โคบุตรนิทานคำกลอนของสุนทรภู่

Socail Like & Share

โคบุตร เป็นนิทานคำกลอนเรื่องแรกและผลงานเรื่องแรกของสุนทรภู่ มีความยาว ๘ เล่ม สมุดไทย สุนทรภู่แต่งนิทานเรื่องนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก่อน พ.ศ. ๒๓๔๙ ก่อนที่จะเดินทางไปยังเมืองแกลงเพื่อเยี่ยมบิดา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าสุนทรภู่คงตั้งใจที่จะแต่งถวายเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในพระราชวังหลัง

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้เป็นแบบจักรๆ วงศ์ๆ คือเนื้อเรื่องมีอยู่ว่านางฟ้าองค์หนึ่งมีความสัมพันธ์กับพระอาทิตย์ จนกระทั่งเกิดบุตรคนหนึ่ง แล้วนางฟ้าองค์นั้นเสด็จกลับสู่วิมาน พระอาทิตย์ได้นำบุตรผู้นั้นไปฝากนางราชสีห์ให้ช่วยเลี้ยงไว้และให้ชื่อว่าโคบุตร เมื่อโตขึ้นโคบุตรได้ไปเที่ยวหิมพานต์ พบนางมณีสาครและอรุณกุมารซึ่งเดินทางเร่ร่อนมาเพราะพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดาถูกพราหมณ์ปุโรหิตแย่งชิงบ้านเมือง แล้วพระเจ้าพรหมทัตนั้นก็ถูกประหารพร้อมพระมเหสี โคบุตรช่วยนางมณีสาครและอรุณกุมารชิงราชสมบัติคืนมาและช่วยชุบพระเจ้าพรหมทัตและพระมเหสีให้ฟื้นจนได้ครอบครองบ้านเมืองต่อไป ต่อมาโคบุตรกับอรุณกุมารออกเที่ยวป่า รบกับยักษ์ ชื่อหัศกัณฐ์และถูกนางยักขิณีลวงไป แต่พากันหนีมาได้ ต่อมาโคบุตรได้นกขุนทองมาตัวหนึ่งพูดภาษาคนได้ เมื่อไปถึงเมืองกาหลงได้ใช้นกสื่อสารความรักกับนางอำพันมาลาผู้เป็นธิดาเจ้าเมืองกาหลง จน กระทั่งพานางหนีมาอยู่พาราณสี พระอาทิตย์บิดาของโคบุตรได้เนรมิตเมืองให้โคบุตรครอบครองแล้วอภิเษกโคบุตร ตั้งนางมณีสาครให้เป็นมเหสีฝ่ายขวา นางอำพันมาลาเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย ต่อมานางอำพันมาลาให้เถรกระอำทำเสน่ห์เพื่อให้โคบุตรหลงตน นกขุนทองแจ้งข่าวเรื่องนี้แก่อรุณกุมารซึ่งอยู่เมืองพาราณสี อรุณกุมารจึงมาจับเสน่ห์นางอำพันมาลายอมรับผิด โคบุตรจะประหารนางแต่อรุณกุมาร และขุนทองขอชีวิตเอาไว้ โคบุตรจึงขับนางอำพันมาลาออกจากเมือง ก่อนจากไปนางอำพันมาลาเศร้าโศกจนสลบไปแล้วเรื่องก็ค้างอยู่เพียงเท่านี้ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่อาจจะแต่งไม่จบเรื่อง หยุดแต่เพียงเท่านี้ หรืออาจแต่งไว้จนจบแต่พบต้นฉบับเพียงเท่านี้

โคบุตรเมื่อได้อยู่ในความดูแลเลี้ยงของราชสีห์ มีกำลังมาก เพราะได้กินนมนางราชสีห์ ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

กุมาราชันษาได้สิบทัศ        งานจำรัสเหมือนองค์พระสุริยใส
กำลังเจ็ดช้างสารอันชาญชัย    เพราะว่าได้กินนมนางสิงหรา
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๓๕)

เมื่อพระอาทิตย์เสด็จมาเยี่ยมโคบุตร ได้ตั้งชื่อให้พร้อมกับมอบเครื่องประดับและอาวุธให้แก่โอรสดังนี้

พระสุริยันตรัสประภาษกับราชสีห์
จะให้นามตามวงศ์สวัสดี        แซกชนกชนนีเข้าในนาม
ชื่อโคบุตรสุริยาวราฤทธิ์        จงประสิทธิ์แก่กุมารชาญสนาม
ทั้งตรีโลกโลกาสง่างาม        เจริญความเกียรติยศปรากฎครัน

พระอาทิตย์นิรมิตรเครื่องประดับ    ให้เสร็จสรรพล้วนเทพรังสรรค์
เป็นเครื่องทิพศาสตราสารพัน    ให้ป้องกันอยู่ในกายกุมารา
รณรงค์คงทนด้วยกายสิทธิ์        พระอาทิตย์จึงสั่งโอรสา
อันเครื่องทรงที่ในองค์พระลูกยา    ล้วนเทพศาสตราอันเกรียงไกร
จะรบราญรณรงค์เข้ายงยุทธ    ไม่พักหาอาวุธอย่าสงสัย
เครื่องประดับรับรบอรินทร์ภัย    เหาะเหินได้รุ่งเรืองด้วยเครื่องทรง
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร“นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๓๖)

หลังจากนี้พระอาทิตย์สั่งโอรสให้ออกเดินทางหาคู่ครอง แล้วพระอาทิตย์ก็ลาโคบุตรไป ตอนนี้สุนทรภู่บรรยายความรู้สึกของบิดากับบุตรที่ต้องพรากจากกันว่า

พระโคบุตรสุริยาน้ำตาไหล        ด้วยอาลัยสุริยฉายนั้นผายผัน
ยิ่งแลลับพระบิดายิ่งจาบัลย์        สะอื้นอั้นกำสรดระทดกาย
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๓๗)

สุนทรภู่บรรยายภาพนางกำนัลตอนพราหมณ์ปุโรหิตปลิดพระชนม์ท้าวพรหมทัตว่าตอนต้นเรื่องสุนทรภู่กล่าวว่านิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนได้ยินได้ฟังมาก่อนแล้วนำมาเล่าต่อดังนี้

แต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา
เป็นปฐมสมมุตินิทานมา        ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย
ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง        จึงแสดงคำคิดประดิษฐ์ถวาย
ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย        ให้เพริศพรายพริ้งเพราะเสนาะกลอน

จับกระษัตริย์ตัดเศียรสิ้นชีวิต    ทวารปิดมิให้คนลอบหนีได้
จับพวกเหล่าสาวสรรค์กำนัลใน    มาคุมไว้กลางชลาหน้าพระลาน
แสนสังเวชนางในใจจะขาด        ร้องกรีดกราดแซ่เสียงสำเนียงขาน
ผ้านุ่งห่มลุ่ยหลุดกระเซอซาน    บ้างคลำคลานออกมาทุกหน้านาง
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสึนทรภู่, หน้า ๕๓๙)

ตอนโคบุตรสู้กับยักษ์ ๔ ตนที่เฝ้าสระ สุนทรภู่บรรยายภาพการรบไว้อย่างเด่นชัดดังนี้

พระลองแรงแผลงฤทธิ์เข้ารบรับ    พระหัตถ์จับข้างละสองสี่ยักษา
เผ่นผงาดฟาดผางกลางศิลา        อสุราดิ้นกระเดือกลงเสือกกาย
จึงโอมอ่านอาคมพรหมประสิทธิ์    ก็เปลืองปลิดเจ็บปวดนั้นสูญหาย
เข้ากลาดกลุ้มรุมรบอยู่รอบกาย    ดังเสียงสายสุนีลั่นสนั่นดัง
ด้วยเดชะเครื่องประดับสำหรับศึก    แล่นพิลึกโลดไล่ไม่ถอยหลัง
ได้กินนมราชสีห์มีกำลัง        ไม่พลาดพลั้งติดพันประจัญบาน
ต่างกำแหงแรงเริงในเชิงรบ        ไม่หลีกหลบโลดไล่ด้วยใจหาญ
ยักษ์จะจับพี่น้องสองกุมาร        เพราะสังวาลป้องกันไม่อันตราย
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๔๒-๕๔๓)

ตอนโคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา สุนทรภู่บรรยายว่า

ต่างหลงเชิงพระละเลิงด้วยชมโฉม        หลงประโลมลืมรักเจ้าปักษี
นางลืมสองจักรพรรดิสวัสดี            พระลืมที่สวนขวัญอนุชา

(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๘๘)

ตอนท้าวพรหมทัตทรงทราบว่าโคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา ก็ทรงเกิดความรู้สึกเสียดาย เพราะแต่เดิมตั้งพระทัยจะให้โคบุตรครองคู่กับราชธิดาคือนางมณีสาคร สุนทรภู่บรรยายความรู้สึกของท้าวพรหมทัตว่า

โอ้ครั้งนี้วาสนาธิดาเรา
ได้จินดามาถือถึงมือแล้ว        เสียดายแก้กลับคืนเป็นของเขา
แล้วหักจิตคิดความตามสำเนา    เมื่อลูกเราบุญน้อยจะโทษใคร
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๙๘)

โคบุตรตำหนิพระองค์เองเมื่อทรงเห็นว่ามณีสาครเป็นหญิงรูปงาม ดังนี้

แค้นจิตที่ยังพิศไม่เต็มพักตร        กำเริบรักจิตรำพึงตะลึงหลง
แต่แรกรู้ว่างามอร่ามทรง        ไม่เดินดงไปให้ยากลำบากใจ
คิดแค้นตาน่าจะตำให้แตกหัก    ไม่รู้จักคนงามก็เป็นได้
ให้กลัดกลุ้มรุมรึงตะบึงไป        ด้วยพระทัยร้อนร่านในการรัก
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๙๘)

ก่อนที่มณีสาครจะครองคู่กับโคบุตร พระราชมารดาได้ทรงอบรมว่า

เจ้าโฉมงามทรามรักของแม่เอ๋ย    อย่าลืมเลยจงจำคำแม่สอน
ภัศดาอุปมาเหมือนบิดร        จงโอนอ่อนฝากองค์พระทรงฤทธิ์
สรงเสวยคอยระวังอย่าพลั้งพลาด        เมื่อไสยาศผ่อนพร้อมถนอมจิต
ถ้าท้าวโศกแม่อย่าสรวลจงควรคิด        ระวังผิดอย่าให้ผ่านวรกาย
ผัวเคียดแม่อย่าเคียดทำโกรธตอบ        เอาความชอบมาดับให้สูญหาย
ถึงท้าวรักก็อย่าเหลิงละเลิงกาย        ครั้นระคายแล้วมักมีราคีคาว
ความลับแม่อย่าแจ้งแถลงไข        จงกล้ำกลืนกลบไว้อย่าให้ฉาว
แม้นปากชั่วตัวจะดีก็มีคาว            พระทัยท้าวเธอจะแหนงระแวงความ
อันหญิงชั่วผัวร้างนิราศรัก        อัปลักษณ์ถ้าคนจะหยาบหยาม
มารดาพร่ำร่ำสอนจงทำตาม    แล้วโฉมงามแต่งกายให้สายใจ
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๐๗)

ตอนโคบุตรเล้าโลมมณีสาคร สุนทรภู่แต่งโดยใช้วิธีการเล่นคำ คือให้โคบุตรกล่าวว่า

โอ้ดวงนุชสุดสายสวาทจิต        สวาทเจ้าหรือจะคิดอางขนาง
สวาทน้องอย่าหมองเลยน้องนาง    สวาทโน้นหรือจะร้างสวาทนุช
สวาทไหนหรือจะเปรียบสวาทมิ่ง    สวาทแม่นี่แน่ยิ่งเป็นที่สุด
พี่หวังเษกเป็นเอกอนงค์นุช        อนงค์ไหนมิได้สุดสวาทเรียม
สวาทรักภัคินีเป็นที่ยิ่ง            เป็นยอดรักหนักจริงอย่าอายเหนียม
หรืออายพักตรว่าศักดิ์พี่ไม่เทียม    มานั่งแท่นเถิดเรียมจะกล่อมน้อง
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๐๘)

โคบุตรตัดพ้อนางอำพันมาลา หลังจากที่ทรงทราบว่านางทำเสน่ห์ว่า

เมื่อแรกรักคิดว่าศักดิ์กระษัตริย์สูง        มาเป็นฝูงสัตว์ร้ายระบายสี
คิดว่าหงส์หลงพลัดเป็นกากี            มาย้อมสีลวงชายด้วยลายกร
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทร, หน้า ๖๓๖)

เรื่องโคบุตรนี้จบลงตอนนางอำพันมาลาถูกเนรเทศ และนางครํ่าครวญว่า

จะหมองเศร้าเปล่าใจไกลบุรี        ไกลบุรินธานีกลับพลัดพราย
กลับพลัดพรากจากเขนยเคยสถิต    เคยบรรทมอยู่เป็นนิจจะเสื่อมหาย
จะแสนโหยโดยดิ้นสันโดษดาย    สันโดษเดียวเปลี่ยวกายระกำใจ
ระกำจิตคิดขึ้นมาก็สาจิต        ก็สาใจที่ไม่คิดจะทำไฉน
ฉะนั้นท่านจงทำให้หนำใจ        จะอยู่ไปเป็นกายก็อายคน
ครองชีพอยู่รู้ถึงไหนก็อายทั่ว    เพราะว่าตัวต้องกำจัดมาเดินหน
จะครองชีพอยู่ไปก็อายคน        นฤมลโศกซบสลบไป
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๔๙)

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด