศึกษานิราศเมืองเพชรเสียก่อนตามต้นฉบับที่เรียนกันมา ว่านิราศเรื่องนี้ มีดีอย่างไร

สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรเป็นเรื่องสุดท้าย เป็นนิราศที่สมบูรณ์ที่สุดเทียบได้กับนิราศภูเขาทองทีเดียว สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรตอนที่ได้พึ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว นัยว่าโปรดให้ไปธุระเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กล่าวไว้ในนิราศพอเป็นเค้าๆ ว่า “อธิษฐานถึง คุณกรุณา ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ ถึงทางเขตของประสงค์คงอาสา”

เนื้อนิราศ

สุนทรภู่ออกเดินทางโดยเรือ ไปทางเดียวกับนายนรินทร์ธิเบศ (อิน) ผู้แต่งโคลงนิราศนรินทร์ ซึ่งผ่านคลองโคกขาม แล้วเขียนโคลงอย่างกำกวมไว้ว่า “โคกขามดอนโคกคล้าย สัณฐาน’’ เป็นเหตุให้ผู้อ่านตีความว่าโคกนี้มีความหมายไปในทางหยาบคาย ท่านสุนทรภู่คงจะเคยได้ทราบเรื่องนี้พอสมควร ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งสุนทรภู่ท่านชอบพูดอะไรให้ชัด ไม่กำกวม ท่านเลยแก้ต่างนายนรินทร์ เสียให้กระจ่างแจ้งจางปางว่า

“ถึงโคกขามคร้ามใจได้ไต่ถาม    โคกมะขามดอกมิใช่อะไรอื่น..”

ก็เห็นจะไม่ต้องตีความกันอีกนะครับ เพราะความหมายชัดในตัวอยู่แล้ว

สุนทรภู่เดินทางถึงเขาตะคริวสวาท แต่ชาวเพชรบุรีเรียก เขาตะคริว เฉยๆ ต่อมาภายหลัง เพี้ยนเป็น เขาตะเครา สุนทรภู่อธิษฐานต่อหน้าพระปฏิมาทองสำริดตอนหนึ่งว่า

“ให้ได้แหวนแทนทรงสักวงหนึ่ง    กับแพรซึ่งหอมห่มให้สมหวัง”

แล้วสุนทรภู่ก็เดินทางเข้าเขตเพชรบุรีพบชาวเมืองคนหนึ่งก็ไถ่ถามเขาว่า บ้านขุนแขวงนั้นยังไม่ไกลอยู่หรือ? ชายนั้นย้อนถามทันควันว่า

“จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา    ถ้าพานหนักพักหนึ่งก็ถึงดอก”

สุนทรภู่ได้ฟังคำตอบถึงกับสะดุ้งโหยงอุทานออกมาว่า “สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา” ซึ่งมีความหมายว่า ชาวเมืองเพชรชอบเล่นลิ้นตีฝีปากเก่งมากเอาการ

การเดินทางไปเมืองเพชรของสุนทรภู่นั้นปรากฎว่าเคยมาแล้วหนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รู้จักมักคุ้นรักใคร่กับชาวเมืองเพชรเป็นอย่างดี ดังนั้นในนิราศเมืองเพชรสุนทรภู่จึงพรรณนาถึงเรื่องราวในอดีตไว้มากทีเดียว พอมาเพชรบุรีคราวนี้ สุนทรภู่จึงได้ใปเที่ยวเยี่ยมเยียนแทบทุกคน คนแรกที่ควรกล่าวถึงก็คือขุนรองซึ่งสุนทรภู่เขียนเล่าไว้ว่า

“ถึงบ้านโพธิ์โอ้นึกให้ลึกซึ้ง            เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร
กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่        สถิตที่ทับนามาอาศัย
เป็นคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ    จึงทำให้หมองหมางเพราะขวางคอ
นึกชมบุญขุนรองร้องท่านแพ่ง    เขาจะแปลงปลูกทับกับเป็นหอ
จนผู้เฒ่าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ    เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอน”
เป็นต่างคนต่างแคล้วแล้วกันไป    แต่ปรางทองน้องหญิงยังจริงจิต
แสนสนิทนับเนื้อว่าเชื้อไข        จะแวะหาสารพัดยังขัดใน
ต้ออายใจจำลากลัวช้าการ”

ตรงนี้น่าจะเป็นเพราะสุนทรภู่ไปยุ่งกับนางนวลคนต่อมาที่สุนทรภู่มาอาศัยคือหม่อมบุนนาคท่านว่า

“ถึงต้นตาลนึกคุณหม่อมบุนนาค
เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังคระไลย
มาทำไร่ทำนาท่านการุญ”

เมื่อเรือมาจอดที่ท่าหน้าสะพาน มีศิษย์หาก็กุลีกุจอกันมารับสุนทรภู่ว่า

“ทั้งพี่ปรางนางใหญ่ได้ให้ผ้า        เมื่อครั้งมาสอนบุตรสุดสรรเสริญ
ได้ห่มหนาวคราวระกำจงจำเริญ..”

นอกจากนั้นสุนทรภู่ยังได้เขียนสัพยอกไว้เป็นความขันๆ อีกหลายราย
“ครั้นไปเยือนหลานบ้านวัดเกาะ ยังทวงเพลาะแพรดำที่ทำหาย ต้องให้สีทับทิมจึงยิ้มพราย” ต่อจากนั้นสุนทรภู่ก็ไปบ้านตาลเรียง

“แล้วไปบ้านตาลเรียงเคียงบ้านไร่
ที่นับในเนื้อช่วยเกื้อหนุน
พอวันนัดซัดน้ำเขาทำบุญ
เห็นคนวุ่นหยุดยั้งยืนรั้งรอ
เขาว่าน้องของเราเป็นเจ้าสาว
ไม่รู้ราวเรื่องเร่อมาเจอหอ
เหมือนจุดไต้ว่ายน้ำมาตำตอ
เสียแรงถ่อกายมาก็อาภัพ
จะแทนคุณบุญมาประสายาก
ต้องกระดากดังหนึ่งศรกระดอนกลับ
ได้ฝากแต่แพรผ้ากับป้าทรัพย์
ไว้สำรับหนึ่งนั้นทำขวัญน้อง
ไปปีหนึ่งครึ่งปีเมื่อมีลูก
จะมาผูกมือบ้างอย่าหมางหมอง”

อีกคนหนึ่งชื่อขำ สุนทรภู่ว่า

“แค้นแต่ขำกรรมอะไรที่ไหนน้อง
เฝ้าท้องท้องทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน
จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ

คนหนึ่งชื่อทองมี สุนทรภู่ว่า
เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก

ครั้นจะหักเล่าก็กลัวผัวจะหึง
ได้เคยเป็นเห็นฝีมือมักดื้อดึง
จะตูมตึงแตกช้ำระยำเย็น

คนหนึ่งที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาก คืออิน
ทีไหนไหนไมตรียังดีสิ้น

เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา
พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ
เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลางตอเป็นกอเตย
ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้น

ครั้นเมื่อสุนทรภู่ไปไหว้พระที่วัดพระนอน
มีผ้าของใครคนหนึ่งติดตัวไปด้วย ท่านเล่าว่า

ยังมีแต่แพรหอมถนอมชม
ได้คลี่ห่มอุระพระประธาน
อุทิศว่าผ้านี้ของพี่น้อง
ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัครสมาน
มาห่มพระจะได้ผลดลบันดาล
ได้พบพานภายหน้าสถาพร
ทั้งรูปงามทรามประโลมโฉมแฉล้ม
ขอให้แก้มสองข้างอย่างเกสร
ทั้งเนื้อหอมพร้อมสิ้นกลิ่นขจร
คนแสนงอนให้มาง้อมาขอชิม

ต่อมาจึงไปเขาหลวง หวนถึงความหลังว่า

คิดถึงปีเมื่อเป็นบ้าเคยมานอน
ชมลูกจันทน์กลั่นกลิ่นระรินรื่น
จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน
เห็นห้องหินศิลายิ่งอาวรณ์
เคยกล่าวกลอนเห่ชาโอ้ชาตรี
จนจวนรุ่งฝูงนกวิหคร้อง
เรไรซ้องเสียงจังหรีดดังดีดสี
คิดคะนึงถึงตัวกลัวต้องตี
ต่อช้าปีจึงค่อยวายฟายน้ำตา
โอ้ยามยากจากบุรินทร์มาถิ่นเถื่อน
ไม่มีเรือนแรมอยู่ในคูหา
เดือนสว่างต่างไต้เมื่อไสยา
แผ่นศิลาต่างฟูกกระดูกเย็น

หลังจากนั้นสุนทรภู่ไปวัดเขาบันไดอิฐและวัดมหาธาตุ แล้วจึงลงเรือกลับกรุงเทพฯ

ศิลปะการประพันธ์
ต่อไปนี้จะขอยกข้อความที่แสดงศิลปะการประพันธ์ของสุนทรภู่ในนิราศเรื่องนี้มาเสนอ

เรื่องแรกที่นักกลอนจะต้องสังเกต คือการเล่นกลอนอื่นอีกแห่งหนึ่ง สุนทรภู่ชอบเล่นนัก เพราะมีคำเช่นนี้เพียง ๔ คำเท่านั้น จีน-ปีน-ตีน และศีล (สิน) ท่านว่า

ต่างเลี้ยวเรือลงหน้าบ้านท่าจีน
เป็นประมงหลงละโมบด้วยโลภลาภ
ไม่กลัวบาปช่างนับแต่ทรัพย์สีน
ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลาตีน
ตะกายปีนเลนเล่นออกเป็นแปลง

อนึ่ง สุนทรภู่ไม่ยอมจนคำ คำเสียงแอะมีความหมายอยู่ไม่กี่คำ แต่ท่านก็หาสัมผัสได้อย่างดี คือ

“พอถึงตัวเต็มเบียดเขาเสียดแซะ
ทั้งยุงชุมรุมกัดปัดเปรียะประ
เสียงผัวะผะพึบพับปุบปับแปะ
ที่เข็นเคียงเรียงลำขยำแขยะ
มันเกาะแกะกันจริงหญิงกับชาย

ทีนี้ลองฟังกลอน อิ ของสุนทรภู่บ้าง

“เขาไปเที่ยวเกี่ยวข้าวอยู่เฝ้าห้อง    เหมือนพี่น้องนึกโอ้อโสหิ
เนื้อเอ๋ยเนื้อเหลือเจ็บจนเล็บลิ    ยังปริปริปริ่มพร้อยเป็นรอยราย”

ต่อไปนี้เราควรศึกษากลอนที่แสดงลักษณะของส์ตว์ต่างๆ ท่านพรรณนาได้ถูกต้องตามหลักชีววิทยาอยู่บ้างเหมือนกัน

เมื่อพรรณนาถึงปู ท่านว่า

โอ้เอ็นดูปูไม่มีซึ่งศีรษะ        เท้าระกะก้อมโกงโม่งโค่งขัน
ไม่มีเลือดเชือดฉะปะแต่มัน    เป็นเพศพันธุ์ไร้ผัวเพราะมัวเมา
แม้นเมียออกลอกคราบไปคาบเหยื่อ    เอามาเผื่อภรรยาเมตตาเขา
ระวังดูอยู่ประจำทุกค่ำเช้า    อุตส่าห์เฝ้าฟูมฟักเพราะรักเมีย
ถึงทีผัวตัวลอกพอออกคราบ        เมียมันคาบคีบเนื้อเป็นเหยื่อเสีย
จึงเกิดไข่ไร้ผัวเที่ยวยั้วเยี้ย    ยังแต่เมียเคลื่อนคล้อยขึ้นลอยแพ

ส่วนแมงดานั้น ท่านพรรณนาว่า

ให้สมีขี่หลังเที่ยวฝังแฝง        ตามหล้าแหล่งเลนเค็มเล็มภักษา
เขาจับเป็นเห็นสมเพชเวทนา    ทิ้งแมงตาผัวเสียเอาเมียไป
ฝ่ายตัวผู้อยู่เดียวเที่ยวไม่รอด    เหมือนตาบอดมิได้แจ้งตำแหน่งไหน
ต้องอดอยากจากเมียเสียน้ำใจ    ก็บรรลัยแลกลาดดาษดา
แม้เดี๋ยวนี้มีหญิงไม่ทิ้งผัว        ถึงรูปชั่วฉันจะรักให้หนักหนา
โอ้อาลัยใจนางอย่างแมงดา        แต่ดูหน้าในมนุบย์เห็นสุดแล

ตอนหนึ่งสุนทรภู่ชมนํ้าใจชาวเพชรบุรีไว้น่าฟังว่า

ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี
เห็นจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำตะโหนดประโยชน์ทรัพย์
มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร

เมื่อหวนคิดถึงเรื่องส่วนตัว สุนทรภู่ปรารภเรื่องรักไว้เป็นนัยว่าตนอาภัพ ท่านว่า

ถึงคลองเคยเตยแตกใบแฉกงาม
คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง
ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย
ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ

เมื่อถึงวัดบางนางนองก็ว่า
ถึงวัดบางนางนองแม้นน้องพี่    มาถึงนี่จะต้องนองน้ำตา
ตัวคนเดียวเที่ยวเล่นไม่เป็นห่วง    แต่เศร้าทรวงสุดหวังที่ฝั่งฝา
ที่เห็นเห็นเป็นแต่ปะได้ปละตา    ก็ลอบลักรักษาคิดอาลัย

สุนทรภู่วิจารณ์เรื่องความรักกับเงินไว้อย่างเผ็ดร้อน เมื่อตอนถึงบางหลวงท่านว่า

“ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
เมียขาวขาวสาวสวยล้วยรวยโป
หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก
ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเรียกหอห้อง
ต้องขัดข้องแข็งกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก
เอาเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก
ได้กินเล็กกินน้อยอร่อยใจ”

เรามีสำนวนอยู่บทหนึ่งว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” สุนทรภู่สงสัยว่าจะมาจากการทำนาเกลือ ท่านจึงว่า

ถึงบางขวางข้างซ้ายชายชาลา    ไขคงคาขังน้ำไว้ทำเกลือ
หรือบ้านนี้ที่เขาว่าตำราร่ำ        ช่างปั้นน้ำเป็นตัวน่ากลัวเหลือ

เมื่อถึงคลองคด ท่านก็เปรียบว่า

อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่        เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด
ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด        ถึงคลองคดก็ยังไม่เหมือนใจคน

หอยจุ๊บแจงถูกชาวประมงเรียก สุนทรภู่ได้คติว่า

เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสน่หา            แต่หากว่าพูดยากปากเป็นหอย
เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย    จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก

พอพบวังร้าง ท่านก็ปลงว่า

เดิมเป็นป่ามาเป็นวังตั้งประทับ    แล้วก็กลับเป็นป่าไม่ฝ่าฝืน
เหมือนมียศลดลงไม่คงคืน        นึกสะอื้นอายใจมาในเรือ

สุนทรภู่ นอกจากจะเขียนกลอนอย่างไพเราะเพราะพริ้งแล้ว ท่านยังสามารถบรรยายภูมิสถานบ้านเรือนของเพชรบุรีได้อย่างชัดเจน

“พอแดดร่มลมชายสบายจิต        เที่ยวชมทิศทุ่งทางกลางวิถี
ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี        เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์        มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร
พะโองยาวก้าวตีนปีนทะยาน        กระบอกตาลแขวนก้นคนละพวง”

เมื่อสังเกตการใช้ถ้อยคำและเสียงสัมผัสแล้ว จะเห็นได้ว่า ท่านสุนทรภู่ได้ตั้งใจแต่งนิราศเรื่องนี้เป็นพิเศษ ปรากฎว่าใช้ถ้อยคำที่มีเสียงสัมผัสต่างๆ กันถึง ๖๕ เสียง (นิราศภูเขาทองใช้เพียง ๓๐ เสียง) มากที่สุดในบรรดานิราศของท่าน นอกจากนั้นท่านยังได้ฝากกลอนสัมผัสบังคับที่มีคำรับส่งเพียง ๔ คำ ไว้ถึง ๓ ชุด อย่างที่ไม่ปรากฎในนิราศเรื่องอื่นๆ มาก่อนเลย

ชุดเสียง อีน (ยกมาบ้างแล้ว ขอเน้นอีกครั้ง)

“บ้างถอนเหล็กชักถ่อหัวร่อร่า        บ้างก็มาบ้างก็ไปทั้งใต้เหนือ
บ้างขับร้องซ้องสำเนียงจนเสียงเครือ    ต่างเลี้ยวเรือลงหน้าบ้านท่าจีน
เป็นประมงหลวงละโมบด้วยโลภลาภ    ไม่กลัวบาปเลยช่างนับแต่ทรัพย์สิน
ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลา ตีน        ตะกาย ปีน เลนเล่นออกเป็นแปลง”

ชุดเสียง เอ็ก
“ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก    ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
เมียขาวขาวสาวสวยล้วยรวยโป        หัวอกโอ้อายใจมิใช่ เล็ก
ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเอาหอห้อง    ต้องขัดข้องแข็งกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก
มีเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก        ถึงลวดเหล็กลนร้อนอ่อนละไม”

ชุดเสียง เอ็ม

“ตะบูนต้นผลห้อยย้อยระย้า        ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม
เป็นคราบน้ำคร่ำคร่าแตกตารุม    ดูกระปุ่มกระปิ่มตุ่มติ่ม เต็ม
ลำพูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม        มีขวากล้อมแหลมรายดังปลาย เข็ม
เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคล เค็ม    บ้างเก็บ เล็ม ลากก้ามครุ่มคร่ามครัน”

ดังได้กล่าวมาแล้วตอนต้นว่า สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่าน นับเป็นนิราศที่มีความไพเราะดีเด่นเรื่องหนึ่ง นักศึกษาวรรณคดีหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์ วอลเตอร์ เอฟ. เวลลา ก็ยกย่องว่า นิราศเมืองเพชร เป็นนิราศที่ดีเด่นที่สุดในบรรดานิราศของท่านสุนทรภู่ ไม่ใช่นิราศภูเขาทอง แม้แต่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว อาจารย์วิทยาลัยครูเพชรบุรี ก็ลงความเห็นว่า “ก็แหละบรรดานิราศของท่านสุนทรภู่นั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นเป็นเฉพาะตัวว่า นิราศเมืองเพชรเป็น นิราศดีที่สุดของท่านสุนทรภู่ ไม่ว่าจะพิจารณากันในด้านวรรณศิลป์และหรือสาระที่ท่านผู้แต่งได้เก็บบรรจุไว้ (และเมื่อได้สอบชำระนิราศเมืองเพชรเสร็จแล้ว จึงได้ทราบว่า นิราศเมืองเพชรเป็นนิราศที่ยาวที่สุดอีกด้วยคือยาวถึง ๔๙๘ คำกลอน)”

นิราศเรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าท่านสุนทรภู่มีความผูกพันอยู่กับเมืองเพชรบุรียิ่งกว่าเมืองใดๆ ที่ท่านเคยไป และได้แต่งเป็นนิราศไว้ กล่าวคือ ท่านได้เดินทางมาเมืองเพชรบุรีหลายคราว และมีอยู่คราวหนึ่งที่ท่านได้พาแม่จันทร์มาหลบซ่อนอยู่ในถํ้าเขาหลวง (วัดบุญทวี หรือวัดถํ้าแกลบ จังหวัดเพชรบุรี) เมื่อมาคราวแต่งนิราศ สุนทรภู่ได้ไปชมเขาหลวงอีกครั้งหนึ่ง ปรากฎว่าลายมือที่ท่านเคยเขียนไว้ที่ผนังถํ้าเขาหลวงเมื่อครั้งกระโน้นยังอยู่ และมีส่วนปลุกเร้าให้ท่านระลึกนึกถึงความหลัง

สุนทรภู่ได้ชื่อว่า เป็นกวีที่ได้บุกเบิกลีลากลอนสุภาพอย่างใหม่ (เคยเรียกกันในสมัยอยุธยาตอนปลายว่า เป็น กลบทมธุรสวาที) ขึ้นสู่ความนิยมอย่างสูงได้สำเร็จงดงาม และยังสามารถนำสิ่งที่พบเห็น หรือได้ยินได้ฟังมาแต่งเป็นกลอนได้อย่างสละสลวยน่าฟัง เช่นเมื่อท่านเดินทางมาถึงอ่าวยี่สาน จังหวัดเพชรบุรี เห็นหอยจุ๊บแจง ก็นำบทร้องของเด็กมาประสมประสานได้อย่างยอดเยี่ยมว่า

“โอ้เอ็นดูหนูน้อยน้อยร้องหอยเหาะ    ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา
ล้วนจุ๊บแจงแผลงฤทธิ์เขาปลิดมา        กวักตรงหน้าเรียกให้มันได้ยิน
จุ๊บแจงเอ๋ยเผยฝาหาข้าวเปียก        แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน
ทั้งงวงทั้งงางอกออกมากิน            ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย
เขาร่ำเรียกเพรียกหูได้ดูเล่น            มันอยากเป็นลูกเขยทำเงยหงาย
เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย        โอ้นึกอายจุ๊บแจงแกล้งสำออย
เหมือนจะรู้ในเล่ห์เสน่หา            แต่หากว่าพูดยากเป็นปากหอย
เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย    จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก”

เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๙ นายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมการฝึกหัดครูเป็นหัวหน้าคณะ นำข้าราชการ นักวิชาการของกรมการฝึกหัดครู สื่อมวลชน และผู้แทนกรมศิลปากร รวมทั้งหมดประมาณ ๕๐ คน ไปยังจังหวัดเพชรบุรีเพื่อร่วมการสัมมนาที่วิทยาลัยครูจังหวัดเพชรบุรีจัดขึ้น ในหัวข้อด้านประวัติกวีและประวัติวรรณคดีไทยที่เพิ่งค้นพบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับเรื่องต้นตระกูลของสุนทรภู่ว่า ปูย่าตายายของท่านเป็นชาวเมืองเพชรบุรี

การสัมมนามีขึ้นตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น.-๑๒.๐๐ น. มีท่านอธิบดีกรมการฝึกหัดครูเป็นประธาน สมาชิกผู้เข้าร่วมการสัมมนามีนักวิชาการกรมการฝึกหัดครู สื่อมวลชนทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกรมศิลปากร และผู้แทนส่วนราชการในจังหวัด วิทยากรผู้เสนอหลักฐานเรื่องนี้ คือ นายล้อม เพ็งแก้ว นักวิชาการด้านวรรณคดี อาจารย์วิทยาลัยครูจังหวัดเพชรบุรี สาระสำคัญในการสัมมนามีดังนี้

หลักฐานเกี่ยวกับกำเนิดและตระกูลวงศ์ของสุนทรภู่เท่าที่ปรากฎอยู่ในทุกวันนี้ทราบกันแต่เพียงว่า สุนทรภู่เกิดที่พระราชวังหลัง ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราชและสถานีรถไฟบางกอกน้อย เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ไม่มีหลักฐานใดๆ บอกถึงชื่อของบิดามารดา เพียงแต่ทราบกันว่าบิดาของสุนทรภู่หย่าขาดจากภริยาตั้งแต่สุนทรภู่แรกเกิดมา แล้วไปบวชอยู่ที่บ้านกรํ่า เมืองแกลง จนตลอดชีวิต และมารดาของสุนทรกู่ได้รับหน้าที่เป็นพระนมของพระธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง ทั้งสุนทรภู่ก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่ตลอดวัยเด็กและวัยหนุ่ม จนกระทั่งกรมพระราชวังหลังทิวงคต หลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับต้นตระกูลปู่ย่าตายายของสุนทรภู่ไม่เคยมีกล่าวถึง ไม่ว่าจากหลักฐานผลงานที่ท่านแต่งไว้เองหรือข้อมูลจากที่อื่น

นายล้อม เพ็งแก้วชี้แจงว่า ตัวเขาและผู้ร่วมงานตั้งใจจะชำระนิราศเมืองเพชรให้สมบูรณ์ เพื่อพิมพ์ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีของสุนทรภู่ จึงได้ค้นคว้าดูว่า นอกจากนิราศเมืองเพชรฉบับพิมพ์ ซึ่งกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ไว้หลายครั้งแล้ว ยังมีฉบับตัวเขียนอยู่อีกกี่ฉบับ ก็พบว่ามีต้นฉบับตัวเขียนเป็นสมุดไทยเรื่องนิราศเมืองเพชรอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ถึง ๙ ฉบับ อันทางราชการและเอกชนอื่นๆ ไม่เคยตรวจสอบเพื่อเผยแพร่มาก่อน นายล้อม เพ็งแก้ว จึงได้ขอถ่ายไมโครฟิล์ม ไปตรวจสอบโดยละเอียดทั้ง ๙ ฉบับ ๗ ฉบับมีข้อความผิดเพี้ยนกันกับฉบับพิมพ์แพร่หลายไปบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีอยู่ ๒ ฉบับ ซึ่งฉบับหนึ่งเป็นของหอสมุดมาแต่เดิม อีกฉบับหนึ่ง ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๙ มีเนื้อความลางแห่งแปลกไปกว่าฉบับอื่นๆ และที่ผิดแปลกไปนั้นเป็นเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประวัติสุนทรภู่และเมืองเพชรบุรีทั้งสิ้น วิทยากรได้นำเสนอเนื้อ ความของนิราศเพชรบุรีที่ผิดแปลกไปนี้ เพราะฉบับพิมพ์ตัดทิ้งไปซึ่งอาจจะเกิดจากความบกพร่องของการพิมพ์หรือผู้ตรวจสอบชำระก็ได้ ข้อความบทกลอนในฉบับเขียน ซึ่งในฉบับพิมพ์ขาดไปตอนที่ยืนยัน เรื่องต้นตระกูลของสุนทรภู่ไว้ด้วย อย่างไรก็ดี ทางวิทยาลัยครูเพชรบุรีได้จัดสัมมนาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อ วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๙ ซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติเพราะต้องศึกษาอีกมาก แต่อาจเป็นไปได้ว่าญาติของท่าน สุนทรภู่อาจอยู่เพชรบุรีอีกแห่งหนึ่ง นอกจากเมืองแกลง จังหวัดระยอง ก็ได้?

สถานที่กล่าวถึงในนิราศเมืองเพชร

วัดหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม)    บางสะใภ้
วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม)    แม่กลอง
วัดสังข์กระจาย            คลองช่อง
คลองบางลำเจียก        ยี่สาน
คลองเตย                บ้านสองพี่น้อง
บางหลวง                ปากตะบูน
วัดบางนางชี (วัดนางชี)    คลองบางตะบูนใหญ่
วัดบางนางนอง (วัดนางนอง)    วัดร้าง (พระเจ้าเสือ)
บางหว้า                บางหอ
วัดจอมทอง (วัดราชโอรสาราม)    เขาตะคริวสวาท (เขาตะเครา)
บางประทุน            บ้านบางครก
คลองขวาง                บ้านใหม่
บางระแนะ                บางกุ่ม
วัดไทร                บ้านโพธิ์
บางบอน            บ้านหม่อมบุนนาค
วัดกก            วัดกุฎีทอง
บ้านศีรษะกระบือ (หัวกระบือ)    บางคดอ้อย
บ้านศีรษะละหาน (หัวละหาน)    พริบพรี (เพชรบุรี)
โคกขาม            วัดพลับพลาชัย
ย่านซื่อ            บ้านตาลเรียง
มหาชัย            บ้านไร่
ท่าแร้ง            วัดเขาบันไดอิฐ
บางขวาง            เขาหลวง (วัดบุญทวี-ถํ้าแกลบ)
คลองสามสิบสอง    วัดมหาธาตุ เพชรบุรี
คลองสุนัขหอน

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด