เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม

Socail Like & Share

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม มีความยาวประมาณ ๑ เล่มสมุดไทย สุนทรภู่แต่งระหว่างพ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ หลังจากพ้นโทษคือออกจากคุกมาแล้ว เรื่องนี้สุนทรภู่แต่งตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

๑. เหตุที่สุนทรภู่แต่งขุนช้างขุนแผน
สุนทรภู่ได้เข้าสู่สนามกวีอันมีเกียรติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้ชำระเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ทรงขอแรงพวกกวีชั้นเอกแห่งรัชกาลของพระองค์ช่วยกันแต่งคนละตอนสองตอน และมักปิดนามผู้แต่ง เท่าที่เราทราบจนกระทั่งบัดนี้ ตอนกำเนิดพลายงาม เป็นผลงานของท่านสุนทรภู่ มหากวีที่ชาติเป็นหนี้บุญคุณ เนื่องด้วยขุนช้างขุนแผนเป็นการประกวดประชันกัน สุนทรภู่จึงบรรจงกลอนของท่านอย่างสุดฝีมือ ไม่มีกลอนเรื่องใดของท่านที่ประณีตบรรจงเท่า

๒. สังเขปความ
เนื้อเรื่องเฉพาะตอนที่สุนทรภู่แต่งนี้มีว่า วันทองเมื่ออยู่กับขุนช้างนั้น ท้องครบสิบเดือนก็คลอดบุตรชาย เลี้ยงมาจนอายุ ๙ ขวบ หน้าตาเหมือนขุนแผน วันทองจึงตั้งชื่อว่าพลายงาม ขุนช้าง ก็โกรธว่าเด็กคนนี้มิใช่ลูกตัว แต่เป็นลูกของขุนแผนศัตรูของตน จึงอุบายลวงพลายงามไปในป่าจะฆ่าเสีย แต่ได้ผีพรายของขุนแผนช่วยไว้จึงไม่ตาย แล้วพรายจึงไปกระซิบบอกวันทอง วันทองออกตามหาพลายงามด้วยความละห้อยโหย เหมือนมัทรีตามชาลีกัณหา
ตะโกนเรียกพลายงามทรามสวาท        ใจจะขาดคนเดียวเที่ยวตามหา
สะอื้นโอ้โพล้เพล้เดินเอกา            สกุณานอนรังสะพรั่งไพร
เห็นฝูงนกกกบุตรยิ่งสุดเศร้า            โอ้ลูกเราไม่รู้ว่าอยู่ไหน
ชะนีโหวยโหยหวนรัญจวนใจ        ยิ่งอาลัยแลหาน้ำตานอง

ในที่สุดไปพบลูกกำลังร้องไห้อยู่ พลายงามเล่าความชั่วของขุนช้างให้ฟัง แล้ววันทองก็บอกความจริงแก่ลูกว่ามิใช่ลูกขุนช้าง ส่วนขุนแผนซึ่งเป็นพ่อนั้นกำลังติดคุกอยู่ บอกว่ามีแต่ย่าชื่อทองประศรีอยู่กาญจนบุรี ที่วัดเชิงหวาย จะเป็นที่พึ่งได้ พลายงามก็คิดจะไปพึ่งย่า วันนั้นค่ำแล้ววันทองจึงพาลูกไปฝากสมภารชื่อขรัวนาควัดเขาไว้

วันทองกลับบ้านขุนช้างแกล้งทำไม่รู้ไม่ชี้ในเรื่องพลายงาม เมื่อรู้ว่าหายไปก็แสร้งครํ่าครวญจนหลับ รุ่งเช้าวันทองจัดของให้ลูกไปรับลูกที่วัด ลาสมภารแล้วชี้ทางไปเมืองกาญจน์ ครวญครํ่าอย่างน่าปริเทวนา “จะมีผัวผัวก็พลัดกำจัดจาก จนแสนยากอย่างนี้แล้วมิหนำ มามีลูกลูกก็จากวิบากกรรม สะอื้นร่ำรันทดสลดใจ’’ ลูกน้อยกลอยใจก็ปลอบแม่ “แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว” วันทองหักอารมณ์อวยพรสั่งสอนลูก และว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน” ตอนพรรณนาที่เด่นที่สุดคือ ตอนแม่ลูกจากกัน

ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก        ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย    แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา
เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น    แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญา    โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง

เมื่อพลายงามถึงเมืองกาญจน์ รู้กิตติศัพท์จากเด็กๆ ว่าบ้านทองประศรีมีมะยมหวานที่เด็กๆ ชอบไปขโมย ทองประศรีคอยจับเสมอ และ “ร้ายเหมือนกับผีเสื้อแกเหลือตัว ถ้าลูกใครไปเล่นแกเห็นเข้า แกจับเอานมยานฟัดกะบาลหัว” พลายงามจึงให้เด็กเหล่านี้เป็นมัคคุเทศก์พาไปขึ้นมะยมต้นนั้นพร้อมกับเด็กๆ ในที่สุดทองประศรีจึงลงจากเรือนไล่เด็กกระจุยไป ตีไม่ว่าลูกเต้าเหล่าใคร แม้พลายงามจะบอกว่าเป็นหลานมาจากสุพรรณก็ไม่ฟังเสียง พลายงามโดดลงจากต้นมะยมมากราบตีน ก็ไม่วายโดนกระบองทองประศรี

เจ้าพลายงามถอยหลบแล้วนบนอบ    ฉันเจ็บบอบแล้วย่าเมตตาฉัน
ข้าเป็นลูกขุนแผนแสนสะท้าน        ข้างฝายมารดาชื่อแม่วันทอง
จะมาหาย่าชื่อทองประศรี            อย่าเพ่อตีฉันจะเล่าความเศร้าหมอง
ย่าเขม้นเห็นจริงทิ้งกระบอง            กอดประคองรับขวัญกลั้นน้ำตา

นี่เป็นอารมณ์คนแก่ขี้หลง พอทราบว่าเป็นลูกหลานก็ฝนไพลให้ทา อาบน้ำอาบท่าให้เรียบร้อย ด้วยความรัก พลายงามจึงเล่าความจริงให้ฟังตลอด ทองประศรีก็ด่าขุนช้างระงมไป พอคํ่าก็จัดการรับมิ่งขวัญหลาน จัดบายศรีและมีเวียนเทียนบทเชิญขวัญมีทั้งไทย ลาว และทวาย พึงสังเกตว่าสุนทรภู่รู้ภาษาเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี และเมื่อนำมาไว้ในกลอนยิ่งเป็นหัสบันเทิงสำคัญนัก

ขวัญพ่อพลายงามทรามสวาท    มาชมภาชนะทองอันผ่องใส
ล้วนของขวัญจันทร์จวงพวงมาลัย        ขวัญอย่าไปป่าเขาลำเนาเนิน
เห็นแต่เนื้อเสือสิงห์ฝูงลิงค่าง    จะอ้างว้างเวียนวกระหกระเหิน
ขวัญมาหาย่าเถิดอย่าเพลิดเพลิน        จงเจริญร้อยปีอย่ามีภัย
แล้วจุดเทียนเวียนวงส่งให้บ่าว    มันโห่กราวเกรียวลั่นสนั่นไหว
คอยรับเทียนเวียนส่งเป็นวงไป    แล้วดับไฟโบกควันให้ทันที
มะพร้าวอ่อนป้อนเจ้าทั้งข้าวขวัญ        กระแจะจันทน์เจิมหน้าเป็นราศี
ให้สาวสาวลาวเวียงที่เสียงดี        มาซอปี่อ้อซั้นทำขวัญนาย

พ่อเมื้อเมืองดง เอาพงเป็นเหย้า        อึดปลา-อึดข้าว ขวัญเจ้าตกหาย
ขวัญอ่อนร่อนเร่ ว้าเหว่สู่กาย        อยู่ปลายยางยูง ท้องทุ่งท้องนา
ขวัญเผือเมื้อเมิน ขอเชิญขวัญพ่อ        ฟังซอเสียงอ้อ ขวัญพ่อแจ้วจ๋า
ข้าวเหนียวเต็มพ้อม ข้าวป้อมเต็มป่า    ขวัญเจ้าจงมา สู่กายพลายเอย

แล้วพวกมอญซ้อนซอเสียงอ้อแอ้        ร้องทะแยย่องกะเหนาะย่ายเตาะเหย
ออระหน่ายพลายงามพ่อทรามเชย    ขวัญเอ๋ยกกกะเนียงเกรียงเถลิง
ให้อยู่ดีกินดีมีเมียสาว                เพียงกะราวกนตะละเลิงเคลิ่ง
มวยบามาขวัญจงบันเทิง            จะเปิงยี่อิกะปิปอน
ทองประศรีดีใจให้เงินบาท            เห็นแก่ทาสพรั่งพร้อมล้อมสลอน
ถึงเวลานาเจ้าเข้าที่นอน            มีฟูกหมอนมุ้งม่านสำราญใจ

พลายงามถามย่าถึงเรื่องพ่อ ทองประศรีเล่าว่าติดคุกมา ๑๐ ปีแล้ว รุ่งเช้าก็ขึ้นช้างพาหลานไปหาพ่อที่อยุธยา เดินทาง ๒ วันครึ่งจึงถึง ความตอนที่ขุนแผนติดคุกเล่าไว้เป็นนัยดังนี้

อยู่เปล่าๆ เล่าก็จนพ้นกำลัง        อุตส่าห์นั่งทำการสานกะทาย
ให้นางแก้วกิริยาช่วยทารัก        ขุนแผนถักขอบรัดกระหวัดหวาย
ใบละบาทคาดไว้ด้วยง่ายดาย    แขวนไว้ขายทงเรือนออกเกลื่อนไป

ทองประศรีแนะให้รู้จักพลายงาม และเล่าเรื่องขุนช้างทำร้าย ขุนแผนโกรธมากคิดจะไปฆ่าขุนช้าง แต่ทองประศรีให้สติและห้ามไว้

โบราณท่านสมมุติมนุษย์นี้        ยากแล้วมีใหม่สำเร็จถึงเจ็ดหน
ที่ทุกข์โศกโรคร้อนคอยผ่อนปรน    คงจะพ้นโทษทัณฑ์ไม่บรรลัย

ขุนแผนมอบให้ทองประศรีอบรมพลายงาม

แล้วลูบหลังสั่งความพลายงามน้อย        เจ้าจงค่อยร่ำเรียนเขียนคาถา
รู้สิ่งไรก็ไม่สู้รู้วิชา                    ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ

ขุนแผนสอนบุตรพร้อมกับความโศกาดูร

มาหาพ่อพ่อไม่มีสิ่งไรผูก        ยังแต่ลูกประคำจะทำขวัญ
อยู่หอกปืนยืนยงคงกะพัน        ได้ป้องกันกายาข้างหน้าไป

พลายงามขออยู่ในคุกด้วยเพื่อปรนนิบัติพ่อ
ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้        ในคุกใหญ่ยากแค้นมันแสนเข็ญ
เหมือนกับนรกตกทั้งเป็น        มิได้เว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย
แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช        อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย
คนทั้งหลายนายมูลก็คุ้นเคย        เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจองจำ
ทั้งข้าวปลาสารพันทุกวันนี้        พระหมื่นศรีเธอช่วยชุบอุปถัมภ์
ค่อยเบาใจไม่พักต้องตักตำ        คุณท่านล้ำล้นฟ้าด้วยปรานี
ถ้าแม้นเจ้าเล่าเรียนความรู้ได้    จะพาไปพึ่งพระจมื่นศรี
ถวายตัวพระองค์ทรงธานี        จะได้มีเกียรติยศปรากฎไป

แล้วทองประศรีก็พาหลานกลับ ไปอบรมสั่งสอนคาถาอาคมต่างๆ จนอายุได้ ๑๓ ปี

‘‘นัยน์ตากลมคมขำดูดำขลับ    ใครแลรับรักใคร่ปราศรัยถาม”

โกนจุกมีขรัวเกิดสมภารวัดเขาชนไก่ใกล้บ้านเป็นครูขุนแผนมาสวดมนต์ด้วย ท่านว่าขุนแผนว่า

“อ้ายเจ้าชู้กูได้ว่ามาแต่ก่อน        จะทุกข์ร้อนอ่อนหูเพราะผู้หญิง”

แล้วดูพลายงามว่า
“พินิจนั่งดูกายเจ้าพลายงาม
เห็นน่ารักลักขณะก็ฉลาด        จะมีวาสนาดีขี่คานหาม
ถ้าถึงวันชั้นโชคโฉลกยาม        ก็ต้องตามลักขณะว่าจะรวย
แต่มีเมียเสียถนัดปัตนิ            ตัวตำหนิรูปขาวเป็นสาวสวย
แต่อ้ายนี้ขี้หลงจะงงงวย        ต้องถูกด้วยยลโมบโลภโลกีย์
แล้วท่านขวัวหัวร่อว่าออหนู        มันเจ้าชู้กินการหลานอีศรี
ก็แต่ว่าอายุสิบแปดปี            จะได้ที่หมื่นขุนเป็นมุลนาย
ทั้งเมียสาวชาวเหนือเป็นเชื้อแถว    อีนั่นแล้วมันจะมาพาฉิบหาย
อันอ้ายขุนแผนพ่อของออพลาย    จะพ้นปลายเดือนยี่ในปีกุน
นับแต่นี้มีสุขไม่ทุกข์ร้อน        ได้เตียงนอนนั่งเก้าอี้เป็นที่ขุน”
เสียตระกูลสูญลับอัประมาณ    ให้เคลิ้มองค์ทรงกลอนละครนอก
แล้วก็เล่นเสภา “หาเสภามาทั่วที่ตัวดี” ตามี-ตารองศรี-นายทั่ง-นายเพชร-นายมา-พระยานนท์- ตาทองอยู่ พลายงามพอผมยาวก็ตัดมหาดไทย คิดจะถวายตัวและทูลขอให้พ่อพ้นโทษ พลายงามไปหาพ่อบอกว่า “ลูกจะใคร่ให้พระนายถวายตัว’’ พอพลบก็พาลูกไปหาพระหมื่นศรี

“หมื่นศรีร้องเรียกว่ามาสิเกลอ    ด้วยรักใครใจซื่อถือว่าเพื่อน
ไม่บากเบือนหน้าหนีตีเสมอ”

แนะนำให้รู้จักพลายงาม ขอฝากจมื่นศรีเสาวรักษ์ๆ ก็รับอุปการะและอบรมเป็นอย่างดี ตอนหนึ่งสอนว่า

ที่ไม่สู่รู้อะไรผู้ใหญ่เด็ก            มหาดเล็กสามต่อพ่อลูกหลาน
เสียตระกูลสูญลับอัประมาณ    เพราะเกียจคร้านคร่ำคร่าเหมือนพร้ามอญ

พลายงามตามหลังพระหมื่นศรีไปวังทุกวัน ถึงวันดีได้ช่องพระหมื่นศรีก็นำพลายงามถวายตัว ว่าเป็นบุตรขุนแผน มีความรู้ และขอรับราชการเป็นมหาดเล็ก

ครานั้นสมเด็จพระพันวษา        เหลือบเห็นหน้าพลายงามความสงสาร
จะออกพระโอฐโปรดขุนแผนแสนสะท้าน    แต่กรรมนั้นบันดาลดลพระทัย
ให้เคลิ้มองค์ทรงกลอนละครนอก        นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล
ลืมประภาษราชกิจที่คิดไว้        กลับเข้าแท่นในที่ศรีไสยา

๓. ข้อสังเกตกระบวนกลอน
ว่าถึงกระบวนกลอนในตอนกำเนิดพลายงามนี้เป็นลักษณะแห่งศิลปะของสุนทรภู่โดยแท้ คือเป็นกลอนที่เต็มไปด้วยสัมผัสในอันเพราะพริ้งยิ่งนัก โดยตลอดเราจะเห็นวรรคละ ๘ คำล้วน นี่เป็นลักษณะที่สุนทรภู่ใช้เขียนเรื่องของท่าน เช่น โคบุตร พระอภัย และลักษณวงศ์ เป็นกระบวนกลอนที่เหมาะสำหรับเรื่องประโลมโลกของท่านโดยเฉพาะ

เมื่อสุนทรภู่มาเขียนกลอนเสภา มีเสียงกล่าวกันว่า ศิลปะของท่านขัดกับลีลาของเสภา กล่าวคือ เสภาเป็นบทสำหรับขับร้อง (และบางทีมีการรำด้วย) ให้เหมาะเจาะกับกิริยาอาการและอารมณ์ต่างๆ
เช่น รัก โศก และดุดัน การใช้คำในวรรคหนึ่งๆ ก็ย่อมต้องเกี่ยวกับอารมณ์อันแสดงออก อาจเป็นวรรคละ ๖-๗ คำเหมาะก็มี ไม่ต้องถึง ๘ คำเสมอไป กลอนเสภาที่ดีจึงนิยมคำมากบ้างน้อยบ้าง เพราะเกี่ยวกับการเอื้อนและจังหวะกรับ จังหวะรำ ให้กลมกลืนกันพอดี จงสังเกตกลอนเสภาที่ชอบขับกันมากคือพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ หรือสำนวนของครูแจ้ง จะเห็นได้ว่ามีลักษณะดังกล่าวนี้ส่วนของสุนทรภู่เป็นกลอน ๘ ล้วน จึงขับเสภาได้ไม่สนิทสนม อาจขัดกับลีลาของศิลปะแห่งเสภาดังที่มีผู้กล่าวไว้กระมัง?

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด