สถานที่กล่าวถึงในนิราศภูเขาทอง

Socail Like & Share

วัดราชบุรณราชวรวิหาร
โอ้อาวาสราชบูรณะ พระวิหาร        แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น        เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง            ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งอำลาอาวาสนิราศร้าง            มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร

วัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อว่าวัดเลียบ ตั้งอยู่ในเขตกำแพงพระนครแถบพาหุรัด พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงช่วยในการปฏิสังขรณ์ด้วย เมื่อปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว รัชกาลที่ ๑ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชบุรณะ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ถอนสีมาเก่าแล้วทรงสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ และในรัชกาลต่อๆ มาก็ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกบ้าง

สุนทรภู่ก่อนออกเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง จำพรรษาอยู่ ณ วัดนี้ เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของนิราศภูเขาทองของท่าน จึงเริ่มออกเรือจากวัดราชบูรณะเป็นอันดับแรก

หน้าวัง (พระบรมมหาราชวัง)
ถึงหน้าวัง ดังหนึ่งใจจะขาด        คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร        แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด    ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น            ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย    ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา            ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป

หน้าวัง หรือพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ มีอาณาบริเวณคิดเป็นเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๑๕๒ ไร่ มีกำแพงใบเสมาก่ออิฐถือปูนและป้อมปราการรายล้อมอยู่โดยรอบทั้ง ๔ ด้าน ภายในกำแพงพระบรมมหาราชวังแบ่งแยกอาณาบริเวณสำหรับปลูกสร้างอาคารไว้เป็นสัดส่วน คือ พื้นที่ตอนเหนือซึ่งเป็นด้านหน้าทางฟากตะวันออกเป็นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่าวัดพระแก้วมรกต ฟากตะวันตกเป็นอาคารสถานที่ของทางราชการ พื้นที่ตอนกลางเป็น หมู่พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถาน ส่วนพื้นที่ตอนในเบื้องหลังพระมหาปราสาทราชมณเฑียร เป็นเขตฝ่ายใน ซึ่งในสมัยก่อนใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และข้าบาทบริจาริกาในองค์พระมหากษัตริย์

หมู่พระมหาปราสาทราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวังนี้ ล้วนก่อสร้างขึ้นด้วยความประณีต วิจิตรบรรจง เป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่มีค่าประมาณมิได้ เป็นสถานที่สำคัญที่ชาวต่างประเทศนิยมเข้ามาชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

อนึ่ง คำว่า “บพิตรอดิศร” ในกลอนข้างต้นนี้ หมายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงสุนทรภู่ให้รับราชการอยู่ ในกรมพระอาลักษณ์และเป็นกวีที่ปรึกษาในราชสำนัก มีบรรดาศักดิ์เป็นที่ขุนสุนทรโวหาร เมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคตแล้ว สุนทรภู่ก็ตกอับ กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“แต่เรานี้ที่สุนทรประทานตัว        ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ    ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด        ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี”

หน้าแพ (ตำหน้กแพ)
ถึง หน้าแพ แลเห็นเรือที่นั่ง        คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย    แล้วลงเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ    เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง    มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ    ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา        วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์

หน้าแพ หรือตำหนักแพ ปัจจุบันคือ ท่าราชวรดิษฐ์ เดิมเป็นแพลอยอยู่ในนํ้าเรียกว่า “ตำหนักแพ” สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับทอดพระเนตรงานซึ่งมีในลำแม่นํ้า เช่น การลอยพระประทีป เป็นต้น และเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าแทนในเวลาเสด็จทางชลมารค ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จโปรดให้สร้างขึ้นใหม่เปลี่ยนจากแพของเดิมมาเป็นตั้งเสาบนบก แล้วพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย” ส่วนท่านั้นพระราชทานนามว่า “ท่าราชวรดิษฐ์”

อนึ่ง คำว่า “พระจมื่นไวย” ในกลอนข้างต้นนี้ คือ จมื่นไวยวรนารถ (เผือก) หัวหมื่นมหาดเล็กในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็กแล้วเป็นพระยาไชยวิชิต สิทธิสาตรามหาประเทศราช ชาติเสนาบดี ผู้รักษากรุงเก่า พระยาไชยวิชิต (เผือก) นี้ เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นกวีมีชื่อเสียงปรากฏผลงานกวีนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น โคลงและกลอนยอพระเกียรติ ๓ รัชกาล (รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) โคลงฤาษีดัดตนท่าแก้แน่นหน้าอก (พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน) บททำขวัญนาค (ในหนังสือประชุม เชิญขวัญ) บทสักวาเรื่องอิเหนาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๓

พระยาไชยวิชิต (เผือก) ถึงอนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๓

หอพระอัฐิ
ดูในวังยังเห็นหอพระอัฐิ        ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล
ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล        ให้ผ่องพ้นภัยสำราญผ่านบุรินทร์

หอพระอัฐิ คือ หอพระธาตุมณเฑียร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี คือ พระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระทุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระศรีสุลาลัย ในรัชกาล ที่ 2 และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม สมเด็จพระบรมราชชนก

วัดประโคนปัก
ถึงอารามนามวัด ประโคนปัก        ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน        มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา
ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย            แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา
อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา            อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง

วัดประโคนปักคือ วัดดุสิตาราม กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เหนือปากคลองบางกอกน้อย เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดเสาประโคน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ทรงสถาปนา สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาเสนานุรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด เสด็จแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดดุสิตาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกบ้าง

โรงเหล้า   
ถึงโรงเหล้า เตากลั่นควันโขมง        มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา        ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญชวชกรวดน้ำขอสำเร็จ        สรรเพชญ์โพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย            ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก        สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป            แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

โรงเหล้า คือ โรงงานสุราบางยี่ขัน ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตรงกันข้ามกับบางขุนพรหม อยู่ในท้องที่ตำบลบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มองเห็นปล่องได้เด่นชัดแต่ไกล เรียกกันติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า “สุราบางยี่ขัน”

บางจาก
ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง        มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน            จึงต้องขืนใจพรากมาจากเมือง

บ้านบางจาก อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยาใต้วัดภคินีนาถ แขวงบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีคลองบางจาก ซึ่งแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาตรงเขตวัดภคินีนาถด้านทิศใต้เป็นสำคัญ คลองนี้มีนํ้าตลอดทั้งปี

บางพลัด
ถังบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง        ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน

บ้านบางพลัด อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลบางพลัดนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๘ มีฐานะเป็นอำเภอซึ่งตั้งที่ว่าการอำเภอที่ปากคลองบางพลัด ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๑ ถูกยุบรวมเข้ากับอำเภอบางกอกน้อย มีสะพานพระราม ๖ ข้ามแม่นํ้าทางรถไฟสายใต้ให้เดินเข้ารวมสถานีกรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙ ปัจจุบันเป็นตำบลบางพลัด มีวัดบางพลัดใน (จันทาราม) และคลองบางพลัด เป็นสำคัญ ปาก¬กลองบางพลัดแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ข้างวัดอาวุธวิกาสิตาราม (วัดบางพลัดนอก) คลองนี้ ยาว ๒ กิโลเมตร มีนํ้าตลอดทั้งปี

บางโพธิ์
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์        ร่มนิโรธรุกขมูลให้พูนผล
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล            ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกาย

บ้านบางโพธิ์ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพ¬นหานคร เดิมเป็นชื่อตำบล เรียกตำบลบางโพธิ์ขึ้นเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันไม่ได้เป็นตำบลแล้ว แต่เรียกกันตามชื่อเดิมว่า บางโพธิ์ มีวัดบางโพโอมาวาสเป็นสำคัญ

บ้านญวน
ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสะพรั่ง        มีข้องขังกุ้งปลาไว้ค้าขาย
ตรงหน้าโรงโพงพางเขาวางราย        พวกหญิงชายพร้อมเพรียงเขาเมียงมอง

บ้านญวน อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพ¬นหานคร มีวัดอนัมนิกายาราม หรือที่เรียกกันว่า วัดญวนบางโพธิ์ เป็นสำคัญ

วัดเขมาภิรตาราม   
จะเหลียวกลับลับเขตประเทศสถาน    ทรมานหม่นไหม้ฤทัยหมอง
ถึงเขมาอารามอร่ามทอง            พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน
โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จบรมโกศ        มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น
ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน            ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา
โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเล่นฉลอง            เพราะตัวต้องตกประดาษวาสนา
เป็นบุญน้อยพลอยนึกโมทนา        พอนาวาติดชลเข้าวนเวียน

วัดเขมาภิรตาราม อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา เหนือวัดปากนํ้า ตรงกันข้ามกับปากคลองบางกรวย (คลองตลาดแก้ว) ขึ้นตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เดิมชื่อวัดเขมา เป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา พ.ศ. ๒๓๗๑ สมเด็จพระศรีสุ่ริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ ทรงปฏิสังขรณ์ และสร้างอัครเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ ไว้มุมพระอุโบสถ ต่อมาพ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ปฏิสังขรณ์และสร้างพระมหาเจดีย์ใหม่สูง ๓๐ เมตร (๑๔ วา) และเลื่อนอัครเจดีย์ทั้ง ๔ องค์ไปตั้งอยู่ ๔ มุมของพระมหาเจดีย์ เสร็จแล้วโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปโลหะ จากวังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาประดิษฐานไว้หน้าพระประธานในพระอุโบสถ แล้วพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า “วัดเขมาภิรตาราม” หลังจากปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้มีงานฉลอง ปรากฏหลักฐานในประกาศรัชกาลที่ ๔ ว่า “… ก็ได้ทรงพระศรัทธาเสด็จไปทำมหกรรมการฉลอง ทรงบำเพ็ญพระกุศลในที่นั้นเป็นอันมาก ในปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑)”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ขณะที่ทางวัดกำลังรื้อสิ่งสลักหักพังที่องค์พระมหาเจดีย์ เพื่อปฏิสังขรณ์นั้นได้พบพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้ทำพิธีอัญเชิญไปบรรจุไว้ในองค์พระมหาเจดีย์

โบราณวัตถุสถานที่น่าสนใจภายในวัดเขมาภิรตาราม นอกจากที่กล่าวมาแล้วคือ

พระที่นั่งมูลมณเฑียร พระที่นั่งนี้เดิมสร้างเป็นตำหนักไม้อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ต่อมารัชกาลที่ ๔ โปรดให้รื้อและแก้ไขเป็นตึก ปลูกขึ้นใหม่อยู่ระหว่างพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ กับบริเวณพระพุทธนิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้รื้อไปปลูกที่วัดเขมาภิรตาราม โดยทรงพระราชอุทิศให้เป็นโรงเรียน ปัจจุบันใช้เป็นห้องสมุดของโรงเรียนกลาโหมอุทิศ

ตำหนักแดง ปัจจุบันอยู่ภายในบริเวณวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ อธิบายไว้ในประวัติวัดเขมาภิรตาราม ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ว่า

“ตำหนักแดงนั้น เดิมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างเป็นตำหนักหมู่ใหญ่ในวังหลวงถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ คู่กับตำหนักเขียว ซึ่งทรงสร้างถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ที่เรียกว่าตำหนักแดงตำหนักเขียว ก็เพราะเหตุที่ทาสีแดง ตำหนัก ๑ ทาสีเขียวตำหนัก ๑ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สิ้นพระชนม์แล้ว กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ผู้เป็นพระธิดา ก็ได้ประทับอยู่ตำหนักแดงต่อมา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์เสด็จออกไปประทับอยู่พระราชวังเดิม กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับได้มีการรื้อตำหนักเครื่องไม้ในวังหลวง สร้างเป็นตึก สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อตำหนักแดงไปปลูกถวายสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ที่พระราชวังเดิม ต่อมาเมื่อกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์สิ้นพระชนม์ลง สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระราชทานตำหนักตึกของกรมสมเด็จพระอมรินทร์ฯ แด่กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระตำหนักแดงก็ว่างอยู่ ครั้นเมื่อกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์สวรรคตลงอีก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้รื้อไปปลูกถวายเป็นกุฎีพระราชาคณะวัดโมฬีโลก
เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายจากวัดโมฬีโลกไปปลูกเป็นกุฎีเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และทรงสร้างกุฎีตึกแทนพระตำหนักแดงของเดิมพระราชทานให้เป็นกุฎีพระราชา คณะวัดโมฬีโลก

ถึงแม้จะถูกรื้อถูกย้ายที่ตั้ง ๓ ครั้งแล้วก็ดี ตำหนักแดงที่ยังอยู่ในวัดเขมาภิรตารามเวลานี้ ยังคงเป็นรูปอยู่ได้ด้วยความอุตสาหะของเจ้าอาวาสและพระภิกษุสงฆ์ในวัดเขมาภิรตารามอุตส่าห์สงวนไว้ โดยก่ออิฐรองข้างล่างให้คงอยู่แต่ฝาและโครงไม้ชั้นบน ส่วนพื้นได้ถูกเปลี่ยนบ้าง คือเปลี่ยนเอาไม้ใหม่มาใส่แทนไม้เก่าที่ผุพัง และยกพื้นขึ้นให้เสมอกัน เพราะพื้นเดิมมีสูงตอนหนึ่ง ตํ่าตอนหนึ่ง อนึ่ง ตำหนักแดงนี้มีเสาจุนเชิงชายจากพื้นดินทำนองเดียวกับตำหนักแดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเวลานี้ เสาจุนชิงชายเหล่านี้ต้องทิ้งเพราะผุพังจนเหลือวิสัยที่จะรักษาไว้ได้ ทางด้านเหนือได้สร้างมุขต่อเติมออกไป แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตำหนักแดงจะได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ยังพอเป็นอาหารของนักประวัติศาสตร์ได้บ้าง เพราะเป็นชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นตัวอย่างปราสาทราชวังเมื่อร้อยห้าสิบปีมาแล้ว ซึ่งเป็นเรือนฝากระดานนี่เอง นับว่าเป็นเรือนไม้ที่รักษาไว้ได้นานที่สุดชิ้นหนึ่ง นักเรียนประวัติศาสตร์จะได้เห็นชีวิตของสมเด็จพระราชินีเมื่อ ๑๓๐ ปีมาแล้วว่าประทับอยู่ในที่เช่นไร เมื่อย่างเข้าไปในตำหนักแดงจะเห็นห้องกว้าง ซึ่งในครั้งกระนั้นคงเป็นห้องนั่งเล่น นั่งประชุมของพวกสาวสรรค์จับเขม่าถอนไรทาขมิ้นเหลืองไปทั้งตัว ตอนต่อไปมีฝากั้นห้อง แบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนข้างซ้ายมือไม่ได้กั้นอย่างมิดชิด เป็นแต่มีรอยไม้ประกับเสา เข้าใจว่าคงใช้ม่านกั้นในตอนนั้น แต่ทางขวามือกั้นเป็นห้องบรรทม ประตูข้างบนเล็กข้างล่างโตตามแบบก่อสร้างของไทยโบราณ ห้องบรรทมไม่กว้างนัก ฝาตำหนักข้างนอกแลเห็นกรอบไม้ตามแบบเรือนฝากระดานอย่างดี แต่ข้างในกรุแผ่นไม้อีกชั้นหนึ่งสีแดงที่มีอยู่ แต่เดิมได้ถูกทับด้วยสีอื่น ยังคงเหลือสีแดงอยู่บางแห่ง รวมความว่าตำหนักแดงเป็นชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะต้องพยายามสงวนไว้ให้นานที่สุดที่จะอยู่ได้

ตำหนักแดงนี้มีหลังหนึ่งที่ถูกรื้อไปเสียเมื่อเร็วๆ นี้เอง เพราะหมดความสามารถที่จะรักษาไว้ได้แต่ส่วนตำหนักใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ คงจะรักษาไว้ได้อีกนาน”

อนึ่ง คำว่า “สมเด็จบรมโกศ’, ที่กล่าวไว้ในกลอนข้างต้นนั้น หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตลาดแก้ว
ตลาดแก้วแล้วไม่เห็นตลาดตั้ง    สองฟากฝั่งก็แต่ล้วนสวยพฤกษา
โอ้รินรินกลิ่นดอกไม้ใกล้คงคา    เหมือนกลิ่นผ้าแพรดำร่ำมะเกลือ

บ้านตลาดแก้ว อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามปากคลองบางสีทองขึ้นตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี คู่กับตลาดขวัญ ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ซึ่งย้ายมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๗

ปากเกร็ด
ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า        ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา    ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย
โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง            เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย
นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ            ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่างพึงคิด

บ้าน ปากเกร็ด อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เดิมเป็นที่อยู่ของพวกมอญซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ปัจจุบันคงมีชาวมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกกันติดปากว่า บ้านมอญ

บ้านใหม่
ถึงบ้านใหม่ใจจิตก็คิดอ่าน        จะหาบ้านใหม่มาดเหมือนปรารถนา
ขอให้สมคะเนเถิดเทวา        จะได้ผาสุกสวัสดิ์กำจัดภัย

บ้านใหม่ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บางเดื่อ
ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด    บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน    อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา

บ้านบางเดื่อ หรือบางมะเดื่อ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบางเดื่อ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีคลองบางเดื่ออยู่เหนือวัดนํ้าวนและอยู่ใต้วัดบางเดื่อ เป็นสำคัญ

บางหลวง
ถึงบางหลวงเชิงรากเหมือนจากรัก        สู้เสียศักดิ์สังวาสพระศาสนา
เป็นล่วงพ้นรนราคราคา            ถึงนางฟ้าจะมาให้ไม่ไยดี

บ้านบางหลวง อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีวัดบางหลวงตั้งอยู่ปากคลองบางหลวงเป็นสำคัญ คลองนี้มีนํ้าตลอด

เชิงราก (เชียงราก)
ถึงบางหลวง เชิงราก เหมือนจากรัก    สู้เสียศักดิ์สังวาสพระศาสนา

บ้านเชิงราก ปัจจุบันเรียก “เชียงราก” มีคลองเชียงรากซึ่งแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออก ที่เหนือปากคลองมีศาลเจ้าและวัดมะขามเป็นสำคัญ มีทั้งคลองเชียงราก (ใหญ่) และคลองเชียงรากน้อย นอกจากเชียงรากจะเป็นชื่อคลองแล้ว ยังเป็นชื่อตำบล ๒ ตำบล คือ ตำบลเชียงรากน้อย และตำบลเชียงรากใหญ่ ขึ้นอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

สามโคก
ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า        พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี        ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง        แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่ สุนทร ประทานตัว            ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ        ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด            ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง            อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี
เหลืออาลัยใจกตรมระทมทวี            ทุกวันนี้ก็ซังกายทรงกายมา

สามโคก เป็นชื่อตำบลและอำเภอ ขึ้นจังหวัดปทุมธานี เดิมเป็นเมืองที่ตั้งของเมืองสามโคก เป็นชื่อเมืองเก่าของปทุมธานี มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ฉบับองค์การค้าของคุรุสภาพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๐๓ หน้า ๓๐ กล่าวว่า “เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างวัดตองปุขึ้นใหม่ โปรดให้พระสงฆ์รามัญมาอยู่วัดตองปุ และให้พระมหาสุเมธาจารย์เป็นเจ้าอาวาส พระไตรสรณธัชนั้นมีพระราชโองการให้อยู่วัดบางหลวง เป็นเจ้าคณะรามัญ ในแขวงเมืองนนทบุรีและสามโคก พระสุเมธน้อยนั้น โปรดให้ครองวัดบางยี่เรือใน” ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พร้อมด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้เสด็จไปประทับที่พลับพลาริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งซ้าย เยื้องกับเมืองสามโคก มีราษฎรนำดอกบัวมาทูนเกล้าฯ ถวายเป็นเนืองนิตย์ พระองค์จึงพระราชทานนามเมืองสามโคกเสียใหม่ว่า “เมืองปทุมธานี” โดยเหตุที่มีดอกบัวอยู่ทั่วไป ดังที่สุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี    ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว”

และให้ยกจวนกลางทำเป็นวัด เรียกว่า “วัดปทุม” ที่ตั้งเมืองปทุมธานี ปรากฎว่าย้ายหลายครั้ง ปัจจุบันคือจังหวัดปทุมธานี

อนึ่ง คำว่า “สุนทร” ที่กล่าวถึงในนิราศภูเขาทองนั้น หมายถึง “สุนทรภู่” ท่านมักจะใช้คำสรรพนามแทนตัวท่านว่า “สุนทร”

ส่วนคำว่า “พระโกศ” ที่กล่าวถึงในนิราศวัดเจ้าฟ้า หมายถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งโปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองสามโคกเป็น “เมืองปทุมธานี”

บ้านงิ้ว
ถึงบ้านงิ้วเห็นแต่วิ้งละลิ่วสูง        ไม่มีฝูงสัตว์สิงกิ่งพฤกษา
ด้วยหนามดกรกดาษระดะตา    นึกก็น่ากลัวหนามขามขามใจ
งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม        ดังขวากแซมเสี้ยมแซกแตกไสว
ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย        ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง
เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว        ยังคลาดแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง
ทุกวันนี้วิปริตผิดทำนอง        เจียนจะต้องปีนบ้างหรืออย่างไรฯ

บ้านงิ้ว หรือบ้านป่างิ้ว อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี มีวัดป่างิ้วเป็นสำคัญ

เกาะใหญ่ราชคราม
โอ้คิดมาสารพัดจะตัดขาด        ตัดสวาทตัดรักมิยักไหว
ถวิลหวังนั่งนึกอนาถใจ        ถึง เกาะใหญ่ราชคราม หอยามเย็น
ดูห่างย่านบ้านช่องทั้งสองฝั่ง    ระวังทั้งสัตว์น้ำจะทำเข็ญ
เป็นที่อยู่ผู้ร้ายไม่วายเว้น        เที่ยวซ่อนเร้นตีเรือเหลือระอา

เกาะใหญ่ เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี มีคลองเกาะใหญ่ ซึ่งแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตก ตรงข้ามกับวัดโพธิ์แตงเหนือ วัดโพธิ์แตงใต้ มีวัดท้ายเกาะใหญ่ ตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ
ส่วนคำว่า “ราชคราม” เป็นชื่อเดิมของอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบัน เป็นตำบลราชคราม อำเภอบางไทร ตั้งอยู่ตรงที่ร่วมของแม่นํ้าน้อย (แม่นํ้าสีกุก) กับลำแม่นํ้าใหญ่ คือ แม่นํ้าเจ้าพระยา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ตั้งเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอราชคราม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของลำนํ้าบางไทร (แม่นํ้าน้อย) ที่ตำบลราชคราม เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๗. ถึงพ.ศ. ๒๔๘๑ กลับเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางไทร และเป็นชื่อที่เรียกกันต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ตำบลกรุงเก่า
พอรอนรอนอ่อนแสงพระสุริยน    ถึงตำบล กรุงเก่า ยิ่งเศร้าใจ

ตำบลกรุงเก่า หมายถึงกรุงศรีอยุธยา คำว่า “กรุงเก่า” เป็นชื่อเดิมของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอนี้เดิมมีชื่อว่า อำเภอรอบกรุง ครั้นต่อมาเมื่อเปลี่ยนชื่อจังหวัดและมณฑลในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอกรุงเก่า ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ เป็นอำเภอพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๐๐

ท่าหน้าจวน
มาถึงท่าหน้า จวน จอมผู้รั้ง            คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย    ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก        อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร        จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ

ท่าหน้าจวน คือจวนผู้รักษากรุงเก่าในสมัยนั้น เข้าใจว่าจะอยู่ในวังจันทรเกษม ผู้รักษากรุงเก่า คือ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งเคยสนิทสนมกับสนุทรภู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นไวยวรนารถ กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย    แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง”

วัดหน้าพระเมรุ
มาจอดท่าหน้า วัดพระเมระข้าม    ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน
บ้างขึ้นล่องสองลำเล่นสำราญ    ทั้งเพลงการเกี้ยวแก้กันแซ่เซ็ง
บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ        ระบาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง
มีโคมรายแลอร่ามเหมือนสำเพ็ง    เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู
อ้ายลำหนึ่งครึ่งท่อนกลอนมันมาก    ช่างยาวลากเลื้อยเจื้อยจนเหนื่อยหู
ไม่จบบทลดเลี้ยวเหมือนเงี้ยวงู    จนลูกคู่ขอทุเลาว่าหาวนอนฯ

วัดหน้าพระเมรุ อยู่ฝั่งขวาแม่นํ้าลพบุรีและริมคลองสระบัวตรงข้ามพระราชวังโบราณด้านเหนือ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงสามัญ ชั้นตรี เป็นวัดโบราณที่สำคัญวัดหนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่า พระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างเมื่อจุลศักราช ๘๖๕ พ.ศ. ๒๐๔๗ ประทานนามว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ต่อมาภายหลังเรียกกันทั่วไปว่า “วัดหน้าพระเมรุ” คงจะสร้างตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชา พระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่ครองกรุงศรีอยุธยา หรืออาจจะเอานามวัดพระเมรุซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ที่สวนนันทอุทยาน ทางตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ ตำบลห้วยจระเข้ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มาตั้งชื่อวัดนี้ก็ได้

ตามพงศาวดารกล่าวว่า ก่อนที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะทรงทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เมื่อพ.ศ. ๒๐๙๒ ได้โปรดให้พนักงานออกไปปลูกราชสัณฐาคาร (พลับพลา) ณ ตำบลวัดพระเมรุราชิการามกับวัดหัสดาวาส ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากวัดหน้าพระเมรุเล็กน้อย มีราชบัลลังกาอาสน์ ๒ พระที่นั่งสูงเสมอกัน ระหว่างพระที่นั่งห่าง ๔ ศอก แล้วให้แต่งรัตนตยาอาสน์สูงกว่าราชอาสน์อีกพระที่นั่งหนึ่ง ให้เชิญพระศรีรัตนตรัยออกไปไว้เป็นประธาน

ต่อมาภายหลังวัดนี้ได้ชำรุดทรุดโทรม ปรากฎว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยา ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ และ พ.ศ. ๒๓๘๑ ในรัชกาลที่ ๓ และเมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระยาเพทราชา พระยาโบราณบุรานุรักษ์ กรมการเร่งให้ช่างรักช่างกระจก ลงรักประดับกระจกพระพุทธรูปวัดหน้าพระเมรุ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางราชการได้ทำการบูรณะวัดนี้ โดยสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าลพบุรี ตรงหน้าวัด และทำถนนเข้าวัดยาว ๑๑๘ เมตร ซ่อมพระอุโบสถและวิหารน้อย

เจดีย์ภูเขาทอง
ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ        เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อ ภูเขาทอง            ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น    เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได        คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด        ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน        เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม

วัดภูเขาทอง เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ ประวัติการสร้างวัดและองค์พระเจดีย์ประธาน ซึ่งพบหลักฐานจากพงศาวดาร ประกอบกับคำให้การชาวกรุงเก่ามีความเป็น ๓ ประการ ดังจะขอนำมาเสนอเพื่อเป็นแนวทางพิจารณาดังนี้

๑. พงศาวดารเหนือ กล่าวว่าสมัยหนึ่งพระนเรศวรหงสากษัตริย์มอญผู้ครองเมืองสะเทิม ได้ยกพยุหแสนยากร ๔๐ แสนมาล้อมกรุง ได้ตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลนนตรี เมื่อได้ทราบว่าพระนารายณ์ได้ครองราชสมบัติก็เกรงพระเดชานุภาพ จึงแต่งหนังสือแจ้งไปยังพระนารายณ์เป็นใจความว่า ที่ได้ยกพลมาครั้งนี้ เพื่อจะสร้างวัดพนันกันคนละวัด ฝ่ายพระนารายณ์ก็รับคำพนันนั้น โดยตรัสว่า “พระเจ้าพี่จะสร้าง ก็สร้างเถิด คนละมุมเมือง เจ้าพี่สร้างทางทิศพายัพ เราจะอยู่ข้างทิศหรดี” พระนเรศวรหงสาจึงสร้างพระเจดีย์กว้าง ๓ เส้น สูง ๗ เส้น ๔ วา ๒ ศอก ก่ออยู่ ๑๕ วัน ถึงบัวกลุ่มให้นามว่า “วัดภูเขาทอง” พระนารายณ์เห็นว่าจะแพ้จึงคิดเป็นกลอุบายทำโครงไม้เอาผ้าขาวคาด พระนเรศวรหงสาเห็นเช่นนั้นคิดกลัว ก็เลิกทัพกลับไป เจดีย์ที่พระนารายณ์ทรงสร้างพงศาวดารเหนือกล่าวว่า คือ เจดีย์วัดชัยมงคล

๒. จากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า สมเด็จพระราเมศวร ซึ่งเป็นราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ปฐมกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้สถาปนาวัดนี้ขึ้น ซึ่งมีความตามพงศาวดารว่า “ศักราช ๗๔๙ เถาะ นพศก (พ.ศ. ๑๙๓๐) สถาปนาวัดภูเขาทอง”

๓. สำหรับองค์พระเจดีย์ประธานของวัดนั้น ตามหนังสือคำให้การของชาวกรุงเก่าว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๒ อันเป็นปีที่ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาแก่ข้าศึก ความในคำให้การของชาวกรุงเก่าเขียนไว้ดังนี้ “ในเวลาเมื่อพระเจ้าหงสาวดียังประทับอยู่พระนครศรีอยุธยานั้น ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งที่ตำบลทุ่งภูเขาทอง ขนานนามพระเจดีย์นั้นว่า เจดีย์ภูเขาทอง ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้”

เมื่อพิจารณาจากหลักฐาน ๓ ประการที่ยกมา และได้อ่านพงศาวดารฉบับอื่นๆ ประกอบ แล้วทำให้เชื่อได้ว่า สมเด็จพระราเมศวรทรงสถาปนาวัดภูเขาทองขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๓๐ แต่องค์พระเจดีย์ ซึ่งเป็นหลักของวัดนั้น ชั้นเดิมอาจเป็นได้ว่าสมเด็จพระราเมศวรสร้างไว้เพียงองค์ขนาดเล็ก ต่อมาเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีชัยชนะเหนือกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ แล้วจึงโปรดให้สร้างเจดีย์ ทับหรือครอบเจดีย์เก่าของสมเด็จพระราเมศวรอีกชั้นหนึ่ง ส่วนความตามพงศาวดารเหนือนั้นถ้าจะพูดถึงศักราชและขนาดขององค์เจดีย์และกำลังพลทหารแล้ว ก็ไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ดีก็ยังมีเค้าซึ่งแสดงถึงความจริงสอดคล้องกับคำให้การชาวกรุงเก่าอยู่บ้าง ในข้อที่ว่าพระนเรศวรหงสาเป็นกษัตริย์หงสาวดียกพลมาล้อมกรุง ตั้งอยู่ที่ทุ่งนนตรี ซึ่งน่าจะหมายถึงกรุงศรีอยุธยา

มีข้อที่น่าคิดและน่าพิจารณาอยู่อีกประการหนึ่งว่า พระเจดีย์องค์ที่พระเจ้าหงสาวดีทรงสร้างนี้ กล่าวกันว่าจะเป็นแบบเจดีย์มอญว่าโดยหลักฐานทางเอกสารจะเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด เมื่อค้นต่อไปก็ได้หลักฐานว่าหลังจากที่พระเจ้าหงสาวดีสร้างครอบไว้แล้ว ๑๒๑ ปี หมอแกมป์เฟอร์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นหมอประจำคณะทูตของเนเธอร์แลนด์ ได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และได้แวะเข้ามาพัก ณ กรุงศรีอยุธยา ๒๓ วัน (ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ถึงวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๓) ได้พรรณนาบรรยายภาพของพระเจดีย์ภูเขาทองไว้ รู้สึกว่าใกล้ชิดกับรูปทรงหรือแบบอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก หมอแกมป์เฟอร์ยังได้บันทึกไว้ว่า เจดีย์องค์นี้ไทยสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกที่มีชัยชนะแก่กษัตริย์มอญอย่างใหญ่หลวง ณ ที่นั้นไทยได้เข่นฆ่าและตีทัพอันใหญ่หลวงของข้าศึกแตกพ่ายไป การที่แกมป์เฟอร์เขียนว่าไทยเป็นผู้สร้างนั้น พิจารณาแล้วเป็นได้ทั้งน่าเชื่อและไม่น่าเชื่อ ทว่าไม่น่าเชื่อ ก็เห็นจะมีอยู่เพียงประการเดียวคือ อาจได้รับคำบอกเล่าผ่านล่าม จึงไม่เข้าใจในภาษาอย่างซึ้ง หรืออาจได้รับคำบอกเล่าจากฝรั่งซึ่งเข้าใจเหตุการณ์ผิดพลาดก็ได้ ส่วนที่ว่าน่าเชื่อนั้นดูออกจะมีนํ้าหนักอยู่โดยเหตุผล ดังนี้

๑. พม่าจะสร้างเจดีย์เป็นที่ระลึกในชัยชนะครั้งนี้ขึ้นมาในประเทศไทย จนมีขนาดใหญ่ถึงปานนี้เชียวหรือ
๒. จากคำให้การชาวกรุงเก่าที่ว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองโปรดให้สร้างนั้น คำให้การนี้ เกิดมีขึ้นก็เมื่อเสียกรุงแล้ว (หลัง พ.ศ. ๒๓๑๐) ไทยที่ตกเป็นเชลยในเวลานั้น อาจให้การไว้กับพม่า ในเรื่องที่ผ่านมาแล้วถึง ๗๗ ปี ผิดพลาดไปก็ได้ หรือบางทีจะให้การเสริมเกียรติพม่าเพื่อเอาใจในฐานะที่ตนตกเป็นเชลยก็ได้
๓. แกมป์เฟอร์รับฟังความจากคนไทยโดยผ่านล่ามหรือไม่ผ่านก็ตาม แต่คนไทยผู้นั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ในปี ๒๒๓๓ ก่อนคำให้การชาวกรุงเก่าอย่างน้อยถึง ๗๗ ปี
๔. ในเรื่องรูปทรงแบบอย่างของเจดีย์นั้น แกมป์เฟอร์ได้พรรณนาไว้ละเอียดลออถี่ถ้วนใกล้เคียงกับของจริงที่เป็นอยู่ปัจจุบันมาก ดังจะยกข้อเขียนนั้นมาลงไว้เป็นแนวทางพิจารณาดังนี้

“    เจดีย์นี้ดูรูปป้อมๆ แต่งดงามมาก สูงราว ๔๐ ฟาทมเศษ ตั้งอยู่บนฐานจตุรัส ยาวประมาณด้านละ ๑๔๐ เพซ สูงราว ๑๒ ฟาทม เรียวเป็นเถาขึ้นไป ทุกด้านย่อมุมเป็น ๓ แฉกขึ้นไป จนถึงยอด ดูเป็นรูปหลายเหลี่ยม มี ๔ ชั้นซ้อนกัน ชั้นบนสอบแคบลงทำให้ยอดชั้นบนลงมามีที่ว่าง เหลือเป็นระเบียงเดินได้รอบทุกชั้น เว้นแต่ชั้นล่างสุดทำเป็นรูปงอนอย่างประหลาด และที่ริมระเบียงกั้นเป็นลูกกรง ยกหัวเม็ดที่มุมอย่างดงาม ที่มุมตอนกลางของทุกๆ ชั้นทำเหมือนกันอย่างหน้าตึก ประกอบด้วยความงามและการประดับประดายิ่งกว่าที่อื่นโดยเฉพาะชั้นยอดตรงปลายเรียวแหลมนั้นงามเป็นพิเศษ ตรงกลางมีบันไดแล่นจากพื้นขึ้นไปยังชั้นบนซึ่งเป็นบานของโครงชั้นที่ ๒ มีชั้นบันได ๗๔ ชั้นด้วยกัน (ปัจจุบัน ๗๕ ชั้น) ชั้นหนึ่งสูง ๙ นิ้ว (ปัจจุบันวัดได้ ๘ นิ้ว) ยาว ๔ เพซ (ปัจจุบันวัด ได้ ๒.๑๐ เมตร) โครงชั้นที่ ๒ สร้างขึ้นบนพื้นชั้นบนของโครงแรก เป็นโครงสี่เหลี่ยมจตุรัสเหมือนกัน ยาวด้านละ ๓๖ เพซ เรียวชะลูดขึ้นไป ตรงกึ่งกลางฐานทำให้ดูงาม มีลูกกรงล้อมรอบเหมือนกัน ปล่อยที่ว่างบนพื้นฐานราวด้านละ ๕ เพซ บันไดสุดลงตรงระเบียงนี้ ปากทางประกอบด้วยเสางามขนาบทั้ง ๒ ข้าง ฐานหรือชั้นล่างของโครงชั้นที่ ๒ เป็นรูป ๘ เหลี่ยม ทางด้านใต้ ด้านตะวันออก ด้านตะวันตก และด้านเหนือยาวด้านละ ๑๑ เพช ส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันตก เฉียงเหนือยาวด้านละ ๑๒ เพซ มีหยักงอนเหมือนโครงเบื้องล่าง สูงราว ๒-๓ ฟาทม ถัดขึ้นไปไม่ต่างอะไรกับตึกยอดแหลม ซึ่งชั้นบนทำเป็นเสาสั้นๆ เว้นระยะห่างกันเล็กน้อยระหว่างแต่ละเสาปล่อยว่าง เสาเหล่านี้หนุนติดกับตัวเจดีย์สูงเรียวขึ้นไปเป็นที่สุดด้วยยอดแหลมยาว น่าพิศวงอย่างยิ่ง ที่ยอดแหลมนี้ ทนฟ้าทนลมเป็นเวลานานถึงเพียงนี้ได้อย่างไร นอกจากเจดีย์ที่กล่าวนี้แล้วก็มีโบสถ์ วิหาร การเปรียญของพระ ซึ่งกำแพงล้อมรอบก่อด้วยอิฐอย่างประณีต พระอุโบสถนั้นรูปร่างแปลก มีหลังคาหลายชั้นมีเสาจุนอยู่”

หลังจากที่หมอแกมป์เฟอร์ได้มาชม และพรรณนาลักษณะของเจดีย์องค์นี้แล้ว ได้พบหลักฐานจากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาพอสรุปได้ความว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๗ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โปรดให้ปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์และพระอารามวัดภูเขาทอง ความในพงศาวดารฉบับนั้นเขียนไว้ว่า

“ในปีนั้น (หมายถึงจุลศักราช ๑๑๐๑ หรือ พ.ศ. ๒๒๘๗) ทรงพระกรุณาโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์และพระอารามภูเขาทอง ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ “พิจารณาจากเอกสารที่ยกมา ๒ ประการข้างบนนี้ ประกอบกับแบบอย่างของพระเจดีย์ยุคต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทำให้เห็นว่าพระเจดีย์ องค์นี้เป็นเจดีย์แบบยุคที่ ๓ ของสมัยอยุธยาคือ นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลงมาจนถึงพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ. ๒๑๗๓ ถึง พ.ศ. ๒๒๗๕) ฉะนั้น หากเดิมเป็นเจดีย์ทรงไทย (พระราเมศวรโปรดให้สร้าง) แล้วพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองโปรดให้สร้างครอบไว้เป็นแบบมอญจริงแล้ว ข้อสันนิษฐานก็มีอยู่ว่า จะต้องมีการซ่อมแปลงแบบอย่างที่เป็นมอญมาเป็นแบบไทยอีกครั้งหนึ่งใน ระหว่างปี ๒๑๗๓ ลงมาซึ่งไม่เกิน พ.ศ. ๒๒๓๓ (ปีที่แกมป์เฟอร์มาสู่กรุงศรีอยุธยา) และที่พงศาวดาร ได้บันทึกไว้ว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์นั้น สันนิษฐานว่า อาจเป็นเพียงปฏิ-สังขรณ์บางส่วนที่ชำรุด และแก้ไขลวดลายเท่าที่เห็นว่างามเท่านั้นหาใช่เปลี่ยนแปลงแบบอย่างจากมอญมาเป็นไทยไม่ ข้อนี้มีเหตุผลสนับสนุนอยู่ก็คือ ระยะเวลาที่หมอแกมป์เฟอร์เข้ามาแล้วบรรยายภาพไว้ (คือ ปี ๒๒๓๓) นั้นแบบอย่างเจดีย์ก็เป็นทรงเหลี่ยม ต่อมาอีก ๕๔ ปี ที่พงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์คงไม่ชำรุดทรุดโทรมหักพังลงมาถึงรากฐานเป็นแน่ ประจักษ์พยานยังเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้อีกไม่น้อย ต่อจากนี้ยังไม่พบหลักฐานว่ามีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ครองกรุงศรีอยุธยา โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดหรือพระเจดีย์องค์นี้เลย ในส่วนที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศบูรณะ พระอาราม นอกจากองค์พระเจดีย์ประธานแล้ว อาจจะบูรณะพระอุโบสถและอื่นๆ อีก เป็นต้นว่าสร้างพระเจดีย์รายเพิ่มขึ้น เพราะลวดลายของพระเจดีย์รายบางองค์ส่อว่าทำอย่างประณีตบรรจง โดยเฉพาะลวดลายส่วนบนของเสาประตูซุ้มเข้าพระอุโบสถเป็นลายเฟื่องที่ประณีตบรรจงสวยงามมาก ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ หลังจากเสียกรุงเวลาล่วงมาอีกราว ๖๓ ปี สุนทรภู่ได้มานมัสการ เมื่อปีขาล เดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๗๓ ได้เขียนนิราศภูเขาทองบรรยายภาพวัดและพระเจดีย์ไว้ มีความดังต่อไปนี้

“ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ    เจริญรสธรรมาบูขาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง            ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น    เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได        คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด        ในจังหวัดวงแขวงกำเพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน        เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น        ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม
ประทักษิณจินตนาพยายาม        ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย    ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน
เป็นลมทักขิณาวัฏน่าอัศจรรย์    แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก
ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก    เผยอแยกยอดสุดก็หลุดหัก…

กลอนนิราศสุนทรภู่บรมครูกวีกลอน ได้ให้ภาพพจน์อย่างเห็นได้ชัด แสดงว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบอย่างหนึ่งอย่างใด จนเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางราชการได้บูรณะองค์พระเจดีย์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยต่อเติมปล้องไฉน ปลี และลูกแก้ว โดยเฉพาะลูกแก้วทำด้วยทองคำหนัก ๒,๕๐๐ กรัม ซึ่งอาจจะเป็นความหมายว่า ได้บูรณะขึ้นในคราวฉลองพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ข้อคิดและเหตุผลต่างๆ ดังที่ได้เสนอมานี้ อาจเป็นแนวทางที่จะได้ค้นคว้าศึกษาและสันนิษฐาน ในทางโบราณคดีต่อไป

ตลอดระยะเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวง โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
๑. หนังสือบรรยาย ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา เขียนไว้ว่า พระอารามอันเป็นหลักของพระนคร นอกกรุงเทพมหานครศรีอยุธยามีวัดภูเขาทองรวมอยู่ด้วย ดังจะขอคัดมาลงไว้ ดังนี้

“อนึ่ง เป็นหลักกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาราชธานีใหญ่นั้น คือพระมหาปราสาทสามองค์ กับพระมหาธาตุวัดพระราม ๑ วัดหน้าพระธาตุ ๑ วัดราชบูรณะ ๑ และพระมหาเจดีย์ฐานวัดสวนหลวง สพสวรรย์ ๑ วัดขุนเมืองใจ ๑ กับพระพุทธปฏิมากรวัดพระศรีสรรเพชญ ๑ วัดมงคลบพิตร ๑ และนอกกรุงเทพฯ นั้นคือ พระมหาเจดีย์ฐานวัดพระยาไทสูง ๒ เส้น ๖ วา ๑ วัดภูเขาทอง สูง ๒ เส้น ๕ วา กับประประธานวัดเจ้าพะแนงเชิงของพระเจ้าสามโปเตียน ๑”
๒. วัดนี้เป็นวัดที่พระราเมศวร พระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาทรงสร้าง
๓. ทำเนียบวัดในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าระบุไว้ว่า วัดนี้เป็นพระอารามหลวง รวมอยู่ด้วยเป็นอันดับที่ ๒๘

วัดนี้คงตกเป็นพระอารามราษฎร์หลังจากเสียกรุงไปแล้ว ต่อมาราว พ.ศ. ๒๔๗๑ วัดนี้ชำรุดทรุดโทรมจนไม่มีพระภิกษุพำนักอยู่ จึงกลายเป็นวัดร้างเรื่อยมา ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้บูรณะขึ้น จึงได้รับสถาปนาเป็นวัดมีพระสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง

มีเรื่องตามพงศาวดารอันเกี่ยวกับพระภิกบุวัดนี้ได้ช่วยเหลือในการป้องกันพระนครศรีอยุธยา อยู่เรื่องหนึ่ง คือเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๖ พระเจ้าหงสาวดีได้ยกพลมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหานาคซึ่งบวชอยู่วัดนี้ได้สึกออกมาช่วยเหลือตั้งค่ายกันทัพเรือ ตั้งค่ายแต่วัดภูเขาทองลงมาจนถึงวัดป่าพลู ได้สะสมกำลังญาติโยมทาสชายหญิงช่วยกันขุดคู คือขุดจากคลองวัดภูเขาทองลงมาข้างใต้เลี้ยวมาทางตะวันตก ผ่านวัดขุนญวน วัดป่าพลู ไปออกแม่น้ำใหญ่ คลองนี้ยังมีร่องรอยอยู่เรียกว่าคลองมหานาค

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด