พระอภัยมณี

Socail Like & Share

พระอภัยมณี เป็นนิทานคำกลอนเรื่องยาวที่สุดของสุนทรภู่ มีความยาว ๙๔ เล่มสมุดไทย นับเป็นตอนๆ ได้ถึง ๖๔ ตอน

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผินก็ดูคล้ายกับเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วๆ ไป แต่อันที่จริงแล้วเรื่องนี้มีลักษณะแปลกไปจากเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่นๆ กล่าวคือ ตัวละครเอกคือ พระอภัยมณีไม่ชำนาญในเรื่องการสู้รบลักษณะเช่นนี้ต่างจากตัวละครเอกอื่นๆ ในบรรดาเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั้งหลาย นอกจากนี้พระอภัยมณียังชำนาญการเป่าปี่ไม่ได้ชำนาญการใช้อาวุธอื่นใด ส่วนศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นตัวละครที่มีความสำคัญรองลงมา แม้จะเก่งในทางรบพุ่งมากกว่าพระอภัยมณี แต่อาวุธที่ใช้ในการรบก็เป็นเพียงกระบองเท่านั้น นอกจากนี้พระอภัยมณีและศรีสุวรรณก็ไม่มีวิชาความรู้ทางด้านไสยศาสตร์ที่จะใช้ในการป้องกันตัว มีแต่เพียงวิชาการเป่าปี่และวิชากระบี่กระบองเท่านั้น นับว่าวิชาความรู้ของตัวเอกค่อนข้างจะแปลกไปกว่าที่ปรากฎในเรื่องจักรๆวงศ์ๆ อื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้ตัวละครฝ่ายหญิงยังมีความรู้ความสามารถในการทำศึกสงคราม ลักษณะเช่นนี้ต่างไปจากตัวละครเอกฝ่ายหญิงในเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วๆ ไปอย่างเห็นได้แจ่มชัด อนึ่ง ในตอนท้ายเรื่อง แทนที่พระอภัยมณีจะได้ครองคู่กับนางสุวรรณมาลีและนางละเวงอย่างมีความสุข กลับปรากฏว่าสุนทรภู่กำหนดให้พระอภัยมณีหาความสงบสุขด้วยการออกบวช นับว่าต่างไปจากเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัดอีกประการหนึ่ง นอกจากนี้เนื้อหาของเรื่องพระอภัยมณียังสามารถแบ่งออกได้เป็นตอนๆ แต่ละตอนมีเนื้อหาสนุกสนาน ชวนแก่การติดตาม มีของวิเศษ สัตว์วิเศษ และสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ นานาอันเป็นเรื่องที่สุนทรภู่จินตนาการขึ้นเองบ้าง นำความรู้ความคิดมาจากตำนาน ประวัติศาสตร์ ชาดกและวรรณคดีของชาติอื่นบ้าง แล้วนำมาผสมผสาน สอดร้อยเข้าเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน

สุนทรภู่เริ่มแต่งนิทานเรื่องนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยแต่งเพื่อขายฝีปากเลี้ยงตนเองขณะติดคุก ราวปีพ.ศ. ๒๓๖๔ แต่คงแต่งไว้แต่เพียงเล็กน้อย เมื่อพ้นโทษคงจะได้แต่งต่อบ้างตามสมควร แต่ก็คงไม่มากนักเพราะมีราชการต้องเข้าเฝ้าอยู่เสมอ ต่อมาเมื่อสุนทรภู่บวชในสมัยรัชกาลที่ ๓ และจำพรรษาอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ระหว่างพ.ศ. ๒๓๗๗-๒๓๗๘ อยู่ในพระอุปการะของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ สุนทรภู่ก็ได้แต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อ เป็นการแต่งถวายตามรับสั่งของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แต่งได้มากน้อยเพียงใดและแต่งถึงตอนใดก็ไม่ปรากฎหลักฐาน ในระยะต่อมาเมื่อสุนทรภู่ได้พึ่งพระบารมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ในตอนปลายสมัยรัชกาลท ๓ ก็ได้แต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อไปอีกโดยแต่งตามรับสั่งของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระพี่นางร่วมเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แต่งจนถึงเล่มที่ ๔๙ คือตอนพระอภัยมณีออกบวช หลังจากนั้นได้ให้ผู้อื่นแต่งต่อ ไม่ใช่สำนวนของสุนทรภู่

เนื้อหาของเรื่องพระอภัยมณีมีอยู่ว่า ท้าวสุทัศน์ ครองกรุงรัตนา มีโอรส ๒ องค์คือ พระอภัยมณีและศรีสุวรรรณพระองค์รับสั่งให้สองโอรสไปเรียนวิชาเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในการครองราชย์สืบไป พระอภัยมณีเรียนวิชาเป่าปี่ ศรีสุวรรณเรียนวิชากระบี่กระบอง เมื่อกลับกรุงรัตนา พระบิดาโกรธเคืองที่เรียนวิชาไม่เหมาะสมกับที่เป็นโอรสกษัตริย์ ก็ขับไล่ออกจากเมืองพระอภัยมณีและศรีสุวรรณออกจากเมืองพบพราหมณ์โมรา สานน และวิเชียร พระอภัยมณีเป่าปี่ให้ ๓ พราหมณ์ฟังจนถูกนางผีเสือยักษ์อุ้มเอาตัวไป แปลงร่างเป็นหญิงสาวอยู่ด้วยกันจนมีบุตรคนหนึ่งชื่อสินสมุทร สินสมุทรพาพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อยักษ์มาที่เกาะแก้วพิสดาร พระอภัยมณีได้นางเงือกเป็นชายา ส่วนศรีสุวรรณและ สามพราหมณ์ออกติดตามหาพระอภัยมณีจนไปได้นางเกษราธิดาเจ้าเมืองรมจักรเป็นชายา

ท้าวสิลราชเจ้าเมืองผลึกพาสุวรรณมาลีผู้เป็นธิดาออกเที่ยวทะเล มาถึงเกาะแก้วพิสดาร พบพระอภัยมณีและสินสมุทร ทั้งสองขอโดยสารเรือไปด้วย ขณะที่เดินทางไปนั้น นางผีเสือยักษ์ได้ทำเรือจม ท้าวสิลราชสิ้นพระชนม์ พระอภัยมณีกับศิษย์หนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา พระอภัยมณีเป่าปี่ นางผีเสื้อยักษ์ขาดใจตาย สินสมุทรแบกนางสุวรรณมาลีว่ายนํ้าพาขึ้นเกาะแห่งหนึ่งและขอโดยสารเรือโจรสุหรั่ง สินสมุทรฆ่าโจรเพราะโจรลวนลามนางสุวรรณมาลี แล้วแล่นเรือต่อไปยังเมืองผลึกเมื่อเรือผ่านมาถึงเมืองรมจักร ได้รบกับศรีสุวรรณ สินสนุทรจับศรีสุวรรณได้และรู้ว่าเป็นอา จึงได้พากันออกติดตามหาพระอภัยมณี

ฝ่ายอุศเรนคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลีออกติดตามหานางได้พบพระอภัยมณีกับพวกอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง พระอภัยมณีขออาศัยเรืออุศเรนมาด้วย จนพบเรือของสินสมุทร อุศเรนขอนางสุวรรณมาลีคืน แต่สินสมุทรไม่ยอมเกิดรบกันขึ้น อุศเรนแพ้หนีไปลังกา พระอภัยมณีกับพวกพากันเข้าเมืองผลึก พระอภัยมณีได้ครองเมืองผลึก นางสุวรรณมาลีโกรธพระอภัยมณีที่จะคืนนางให้แก่อุศเรน จึงหนีออกบวช นางวาลีออกอุบายจนนางสุวรรณมาลียอมสึกและอภิเษกกับพระอภัยมณี จนกระทั่งมีธิดาฝาแฝด ชื่อสร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา ต่อมาพระอภัยมณีให้ศรีสุวรรณพาสินสมุทรและอรุณรัศมีเดินทางไปเฝ้า ท้าวสุทัศน์ยังเมืองรัตนา

ฝ่ายนางเงอกที่เกาะแก้วพิสดารได้คลอดบุตรชายที่เกิดกับพระอภัยมณีให้ชื่อว่าสุดสาคร  เรียนวิชากับพระฤาษีจนเก่งกล้า มีม้ามังกรเป็นพาหนะ แล้วลาพระฤาษีออกติดตามหาพระอภัยมณี รบกับปีศาจที่เมืองร้างและถูกชีเปลือยหลอกผลักตกเหว พระฤาษีมาช่วยไว้ สุดสาครตามชีเปลือยไปถึงเมืองการเวก เอาม้ามังกรและไม้เท้าวิเศษคืนมาได้ เจ้าเมืองการเวกรับสุดสาครเป็นบุตรบุญธรรม ให้อยู่กับหัสไชย และเสาวคนธ์ผู้เป็นโอรสและธิดา

เมื่ออุศเรนกลับไปถึงเกาะลังกา ได้ขอให้บิดายกทัพมาตีเมืองผลึก นางวาลีและสุวรรณมาลี ช่วยรบและจับอุศเรนได้ เจ้าลังกาหนีไป นางวาลีเยาะเย้ยอุศเรนจนอุศเรนแค้นใจอกแตกตาย แต่ปีศาจอุศเรนก็มาหักคอนางวาลีให้ตายตามไป

ฝ่ายเจ้าลังกา เมื่อเห็นศพอุศเรนที่พระอภัยส่งมาให้ก็เสียใจจนสิ้นพระชนม์ นางละเวงผู้เป็นธิดา จึงขึ้นครองราชย์ นางละเวงคิดจะทำศึกกับเมืองผลึกโดยหาผู้อาสา จึงได้ส่งรูปของนางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อให้มาช่วยรบ โดยสัญญาว่าหากใครรบชนะก็จะยอมเป็นมเหสี เมืองผลึกจึงต้องรับศึกหนักถึง ๙ ทัพ สินสมุทรและศรีสุวรรณต้องมาช่วยพระอภัยมณีทำศึก พระอภัยมณีจับเจ้าละมานซึ่งหลงรูปนางละเวงและเป็นผู้มาอาสาทำศึกให้นางละเวงได้ พระอภัยมณีเห็นรูปนางละเวงจนคลั่ง สุดสาครพาเสาวคนธ์และหัสไชยมาช่วยเมืองผลึกทำศึกและเพื่อแก้ไขพระอภัยมณีจนพระอภัยมณีหายคลั่ง

พระอภัยมณีกับพวกยกทัพไปลังกาเพื่อแก้แค้นนางละเวง แต่พอเห็นนางละเวงก็พอพระทัยในตัวนาง นางละเวงหนีเข้าเมืองลังกาพร้อมกับนางยุพาผกาและสุลาลีวัน พระอภัยมรีกับพวกหลงเสน่ห์ นางละเวงกับพวกพระอภัยมณีได้นางละเวงเป็นมเหสี ศรีสุวรรณตามไปช่วยก็ได้นางรำภาส่าหรี สินสมุทรได้นางยุพาผกา สุวรรณมาลียกทัพเข้าประชิดลังกา พระอภัยมณีรบกับนางสุวรรณมาลี สุดสาครยกทัพมาช่วยสุวรรณมาลี แต่ถูกเสน่ห์นางสุลาลีวัน เสาวคนธ์ยกทัพมาจากเมืองการเวกมาช่วยทำศึกได้รบกัน ร้อนถึงพระฤาษีที่เกาะแก้วพิสดารมาเทศนาโปรดกลางสนามรบ เมืองผลึกและลังกาจึงเลิกรบกัน นางเสาวคนธ์ได้ขอโคตรเพชรจากนางละเวงแล้วนำกลับเมืองการเวก

พระอภัยมณีพาพรรคพวกกลับเมืองผลึก ขอนางอรุณรัศมีให้สินสมุทร ขอเสาวคนธ์ให้สุดสาคร แต่เสาวคนธ์หนีไปเมืองวาหุโลม สุดสาครออกตามหาพบกันแล้วพากันกลับเมือง

ฝ่ายมังคลาโอรสของนางละเวงขึ้นครองลังกา ได้รับคำยุยงจากบาทหลวงให้ไปทวงโคตรเพชรคืนมาจากเมืองการเวก เกิดทำสงครามกัน พระอภัยมณีและนางละเวงช่วยกันปราบมังคลาผู้เป็นโอรสแล้วอภิเษกสุดสาครกับเสาวคนธ์ หัสไชยกับนางสร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา ส่วนพระอภัยมณีภายหลัง ต้องออกบวชเป็นฤาษีที่เขาสิงคุตร์เพราะชายาทั้ง ๒ คือสุวรรณมาลีและละเวงหึงหวงกัน แล้วทั้งสองนางก็ออกบวชเป็นชีตามพระอภัยมณีด้วย

มีผู้กล่าวว่าสุนทรภู่สร้างตัวละครต่างๆ ในเรื่องพระอภัยมณีโดยนำมาจากบุคคลต่างๆ ในชีวิตจริง เช่น ท้าวสุทัศน์คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ที่เห็นได้ชัดเจนคือวันเดือนปี ที่ท้าวสุทัศน์สิ้นพระชนม์ตรงกับวันเดือนปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต) นางสุวรรณมาลีคือแม่จันภรรยาคนแรกของสุนทรภู่ซึ่งมีนิสัยขี้หึงเหมือนกัน นางละเวงคือแม่งิ้วที่สุนทรภู่กล่าวถึงหลายเรื่อง สินสมุทรคือนายพัดผู้บุตรชายซึ่งเป็นคนไม่เจ้าชู้ (ในนิราศสุพรรณ กล่าวว่ามีสาวลาวมาหาถึงในเรือ หนูพัดไม่กล้าออกมาพบ)

นอกจากนี้สุนทรภู่ยังนำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นมาสอดแทรกไว้ในเรื่องได้อย่างเหมาะสม เช่น ศึก ๙ ทัพที่ยกมาตีเมืองผลึก สุนทรภู่ได้เค้าเงื่อนมาจากศึก ๙ ทัพที่พระเจ้าปะดุงแห่งพม่ายกมาตีไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปีพ.ศ. ๒๓๒๘

เรื่องของเจ้าละมาน สุนทรภู่ก็ได้เค้ามาจากเจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์ คือในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปีพ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุคิดกบฎ ถูกจับได้แล้วนำตัวมาขังไว้ในกรุงเทพฯ ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ประชาชนพากันไปดูหน้า

เรื่องนางละเวงฝึกหัดทหารหญิงเพื่อใช้ในการรบ สุนทรภู่คงจะได้เค้ามาจากเรื่องที่คุณหญิงโม หรือท้าวสุรนารีรวบรวมหญิงไทยสู้รบกับกองทัพเจ้าอนุก็ได้

เรื่องพระอภัยมณีหัดพูดภาษาฝรั่ง สุนทรภู่คงได้เค้าความคิดนี้จากเรื่องจริงในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะสมัยนี้คนไทยเริ่มเรียนภาษาอังกฤษกันแล้ว เช่นเจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และหม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร เป็นต้น

เรื่องนางสุวรรณมาลีได้รับการผ่าตัด สุนทรภู่คงได้เค้าเรื่องมาจากเรื่องจริงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งไทยเริ่มรู้จักรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นครั้งแรก คือ มีพระภิกษุรูปหนึ่งในวัดประยูรวงศ์ถูกไฟพะเนียง ระเบิดแขนหัก หมอบรัดเลย์ซึ่งเป็นมิชชันนารีอเมริกันได้รักษาด้วยวิธีตัดแขนพระรูปนั้น แต่ในเรื่อง พระอภัยมณี สุวรรณมาลีไม่ได้โดนตัดแขน เพียงแต่

ฝ่ายสุวรรณมาลีศรีลวัสดิ์        ถึงปรางค์รัตน์เร้ารวดปวดอังสา
ให้หมอแก้แผลกำซาบซึ่งอาบยา    เอามีดผ่าขูดกระดูกที่ถูกพิษ
เป่าน้ำมันกันแก้ตรงแผลเจ็บ        เอาเข็มเย็บยุดตรึงขี้ผึ้งปิด
ทั้งข้างนอกพอกยาสุรามฤต        ให้ถอนพิษผ่อนปรนพอทนทาน
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติเล่ม ๑, หน้า ๔๕๕)

เรื่องการทำศึกสงครามที่อ่าวปากนํ้าในเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่คงจะได้เค้าเงื่อนมาจากเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ที่มีการเตรียมป้องกันศึกทางทะเลโดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครเขื่อนขัณฑ์หรือพระประแดง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ สร้างป้อมทั้งทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันออกมี ๓ ป้อม คือ ป้อมใบเจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร (ส่วนป้อมวิทยาคมสร้างไว้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แล้ว) ฝั่งตะวันตกมี ๕ ป้อม คือ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรู พินาศ ป้อมจักรกรด ป้อมพระจันทร์-พระอาทิตย์ ริมแม่น้ำก็เอาสายโซ่ขึงกันเอาไว้ เรื่องการเอาโซ่ขึงแม่น้ำไว้นี้ สุนทรภู่ก็ได้กล่าวไว้ตอนท้าวทศวงศ์ป้องกันเมืองรมจักร เมื่อทราบว่าท้าวอุทานยกทัพมา ท้าวทศวงศ์สั่งว่า

ที่ปากน้ำสำคัญอยู่แห่งหนึ่ง        เอาโซ่ขึงค่ายดูดูรักษา
ให้ลากปืนป้อมฝรั่งขึ้นจังกา        คอยยิงข้าศึกให้บรรลัยลาญ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๖๗)

เรื่องฝรั่งอยู่ในเมืองลังกา สุนทรภู่คงได้ข่าวเรื่องประเทศอังกฤษได้ลังกาเป็นเมืองขึ้นในสมัยนั้นซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับ ปี พ.ศ. ๒๓๕๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่จึงได้สมมุติให้เมืองลังกาเป็นเมืองของฝรั่ง (ข้อนี้มีบางคนตำหนิว่าสุนทรภู่ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าลังกาเป็นเมืองแขก ไม่ใช่เมืองฝรั่ง นับว่ายังเข้าใจผิดอยู่)

นอกจากนี้ยังมีหลายเรื่องที่สุนทรภู่ได้เค้าเรื่องมาจากตำนาน นิทาน นิยายของชาติอื่นเช่น เรื่องที่สุนทรภู่กำหนดให้พระอภัยมณีแต่งงานกับชาวต่างชาติคือนางละเวง น่าจะได้เค้าความคิดมาจากเรื่องอาหรับราตรี ฉบับเซอรริชาร์ต เบอร์ตัน มีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงกษัตริย์อิสลามยกทัพไปทำศึกสงครามกับนางกษัตริย์ที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้มีโอกาสพบกันตัวต่อตัวกลางสนามรบ แล้วเกิดรักใคร่กัน

เรื่องม้านิลมังกร สุนทรภู่ก็คงได้เค้าเรื่องมาจากนิทานอาหรับราตรีเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงเจ้าชาย อายิบ เดินทางท่องเที่ยวไปในทะเล เรือถูกภูเขาแม่เหล็กดูดเข้าไปหา เนื่องจากแผ่นกระดานเรือตรึงด้วยตะปูเหล็ก ในที่สุดตะปูเหล่านั้นก็หลุดออกจากตัวไม้ ทำให้เรือแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจมลงไปในทะเล เจ้าชายอายิบเกาะไม้กระดานแผ่นหนึ่งจนขึ้นไปอยู่บนศาลายอดเขาแม่เหล็กได้ ต่อมาเจ้าชายก็ได้ผจญภัยต่างๆ จนได้พบม้าตัวหนึ่งในปราสาททองคำ ม้านั้นมีปีกบินได้

เรื่องพระอภัยมณีเจ้าชู้มีชายาเป็นยักษ์ เงือก มนุษย์ และอื่นๆ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่คงจะได้เค้าเรื่องมาจากชีวิตรักของอรชุน ซึ่งเป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งในเรื่องมหาภารตยุทธ์

นอกจากนี้เรื่องวิชาเป่าปี่ของพระอภัยมณีและวิชาความรู้ด้านกระบี่กระบองของศรีสุวรรณ สุนทรภู่ก็ได้มาจากพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น คือเตียวเหลียงชำนาญวิชาการเป่าปี่ พระเจ้าฌ้อปาอ๋อง เป็นกษัตริย์ที่ชำนาญกระบี่กระบอง เพลงปี่ของพระอภัยมณีที่เป่าครั้งแรกตอนตีเมืองลังกาก็ได้มาจากเพลงปี่ของเตียวเหลียง

เพลงปีของเดียวเหลียงมีเนื้อความว่า เสียงเป่าปี่อยู่บนภูเขาเป็นเพลงว่า เดือนยี่ฤดูหน้าหนาวนํ้าค้างตกเย็นทั่วไปทั้งสี่ทิศ จะดูฟ้าก็สูงแม่นํ้าก็กว้าง ฤดูนี้คนทั้งปวงได้ความเวทนานักที่จากบ้านเมืองมาต้องทำศึก อยู่นั้น บิดามารดาและบุตรภรรยาอยู่ภายหลังก็ยืนคอคอยอยู่แล้ว ถึงมีเรือกสวนและไร่นาก็จะทิ้งรกร้างไว้ไม่มีผู้ใดจะทำ เพื่อนบ้านที่เขาไม่ต้องไปทัพอยู่พรักพร้อมกันก็จะอุ่นสุรากินเล่นเป็นสุข น่าสงสารผู้ที่จากบ้านช่องมาหลายปีนั้น ที่บิดามารดาแก่ชราอยู่ก็ป่วยเจ็บล้มตายเสีย หาได้เห็นใจบิดามารดาไม่ และตัวเล่าต้องมาทำศึกอยู่ฉะนี้ ถ้าเจ็บป่วยล้มตายลงก็จะกลิ้งอยู่กลางแผ่นดินแต่ผู้เดียว บุตรภรรยาและญาติพี่น้องก็มิได้ปรนนิบัติรักษากัน เป็นผีหาญาติมิได้ ถ้าแต่งตัวออกรบครั้งใด ก็มีแต่ฆ่าฟันกัน กระดูกและเนื้อถมแผ่นดินลงทุกครั้งดูสังเวชนัก ท่านทั้งปวงก็เป็นมนุษย์มีสติปัญญาอยู่ทุกคน เร่งคิดเอาตัวรอดไปบ้านช่องของตัวเถิด ท่านไม่รู้หรือ ม้านั้นก็เป็นแต่สัตว์เดียรัจฉาน ถ้าผู้ใดพาไปจากโรงและมิได้ผูกถือกักขังไว้ก็ย่อมกลับคืนมาถิ่นที่อยู่ของตัว อันประเพณีมนุษย์ถ้าจะเจ็บป่วยล้มตายก็ย่อมให้อยู่ที่บ้านช่องของตัวพร้อมบิดามารดาและญาติพี่น้องจึงจะดี ครั้งนี้เทพยดารู้ว่าพระเจ้าฌ้อปาอ๋องสิ้นวาสนาเเล้ว และมีความกรุณาแก่ท่านทั้งปวงว่าจะมาพลอยตายเสียเปล่า จึงใช้เรามาบอกให้รู้ ให้เร่งคิดเอาตัวรอดเสีย ถ้าช้าอยู่อีกวันสองวันฮั่นอ๋องก็จะจับตัวพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้ ถึงผู้ใดมีกำลังและหมายจะสู้รบก็เห็นจะไม่พ้นมือฮั่นอ๋องแล้ว อันกำลังศึกฮั่นอ๋องครั้งนี้อย่าว่าแต่คนเข้าต้านทานเลย ถึงมาตรว่าหยกและศิลาก็มิอาจทนทานอยู่ได้ อันฮั่นอ๋องนั้นเป็นคนมีบุญ นํ้าใจก็โอบอ้อมอารีนัก ถึงผู้ใดจะเป็นข้าศึกถ้าและเข้าไป สามิภักดิ์แล้ว ก็ชุบเลี้ยงมิได้ทำอันตรายเลย ฮั่นอ๋องจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นแท้ ท่านทั้งปวงจงคิดอ่านเอาตัวรอดรักษาชีวิตไว้เอาความชอบดีกว่า ซึ่งเพลงของเราทั้งสามร้อยคำนี้ ท่านทั้งปวงตรึกตรองทุกคำเถิด เดียวเหลียงเป่าซ้ำอยู่ดังนี้ถึงเก้าครั้งสิบครั้ง ทหารของพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้ยินเสียงปี่ และถ้อยคำที่เป่ารำพันไปดังนั้นก็ยิ่งมีนํ้าใจสลดลง กลัวความตายให้คิดถึงบิดามารดานัก นั่งกอดเข่าถอนใจใหญ่ร้องไห้อยู่

ส่วนเพลงปี่ของพระอภัยมณีนั้น มีเนื้อความว่า

พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต        ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง        อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้            ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย    น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉือยชื่น    ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน        จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
วิเวกแว่วแจ้วเสียงสำเนียงปี่            พวกโยธีทิ้งทวนชนวนเขนง
ลงนั่งโยกโงกหลับทับกันเอง            เสนาะเพลงเพลินหลับระงับไป
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๔๙๔-๔๙๖)

นอกจากนี้เรื่องกลศึกในเรื่องพระอภัยมณี ก็เข้าใจว่าสุนทรภู่จะได้จากเรื่องสามก๊ก ฯลฯ

นอกจากนี้มีหลายเรื่องที่เกิดจากจินตนาการของสุนทรภู่เองซึ่งทำให้คนอ่านแปลกใจที่สุนทรภู่ มีจินตนาการที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก คิดฝันในสิ่งที่เพิ่งจะมีหรือเพิ่งจะมีการประดิษฐ์ขึ้นในสมัยหลังๆ ได้ อย่างเป็นที่น่าประหลาดใจ

ตัวอย่างเช่นเรือขนาดใหญ่ของโจรสุหรั่งซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีสุนทรภู่ก็ได้บรรยายไว้ว่า

มีกำปั่นนั้นยาวยี่สิบเส้น        กระทำเป็นตึกกว้านสถานถิ่น
หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน    ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา
เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน        คชสารม้ามิ่งมหิงษา
มีกำปั่นหกร้อยลอยล้อมมา        เครื่องศัสตราสำหรับรบครบทุกลำ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๙๗)

เรื่องเรือยนต์ของพราหมณ์โมราที่เข้าปล้นด่านดงตาลก็คือเครื่องบินสะเทิ้นนํ้าสะเทิ้นบกซึ่งเพิ่งจะมีขึ้นในภายหลัง สุนทรภู่บรรยายเรือยนต์ลำนี้ไว้ว่า

เจ้าโมราว่าจะผูกเรือยนต์รบ     บรรจุครบพลนิกายทั้งนาย ไพร่
แล่นไปตามข้ามภูเขาเข้าข้างใน
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๕๔๐)

เรือสำหรับทัพละร้อยทั้งน้อยใหญ่        บรรจุไพร่พร้อมเพียบเงียบสงบ
เมื่อฤกษ์ดีมีลมให้สมทบ            แล่นตลบเข้าบุรีทั้งสี่นาย
เราจะยกวกอ้อมเข้าล้อมหลัง        แม้นแตกพังไพรีจะหนีหาย
เห็นดีพร้อมน้อมคำนับรับอุบาย        สานนนายพราหมณ์อ่านโองการมนต์
ร้องเรียกลมกลมกลุ้มคลุ้มพยับ        บัดเดี๋ยวกลับพัดมาโกลาหล
โห่สนั่นหวั่นไหวกางใบกล            อันเรือยนต์เขยื้อนออกเคลื่อนคลา
ทัพละร้อยลอยลิ่วฉิวฉิวเฉื่อย        เหมือนงูเลื้อยแล่นลูบนภูผา
กระทบผางกางเกยเลยศิลา            ด้วยฟางหญ้าหยุ่นท้องจึงคล่องเคล้า
ที่ถือท้ายสายยนต์มือคนเหนี่ยว        ให้ลดเลี้ยวแล่นตลอดถึงยอดเขา
แล้วกลับตรงลงเชิงเทินเนินลำเนา        ในเมืองเหล่าชนวิ่งทั้งหญิงชาย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่น ๑, หน้า ๕๕๑-๕๕๒)

เรื่องนางละเวงให้พระอภัยมณีแต่งกายแบบสากลก็เป็นจินตนาการที่สุนทรภู่สร้างขึ้น ปรากฎว่า คนไทยเพิ่งจะนิยมแต่งกายแบบสากลกันภายหลัง คือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. ๒๔๗๕

สุนทรภู่บรรยายไว้ว่า

นางจัดเครื่องเมืองฝรั่งตั้งถวาย        ล้วนเพชรพรายพลอยระยับจับเวหา
พระอภัยไม่เคยทรงให้สงกา            ถามวัณลาทูลฉลองยิ้มย่อมกัน
พระสอดซับสนับเพลาเนาสำรด        รัตคตพรรณรายสายกระสัน
ฉลององค์ทรงเสื้อเครือสุวรรณ        สลับชั้นเชิงหุ้มดุมวิเชียร
สายปั้นเหน่งเปล่งเม็ดเพชรประดับ    สอดสลับซ้อนระบายล้วนลายเขียน
ทัดพระมาลาทรงประจงเจียน        ดูแนบเนียนเนาวรัตน์ชัชวาล
ใส่เกือกทองรองเรืองเครื่องกษัตริย์    เพชรรัตน์รจนามุกดาหาร
มีนวมนุ่มหุ้มพระชงฆ์อลงการ        สอดประสานสายสุวรรณกัลเม็ด
ธำมรงค์วงรายพรายพระหัตถ์        เนาวรัตน์วุ้งแววล้วนแก้วเก็จ
ทรงกระบี่มีโกร่งปรุโปร่งเพชร        แล้วห้อยเช็ดหน้ากรองทองประจง
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๒๕)

เมื่อพระอภัยมณีแต่งกายเช่นนี้ พวกพระอภัยเห็นเข้าก็ยังแปลกใจ ดังนี้

ศรสุวรรณพิศดูภูวไนย
เห็นแต่งองค์ทรงสำอางอย่างฝรั่ง        ครั้นจะบังคมพระองค์ก็สงสัย
สินสมุทรสุดแสนที่แค้นใจ            แกล้งทำไม่รู้จักเมินพักตรา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๒๕)

เรื่องที่สุนทรภู่ให้คนไทยแต่งกายตามแบบสากลก็ดี และเรื่องที่ให้คนไทยแต่งงานกับฝรั่งก็ดี ทำให้มีผู้กล่าวว่า “เรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่นับได้ว่าเป็นวรรณคดีไทยเรื่องแรกที่กล่าวถึงวัฒนธรรมฝรั่ง แม้จะเป็นการกล่าวที่ผิดความจริงไปบ้าง ก็ยังนับว่าได้กล่าวถึงวัฒนธรรมเป็นอย่างมากพอใช้ทีเดียว” และ “สุนทรภู่เป็นกวีไทยคนแรกที่เบิกทางให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีวัฒนธรรมดีพอที่จะคบค้าสมัครสมานกับชาวตะวันตกได้ ฯลฯ

สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีโดยได้นำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเคยได้อ่านได้ยินหรือได้ฟังมาประสมประสานกับจินตนาการที่ตนสร้างขึ้น แล้วเขียนเป็นนิทานที่สนุกสนาน มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นเร้าใจชวนแก่การติดตาม จนเป็นที่ติดใจของนักอ่านตั้งแต่สมัยโน้นมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

ในการแต่งเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ขึ้นต้นเรื่องว่า
แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์
สมมุติวงศ์ทรงนามท้าวสุทัศน์    ผ่านสมบัติรัตนานามธานี
อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์    ภูเขาโหดเป็นกำแพงบูรีศรี
สะพรึ่บพร้อมไพร่ฟ้าประชาชี    ชาวบุรีหรรษาสถาวร
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑)

ตอนพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ ปรึกษากันเรื่องวิชาที่จะเลือกเรียนสุนทรภู่บรรยายว่า

จึงบัญชาว่ากับพระน้องแก้ว        พ่อเห็นแล้วหรือที่ลายลิขิตเขียน
สองอาจารย์ปานดวงแก้ววิเชียร    เจ้ารักเรียนที่ท่านอาจารย์ใด
อนุชาว่าการกลศึก            น้องนี้นึกรักมาแต่ไหนไหน
ถ้าเรียนรู้ว่ากระบองได้ว่องไว    จะชิงชัยข้าศึกไม่นึกเกรง
พระเชษฐาว่าจริงแล้วเจ้าพี่        วิชามีแล้วใครไม่ข่มเหง
แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง            หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง
ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก    ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง
แต่ขัดสนจนจิตคิดประวิง        ด้วยทรัพย์สิ่งหนึ่งนี้ไม่มีมา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๔)

พระอภัยมณีพรรณนาคุณประโยชน์ของดนตรีให้สามพราหมณ์ฟังดังนี้
พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม    จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป    ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช    จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน    ก็สุดสิ้นโทโลที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ    อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญา    จึงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง
แล้วหยิบปี่ที่ท่านอาจารย์ให้        เข้าพิงพฤกษาไทรดังใจหวัง
พระเป่าปี่เปิดนิ้วเอกวิเวกดัง        สำเนียงวังเวงแว่วแจ้วจับใจ

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย    ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย    จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย

พระจันทรจรสว่างกลางโพยม    ไม่เทียมโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย
แม้ได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย    ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน
เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง        สำเนียงเพียงการะเวกกังวานหวาน
หวาดประหวัดสัตรีฤดีดาล        ให้ซาบซ่านเสียวสดับจนหลับไป
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๒)

ตอนบรรยายกิริยาอาการของนางผีเสื้อยักษ์เมื่อจะลักตัวพระอภัยมณี สุนทรภู่สามารถใช้คำที่ผู้อ่านรู้สึกว่านางผีเสื้อมีกำลังมาก ดังนี้

อุตลุดผุดทะลึ่งขึ้นตึงตัง    โดยกำลังโลดโผนโจนกระโจม
ชุลมุนหมุนกลมดังลมพัด    กอดกระหวัดอุ้มองค์พระทรงโฉม
กลับกระโดดลงน้ำเสียงต้ำโครม    กระทุ่มโถมถีบดำไปถ้ำทอง
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๓)

เรื่องพระอภัยมณี มีหลายตอนที่สุนทรภู่เรียกผีเสื้อสมุทรว่า “อีนางยักษ์” เช่น “อีนางยักษ์กลับปลอบไม่ตอบโกรธ” (พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๕ ) หรือ “อีนางยักษ์ควักค้อนแล้วย้อนว่า” (พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๖) เป็นต้น

กองทัพของท้าวอุเทนส่งสารไปถึงท้าวทศวงศ์ให้ส่งนางเกษราให้ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

บัดนี้เราเข้ามาล้อมป้อมปราการ    ชีวิตท่านเหมือนลูกไก่อยู่ในมือ
แม้นบีบเข้าก็จะตายคลายก็รอด    จะคิดลอดหลบหลีกไปอีกหรือ
แม้นโอนอ่อนงอนง้อไม่ต่อมือ    อย่าดึงดื้อเร่งส่งองค์บุตรี
จะนำนาง ไปถวายถ่ายชีวิต        ให้พ้นผิดอยู่บำรุงซึ่งกรุงศรี
ไม่ส่งมาถ้าเราได้เข้าตี            ชาวบุรีก็จะตายวายชีวา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๗๓)

ตอนศรีสุวรรณทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้นางเกษรา ได้กล่าวฝากรักนางว่า

พี่ขอฝากความรักที่หนักอก        ช่วยปิดปกไว้แต่ในน้ำใจสมร
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้าแลสาคร        อย่าม้วยมรณ์ไมตรีของพี่เลย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๘๒)

นางเกษราเป็นตัวละครหญิงที่กล้าแสดงความรู้สึกของตนออกมาอย่างเปิดเผยถึงขนาดกล่าวกับ ศรีสุวรรณว่า

แม้นมิกีดปิตุราชมาตุรงค์    จะเชิญองค์ไว้ปราสาทราชฐาน
บรรทมที่ยี่ภู่ช่วยอยู่งาน    ให้สำราญร่มเกล้าทุกเพรางาย
นี่จนใจได้แต่ใจนี่ไปด้วย    เป็นเพื่อนม้วยภูวนาถเหมือนมาดหมาย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๘๒)

ตอนพระอภัยมณีเทศนาธรรมให้นางผีเสื้อยักษ์ฟัง พระอภัยมณีกล่าวว่า

จงฟังธรรมคำนับดับโมโห        ให้โทโสส่างเสื่อมค่อยเลื่อมใส
แล้วทรงเดชเทศนาภาษาไทย    ด้วยความในโลกีย์สี่ประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส    ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
ครั้นระงับดับขันธสันดาน        ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดาย
อย่าลุ่มหลงจงอุตส่าห์รักษาศีล    ให้เพิ่มภิญโญไปดังใจหมาย
อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตคิดอุบาย    จะจำตายตกนรกอเวจี
พี่แบ่งบุญบรรพชาสถาผล        ส่วนกุศลให้สุดามารศรี
กลับไปอยู่คูหาในวารี            อย่าได้มีห่วงใยอาลัยลาญ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๘๙)

มหิงข์สิงขรเทวราชที่มาห้ามพระอภัยมณีเผาร่างนางผีเสื้อยักษ์ สุนทรภู่บรรยายว่าเป็นคนชราที่หน้าตาอ่อนเยาว์คล้ายเด็กทารก ดังนี้

พอได้ยินเสียงระฆังข้างหลังเขา    เห็นผู้เฒ่าออกจากชะวากผา
ดูสรรพางค์ร่างกายแก่ชรา        แต่ผิวหน้านั้นละม้ายคล้ายทารก
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๙๓)

มหิงข์สิงขรเทวราชแนะนำพระอภัยมณีให้กินนํ้าที่ไหลออกจากปากนางผีเสื้อ คือ
อันวารีที่ไหลออกจากปาก        คือแรงรากษสซ่านเหมือนธารไหล
ใครกินน้ำกำลังจะเกรียงไกร        ทั้งโรคภัยมิได้มีมาบีฑา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๙๔)

ตอนสุวรรณมาลีน้อยใจที่พระอภัยมณีจะคืนนางให้แก่อุศเรน นางตั้งใจจะฆ่าตัวตายและกล่าวคำอำลาสินสมุทรว่า

เจ้ารักแม่แม่ก็รู้อยู่ว่ารัก    มิใช่จักลืมคุณทำฉุนเฉียว
แต่เหลืออายหลายสิ่งจริงจริงเจียว        เป็นหญิงเดียวชายสองต้องหมองมัว
เมื่อแรกเราเล่าบอกเขาออกอื้อ    อ้างเอาชื่อพระบิดาว่าเป็นผัว
ครั้นคู่เก่าเขามารับก็กลับกลัว    แกล้งออกตัวให้มาถามว่าตามใจ
จึงเจ็บจิตคิดแค้นแม้นจะอยู่        ก็อดสูเสียสัตย์ต้องตัดษัย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๒๗๔)

ตอนพระอภัยมณีกล่าวกับอุศเรนว่าสินสมุทรมีกำลังมาก และใจคอดุร้าย อุศเรนได้ฟังก็ไม่กลัวกล่าวหาพระอภัยมณีว่า

เขียนจระเข้ขึ้นไว้หลอกตะคอกคน
เราก็ชายหมายมาดว่าชาติเชื้อ    ถึงปะเสือก็จะสู้ดูสักหน
ไม่รักวอนงอนง้อทรชน        แล้วพาพลกลับมาเภตราพลัน
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๒๗๘)

สุนทรภู่บรรยายภาพธรรมชาติภูเขารุ้งที่นางสุวรรณมาลีไปบวชอยู่ว่า

ถึงธารถ้ำลำเนาภูเขารุ้ง        ดูเรืองรุ่งราวกับลายระบายเขียน
บ้างเขียวขาววาวแววแก้ววิเชียร    ตะโล่งเลี่ยนเลื่อมเหลืองเรืองระยับ
บ้างเปล่งปลั่งดังเปลวพระเพลิงทุ่ง    เหมือนแสงรุ้งรัศมีสีสลับ
กุฎีน้อยน้อยร้อยเศษสังเกตนับ    เครื่องสำหรับกุฎีก็มีพร้อม
ต้นไม้ดอกออกลูกปลูกริมกุฏิ์    ต้นสายหยุคพดลำดวนให้หวนหอม
ที่กุฎิ์ใหญ่ไทรเรียงเคียงพะยอม    ทอดกิ่งค้อมข้ามหลังคาดูน่าชม
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๑๙-๓๒๐)

นางวาลีในเรื่องพระอภัยมณีก็เป็นตัวละครหญิงอีกตัวหนึ่งที่กล้าเปิดเผยความในใจกับชายที่ตนหมายปองอย่างตรงไปตรงมา ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองรูปไม่งามและค่อนข้างจะน่าเกลียด ดังที่กล่าว กับพระอภัยมณีว่า

นางนบนอบตอบรสพจนารถ        คุณพระบาทกรุณาจะหาไหน
แต่ยศศักดิ์จักประทานประการใด        ไม่ชอบใจเจตนามาทั้งนี้
ด้วยเปลี่ยวใจไม่มีที่จะเห็น    จะขอเป็นองค์พระมเหสี
แม้นโปรดตามความรักจะภักดี    ถ้าแม้นมิเมตตาจะลาไป
พวกขุนนางต่างหัวร่อข้อประสงค์    ทั้งพระองค์สรวลสันต์ไม่กลั้นได้
จงตรัสว่าวาลีมีแก่ใจ    มารักใคร่ครั้นจะชังไม่บังควร
แต่รูปร่างยังกระไรจะใคร่รู้    พิเคราะห์ดูเสียด้วยกันอย่าหันหวน
จะควรเป็นมเหสีหรือมิควร    จงใคร่ครวญนึกความให้งามใจ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๒๗)

สุนทรภู่ชี้ให้เห็นความสำคัญของวิชาความรู้ และยังแสดงความคิดเห็นว่าความรู้อาจช่วยให้คนดูงามขึ้นได้ ดังในกรณีของนางวาลี พระอภัยมณีดำริว่า

“ดูผิวพรรณสรรพางค์อย่างคุลา    แต่วิชาพางามขึ้นครามครัน”
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๓๕)

ฤาษีที่เกาะแก้วพิสดารก็สอนสุดสาครว่า

“รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา        รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๖๗)

รวมทั้งสอนสุดสาครว่า

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์        มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด    ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน        บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน        เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ        ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๖๗)

กุฎีสังฆราชบาทหลวงแห่งเมืองลังกามีบันไดกล ใครเหยียบบันไดเข้า จะมีเสียงดังให้เจ้าของรู้ว่ามีแขกมาหา ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

สี่พี่เลี้ยงเคียงคลอจรลี        ขึ้นกุฎีบาทหลวงมีควงกล
พอเหยียบบันได ไพล่พลิกเสียงกริกกร่าง    ระฆังหง่างเหง่งตามกันสามหน
พระฝรั่งฟังสำคัญอยู่ชั้นบน        รู้ว่าคนเข้ามาหาออกมารับ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๔๐๒)

พระอภัยมณีให้สัญญากับนางละเวงว่าจะรักนางตลอดไป โดยกล่าวว่า

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร        ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ    พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา        เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่        เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง        เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๑๐)

ในเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่เน้นเรื่องความเป็นอนัตตาของสิ่งต่างๆ ทั้งเรื่องความสุขแห่งนิพพานหลายครั้ง ดังที่ปรากฎตอนพระอภัยมณีเทศนาธรรมให้แก่นางผีเสื้อยักษ์ ในคำเทศนาของฤาษีที่เกาะแก้วพิสดารก็มีเนื้อความดังนี้

พระโยคีเทศนาในอาการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้    ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร
ความตายหนึ่งพึ่งให้เห็นเป็นประธาร    หวังนิพพานพ้นทุกข์สนุกสบาย
ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้    เพราะโลกีย์ตัณหาพาฉิบหาย
อันศีลห้าว่าอย่าทำให้จำตาย    จะตกอบายภูมิขุมนรก
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๒๑๔)

แม้ในคำเทศนาที่พระอภัยมณีเทศน์แก่นางสุวรรณมาลี นางละเวง ก็กล่าวว่า

“พระนิพพานเป็นสุขสิ้นทุกร้อน    เปรียบเหมือนนอนหลับไม่ฝันท่านทั้งหลาย”
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๕๖๘)

สำนวนของสุนทรภู่จบเรื่องตรงพระอภัยมณีออกบวชที่เขาสิงคุตร์ นางสุวรรณมาลี และนางละเวงได้บวชตามด้วย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด