สถานที่กล่าวถึงในนิราศวัดเจ้าฟ้า

Socail Like & Share

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เดิมมีชื่อว่า วัดโพธาราม เรียกกันสั้นๆ ว่า วัดโพธิ์ท่าเตียน

วัดระฆังโฆสิตาราม
ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ    แทบพระบาทบุษบงองค์อัปสร
ไม่ทันลับกัปกัลป์พุทธันดร    พระด่วนจรสู่สวรรคครรไล
ละสมบัติขัตติยาทั้งข้าบาท    โอ้อนาถนึกน่าน้ำตาไหล
เป็นสูญลับนับปีแต่นี้ไป    เหลืออาลัยแล้วที่พระมีคุณ

วัดระฆังโฆสิตาราม ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามท่าช้างวังหน้า เดิมชื่อวัดบางว้าใหญ่ หรือบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณ สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีทรงปฏิสังขรณ์ ถึงรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทพสุดาวดี ทรงสร้างเพิ่มเติมมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามใหม่ว่า วัดระฆังโฆสิตาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกบ้าง

อนึ่ง คำว่า “บุษบงองค์อัปสร” ในกลอนข้างต้นนี้ หมายถึง เจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ซึ่งได้รับพระราชทานเพลิงศพใหม่ๆ พอสุนทรภู่ผ่านวัดระฆังโฆสิตารามก็กราบพระธาตุของเจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ผู้มีพระคุณ พรรณนาไว้ในนิราศวัดเจ้าฟ้าว่า

‘‘เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูนทราย    แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน
ทั้งหนูตาบกราบไหว้ร้องไห้ว่า    จะคมลาลับไปในไพรสัณฑ์
เคยเวียนเฝ้าเกล้าจุกให้ทุกวัน    สารพันพึ่งพา ไม่อนาทร’’

คลองบางกอกน้อย
ถึงปากง่ามนามบอก บางกอกน้อย    ยิ่งเศร้าสร้อยทรวงน้องดังต้องศร
เหมือนน้อยทรัพย์ลับหน้านิราจร        ไปแรมรอนราวไพรใจรัญจวน
เคยชมเมืองเรืองระยับจะลับแล้ว        ไปชมแถวทุ่งนาล้วนป่าสวน
เคยดูดีพี่ป้าหน้านวลนวล            จะว่างเว้นเห็นล้วนแต่มอมแมม
เคยชมชื่นรื่นรสแป้งสดสะอาด        จะชมหาดเห็นแต่จอกกับดอกแขม
โอ้ใจจืดมืดเหมือนเมื่อเดือนแรม        ไม่เยื้อนแย้มกลีบกลิ่นให้ดิ้นโดย

บางกอกน้อย เป็นชื่อคลองที่แยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกเหนือสถานีรถไฟธนบุรี ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เดิมเป็นลำแม่นํ้าเจ้าพระยา เริ่มจากปากคลองบางกอกน้อย ผ่านปากคลอง บางระมาด บางพรม บางเชือกหนัง บางจาก บางแวก ภาษีเจริญ ไปออกคลองบางกอกใหญ่

สมเด็จพระไชยราชาโปรดให้ขุดคลองลัดจากปากคลองบางกอกน้อยมาถึงปากคลองบางใหญ่ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๐ เมื่อขุดคลองลัดตอนนี้เสร็จแล้ว กระแสนํ้าก็เริ่มเปลี่ยนทางเดินไหลลงคลองลัดที่ชุดใหม่ ทำให้แม่นํ้าเดิมตื้นเขินกลายเป็นคลองไปในที่สุด คลองขุดก็เริ่มกว้างขึ้น กลายเป็นแม่นํ้าเจ้าพระยาดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

บางขุนพรหม
ถึงบางพรหม หรหมมีอยู่สี่พักตร์    เห็นลิบลับแลชวนให้หวนโหย
เพราะห่วงพุ่มภุมรินไม่บินโบย    ระร่วงโรยรสสิ้นกลิ่นผกา
โอ้คิดไปใจหายเสียดายรัก        เหมือนเกรียกจักแจกซีกกระผีกผม
จึงเจ็บอกฟกช้ำระกำตรม        เพราะสิ้นลมล่อลวงจะช่วงใช้

บ้านบางขุนพรหม อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีวัดใหม่อมตรส หรือ วัดบางขุนพรหม เป็นสำคัญ

บางจาก
ถึงบางจากน้องไม่มีที่จะจาก    โอ้วิบากกรรมสร้างแต่ปางไหน
เผอิญหญิงชิงชังน่าคลั่งใจ        จะรักใคร่เขาไม่มีปรานีเลย

บ้านบางจาก อยู่ใต้วัดภคินีนาถ แขวงบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

บางพลู
ถึงบางพลูพลูใบใส่ตะบะ    ถวายพระเพราะกำพร้านิจจาเอ๋ย
แม้นมีใครใจบุญที่คุ้นเคย    จะได้เชยพลูจีบหมากดิบเจียม
นี่จนใจได้แต่ลมมาชมเล่น    เปรียบเหมือนเช่นฉากฉายพอหายเหียน
แม้นเห็นรักจักได้ตามด้วยความเพียร    ฉีกทุเรียนหนามหนักคูสักคราว

บางพลู คือ บ้านบางพลู อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือสะพานกรุงธนบุรี ขึ้นตำบลบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีคลองบางพลูกับวัดบางพลูเป็นสำคัญ

บางอ้อ
ถึงบางอ้อคิดจะใคร่ได้ไม้อ้อ        ทำแพนซอเสียงแจ๋วเที่ยวแอ่วสาว
แต่ยังไม่เคยเชยโฉมประโลมลาว    สุดจะกล่าวกล่อมปลอบให้ชอบใจ

บ้านบางอ้อ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางอ้อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

บางซื่อ
ถึงบางซื่อ ชื่อบางนี้สุจริต    เหมือนชื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร
มิตรจิตขอให้มิตรใจจร        ใจสมรขอให้ซื่อเหมือนชื่อนาง

บ้านบางซื่อ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เดิมเคยเป็นอำเภอ ต่อมาภายหลังยุบรวมกับอำเภอดุสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ มีคลองบางซื่อซึ่งแยกจากคลองวังหินไหลไปทางทิศตะวันตกไปร่วมกับแม่นํ้าเจ้าพระยาที่ตำบลบางซื่อ คลองนี้กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๘ กิโลเมตร มีนํ้าตลอดทั้งปี มีประตูระบายนํ้าอยู่ห่างจากสถานีรถไฟบางซื่อ ๓ กิโลเมตร

บางซ่อน
ถังบางซ่อน ซ่อนเงื่อนไม่เยื้อนแย้ม    ถึงหนามแหลมเหลือจะบ่งที่ตรงไหน

บ้านบางซ่อน อยู่ทางฝั่งตะวันออกแม่นํ้าเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระราม ๖ ขึ้นตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีคลองบางซ่อน ซึ่งแยกจากคลองเปรมประชากร ในตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ไหลไปทางทิศตะวันตก ผ่านคลองประปาไปออกแม่นํ้าเจ้าพระยาที่บริเวณใต้สะพานพระราม ๖ ข้างวัดสร้อยทอง คลองนี้กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๓ กิโลเมตร มีนํ้าตลอดทั้งปี

บางเขน
โอ้บางเขน เวรสร้างไว้ปางไหน    จึงเข็ญใจจนไม่มีที่จะรัก
เมื่อชาติหน้ามาเกิดในเลิศโลก    ประสิทธิโชคชอบฤทัยทั้งไตรจักร
กระจ้อยร่อยกลอยใจวิไลลักษณ์    ให้สาวรักสาวกอดตลอดไป

บ้านบางเขน อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางเขนเก่าเป็นสำคัญ คลองนี้ตั้งต้นจากคลองบางบัว ตำบลอนุสาวรีย์บางเขน เขตบางเขน มาออกแม่นํ้าเจ้าพระยาที่วัดปากนํ้าบางเขน คลองนี้ยาว ๑๐.๕ กิโลเมตร ตอนปลายคลอง แยกออกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาเป็น ๒ ทาง ทางข้างเหนืออยู่ในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เรียกว่า คลองบางเขนเก่า ทางข้างใต้อยู่ในเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เรียกว่า คลองบางเขนใหญ่

ตลาดแก้ว
ตลาดแก้วแล้วแต่ล้วนสวนสล้าง    เป็นชื่ออ้างออกนามตามวิสัย
แม้นขายแก้วแววฟ้าที่อาลัย        จะซื้อใส่บนสำลีประชีรอง
ประดับเรือนเหมือนหนึ่งในเพชรสำเร็จแล้ว    ถนอมแก้วกลอยใจมิให้หมอง
ไม่เหมือนนึกตรึกตราน้ำตานอง        เห็นแต่น้องหนูแนบแอบอุรา

บ้านตลาดแก้ว ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

วัดเขียน
ถึงวัดเขียน เหมือนหนึ่งเพียรเขียนอักษร        กลกลอนกล่าวกล่อมถนอมโฉม
เดชะชักรักลอบปลอบประโลม            ขอให้โน้มน้อมจิตสนิทใน

วัดเขียน อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ใต้คลองบางสีทอง ขึ้นตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนบุรี

บางสีทอง
ถึงคลองบางขวางบางสีทองมองเขม้น    ไม่มองเห็นสีทองที่ผ่องใส
แม้นทองคำธรรมดาจะพาไป        นี่มิใช่สีทองเป็นคลองบาง

บ้านบางสีทอง อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ขึ้นตำบลบางสีทอง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางสีทอง ซึ่งแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยา ที่ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ไหลไปบรรจบคลองบางกอกน้อยเหนือที่ว่าการอำเภอบางกรวย ตรงข้ามวัดตะโหนด

บางแวก
พอลมโบกโศกสวนมาหวนหอม        เหมือนโศกตรอมตรึกตรองมาหมองหมาง
ถึงบางแวกแยกคลองเป็นสองทาง        เหมือนจืดจางใจแยกไปแตกกัน

บางแวก ที่กล่าวถึงในนิราศวัดเจ้าฟ้านี้ เข้าใจว่าอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อาจจะเป็นคลองบางใหญ่ที่สุนทรภู่เรียกว่า บางแวกก็ได้

ตลาดขวัญ
ตลาดขวัญ ขวัญฉันนี้ขวัญหาย        ใครเข้าขายขวัญหรือจะซื้อขวัญ
แม้นขวัญฟ้าหน้าอ่อนเหมือนท่อนจันทน์    จะรับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวาง

บ้านตลาดขวัญ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

บางขวาง
ถึงบางขวาง ขวางอื่นสักหมื่นแสน        ถึงต่างแดนดงดอนสิงขรขวาง
จะตามไปให้ถึงห้องประคองคาง        แต่ขัดขวางขวัญความขามระคาย

บ้านบางขวาง อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีวัดบางขวาง เป็นสำคัญ

บางธรณี
มาถึง บางธรณี ทวีโศก        ยามวิโยคยากใจให้สะอื้น
โอ้สุราหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น        ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้    ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ    เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา
ถึงบ้านบางธรณีแล้วพี่จ๋า        แผ่นพสุธาก็ไม่ไร้ไม้มะเขือ
เขากินหมูหนูพัดจะกัดเกลือ        ไม่ถ่อเรือแหหาปลาตำแบ

บ้านบางธรณี อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางธรณีเป็นสำคัญ คลองนี้แยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยา เหนือโรงงานทอกระสอบ ของกระทรวงอุตสาหกรรม คลองนี้ยาว ๒.๖ กิโลเมตร มีนํ้าตลอดทั้งปี

ปากเกร็ด
ถึงปากเกร็ดเตร็ดเตร่มาเร่ร่อน        เที่ยวสัญจรตามระลอกเหมือนจอกแหน
มาถึงเกร็ดเขตมอญสลอนแล        ลูกอ่อนแอ้อุ้มจูงพะรุงพะรัง

บ้านปากเกร็ด ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

บ้านลาว
ถึงบ้านลาว เห็นแต่ลาวพวกชาวบ้าน    ล้วนหูยานอย่างบ่วงเหมือนห่วงหวาย
ไม่เหมือมลาวชาวกรุงที่นุ่งลาย    ล้วนกรีดกรายหยิบหย่งทรงสำอาง

บ้านลาว อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

บางพูด
ถึงบางพูด พูดมากคนปากหมด        มีแต่ปดเป็นอันมากเขาถากถาง
ที่พูดน้อยคอยประคิ่นลิ้นลูกคาง        เหมือนหญิงช่างฉอเลาะปะเหลาะชาย

บ้านบางพูด ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

บางกระไน (บางตะไนย์)
ถึง บางกระไน ได้เห็นหน้าบรรดาพี่    พวกนารีเรืออ้อยเที่ยวลอยขาย
ดูจริตติดจะงอนเป็นมอญกลาย        ล้วนแต่งกายกันไรเหมือนไทยทำ

บ้านบางกระไน ปัจจุบันเขียนเป็น “บางตะไนย์” อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางคูวัด อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีคลองบางตะไนย์และวัดบางตะไนย์ เป็นสำคัญ

วัดเทียนถวาย
ถึงไผ่รอบขอบเขื่อนดูเหมือนเขียน        ชื่อวัดเทียนถวายอยู่ฝ่ายขวา

วัดเทียนถวาย อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บ้านใหม่
ข้างซ้ายมือขึ้นบ้านใหม่ทำไร่นา        นางแม่ค้าขายเต่าสาวทึมทึก

บ้านใหม่ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บางทะแยง
ถึงย่านขวางบางทะแยงเป็นแขวงทุ่ง    ดูเวิ้งวุ้งหว่างละแวกล้วนแฝกฝือ
เห็นไรไรไม้พุ่มครุมครุมเครือ            เหมือนรูปเสือสิงห์โตรูปโคควาย
ท่านบิดรสอนหนูให้รู้ว่า            มันผินหน้าออกนั้นกันฉิบหาย
แม้นปากมันผันเข้าข้างเจ้านาย        จะล้มตายพรายพลัดเร่งตัดรอน

บ้านบางทะแยง ปัจจุบันยังหาไม่พบ เข้าใจว่าอยู่ในอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บางหลวง
เลยบางหลวง ล่วงทางมากลางแล้ว

บ้านบางหลวง ตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บ้านกระแชง
เลยบางหลวงล่วงทางมากลางแจ้ง    ถึงบ้านกระแชงหุงจันหันฉันผักโหม
ยังถือมั่นขันตีนี้ประโลม            ถึงรูปโฉมพาหลงไม่งงงวย

บ้านกระแชง อยู่ในท้องที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

สามโคก
พอเลยนาคบากข้ามถึง สามโคก    เป็นคำโลกสมมุติสุดวิสัย
ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้    ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์
หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง    ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ
พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ        ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง
จึงที่นี่มีนามชื่อสามโคก        เป็นคำโลกสมมุติสุดแถลง
ครั้ง พระโกศ โปรดปรานประทานแปลง        ที่ตำแหน่งมอญมาสามิภักดี
ขอปทุมธานีที่เสด็จ            เดือนสิบเบ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก
มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก            พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา

บ้านสามโคก ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

บ้านงิ้ว
ถึงบ้านงิ้ว งิ้วต้นแต่พ้นหนาม    ไม่งอกงามเหมือนแม่งิ้วที่ผิวเหลือง
เมื่อแลพบหลบพักตร์ลักชำเลือง    ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
มาลับนวลหวนให้เป็นไม้งิ้ว        เสียดายผิวพักตร์ผ่องจะหมองโฉม
เพราะเสียรักหนักหน่วงน่าทรวงโทรม    ใครจะโลมเรียมรสช่วยชดเจือ ฯ

บ้านงิ้ว หรือบ้านป่างิ้ว ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

โพธิ์แตง
ถึงโพธิ์แตง คิดถึงแตงที่แจ้งจัก    ดูน่ารักรสชาติประหลาดเหลือ
แม้นลอยฟ้ามาเดี๋ยวนี้ที่ในเรือ    จะฉีกเนื้อนั่งกลืนให้ชื่นใจ

บ้านโพธิ์แตง อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามคลองเกาะใหญ่ อยู่ในท้องที่ตำบลโพธิ์แตง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวัดโพธิ์แตงเหนือและวัดโพธิ์เเตงใต้เป็นสำคัญ

เกาะใหญ่ราชคราม
ถึงเกาะหาดราชคราม รำรามรก    เห็นนกหกหากินบินไสว
เขาถากถางกว้างยาวทั้งลาวไทย    ทำนาไร่ร้านผักรั้วฟักแฟง
สุดละเมาะเกาะกว้างสว่างโว่ง    แลตะโล่งลิบเนตรทุกเขตแขวง
เห็นควันไฟไหม้ป่าจับฟ้าแดง    ฝูงนกแร้งร่อนตัวเท่าถั่วดำ

เกาะใหญ่ราชคราม ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บางไทร
ถึงด่านทาง บางไทร ไขว่เฉลว    เห็นไพร่เลวหลายคนอยู่บนด่าน
ตุ้งก่าตั้งนั่งขักควักน้ำตาล        คอยว่าขานขู่คนลงค้นเรือ
ไม่เห็นของต้องห้ามก็ลามขอ    มะละกอกุ้งแห้งแตงมะเขือ
ขอส้มสูกจุกจิกทั้งพริกเกลือ        จนชาวเรือเหลือระอาด่าในใจ
แต่ลำเราเขาไม่ได้ค้นมาพ้นด่าน    ดูภูมิฐานทิวชลาพฤกษาไสว
ถึงอารามนามตั้งวัดบางไทร        ต้นไทรใหญ่อยู่ที่นั่นน้องวันทา
เทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิตพุ่ม        เพราะเคยอุ้มอุณรุทสมอุษา
ใคร่น่าจูบรูปร่างเหมือนนางฟ้า    ช่วยอุ้มพามาให้เถิดจะเชิดชม

บางไทร เป็นชื่อตำบลและอำเภอ ขึ้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลบางไทร อำเภอนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยารวมอยู่ในแขวงขุนเสนา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแขวงเสนา ถึงรัชกาลที่ ๓ แยกเป็นแขวงเสนาใหญ่และแขวงเสนาน้อยถึง พ.ศ. ๒๔ภ๘ จัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล แขวงเสนาน้อยเปลี่ยนเป็นอำเภอเสนาน้อย แต่ชาวบ้านยังคงเรียกอำเภอบางไทร ต่อมาภายหลังได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งฝั่งขวาลำนํ้าบางไทร (แม่นํ้าน้อย) ที่ตำบลราชคราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ จึงเรียกว่า อำเภอราชคราม ถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ กลับเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางไทร ต่อมาจนกระทั่งบัดนี้

เกาะเกิด
ถึงเกาะเกิด เกิดสวัสดิ์พิพัฒน์ผล        อย่าเกิดคนติเตียนเป็นเสี้ยนหนาม
ให้เกิดลาภราบเรียบเงียบเงียบงาม    เหมือนหนึ่งนามเกาะเกิดประเสริฐทรง

เกาะเกิด เป็นชื่อตำบล ขึ้นอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเกาะชื่อเกาะเกิดเป็นสำคัญ บนเกาะเกิดนี้เคยมีไร่แตงโมรสดีมีชื่อเสียง เรียกกันติดปากว่า แตงโมเกาะเกิด

เกาะบางปะอิน
ถึงเกาะเรียงเคียงคลองเป็นสองแยก    ป่าละแวกวังราชประพาสสินธุ์
ได้นางห้ามงามพร้อมชื่อ หม่อมอิน    จึงตั้งถิ่นที่เพราะเสนาะนาม
หวังถวิลอินน้องละอองเอี่ยม            แสนเสงี่ยมงามพร้อมเหมือนหม่อมห้าม
จะหายศอตส่าห์พยายาม            คงจะงามพักตร์พร้อมเหมือนหม่อมอิน

เกาะบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เกาะพระ
ถึงเกาะพระ ไม่เห็นพระปะแต่เกาะ    แต่ชื่อเพราะชื่อพระสละหลง
พระของน้องนี้ก็นั่งมาทั้งองค์        ทั้งพระสงฆ์เกาะพระมาประชุม
ขอคุณพระอนุเคราะห์ทั้งเกาะพระ        ให้เปิดปะตรุทองสักสองขุม
คงจะมีพี่ป้ามาชุมนุม                จะอ้อนอุ้มแอบอุราเป็นอาจิณ

เกาะพระ อยู่ตรงทางแยกแม่นํ้าเจ้าพระยา มีคลองล้อมรอบเกาะ อยู่ตรงข้ามกับวัดโพธิ์ ตำบลโรงช้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เกาะเรียน
ถึงเกาะเรียน เรียนรักก็หนักอก    แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย
เมื่อเรียนกันจนจบถึงกบเกย        ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง
แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย        รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์
ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง    มีแต่หลงลมลวงน่าทรวงโทรม

เกาะเรียน เป็นชื่อตำบล ขึ้นอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากจะเป็นชื่อตำบลแล้ว ยังมีเกาะที่เกิดขึ้นกลางแม่นํ้าเจ้าพระยา เรียกชื่อว่า “เกาะเรียน”

วัดพนัญเชิง
มาถึงวัด พนัญเชิง เทิงถนัด        ว่าเป็นวัดเจ้าฟ้าพระกลาโหม
ผนังก่อย่อมุมเป็นซุ้มโคม        ลอยโพยมเยี่ยาฟ้านภาลัย
มีศาลาท่าน้ำดูฉ่ำชื่น            ร่มระรื่นรุกขาน่าอาศัย
บิดาพร่ำร่ำเล่าให้เข้าใจ        ว่าพระใหญ่อย่างเยี่ยงที่เสี่ยงทาย
ถ้าบ้านเมืองเคืองเข็ญจะเป็นเหตุ    ก็อาเพศพังหลุดทรุดสลาย
แม้พาราผาสุกสนุกสบาย        พระพักตร์พรายเพราพริ้มดูอิ่มองค์
แต่เจ็ดย่านบ้านนั้นก็นับถือ        ร้องเรียกชื่อว่าพระเจ้าปูนเถ้าก๋ง
ด้วยบนบานการได้ดังใจจง        ฉลององค์พุทธคุณกรุณัง
แล้วก็ว่าถ้าใครน้ำใจบาป        จะเข้ากราบเกรงจะทับต้องกลับหลัง
ตรงหน้าท่าสายชลเป็นวนวัง        ดูพลั่งพลั่งพลุ่งเชี่ยวน่าเสียวใจ
เข้าจอดเรือเหนือหน้าศาลาวัด    โสมนัสน้องใหม่เสื่อมที่เลื่อมใส
ขึ้นเดินเดียวเที่ยวหาสุมาลัย        จำเพาะได้ดอกโศกที่โคกนา
กับดอกรักหักเด็ดได้เจ็ดดอก        พอใส่จอกจัดแจงแบ่งบุปฝา
ให้กลั่นมั่งทั้งบุนนาคเพื่อนยากมา        ท่าบิดาดีใจกระไรเลย

วัดพระเจ้าพนัญเชิง อยู่ริมนํ้าข้างใต้พระนคร วัดนี้เป็นวัดที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมใครจะเป็นผู้สร้างไม่ปรากฎหลักฐาน ปรากฏแต่ว่าพระเจ้าพนัญเชิงนั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๗ คือ ก่อนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒๐ เมตร ๑๗ เซนต์สูงตลอดพระรัศมี ๑๙ เมตร สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงซ่อมใหม่ครั้งหนึ่ง และพระเจ้าแผ่นดินในกรุงศรีอยุธยาคงจะซ่อมแซมกันต่อมาอีกหลายพระองค์ แต่ไม่ ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ดังมีเรื่องราวปรากฏแต่เพียงว่า เมื่อพระนครศรีอยุธยาจะเสียแก่ข้าศึก พระพุทธรูปองค์นี้มีนํ้าพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้างเท่านั้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระปฐมบรมราชวงศ์จักรีก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์ และสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์นี้ ทรงปฏิสังขรณ์กันสืบต่อมาอีกหลายพระองค์ โดยเฉพาะพระพุทธรูป พระเจ้าพนัญเชิงนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งองค์ เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๙๗ แล้วถวายพระนามว่า พระพุทธไตรรัตนนายก ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ เกิดเพลิงไหม้ผ้าห่มพระเจ้าพนัญเชิง องค์พระชำรุดหลายแห่ง พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ซ่อมใหม่ เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ พระหนุของพระเจ้าพนัญเชิงได้พังทลายลงตลอด ถึงพระปรางค์ทั้งสองข้าง ราชบัณฑิตยสภาได้จัดนายช่างขึ้นไปซ่อมแซม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และในคราวเดียวกันนี้ พระธรรมไตรโลก (ฉาย) เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้ให้เก็บเศษทองที่เหลือติดกระดาษ ซึ่งสับปุรุษทิ้งไว้ในพระวิหารจัดการสำรอกได้ทองคำหนัก ๑๑ บาท และมีผู้อื่นบริจาคร่วมอีก ๔๖ บาท รวมเป็น ๕๗ บาท จัดทำพระอุณาโลมเปลี่ยนจากของเดิมซึ่งเป็นทองแดงปิดทอง

พระเจ้าพนัญเชิงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ผู้ที่ไปเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถ้ามีเวลาพอ ควรจะหาโอกาสไปนมัสการและเสี่ยงเซียมซีดูโชคชะตาราศีของตนที่วัดนี้ดูบ้าง ถ้าผู้ใดไม่ไป ก็จะไม่ได้ชมพระพุทธรูปโบราณที่ใหญ่โตและมีลักษณะงดงามองค์หนึ่ง ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้พยายามก่อสร้างไว้ด้วยความประณีตบรรจง รูปฉายาลักษณ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ค่อยปรากฏ ในหนังสือใดๆ เลย เพราะถ่ายลำบาก เนื่องจากวิหารสั้นและพระพุทธรูปนั้นสูงใหญ่เกินกว่าหน้ากล้องที่จะถ่ายให้หมดทั้งพระองค์ได้ แม้แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่รวมบรรดารูปฉายาลักษณ์ของพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ ในประเทศไทยไว้ได้เกือบทั้งหมดก็ตาม แต่ก็ยังขาดรูปฉายาลักษณ์ของพระเจ้าพนัญเชิงนี้อยู่อีกองค์หนึ่ง

คลองสวนพลู อยู่ข้างวัดพนัญเชิง หรือวัดหลวงพ่อโต

วัดใหญ่ชัยมงคล อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หนองพลวง เป็นหนองกลางทุ่ง อยู่เหนือถนนสายวังน้อย-อยุธยา ตอนระหว่างถนนไปวัดใหญ่ชัยมงคล

วัดเจ้าฟ้าอากาศ เข้าใจว่า เป็น วัดเขาดิน ในบัดนี้ อยู่ในตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อนึ่ง มีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องนิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ ให้ความเห็นว่า วัดเจ้าฟ้าอากาศ น่าจะอยู่ไกลกว่านี้ เพราะการเดินทางของสุนทรภู่ดูลำบากมากเอาการ ระยะทางก็น่าจะไกลกว่าวัดเขาดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาจจะอยู่ในแถบอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี จะต้องสอบหาหลักฐานทางด้านภูมิศาสตร์ต่อไปว่าจะเป็นได้หรือไม่

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด