โคลงนิราศสุพรรณ

Socail Like & Share

วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า        เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย            ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย            ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า        คลาดแคล้วแล้วหนอ

คิดคำรำลึกไว้            ใคร่เตือน
เคยรักเคยร่วมเรือน        ร่วมรู้
อย่าเคืองเรื่องเราเยือน       ยามแก่ แม่เอย
ใครที่มีชู้ชู้                ช่วยค้ำคำโคลง

บางทีคนเราทั้งหลายก็ต้องมานั่งเสียใจว่างานที่เขาทำลงไปแล้วนั้น หากไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า เพราะมันทำลายเกียรติที่เขาเคยสร้างไว้แล้วให้อับเฉาไป สำหรับในทางวงวรรณคดี ข้าพเจ้าอยากจะยกเรื่องการแต่งนิราศสุพรรณเป็นคำโคลงของสุนทรภู่เป็นอุทาหรณ์ หากสุนทรภู่จะไม่แต่งโคลงเสียเลยในชีวิต แต่งแต่กลอนสุภาพที่เคยถนัดอย่างเดียวแล้ว รัศมีแห่งเกียรติทางการประพันธ์ของสุนทรภู่จะบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะท่านได้เกียรติสูงสุดอยู่แล้วในศิลปะของกลอนสุภาพ แต่นี่ท่านสุนทรภู่หาญไปแต่งนิราศสุพรรณเป็นโคลง อันมิใช่มือขวาตนเข้า นิราศสุพรรณจึงแต้มจุดดำแก่เกียรติทางงานนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่ด่างพร้อยเพราะนิราศสุพรรณบ้างแต่ก็ไม่มากมายนัก ถึงกระนั้นก็ตาม ข้าพเจ้ามีเหตุผลบางประการ ที่จะให้ความยุติธรรมแก่อมตกวีผู้นี้ ดังจะได้อภิปรายต่อไป

อันศิลปินนั้นย่อมมีอัจฉริยวุฒิเป็นพิเศษเฉพาะอย่าง ยากนักที่จะให้ศิลปินเชี่ยวชาญในศิลปะได้ในทุกสาขา ในวงวรรณคดีย่อมเป็นที่รับรองกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นเจ้าแห่งกลอนบทละคร สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเป็นยอดกวีทางลิลิตและฉันท์ นายนรินทร์ อันเป็นเอกในกระบวนนิราศคำโคลงและสุนทรภู่ชนะเลิศในกระบวนกลอนสุภาพ เป็นสาขาๆ ไป ดังนั้น เมื่อสุนทรภู่ไปหาญแต่งนิราศสุพรรณเป็นคำโคลงเข้า สุนทรภู่ต้องเป็นรองเขา นักวรรณคดีถือว่าสุนทรภู่ แพ้นรินทร์อินอย่างหลุดลุ่ยในกระบวนคำโคลงพิศวาส และดูเหมือนจะสู้พระยาตรังเจ้าของนิราศคำโคลงมีชื่อไม่ได้อีกด้วย แต่สุนทรภู่ก็มีวิสัยเป็นนักกีฬาที่รู้แพ้รู้ชนะท่านย่อมแพ้อย่างชื่นตาในการประลองศิลปะแห่งโคลง ดังจะเห็นได้ว่าไม่ได้แต่งโคลงอีกเลยตลอดชีวิต

ทำไมสุนทรภู่จึงแต่งนิราศสุพรรณเป็นคำโคลง? ย่อมเป็นที่รู้กันว่าสุนทรภู่นั้นเป็นกวีที่หยิ่งในศิลปะของตนยิ่งนัก ทั้งมีนิสัยเป็นคนเปิดเผยพูดตรงไปตรงมา ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงใคร มีอหังการเป็นอย่างมาก และโดยเฉพาะหยิ่งนักในกระบวนกลอนของตน ตามธรรมดาคนเราย่อมมีคนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ คนที่เห็นสุนทรภู่เด่นนักก็อิจฉา แกล้งแคะไค้ ยั่วเย้าสุนทรภู่ จนหนักเข้าถึงประมาทว่าสุนทรภู่นั้นแต่งได้ดีแต่กระบวนกลอน คำประพันธ์ชนิดอื่นคงทำไม่ได้ดี สุนทรภู่นั้นเป็นคนวู่วามที่ไม่ชอบให้คนท้า และยิ่งท้าด้วยอาการประมาทด้วยแล้วก็ออกรับทันที คือสุนทรภู่ลงมือทำพระไชยสุริยา เป็นกาพย์ และทำนิราศสุพรรณเป็นโคลง เพื่อเป็นปฏิกริยาต่อคำประมาทที่ท่านทนอยู่ไม่ไหว

โดยประวัตินิราศสุพรรณแต่งเมื่อ ๒๓๘๔ (ดูคำอรรถและบันทึกของกรมศิลปากรในประวัติสุนทรภู่ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ) เวลานั้นสุนทรภู่บวชอยู่ที่วัดเทพธิดาอายุ ๕๕ ปี นับเป็นนิราศเรื่องที่ ๔ ของกวีผู้นี้ นิราศสุพรรณเขียนภายหลัง “โคลัมบา” ของเมริเม และ “รัศมี กับเงา” ของวิคเตอฮูโก เพียงปีเดียวเวลานั้นกีโซต์นักประพันธ์และนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสุนทรภู่กำลังรุ่งโรจน์ในทางการเมืองและมีโอกาสตั้งรัฐบาลกีโซต์ (๑๘๔๖-๑๘๔๘) แต่สุนทรภู่กำลังคลั่งเรื่องเล่นแร่แปรธาตุ ที่ไปเมืองสุพรรณครั้งนั้นก็มีนัยว่าจะไปหาแร่ การเดินทางของสุนทรภู่เต็มไปด้วยการผจญภัย เมืองสุพรรณสมัยสุนทรภู่รกร้างและเปล่าเปลี่ยวมากเต็มไปด้วยเสือตามฝั่งนํ้า ซํ้าในแม่นํ้ามีจระเข้ชุกชุม สุนทรภู่เดินทางโดยเรือและแบบหนีเสือปะจระเข้จริงๆ

เนื้อนิราศ
สุนทรภู่เดินทางโดยเรือจากวัดเทพธิดาไปตามคลองมหานาค มีนายพัด นายตาบ (บุตรชาย) และคนอื่นติดตามไปด้วย เมื่อผ่านวัดสระเกศเราได้ความรู้ว่า แม่ของท่านตายแล้ว และศพอยู่ที่วัดนั้น เมื่อเรือผ่านมาถึงฉนวนเห็นพระที่นั่งที่เคยเฝ้าพระพุทธเลิศหล้าฯ ในการชำระนิพนธ์ก็รำลึกถึงพระคุณท่าน “สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้า กลับร้างห่างฉนวน” ผ่านท่าช้างก็รำพึงว่าเป็นที่ที่ได้รับพระราชทานจากพระพุทธเลิศหล้าฯ ไปถึงวังหลังก็ระลึกถึงชีวิตตอนหนุ่มว่าเคยอยู่กับคุณจัน เดินทางไปจนถึงเมืองสุพรรณซึ่งเวลานั้นรกร้างและเปล่าเปลี่ยวมาก เต็มไปด้วยเสือแม้แต่ริมฝั่งแม่นํ้าก็มีเสือชุม สุนทรภู่ได้ไปเห็นถิ่นฐานบ้านช่องของคนสำคัญในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่น ขุนช้าง ศรีประจัน ทองประศรี วัดที่ พิมพิลาไลยสร้าง สุนทรภู่ได้ไปไหว้วัดพระป่าเลไลยก็อธิษฐานว่าดังนี้

ขอเดชุพระพุทธเจ้า    จงเห็น
อุตส่าห์มาเช้าเย็น    ยากไร้
ปรารถนาว่าจะเป็น    ปัจเจกพุทธ ภูมิเอย
บุญช่วยด้วยให้ได้    ดุจข้าอาวรณ์

ยังไปไม่พ้นภพ          สงสาร
ขอปะพระศรีอารย์        อีกเหล้า
ตราบถึงซึ่งพระนิพพาน    ภายภาค หน้าเอย
ขอสุขทุกข์โศกเศร้า      สิ่งร้ายหายสูญ

ต่อจากนั้นก็ได้ไปพบแร่เหล็กอย่างดี และแร่ทองแดง แต่มิได้ปรากฏว่าได้แสดงความสนใจมากมายนัก

ว่าถึงกระบวนพรรณนาและบรรยาย นิราศสุพรรณมีรสด้อยกว่าเรื่องอื่นๆ ของสุนทรภู่ สังเกตดูตลอดนิราศพูดถึงสิ่งที่พบเห็นอย่างย่อๆ แทบทั้งนั้น ถึงกระนั้นก็ตามเราจะได้พบเรื่องแปลกๆ หลายเรื่อง เช่น ลาวฟ้าแลบ ลาวเปลือย สาวกะเหรี่ยงผูกลูกปัดแดง ครอบครัวชรา (ผัวอายุ ๑๒๐ ปียังสนเข็มได้เมียอายุ ๑๑๘ ปี) ประวัติบ้านทึงและลูกชายสุนทรภู่กับผู้หญิง จะเล่าบางเรื่องดังนี้

ผู้เฒ่าเล่าเรื่องหย้าน        บ้านทึง
ท้าวอู่ทองมาถึง           ถิ่นถุ้ง
แวะขอเชือกหนังขึง        เขาไม่ ให้แฮ
สาปย่านบ้านเขตคุ้ง        คี่ทิ้งถึงแปลง

ศิลปะการประพันธ์

บัดนี้จะพูดถึงศิลปะในทางพิศวาสของสุนทรภู่ตามที่ปรากฎในนิราศสุพรรณสุนทรภู่ได้นำชื่อเมีย ชู้ และคู่รักของตนหลายคนมาเป็นทางระบายอารมณ์พิศวาส ผ่านตำบลใดหรือพบสิ่งใดอันจะเป็นเหตุให้หวนประหวัดถึงคนไหน อมตกวีของเราก็ระบุชื่อคนรักของตน คุณจัน แม่งิ้ว แม่กลิ่น แม่แก้ว แม่ม่วง แม่น้อย แม่สุข และแม่บัวคำ ตลอดจน “นกน้อยลอยลม” ตัวหนึ่งที่เคยกก แต่คนที่ได้รับเกียรติคร่ำครวญหวนโหยด้วยความอาลัยมากที่สุดคือ คุณจัน-ที่สุนทรภู่ได้มาเป็นเมียด้วยความลำบากยากเข็ญและต้องหลุดมือไปเป็นของเขาอื่นอย่างว่าวขาดลมลอย คงจะเป็นคุณจันนี่เองที่ทำให้สุนทรภู่ รู้ถึงอิทธิพลหญิงในศิลปะการประพันธ์ ท่านจึงกล่าวว่า “ใครที่มีชู้ชู้ช่วยคํ้าคำโคลง” เมื่อเรือมาถึงบ้านบุ สุนทรภู่ก็พ้อคุณจันซึ่งหลุดมือตนไปเป็นของเขาอื่นแล้วว่า “มีคู่ชู้ชื่นหน้า นุชปลื้มลืมเดิม” และบ่นด้วยศิลปะอันแสดงความเสียดายอย่างเศร้าๆ เต็มไปด้วยความเสน่หาอาลัย

เสียดายสายสวาทโอ้            อาวรณ์
รักพี่มีโทษกร                กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร           เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง            แตกฟ้าผ่าสลาย

แล้วรำพึงครวญครํ่าอย่างสิ้นหวัง

เดือนดับลับโลกคง        คืนค่ำ อีกเอย
จันพี่นี้ลับหน้า            นับสิ้นดินสวรรค์

เมื่อผ่านบางกรวย สุนทรภู่รำพันถึงแม่งิ้วเมียที่ตายแล้วตรวจนํ้าไปให้ โคลงบทหนึ่งรำพึงว่า

ยามยลต้นงิ้วป่า        หนาหนาม
นกบาปวาบวับหวาม    วุ่นแล้ว
คงจะปะงิ้วทราม        สวาทเมื่อ ม้วยแฮ
งิ้วกับพี่มิแคล้ว        คึ่นงิ้วลิ่วสูง

เมียรักอีกคนหนึ่งที่อมตกวีฝากทำนองพิศวาสไว้ในนิราศสุพรรณ คือ แม่ม่วง (ในโคลงเรียก ม่วงหม่อม) ดูเหมือนจะเป็นแม่ของลูกที่ชื่อนิล สุนทรภู่เปรียบ

นึกมดอดสูใจ        จงมะม่วง หวงแฮ
เพียงพี่มิมอดม้วย    ไม่สิ้นถวิลหวัง

ข้าพเจ้าสังเกตว่าสุนทรภู่ต้องการแสดงความผิดเพื่อนทุกประการของตนในโคลงนิราศสุพรรณ ไม่เอาอย่างใคร อย่างที่นายนรินทร์และพระยาตรังชอบทำ สุนทรภู่ต้องการเป็นตนของตนเอง และดูเหมือนจะต้องนำเพื่อนเสียด้วย โคลงนิราศนั้นโดยมากเขามักเริ่มร่ายสดุดี แต่สุนทรภู่ไม่สดุดีอะไรเลย (อาจเป็นเพราะเป็นรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งไม่โปรดสุนทรภู่นัก และสุนทรภู่เคยว่า “จะหยิบยกธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง”-นิราศภูเขาทอง) สุนทรภู่ยังแทรกทำนองนาคบริพันธ์ ในโคลงนิราศของท่านด้วย ซึ่งนายนรินทร์หรือพระยาตรังไม่ทำ ขอคัดมาให้ดูดังนี้

สาวเอยเคยอ่อนหนุ้ม        อุ้มสนอม
ออมสนิทชิดกลิ่นหอม       กล่อมให้
ไกลห่างว่างอกตรอม        ออมตรึก รฦกเอย
เลยอื่นขึ้นครองได้        ไคร่หว้าน่าสรวล

ลักษณะแห่งความผิดเพื่อนที่สุนทรภู่ถูกติก็คือ สุนทรภู่ไปเล่นสัมผัสในในคำโคลงด้วย นักวรรณคดีบางท่านว่าสัมผัสในลีลาไม่เหมาะกับโคลง แต่ข้าพเจ้ายังไม่เคยทราบว่าระเบียบโคลงจะห้ามสัมผัสในสุนทรภู่นั้นถือว่าเสียงสัมผัสเป็นศิลปะที่เรียกความไพเราะ สุนทรภู่เคยใช้มันได้ผลมาแล้วในกลอน จึงสมัครใช้สัมผัสในโคลงของตนด้วยเป็นการใช้สิทธิ์ของเอกชนในฐานะผู้นำศิลปะชนิดหนึ่ง นี่คือลักษณะของนักก้าวหน้าและผู้ถางทางสำหรับผู้อื่น แต่ทำไมสุนทรภู่จึงเข็นครกขึ้นภูเขาไม่ไหว? นํ้าน้อย ย่อมแพ้ไฟ

อันที่จริงสัมผัสในนั้นข้าพเจ้าก็เคยเห็นกวีเล่นกันทุกคนในโคลง นรินทร์อิน “เอียงอกเท อกอ้างอวดองค์ อรเอย” กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส “โกสุมชุ่มช้อยอรชร” พระยาชัยวิชิต (เผือก) “เอมอ่านอิ่มใจเสบย สบายจิต” ศรีปราชญ์ “คนเดียวมาจากเจ้า เจ็บอก อ่อนเอย” สัมผัสของสุนทรภู่ที่เห็นผิดเพื่อน ก็คือนิยมสัมผัสด้วยสัมผัสในระหว่างวรรค อาจเป็นการเสนอศิลปะเพื่อความเป็นต้นคิดของสุนทรภู่ก็ได้เช่น

๑. เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว
๒. มหานาคชวากรุ้ง คุ้งคลอง
๓. เลี้ยวลัดวัดสระเกศก้ม คมลา
๔. เรือรุ่งฝูงนกร้อง ก้องดง
๕. เงียบเหงาเปล่าอกแด ดูแปลก แรกเอย
๖. เคยอยู่คู่สำราญ ร่วมเย่า เจ้าเอย” ดังนี้เป็นต้น

บางทีจะเป็นด้วยสัมผัสดังนี้กระมังที่ทำให้ศิลปะแห่งโคลงของสุนทรภู่ดูยืดยาดไปขาดเสียงกระชับหนักแน่นอยู่บาง นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีข้อผิดแปลกไปกว่าโคลงของคนอื่นอย่างไร หลายบทที่มีความงามอย่างมาก งามทั้งความคิด งามทั้งรูปโคลง ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างความงามในแง่แปลกมาให้ชมสักบทดังนี้

ทุกข์ใครในโลกล้น        ล้ำเหลือ
ไม่เท่าควายลากเรือ        รับจ้าง
หอบฮักจักขุเจือ            เจิ่งชุ่ม ชลเอย
มนุษย์ดุจติดค้าง           เฆี่ยนเจ้าเอาเงิน

นอกจากความผิดเพื่อนด้วยประการต่างๆ ดังอภิปรายมาแล้ว ดูเหมือนว่าในนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ต้องการอารมณ์สนุก และเอาอุปนิสัยเด่นของงานนั่นเองมาเปิดเผย เช่นเรื่องกินเหล้าและเรื่องเจ้าชู้ เมื่อสุนทรภู่ไปไหว้พระวัดป่าเลไลยก็ได้อธิษฐานว่าดังนี้

ยังไปไม่พ้นภพ        สงสาร
ขอปะพระศรีอารย์    อีกเหล้า
ตราบถึงซึ่งนิพพาน    ภายภาค หน้าเอย
ขอสุขทุกข์โศกเศร้า    สิ่งร้ายหายสูญ

ข้อความในบาทที่สองนี้หมายความได้ ๒ แง่ คำว่า เหล้า หมายถึงอะไรแน่ สุนทรภู่อาจหมายถึงสุรา มิฉะนั้นจะใช้คำอื่นแทนโดยมิต้องให้เสียเอกโทษโทโทษเลย เช่นตรงนั้นอาจใช้คำว่าด้วยก็ได้ (ไม่จำเป็นต้องใช้เล่าเป็นเหล้า) ถ้าเป็นจริงก็แปลว่าสุนทรภู่ขอพบเหล้าทุกชาติไป

อารมณ์สนุกในเรื่องเจ้าชู้สุนทรภู่ก็ได้แสดงไว้อย่างขบขันและครื้นเครง สุนทรภู่ได้สอนให้ลูกชาย คือพัดกับตาบเกี้ยวสาวลาว แต่ลูกไม่เจ้าชู้เหมือนพ่อ เกี้ยวไม่เป็นอายผู้หญิง สุนทรภู่จึงปรารภว่า

ลูกเอยเฉยเช่นปั้น    ปูนขาว
สาวเพ่งเล็งหลบสาว    ซิ่นแล้ว
ปะเป็นเช่นพ่อคราว    ครั้งหนุ่ม
ตายราบลาภไม่แคล้ว   คลาดช้านาที

ตอนค่ำลูกสาวลาวมาหาแต่คนเดียว เอาของมาให้ และนั่งใกล้ ลูกชายท่านกวีเจ้าชู้ก็ยังไม่แสดงบทบาทให้สมใจพ่อ สุนทรภู่จึงปรารภถึงความลำบากของการมีลูกผู้หญิง    และความโง่ของลูกตัวเองว่า

บุราณท่านว่าเลี้ยง    ลูกสาว
มันมักหักรั้วฉาว        เช่นพร้อง
หนุ่มชายฝ่ายรุ่นราว    รักขยัน พรั่นแฮ
ลูกโง่โซแสบท้อง      บ่รู้สู่สาว

ในเรื่องภาษาของสุนทรภู่นั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม) นักวรรณคดีชั้นอาจารย์ได้เคยพูดถึงความสามารถของสุนทรภู่อยู่บ่อยๆ ท่านเคยกล่าวถึงการใช้สัมผัสของสุนทรภู่ สระบางสระเช่น อีน หาคำใช้ยาก ในภาษาไทยมีเพียง ๔ คำ คือ ศีล ตีน ปีน จีน แต่สุนทรภู่ก็เอามาใช้ได้อย่างเหมาะสม อย่างอัศจรรย์ ท่านยกตัวอย่างจากเรื่องพระอภัยมณีตอนบรรยายลักษณะของชีเปลือยว่า

“ไม่นุ่งผ้าคากรองครองหนังเสือ    ประหลาดเหลือโล่งโต้งโม่งโค่งขัน
น่าเหียนรากปากมีแต่ขี้ฟัน        กรนสนั่นนอนร้ายเหมือนป่ายปีน
ประหลาดใจใยหนอไม่นุ่งผ้า      จะเป็นบ้าไปหรือว่าถือศีล
หนวดถึงเข่าเคราถึงนมผมถึงตีน    ฝรั่งจีนแขกไทยก็ใช่ที’’

สุนทรภู่จะต้องการ “เป็นนาย” ภาษาไทยให้ได้ ไม่ยอมจนสัมผัส และคำจำพวกอีน ก็นำมาใช้ในโคลงนิราศสุพรรณเหมือนกัน

ลุดลชนบทบ้าน            ขนมจีน
โรงเจ๊กตั้งริมตีน            ท่าน้ำ
นั่งนับทรัพย์สิ่งสีน        สยายเพ่า เล่าแฮ
เมียช่างสางสลวยล้ำ        สลับผู้หูหนาง

พูดถึงความจริงในการเขียนโคลงนิราศกันแล้ว ข้าพเจ้าว่าสุนทรภู่ชนะเลิศชนะนายนรินทร์ สุนทรภู่เปิดเผยยิ่งกว่าพระยาตรัง สุนทรภู่เขียนด้วยใจมากกว่าหัว เขียนเพราะอารมณ์บันดาลจริงๆ หน้าไหนที่กล้าบอกความจริงอย่างสุนทรภู่บ้าง เมีย ชู้ คนรักมีเท่าไรสุนทรภู่บอกหมด นายนรินทร์นั้นแม้แต่ชื่อเมียที่เขารักเทิดทูน จนไม่รู้จะฝากใคร สวยอย่างสามภพหาไม่ได้ ดีอย่างนั้นหวานอย่างนี้ ล้วนแต่พูดเกินความจริงทั้งเพ แต่นายนรินทร์ก็หากล้าเปิดเผยชื่อเมียของเขาให้ใครรู้จักไม่ ตรงกันข้าม สุนทรภู่จาระไนชื่อไว้หมดอย่างไม่อับอายครั่นคร้าม ข้อติฉินนินทาใดๆ ข้าพเจ้ารักสุนทรภู่นักในเรื่องเขียนด้วยคำซื่อสุจริตและจริงใจ สุนทรภู่หลงความรู้สึกจากหัวใจลงสู่ปากกาหรือดินสอของท่านโดยซื่อเสียจริงๆ ขอคัดมาให้ชมสักบทหนึ่งดังนี้

วัดแจ้งแต่งตึกตั้ง            เตียงนอน
เคยปกนกน้อยคอน        คู่พร้อง
เคยลอบตอบสามสมร        สมานสมัคร รักเอย
จำจากพรากนุชน้อง        นกน้อยลอยลม

นิราศสุพรรณมีทุกรส พิศวาส, หรรษา, ธรรมคติ และการด่าอย่างเจ็บปวด ข้าพเจ้าได้เสนอสำนวนพิศวาสไว้ในเรื่องก่อนบ้างแล้ว ในที่นี้จะขอนำเอาการด่าเชิงกวีของสุนทรภู่มาให้ฟังสัก ๒ บท บทแรกด่าขุนนาง บทหลังด่าตระลาการ

กาเหยี่ยวเที่ยวว้าว่อน            เวหา
ร่อนร่ายหมายมัจฉา            โฉบได้
ขุนนางอย่างเฉี่ยวกา            กินสัตว์ สูเอย
โจนจับปรับไหมใช้            เข่นข้าด่าตี

ยางเจ่าเซาจับจ้อง            จิกปลา
กินเล่นเป็นภักษา            สุกล้ำ
ตระลาการท่านศรัทรา           ถือสัตย์ สวัสดิ์แฮ
บนทรัพย์กลับกลืนกล้ำ        กล่าวคล้ายฝ่ายยาง

เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นการยุติธรรมหรือ ที่เราจะหาว่านิราศสุพรรณของสุนทรภู่สู้ของคนอื่นไม่ได้ สุนทรภู่อาจแพ้เขาในกระบวนความงามของโคลง แต่ในกระบวนความงามของความคิด และความซื่อแห่งการแสดงออก ข้าพเจ้าว่าสุนทรภู่ชนะใครๆ หมด นิราศสุพรรณจึงเป็นทองคำขาวที่ทาบไว้กลางทองคำอื่นบนผืนปฐพีวรรณคดีไทย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด