นิราศวัดเจ้าฟ้า

Socail Like & Share

อสุภธรรมกรรมฐานประหารเหตุ        หวนสังเวชว่าชีวังจะสังขาร์
อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา                ที่ป่าช้านี่ก็เหมือนกับเรือนตาย
กลับเกลียดกลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน        พระนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย
อันร่างเหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย    แล้วต่างตายตามกันไปมั่นคง

อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ เขียนคำนำอธิบายเรื่องนิราศวัดเจ้าฟ้าไว้ในฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังนี้

“นิราศวัดเจ้าฟ้านี้ ท่านสุนทรภู่ขึ้นต้นไว้เป็นทำนองว่าสามเณรพัด ผู้บุตรขาย เป็นคนแต่ง เมื่อคราวตามท่านสุนทรภู่ไปค้นหาสมบัติโบราณ ตามลายแทง คือกล่าวขึ้นต้นไว้ว่า

เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร
เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร
กำจัดจรจากนิเวศน์พระเชตุพน

ที่ดัดแต่งเป็นของสามเณรพัดนั้น คงจะเกิดความคิดลองแผลงให้เป็นสำนวนคนอื่นแต่งดูบ้าง หรือโดยเหตุที่เวลานั้น ท่านสุนทรภู่ยังบวชเป็นพระภิกษุครองสมณเพศอยู่ จะแต่งเป็นของตนเอง ถ้าว่ากลอนผาดโผนไป ก็เกรงจะเสียสมณสารูปจึงขึ้นต้นเป็นของสามเณรพัดบุตรชายของท่านเป็นผู้แต่งเสีย แต่เมื่อท่านผู้อ่านที่ช่างสังเกตลองอ่านไปให้ตลอด ก็ย่อมจะจับได้ว่าที่แท้นั้นเป็นบทกลอนของท่านสุนทรภู่แต่งขึ้นด้วยตนเอง เช้น พรรณนาถึงเรื่องราวบางอย่าง ความหลังบางตอน หญิงคนรักบางคน ล้วนเป็นเรื่องของท่านสุนทรภู่เองทั้งนั้น…

วัดเจ้าฟ้า หรือที่เรียกไว้ในนิราศนี้ว่า “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” นั้น เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ยังไม่เคยพบว่ามีท่านผู้ใดสืบสวนไว้ ข้าพเจ้าลองอ่านนิราศแล้วกำหนดเส้นทางไว้ก่อน ครั้นเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๔ จึงได้ชักชวนท่านที่สนใจและชอบสนุกในการค้นหาความรู้ทางนี้ พากันเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะนั้นนํ้ากำลังท่วมทุ่งจึงจัดหาเรือหางยาวเล่นตัดทุ่งและเข้าลำคลองไป ตามแนวทางที่ระบุถึงในเรื่องนิราศ ไปจนถึงสถานที่ซึ่งมีกล่าวว่า

พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด    ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูนสูง
เที่ยวเลียบชมลมเย็นเห็นนกยูง    เป็นฝูงฟ้อนหางที่กลางทราย

และมีกล่าวถึง “ดินโขด” หรือ “โขดดิน” ไว้อีก ๒-๓ แห่ง เมื่อข้าพเจ้ากับคณะแล่นเรือไปถึงนั้น เป็นเวลาราวเที่ยงวัน และ “โขดดิน” ในฤดูนั้น สูงขึ้นมาเหนือน้ำ ซึ่งในปัจจุบันเป็นวัดมีกุฎีสงฆ์และศาลาการเปรียญตั้งอยู่เบื้องล่าง ในฤดูนํ้าท่วมทุ่ง กุฎีและศาลาการเปรียญก็หล่ออยู่ในนํ้า แต่ตัวพระอุโบสถตั้งอยู่บนโขดดิน พอดีวันนั้นมีงานทอดกฐิน ได้เรียนถามท่านเจ้าอาวาสและท่านผู้เฒ่า อายุ ๘๓ ปี ที่มาร่วมกุศลเทศกาล ท่านเล่าว่าวัดนั้นมีชื่อว่า วัดเขาดินขึ้นอยู่ในตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ซักไซ้เท่าไรก็ไม่มีใครเคยทราบว่าวัดนี้เคยมีชื่อว่า “วัดเจ้าฟ้าอากาศ” บอกได้แต่ว่าเดิมเป็นวัดร้าง ชาวบ้านใช้เป็นที่พักควายและเป็นบ่อนชนไก่ในฤดูนํ้าท่วม ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๗ ท่านอุปัชฌาย์ศรี วัดประดู่ทรงธรรมได้มาปฏิสังขรณ์และก่อสร้างกุฎีสงฆ์ ให้เป็นวัดมีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา แล้วมาปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ พระประธานในพระ อุโบสถแต่เดิมเป็นพระพุทธรูปศิลา ต่อมาได้ซ่อมพอกปูนปิดทองเสียใหม่ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และว่าเคยมีแผ่นจารึก แต่ไม่ได้อ่านกันไว้ซํ้าบอกจำหน่ายเสียด้วยว่า ในคราวปฏิสังขรณ์ครั้งหลัง ได้นำลงบรรจุไว้ใต้ฐานชุกชีพระประธาน เรื่องราวที่ฟังเล่าดังกล่าว ก็ดูตรงกับที่กล่าวไว้ในนิราศ และที่ว่ามีแผ่นศิลาจารึกนั้น ก็อาจเป็นจารึกบอกชื่อวัด เช่นที่ว่า

นามนั้นเขาเขียนแจ้งที่แท่งหิน
วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์
ได้ทราบสิ้นสืบสายเพราะลายแทง

ท่านสุนทรภู่เดินทางไปในคราวแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านี้เมื่อปีใด จำต้องหาหลักฐานอื่นช่วยประกอบพิจารณา แต่เมื่อเรารู้กันว่า ท่านสุนทรภู่เคยเป็นข้าอยู่ในวังหลัง และท่านเจ้าครอกทองอยู่ พระอัครชายาในกรมพระราชวังหลังโปรดอุปการะทั้งท่านสุนทรภู่และบุตรของท่านตลอดมา จึงพอจะสังเกต กำหนดจากคำกลอน ๒ แห่งในนิราศได้คือตอนที่ผ่านหน้าวัดระฆัง กล่าวไว้ว่า

ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ
แทบพระบาทบุษบงองค์อัปสร

และมีกล่าวต่อไปอีกว่า

เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูนทราย
แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน

ดูเป็นความว่า เมื่อเรือผ่านมาทางหน้าวัด ได้มองเห็นพระปรางค์วัดระฆังและเห็นเชิงตะกอนที่ วัดอัมรินทร์ รวมข้อความ ๒ คำกลอนนี้ คงจะหมายถึงว่าเห็นเชิงตะกอนที่ถวายเพลิงเจ้าครอกทองอยู่ที่วัด
อัมรินทร์ และได้นบไหว้อัฐิกับอังคารของท่านที่บรรจุไว้ในพระปรางค์วัดระฆัง ดังนี้ก็อาจเป็นได้ เวลาถวายเพลิงศพเจ้าครอกทองอยู่ เป็นข้างขึ้นเดือน ๑๑ ปีวอกอัฐศก ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๙ ด้วยเหตุนี้ จึงพอกำหนดได้ว่า ท่านสุนทรภู่คงจะเดินทางไปวัดเจ้าฟ้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านี้ขึ้นในปลายปีนั้นหรือปีถัดมา แต่ไม่ก่อนหน้านั้น ขณะนั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งท่านสุนทรภู่เคยได้พึ่งพระบารมีอยู่ ก็สิ้นพระชนม์ไปเสียใน พ.ศ. ๒๓๗๘ แล้ว ท่านสุนทรภู่คง กำลังคิดหาที่พึ่งอื่นต่อไปอีก จึงมีความบอกไว้ในนิราศอีกแห่งหนึ่งว่า

อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง        ให้ทราบซึ้งสุจริตพิสมัย
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย    น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน

ซึ่งก็แสดงอยู่ว่าท่านสุนทรภู่คงจะได้มีโอกาสเริ่มติดต่อและหวังพึ่งพระบารมีกรมหมื่นอัปสร¬สุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว จึงเผยความในใจออกมาตีแผ่ไว้อย่างน่ารู้ในกลอนนิราศเรื่องนี้ด้วย

ท่านสุนทรภู่เดินทางไปค้นหาสมบัติตามลายแทงคราวนี้ มีลูกชายไปด้วย ๒ คน คือสามเณรพัด กับ นายตาบและมีศิษย์ตามไปด้วยอีก ๔ คน ระบุไว้ในนิราศนี้มีชื่อ กลั่น (คือ สามเณรกลั่น ผู้ แต่งนิราศพระแท่นดงรัง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖) จัน มาก และ บุนนาก กับมีคนแจวเรืออีก ๒ คน ซึ่งคงจะเป็นผู้ใหญ่ คือ ตามา และตาแก้ว แต่ไปทำการไม่สำเร็จ ว่าถูกอาถรรพณ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำแดงฤทธิ์ เป็นพายุฝนพัดเอาข้าวของเครื่องบัดพลีบวงสรวงตลอดจนผ้าห่มและตำราลายแทงปลิวหายไปหมด จึงพากันกลับ และแวะไปอาศัยพระยาชัยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุงเก่า ซึ่งเป็นเพื่อนของท่านสุนทรภู่ มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ แล้วจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ดังมีเรื่องราวพิสดารพรรณนาเป็นคำกลอนอันไพเราะ และน่าอ่านน่ารู้อยู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้า”

อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา ที่ป่าช้านี่แหละเหมือนกับเรือนตาย

หลังจากแต่งนิราศสุพรรณแล้ว สุนทรภู่ก็ย้ายจากวัดเทพธิดามาอยู่วัดพระเชตุพนฯ เป็นการนำให้สุนทรภู่เข้าใกล้จินตกวีแบบฉบับผู้สูงศักดิ์ คือสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่ทราบความเกี่ยวข้องในระหว่างสองมหากวีสุนทรภู่คงจะได้รับพระเมตตาจากสมเด็จกรมพระปรมานุชิตเป็นอย่างดี อนึ่ง ที่วัดพระเชตุพนฯ นี้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณกำลังทรงผนวชอยู่ คงจะได้ทรงอนุเคราะห์ช่วยเหลือสุนทรภู่ตามวิสัยของศิษย์กับครู ชีวิตตอนนี้ค่อยสงบและราบรื่นกว่าเดิม

นิราศวัดเจ้าฟ้าแต่งเมื่อสุนทรภู่อยู่วัดพระเชตุพนฯ และไปวัดเจ้าฟ้าแห่งกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง สุนทรภู่ไปกับสามเณรพัดและนายตาบผู้เป็นบุตรพร้อมกับศิษย์อื่นๆ มีข้อแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ นิราศเรื่องนี้สนุทรภู่เลี่ยงให้เป็นสำนวนของสามเณรพัด ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงแฝงนามไว้เช่นนั้น แต่ตอนท้ายนิราศอดจะบอกไว้ไม่ได้ว่า “นี่กล่าวแกล้งแต่งเล่นเพราะเป็นหม้าย” ใครเป็นหม้าย? ต้องเป็นสุนทรภู่ไม่ใช่สามเณรพัด

เนื้อนิราศ

สาเหตุที่สุนทรภู่นิราศไปวัดเจ้าฟ้าคราวนี้เพื่อไปหายาอายุวัฒนะลายแทงที่ได้ตำรามาจากเมืองเหนือ สรรพคุณของยานี้มี “ว่ายากินรูปร่างงามอร่ามเรือง แม้ฟันหักจักงอกผมหงอกหาย แก่กลับกลายหนุ่มเนื้อนั้นเรื่อเหลือง….”การเดินทางคงไปทางเรือตามเคย พอผ่านวัดระฆังก็กราบพระธาตุของเจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ซึ่งได้รับพระราชทานเพลิงใหม่ๆ “เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูนทราย แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน ทั้ง หนูตาบกราบไหาร้องไห้ว่าจะคมลาลับไปในไพรสัณฑ์ เคยเวียนเฝ้าเกล้าจุกให้ทุกวัน สารพันพึ่งพาไม่อาทร’’ สุนทรภู่เดินทางไปถึงวัดพนัญเชิงก็จอดเรือที่หน้าศาลาวัดได้ขึ้นไปนมัสการพระนิราศดำเนินความ ตอนนี้ว่า “ท่านบิดรได้ประกาศว่าชาตินี้ ทั้งรูปชั่วตัวดำทั้งต่ำศักดิ์ ถวายรักไว้กับศีลพระชินสีห์ ต่อเมื่อไร ใครรักมาภักดี จงอารีรักตอบด้วยขอบคุณ” อีกตอนหนึ่งเป็นสำนวนเณรพัดอธิษฐานว่า “…อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง ให้ซาบซึ้งสุจริตพิสมัย อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน…” ข้อความนี้ล้วนเป็นสิ่งที่สุนทรภู่เคยประสบมาแล้วทั้งนั้น หลังจากนั้นก็เดินทางอย่างลำบากกรากกรำขึ้นบกที่วัดใหญ่ไปตามลายแทง กินเวลานาน จึงมาถึงวัดเจ้าฟ้าอันเป็นวัดร้างมาแต่โบราณ มีประวัติพิสดารและว่ามียาอายุวัฒนะอยู่ใต้องค์พระ สุนทรภู่ไปตั้งพิธีขุดในเวลากลางคืน พอเริ่มพิธีก็เกิดเหตุวิปริตต่างๆ นัยว่า เกิดด้วยอำนาจปีศาจเลยต้องเลิกไม่อาจขุด และ “ถวายวัดตัดตำราไม่อาลัย ขออภัยพุทธรัตน์ปฏิมา” แล้วก็ กลับ ขากลับได้แวะไปเยี่ยมพระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุง สุนทรภู่เคยไม่แวะเยี่ยมเมื่อคราวนิราศภูเขาทองเพราะเกรงว่าท่านจะรังเกียจเพราะตนตกยากแต่คราวหลังๆ ไปและได้รับการรับรองดีเสมอ เมื่อประจักษ์อัธยาศัยดังกล่าวนี้จึงอำนวยพรอย่างน่าฟัง หลังจากนั้นก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ
ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด