นิราศอิเหนา

Socail Like & Share

จะหักอื่นขืนหักก็จักได้            หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก        แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ
จะสร้างพรตอดรักหักสวาท        เผื่อจะขาดข้อคิดพิสมัย
แม้นน้องนุชบุษบานิคาลัย        จะได้ไปสู่สวรรค์ชั้นโสฬส
จงหยุดทัพยับยั้งตั้งอาศรม        รักษาพรหมจรรย์ด้วยกันหมด
ปะตาปาอายันอยู่บรรพต        อุตส่าห์อดอาลัยก็ไม่คลาย
ภาวนาว่าจะตั้งปลงสังเวช        ก็หลับเนตรเห็นคู่ไม่รู้หาย
จะสวดมนต์ต้นถูกถึงผูกปลาย    ก็กลับกลายเรื่องราวเป็นกล่าวกลอน

ชีวิตในระหว่างสมณเพศของอมตกวีไม่ใคร่อยู่กับที่ จากวัดราชบูรณะไปอยู่วัดเทพธิดา จากวัดเทพธิดาไปอยู่วัดพระเชตุพน และสุดท้ายที่ไปจำพรรษาคือวัดมหาธาตุ นัยว่าเวลานั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณลาผนวชจากวัดพระเชตุพนแล้ว แต่ยังทรงอุปถัมภ์สุนทรกู่อยู่ จึงชวนให้มาจำพรรษาที่วัดมหาธาตุซึ่งอยู่ใกล้วัดของพระองค์ท่านเพื่อจะได้สะดวกในการถวายภัตตาหาร และการติดต่อส่วนพระองค์ เช่น เวลาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจะไปทรงเล่นสักวาที่ใด ก็มักจะนิมนต์พระสุนทรภู่ไปด้วยสำหรับเป็นผู้บอกสักวาในเรือของท่าน เพราะสุนทรภู่มีชื่อเสียงดีในเชิงสักวามาแล้วตั้งแต่รุ่นหนุ่มในที่สุดสุนทรภู่ก็สึก รวมเวลาบวชอยู่ ๗-๘ พรรษา ปีที่สึกก็ควรจะเป็นราว พ.ศ. ๒๓๗๖-๗ อายุประมาณ ๔๗-๔๘ ปี ในระหว่างสึกเป็นฆราวาสก็ยังคงอาศัยพึ่งพระคุณพระองค์เจ้าลักขณานุคุณอยู่อย่างปกติ ลูกอยู่วังหลัง เมียไม่มีเป็นเนื้อเป็นตัว

งานประพันธ์ของสุนทรภู่ในระยะพึ่งพระคุณพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ คือ นิราศอิเหนา กับ พระอภัยมณี (ต่อเรื่อยมาจากที่แต่งในคุกเมื่อรัชกาลที่ ๒) นิราศอิเหนาแต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ

นิราศอิเหนาผิดกับนิราศอื่นๆ ของสุนทรภู่ทั้งหมด สุนทรภู่งดพูดถึงตัวเองชั่วคราว มอบบทบาทแห่งความพิศวาสให้แก่อิเหนา ดาราเอกของวรรณกรรมชิ้นสำคัญยิ่งแห่งยุครัตนโกสินทร์ เป็นนิราศแห่งความคิดคำนึงของสุนทรภู่ซึ่งอาศัยอิทธิพลแห่งวรรณคดีจูงใจให้เขียนโดยแท้ เป็นการเขียนเพื่อหย่อนอารมณ์ตามวิสัย “นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ”

เนื้อนิราศ
ผู้อ่านควรศึกษาพระราชนิพนธ์อิเหนาในรัชกาลที่ ๒ ประกอบเสียก่อน เนื้อนิราศมีว่า บุษบา นางเอกของเรื่องถูกลมหอบไป อิเหนาเที่ยวตามพร้อมทั้งกองทัพ รำพึงรำพันด้วยความเสน่หาอาลัย เที่ยวติดตามตลอดไปจนประเทศใกล้เคียงชวา เช่น มะละกา สิ้นเวลา ๗ เดือนก็ไม่พบ จึงสร้างอาศรม บวชอยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่ง

ศิลปะการประพันธ์
ด้วยเหตุที่เรื่องนี้เป็นนิราศแห่งความเพ้อฝันอย่างเสรี สุนทรภู่จึงบรรจงศิลปะของท่านอย่างงดงาม กลอนสัมผัสดี ใจความเด่นชัดทุกตอน เต็มไปด้วยความพร่ำเพ้อรำพันอย่างไพเราะจับใจ

พูดถึงกระบวนกลอน ผู้อ่านจะชมชื่นอย่างเพลิดเพลิน เช่น

“โอ้รินรินกลิ่นนวลยังหวนหอม    เคยถนอมแนบทรวงดวงสมร
ยังรื่นรื่นชื่นใจอาลัยวรณ์        สะอืนอ้อนอารมณ์ระทมทวี…”

“โอ้อกเอ๋ยเคยอุ่นละมุนละม่อม        เคยโอบอ้อมอ่อนตามไม่ห้ามหวง
ยังเคลิบเคล้นเช่นปทุมกระพุ่มพวง    เคยแนบทรวงไสยาสน์ไม่คลาคคลา”

เป็นกลอนเบาๆ ฟังง่ายระรื่นหู แต่ซาบซึ้งตรึงใจยิ่งนัก เต็มไปด้วยสัมผัสในซึ่งช่วยให้กลอนชูรสขึ้นอย่างถึงใจ

บทพรรณนานั้นแทนที่จะพูดถึงตำบลต่างๆ ที่ผ่านไป ศิลปินฝีปากเอกได้ทำให้ต่างกับเรื่องอื่นโดยหันมาพูดถึงเครื่องใช้ต่างๆ ของบุษบา ทุกสิ่งล้วนเป็นเครองกระตุ้นเสน่หาอาลัย

“เห็นแท่นทองที่ประทมภิรมย์สงวน    ไม่เห็นนุชสุดจะทรงพระองค์ฃซวน… ’’

“บนยี่ภู่ปูเปล่าเศร้าสรด        ระทวยทดทอดทบซบกันแสง… ”

“เห็นน้ำพุดุดั้นตรงบัลลังก์        เคยมานั่งสรงชลที่บนเตียง
เจ้าสรงด้วยช่วยพี่สีขนอง        แต่น้ำต้องถูกหนีดก็หวีดเสียง…”

ช่างเต็มไปด้วยความยวนยีระคนความเศร้า แต่เป็นเศร้าเพราะรักจึงดูดดื่มยิ่งนัก จะขอยกบทบรรยายลักษณะชมธรรมชาติที่มีความดีเด่นให้ชมดังนี้

“คิดถึงนุชบุษบาแม้นมาเห็น            จะลงเล่นลำธารละหานหิน

ฝูงปลาทองท่องไล่เล็มไคลกิน        กระดิกลิ้นงดงามตามกระบวน
ปลาเนื้ออ่อนอ่อนกายขึ้นว่ายเคลื่อน    ไม่อ่อนเหมือนเนื้อน้องประคองสงวน
ปลานวลจันทร์นั้นก็งามแต่นามนวล    ไม่งามชวนชื่นเช่นระเด่นดวง…”

นอกจากนี้ท่านจะได้ฟังธรรมชาติอื่นๆ อย่างไพเราะ
พูดถึงอารมณ์สวาทก็ดีดดิ้น ดุดัน และท้าทาย

“ดูเวหาว่าแสนแค้นพระพาย        ไม่พาสายสวาทคืนมาชื่นใจ…”

“ต้องพลัดพรากเพราะว่าลมทำข่มเหง     แม้นพบเห็นเป็นต้องไม่กลัวเกรง
จะรำเพลงกริชรานสังหารลม”
แล้วครวญอย่างอ่อนใจ

“โอ้นกเอ๋ยเคยอยู่มาสู่ถิ่น    แต่ยุพินลิบลับไม่กลับหลัง
ครั้นแลดูสุริย์แสงก็แดงดัง    หนึ่งน้ำครั่งคล้ำฟ้านภาลัย
เหมือนครั้งนี้พี่มาโศกแสนเทวษ    ชลเนตรแดงเดือดดังเลือดไหล
โอ้ตะวันครั้นจะลบภพไตร        ก็อาลัยโลกยั้งหยุดรั้งรอ
ประหลาดนักรักเอ๋ยมาเลยลับ    เหมือนเพลิงดับเด็ดเดียว ไปเจียวหนอ… ”

สุนทรภู่บอกบทให้อิเหนาเทิดบุษบายิ่งกว่าหญิงใดๆ ในพิภพ “ระตูต่างส่งธิดามาถวาย ไม่ไยดีอีนังซังกะตาย เหมือนแก้วหายได้ปัด ไม่ทัดเทียม”
แล้วปรารภว่า

“แม้นมิตามความรักเฝ้าชักชวน        ให้ปั่นป่วนไปตามเพราะความรัก
จะหักอื่นขืนหักก็จักได้                หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก            แต่ตัดรักนี้ม่าดประหลาดใจ”

แม้เมื่อบวชแล้วก็หักสวาทไม่ได้ ดังว่า

“ภาวนาว่าจะตั้งปลงสังเวช        ก็หลับเนตรเห็นคู่ไม่รู้หาย
จะสวดมนต์ต้นถูกไปผูกปลาย    ก็กลับกลายเรื่องราวเป็นกล่าวกลอน”

ความเรื่องบวชแล้วคิดถึงผู้หญิงดังนี้ก็ไม่ผิดไปจากชีวประวัติของสุนทรภู่เอง ในที่สุดอิเหนาก็อธิษฐาน

“จะเกิดไหนในจังหวัดปฐพี            ให้เหมือนปี่กับขลุ่ยต้องทำนองกัน
เป็นจีนจามพราหมณ์ฝรั่งและอังกฤษ    ให้สนิทเสน่หาตุนาหงัน
แม้นเป็นไทยให้เป็นวงศ์ร่วมพงศ์พันธุ์    พอโสกันต์ให้ได้อยู่เป็นคู่ครอง”

นิราศอิเหนาสั้นรองจากนิราศภูเขาทอง แต่เป็นเรื่องที่แต่งอย่างอารมณ์เสรีประกอบทั้งผู้แต่งมีความชำนิชำนาญจัดเจนยิ่งถึงขีด “สุด” แล้ว บวชแล้ว มีเมียแล้ว และร้างแล้ว เห็นโลกชัดเจนหมด ศิลปะในนิราศนี้จึงนับว่าดี ข้าพเจ้าสมัครจะให้เป็นที่ ๓ ในนิราศสุนทรภู่ทั้งหมด (นิราศเมืองเพชรเป็นที่ ๒ นิราศภูเขาทองเป็นที่ ๑)

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด