เสภาพระราชพงศาวดาร

กราบบังคมสมเด็จบดินทร์สูร
พระยศอย่างปางนารายณ์วายุกูล        มาเพิ่มพูนภิญโญในโลกา
ทุกประเทศเขตขอบมานอบน้อม        สะพรั่งพร้อมเป็นสุขทุกภาษา
ขอเดชะพระคุณกรุณา               ด้วยเสภาถวายนิยายความ

นอกจากมีส่วนสร้างความงามในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนแล้ว สุนทรภู่ยังแต่งเสภาอีกเรื่องหนึ่งคือ เสภาพระราชพงศาวดาร (มีความยาว ๒ เล่มสมุดไทย)

หนังสือเสภาพระราชพงศาวดาร ดูเหมือนจะเป็นวรรณกรรมชิ้นสุดท้ายของสุนทรภู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้แต่งสำหรับถวายในเวลาทรงเครื่องใหญ่ และสำหรับสั่งให้นางในส่งมโหรีหลวงด้วย เข้าใจกันว่าสุนทรภู่เริ่มแต่งเมื่อพ.ศ. ๒๓๙๒ เวลานั้นอายุ ๖๘ ปี และกำลังครองตำแหน่งอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรในนามบรรดาศักดิ์พระสุนทรโวหาร อันเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางนักปราชญ์แห่งราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์

เนื้อเรื่องประพันธ์ตามพระราชพงศาวดาร จึงมิจำเป็นต้องนำมากล่าวในที่นี้เพราะทราบกันอยู่แล้ว ในที่นี้จะพินิจแต่ลักษณะหนังสือเสภาพระราชพงศาวดารแต่งเป็นใจความ ๒ ตอน เดิมทีเดียวสุนทรภู่เริ่มตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา ไปจนถึงทำสงครามกับขอมโดยพระราเมศวร และพระบรมราชา (ขุนหลวงพะงั่ว) สุนทรภู่ยุติเพียงเท่านี้แล้วข้ามไปแต่งตอนสงครามช้างเผือกในรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า คงเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ตอนหลังสงครามกับขอมคราวนั้น ถึงจะแต่งก็ไม่น่าฟังจึงโปรดให้ข้ามไปแต่งตอนสงครามช้างเผือกในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิจนถึงพระเจ้าไชยเชษฐากรุงศรีสัตนาคนหุต ซึ่งยกเข้ามาช่วยกรุงศรีอยุธยาแตกแพ้ นับเป็นตอนที่ ๒ ที่แต่งไม่จบอาจเป็นด้วยสุนทรภู่ ถึงแก่อนิจกรรมลง

พูดถึงศิลปะการประพันธ์เรื่องนี้ สุนทรภู่เพียงแต่ประพันธ์ตามพระราชพงศาวดาร ไม่อิสระเสรีดังเรื่องอื่น เช่นนิราศอิเหนาหรือพระอภัยมณี ซึ่งสุนทรภู่มีอำนาจที่จะวาดจะสร้างได้ตามอำเภอใจ ไม่มีทางที่จะพลิกแพลงให้เกิดรสไพเราะหรือขบขันได้เต็มที่ เมื่อเรื่องบังคับให้อยู่ในกรอบเช่นนี้ ย่อมทำให้สุนทรภู่อึดอัด หากมิเป็นเพราะพระราชดำรัสให้แต่ง สุนทรภู่จะไม่แต่งเลย

ถึงกระนั้นก็ตาม เสภาพระราชพงศาวดารของสุนทรภู่มิใช่จะแห้งแล้งเสียทีเดียว บางแห่งแทรกความขบขันลงไป บางแห่งแทรกคติและคำเปรียบเทียบอันงดงาม ดังจะเสนอให้ชมเป็นตอนๆ ดังนี้

พระเจ้าอู่ทองตรัสแก่พระราเมศวรตอนจะให้ไปรบขอมว่า “พลของเราห้าวหาญชำนาญยุทธ เจียนจะขุดกัมภูชาก็ว่าได้” เป็นการเปรียบความเด่นชัดที่สุด ไม่ใช่เขียนอย่างกลอนพาไปเลย

สุนทรภู่ได้เขียนในสารตอบพระเจ้ากรุงหงษาวดี เมื่อขอช้างเผือกว่า

ในสาราว่าพระมหาจักรพรรดิ    เจ้าจังหวัดเวียงไชยไอศวรรย์
เฉลิมวงศ์ทรงยศทศธรรม์        ครองเขตขันธ์กรุงทวาราวดี
ทรงพระน้องต้องประสงค์ช้างเผือกผู้    เป็นของคู่บุญบำรุงชาวกรุงศรี
อันวิสัยในจังหวัดปัถพี        ผู้ใดมีบุญญากฤดาการ
จึงย่อมจักเกิดช้างแลนางแก้ว    ใช่บุญแล้วถึงจะได้ไว้ถิ่นฐาน
ไม่รุ่งเรืองเครื่องจะอันตรธาน    เหมือนบุราณกล่าวเปรียบทำเทียบความ
ประเวณีมีบุญการุญโลก    อุปโภคคราใดก็ไหลหลาม
มีม้าแก้วแล้วมีช้างมีนางงาม    ศึกสงครามก็มักมาถึงธานี
ซึ่งมิได้ให้ช้างเผือกไปเลี้ยง        เพราะผิดเยี่ยงอย่างพระน้องอย่าหมองศรี
เชิดดำรงหงษาประชาชี    จะได้มีเกียรติยศปรากฎไป

อยากจะขอชมความรู้ภาษาต่างประเทศของสุนทรภู่ คือสามารถนำมาร้อยกรองเป็นกลอน แอะเอาะซึ่งเป็นกลอนยากได้อย่างน่ฟัง ดังนี้

…หม้อข้าวปลาผ้านุ่งคาดพุงพัน    เบียดเสียดกันเกะกะเสียงทะเลาะ
พวกอังวะพม่าว่าละแคะ        มอญว่าแกละอาระเคลิงเกลิงเผนาะ
ลาวว่าเบอเจอละน้อหัวร่อเยาะ    ทวายว่าเถาะยามะเวเฮฮากัน

ตอนพักพลตอนหนึ่ง สุนทรภู่สร้างความสนุกแก่ผู้อ่าน ดังนี้

ให้รำเต้นเล่นสนุกทุกๆ ค่าย        เสียงทวายมอญพม่าเฮฮาฉาว
พวกเชียงใหม่ได้แพนอ้อร้องซอลาว    โอเจ้าสาวสาวเอ๊ยเจ๊ยละน้อ
ของพระองค์ทรงพระอนุญาต    อย่าเคืองขัดตัดขาดที่ปรารถนา
ให้ร่วมแดนแผ่นดินถิ่นสุธา        ฉลองพระคุณมุลลิกาเบื้องหน้าไป

ขุนนางทูลพระมหินทร์ พูดถึงความคดของศัตรู ใจความดีมาก

ฝ่ายขุนคงต่างว่าส่งพระยาราม        หาเลิกล้มกลับตามสัญญาไม่
เห็นเหมือนคำตำราท่านว่าไว้        เคียวอยู่ในนาภีไม่มีตรง
ขอสรุปว่า เสภาพระราชพงศาวดารของสุนทรภู่เป็นหนังสือที่นักหนังสือไม่ควรพลาดเล่มหนึ่ง เพราะหนังสือประเภทนี้มีในวรรณกรรมไทยไม่กี่เล่มเลย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม มีความยาวประมาณ ๑ เล่มสมุดไทย สุนทรภู่แต่งระหว่างพ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ หลังจากพ้นโทษคือออกจากคุกมาแล้ว เรื่องนี้สุนทรภู่แต่งตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

๑. เหตุที่สุนทรภู่แต่งขุนช้างขุนแผน
สุนทรภู่ได้เข้าสู่สนามกวีอันมีเกียรติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้ชำระเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ทรงขอแรงพวกกวีชั้นเอกแห่งรัชกาลของพระองค์ช่วยกันแต่งคนละตอนสองตอน และมักปิดนามผู้แต่ง เท่าที่เราทราบจนกระทั่งบัดนี้ ตอนกำเนิดพลายงาม เป็นผลงานของท่านสุนทรภู่ มหากวีที่ชาติเป็นหนี้บุญคุณ เนื่องด้วยขุนช้างขุนแผนเป็นการประกวดประชันกัน สุนทรภู่จึงบรรจงกลอนของท่านอย่างสุดฝีมือ ไม่มีกลอนเรื่องใดของท่านที่ประณีตบรรจงเท่า

๒. สังเขปความ
เนื้อเรื่องเฉพาะตอนที่สุนทรภู่แต่งนี้มีว่า วันทองเมื่ออยู่กับขุนช้างนั้น ท้องครบสิบเดือนก็คลอดบุตรชาย เลี้ยงมาจนอายุ ๙ ขวบ หน้าตาเหมือนขุนแผน วันทองจึงตั้งชื่อว่าพลายงาม ขุนช้าง ก็โกรธว่าเด็กคนนี้มิใช่ลูกตัว แต่เป็นลูกของขุนแผนศัตรูของตน จึงอุบายลวงพลายงามไปในป่าจะฆ่าเสีย แต่ได้ผีพรายของขุนแผนช่วยไว้จึงไม่ตาย แล้วพรายจึงไปกระซิบบอกวันทอง วันทองออกตามหาพลายงามด้วยความละห้อยโหย เหมือนมัทรีตามชาลีกัณหา
ตะโกนเรียกพลายงามทรามสวาท        ใจจะขาดคนเดียวเที่ยวตามหา
สะอื้นโอ้โพล้เพล้เดินเอกา            สกุณานอนรังสะพรั่งไพร
เห็นฝูงนกกกบุตรยิ่งสุดเศร้า            โอ้ลูกเราไม่รู้ว่าอยู่ไหน
ชะนีโหวยโหยหวนรัญจวนใจ        ยิ่งอาลัยแลหาน้ำตานอง

ในที่สุดไปพบลูกกำลังร้องไห้อยู่ พลายงามเล่าความชั่วของขุนช้างให้ฟัง แล้ววันทองก็บอกความจริงแก่ลูกว่ามิใช่ลูกขุนช้าง ส่วนขุนแผนซึ่งเป็นพ่อนั้นกำลังติดคุกอยู่ บอกว่ามีแต่ย่าชื่อทองประศรีอยู่กาญจนบุรี ที่วัดเชิงหวาย จะเป็นที่พึ่งได้ พลายงามก็คิดจะไปพึ่งย่า วันนั้นค่ำแล้ววันทองจึงพาลูกไปฝากสมภารชื่อขรัวนาควัดเขาไว้

วันทองกลับบ้านขุนช้างแกล้งทำไม่รู้ไม่ชี้ในเรื่องพลายงาม เมื่อรู้ว่าหายไปก็แสร้งครํ่าครวญจนหลับ รุ่งเช้าวันทองจัดของให้ลูกไปรับลูกที่วัด ลาสมภารแล้วชี้ทางไปเมืองกาญจน์ ครวญครํ่าอย่างน่าปริเทวนา “จะมีผัวผัวก็พลัดกำจัดจาก จนแสนยากอย่างนี้แล้วมิหนำ มามีลูกลูกก็จากวิบากกรรม สะอื้นร่ำรันทดสลดใจ’’ ลูกน้อยกลอยใจก็ปลอบแม่ “แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว” วันทองหักอารมณ์อวยพรสั่งสอนลูก และว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน” ตอนพรรณนาที่เด่นที่สุดคือ ตอนแม่ลูกจากกัน

ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก        ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย    แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา
เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น    แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญา    โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง

เมื่อพลายงามถึงเมืองกาญจน์ รู้กิตติศัพท์จากเด็กๆ ว่าบ้านทองประศรีมีมะยมหวานที่เด็กๆ ชอบไปขโมย ทองประศรีคอยจับเสมอ และ “ร้ายเหมือนกับผีเสื้อแกเหลือตัว ถ้าลูกใครไปเล่นแกเห็นเข้า แกจับเอานมยานฟัดกะบาลหัว” พลายงามจึงให้เด็กเหล่านี้เป็นมัคคุเทศก์พาไปขึ้นมะยมต้นนั้นพร้อมกับเด็กๆ ในที่สุดทองประศรีจึงลงจากเรือนไล่เด็กกระจุยไป ตีไม่ว่าลูกเต้าเหล่าใคร แม้พลายงามจะบอกว่าเป็นหลานมาจากสุพรรณก็ไม่ฟังเสียง พลายงามโดดลงจากต้นมะยมมากราบตีน ก็ไม่วายโดนกระบองทองประศรี

เจ้าพลายงามถอยหลบแล้วนบนอบ    ฉันเจ็บบอบแล้วย่าเมตตาฉัน
ข้าเป็นลูกขุนแผนแสนสะท้าน        ข้างฝายมารดาชื่อแม่วันทอง
จะมาหาย่าชื่อทองประศรี            อย่าเพ่อตีฉันจะเล่าความเศร้าหมอง
ย่าเขม้นเห็นจริงทิ้งกระบอง            กอดประคองรับขวัญกลั้นน้ำตา

นี่เป็นอารมณ์คนแก่ขี้หลง พอทราบว่าเป็นลูกหลานก็ฝนไพลให้ทา อาบน้ำอาบท่าให้เรียบร้อย ด้วยความรัก พลายงามจึงเล่าความจริงให้ฟังตลอด ทองประศรีก็ด่าขุนช้างระงมไป พอคํ่าก็จัดการรับมิ่งขวัญหลาน จัดบายศรีและมีเวียนเทียนบทเชิญขวัญมีทั้งไทย ลาว และทวาย พึงสังเกตว่าสุนทรภู่รู้ภาษาเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี และเมื่อนำมาไว้ในกลอนยิ่งเป็นหัสบันเทิงสำคัญนัก

ขวัญพ่อพลายงามทรามสวาท    มาชมภาชนะทองอันผ่องใส
ล้วนของขวัญจันทร์จวงพวงมาลัย        ขวัญอย่าไปป่าเขาลำเนาเนิน
เห็นแต่เนื้อเสือสิงห์ฝูงลิงค่าง    จะอ้างว้างเวียนวกระหกระเหิน
ขวัญมาหาย่าเถิดอย่าเพลิดเพลิน        จงเจริญร้อยปีอย่ามีภัย
แล้วจุดเทียนเวียนวงส่งให้บ่าว    มันโห่กราวเกรียวลั่นสนั่นไหว
คอยรับเทียนเวียนส่งเป็นวงไป    แล้วดับไฟโบกควันให้ทันที
มะพร้าวอ่อนป้อนเจ้าทั้งข้าวขวัญ        กระแจะจันทน์เจิมหน้าเป็นราศี
ให้สาวสาวลาวเวียงที่เสียงดี        มาซอปี่อ้อซั้นทำขวัญนาย

พ่อเมื้อเมืองดง เอาพงเป็นเหย้า        อึดปลา-อึดข้าว ขวัญเจ้าตกหาย
ขวัญอ่อนร่อนเร่ ว้าเหว่สู่กาย        อยู่ปลายยางยูง ท้องทุ่งท้องนา
ขวัญเผือเมื้อเมิน ขอเชิญขวัญพ่อ        ฟังซอเสียงอ้อ ขวัญพ่อแจ้วจ๋า
ข้าวเหนียวเต็มพ้อม ข้าวป้อมเต็มป่า    ขวัญเจ้าจงมา สู่กายพลายเอย

แล้วพวกมอญซ้อนซอเสียงอ้อแอ้        ร้องทะแยย่องกะเหนาะย่ายเตาะเหย
ออระหน่ายพลายงามพ่อทรามเชย    ขวัญเอ๋ยกกกะเนียงเกรียงเถลิง
ให้อยู่ดีกินดีมีเมียสาว                เพียงกะราวกนตะละเลิงเคลิ่ง
มวยบามาขวัญจงบันเทิง            จะเปิงยี่อิกะปิปอน
ทองประศรีดีใจให้เงินบาท            เห็นแก่ทาสพรั่งพร้อมล้อมสลอน
ถึงเวลานาเจ้าเข้าที่นอน            มีฟูกหมอนมุ้งม่านสำราญใจ

พลายงามถามย่าถึงเรื่องพ่อ ทองประศรีเล่าว่าติดคุกมา ๑๐ ปีแล้ว รุ่งเช้าก็ขึ้นช้างพาหลานไปหาพ่อที่อยุธยา เดินทาง ๒ วันครึ่งจึงถึง ความตอนที่ขุนแผนติดคุกเล่าไว้เป็นนัยดังนี้

อยู่เปล่าๆ เล่าก็จนพ้นกำลัง        อุตส่าห์นั่งทำการสานกะทาย
ให้นางแก้วกิริยาช่วยทารัก        ขุนแผนถักขอบรัดกระหวัดหวาย
ใบละบาทคาดไว้ด้วยง่ายดาย    แขวนไว้ขายทงเรือนออกเกลื่อนไป

ทองประศรีแนะให้รู้จักพลายงาม และเล่าเรื่องขุนช้างทำร้าย ขุนแผนโกรธมากคิดจะไปฆ่าขุนช้าง แต่ทองประศรีให้สติและห้ามไว้

โบราณท่านสมมุติมนุษย์นี้        ยากแล้วมีใหม่สำเร็จถึงเจ็ดหน
ที่ทุกข์โศกโรคร้อนคอยผ่อนปรน    คงจะพ้นโทษทัณฑ์ไม่บรรลัย

ขุนแผนมอบให้ทองประศรีอบรมพลายงาม

แล้วลูบหลังสั่งความพลายงามน้อย        เจ้าจงค่อยร่ำเรียนเขียนคาถา
รู้สิ่งไรก็ไม่สู้รู้วิชา                    ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ

ขุนแผนสอนบุตรพร้อมกับความโศกาดูร

มาหาพ่อพ่อไม่มีสิ่งไรผูก        ยังแต่ลูกประคำจะทำขวัญ
อยู่หอกปืนยืนยงคงกะพัน        ได้ป้องกันกายาข้างหน้าไป

พลายงามขออยู่ในคุกด้วยเพื่อปรนนิบัติพ่อ
ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้        ในคุกใหญ่ยากแค้นมันแสนเข็ญ
เหมือนกับนรกตกทั้งเป็น        มิได้เว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย
แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช        อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย
คนทั้งหลายนายมูลก็คุ้นเคย        เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจองจำ
ทั้งข้าวปลาสารพันทุกวันนี้        พระหมื่นศรีเธอช่วยชุบอุปถัมภ์
ค่อยเบาใจไม่พักต้องตักตำ        คุณท่านล้ำล้นฟ้าด้วยปรานี
ถ้าแม้นเจ้าเล่าเรียนความรู้ได้    จะพาไปพึ่งพระจมื่นศรี
ถวายตัวพระองค์ทรงธานี        จะได้มีเกียรติยศปรากฎไป

แล้วทองประศรีก็พาหลานกลับ ไปอบรมสั่งสอนคาถาอาคมต่างๆ จนอายุได้ ๑๓ ปี

‘‘นัยน์ตากลมคมขำดูดำขลับ    ใครแลรับรักใคร่ปราศรัยถาม”

โกนจุกมีขรัวเกิดสมภารวัดเขาชนไก่ใกล้บ้านเป็นครูขุนแผนมาสวดมนต์ด้วย ท่านว่าขุนแผนว่า

“อ้ายเจ้าชู้กูได้ว่ามาแต่ก่อน        จะทุกข์ร้อนอ่อนหูเพราะผู้หญิง”

แล้วดูพลายงามว่า
“พินิจนั่งดูกายเจ้าพลายงาม
เห็นน่ารักลักขณะก็ฉลาด        จะมีวาสนาดีขี่คานหาม
ถ้าถึงวันชั้นโชคโฉลกยาม        ก็ต้องตามลักขณะว่าจะรวย
แต่มีเมียเสียถนัดปัตนิ            ตัวตำหนิรูปขาวเป็นสาวสวย
แต่อ้ายนี้ขี้หลงจะงงงวย        ต้องถูกด้วยยลโมบโลภโลกีย์
แล้วท่านขวัวหัวร่อว่าออหนู        มันเจ้าชู้กินการหลานอีศรี
ก็แต่ว่าอายุสิบแปดปี            จะได้ที่หมื่นขุนเป็นมุลนาย
ทั้งเมียสาวชาวเหนือเป็นเชื้อแถว    อีนั่นแล้วมันจะมาพาฉิบหาย
อันอ้ายขุนแผนพ่อของออพลาย    จะพ้นปลายเดือนยี่ในปีกุน
นับแต่นี้มีสุขไม่ทุกข์ร้อน        ได้เตียงนอนนั่งเก้าอี้เป็นที่ขุน”
เสียตระกูลสูญลับอัประมาณ    ให้เคลิ้มองค์ทรงกลอนละครนอก
แล้วก็เล่นเสภา “หาเสภามาทั่วที่ตัวดี” ตามี-ตารองศรี-นายทั่ง-นายเพชร-นายมา-พระยานนท์- ตาทองอยู่ พลายงามพอผมยาวก็ตัดมหาดไทย คิดจะถวายตัวและทูลขอให้พ่อพ้นโทษ พลายงามไปหาพ่อบอกว่า “ลูกจะใคร่ให้พระนายถวายตัว’’ พอพลบก็พาลูกไปหาพระหมื่นศรี

“หมื่นศรีร้องเรียกว่ามาสิเกลอ    ด้วยรักใครใจซื่อถือว่าเพื่อน
ไม่บากเบือนหน้าหนีตีเสมอ”

แนะนำให้รู้จักพลายงาม ขอฝากจมื่นศรีเสาวรักษ์ๆ ก็รับอุปการะและอบรมเป็นอย่างดี ตอนหนึ่งสอนว่า

ที่ไม่สู่รู้อะไรผู้ใหญ่เด็ก            มหาดเล็กสามต่อพ่อลูกหลาน
เสียตระกูลสูญลับอัประมาณ    เพราะเกียจคร้านคร่ำคร่าเหมือนพร้ามอญ

พลายงามตามหลังพระหมื่นศรีไปวังทุกวัน ถึงวันดีได้ช่องพระหมื่นศรีก็นำพลายงามถวายตัว ว่าเป็นบุตรขุนแผน มีความรู้ และขอรับราชการเป็นมหาดเล็ก

ครานั้นสมเด็จพระพันวษา        เหลือบเห็นหน้าพลายงามความสงสาร
จะออกพระโอฐโปรดขุนแผนแสนสะท้าน    แต่กรรมนั้นบันดาลดลพระทัย
ให้เคลิ้มองค์ทรงกลอนละครนอก        นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล
ลืมประภาษราชกิจที่คิดไว้        กลับเข้าแท่นในที่ศรีไสยา

๓. ข้อสังเกตกระบวนกลอน
ว่าถึงกระบวนกลอนในตอนกำเนิดพลายงามนี้เป็นลักษณะแห่งศิลปะของสุนทรภู่โดยแท้ คือเป็นกลอนที่เต็มไปด้วยสัมผัสในอันเพราะพริ้งยิ่งนัก โดยตลอดเราจะเห็นวรรคละ ๘ คำล้วน นี่เป็นลักษณะที่สุนทรภู่ใช้เขียนเรื่องของท่าน เช่น โคบุตร พระอภัย และลักษณวงศ์ เป็นกระบวนกลอนที่เหมาะสำหรับเรื่องประโลมโลกของท่านโดยเฉพาะ

เมื่อสุนทรภู่มาเขียนกลอนเสภา มีเสียงกล่าวกันว่า ศิลปะของท่านขัดกับลีลาของเสภา กล่าวคือ เสภาเป็นบทสำหรับขับร้อง (และบางทีมีการรำด้วย) ให้เหมาะเจาะกับกิริยาอาการและอารมณ์ต่างๆ
เช่น รัก โศก และดุดัน การใช้คำในวรรคหนึ่งๆ ก็ย่อมต้องเกี่ยวกับอารมณ์อันแสดงออก อาจเป็นวรรคละ ๖-๗ คำเหมาะก็มี ไม่ต้องถึง ๘ คำเสมอไป กลอนเสภาที่ดีจึงนิยมคำมากบ้างน้อยบ้าง เพราะเกี่ยวกับการเอื้อนและจังหวะกรับ จังหวะรำ ให้กลมกลืนกันพอดี จงสังเกตกลอนเสภาที่ชอบขับกันมากคือพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ หรือสำนวนของครูแจ้ง จะเห็นได้ว่ามีลักษณะดังกล่าวนี้ส่วนของสุนทรภู่เป็นกลอน ๘ ล้วน จึงขับเสภาได้ไม่สนิทสนม อาจขัดกับลีลาของศิลปะแห่งเสภาดังที่มีผู้กล่าวไว้กระมัง?

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

บทกวีนิพนธ์สุภาษิตสอนสตรี

ตามหนังสือประวัติสุนทรภู่ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าแต่งราวพ.ศ. ๒๓๘๐-๒๓๘๓ ตอนตกยากต้องพายเรือขายของ เป็นการรวบรวมจริยธรรมสำหรับผู้หญิงไว้อย่างดี ผู้อ่านจะเห็นวัฒนธรรมหญิงไทยได้อย่างชัดเจน

การคบชู้สู่สาว
บ้างมีผัวตัวอยู่เป็นคู่ชื่น        ยังหาอื่นเข้าประคองเป็นสองสาม
ทำรักซ้อนซ่อนสนิทปิดเนื้อความ    จนเลยลามเป็นระฆังดังขึ้นเอง
ครั้นรู้ความถามไถ่ก็ไม่รับ        เขาเฆี่ยนขับตีด่าว่าข่มเหง
พลอยประจบกลบความไปตามเพลง    เพราะผัวเองจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน

ความประหยัด
มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท        อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
ถ้ามีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง        อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน

คำตอนท้าย
อย่าฟังเปล่าเอาแต่กลอนสุนทรเพราะ        จงพิเคราะห์คำเลิศประเสริฐศรี
เอาเป็นแบบสอนตนพ้นราคี                กันบัดสีติฉินเขานินทา

เป็นสาว
เป็นสาวแส้แร่รวยสวนสะอาด        ก็หมายมาดเหมือนมณีอันมีค่า
แม้นแตกร้าวรานร่อยถอยราคา        จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง

ปกปิด
อย่าลืมตัวมัวเดินให้เพลินจิต        ระวังปิดปกป้องของสงวน
เป็นนารีที่อายหลายกระบวน        จงสงวนศักดิ์สง่าอย่าให้อาย

นัยน์ตา
อันนัยน์ตาพาตัวให้มัวหมอง            เหมือนทำนองแนะออกบอกกระแส
จริงไม่จริงเขาก็เอาไปเล่าแซ่            คนรังแกมันก็ว่านัยน์ตาคม

รักในอารมณ์
แม้นจะรักรักไว้ในอารมณ์            อย่ารักชมนอกหน้าเป็นราคี
ดังพฤกษาต้องวายุพัดโบก            เขยื้อนโยกก็แต่กิ่งไม่ทิ้งที่
จงยับยั้งชั่งใจเสียให้ดี                เสมือนหนึ่งจามรีรักษากาย

ปีศาจ
อันแม่สื่อคือปีศาจที่อาจหาญ        ใครบนบานเข้าหน่อยก็พลอยโผง
อย่าเชื่อนักมักตับจะคับโครง        มันชักโยงอยากกินแต่สินบน

สุดดี
เป็นสตรีสุดดีแต่เพียงผัว            จะดีชั่วก็แต่ยังกำลังสาว
ลงจนสองสามจืดไม่ยืดยาว            จะกลับหลังยังสาวสิเต็มตรอง

รักนวล
จงรักนวลสงวนงามห้ามใจไว้        อย่าหลงใหลจำคำที่พร่ำสอน
คิดถึงหน้าบิดาและมารดร            อย่ารีบร้อนเร็วนักมักไม่ดี

ซื้อง่ายขายดี
แม้จะเรียนวิชาทางค้าขาย            อย่าปากร้ายพูดจาอัชฌาสัย
จะซื้อง่ายขายดีมีกำไร                ด้วยเขาไม่เคืองจิตระอิดระอา

ลมปาก
เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก        จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา            จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ

รู้วิชา
รู้วิชาก็ให้รู้เป็นครูเขา            จึงจะเบาแรงตนเร่งขวนขวาย
มีข้าไทใช้สอยค่อยสบาย        ตัวเป็นนายโง่เง่าบ่าวไม่เกรง

เกี่ยวแฝกมุงป่า
อย่าอวดดีมีทรัพย์เที่ยวจับแจก        ทำเกี่ยวแฝกมุมป่าพาฉิบหาย
ใครจะช่วยตัวเราก็เปล่าดาย            อย่ามักง่ายเงินทองของสำคัญ

หญิงสองใจ
ยังมีพวกหนึ่งนั้นขยันยิ่ง        เป็นผู้หญิงสองใจไม่กำหนด
เที่ยวยักย้ายส่ายชมภิรมย์รส    ใครมาจดโผจับรับตะกาง
จะรักไหนก็ไม่รักสมัครมั่น        เล่นประชันเชิงลองทั้งสองข้าง
ชู้ต่อชู้รู้เรื่องเคืองระคาง        ก็ขัดขวางหึงสาจะฆ่าฟัน

อย่าจับปลาสองหัตถ์
อย่าจับปลาสองหัตถ์จะพลัดพลาด    จับให้คงให้ขาดว่าเป็นผัว
จึงจะนับว่าดีไม่มีมัว                ถ้าชายชั่วร้างไปมิใช่ชาย

หญิงเป็นหญิง
เกิดเป็นหญิงให้เห็นว่าเป็นหญิง        อย่าทอดทิ้งกิริยาอัชฌาสัย
เป็นหญิงครึ่งชายครึ่งอย่าพึงใจ         ใครเขาไม่สรรเสริญเมินอารมณ์

อนึ่ง สุภาษิตสอนสตรีนี้ มีนักวิชาการบางท่านได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ลงความเห็นว่าน่าจะไม่ใช่บทกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ แต่เนื่องจากมีความเชื่อกันมานาน จึงนำมาลงไว้ ณ ที่นี้

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

เพลงยาวถวายโอวาทของสุนทรภู่

เพลงยาวถวายโอวาท มีความยาวประมาณ ๑ เล่มสมุดไทย สุนทรภู่แต่งเมื่อปีพ.ศ. ๒๓๗๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะบวชอยู่ ณ วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) กรุงเทพมหานคร อายุ ๔๕ ปี โดยแต่งเป็นเรืองถวายโอวาทและกราบทูลลาเจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว ผู้เป็นอนุชาเจ้าฟ้าอาภรณ์ และเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ในเพลงยาวเรื่องนี้มีเนื้อความแสดงความอาลัยเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว รวมทั้งระลึกถึงพระคุณที่ได้ทรงอุปการะตนมาตอนต้นเรื่อง สุนทรภู่บอกจุดประสงค์ในการแต่งว่า
ควรมิควรจวนจะพรากจากสถาน
จงเขียนความตามใจอาลัยลาน        ขอประทานโทษาอย่าราคี
ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรัก    เหมือนผัดพักตร์ผิวหน้าเป็นราศี
เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎี            ดังวารีรดซาบอาบละออง
ทั้งการุณสุนทราคารวะ            ถวายพระวรวงศ์จำนงสนอง
ขอพึ่งบุญมุลิกาฝ่าละออง            พระหน่อสองสุริย์วงศ์ทรงศักดา
ด้วยเดี๋ยวนี้มิได้รองละอองบาท        จะนิราศแรมไปไพรพฤกษา
ต่อถึงพระวสาอื่นจักคืนมา            พระยอดฟ้าสององค์จงเจริญ

เพลงยาวถวายโอวาทนี้มีความเป็นคติอยู่หลายตอน ขอคัดมาเสนอดังนี้
-๑-
ขอพระองค์ทรงยศเหมือนคชบาท        อย่าให้พลาดพลั้งเท้าก้าวถลำ
ระมัดโอษฐ์โปรดให้พระทัยจำ        จะเลิศล้ำลอยฟ้าสุราลัยฯ
-๒-
หนึ่งนักปราชญ์ราชครูซึ่งรู้หลัก        อย่าถือศักดิ์สนทนาอัชฌาสัย อุตส่าห์ถามตามประสงค์จำนงใน        จึงจักได้รู้รอบประกอบการฯ
-๓-
อนึ่งบรรดาข้าไทที่ใจซื่อ            จงนับถือถ่อมศักดิ์สมัครสมาน
อนึ่งคนมนต์ขลังช่างชำนาญ        แม้พบพานผูกไว้เป็นไมตรี
เขาทำชอบปลอบให้น้ำใจชื่น        จึงเริงรื่นรักแรงไม่แหนงหนี
ปรารถนาสารพัดในปฐพี            เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง
-๔-
คำโบราณท่านว่าเหล็กแข็งกระด้าง     เอาเงินง้างอ่อนตามความประสงค์ฯ
-๕-
แต่คนร้ายหสายลิ้นย่อมปลิ้นปลอก     เลี้ยงมันหลอกหลอนเล่นเช่นผีอย่าพานพบคบค้าเป็นราคี            เหมือนพาลีหลายหน้าระอาอายฯ
-๖-
อันคนดีมีสัตย์สันทัดเที่ยง            ช่วยชุบเลี้ยงชูเชิดให้เฉิดฉาย
เอาไว้ใช้ใกล้ชิดไม่คิดร้าย            เขารักตายด้วยได้ด้วยใจตรงฯ
-๗-
อันโซ่ตรวนพวนพันมันไม่อยู่            คงมิสู้ซ่อนหมุนในฝุ่นผง
แม้ผูกใจไว้ด้วยปากไม่จากองค์        อุตส่าห์ทรงทราบแบบที่แยบคายฯ
-๘-
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก        แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้เจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย    เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจฯ
-๙-
จะรักชังทั้งสิ้นเพราะลิ้นพลอด        เป็นอย่างยอดแล้วพระองค์อย่าสงสัย
อันช่างปากยากที่จะมีใคร            เขาชอบใช้ช่างมือออกอื้ออึงฯ
-๑๐-
จงโอบอ้อมถ่อมถดพระยศศักดิ์        ถ้าสูงนักแล้วก็เขาเข้าไม่ถึง
ครั้นต่ำนักมักจะคิดผิดรำพึง            พอก้ำกึ่งกลางนั้นขยันนักฯ
-๑๑-
อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ    ประเสริฐสุดซ่อนไว้เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก         จงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัยฯ
-๑๒-
จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด    ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย
ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใด     เพียรจงได้ดังประสงค์คงจะดีฯ
-๑๓-
ธรรมดาว่ากษัตริย์อติเรก        เป็นองค์เอกอำนาจดังราชสีห์
เสียงสังหารผลาญสัตว์ในปฐพี    เหตุเพราะมีลมปากนั้นมากนักฯ
-๑๔-
พระผ่านเกล้าเจ้าฟ้าบรรดาศักดิ์    แม้ไม่รักษายศจะอดสู
ซึ่งยศศักดิ์จักประกอบจำรอบรู้    ได้เชิดชูช่วยเฉลิมให้เพิ่มพูนฯ
-๑๕-
ประเพณีที่บำรุงกรุงกษัตริย์        ปฏิพัทธ์ผ่อนผันตามบรรหาร
ต่างพระทัยนัยน์เนตรสังเกตการ    ตามบุราณเรื่องราชนุวัติฯ
-๑๖-
อันข้าไทได้พึ่งเขาจึงรัก        แม้ถอยศักดิ์สิ้นอำนาจวาสนา
เขาหน่ายหนีมิได้อยู่คู่ชีวา        แต่วิชาช่วยกายจนวายปราณฯ
-๑๗-
อย่าฟังฟ้องสองโสตจงโปรดปราน        ด้วยลมพาลพานพัดอยู่อัตราฯ
-๑๘-
อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว        ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว        เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนครฯ

สุนทรภู่จบเรื่องสวัสดืรักษาด้วยการอุทิศส่วนกุศลถวายแด่เจ้าฟ้ากุณฑล เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว ดังนี้

ควรมิควรส่วนผลานิสงส์        ซึ่งรูปทรงสังวรรัตน์ประภัสสร
ให้สี่องค์ทรงมหาสถาวร        ถวายพรพันวสาขอลาเอย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

สุภาษิตสวัสดิรักษา

ในตอนปลายแห่งรัชกาลที่ ๒ ท่านสุนทรภู่ได้มีงานพิเศษอันเป็นเกียรติประวัติของท่านอีกอย่างหนึ่ง คือโปรดให้สอนหนังสือพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งประสูติกับเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี พระอัครชายา นับว่าสุนทรภู่ได้เป็นครูของเจ้านายซึ่งอาจได้พึ่งพระคุณ ต่อไปในภายหน้า ตอนเป็นครูเจ้าฟ้าอาภรณ์นี้สุนทรภู่ได้ประมวลราชจริยาวัตรอันดีงามขึ้นเป็นหนังสือ เรื่อง “สวัสดิรักษา” ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ (เรื่องนี้กรมศิลปากรเข้าใจว่าแต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๔- ๒๓๖๗) ซึ่งในระหว่างเวลาใกล้เคียงกันนี้ ในฝรั่งเศสอัลเฟรดเดอะวิญญีแต่ง Cinq Mars ลามาตีน แต่งมรณกรรมของโซคราต และมิญเญแต่งประวัติการปฏิวัติ อนึ่งกรมศิลปากรยังเข้าใจว่าเรื่องสิงหไตรภพตอนต้นๆ ก็คงจะได้เริ่มแต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ในตอนนี้ด้วย สุนทรภู่เรียกพระนามแฝงเจ้าฟ้าอาภรณ์เป็น พระสิงหไตรภพ

เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๕ นักวรรณคดี ๒ ท่านเถียงกันว่าสุนทรภู่แต่งสวัสดิรักษาถวายเจ้านายพระองค์ใดแน่ ท่านทั้ง ๒ คือ คุณฉันท์ ขำวิไล กับ คุณฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นักศึกษาควรตรวจข้อขัดแย้งของท่านทั้งสองได้จากหนังสือวิทยาสาร ต.ค.-พ.ย. ๒๕๑๖ สำหรับข้าพเจ้า ขอเชื่อตามสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพไปก่อนว่า แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์โดยมีเหตุผลว่าเป็นครูของเจ้านายพระองค์นี้ ส่วนพระองค์ที่โต้กันไม่มีหลักฐานว่าสุนทรภู่เคยเป็นครู จะอาจเอื้อมไปสอนเทียวหรือ?

สวัสดิรักษา มีความยาวครึ่งเล่มสมุดไทย มีเนื้อความกล่าวถึงเรื่องการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดสิริมงคล เนื้อความดังกล่าวนี้สุนทรภู่มิได้คิดขึ้นเอง แต่นำมาจากสวัสดิรักษาของเก่าซึ่งเรียกกันว่า สวัสดิรักษาคำฉันท์ (ที่จริงเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖ ไม่ใช่ฉันท์) เข้าใจว่าเป็นผลงานตอนปลายสมัยอยุธยา

เนื่องจากสวัสดิรักษาคำฉันท์ ซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าคนอ่านส่วนมากไม่สู้จะเข้าใจ สุนทรภู่จึงนำมาแต่งใหม่เป็นกลอนสุภาพ โดยขึ้นต้นเรื่องสวัสดิรักษาว่า
• สุนทรทำคำสวัสดิรักษา
ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา
ตามพระบาลีเฉลิมให้เพิ่มพูน
เป็นของคู่ผู้มีอิสริยยศ
จะปรากฎเกิดลาภไม่สาบสูญ
สืบอายุสุริย์วงศ์พงศ์ประยูร
ให้เพิ่มพูนภิญโญเดโชชัย

คำว่า พระหน่อบพิตรอิศรา นั่นแล ที่คุณฉันท์ ขำวิไล และคุณฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ วิจารณ์กัน

“สวัสดิรักษา,’’ เป็นประมวลความเชื่อของคนแต่ก่อนว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นมงคล เช่น เรื่องการนุ่งผ้าเลือกสีตามวัน

วันอาทิตย์สิทธิโชคโศลกดี        เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
วันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว        จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน    เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดดีด้วยสีแสด        กับเหลืองแปดประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี    วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงเครื่องดำจึงล้ำเลิศ    แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม        ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัย

หนึ่งพระองค์ทรงเจริญเพลินถนอม    อย่าให้หม่อมห้ามหลับทับหัตถา
ภิรมย์รสอตส่าห์สรงพระคงคา    เจริญราศีสวัสดิ์ขจัดภัย

หนึ่งเขฬะอย่าถ่มเมื่อลมพัด        ไปถูกสัตว์เสื่อมมนต์ดลคาถา
หนึ่งพบปะพระสงฆ์ทรงศีลา        ไม่วันทาถอยถดทั้งยศทรัพย์

หนึ่งเล่าเข้าที่ศรีไสยาสน์        อย่าประมาทหมั่นคำนับลงกับหมอน
เป็นนิรันดร์สรรเสริญเจริญพร    คุณบิดรมารดาคุณอาจารย์

หนึ่งนั้นวันกำเนิดเกิดเกิดสวัสดิ์    อย่าฆ่าสัตว์เสียสง่าทั้งราศี
อายุน้อยถอยเลื่อนทุกเดือนปี    แล้วมักมีทุกข์โศกโรคโรคา

หนึ่งบรรทมลมคล่องทั้งสองฝ่าย    พระบาทซ้ายอย่าพาดพระบาทขวา
ข้างขวาคล่องต้องกลับทับซ้ายมา    เป็นมหามงคลเลิศประเสริฐนัก

สุนทรภู่กล่าวไว้ตอนท้ายเรื่องว่า    การประพฤติปฏิบัติตนให้เกิดมงคลต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่กษัตริย์ควรเรียนรู้ และบอกที่มาของเรื่องที่น่ามาแต่งไว้ดังนี้

ขอพระองค์จงจำ ไว้สำเหนียก    ดังนี้เรียกเรื่องสวัสดิรักษา
สำหรับองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา    ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย
บทโบราณท่านทำเป็นคำฉันท์    แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข
จึงกล่าวกลับซับซ้อนเป็นกลอนไว้        หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ
สนองคุณมุลิกาสามิภักดิ์            ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสถาน
แม้นผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ    ขอประทานอภัยโทบได้โปรดเอย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

อภัยนุราชบทละครของสุนทรภู่

บทละครเรื่องอภัยนุราชนี้ สุนทรภู่แต่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภาพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบทละครสั้นๆ มีความยาว ๑ เล่มสมุดไทย แต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๕-๒๓๙๓ บทละครเรื่องอภัยนุราชนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า ผลงานเรื่องนี้สู้เรื่องอื่นๆ ไม่ได้

เนื้อหาของบทละครเรื่องนี้มีว่า พระอภัยนุราชมีมเหสีชื่อทิพมาลี มีโอรสชื่อพระอนันต์ มีธิดาชื่อวรรณา

พระอภัยนุราชประพาสป่าสาลวัน แต่ยิงสัตว์ไม่ได้เลย ทำให้แปลกพระทัย มีผู้เฒ่ากราบทูลว่าเป็นเพราะพระอภัยนุราชไม่ได้บวงสรวงอารักษ์ พระอภัยนุราชกริ้วและดำริว่าอารักษ์แกล้งพระองค์ จึงมีรับสั่งให้เผาศาล อารักษ์แค้นใจคิดแก้แค้นพระอภัยนุราช จึงหักคอนางศรีสาหงแล้วเข้าไปสิงในร่าง พระอภัยนุราชหลงรักนางจะพากลับวัง อำมาตย์ทัดทานก็ถูกสั่งประหาร พระอภัยนุราชจึงได้พานางศรีสาหงเข้าวัง หลงใหลนางไม่ออกว่าราชการงานเมือง นางทิพมาลีให้โอรสและธิดาไปกราบทูลเตือนให้ทรงออกว่าราชการ เมื่อพระอภัยนุราชเสด็จออก นางทิพมาลีเห็นนางศรีสาหง เกิดวิวาทกัน พระอภัยนุราชกริ้วนางทิพมาลี ต่อมานางทิพมาลีทำร้ายนางศรีสาหง นางศรีสาหงแกล้งทำทีว่าถูกทำร้ายจนตาบอดและวอนขอท้าวอภัยนุราชให้ควักตานางทิพมาลีมาใส่ให้ตน พระอภัยนุราชหลงเชื่อมีรับสั่งให้ควักลูกตาและถอดยศนางทิพมาลีให้เป็นโขลนรับใช้อยู่ในวัง พระอนันต์และนางวรรณาเข้าขัดขวาง แต่ขัดขวางไม่สำเร็จ นางศรีสาหงแกล้งทำทีเป็นเอาตานางทิพมาลีมาใส่ตานาง ทำให้สามารถมองเห็นได้ดังเดิม
สุนทรภู่ขึ้นต้นเรื่องอภัยนุราชว่า

มาจะกล่าวบทไป        ถึงท้าวไทอภัยนุราชเรืองศรี
กับโฉมยงองค์ทิพมาลี        ครองบุรีรมเยศเขตคัน
มีโอรสธิดาน่ารัก            ประไพพักตร์ลักษณ์เลิศเฉิดฉัน
เชษฐาชื่อว่าพระอนันต์    น้องชื่อวรรณาสุดาถาวร
คนละปีพี่สิบขวบเศษ        ดังเทเวศร์สุรางค์นางอัปสร
พระวงศาข้าบาทราษฎร    ทุกข์ร้อนไม่มีบีฑา
วันหนึ่งจึงท้าวอภัยนุราช    คิดใคร่ไปประพาสภูผา
ไล่ฝูงโคถึกมฤคา            แรมค้างกลางป่าพนาวัน

ตอนพระอภัยนุราชเดินป่า สุนทรภู่บรรยายว่า
เดินทางหว่างเขาเงาร่ม    เพลินชมเชิงผาพฤกษาไสว
บ้างผลิดอกออกแทรกแตกใบ    ลูกมะไฟมะเฟืองเหลืองระย้า
จำปาดะขนุนกรุ่นหอม        มะปรางปริงกิ่งค้อมริมจอมผา
ร้อยลิ้นอินจันทน์พรรณพวา        ฝูงนกกาจิกเจาะเกาะกิน
บนเขาสูงฝูงหงส์บุหรงร้อง        เยี่ยมหุบห้องปล่องเปลวเหวหิน
ชมเพลินเดินรอบขอบคีรินทร์    มีโกรกสินธุปรุปราย
ริมลำธารศาลเจ้าเก่าแก่        กษัตริย์แต่ก่อนปางสร้างถวาย
เสาศิลาฝากรุผุทลาย            ต้นรังรายรื่นรมย์พนมไพร
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่, หน้า ๒)

ตอนพระอภัยนุราชกริ้วอารักษ์ สุนทรภู่บรรยายว่า

ฟังทูล                นเรศูรเคืองขัดอัชฌาสัย
จึงตรัสว่าป่าดงพงไพร        ก็อยู่ในเขตแคว้นแคนเรา
เพราะอารักษ์หักแกล้งกูแผลงศร    ไม่แน่นอนเหมือนหมายอายเขา
ไม่ยำเยงเกรงกูดูเบา    เอาไฟเผาศาลให้ไหม้หมดโครง
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่ หน้า ๔)

ตอนอารักษ์แค้นพระอภัยนุราช สุนทรภู่บรรยายว่า

มาจะกล่าวบทไป    ถึงอารักษ์ที่เขาเผาศาลไหม้
ขึ้นสิงสู่อยู่บนต้นไทร    แค้นท้าวอภัยนุราชบังอาจนัก
แต่ก่อนกูอยู่มาป่านี้    ชาวบุรีเกรงฤทธิ์สิทธิศักดิ์
ถึงเดือนห้ามาเล่นเซ่นวัก    ไม่ทำการหาญหักเหมือนดังนี้
จะแก้แค้นแทนทำให้ส่ำเสีย    ให้เสียลูกเสียเมียเสียกรุงศรี
คิดพลางทางแผลงฤทธี    ไปเรือนอีผีสิงหญิงคนทรง
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่, หน้า ๕)

เมื่อพระอภัยนุราชพักแรมในป่า ได้ครวญถึงมเหสีว่า

ดอกไม้สดรสรื่นชื่นแช่ม    เหมือนกลิ่นแก้มแจ่มนวลหวนถวิล
หอมบุปผาสารพันลูกจันทน์อิน    ไม่เหมือนกลิ่นนุชเนื้อที่เจือจันทน์
เจ้าพี่เอ๋ยเชยอื่นไม่ชื่น่จิต    เหมือนเชยชิดโฉมน้องประคองขวัญ
มานอนเดียวเปลี่ยวใจในไพรวัน    สะอื้นอั้นอกน้องมัวหมองเอย
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่, หน้า ๖)

เมื่อพระอภัยนุราชโลมเล้านางศรีสาหง นางกราบทูลว่า

ด้วยเกินสาวคราวแก่แพ้ผม    ไม่ควรคู่ชูชมสมสอง
ที่รุ่นราวชาวเมืองเนืองนอง    อันรูปร่างอย่างน้องไม่ต้องการ
เหมือนเขาเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก    น้ำผักต้มขมก็ชมหวาน
เมื่อจืดจางห่างเหินเนิ่นนาน        แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวดู
ขอสนองรองบาทเหมือนมาดหมาย    อย่าด่วน ได้ให้อายอดสู
ราชกิจผิดชอบไม่รอบรู้        พระภูวไนยได้เมตตา
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่, หน้า ๑๑)

พระอภัยนุราชดำรัสตอบว่า

ถึงเจ้าเฒ่าแก่แพ้ผม        สาวพรหมจารีไม่มีเหมือน
อย่าห่างเหเรรวนชวนเชือน    จงเป็นเพื่อนรักพี่ร่วมที่นอน
ที่สาวสาวลาวตายพี่คลายรัก    ที่เคยคู่รู้หลักไว้พักสอน
เขาย่อมว่าปรากฏเป็นบทกลอน    กระต่ายแก่แม่ปลาช่อนงอนชด
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่, หน้า ๑๑)

ตอนพระอภัยนุราชหลงใหลนางศรีสาหง สุนทรภู่บรรยายว่า

ครั้นรุ่งเช้าท้าวตื่นฟื้นองค์    ให้ลุ่มหลงปลงจิตพิสมัย
ลืมเหล่าสาวสรรค์กำนัลใน    มิได้ว่าขานการบูรี
ลืมเสวยเลยลืมสรงน้ำ        พระพักตร์คล้ำดำหมองเพราะต้องผี
ลืมโอรสธิดาลืมมาลี        เล่นกับศรีสาหงทรงสกา
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่, หน้า ๑๒)

ตอนนางทิพมาลีวิวาทกับนางศรีสาหง นางศรีสาหงตอบโต้นางทิพมาลีว่า

ริษยาว่านั่งบัลลังก์ทอง    มาถีบถองดูเล่นก็เป็นไร
ตายร้ายตายดีก็ทีหนึ่ง        ที่กูจะละมึงอย่าสงสัย
แท่นทองของพระภูวไนย    ประทานให้ได้อยู่อย่าดูแคลน
มิใช่ข้าอาศัยเมื่อไรเล่า        ของเราเจ้าล่องมาหวงแหน
จะตีปีกฉีกแหกให้แตกแตน    มเหเสือเหลือแสนทำแทนเธอ
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่, หน้า ๑๗)

นางทิพมาลีตัดพ้อพระอภัยนุราชและโต้ตอบนางศรีสาหงว่า

ทูลเกล้า                    พ่อเจ้าประคุณอย่าฉุนเฉียว
ช่างเชื่ออีผีสิงจริงเจียว            เห็นชุ่ยเห็นเข่นเขี้ยวคอเดียวกัน
ฉะหนักหนอตอแหลอีแก่แรด    ทำออดแอดอ้อนวอนผ่อนผัน
มิยำเยงเกรงองค์พระทรงธรรม์    จะเอาฟันออกจากปากมึง
จะข่มขู่กูนั้นอย่ามั่นหมาย        ตายร้ายตายดีก็ทีหนึ่ง
เฝ้าแต้มเติมเหิมฮึกลึกซึ้ง        ไม่แคล้วแล้วมึงแมวพึ่งพระ
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่, หน้า ๒๐)

พระอนันต์และนางวรรณาครวญเมื่อทราบว่าพระบิดาให้ควักนัยน์ตาพระมารดาว่า

ถ้าแม้นว่าตาบอดคงวอดวาย    จะขอตายด้วยพระชนนี
จะทูลขอก็เห็นจะไม่ให้            แค้นใจน้อยหน้าอีทาสี
อย่าช้าอยู่ผู้รับสั่งทั้งนี้            เร่งฆ่าตีชีวันให้บรรลัย
พระแม่จ๋าอย่าอยู่เลยพูคะ        ตายเถิดจ้ะประเสริฐไปเกิดใหม่
ลูกดูแม่แลดูลูกผูกใจ            สะอื้นไห้ไม่วายฟายน้ำตา
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่, หน้า ๒๕)

เรื่องอภัยนุราชจบลงด้วยคำบรรยายว่า

เมื่อนั้น                    พระจอมวังนั่งชมนางโฉมศรี
มาพบเห็นเป็นเมียมิเสียที        ได้เวทีชาวสวรรค์ชั้นฟ้า
พระเนตรน้องสองข้างสว่างแล้ว    ดูผ่องแผ้วผิวพักตร์นวลหนักหนา
พลางกอดเกี้ยวเกลียวกลมภิรมยา    จนโพล้เพล้เวลาราตรี
(บทละครเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่, หน้า ๓๐)

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ลักษณวงศ์วรรณคดีของสุนทรภู่

วรรณคดีเรื่องลักษณวงศ์เป็นงานชิ้นสำคัญเรื่องหนึ่งของท่านกวีเอกสุนทรภู่ ท่านกวีผู้นี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านคงรู้จักมาบ้างแล้ว จึงจะไม่นำประวัติของท่านมากล่าวละเอียด แต่จะขอกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเรื่องลักษณวงศ์เท่านั้น

พูดถึงเรื่องลักษณวงศ์เข้าใจว่านักอ่านรุ่นกลางๆ คนขึ้นไปย่อมรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ แต่นักอ่านรุ่นเยาว์คงจะมีน้อยคนนักที่จะเคยอ่านหรือแม้แต่เคยได้ยินชื่อ ทั้งนี้เพราะเหตุผลหลายประการ เช่นหนังสือเรื่องลักษณวงศ์หาอ่านยากอย่างหนึ่ง เรื่องรสนิยมในการอ่านวรรณคดีประเภทโคลงฉันท์ กาพย์กลอนในสมัยนี้มีน้อยประการหนึ่ง

แต่จะอย่างไรก็ดี เมื่อชาติไทยยอมสดุดีว่าสุนทรภู่เป็นกวีเอกของชาติคนหนึ่งแล้ว การที่เราจะสนทนากันถึงวรรณกรรมเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ก็น่าจะไม่เป็นเรื่องที่ล้าสมัยหรือไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอนำเรื่องลักษณวงศ์มาสนทนากับท่าน

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า หนังสือเรื่องลักษณวงศ์นี้มีลักษณะน่าสังเกตบางประการ ประการแรก ก็คือ วัตถุประสงค์ของการแต่ง คือมีวัตถุประสงค์แตกต่างกับเรื่องอื่นๆ ของสุนทรภู่ แต่ไหนแต่ไรมาสุนทรภู่แต่งหนังสือเพื่อถวายเจ้านายที่ตนได้พึ่งพระคุณเริ่มตั้งต้นแต่วรรณคดีเรื่องแรกคือ โคบุตร ก็ดี วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีซึ่งเป็นวรรณกรรมเยี่ยมยอดของสุนทรภู่ก็ดี ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์จะถวายเจ้านายทั้งนั้น ส่วนวรรณคดีเรื่องลักษณวงศ์นี้สุนทรภู่มิได้แต่งเพื่อถวายเจ้านายพระองค์ใด หากแต่แต่งเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเอง เพราะสนุทรภู่แต่งเรื่องลักษณวงศ์ไนขณะที่ตนเองหมดที่พึ่งขาดเจ้านายอุปการะดังแต่ก่อน ต้องสัญจรร่อนเร่ลอยเรือขายของไปตามแม่นํ้าลำคลอง และขายสำนวนกลอนลักษณวงศ์เลี้ยงอาตมาอยู่อย่างอาภัพอับจน น่าจะกล่าวได้ว่าในประวัติวรรณคดีไทย สนุทรภู่เป็นคนขายสำนวนประพันธ์หากินได้เป็นคนแรก และถ้าอย่างนั้น วรรณกรรมหากินเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ก็คือ ลักษณวงศ์ ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี่เอง ลักษณวงศ์เป็นวรรณกรรมหากินของกวีเอกสุนทรภู่ในยามวิบัติ

ก็เนื้อเรื่องของลักษณะวงศ์นั้นเป็นอย่างไร? จะขอเก็บความมาพอเป็นเค้า สุนทรภู่ได้คลี่คลาย นิยายประโลมโลกของท่านด้วยกลอนเสนาะตลอดเรื่อง เริ่มด้วยท้าวพรหมทัตผู้หลงมายาอิสตรีจนถึงกับสั่งฆ่านางสุวรรณอัมพาผู้มเหสีและลักษณวงศ์ผู้โอรสแต่เดชะบุญแม่ลูกทั้งสองนี้รอดความตายมาได้เพราะเพชฌฆาตปล่อยให้เป็นอิสระ สองแม่ลูกต้องออกเร่ร่อนผจญภัย และในที่สุดต้องพลัดพรากกันเป็นเหตุให้ลักษณวงศ์ตกไปอยู่ยังสำนักหนึ่งร่วมกับนางทิพเกสร ลักษณวงศ์กับทิพเกสรได้สนิทสนมรักใคร่กันมาแต่ปฐมวัย แต่ในตอนหลังทั้งสองมีเหตุต้องพลัดพรากกัน คือลักษณวงศ์ต้องออกติดตามชนนี ส่วนทิพเกสรต้องไปอาศัยอยู่กับเหล่านางกินนรีที่ในถํ้า ครั้นเวลาล่วงไปเมื่อลักษณวงศ์ตามพบชนนีแล้วได้เที่ยวตามหาทิพเกสรหญิงคนรักต่อไปอีก คราวนี้ลักษณะวงศ์มาพบทิพเกสรที่ถํ้านางกินนรี และได้ทิพเกสรหญิงคนรักเป็นชายา
แต่แล้วสุนทรภู่ก็ให้พระและนางของตนพรากกันอีกครั้งหนึ่ง ลักษณวงศ์ไปสู่เมืองอุบลนคร และได้ธิดาเจ้าเมืองชื่อยี่สุ่นเป็นชายา ส่วนทิพเกสรก็ออกติดตามสามีโดยแปลงเพศเป็นพราหมณ์ผู้ชาย เรียกนามตนเองว่าพราหมณ์เกสร เที่ยวสัญจรตามสามีจนในที่สุดมาพบกัน พราหมณ์เกสรได้สมัครเข้าไปอยู่ในราชสำนักของลักษณวงศ์ ลักษณวงศ์โปรดปรานพราหมณ์เกสรยิ่งนัก ทั้งนี้เป็นเหตุให้ยี่สุ่นชายาโกรธแค้น จึงหาอุบายต่างๆ ในทำนองว่าพราหมณ์เกสรล่วงเกินนางในทางชู้สาว ยี่สุ่นจึงแกล้งทูลลักษณวงศ์สวามี จนกระทั่งลักษณวงศ์เกิดโมหาคติสั่งประหารพราหมณ์เกสร ซึ่งที่แท้ก็คือชายาคู่ทุกข์คู่ยากนั่นเอง ทิพเกสรถูกประหารทั้งๆ ที่นางกำลังตั้งครรภ์

นี่คือเรื่องประโลมโลกของสุนทรภู่ที่เรียกนํ้าตาคนไทยอย่างมาก

ปัญหาที่น่าสนใจต่อมามีว่าสุนทรภู่ได้เค้าเรื่องลักษณวงศ์มาจากไหน สุนทรภู่เองได้แสดงไว้ในตอนคำนำเรื่องว่าได้จากเรื่องดึกดำบรรพ์ทำนองชาดก คือกล่าวว่า “นิทานหลังครั้งว่างพระศาสนา เป็นปฐมสมมุติกันสืบมา โดยปัญญาที่ประวิงทั้งหญิงชาย ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง จึงแสดงคำคิด ประดิษฐ์ถวาย ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย ให้เพริดพรายมธุรสพจนา” คำเกริ่นบอกเรื่องของสุนทรภู่มักเป็นเช่นนี้เสมอ เรื่องโคบุตรสุนทรภู่ก็ว่าได้เค้าเรื่องจากโบราณเช่นเดียวกันนี้

แต่ตามความเป็นจริงเห็นจะไม่ใช่ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ นักค้นคว้าโบราณคดี สำคัญพระองค์หนึ่งทรงเล่าไว้ว่า เรื่องลักษณวงศ์นี้ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าสุนทรภู่ได้เค้าเรื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายผู้สูงศักดิ์สองพระองค์ คือระหว่างเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งภายหลังได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระองค์เจ้าหญิงนฤมล เจ้าหญิงพระองค์นี้ดูเหมือนจะเป็นราชธิดากรมพระราชวังบวรฯ มหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสิเนหาเจ้าหญิงพระองค์นั้นมากแต่เจ้าหญิงพระองค์นั้นได้ด่วนสิ้นพระชนม์เสียในพระวัยอันเยาว์ ทั้งนี้เป็นเหตุให้เจ้าฟ้ามงกุฎทรงโศกาดูรอาลัยอาวรณ์ในเจ้าหญิงพระองค์นั้นมาก ในคราวงานสดับปกรณ์ เจ้าฟ้ามงกุฎถึงกับ กำสรวลจนนํ้าพระเนตรคลอ สุนทรภู่เมื่อเห็นหรือทราบเรื่องนั้นจึงเก็บมาสร้างเป็นโครงเรื่องลักษณวงศ์ขึ้น เรื่องนี้ปรากฎในพระนิพนธ์เรื่องลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดังจะขอคัดมาให้พิจารณาดังนี้

ฟ้ามกุฎสุดสวาทน้อง            นางสุดา อาว์ท่าน
นามพระองค์นฤมล            เมื่อน้อย
ชิงสิ้นพระชนมาย์            เมื่อภิเนก ษกรมแฮ
ยามสดับปกรณ์ท้อนละห้อย        เหิ่มหวน

ทรวงกำสรวลส่อน้ำ    เนตรคลอ เนตรท่าน
จับจิตจนสุนทร        ภู่เย้า
เฉลยลักษณวงศ์กรอ    กลอนเปรียบ ภิเปรยเอย
เยาว์อยู่ยินผู้เถ้า        ถั่งเถิง

ดังนี้ ตามข้อความของโคลงที่ยกมา แสดงว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องลักษณวงศ์ขึ้นโดยเค้าเรื่องจากชีวิตจริงๆ ของบุคคลสำคัญในชีวิตของสุนทรภู่เอง คือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายชั้นสูงทั้งสองพระองค์นั้นจรรโลงใจสุนทรภู่ จนสุนทรภู่นำไปสร้างเป็นโครงเรื่องลักษณวงศ์ขึ้น ดังโคลงกรมพระ- นราธิปฯ ว่า “จับจิตจนสุนทร ภู่เย้า” คำว่า “เย้า” ก็คือล้อนั้นเอง

แต่สุนทรภู่เย้าเจ้าฟ้ามงกุฎเพียงไหน และเย้าอย่างไร เรื่องนี้เราไม่ทราบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายสองพระองค์นั้นอย่างถี่ถ้วน ทราบแต่ว่าเจ้าหญิงนฤมลมาสิ้นพระชนม์เสียเมื่อรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ามงกุฎจึงโศกาลัยอย่างสุดซึ้ง ตามเรื่องสุนทรภู่จึงสร้างให้ทิพเกสรผู้ซื่อสัตย์ได้วายชนม์ลง เป็นเหตุให้ลักษณวงศ์ต้องคร่ำครวญหวนโหยเป็นที่สุด เจตนาของสุนทรภู่ดูเหมือนจะแต่งเรื่องเทียบเรื่องของเจ้านายที่นับถือของตนเพียงเท่านี้ ส่วนรายละเลียดปลีกย่อยอื่นๆ ในเรื่องลักษณวงศ์คงเป็นบทขยาย หรือโครงเรื่องย่อยดังที่เรียกกันในวงประพันธ์ว่า Sub-plot อันเกิดจากความคิดคำนึงประดิษฐ์ประดอยขึ้นทั้งสิ้น การเย้าหรือล้อของสุนทรภู่จึงเป็น “การเย้าด้วยความคารวะ” เท่านั้น

เกี่ยวกับบทบาทของตัวละครเราจะเห็นว่าสุนทรภู่พยายามจะวาดหญิงแบบฉบับขึ้นคนหนึ่ง อย่างทิพเกสร เป็นคนเดียวที่อาภัพอับโชคที่สุดในชีวิต บางทีสุนทรภู่อาจชี้ให้เห็นว่า “คนดีที่ความดีคุ้มครองไม่ได้” ก็มีอยู่เหมือนกันในโลกนี้ สุนทรภู่วาดทิพเกสรให้เป็นเหมือนตัวแทนพระองค์เจ้าหญิงนฤมลกระนั้นหรือ?

ท่านผู้อ่านที่นับถือ ท่านทราบแล้วว่าโลกนี้เป็นกามภพ มนุษย์เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลส เมื่อสร้างเรื่องลักษณวงศ์นี้สุนทรภู่จึงสร้างปมมืดมนงมงายขึ้นให้กับตัวละคร ปมนั้นคืออวิชชาและ โมหาคติ แล้วจึงคลี่คลายเรื่องออกไปทีละน้อยๆ แทรกแซงปมมืดเหล่านั้นด้วยอารมณ์ปุถุชน มีความรัก ความโกรธ ความหึง และมายาต่างๆ เมื่อได้ทรมานตัวละครพอสมควรแล้ว สุนทรภู่ก็คลายปมมืดนั้นออกทีละน้อยๆ บุคคลที่มากด้วยอวิชชาและโมหาคติก็ค่อยสำนึกตัวในที่สุด และแล้วก็สารภาพความผิด
คนทั้งหลายทำผิดเพราะความรักความหลงอยู่ไม่น้อยเลย สุนทรภู่จึงสร้างท้าวพรหมทัต และลักษณวงศ์ไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับสอนคนไทยในสมัยของสุนทรภู่เรื่องลักษณวงศ์จึงเป็นทั้งมหรสพ และเป็นทั้งแบบเรียนศีลธรรม นี่คือโศกนาฏกรรมที่บรรพชนของเราชื่นชมมาแล้วอย่างจับอกจับใจ

เมื่อข้าพเจ้าศึกษาชีวิตและงานของสุนทรภู่แล้ว เกิดมีความรู้สึกขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องลักษณวงศ์นี้อาจเป็นเรื่องชีวิตของสุนทรภู่เองก็ได้ คือสุนทรภู่ถ่ายทอดชีวิตตนเองลงเป็นเรื่องลักษณวงศ์ ทำไมข้าพเจ้าจึงคิดเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะขอแสดงเหตุผลต่อไป ขอท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดอภัยด้วยถ้าหากข้อสันนิษฐานของข้าพเจ้าจะผิดไป เจตนาของข้าพเจ้ามีเพียงการสันนิษฐานเพื่อประโยชน์ทางประวัติวรรณคดีไทยอาจผิดก็ได้ อาจถูกสักเล็กน้อยก็ได้

ท่านผู้อ่านที่นับถือ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเรื่องลักษณวงศ์เป็นเรื่องเทียบขอให้เราพิจารณาชื่อเรื่องของตัวละครสำคัญๆ ดู คำว่าลักษณวงศ์ ซึ่งเป็นตัวเอกฝ่ายชายนั้นถ้าจะแปลความหมายก็ว่า วงศ์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นพิเศษ ถ้าท่านตรวจประวัติวรรณคดีไทยดู ท่านจะทราบได้ว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในชีวิตของสุนทรภู่เป็นกวีทั้งสิ้น รัชกาลที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือดีๆ มีค่าไว้ทุกพระองค์ แปลว่าราชวงศ์จักรีนี้เป็นราชวงศ์แห่งกวี ความเป็นกวีเป็นลักษณะพิเศษของราชวงศ์จักรี ฉะนี้กระมัง สุนทรภู่ผู้เป็นจินตกวีจึงมองเห็นลักษณะเด่น เลยตั้งชื่อเรื่องของตนว่าลักษณวงศ์ เมื่อเทียบกับพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ตนได้พึ่งพระคุณและมีชีวิตเกี่ยวข้องอยู่ โดยเฉพาะลักษณวงศ์อาจเป็นพระนามที่สุนทรภู่เทียบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกระมัง?

ส่วนนามตัวละครเอกฝ่ายหญิงในเรื่องลักษณวงศ์นั้นเล่า มีข้อน่าคิดว่าหมายถึงตัวสุนทรภู่เอง คำว่าทิพเกสรหรือทิพ์เกสรก็มีความหมายในทำนองหอมหวานเป็นชั้นทิพย์ชั้นสวรรค์ ก็นามบรรดาศักดิ์สุนทรโวหารของสุนทรภู่ก็เข้าลักษณะ ดี งาม ไพเราะ จนมีชื่อเสียงหอมหวนนั้นเอง จึงทำให้น่าคิดว่าสุนทรภู่ใช้นางเอกของเรื่องที่ชื่อว่าทิพยเกสรหรือทิพเกสรนั้นหมายถึงตนเอง แต่สุนทรภู่มีชีวิตแบ่งได้เป็น ๒ ยุค คือยุคร่มเย็นเป็นสุข โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๒ กับยุคอาภัพอับจนต้องทนทุกข์ในรัชกาลที่ ๓ ชีวิตของทิพเกสรก็หมายถึงชีวิตตอนเป็นสุขของสุนทรภู่    ส่วนชีวิตตอนลำบากเริ่มตั้งแต่ออกบวชนั้นก็ได้แก่ชีวิตตอนทิพเกสรแปลงตัวเป็นพราหมณ์เกสรนั้นเอง การที่สุนทรภู่ให้ทิพเกสรปลอมตัวเป็นพราหมณ์ก็อ้างว่าเพื่อความปลอดภัยและเราท่านย่อมทราบว่าสุนทรภู่นั้นเคยไปบวชเป็นพระเพื่อหนีภัยในรัชกาลที่ ๓ ฉะนั้นจึงน่าคิดว่าพราหมณ์เกสรก็คือพระสุนทรภู่นั่นเอง

ท่านผู้อ่านที่นับถือ ก่อนจบข้าพเจ้าขอยกข้อสมมุติสักอย่างหนึ่งคือ ถ้าลักษณวงศ์มิใช่เรื่องโบราณดังสุนทรภู่ว่าก็ดี หรือมิใช่เรื่องของเจ้าฟ้ามงกุฎกับพระองค์เจ้าหญิงนฤมลดังที่กรมพระนราธิป ทรงเล่าก็ดี ข้าพเจ้าสงสัยว่าเรื่องลักษณวงศ์น่าจะหมายถึงใครต่อใครในชีวิตของสุนทรภู่อย่างมาก โดยเฉพาะสุนทรภู่อาจจะเคลิ้มไปว่าตนเองคือทิพเกสรหรือพราหมณ์เกสรนั่นเอง สุนทรภู่อาจแต่งเรื่องนี้ในทำนองเรื่องเทียบความปรากฏตอนหนึ่งเหมือนกับชีวิตของสุนทรภู่ในขณะเป็นกวีที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยคือตอนบรรยายถึงความใกล้ชิดระหว่างลักษณวงศ์กับพราหมณ์เกสรว่าดังนี้

“ปางพระองค์ทรงแต่งเรื่องอิเหนา    พราหมณ์ก็เข้าเคียงเขียนอักษรศรี
เมื่อท้าวติดพราหมณ์ก็ต่อพอดี    ท้าวทวีความสวาทประภาษชม”

จากเรื่องลักษณวงศ์นี้ทำให้น่าเข้าใจว่า ตัวนางทิพเกสร สุนทรภู่หมายถึงตนเองในยุคเป็นสุข และพราหมณ์เกสรก็คือสุนทรภู่ตอนตกยาก นับตั้งแต่ออกบวชเป็นต้นไปนั้นเอง ที่ใช้นามทิพเกสรก็หมายถึงเกสรดอกไม้สวรรค์ย่อมหอมหวน เช่นเดียวกับชื่อเสียงอันหอมหวนของสุนทรภู่ตอนก่อนที่ รัชกาลที่ ๒ จะโปรดให้เข้ารับราชการกระมังสุนทรภู่เป็นคนหยิ่งในทางการประพันธ์ แม้ตอนอดอยากก็ยังหยิ่ง แต่นี่เป็นเพียงการสันนิษฐานของข้าพเจ้าอย่างที่คิดเห็นไปเอง ยังไม่มีหลักฐานอันใดดีกว่าการคิดอนุมานเอา แต่ถ้าท่านทราบชีวประวัติของสุนทรภู่แล้ว ท่านจะเห็นว่าเหมือนพราหมณ์เกสรเป็นอย่างมาก จึงขอฝากความคิดนี้แด่เพื่อนนักศึกษาวรรณคดีโดยทั่วกันเพื่อพิจารณาต่อไป

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

สิงหไกรภพ

นิทานคำกลอนที่ขึ้นชื่อลือชาอีกเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ที่เด็กๆ สมัยนี้ต่างนิยมชมชอบ เนื่องจากได้มีผู้นำมาทำเป็นบทภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เรื่อง สิงหไกรภพ ออกแพร่ภาพจนเด็กๆ ติดกันงอมแงม นับว่าสุนทรภู่สามารถผูกนิทานได้ยอดเยี่ยมจริงๆ

สิงหไกรภพ เป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวรองลงมาจากเรื่องพระอภัยมณี คือมีความ ยาว ๑๕ เล่มสมุดไทย บางคนกล่าวว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้เพื่อประชันกับเรื่องไกรทองพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวว่าสุนทรภู่เริ่มแต่งนิทานเรื่องนี้ ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๗) เพื่อถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ (ขณะนั้นยังทำหน้าที่ถวายพระอักษรเจ้าฟ้าอาภรณ์อยู่) แล้วมาแต่งต่อในสมัยรัชกาลที่ ๓ เข้าใจว่าแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่เรื่องค้างอยู่ แต่งไม่จบ

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า ท้าวอินณุมาศครองเมืองโกญจา มีนางจันทรเป็นมเหสี ไม่มีโอรสหรือธิดา ต่อมาเอาลูกโจรมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมให้ชื่อว่าคงคาประลัย คงคาประลัยชิงราชสมบัติของท้าวอินณุมาศ พระอินทร์ช่วยอุ้มท้าวอินณุมาศและนางจันทรมาอยู่ป่า สองกษัตริย์ปลอมพระองค์เป็นคนสามัญ ไปอาศัยอยู่กับพรานป่าชื่อเพิก จนกระทั่งนางจันทรคลอดโอรส แล้วโอรสองค์นี้ถูกพราหมณ์เทพจินดาขโมยไปเลี้ยงไว้ ยักษ์พินทุมารจับพราหมณ์เทพจินดาและพระโอรสนั้นได้เอาไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อพระโอรสว่าสิงหไกรภพ เมื่อโตขึ้นพราหมณ์เทพจินดาและสิงหไกรภพขโมยยาวิเศษของยักษ์ แล้วพากันหนีจากไปพราหมณ์เทพจินดาพาสิงหไกรภพไปอยู่ที่บ้านตน สิงหไกรภพทราบว่าตนเป็นลูกกษัตริย์ก็หนีพราหมณ์เทพจินดาออกตามหาบิดามารดา ได้นางสร้อยสุดาธิดาของท้าวจตุรพักตร์ กษัตริย์แห่งเมืองมารันเป็นชายา จนนางตั้งครรภ์แล้วพากันหนีมา ท้าวจตุรพักตร์ตามมาชิงนางสร้อยสุดาคืนไป พราหมณ์เทพจินดาตามสิงหไกรภพกลับไปครองเมืองโกญจา ท้าวจตุรพักตร์ยกทัพมาตีเมือง โกญจา ถูกสิงหไกรภพฆ่าตาย สิงหไกรภพรับนางสร้อยสุดามาอยู่ด้วยกันที่เมืองโกญจนา แล้วให้พราหมณ์เทพจินดาครองเมืองมารันต่อมารามวงศ์โอรสของสิงหไกรภพซึ่งอยู่กับยายที่เมืองมารันเติบโตขึ้นได้ลายายมาเยี่ยมสิงหไกรภพ แต่หลงทางเข้าไปในเมืองยักษ์ ได้นางแก้วกินรีแล้วพลัดพรากจากกัน สิงหไกรภพออกติดตามรามวงศ์ ได้นางเทพกินราเป็นชายา ต่อมานางเทพกินราทำเสน่ห์เพื่อให้สิงหไกรภพหลงใหลตน พราหมณ์เทพจินดาแก้เสน่ห์ให้ ต่อจากนี้รามวงศ์ได้ติดตามหาสิงหไกรภพ แต่ไม่ทันได้พบกัน และเรื่องก็จบเพียงเท่านั้น
สุนทรภู่เริ่มต้นนิทานเรื่องนี้ว่า

ข้าบาทขอประกาศประกอบเรื่อง
แต่ปางหลังยังมีบุรีเรือง    ชื่อว่าเมืองโกญจาสถาวร
นามพระองค์ซึ่งดำรงอาณาราษฎร์    อินณุมาศบพิตรอดิศร
พระนามนางเกศสุรางคนิกร        ชื่อจันทรแก้วกัลยาณี
แสนสนมหมื่นประนมประณตน้อม    ดังดาวล้อมจันทราในราศี
ทั้งเสนาพฤฒามาตย์ราชกระวี    อัญชุลีเพียงพื้นพระโรงเรียง
สำราญรอบขอบคันนิคมเขต        ทั่วประเทศพิณพาทย์ไม่ขาดเสียง
สองพระองค์ทรงธรรมไม่ต่ำเอียง    ไร้แต่เพียงบุตราธิดาดวง
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙)

ตอนโหรทำนายฝันของนางจันทร แล้วกล่าวว่าท้าวอินณุมาศและนางจันทรจะสูญเสียราช¬สมบัติ ท้าวอินณุมาศปลงตก คิดได้ว่า

เป็นทุกขังอนิจจังอนัตตา    อันเกิดมาเป็นบุคคลไม่พ้นตาย
สุขกับโศกเหมือนหนึ่งโรคสำหรับร่าง    รำพึงพลางหักให้พระทัยหาย
กลับคนเข้าแท่นสุวรรณพรรณราย        ตรัสสอนสายสุดสวาทนาฏอนงค์
สงวนครรภ์ขวัญเนตรเถิดน้องรัก        โหราทักทุกข์แทบจะผุยผง
เรายึดยุดพุทธคุณให้มั่นคง            เป็นทางตรงตราบสิ้นชีวาลา
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๕)

สุนทรภู่บรรยายความทุกข์ยากลำบากของนางจันทรขณะอยู่กับพรานเพิกว่า

น่าสงสารทรามวัยพระทัยหาย
ภูษาทรงโจงกระหวัดรัดพระกาย    ฉวยกระบายโกยเข้าลงใส่ครก
ไม่เคยตำก็ถลำถลากพลาด        ออกพรุดพราดเรี่ยรายกระจายหก
ไม่ทันแตกเอาขึ้นหัตถ์ฝัดกระทก    แล้วใส่ครกกลับตำนั้นร่ำไป
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๒๔)

ตอนนางจันทรคลอดพระโอรส สุนทรภู่บรรยายให้เห็นความเศร้าโศกของท้าวอินณุมาศ และนางจันทรที่โอรสมาคลอดกลางป่าว่า

ดูลูกรักวรพักตร์เพียงเพ็ญจันทร์    พระทรงธรรม์กอดลูกแล้วโศกา
นฤบาลว่าสงสารพระลูกแก้ว    เกิดมาแล้วเมื่อพ่อขาดวาสนา
นางจันทรว่าแม้นก่นพ่อเกิดมา    พระวงศาก็จะล้อมอยู่พร้อมเพรียง
พระบิดาว่าแม้นเมื่อได้ฤกษ์        จะเอิกเกริกแตรสังข์ประดังเสียง
พระชนนีว่าจะมีแม่นมเคียง        พระพี่เลี้ยงเฒ่าแก่จะแจจัน
พระปิตุเรศว่าประเทศทุกไทท้าว    ถ้ารู้ข่าวก็จะรีบมาทำขวัญ
พระมารดาว่าพ่อนอนเมื่อกลางวัน    ฝูงกำนัลก็จะเห่ดังเรไร
พระบิดาว่าโอ้มาคลอดเจ้า    กระท่อมเท่ารังกาได้อาศัย
พระมารดาว่าสงสารสายสุดใจ    อู่ก็ไม่มีรองพระองค์เลย
พระทรงฤทธิ์ว่าคิดแล้วใจหาย    เอาหนังควายต่างฟูกเถิดลูกเอ๋ย
พระมารดาว่าขวัญเข้าเจ้าทรามเชย    มาเสวยถันเต้าแม่เต็มทรวง
สองกษัตริย์โทมนัสด้วยลูกน้อย    ยิ่งเศร้าสร้อยคิดคะนึงถึงวังหลวง
แล้วแข็งขืนกลืนโศกไว้ในทรวง    อาทิตย์ล่วงเลยลัดอัสดงค์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๒๗)

สิงหไกรภพให้คำมั่นสัญญาแก่นางสร้อยสุดาว่า“ถึงม้วยดินสินฟ้าสุราลัย ไม่จากไกลกลอยสวาทแล้วชาตินี้” (พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ,, นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๘)

ตอนสิงหไกรภพอุ้มนางสร้อยสุดาหนียักษ์ผู้เป็นบิดา สุนทรภู่บรรยายถึงความว้าเหว่ของสิงหไกรภพขณะที่เหาะไปในท้องฟ้าว่า

จะแลซ้ายสายเมฆวิเวกจิต                ให้หวาดหวิดว้าเหว่ในเวหา
จะเหลียวกลับลับปราสาทหวาดวิญญา        จะแลขวาขวัญหายไม่วายครวญ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๗๗)

พราหมณ์เทพจินดาเตือนสิงหไกรภพให้รีบไปหาบิดามารดาก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาชิงนางสร้อยสุดาคืน โดยให้เหตุผลว่า

พระชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง        ไม่ควรทิ้งทอดพระคุณให้สูญหาย
ถึงลูกเมียเสียไปแม้นไม่ตาย        ก็หาง่ายดอกพี่เห็นไม่เป็นไร
พระบิดามารดานั้นหายาก        กำจัดจากแล้วไม่มีที่อาศัย
นางไปอยู่บุรีไม่มีภัย        มาเมื่อไรคงพบประสบกัน
ขอเชิญพ่อหน่อเนื้อในเชื้อแถว    ไปกรุงแก้วโกญจามหาสวรรย์
พระบิตุราชมาตุรงค์เผ่าพงศ์พันธุ์    จะนับวันคอยหาด้วยอาวรณ์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙๓)
ตอนสิงหไกรภพชมธรรมชาติแล้วระลึกถึงนางสร้อยสุดา สุนทรภู่เล่นคำได้ดี คือบรรยายว่า

เห็นธารน้ำรำลึกเมื่อเล่นธาร        เริงสำราญหรือรกร้างให้ห่างกัน
เห็นกวางทองย่องเยื้องชำเลืองหลบ    เหมือนแลพบพักตร์ยุพินเมื่อผินผัน
หอมลูกอินกลิ่นระคนปนลูกจันทน์        เหมือนกลิ่นขวัญเนตรรื่นชื่นอารมณ์
นางแย้มงามยามเยื้อนเหมือนเบือนยิ้ม    ให้เชยชิมชื่นชิดสนิทสนม
ดอกเล็บนางอย่างเล็บพระเก็บชม    แต่ไม่คมข่วนเจ็บเหมือนเล็บนาง
รสสุคนธ์เหมือนสุคนธ์ปนแป้งสด    มาร้างรสสุคนธ์น้องให้หมองหมาง
อบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง    ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์
เห็นสาวหยุดสุดคะนึงคิดถึงสาว    หอมเช้าๆ ชื่นใจเมื่อไก่ขัน
โอ้เต่าร้างเหมือนที่ร้างมาห่างกัน    ทุกคืนวันวายชมให้ตรมตรอม
หอมอบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง    ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์
เห็นสาวหยุดสุดคะนึงคิดถึงสาว    หอมเช้าๆ ชื่นใจเมื่อไก่ขัน
โอ้เต่าร้างเหมือนพี่ร้างมาห่างกัน        ทุกคืนวันวายชมให้ตรมตรอม
หอมอบเชยเหมือนเมื่อเคยเชยกลิ่นอบ    หอมตระหลบอบกลิ่นไม่สิ้นหอม
พยอมเอ๋ยเคยใจมิใคร่ยอม    ให้ต้องออมอกช้ำทุกค่ำเช้า
เห็นโศกออกดอกอร่ามเมื่อยามโศก    แสนวิโยคโศกทรวงให้ง่วงเหงา
ถึงดอกงามยามโศกเหมือนโรคเรา        มีแต่เศร้าโศกซ้ำนั้นร่ำไป
เห็นยมโดยโดยดิ้นถวิลโหย        เหมือนดิ้นโดยดังจะพาน้ำตาไหล
โอ้ระกำเหมือนกรรมในน้ำใจ    ด้วยมาไกลกลืนช้ำระกำตรม
เห็นกลอยออกดอกดวงเป็นพวงห้อย    เหมือนกลิ่นกลอยใจคิดสนิทสนม
เสน่หาอาวรณ์ร้อนอารมณ์        จะแลชมอื่นๆ ไม่ชื่นใจ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙๗)

เมื่อสิงหไกรภพมีสารมาถึงนางสร้อยสุดา ก็ยํ้าถึงความซื่อสัตย์ต่อความรักของพระองค์ที่มีต่อนางว่า

จนม้วยดิ้นสิ้นฟ้ามหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดเสน่หาจนอาสัญ
ถึงตัวไปใจคิดเป็นนิรันดร์    ที่รับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวาย
(พ. ณประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๑๓)

เมื่อสิงหไกรภพฆ่าท้าวจตุรพักตร์ มเหสีและนางสร้อยสุดาผู้เป็นธิดารวมทั้งญาติอื่นๆ ได้คร่ำครวญอาลัยรักดังนี้

มเหสีตีทรวงเสียงฮักฮัก    โอ้ปิ่นปักปัถพินมาสิ้นสูญ
จะเสียวงศ์พงศ์ยักษ์ศักดิ์ตระกูล    จะตามทูนกระหม่อมม้วยเสียด้วยกัน
พระธิดาว่าโอ้พระปิตุเรศ    เคยปกเกศชุบย้อมถนอมขวัญ
ให้ผาสุกทุกเวลาทิวาวัน    ยังไม่ทันแทนพระคุณมาสูญลับ
พระวงศาว่าทูนกระหม่อมแก้ว    นิพานแล้วมืดเหมือนดังเดือนดับ
นางห้ามแหนแสนอาลัยว่าไปทัพ    เคยคอยรับหรือมาร้างถึงวางวาย
นางพระยาว่าพระคุณมาสูญเสีย    เหมือนศอเมียขาดกระเด็นไม่เห็นหาย
จะโศกช้ำร่ำรับแต่อับอาย    จะสู้ตายให้พ้นทนทรมาน
พระธิดาว่าพระคุณทูนกระหม่อม    เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกหลาน
แต่ครั้งนี้มีโทษไม่โปรดปราน        ไปรอนราญจนสวรรคครรไล
พระวงศาว่าแต่นี้ไม่มีสุข    จะรับทุกข์ทุกเวลาน้ำตาไหล
สนมนางต่างว่านับจะลับไป        จะมิได้เฝ้าองค์พระทรงยศ
ทั้งเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร    ให้สงสารวิโยคโศกสลด
แต่สองนางอย่างจะม้วยระทวยทด    ทรงกำสรดโศกาด้วยอาวรณ์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๒๓-๑๒๔)

บรรดาสาวสนมกำนัลของสิงหไกรภพ    เมื่อรู้ว่าสิงหไกรภพไม่สนใจพวกตนก็พากันเล่นเพื่อน ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

เห็นโฉมสร้อยสุดามารศรี
ดังเดือนเพ็งเปล่งฟ้าไม่ราคี    ถึงทั้งมีลูกเต้ายังเพราพริ้ง
ประไพพักตรลักษณะพระวิลาศ    ดูผุดผาดล้ำเลิศประเสริฐหญิง
ที่เหิมฮึกนึกไว้อายใจจริง    เหลือจะชิงชมชิดทำบิดเบือน
แต่ลูกสาวท้าวพระยาพวกข้าหลวง    ทุกกระทรวงห้ามแหนไม่แม้นเหมือน
ต่างเมินหมางห่างแหทำแชเชือน    เที่ยวเล่นเพื่อนพิศวาสละราชการ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๓๓-๑๓๔)

เรื่องสิงหไกรภพค้างอยู่เพียงท้าวกาลเนตรตายเท่านั้น เข้าใจว่าสุนทรภู่ไม่ได้แต่งไว้จนจบเรื่อง

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

พระอภัยมณี

พระอภัยมณี เป็นนิทานคำกลอนเรื่องยาวที่สุดของสุนทรภู่ มีความยาว ๙๔ เล่มสมุดไทย นับเป็นตอนๆ ได้ถึง ๖๔ ตอน

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผินก็ดูคล้ายกับเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วๆ ไป แต่อันที่จริงแล้วเรื่องนี้มีลักษณะแปลกไปจากเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่นๆ กล่าวคือ ตัวละครเอกคือ พระอภัยมณีไม่ชำนาญในเรื่องการสู้รบลักษณะเช่นนี้ต่างจากตัวละครเอกอื่นๆ ในบรรดาเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั้งหลาย นอกจากนี้พระอภัยมณียังชำนาญการเป่าปี่ไม่ได้ชำนาญการใช้อาวุธอื่นใด ส่วนศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นตัวละครที่มีความสำคัญรองลงมา แม้จะเก่งในทางรบพุ่งมากกว่าพระอภัยมณี แต่อาวุธที่ใช้ในการรบก็เป็นเพียงกระบองเท่านั้น นอกจากนี้พระอภัยมณีและศรีสุวรรณก็ไม่มีวิชาความรู้ทางด้านไสยศาสตร์ที่จะใช้ในการป้องกันตัว มีแต่เพียงวิชาการเป่าปี่และวิชากระบี่กระบองเท่านั้น นับว่าวิชาความรู้ของตัวเอกค่อนข้างจะแปลกไปกว่าที่ปรากฎในเรื่องจักรๆวงศ์ๆ อื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้ตัวละครฝ่ายหญิงยังมีความรู้ความสามารถในการทำศึกสงคราม ลักษณะเช่นนี้ต่างไปจากตัวละครเอกฝ่ายหญิงในเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วๆ ไปอย่างเห็นได้แจ่มชัด อนึ่ง ในตอนท้ายเรื่อง แทนที่พระอภัยมณีจะได้ครองคู่กับนางสุวรรณมาลีและนางละเวงอย่างมีความสุข กลับปรากฏว่าสุนทรภู่กำหนดให้พระอภัยมณีหาความสงบสุขด้วยการออกบวช นับว่าต่างไปจากเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัดอีกประการหนึ่ง นอกจากนี้เนื้อหาของเรื่องพระอภัยมณียังสามารถแบ่งออกได้เป็นตอนๆ แต่ละตอนมีเนื้อหาสนุกสนาน ชวนแก่การติดตาม มีของวิเศษ สัตว์วิเศษ และสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ นานาอันเป็นเรื่องที่สุนทรภู่จินตนาการขึ้นเองบ้าง นำความรู้ความคิดมาจากตำนาน ประวัติศาสตร์ ชาดกและวรรณคดีของชาติอื่นบ้าง แล้วนำมาผสมผสาน สอดร้อยเข้าเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน

สุนทรภู่เริ่มแต่งนิทานเรื่องนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยแต่งเพื่อขายฝีปากเลี้ยงตนเองขณะติดคุก ราวปีพ.ศ. ๒๓๖๔ แต่คงแต่งไว้แต่เพียงเล็กน้อย เมื่อพ้นโทษคงจะได้แต่งต่อบ้างตามสมควร แต่ก็คงไม่มากนักเพราะมีราชการต้องเข้าเฝ้าอยู่เสมอ ต่อมาเมื่อสุนทรภู่บวชในสมัยรัชกาลที่ ๓ และจำพรรษาอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ระหว่างพ.ศ. ๒๓๗๗-๒๓๗๘ อยู่ในพระอุปการะของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ สุนทรภู่ก็ได้แต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อ เป็นการแต่งถวายตามรับสั่งของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แต่งได้มากน้อยเพียงใดและแต่งถึงตอนใดก็ไม่ปรากฎหลักฐาน ในระยะต่อมาเมื่อสุนทรภู่ได้พึ่งพระบารมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ในตอนปลายสมัยรัชกาลท ๓ ก็ได้แต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อไปอีกโดยแต่งตามรับสั่งของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระพี่นางร่วมเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แต่งจนถึงเล่มที่ ๔๙ คือตอนพระอภัยมณีออกบวช หลังจากนั้นได้ให้ผู้อื่นแต่งต่อ ไม่ใช่สำนวนของสุนทรภู่

เนื้อหาของเรื่องพระอภัยมณีมีอยู่ว่า ท้าวสุทัศน์ ครองกรุงรัตนา มีโอรส ๒ องค์คือ พระอภัยมณีและศรีสุวรรรณพระองค์รับสั่งให้สองโอรสไปเรียนวิชาเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในการครองราชย์สืบไป พระอภัยมณีเรียนวิชาเป่าปี่ ศรีสุวรรณเรียนวิชากระบี่กระบอง เมื่อกลับกรุงรัตนา พระบิดาโกรธเคืองที่เรียนวิชาไม่เหมาะสมกับที่เป็นโอรสกษัตริย์ ก็ขับไล่ออกจากเมืองพระอภัยมณีและศรีสุวรรณออกจากเมืองพบพราหมณ์โมรา สานน และวิเชียร พระอภัยมณีเป่าปี่ให้ ๓ พราหมณ์ฟังจนถูกนางผีเสือยักษ์อุ้มเอาตัวไป แปลงร่างเป็นหญิงสาวอยู่ด้วยกันจนมีบุตรคนหนึ่งชื่อสินสมุทร สินสมุทรพาพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อยักษ์มาที่เกาะแก้วพิสดาร พระอภัยมณีได้นางเงือกเป็นชายา ส่วนศรีสุวรรณและ สามพราหมณ์ออกติดตามหาพระอภัยมณีจนไปได้นางเกษราธิดาเจ้าเมืองรมจักรเป็นชายา

ท้าวสิลราชเจ้าเมืองผลึกพาสุวรรณมาลีผู้เป็นธิดาออกเที่ยวทะเล มาถึงเกาะแก้วพิสดาร พบพระอภัยมณีและสินสมุทร ทั้งสองขอโดยสารเรือไปด้วย ขณะที่เดินทางไปนั้น นางผีเสือยักษ์ได้ทำเรือจม ท้าวสิลราชสิ้นพระชนม์ พระอภัยมณีกับศิษย์หนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา พระอภัยมณีเป่าปี่ นางผีเสื้อยักษ์ขาดใจตาย สินสมุทรแบกนางสุวรรณมาลีว่ายนํ้าพาขึ้นเกาะแห่งหนึ่งและขอโดยสารเรือโจรสุหรั่ง สินสมุทรฆ่าโจรเพราะโจรลวนลามนางสุวรรณมาลี แล้วแล่นเรือต่อไปยังเมืองผลึกเมื่อเรือผ่านมาถึงเมืองรมจักร ได้รบกับศรีสุวรรณ สินสนุทรจับศรีสุวรรณได้และรู้ว่าเป็นอา จึงได้พากันออกติดตามหาพระอภัยมณี

ฝ่ายอุศเรนคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลีออกติดตามหานางได้พบพระอภัยมณีกับพวกอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง พระอภัยมณีขออาศัยเรืออุศเรนมาด้วย จนพบเรือของสินสมุทร อุศเรนขอนางสุวรรณมาลีคืน แต่สินสมุทรไม่ยอมเกิดรบกันขึ้น อุศเรนแพ้หนีไปลังกา พระอภัยมณีกับพวกพากันเข้าเมืองผลึก พระอภัยมณีได้ครองเมืองผลึก นางสุวรรณมาลีโกรธพระอภัยมณีที่จะคืนนางให้แก่อุศเรน จึงหนีออกบวช นางวาลีออกอุบายจนนางสุวรรณมาลียอมสึกและอภิเษกกับพระอภัยมณี จนกระทั่งมีธิดาฝาแฝด ชื่อสร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา ต่อมาพระอภัยมณีให้ศรีสุวรรณพาสินสมุทรและอรุณรัศมีเดินทางไปเฝ้า ท้าวสุทัศน์ยังเมืองรัตนา

ฝ่ายนางเงอกที่เกาะแก้วพิสดารได้คลอดบุตรชายที่เกิดกับพระอภัยมณีให้ชื่อว่าสุดสาคร  เรียนวิชากับพระฤาษีจนเก่งกล้า มีม้ามังกรเป็นพาหนะ แล้วลาพระฤาษีออกติดตามหาพระอภัยมณี รบกับปีศาจที่เมืองร้างและถูกชีเปลือยหลอกผลักตกเหว พระฤาษีมาช่วยไว้ สุดสาครตามชีเปลือยไปถึงเมืองการเวก เอาม้ามังกรและไม้เท้าวิเศษคืนมาได้ เจ้าเมืองการเวกรับสุดสาครเป็นบุตรบุญธรรม ให้อยู่กับหัสไชย และเสาวคนธ์ผู้เป็นโอรสและธิดา

เมื่ออุศเรนกลับไปถึงเกาะลังกา ได้ขอให้บิดายกทัพมาตีเมืองผลึก นางวาลีและสุวรรณมาลี ช่วยรบและจับอุศเรนได้ เจ้าลังกาหนีไป นางวาลีเยาะเย้ยอุศเรนจนอุศเรนแค้นใจอกแตกตาย แต่ปีศาจอุศเรนก็มาหักคอนางวาลีให้ตายตามไป

ฝ่ายเจ้าลังกา เมื่อเห็นศพอุศเรนที่พระอภัยส่งมาให้ก็เสียใจจนสิ้นพระชนม์ นางละเวงผู้เป็นธิดา จึงขึ้นครองราชย์ นางละเวงคิดจะทำศึกกับเมืองผลึกโดยหาผู้อาสา จึงได้ส่งรูปของนางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อให้มาช่วยรบ โดยสัญญาว่าหากใครรบชนะก็จะยอมเป็นมเหสี เมืองผลึกจึงต้องรับศึกหนักถึง ๙ ทัพ สินสมุทรและศรีสุวรรณต้องมาช่วยพระอภัยมณีทำศึก พระอภัยมณีจับเจ้าละมานซึ่งหลงรูปนางละเวงและเป็นผู้มาอาสาทำศึกให้นางละเวงได้ พระอภัยมณีเห็นรูปนางละเวงจนคลั่ง สุดสาครพาเสาวคนธ์และหัสไชยมาช่วยเมืองผลึกทำศึกและเพื่อแก้ไขพระอภัยมณีจนพระอภัยมณีหายคลั่ง

พระอภัยมณีกับพวกยกทัพไปลังกาเพื่อแก้แค้นนางละเวง แต่พอเห็นนางละเวงก็พอพระทัยในตัวนาง นางละเวงหนีเข้าเมืองลังกาพร้อมกับนางยุพาผกาและสุลาลีวัน พระอภัยมรีกับพวกหลงเสน่ห์ นางละเวงกับพวกพระอภัยมณีได้นางละเวงเป็นมเหสี ศรีสุวรรณตามไปช่วยก็ได้นางรำภาส่าหรี สินสมุทรได้นางยุพาผกา สุวรรณมาลียกทัพเข้าประชิดลังกา พระอภัยมณีรบกับนางสุวรรณมาลี สุดสาครยกทัพมาช่วยสุวรรณมาลี แต่ถูกเสน่ห์นางสุลาลีวัน เสาวคนธ์ยกทัพมาจากเมืองการเวกมาช่วยทำศึกได้รบกัน ร้อนถึงพระฤาษีที่เกาะแก้วพิสดารมาเทศนาโปรดกลางสนามรบ เมืองผลึกและลังกาจึงเลิกรบกัน นางเสาวคนธ์ได้ขอโคตรเพชรจากนางละเวงแล้วนำกลับเมืองการเวก

พระอภัยมณีพาพรรคพวกกลับเมืองผลึก ขอนางอรุณรัศมีให้สินสมุทร ขอเสาวคนธ์ให้สุดสาคร แต่เสาวคนธ์หนีไปเมืองวาหุโลม สุดสาครออกตามหาพบกันแล้วพากันกลับเมือง

ฝ่ายมังคลาโอรสของนางละเวงขึ้นครองลังกา ได้รับคำยุยงจากบาทหลวงให้ไปทวงโคตรเพชรคืนมาจากเมืองการเวก เกิดทำสงครามกัน พระอภัยมณีและนางละเวงช่วยกันปราบมังคลาผู้เป็นโอรสแล้วอภิเษกสุดสาครกับเสาวคนธ์ หัสไชยกับนางสร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา ส่วนพระอภัยมณีภายหลัง ต้องออกบวชเป็นฤาษีที่เขาสิงคุตร์เพราะชายาทั้ง ๒ คือสุวรรณมาลีและละเวงหึงหวงกัน แล้วทั้งสองนางก็ออกบวชเป็นชีตามพระอภัยมณีด้วย

มีผู้กล่าวว่าสุนทรภู่สร้างตัวละครต่างๆ ในเรื่องพระอภัยมณีโดยนำมาจากบุคคลต่างๆ ในชีวิตจริง เช่น ท้าวสุทัศน์คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ที่เห็นได้ชัดเจนคือวันเดือนปี ที่ท้าวสุทัศน์สิ้นพระชนม์ตรงกับวันเดือนปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต) นางสุวรรณมาลีคือแม่จันภรรยาคนแรกของสุนทรภู่ซึ่งมีนิสัยขี้หึงเหมือนกัน นางละเวงคือแม่งิ้วที่สุนทรภู่กล่าวถึงหลายเรื่อง สินสมุทรคือนายพัดผู้บุตรชายซึ่งเป็นคนไม่เจ้าชู้ (ในนิราศสุพรรณ กล่าวว่ามีสาวลาวมาหาถึงในเรือ หนูพัดไม่กล้าออกมาพบ)

นอกจากนี้สุนทรภู่ยังนำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นมาสอดแทรกไว้ในเรื่องได้อย่างเหมาะสม เช่น ศึก ๙ ทัพที่ยกมาตีเมืองผลึก สุนทรภู่ได้เค้าเงื่อนมาจากศึก ๙ ทัพที่พระเจ้าปะดุงแห่งพม่ายกมาตีไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปีพ.ศ. ๒๓๒๘

เรื่องของเจ้าละมาน สุนทรภู่ก็ได้เค้ามาจากเจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์ คือในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปีพ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุคิดกบฎ ถูกจับได้แล้วนำตัวมาขังไว้ในกรุงเทพฯ ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ประชาชนพากันไปดูหน้า

เรื่องนางละเวงฝึกหัดทหารหญิงเพื่อใช้ในการรบ สุนทรภู่คงจะได้เค้ามาจากเรื่องที่คุณหญิงโม หรือท้าวสุรนารีรวบรวมหญิงไทยสู้รบกับกองทัพเจ้าอนุก็ได้

เรื่องพระอภัยมณีหัดพูดภาษาฝรั่ง สุนทรภู่คงได้เค้าความคิดนี้จากเรื่องจริงในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะสมัยนี้คนไทยเริ่มเรียนภาษาอังกฤษกันแล้ว เช่นเจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และหม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร เป็นต้น

เรื่องนางสุวรรณมาลีได้รับการผ่าตัด สุนทรภู่คงได้เค้าเรื่องมาจากเรื่องจริงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งไทยเริ่มรู้จักรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นครั้งแรก คือ มีพระภิกษุรูปหนึ่งในวัดประยูรวงศ์ถูกไฟพะเนียง ระเบิดแขนหัก หมอบรัดเลย์ซึ่งเป็นมิชชันนารีอเมริกันได้รักษาด้วยวิธีตัดแขนพระรูปนั้น แต่ในเรื่อง พระอภัยมณี สุวรรณมาลีไม่ได้โดนตัดแขน เพียงแต่

ฝ่ายสุวรรณมาลีศรีลวัสดิ์        ถึงปรางค์รัตน์เร้ารวดปวดอังสา
ให้หมอแก้แผลกำซาบซึ่งอาบยา    เอามีดผ่าขูดกระดูกที่ถูกพิษ
เป่าน้ำมันกันแก้ตรงแผลเจ็บ        เอาเข็มเย็บยุดตรึงขี้ผึ้งปิด
ทั้งข้างนอกพอกยาสุรามฤต        ให้ถอนพิษผ่อนปรนพอทนทาน
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติเล่ม ๑, หน้า ๔๕๕)

เรื่องการทำศึกสงครามที่อ่าวปากนํ้าในเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่คงจะได้เค้าเงื่อนมาจากเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ที่มีการเตรียมป้องกันศึกทางทะเลโดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครเขื่อนขัณฑ์หรือพระประแดง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ สร้างป้อมทั้งทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันออกมี ๓ ป้อม คือ ป้อมใบเจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร (ส่วนป้อมวิทยาคมสร้างไว้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แล้ว) ฝั่งตะวันตกมี ๕ ป้อม คือ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรู พินาศ ป้อมจักรกรด ป้อมพระจันทร์-พระอาทิตย์ ริมแม่น้ำก็เอาสายโซ่ขึงกันเอาไว้ เรื่องการเอาโซ่ขึงแม่น้ำไว้นี้ สุนทรภู่ก็ได้กล่าวไว้ตอนท้าวทศวงศ์ป้องกันเมืองรมจักร เมื่อทราบว่าท้าวอุทานยกทัพมา ท้าวทศวงศ์สั่งว่า

ที่ปากน้ำสำคัญอยู่แห่งหนึ่ง        เอาโซ่ขึงค่ายดูดูรักษา
ให้ลากปืนป้อมฝรั่งขึ้นจังกา        คอยยิงข้าศึกให้บรรลัยลาญ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๖๗)

เรื่องฝรั่งอยู่ในเมืองลังกา สุนทรภู่คงได้ข่าวเรื่องประเทศอังกฤษได้ลังกาเป็นเมืองขึ้นในสมัยนั้นซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับ ปี พ.ศ. ๒๓๕๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่จึงได้สมมุติให้เมืองลังกาเป็นเมืองของฝรั่ง (ข้อนี้มีบางคนตำหนิว่าสุนทรภู่ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าลังกาเป็นเมืองแขก ไม่ใช่เมืองฝรั่ง นับว่ายังเข้าใจผิดอยู่)

นอกจากนี้ยังมีหลายเรื่องที่สุนทรภู่ได้เค้าเรื่องมาจากตำนาน นิทาน นิยายของชาติอื่นเช่น เรื่องที่สุนทรภู่กำหนดให้พระอภัยมณีแต่งงานกับชาวต่างชาติคือนางละเวง น่าจะได้เค้าความคิดมาจากเรื่องอาหรับราตรี ฉบับเซอรริชาร์ต เบอร์ตัน มีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงกษัตริย์อิสลามยกทัพไปทำศึกสงครามกับนางกษัตริย์ที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้มีโอกาสพบกันตัวต่อตัวกลางสนามรบ แล้วเกิดรักใคร่กัน

เรื่องม้านิลมังกร สุนทรภู่ก็คงได้เค้าเรื่องมาจากนิทานอาหรับราตรีเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงเจ้าชาย อายิบ เดินทางท่องเที่ยวไปในทะเล เรือถูกภูเขาแม่เหล็กดูดเข้าไปหา เนื่องจากแผ่นกระดานเรือตรึงด้วยตะปูเหล็ก ในที่สุดตะปูเหล่านั้นก็หลุดออกจากตัวไม้ ทำให้เรือแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจมลงไปในทะเล เจ้าชายอายิบเกาะไม้กระดานแผ่นหนึ่งจนขึ้นไปอยู่บนศาลายอดเขาแม่เหล็กได้ ต่อมาเจ้าชายก็ได้ผจญภัยต่างๆ จนได้พบม้าตัวหนึ่งในปราสาททองคำ ม้านั้นมีปีกบินได้

เรื่องพระอภัยมณีเจ้าชู้มีชายาเป็นยักษ์ เงือก มนุษย์ และอื่นๆ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่คงจะได้เค้าเรื่องมาจากชีวิตรักของอรชุน ซึ่งเป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งในเรื่องมหาภารตยุทธ์

นอกจากนี้เรื่องวิชาเป่าปี่ของพระอภัยมณีและวิชาความรู้ด้านกระบี่กระบองของศรีสุวรรณ สุนทรภู่ก็ได้มาจากพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น คือเตียวเหลียงชำนาญวิชาการเป่าปี่ พระเจ้าฌ้อปาอ๋อง เป็นกษัตริย์ที่ชำนาญกระบี่กระบอง เพลงปี่ของพระอภัยมณีที่เป่าครั้งแรกตอนตีเมืองลังกาก็ได้มาจากเพลงปี่ของเตียวเหลียง

เพลงปีของเดียวเหลียงมีเนื้อความว่า เสียงเป่าปี่อยู่บนภูเขาเป็นเพลงว่า เดือนยี่ฤดูหน้าหนาวนํ้าค้างตกเย็นทั่วไปทั้งสี่ทิศ จะดูฟ้าก็สูงแม่นํ้าก็กว้าง ฤดูนี้คนทั้งปวงได้ความเวทนานักที่จากบ้านเมืองมาต้องทำศึก อยู่นั้น บิดามารดาและบุตรภรรยาอยู่ภายหลังก็ยืนคอคอยอยู่แล้ว ถึงมีเรือกสวนและไร่นาก็จะทิ้งรกร้างไว้ไม่มีผู้ใดจะทำ เพื่อนบ้านที่เขาไม่ต้องไปทัพอยู่พรักพร้อมกันก็จะอุ่นสุรากินเล่นเป็นสุข น่าสงสารผู้ที่จากบ้านช่องมาหลายปีนั้น ที่บิดามารดาแก่ชราอยู่ก็ป่วยเจ็บล้มตายเสีย หาได้เห็นใจบิดามารดาไม่ และตัวเล่าต้องมาทำศึกอยู่ฉะนี้ ถ้าเจ็บป่วยล้มตายลงก็จะกลิ้งอยู่กลางแผ่นดินแต่ผู้เดียว บุตรภรรยาและญาติพี่น้องก็มิได้ปรนนิบัติรักษากัน เป็นผีหาญาติมิได้ ถ้าแต่งตัวออกรบครั้งใด ก็มีแต่ฆ่าฟันกัน กระดูกและเนื้อถมแผ่นดินลงทุกครั้งดูสังเวชนัก ท่านทั้งปวงก็เป็นมนุษย์มีสติปัญญาอยู่ทุกคน เร่งคิดเอาตัวรอดไปบ้านช่องของตัวเถิด ท่านไม่รู้หรือ ม้านั้นก็เป็นแต่สัตว์เดียรัจฉาน ถ้าผู้ใดพาไปจากโรงและมิได้ผูกถือกักขังไว้ก็ย่อมกลับคืนมาถิ่นที่อยู่ของตัว อันประเพณีมนุษย์ถ้าจะเจ็บป่วยล้มตายก็ย่อมให้อยู่ที่บ้านช่องของตัวพร้อมบิดามารดาและญาติพี่น้องจึงจะดี ครั้งนี้เทพยดารู้ว่าพระเจ้าฌ้อปาอ๋องสิ้นวาสนาเเล้ว และมีความกรุณาแก่ท่านทั้งปวงว่าจะมาพลอยตายเสียเปล่า จึงใช้เรามาบอกให้รู้ ให้เร่งคิดเอาตัวรอดเสีย ถ้าช้าอยู่อีกวันสองวันฮั่นอ๋องก็จะจับตัวพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้ ถึงผู้ใดมีกำลังและหมายจะสู้รบก็เห็นจะไม่พ้นมือฮั่นอ๋องแล้ว อันกำลังศึกฮั่นอ๋องครั้งนี้อย่าว่าแต่คนเข้าต้านทานเลย ถึงมาตรว่าหยกและศิลาก็มิอาจทนทานอยู่ได้ อันฮั่นอ๋องนั้นเป็นคนมีบุญ นํ้าใจก็โอบอ้อมอารีนัก ถึงผู้ใดจะเป็นข้าศึกถ้าและเข้าไป สามิภักดิ์แล้ว ก็ชุบเลี้ยงมิได้ทำอันตรายเลย ฮั่นอ๋องจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นแท้ ท่านทั้งปวงจงคิดอ่านเอาตัวรอดรักษาชีวิตไว้เอาความชอบดีกว่า ซึ่งเพลงของเราทั้งสามร้อยคำนี้ ท่านทั้งปวงตรึกตรองทุกคำเถิด เดียวเหลียงเป่าซ้ำอยู่ดังนี้ถึงเก้าครั้งสิบครั้ง ทหารของพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้ยินเสียงปี่ และถ้อยคำที่เป่ารำพันไปดังนั้นก็ยิ่งมีนํ้าใจสลดลง กลัวความตายให้คิดถึงบิดามารดานัก นั่งกอดเข่าถอนใจใหญ่ร้องไห้อยู่

ส่วนเพลงปี่ของพระอภัยมณีนั้น มีเนื้อความว่า

พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต        ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง        อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้            ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย    น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉือยชื่น    ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน        จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
วิเวกแว่วแจ้วเสียงสำเนียงปี่            พวกโยธีทิ้งทวนชนวนเขนง
ลงนั่งโยกโงกหลับทับกันเอง            เสนาะเพลงเพลินหลับระงับไป
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๔๙๔-๔๙๖)

นอกจากนี้เรื่องกลศึกในเรื่องพระอภัยมณี ก็เข้าใจว่าสุนทรภู่จะได้จากเรื่องสามก๊ก ฯลฯ

นอกจากนี้มีหลายเรื่องที่เกิดจากจินตนาการของสุนทรภู่เองซึ่งทำให้คนอ่านแปลกใจที่สุนทรภู่ มีจินตนาการที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก คิดฝันในสิ่งที่เพิ่งจะมีหรือเพิ่งจะมีการประดิษฐ์ขึ้นในสมัยหลังๆ ได้ อย่างเป็นที่น่าประหลาดใจ

ตัวอย่างเช่นเรือขนาดใหญ่ของโจรสุหรั่งซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีสุนทรภู่ก็ได้บรรยายไว้ว่า

มีกำปั่นนั้นยาวยี่สิบเส้น        กระทำเป็นตึกกว้านสถานถิ่น
หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน    ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา
เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน        คชสารม้ามิ่งมหิงษา
มีกำปั่นหกร้อยลอยล้อมมา        เครื่องศัสตราสำหรับรบครบทุกลำ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๙๗)

เรื่องเรือยนต์ของพราหมณ์โมราที่เข้าปล้นด่านดงตาลก็คือเครื่องบินสะเทิ้นนํ้าสะเทิ้นบกซึ่งเพิ่งจะมีขึ้นในภายหลัง สุนทรภู่บรรยายเรือยนต์ลำนี้ไว้ว่า

เจ้าโมราว่าจะผูกเรือยนต์รบ     บรรจุครบพลนิกายทั้งนาย ไพร่
แล่นไปตามข้ามภูเขาเข้าข้างใน
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๕๔๐)

เรือสำหรับทัพละร้อยทั้งน้อยใหญ่        บรรจุไพร่พร้อมเพียบเงียบสงบ
เมื่อฤกษ์ดีมีลมให้สมทบ            แล่นตลบเข้าบุรีทั้งสี่นาย
เราจะยกวกอ้อมเข้าล้อมหลัง        แม้นแตกพังไพรีจะหนีหาย
เห็นดีพร้อมน้อมคำนับรับอุบาย        สานนนายพราหมณ์อ่านโองการมนต์
ร้องเรียกลมกลมกลุ้มคลุ้มพยับ        บัดเดี๋ยวกลับพัดมาโกลาหล
โห่สนั่นหวั่นไหวกางใบกล            อันเรือยนต์เขยื้อนออกเคลื่อนคลา
ทัพละร้อยลอยลิ่วฉิวฉิวเฉื่อย        เหมือนงูเลื้อยแล่นลูบนภูผา
กระทบผางกางเกยเลยศิลา            ด้วยฟางหญ้าหยุ่นท้องจึงคล่องเคล้า
ที่ถือท้ายสายยนต์มือคนเหนี่ยว        ให้ลดเลี้ยวแล่นตลอดถึงยอดเขา
แล้วกลับตรงลงเชิงเทินเนินลำเนา        ในเมืองเหล่าชนวิ่งทั้งหญิงชาย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่น ๑, หน้า ๕๕๑-๕๕๒)

เรื่องนางละเวงให้พระอภัยมณีแต่งกายแบบสากลก็เป็นจินตนาการที่สุนทรภู่สร้างขึ้น ปรากฎว่า คนไทยเพิ่งจะนิยมแต่งกายแบบสากลกันภายหลัง คือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. ๒๔๗๕

สุนทรภู่บรรยายไว้ว่า

นางจัดเครื่องเมืองฝรั่งตั้งถวาย        ล้วนเพชรพรายพลอยระยับจับเวหา
พระอภัยไม่เคยทรงให้สงกา            ถามวัณลาทูลฉลองยิ้มย่อมกัน
พระสอดซับสนับเพลาเนาสำรด        รัตคตพรรณรายสายกระสัน
ฉลององค์ทรงเสื้อเครือสุวรรณ        สลับชั้นเชิงหุ้มดุมวิเชียร
สายปั้นเหน่งเปล่งเม็ดเพชรประดับ    สอดสลับซ้อนระบายล้วนลายเขียน
ทัดพระมาลาทรงประจงเจียน        ดูแนบเนียนเนาวรัตน์ชัชวาล
ใส่เกือกทองรองเรืองเครื่องกษัตริย์    เพชรรัตน์รจนามุกดาหาร
มีนวมนุ่มหุ้มพระชงฆ์อลงการ        สอดประสานสายสุวรรณกัลเม็ด
ธำมรงค์วงรายพรายพระหัตถ์        เนาวรัตน์วุ้งแววล้วนแก้วเก็จ
ทรงกระบี่มีโกร่งปรุโปร่งเพชร        แล้วห้อยเช็ดหน้ากรองทองประจง
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๒๕)

เมื่อพระอภัยมณีแต่งกายเช่นนี้ พวกพระอภัยเห็นเข้าก็ยังแปลกใจ ดังนี้

ศรสุวรรณพิศดูภูวไนย
เห็นแต่งองค์ทรงสำอางอย่างฝรั่ง        ครั้นจะบังคมพระองค์ก็สงสัย
สินสมุทรสุดแสนที่แค้นใจ            แกล้งทำไม่รู้จักเมินพักตรา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๒๕)

เรื่องที่สุนทรภู่ให้คนไทยแต่งกายตามแบบสากลก็ดี และเรื่องที่ให้คนไทยแต่งงานกับฝรั่งก็ดี ทำให้มีผู้กล่าวว่า “เรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่นับได้ว่าเป็นวรรณคดีไทยเรื่องแรกที่กล่าวถึงวัฒนธรรมฝรั่ง แม้จะเป็นการกล่าวที่ผิดความจริงไปบ้าง ก็ยังนับว่าได้กล่าวถึงวัฒนธรรมเป็นอย่างมากพอใช้ทีเดียว” และ “สุนทรภู่เป็นกวีไทยคนแรกที่เบิกทางให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีวัฒนธรรมดีพอที่จะคบค้าสมัครสมานกับชาวตะวันตกได้ ฯลฯ

สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีโดยได้นำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเคยได้อ่านได้ยินหรือได้ฟังมาประสมประสานกับจินตนาการที่ตนสร้างขึ้น แล้วเขียนเป็นนิทานที่สนุกสนาน มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นเร้าใจชวนแก่การติดตาม จนเป็นที่ติดใจของนักอ่านตั้งแต่สมัยโน้นมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

ในการแต่งเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ขึ้นต้นเรื่องว่า
แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์
สมมุติวงศ์ทรงนามท้าวสุทัศน์    ผ่านสมบัติรัตนานามธานี
อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์    ภูเขาโหดเป็นกำแพงบูรีศรี
สะพรึ่บพร้อมไพร่ฟ้าประชาชี    ชาวบุรีหรรษาสถาวร
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑)

ตอนพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ ปรึกษากันเรื่องวิชาที่จะเลือกเรียนสุนทรภู่บรรยายว่า

จึงบัญชาว่ากับพระน้องแก้ว        พ่อเห็นแล้วหรือที่ลายลิขิตเขียน
สองอาจารย์ปานดวงแก้ววิเชียร    เจ้ารักเรียนที่ท่านอาจารย์ใด
อนุชาว่าการกลศึก            น้องนี้นึกรักมาแต่ไหนไหน
ถ้าเรียนรู้ว่ากระบองได้ว่องไว    จะชิงชัยข้าศึกไม่นึกเกรง
พระเชษฐาว่าจริงแล้วเจ้าพี่        วิชามีแล้วใครไม่ข่มเหง
แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง            หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง
ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก    ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง
แต่ขัดสนจนจิตคิดประวิง        ด้วยทรัพย์สิ่งหนึ่งนี้ไม่มีมา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๔)

พระอภัยมณีพรรณนาคุณประโยชน์ของดนตรีให้สามพราหมณ์ฟังดังนี้
พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม    จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป    ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช    จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน    ก็สุดสิ้นโทโลที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ    อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญา    จึงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง
แล้วหยิบปี่ที่ท่านอาจารย์ให้        เข้าพิงพฤกษาไทรดังใจหวัง
พระเป่าปี่เปิดนิ้วเอกวิเวกดัง        สำเนียงวังเวงแว่วแจ้วจับใจ

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย    ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย    จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม    ไม่เทียมโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย
แม้ได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย    ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน
เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง        สำเนียงเพียงการะเวกกังวานหวาน
หวาดประหวัดสัตรีฤดีดาล        ให้ซาบซ่านเสียวสดับจนหลับไป
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๒)

ตอนบรรยายกิริยาอาการของนางผีเสื้อยักษ์เมื่อจะลักตัวพระอภัยมณี สุนทรภู่สามารถใช้คำที่ผู้อ่านรู้สึกว่านางผีเสื้อมีกำลังมาก ดังนี้

อุตลุดผุดทะลึ่งขึ้นตึงตัง    โดยกำลังโลดโผนโจนกระโจม
ชุลมุนหมุนกลมดังลมพัด    กอดกระหวัดอุ้มองค์พระทรงโฉม
กลับกระโดดลงน้ำเสียงต้ำโครม    กระทุ่มโถมถีบดำไปถ้ำทอง
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๓)

เรื่องพระอภัยมณี มีหลายตอนที่สุนทรภู่เรียกผีเสื้อสมุทรว่า “อีนางยักษ์” เช่น “อีนางยักษ์กลับปลอบไม่ตอบโกรธ” (พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๕ ) หรือ “อีนางยักษ์ควักค้อนแล้วย้อนว่า” (พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๖) เป็นต้น

กองทัพของท้าวอุเทนส่งสารไปถึงท้าวทศวงศ์ให้ส่งนางเกษราให้ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

บัดนี้เราเข้ามาล้อมป้อมปราการ    ชีวิตท่านเหมือนลูกไก่อยู่ในมือ
แม้นบีบเข้าก็จะตายคลายก็รอด    จะคิดลอดหลบหลีกไปอีกหรือ
แม้นโอนอ่อนงอนง้อไม่ต่อมือ    อย่าดึงดื้อเร่งส่งองค์บุตรี
จะนำนาง ไปถวายถ่ายชีวิต        ให้พ้นผิดอยู่บำรุงซึ่งกรุงศรี
ไม่ส่งมาถ้าเราได้เข้าตี            ชาวบุรีก็จะตายวายชีวา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๗๓)

ตอนศรีสุวรรณทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้นางเกษรา ได้กล่าวฝากรักนางว่า

พี่ขอฝากความรักที่หนักอก        ช่วยปิดปกไว้แต่ในน้ำใจสมร
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้าแลสาคร        อย่าม้วยมรณ์ไมตรีของพี่เลย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๘๒)

นางเกษราเป็นตัวละครหญิงที่กล้าแสดงความรู้สึกของตนออกมาอย่างเปิดเผยถึงขนาดกล่าวกับ ศรีสุวรรณว่า

แม้นมิกีดปิตุราชมาตุรงค์    จะเชิญองค์ไว้ปราสาทราชฐาน
บรรทมที่ยี่ภู่ช่วยอยู่งาน    ให้สำราญร่มเกล้าทุกเพรางาย
นี่จนใจได้แต่ใจนี่ไปด้วย    เป็นเพื่อนม้วยภูวนาถเหมือนมาดหมาย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๘๒)

ตอนพระอภัยมณีเทศนาธรรมให้นางผีเสื้อยักษ์ฟัง พระอภัยมณีกล่าวว่า

จงฟังธรรมคำนับดับโมโห        ให้โทโสส่างเสื่อมค่อยเลื่อมใส
แล้วทรงเดชเทศนาภาษาไทย    ด้วยความในโลกีย์สี่ประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส    ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
ครั้นระงับดับขันธสันดาน        ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดาย
อย่าลุ่มหลงจงอุตส่าห์รักษาศีล    ให้เพิ่มภิญโญไปดังใจหมาย
อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตคิดอุบาย    จะจำตายตกนรกอเวจี
พี่แบ่งบุญบรรพชาสถาผล        ส่วนกุศลให้สุดามารศรี
กลับไปอยู่คูหาในวารี            อย่าได้มีห่วงใยอาลัยลาญ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๘๙)

มหิงข์สิงขรเทวราชที่มาห้ามพระอภัยมณีเผาร่างนางผีเสื้อยักษ์ สุนทรภู่บรรยายว่าเป็นคนชราที่หน้าตาอ่อนเยาว์คล้ายเด็กทารก ดังนี้

พอได้ยินเสียงระฆังข้างหลังเขา    เห็นผู้เฒ่าออกจากชะวากผา
ดูสรรพางค์ร่างกายแก่ชรา        แต่ผิวหน้านั้นละม้ายคล้ายทารก
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๙๓)

มหิงข์สิงขรเทวราชแนะนำพระอภัยมณีให้กินนํ้าที่ไหลออกจากปากนางผีเสื้อ คือ
อันวารีที่ไหลออกจากปาก        คือแรงรากษสซ่านเหมือนธารไหล
ใครกินน้ำกำลังจะเกรียงไกร        ทั้งโรคภัยมิได้มีมาบีฑา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๙๔)

ตอนสุวรรณมาลีน้อยใจที่พระอภัยมณีจะคืนนางให้แก่อุศเรน นางตั้งใจจะฆ่าตัวตายและกล่าวคำอำลาสินสมุทรว่า

เจ้ารักแม่แม่ก็รู้อยู่ว่ารัก    มิใช่จักลืมคุณทำฉุนเฉียว
แต่เหลืออายหลายสิ่งจริงจริงเจียว        เป็นหญิงเดียวชายสองต้องหมองมัว
เมื่อแรกเราเล่าบอกเขาออกอื้อ    อ้างเอาชื่อพระบิดาว่าเป็นผัว
ครั้นคู่เก่าเขามารับก็กลับกลัว    แกล้งออกตัวให้มาถามว่าตามใจ
จึงเจ็บจิตคิดแค้นแม้นจะอยู่        ก็อดสูเสียสัตย์ต้องตัดษัย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๒๗๔)

ตอนพระอภัยมณีกล่าวกับอุศเรนว่าสินสมุทรมีกำลังมาก และใจคอดุร้าย อุศเรนได้ฟังก็ไม่กลัวกล่าวหาพระอภัยมณีว่า

เขียนจระเข้ขึ้นไว้หลอกตะคอกคน
เราก็ชายหมายมาดว่าชาติเชื้อ    ถึงปะเสือก็จะสู้ดูสักหน
ไม่รักวอนงอนง้อทรชน        แล้วพาพลกลับมาเภตราพลัน
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๒๗๘)

สุนทรภู่บรรยายภาพธรรมชาติภูเขารุ้งที่นางสุวรรณมาลีไปบวชอยู่ว่า

ถึงธารถ้ำลำเนาภูเขารุ้ง        ดูเรืองรุ่งราวกับลายระบายเขียน
บ้างเขียวขาววาวแววแก้ววิเชียร    ตะโล่งเลี่ยนเลื่อมเหลืองเรืองระยับ
บ้างเปล่งปลั่งดังเปลวพระเพลิงทุ่ง    เหมือนแสงรุ้งรัศมีสีสลับ
กุฎีน้อยน้อยร้อยเศษสังเกตนับ    เครื่องสำหรับกุฎีก็มีพร้อม
ต้นไม้ดอกออกลูกปลูกริมกุฏิ์    ต้นสายหยุคพดลำดวนให้หวนหอม
ที่กุฎิ์ใหญ่ไทรเรียงเคียงพะยอม    ทอดกิ่งค้อมข้ามหลังคาดูน่าชม
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๑๙-๓๒๐)

นางวาลีในเรื่องพระอภัยมณีก็เป็นตัวละครหญิงอีกตัวหนึ่งที่กล้าเปิดเผยความในใจกับชายที่ตนหมายปองอย่างตรงไปตรงมา ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองรูปไม่งามและค่อนข้างจะน่าเกลียด ดังที่กล่าว กับพระอภัยมณีว่า

นางนบนอบตอบรสพจนารถ        คุณพระบาทกรุณาจะหาไหน
แต่ยศศักดิ์จักประทานประการใด        ไม่ชอบใจเจตนามาทั้งนี้
ด้วยเปลี่ยวใจไม่มีที่จะเห็น    จะขอเป็นองค์พระมเหสี
แม้นโปรดตามความรักจะภักดี    ถ้าแม้นมิเมตตาจะลาไป
พวกขุนนางต่างหัวร่อข้อประสงค์    ทั้งพระองค์สรวลสันต์ไม่กลั้นได้
จงตรัสว่าวาลีมีแก่ใจ    มารักใคร่ครั้นจะชังไม่บังควร
แต่รูปร่างยังกระไรจะใคร่รู้    พิเคราะห์ดูเสียด้วยกันอย่าหันหวน
จะควรเป็นมเหสีหรือมิควร    จงใคร่ครวญนึกความให้งามใจ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๒๗)

สุนทรภู่ชี้ให้เห็นความสำคัญของวิชาความรู้ และยังแสดงความคิดเห็นว่าความรู้อาจช่วยให้คนดูงามขึ้นได้ ดังในกรณีของนางวาลี พระอภัยมณีดำริว่า

“ดูผิวพรรณสรรพางค์อย่างคุลา    แต่วิชาพางามขึ้นครามครัน”
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๓๕)

ฤาษีที่เกาะแก้วพิสดารก็สอนสุดสาครว่า

“รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา        รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๖๗)

รวมทั้งสอนสุดสาครว่า

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์        มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด    ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน        บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน        เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ        ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๖๗)

กุฎีสังฆราชบาทหลวงแห่งเมืองลังกามีบันไดกล ใครเหยียบบันไดเข้า จะมีเสียงดังให้เจ้าของรู้ว่ามีแขกมาหา ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

สี่พี่เลี้ยงเคียงคลอจรลี        ขึ้นกุฎีบาทหลวงมีควงกล
พอเหยียบบันได ไพล่พลิกเสียงกริกกร่าง    ระฆังหง่างเหง่งตามกันสามหน
พระฝรั่งฟังสำคัญอยู่ชั้นบน        รู้ว่าคนเข้ามาหาออกมารับ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๔๐๒)

พระอภัยมณีให้สัญญากับนางละเวงว่าจะรักนางตลอดไป โดยกล่าวว่า

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร        ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ    พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา        เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่        เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง        เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๑๐)

ในเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่เน้นเรื่องความเป็นอนัตตาของสิ่งต่างๆ ทั้งเรื่องความสุขแห่งนิพพานหลายครั้ง ดังที่ปรากฎตอนพระอภัยมณีเทศนาธรรมให้แก่นางผีเสื้อยักษ์ ในคำเทศนาของฤาษีที่เกาะแก้วพิสดารก็มีเนื้อความดังนี้

พระโยคีเทศนาในอาการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้    ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร
ความตายหนึ่งพึ่งให้เห็นเป็นประธาร    หวังนิพพานพ้นทุกข์สนุกสบาย
ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้    เพราะโลกีย์ตัณหาพาฉิบหาย
อันศีลห้าว่าอย่าทำให้จำตาย    จะตกอบายภูมิขุมนรก
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๒๑๔)

แม้ในคำเทศนาที่พระอภัยมณีเทศน์แก่นางสุวรรณมาลี นางละเวง ก็กล่าวว่า

“พระนิพพานเป็นสุขสิ้นทุกร้อน    เปรียบเหมือนนอนหลับไม่ฝันท่านทั้งหลาย”
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๕๖๘)

สำนวนของสุนทรภู่จบเรื่องตรงพระอภัยมณีออกบวชที่เขาสิงคุตร์ นางสุวรรณมาลี และนางละเวงได้บวชตามด้วย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

โคบุตรนิทานคำกลอนของสุนทรภู่

โคบุตร เป็นนิทานคำกลอนเรื่องแรกและผลงานเรื่องแรกของสุนทรภู่ มีความยาว ๘ เล่ม สมุดไทย สุนทรภู่แต่งนิทานเรื่องนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก่อน พ.ศ. ๒๓๔๙ ก่อนที่จะเดินทางไปยังเมืองแกลงเพื่อเยี่ยมบิดา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าสุนทรภู่คงตั้งใจที่จะแต่งถวายเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในพระราชวังหลัง

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้เป็นแบบจักรๆ วงศ์ๆ คือเนื้อเรื่องมีอยู่ว่านางฟ้าองค์หนึ่งมีความสัมพันธ์กับพระอาทิตย์ จนกระทั่งเกิดบุตรคนหนึ่ง แล้วนางฟ้าองค์นั้นเสด็จกลับสู่วิมาน พระอาทิตย์ได้นำบุตรผู้นั้นไปฝากนางราชสีห์ให้ช่วยเลี้ยงไว้และให้ชื่อว่าโคบุตร เมื่อโตขึ้นโคบุตรได้ไปเที่ยวหิมพานต์ พบนางมณีสาครและอรุณกุมารซึ่งเดินทางเร่ร่อนมาเพราะพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดาถูกพราหมณ์ปุโรหิตแย่งชิงบ้านเมือง แล้วพระเจ้าพรหมทัตนั้นก็ถูกประหารพร้อมพระมเหสี โคบุตรช่วยนางมณีสาครและอรุณกุมารชิงราชสมบัติคืนมาและช่วยชุบพระเจ้าพรหมทัตและพระมเหสีให้ฟื้นจนได้ครอบครองบ้านเมืองต่อไป ต่อมาโคบุตรกับอรุณกุมารออกเที่ยวป่า รบกับยักษ์ ชื่อหัศกัณฐ์และถูกนางยักขิณีลวงไป แต่พากันหนีมาได้ ต่อมาโคบุตรได้นกขุนทองมาตัวหนึ่งพูดภาษาคนได้ เมื่อไปถึงเมืองกาหลงได้ใช้นกสื่อสารความรักกับนางอำพันมาลาผู้เป็นธิดาเจ้าเมืองกาหลง จน กระทั่งพานางหนีมาอยู่พาราณสี พระอาทิตย์บิดาของโคบุตรได้เนรมิตเมืองให้โคบุตรครอบครองแล้วอภิเษกโคบุตร ตั้งนางมณีสาครให้เป็นมเหสีฝ่ายขวา นางอำพันมาลาเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย ต่อมานางอำพันมาลาให้เถรกระอำทำเสน่ห์เพื่อให้โคบุตรหลงตน นกขุนทองแจ้งข่าวเรื่องนี้แก่อรุณกุมารซึ่งอยู่เมืองพาราณสี อรุณกุมารจึงมาจับเสน่ห์นางอำพันมาลายอมรับผิด โคบุตรจะประหารนางแต่อรุณกุมาร และขุนทองขอชีวิตเอาไว้ โคบุตรจึงขับนางอำพันมาลาออกจากเมือง ก่อนจากไปนางอำพันมาลาเศร้าโศกจนสลบไปแล้วเรื่องก็ค้างอยู่เพียงเท่านี้ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่อาจจะแต่งไม่จบเรื่อง หยุดแต่เพียงเท่านี้ หรืออาจแต่งไว้จนจบแต่พบต้นฉบับเพียงเท่านี้

โคบุตรเมื่อได้อยู่ในความดูแลเลี้ยงของราชสีห์ มีกำลังมาก เพราะได้กินนมนางราชสีห์ ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

กุมาราชันษาได้สิบทัศ        งานจำรัสเหมือนองค์พระสุริยใส
กำลังเจ็ดช้างสารอันชาญชัย    เพราะว่าได้กินนมนางสิงหรา
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๓๕)

เมื่อพระอาทิตย์เสด็จมาเยี่ยมโคบุตร ได้ตั้งชื่อให้พร้อมกับมอบเครื่องประดับและอาวุธให้แก่โอรสดังนี้

พระสุริยันตรัสประภาษกับราชสีห์
จะให้นามตามวงศ์สวัสดี        แซกชนกชนนีเข้าในนาม
ชื่อโคบุตรสุริยาวราฤทธิ์        จงประสิทธิ์แก่กุมารชาญสนาม
ทั้งตรีโลกโลกาสง่างาม        เจริญความเกียรติยศปรากฎครัน

พระอาทิตย์นิรมิตรเครื่องประดับ    ให้เสร็จสรรพล้วนเทพรังสรรค์
เป็นเครื่องทิพศาสตราสารพัน    ให้ป้องกันอยู่ในกายกุมารา
รณรงค์คงทนด้วยกายสิทธิ์        พระอาทิตย์จึงสั่งโอรสา
อันเครื่องทรงที่ในองค์พระลูกยา    ล้วนเทพศาสตราอันเกรียงไกร
จะรบราญรณรงค์เข้ายงยุทธ    ไม่พักหาอาวุธอย่าสงสัย
เครื่องประดับรับรบอรินทร์ภัย    เหาะเหินได้รุ่งเรืองด้วยเครื่องทรง
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร“นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๓๖)

หลังจากนี้พระอาทิตย์สั่งโอรสให้ออกเดินทางหาคู่ครอง แล้วพระอาทิตย์ก็ลาโคบุตรไป ตอนนี้สุนทรภู่บรรยายความรู้สึกของบิดากับบุตรที่ต้องพรากจากกันว่า

พระโคบุตรสุริยาน้ำตาไหล        ด้วยอาลัยสุริยฉายนั้นผายผัน
ยิ่งแลลับพระบิดายิ่งจาบัลย์        สะอื้นอั้นกำสรดระทดกาย
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๓๗)

สุนทรภู่บรรยายภาพนางกำนัลตอนพราหมณ์ปุโรหิตปลิดพระชนม์ท้าวพรหมทัตว่าตอนต้นเรื่องสุนทรภู่กล่าวว่านิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนได้ยินได้ฟังมาก่อนแล้วนำมาเล่าต่อดังนี้

แต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา
เป็นปฐมสมมุตินิทานมา        ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย
ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง        จึงแสดงคำคิดประดิษฐ์ถวาย
ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย        ให้เพริศพรายพริ้งเพราะเสนาะกลอน

จับกระษัตริย์ตัดเศียรสิ้นชีวิต    ทวารปิดมิให้คนลอบหนีได้
จับพวกเหล่าสาวสรรค์กำนัลใน    มาคุมไว้กลางชลาหน้าพระลาน
แสนสังเวชนางในใจจะขาด        ร้องกรีดกราดแซ่เสียงสำเนียงขาน
ผ้านุ่งห่มลุ่ยหลุดกระเซอซาน    บ้างคลำคลานออกมาทุกหน้านาง
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสึนทรภู่, หน้า ๕๓๙)

ตอนโคบุตรสู้กับยักษ์ ๔ ตนที่เฝ้าสระ สุนทรภู่บรรยายภาพการรบไว้อย่างเด่นชัดดังนี้

พระลองแรงแผลงฤทธิ์เข้ารบรับ    พระหัตถ์จับข้างละสองสี่ยักษา
เผ่นผงาดฟาดผางกลางศิลา        อสุราดิ้นกระเดือกลงเสือกกาย
จึงโอมอ่านอาคมพรหมประสิทธิ์    ก็เปลืองปลิดเจ็บปวดนั้นสูญหาย
เข้ากลาดกลุ้มรุมรบอยู่รอบกาย    ดังเสียงสายสุนีลั่นสนั่นดัง
ด้วยเดชะเครื่องประดับสำหรับศึก    แล่นพิลึกโลดไล่ไม่ถอยหลัง
ได้กินนมราชสีห์มีกำลัง        ไม่พลาดพลั้งติดพันประจัญบาน
ต่างกำแหงแรงเริงในเชิงรบ        ไม่หลีกหลบโลดไล่ด้วยใจหาญ
ยักษ์จะจับพี่น้องสองกุมาร        เพราะสังวาลป้องกันไม่อันตราย
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๔๒-๕๔๓)

ตอนโคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา สุนทรภู่บรรยายว่า

ต่างหลงเชิงพระละเลิงด้วยชมโฉม        หลงประโลมลืมรักเจ้าปักษี
นางลืมสองจักรพรรดิสวัสดี            พระลืมที่สวนขวัญอนุชา
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๘๘)

ตอนท้าวพรหมทัตทรงทราบว่าโคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา ก็ทรงเกิดความรู้สึกเสียดาย เพราะแต่เดิมตั้งพระทัยจะให้โคบุตรครองคู่กับราชธิดาคือนางมณีสาคร สุนทรภู่บรรยายความรู้สึกของท้าวพรหมทัตว่า

โอ้ครั้งนี้วาสนาธิดาเรา
ได้จินดามาถือถึงมือแล้ว        เสียดายแก้กลับคืนเป็นของเขา
แล้วหักจิตคิดความตามสำเนา    เมื่อลูกเราบุญน้อยจะโทษใคร
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๙๘)

โคบุตรตำหนิพระองค์เองเมื่อทรงเห็นว่ามณีสาครเป็นหญิงรูปงาม ดังนี้

แค้นจิตที่ยังพิศไม่เต็มพักตร        กำเริบรักจิตรำพึงตะลึงหลง
แต่แรกรู้ว่างามอร่ามทรง        ไม่เดินดงไปให้ยากลำบากใจ
คิดแค้นตาน่าจะตำให้แตกหัก    ไม่รู้จักคนงามก็เป็นได้
ให้กลัดกลุ้มรุมรึงตะบึงไป        ด้วยพระทัยร้อนร่านในการรัก
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๙๘)

ก่อนที่มณีสาครจะครองคู่กับโคบุตร พระราชมารดาได้ทรงอบรมว่า

เจ้าโฉมงามทรามรักของแม่เอ๋ย    อย่าลืมเลยจงจำคำแม่สอน
ภัศดาอุปมาเหมือนบิดร        จงโอนอ่อนฝากองค์พระทรงฤทธิ์
สรงเสวยคอยระวังอย่าพลั้งพลาด        เมื่อไสยาศผ่อนพร้อมถนอมจิต
ถ้าท้าวโศกแม่อย่าสรวลจงควรคิด        ระวังผิดอย่าให้ผ่านวรกาย
ผัวเคียดแม่อย่าเคียดทำโกรธตอบ        เอาความชอบมาดับให้สูญหาย
ถึงท้าวรักก็อย่าเหลิงละเลิงกาย        ครั้นระคายแล้วมักมีราคีคาว
ความลับแม่อย่าแจ้งแถลงไข        จงกล้ำกลืนกลบไว้อย่าให้ฉาว
แม้นปากชั่วตัวจะดีก็มีคาว            พระทัยท้าวเธอจะแหนงระแวงความ
อันหญิงชั่วผัวร้างนิราศรัก        อัปลักษณ์ถ้าคนจะหยาบหยาม
มารดาพร่ำร่ำสอนจงทำตาม    แล้วโฉมงามแต่งกายให้สายใจ
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๐๗)

ตอนโคบุตรเล้าโลมมณีสาคร สุนทรภู่แต่งโดยใช้วิธีการเล่นคำ คือให้โคบุตรกล่าวว่า

โอ้ดวงนุชสุดสายสวาทจิต        สวาทเจ้าหรือจะคิดอางขนาง
สวาทน้องอย่าหมองเลยน้องนาง    สวาทโน้นหรือจะร้างสวาทนุช
สวาทไหนหรือจะเปรียบสวาทมิ่ง    สวาทแม่นี่แน่ยิ่งเป็นที่สุด
พี่หวังเษกเป็นเอกอนงค์นุช        อนงค์ไหนมิได้สุดสวาทเรียม
สวาทรักภัคินีเป็นที่ยิ่ง            เป็นยอดรักหนักจริงอย่าอายเหนียม
หรืออายพักตรว่าศักดิ์พี่ไม่เทียม    มานั่งแท่นเถิดเรียมจะกล่อมน้อง
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๐๘)

โคบุตรตัดพ้อนางอำพันมาลา หลังจากที่ทรงทราบว่านางทำเสน่ห์ว่า

เมื่อแรกรักคิดว่าศักดิ์กระษัตริย์สูง        มาเป็นฝูงสัตว์ร้ายระบายสี
คิดว่าหงส์หลงพลัดเป็นกากี            มาย้อมสีลวงชายด้วยลายกร
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทร, หน้า ๖๓๖)

เรื่องโคบุตรนี้จบลงตอนนางอำพันมาลาถูกเนรเทศ และนางครํ่าครวญว่า

จะหมองเศร้าเปล่าใจไกลบุรี        ไกลบุรินธานีกลับพลัดพราย
กลับพลัดพรากจากเขนยเคยสถิต    เคยบรรทมอยู่เป็นนิจจะเสื่อมหาย
จะแสนโหยโดยดิ้นสันโดษดาย    สันโดษเดียวเปลี่ยวกายระกำใจ
ระกำจิตคิดขึ้นมาก็สาจิต        ก็สาใจที่ไม่คิดจะทำไฉน
ฉะนั้นท่านจงทำให้หนำใจ        จะอยู่ไปเป็นกายก็อายคน
ครองชีพอยู่รู้ถึงไหนก็อายทั่ว    เพราะว่าตัวต้องกำจัดมาเดินหน
จะครองชีพอยู่ไปก็อายคน        นฤมลโศกซบสลบไป
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๔๙)

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด