นิราศพระประธม

Socail Like & Share

สาธุสะพระประธมบรมธาตุ        จงทรงศาสนาอยู่อย่ารู้สูญ
ข้าทำบุญคุณพระช่วยอนุกูล        ให้เพิ่มพูนสมประโยชน์โพธิญาณ
หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ    ให้สืบชื่อช่อฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ    พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร
อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง        แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร
ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน    ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา

อาจารย์ ธนิต อยู่โพธิ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้เขียนคำนำอธิบายเรื่องนิราศพระประธม ของสุนทรภู่ ไว้ในฉบับชำระใหม่ ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๔ กล่าวว่า

“พระปฐมเจดีย์ ในจังหวัดนครปฐมบัดนี้ แต่ก่อนเคยเรียกกันมาในสมัยหนึ่งว่าพระประธม และมีนิทานเล่าประกอบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทมและนิพพานที่นั่น แล้วภายหลังพระยาพาน ประสงค์จะล้างกรรมที่ทำปิตุฆาฎ จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์สูงชั่วนกเขาเหิน สวมลงตรงที่พระพุทธเจ้าเคยบรรทม จึงเรียกกันว่าพระประธม และต่อมาเมื่อพระเจดีย์ชำรุดลง ก็คงจะมีพุทธศาสนิกชนผู้ทราบนิทานดังกล่าวนี้ และมีศรัทธาเลื่อมใสออกทุนทรัพย์ปฏิสังขรณ์และก่อสร้างปูชนียวัตถุเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ตามยุคตามคราว แล้วพากันมาสักการะบูชาเป็นเทศกาลประจำปีมาช้านาน และฤดูที่กำหนดเป็นเทศกาลขึ้นไหว้ประจำปีก็คงจะเป็นระยะเวลากลางเดือน ๑๒ เช่น ครั้งรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เสด็จไปนมัสการ ใน พ.ศ. ๒๓๗๗ เช่นที่ปรากฎในพระนิพนธ์โคลงนิราศ พระประธม ก็เสด็จในเดือน ๑๒ ท่านสุนทรภู่ไปนมัสการ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ตามที่แต่งไว้ในนิราศพระประธมนี้ ก็ไปในเดือน ๑๒ เหมือนกัน และในรัชกาลที่ ๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในพระบวรพุทธศาสนา ได้เสด็จธุดงค์ไปทรงนมัสการเมื่อ พ.ศ.- ๒๓๗๔ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ตามเสด็จหลายรูป มีหลักฐานบอกไว้แต่เพียงว่าเสด็จในฤดูแล้ง ยังมีที่ทรงปักกลดประทับอยู่ ณ เชิงพระเจดีย์ด้านเหนือ แต่เข้าใจว่าเมื่อไม่ใช่ฤดูเทศกาล ก็คงปล่อยทิ้งรางไว้ จะมีก็แต่พระภิกษุสงฆ์อยู่ดูแลบ้าง และแถวถิ่นนั้นก็คงจะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงบ้าง จึงปรากฏกล่าวถึงในนิราศพระประธมนี้และในหนังสืออื่น ว่าเป็นบริเวณป่ารกร้าง มีสัตว์ป่า เช่น กวาง ทราย และไก่เถื่อน เป็นต้น ซึ่งผู้คนที่ไปนมัสการได้พบปะอยู่เสมอ ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงค้นพบหนังสือเก่า เรียกไว้ว่า พระปฐมเจดีย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระประธมว่า “พระปฐมเจดีย์” ตามหนังสือเก่า และโปรดให้ทำการบูรณะเป็นการใหญ่มาตลอดรัชกาล แต่การบูรณะปฏิสังขรณ์ยังไม่เสร็จบริบูรณ์ตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้บูรณะต่อมา และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็มาสำเร็จลงต่อในรัชกาลที่ ๗ เช่น พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ และงานนมัสการที่กำหนดเป็นฤดูเทศกาลประจำปี ก็มีในเดือน ๑๒ สืบเนื่องตลอดมาจนบัดนี้

ถ้าท่านผู้อ่านนิราศพระประธมเล่มนี้ ได้เคยอ่านกลอนเรื่อง รำพันพิลาป ของสุนทรภู่ ฉบับชำระใหม่และพิมพ์จำหน่ายในงานกวีวรรณนา ณ วัดเทพธิดาราม เนื่องในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดของสุนทรภู่ ครบ ๑๗๕ ปี เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านย่อมจะทราบดีแล้วว่า ท่าน สุนทรภู่แต่งรำพันพิลาป ตามความฝันของท่านในคืนวันจันทร์ เดือน ๘ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ ซึ่งเวลานั้น ท่านมีอายุ ๕๖ ปี และยังครองเพศเป็นสมณะอยู่ แต่ได้บอกล่าวในหนังสือรำพันพิลาปนั้นว่า

โอ้ปีนี้ปีขาลสงสารวัด        เคยโสมนัสในอารามสามวัสสา
สิ้นกุศลผลบุญกรุณา        จะจำลาเลยลับไปนับนาน

แล้วดูเหมือนท่านสุนทรภู่จะได้ลาสิกขาบทในปีขาล เข้าใจว่าคงจะสึกราวข้างขึ้นเดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษาในปีนั้น แล้วเข้าถวายตัวพึ่งพระบารมีอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นเสด็จดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิม ธนบุรี ครั้นต่อมาในเดือน ๑๒ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ นั้นเอง ท่านสุนทรภู่ก็เดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ บอกวันออกเดินทางไว้ในเบื้องต้น นิราศพระประธมของท่านว่า “ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ” เข้าใจว่า เป็นวันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๓๘๕ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากเหตุการณ์ใน “รำพันพิลาป” ราว ๓-๔ เดือน ในระยะนั้น ท่านสุนทรภู่ยังอยู่ตัวคนเดียว แต่คงจะริรักแม่หม้ายสักคนหนึ่ง และน่าจะยังมิได้ตกร่องปล่องชิ้นกันจึงรำพึงรำพันไว้ว่า

โอ้หน้าหนาวคราวนี้เป็นที่สุด    ไม่มีนุชแนบชมเมื่อลมหวน
พี่เห็นนางห่างเหยังเรรวน        มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทน

ท่านสุนทรภู่เดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์คราวนี้มีบุตรชายร่วมเดินทางไปด้วย ๒ คน คนหนึ่งคือ นายตาบ และอีกคนหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นนายนิล เข้าใจว่าลงเรือแถวท่าพระราชวังเดิม จังหวัดธนบุรี แล้วไปตามเส้นทาง ดูท่านจะเปลี่ยวเปล่า ว้าเหว่อยู่มาก จึงรำพึงรำพันถึงความหลังที่เคยเกี่ยวข้องกับใครต่อใครมากมายหลายหน้า และเข้าใจว่า ท่านสุนทรภู่มิได้เว้นรำพึงรำพันถึงแม้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เช่นเมื่อเดินทางผ่านวัดสัก ได้รำพันไว้ว่า
ถึงวัดสักเหมือนพึ่งรักที่ศักดิ์สูง        สูงกว่าฝูงเขาเหินเห็นเกินสอย
แม้นดอกฟ้าคลาเคลื่อนหล่นเลื่อยลอย    จะได้คอยเคียงรับประคับประคอง

พิจารณาตามบทกลอนในนิราศพระประธมนี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อยังรุ่นหนุ่ม ท่านสุนทรภู่คงจะท่องเที่ยวโปร่งปรุตลอดแถวย่านคลองบางกอกน้อย จนถึงบางกรวยและบางสีทอง และรู้จักมักคุ้นอย่างมีความหมายกับผู้หญิงยิงเรือมากหน้าหลายตาในย่านนั้น เมื่อท่านเดินทางผ่านไปในถิ่นนี้อีก จึงเป็นเหตุให้รื้อฟื้นความทรงจำอย่างมีความหมายและสร้างเป็นบทกลอนอันพริ้งเพรา ดูช่างเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจเสียจริงๆ ยิ่งกว่ากวีอื่นใดที่เดินผ่านเส้นทางสายเดียวกัน ครั้นผ่านพ้นย่านที่เคยมีผู้รู้จักมักคุ้นแล้ว ท่านก็หยิบเอาของกินที่มีผู้จัดหามาให้เป็นเสบียงกลางทางเช่น ฟักเชื่อม จันอับ และมะพลับแช่อิ่ม แล้วกินพลางรำพันถึงเจ้าของไปพลาง ด้วยบทกลอนอันไพเราะเพราะพริ้ง นอกนั้นก็พรรณนาถึงถิ่นฐานบ้านช่องและสิ่งพบเห็นตามทางที่ผ่านไป คลุกคละปะปนกับความรู้สึกของท่าน ว่าถึงปูนอายุของท่านก็ทำให้น่าคิดว่าระยะนั้น ท่านสุนทรภู่คงจะกำลังติดต่ออยู่กับใครสักคนหนึ่ง ซึ่งเป็นแม่หม้าย แต่ยังรวนเรไม่ตกร่องปล่องชิ้น เช่นกล่าวมาข้างต้น จึงรำพันถึงไว้อีกว่า

สงสารแต่แม่หม้ายสายสวาท    นอนอนาถหนาวน่าน้ำตาไหล
อ่านหนังสือหรือว่าน้องจะลองใน    เสียดายใจจางจืดไม่ยืดยาว
แม้นยอมใจให้สัตย์จะนัดน้อง    ไปร่วมห้องหายหม้ายทั้งหายหนาว

เมื่อเดินทางไปถึงวัดพระประธม ท่านสุนทรภู่ได้พรรณนาถึงองค์พระและบริเวณ ซึ่งรกเป็นราวป่า ตามสภาพที่เป็นอยู่ในสมัยนั้น เห็นจะตั้งอกตั้งใจไปไหว้ด้วยความมุ่งมั่นมีศรัทธาแก่กล้าในแรงบุญจริงๆ จึงชวนบุตรชาย ๒ คน ปีนป่ายขึ้นไปทำประทักษิณและนมัสการ พลางตั้งจิตอธิษฐานเสียหลายแง่หลายมุม พร้อมทั้งกล่าวอ้างกระทบกระเทียบถึงใครต่อใครแฝงความหมายไว้ยืดยาว แต่ก็อ่านไพเราะน่าพัง ครั้นลงจากองค์พระแล้วก็พาบุตรเข้าไปในโบสถ์ ได้พบท่านผู้เฒ่า คงจะชาวบ้านแถวนั้น ซึ่งรู้นิทานเรื่องพระยากงพระยาพานดี ท่านสุนทรภู่ได้ “ถามผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้ หวังจะให้ทราบความตามประสงค์” แต่เรื่องราวเกี่ยวกับพระยาพานสร้างพระประธมที่ท่านสุนทรภู่ได้ยินได้ฟังแล้ว นำมาแต่งไว้ในนิราศพระประธมนี้ มีพลความแตกต่างไปบ้างจาก “ตำนานพระปฐมเจดีย์” ที่ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ รวบรวมไว้ เป็นทางช่วยให้เราทราบพลความเพิ่มเติมต่างออกไปอีก จึงได้ทำเชิงอรรถเปรียบเทียบไว้ในหน้านั้นๆ เมื่อท่านสุนทรภู่ออกมานอกโบสถ์ ก็ตรวจนํ้าแผ่ส่วนบุญให้แก่บิดา มารดาครูอาจารย์ของท่าน และในตอนท้ายได้อุทิศกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วยความรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ครั้นแล้วก็ถวายกุศลแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย แล้วก็จบนิราศพระประธม”

แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก    ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์

อมตกวีไทยได้มีสภาพเป็นพ่อค้าเรือเร่ และกวีรับจ้างอยู่นานเท่าใดไม่แน่ ดาวประจำชีพของท่านก็ฉายแสงรุ่งโรจน์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นข้อน่าพิศวงในความผันแปรของชีวิตของกวีแห่งชาติผู้นี้ ตกทุกข์ได้ยากคราวใดก็ไม่ถึงที่อับจนจนเหลือเกิน ไม่ช้าบุญปางหลังก็นำให้ได้ที่พึ่งที่ดีเสมอ คราวนี้ท่านได้พึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์) และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระพี่นางของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ นับว่าสุนทรภู่ได้ร่มโพธิ์ร่มไทรที่แผ่สาขาให้ความร่มเย็นเป็นสุขอีกครั้งหนึ่ง สุนทรภู่ได้กรวดนํ้าถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่า

“ถวายองค์มงกุฎอยุธเยศ        ทรงเสวตคชงามทั้งสามสาร
เสด็จถึงซึ่งบุรีนีรพาน            เคยโปรดปรานเปรียบเปี่ยมได้เทียมคน
สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าออก        น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน
ขอพบเห็นเป็นข้าฝ่ายุคล            พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน
ถึงล่วงแล้วแก้วเกิดกับบุญฤทธิ์        ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ
สิ้นแผ่นดินทินกรจรจำรูญ            ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน
ดังจินดาห้าดวงช่วงทวีป            ได้ชูชีพช่วยทุกข์เมื่อฉุกเฉิน
เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน            จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา
อนึ่งน้อมจอมนิกรอัปสรราช            บำรุงศาสนาสงฆ์ทรงสิกขา
จงไพบูลย์พูนสวัสดิ์วัฒนา            ชนมาหมื่นแสนอย่าแค้นเคือง”

พระอภัยมณีงานชิ้นเยี่ยมของสุนทรภู่เป็นที่โปรดปรานของเจ้าหญิงพระองค์นี้มาก มีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อไปจนถึงเล่ม ๙๔ นับว่าทรงติดพระอภัยมณีจนถึงกับทรงกำชับให้แต่งเดือนละเล่ม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพิเคราะห์สำนวนว่า พระอภัยมณีตอนหลังๆ นี้สุนทรภู่เห็นจะมิได้แต่งคนเดียว อาจขอให้ศิษย์ช่วงแต่งบ้างก็เป็นได้เพราะอาจมีธุระแต่งเองไม่ทัน นอกจากนั้นสุนทรภู่ยังแต่งสิงหไตรภพถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกเรื่องหนึ่ง แต่งได้ ๑๕ เล่มสมุด โดยยัง ไม่จบ อาจหยุดเมื่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๘๘ ในรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นได้

เนื้อนิราศ

สุนทรภู่เดินทางด้วยเรือพร้อมกับบุตรชาย 2 คน ผ่านวัดทองระลึกถึงน้องสาวทั้งสอง คือ ฉิมและนิ่ม และเมียที่ชื่อแก้วว่าตายและทำศพที่วัดนี้ เมื่อถึงบางบำรุรำพันประหนึ่งจะเคยไปรักซ้อนเข้ากับเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง ว่า

“บำตำรุเหมือนบำรุบำรุงรัก            จะพึ่งพักพิศวาสเหมือนมาดหมาย
ไม่เหมือนนึกตรึกตรองเพราะสองราย    เห็นฝักฝ่ายเฟื่อนหลงด้วยทรงโลม”

ถึงบางกรวยระลึกถึงแม่งิ้ว รำพันว่า “โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี” และว่านายตาบมองคลองบ้านดูมารดา

ถึงบางศรีทองนึกถึงคนชื่อศรีทองว่า     เคยเป็นคู่บอกสักวา ปากหวานเหมือนนํ้าตาล

“ทุกวันนี้พี่เฒ่าเราก็หง่อม    เธอเป็นจอมเราเป็นจนต้องบ่นหา”

เมื่อถึงบ้านธรรมศาลาได้อธิษฐานว่า

“เดชะคำทำคุณการุณัง            เป็นที่ตั้งวาสนาให้ถาวร
ขอสมหวังดังสวาทอย่าคลาดเคลื่อน    ให้ได้เหมือนหมายรักในอักษร
หนังสือไทยอธิษฐานสารสุนทร        จงถาวรเพิ่มรักเป็นหลักโลม”

ในที่สุดเดินทางถึงพระปธม ได้นมัสการและอธิษฐานว่า

“สาธุสะพระปธมบรมธาตุ        จงทรงศาสนาอยู่ไม่รู้สูญ
ข้าท่ำบุญคุณพระช่วยอนุกูล        ให้เพิ่มพูนสมประโยชน์โพธิญาณ
หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ    ให้ลือชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาล    พระทรงสารศรีเสวตเกศกุญชร
อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างๆ            แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร
ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน    ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา
อนึ่งหญิงทิ้งสัตย์เราตัดขาด            ถึงน้ำเนื้อธรรมชาติไม่ปรารถนา
ข้างนอกนวลส่วนข้างใจใจสุดา        เหมือนปลาร้าร้ายกาจอุจาดจริง
ถึงรูปชั่วตัวดำระยำยาก        รู้รักปากรักหน้าประสาหญิง
ถึงปากแหว่งแข้งคอดไม่ทอดทิ้ง        จะรักยิ่งยอดรักให้หนักครัน
จนแก่กกงกเงิ่นเดินไม่รอด            จะสู้กอดแก้ตาจนอาสัญ
อันหญิงลิงหญิงค่างอย่างนั้น        ไม่ผูกพันพิศวาสให้คลาดคลา
ขอเดชะพระมหาอานิสงส์            ซึ่งเราทรงศักราชพระศาสนา
เสน่ห์ไหนให้คนนั้นกรุณา            เหมือนในอารมณ์รักประจักษ์จริง
หนึ่งน้องหญิงมิ่งมิตรพิศาวาส        ซึ่งสิ้นชาติชนม์ภพสบสมัย
ขอคุณพระอานิสงส์ช่วยส่งไป        ถึงห้วงไตรตรึงส์สถานพิมานแมน
ที่ยังอยู่คู่เคยไม่เชยชื่น                จงปรากฏยศยืนกว่าหมื่นแสน
มั่งมีมิตรพิศวาสอย่าขาดแคลน        ให้หายแค้นเคืองทั่วทุกตัวคน
นารีใดที่ได้รักแต่ลักลอบ            เสน่ห์มอบหมายรักเป็นพักผล
เผอิญขัดพลัดพรากเพราะยากจน        แบ่งกุศลส่งสุดาทุกนารี
ให้ได้คู่สู่สมภิรมย์รัก                ที่สมศักดิ์สมหน้าเป็นราศรี
สืบสกูลพูนสวัสดิ์ในปฐพี            ร่วมชีวีกัสองคนไปจนตาย
แต่นารีขี้ปดโต้หลดหลอก            ให้ออกดอกเหมือนวี่วันที่มั่นหมาย
ทั้งลิ้นน้องสองลิ้นเพราะหมิ่นชาย        เป็นแม่หม้ายเท้งเต้งวังเวงใจ
ที่จงจิตพิศวาสอย่าคลาดเคลื่อน        ให้ได้เหมือนหมายมิตรพิสมัย
อย่าหมองหมางห่างเหเสน่ห์ใน        ได้รักใคร่ครองกันจนวันตาย
เป็นคู่สร้างทางกุศลจนสำเร็จ        สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ยังมิถึงซึ่งนิพพานสำราญกาย        จะกลับกลายเป็นไฉนอย่าไกลกัน
แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก            ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์
แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร์            ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นแมงภู่            ได้ชื่นชูสู่สมชมเกสร
เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร            ได้เชยช้อนชมทะเลทุกเวลา
แม้นเป็นถ้ำน้ำใจใคร่เป็นหงส์        จะได้ลงสิงสู่ในคูหา
แม้นเนื้อเย็นเป็นเทพธิดา            พี่ขออาศัยเสน่ห์เป็นเทวัน”

ศิลปะการประพันธ์

คราวนี้สุนทรภู่กำลังมีจิตใจแจ่มใสชื่นบานในบทพรรณนาโวหาร ท่านจะทราบประวัติและตำนานเรื่องพระยากงพระยาพาน บ้านพะเนียดที่จับจูงช้างโขลงเข้าโรงหลวง

เมื่อถึงบทพิศวาส สุนทรภู่ได้ตัดพ้อแม่ม่วงซึ่งเลิกกันแล้วอย่างโหยหวน

“ถึงบางม่วงง่วงจิตคิดถึงม่วง    แต่จากทรวงเสียใจอาลัยเหลือ
มะม่วงงอมหอมหวนเหมือนนวลเนื้อ    มิรู้เบื่อบางม่วงเหมือนดวงใจ
เห็นต้นรักหักโค่นต้นสนัด            เป็นรอยตัดรักขาดให้หวาดไหว
เหมือนตัดรักตัดสวาทขาดอาลัย        ด้วยเห็นใจเจ้าเสียแล้วนะแก้วตา”

ส่วนหญิงที่สุนทรภู่กำลังรักและคร่ำครวญถึงจะเป็นใครก็ตาม ท่านเรียกของท่านว่า น้องเนื้อนพคุณ จะต้องงาม

“พี่เคยเห็นเช่นเคยเชยฉันใด        จนชั้นไฝที่ริมปากไม่อยากเบือน”

และพรํ่าว่า

“โอ้อกพี่นี้ก็ร้อนด้วยความรัก    ถึงฝนสักแสนห่าไม่ฝ่าฝืน
ไม่เหมือนรสพจมานเมื่อวานซืน    จะชูชื่นใจพี่ด้วยปรีดิ์เปรม
โอ้เปรียบชายคล้ายนกวิหคน้อย    จะเลื่อนลอยลงสรงกับหงส์เหม
ได้ใกล้เคียงเมียงริมจะอิ่มเอม    แสนเกษมสุดสวาทไม่คลาดลาย..”

หญิงผู้นี้คงจะต้องสูงศักดิ์นัก

เมื่อถึงตำบลลานตากฟ้าจึงครวญว่า

“โอ้แผ่นฟ้ามาตากถึงภาคพื้น    น่าจะยื่นหยิบเตือนได้เหมือนใจ
เจ้าหนูน้อยพลอยว่าฟ้าน้ำตก    ใครช่างดำยกฟ้าขึ้นมาได้
แม้นแดนดินสิ้นฟ้าสุราลัย        จะเปล่าใจจริงจริงทั้งหญิงชาย… ”

และได้รำพันพ้ออีกแห่งว่า

“โอ้กระต่ายหมายจันทร์ลงชั้นฟ้า            เทวดายังช่วยรับประคับประคอง
มนุษย์หรือถือว่าดีว่ามีศักดิ์                มิรับรักเริดร้างให้หมางหมอง
ไม่เหมือนเดือนเหมือนกระต่ายเสียดายน้อง    จึงขัดข้องขัดขวางทุกอย่างไป…”

พูดถึงแง่ปรัชญาท่านได้เปล่งเสียงสอนไว้หลายตอน เช่นเห็นเขาหีบอ้อย ก็ว่า

“เห็นน้ำอ้อยย้อยรางที่วางเรียง        โอ้พิศเพียงชลนาที่จาบัลย์
อันลำอ้อยย่อยยับเหมือนกับอก        น้ำอ้อยตกเหมือนน้ำตาตวงกว่าขัน
เขาโหมไฟในโรงโขมงควัน        ให้อัดอั้นอกกลุ้มรุมระกำ
อันน้ำในใจคนเหมือนต้นอ้อย    ข้างปลายกร่อยชืดชิมไม่อิ่มหนำ
ต้องหับหนีบแตกให้แหลกลำ    นั่นแหละน้ำจึงจะหวานเพราะจานเจือ”

ว่าถึงความคิดเห็นตามหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน สุนทรภู่ไม่เชื่องมงายในไสยศาสตร์ทั้งหลาย เมือไปเจ็บที่เมืองแกลงเคยรักษาด้วยคนทรงไม่พอใจ บ่นว่า

“….ให้คนทรงลงผีเมื่อพี่เจ็บ        ว่าเพราะเก็บดอกไม้ที่ท้ายเขา
ไม่งอนง้อขอสู่ทำดูเบา            ท่านปู่เจ้าเคืองแค้นจึงแทนทด
ครั้นตาหมอขอโทบก็โปรดให้    ที่จริงใจพี่ก็รู้อยู่ว่าปด
แต่ชาวบ้านท่านถือข้างท้าวมด    จึงสู้อดนิ่งไว้ในอุรา…”

คราวนี้สุนทรภู่ได้ประณามคนทรงว่า

“เห็นคนทรงปลงจิตอนิจจัง        ให้คนทั้งปวงหลงลงอุบาย
ซึ่งคำปดมดท้าวว่าเจ้าช่วย        ไม่เห็นด้วยที่จะได้ดังใจหมาย
อันเจ้าผีนี้ถึงรับก็กลับกลาย        ถึงเจ้านายที่ได้พึ่งจึงจะดี
แต่บ้านนอกคอกนาอยู่ป่าเขา    ไม่มีเจ้านายจึงต้องพึ่งผี”

ในตอนสุดท้ายของนิราศพระประธม สุนทรภู่ได้พรรณนาไว้อย่างกินใจตอนหนึ่งว่า

สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก        น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน
โอ้พระคุณทูลกระหม่อมจอมสกล        พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน
ถึงล่วงแล้วแก้เกิดกับบุญฤทธิ์        ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ
สิ้นแผ่นดินทินกรรอนจำรูญ            ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน
ดังจินดาห้าดวงช่วงทวีป            ได้ชูชีพช่วยทุกข์เมื่อฉุกเฉิน
เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน            จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา
อนึ่งน้อมจอมนิกรอัปสรราช             บำรุงศาสนสงฆ์ทรงสิกขา
จงไพบูลย์พูลสวัสดืวัฒนา            ชนมาหมื่นแสนอย่าแค้นเคือง
ษิโณทกตกดินพอสิ้นแสง            ตะวันแดงดูฟ้าเป็นผ้าเหลือง
เข้าพลบค่ำร่ำระวีราศีประเทือง        ก็จบเรื่องแต่งชมประธมเอย”

สถานที่กล่าวถึงในนิราศพระประธม
๑. วัดระฆัง ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามท่าช้างวังหลวง
๒. บางกอกน้อย คลองแยกแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกเหนือสถานีรถไฟธนบุรี เดิมเป็นลำนํ้าเจ้าพระยา
๓. วังหลัง ตั้งอยู่แถวบริเวณศิริราชพยาบาล
๔. บางหว้าน้อย เดี๋ยวนี้เรียกบางว้า ยังมีโบสถ์วัดบางว้าหรือวัดอัมรินทรารามอยู่ในบริเวณสถานีรถไฟธนบุรีเป็นสำคัญ
๕. วัดทอง วัดสุวรรณาราม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองบางกอกน้อย
๖. วัดปะขาว วัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดาราม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองบางกอกน้อย
๗. บางบำหรุ ตำบลในอำเภอบางกอกน้อย บางตำหรุก็เรียก มีคลองแยกจากคลองบางกอกน้อยที่ใต้วัดนายโรง ไปจดวัดสนาม (นอก) เหนือวัดพิกุล
๘. บางขุนนนท์ ตำบลในอำเภอบางกอกน้อย และมีคลองบางขุนนนท์ แยกคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ตอนเหนือวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ในท้องที่อำเภอตลิ่งชัน
๙. บางระมาด คลองแยกและตำบลในอำเภอตลิ่งชัน
๑๐. วัดไก่เตี้ย ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย และมีปากคลองแยกที่วัดไก่เตี้ย ในท้องที่อำเภอตลิ่งชัน
๑๑.  สวนหลวง อยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย ระหว่างวัดน้อยในถึงวัดชัยพฤกษ์มาลา ต่อมาตกเป็นที่ของคุณจอมกลีบในรัชกาลที่ ๕ แล้วแบ่งขายบ้าง ถวายเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดชัยพฤกษมาลาบ้าง และมีที่ซึ่งตกเป็นของนางชื่น แดงอร่าม ภายในที่ผืนนี้ ยังมีสระกว้างยาวประมาณร้อยเมตรและมีลำคู (ตรงข้ามวัดพิกุล) ขุดแยกจากคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกเข้าไปสู่สระ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นทางเรือพระที่นั่งในเวลาเสด็จประพาส แต่เดี๋ยวนี้คูและสระตื้นเขินเสียแล้ว
๑๒. บางขวาง คลองลัดในอำเภอบางกรวย แยกจากคลองมหาสวัสดิ์ ตรงข้ามวัดชัยพฤกษ์มาลา ไปบรรจบคลองวัดสัก ปัจจุบันเรียกกันว่า คลองขวาง
๑๓. วัดพิกุล วัดพิกุลตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกคลองบางกอกน้อย
๑๔. บางสนาม มีคลองแยกอยู่เหนือวัดพิกุล และมีวัดสนามนอกอยู่ริมคลอง ตำบลวัดชะลอ อำเภอบางกรวย
๑๕. สวนแดน คลองในอำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรีอยู่ระหว่างวัดไก่เตี้ยกับวัดน้อยในปากคลองแยกจากคลองบางกอกน้อย ที่วัดไก่เตี้ยไปจดคลองศาลเจ้า ยาวราว ๓ กิโลเมตร
๑๖. วัดเกด ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย ตำบลวัดชะลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
๑๗. วัดชะลอ ตั้งอยู่ปากคลองวัดชะลอ คลองวัดชะลอนี้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์โปรดให้ขุดมาเชื่อมคลองบางกอกน้อยที่วัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๐ ต่อมาเลยเรียกคลองขุดเชื่อมตอนนี้เป็นคลองบางกอกน้อยไปด้วย และคำว่าวัดชะลอเรียกตำบลขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรีด้วย ที่ว่าการอำเภอบางกรวย ตั้งอยู่เหนือวัดชะลอตรงทางร่วมของคลองบางกรวย และคลองแม่น้ำอ้อมกับคลองบางกอกน้อย ในตำบลวัดชะลอ
๑๘. บางกรวย คลองบางกรวย แยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาตรงหน้าวัดเขมาภิรตาราม มาทะลุที่ปากคลองวัดชะลอ หรือที่เรียกรวมเป็นคลองบางกอกน้อยตรงเหนือวัดชะลอ ต่อคลองแม่นํ้าอ้อม เหนือที่ตั้งที่ว่าการอำเภอบางกรวย
๑๙. บางสีทอง คลองแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งขวา ตอนหน้าเมืองนนทบุรี มาต่อกับคลองแม่นํ้าอ้อมเหนือที่ว่าการอำเภอบางกรวย
๒๐. บางอ้อช้าง เดี๋ยวนี้เรียกบางอ้อยช้างและมีวัดบางอ้อยช้าง ตั้งอยู่ปากคลองบางอ้อช้าง ซึ่งแยกคลองแม่นํ้าอ้อม ทางฝั่งตะวันออก
๒๑. วัดสัก มีคลองวัดสักแยกทางฝั่งตะวันตก
๒๒. บางขนุน ตำบลนี้ขึ้นในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองแยกซ้ายทางฝั่งตะวันตกเข้าไปวัดบางขนุน ว่าแต่ก่อนครั้งท้าวอู่ทองเรียกกันมาว่าบางถนนภายหลังมาเรียกเพี้ยนเป็น บางขนุน
๒๓. บางขุนกอง ตำบลนี้ขึ้นในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองแยกทางฝั่งตะวันตก
๒๔. บางนายไกร มีวัดบางไกรนอก ตั้งอยู่ริมคลองแม่นํ้าอ้อม และมีคลองบางนายไกร แยกทางฝั่งตะวันตกเข้าไปวัดบางไกรใน ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าควรจะเรียกวัดบางนายไกรนอกและวัดบางนายไกรใน ไม่ควรจะตัดคำว่า “นาย” ออกเสีย ณ ที่วัดบางนายไกรใน มีปริศนาลายแทงว่า “วัดบางนายไกร มีตะเข้สระใหญ่ไปใข่สระขวาง ไข่แล้วโบกหาง เอาคางทับไว้” มีพระพุทธรูปหลายองค์ ในโบสถ์และวิหารวัดบางนายไกรในว่านำมาจากวัดนาฬิเก ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ในตำบลบางขุนกอง
อำเภอบางกรวยนั่นเอง และว่าที่วัดนาฬิเกก็มีปริศนาลายแทงว่า “วัดนาฬิเกมีตะเข้สามศอก ใครคิดไม่ออก ให้เอาที่ถอกทาปูน”
๒๕. บางระนก คลองแยกฝั่งตะวันตกจากคลองแม่นํ้าอ้อมในท้องที่อำเภอบางกรวย
๒๖. บางคูเวียง คลองแยกจากคลองแม่นํ้าอ้อมฝั่งตะวันตก มาเชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์ ที่ใต้สถานีธรรมสพน์ ตำบลขึ้นในอำเภอบางกรวย
๒๗. บางม่วง มีคลองบางม่วงแยกทางฝั่งตะวันตกที่ปากคลองมีวัดอัมพวัน ตำบลบางม่วง ขึ้นในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๒๘. บางใหญ่ คลองยาว ๑๒ กิโลเมตรไปต่อคลองโยง และมีตำบลขึ้นในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ปากคลองด้านใต้
๒๙. บางกระบือ คลองแยกจากคลองบางใหญ่ ด้านตะวันตก ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๓๐. บางสุนัขบ้า ปัจจุบันมีวัดชื่อบางโค และมีคลองซึ่งเรียกว่าบางโคบ้า คงจะเรียกกันมาตามชื่อเดิม อยู่ในตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ แต่ในนิราศนี้พรรณนาถึงบางสุนัขบ้า จะเป็นแห่งเดียวกันหรืออย่างไรไม่ทราบ
๓๑. บางโสน มีคลองโสนแยกคลองบางใหญ่ในอำเภอบางใหญ่ทางฝั่งตะวันออกมาเชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์
๓๒. บ้านใหม่ธงทอง ตาบลขึ้นในอำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๓๓. คลองโยง เป็นคลองแยกต่อจากคลองบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ไป ออกแม่นํ้านครชัยศรี เมื่อยังไม่ขุดคลองมหาสวัสดิ์ การเดินทางไปมาแต่ก่อนได้ใช้คลองโยงนี้เป็นทางเชื่อมคมนาคม แต่หน้าแล้งนํ้าตื้นต้องใช้ควายโยงลากเรือ เช่นที่กล่าวถึงในนิราศนี้
๓๔. บางเชือก หมู่บ้านในตำบลบ้านใหม่ ตำบลบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๓๕. ลานตากฟ้า ตำบลในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
๓๖. งิ้วราย ตำบลขึ้นในอำเภอนครชัยศรี มีวัดงิ้วรายและสถานรถไฟสายใต้ชื่อวัดงิ้วราย
๓๗. สำประทวน ตำบลขึ้นอำเภอนครชัยศรี มีวัดสัมปทวนอยู่ฝั่งตะวันตกแม่นํ้านครชัยศรี
๓๘. ปากน้ำสำประโทน แถวที่ตั้งที่ว่าการอำเภอนครชัยศรี แต่ก่อนเรียกกันว่าตำบลปากนํ้า คงหมายถึงปากนํ้าเข้าคลองบางแก้ว
๓๙. บางแก้ว คลองและตำบลขึ้นอำเภอนครชัยศรี มีคลองบางแก้วแยกแม่นํ้าฝั่งขวา เหนือวัดกลางและใต้โรงกลั่นสุรา
๔๐. โพเตี้ย มีหมู่บ้านโพเตี้ยอยู่ในตำบลท่าตำหนัก แต่ปัจจุบันไม่มีต้นโพเตี้ยแล้ว คงมีเนินดินอยู่ในบริเวณบ้านของนายบุก อินทพงศ์ เหนือรางอุทัยแยกคลองบางแก้ว หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าตำหนัก อำเภอนครชัยศรี
๔๑. บางกระชับ ตำบลท่ากระชับขึ้นในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ถ้าเข้าไปตามคลองบางแก้ว ตำบลท่ากระชับอยู่เลยตำบลท่าตำหนักเข้าไป ฝั่งตะวันออกเป็นตำบลท่ากระชับ มีวัดไทรอยู่ริมคลองวัดบางแก้วอยู่ตรงวัดไทร
๔๒. วัดสิงห์ อยู่ริมคลองบางแก้วฝั่งตะวันตก ในตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี มีผู้จำปริศนาลายแทงที่วัดนี้ไว้ว่า “ตะริดติ้ดตี่ กะดี่สอง ผินหน้าลงคลอง สองตะกร้าโกยเอา”
๔๓. วัดท่า (ใน) อยู่ริมคลองบางแก้วฝั่งตะวันตก ในตำบลท่าพระยา อำเภอนครชัยศรี และมีศาลาวัดอยู่ริมถนนเพชรเกษมทางซ้ายมือ และปัจจุบันมีถนนพอรถยนต์เข้าไปได้ถึงวัด ระยะ ราว ๒ กิโลเมตร
๔๔. บ้านกล้วย มีบ้านกวยในตำบลท่าพระยา ขึ้นในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
๔๕. บ้านธรรมศาลา ตำบลขึ้นอำเภอเมืองนครปฐม มีวัดธรรมศาลา อยู่ด้านใต้ของถนนสายเพชรเกษม ในวัดมีโคกอิฐขนาดใหญ่อยู่หลังวิหาร เข้าใจว่าเป็นฐานพระเจดีย์
๔๖. บ้านเพนียด ตำบลขึ้นในอำเภอนครชัยศรี
๔๗. วัดพระประธม วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด