สุภาษิตสวัสดิรักษา

Socail Like & Share

ในตอนปลายแห่งรัชกาลที่ ๒ ท่านสุนทรภู่ได้มีงานพิเศษอันเป็นเกียรติประวัติของท่านอีกอย่างหนึ่ง คือโปรดให้สอนหนังสือพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งประสูติกับเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี พระอัครชายา นับว่าสุนทรภู่ได้เป็นครูของเจ้านายซึ่งอาจได้พึ่งพระคุณ ต่อไปในภายหน้า ตอนเป็นครูเจ้าฟ้าอาภรณ์นี้สุนทรภู่ได้ประมวลราชจริยาวัตรอันดีงามขึ้นเป็นหนังสือ เรื่อง “สวัสดิรักษา” ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ (เรื่องนี้กรมศิลปากรเข้าใจว่าแต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๔- ๒๓๖๗) ซึ่งในระหว่างเวลาใกล้เคียงกันนี้ ในฝรั่งเศสอัลเฟรดเดอะวิญญีแต่ง Cinq Mars ลามาตีน แต่งมรณกรรมของโซคราต และมิญเญแต่งประวัติการปฏิวัติ อนึ่งกรมศิลปากรยังเข้าใจว่าเรื่องสิงหไตรภพตอนต้นๆ ก็คงจะได้เริ่มแต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ในตอนนี้ด้วย สุนทรภู่เรียกพระนามแฝงเจ้าฟ้าอาภรณ์เป็น พระสิงหไตรภพ

เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๕ นักวรรณคดี ๒ ท่านเถียงกันว่าสุนทรภู่แต่งสวัสดิรักษาถวายเจ้านายพระองค์ใดแน่ ท่านทั้ง ๒ คือ คุณฉันท์ ขำวิไล กับ คุณฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นักศึกษาควรตรวจข้อขัดแย้งของท่านทั้งสองได้จากหนังสือวิทยาสาร ต.ค.-พ.ย. ๒๕๑๖ สำหรับข้าพเจ้า ขอเชื่อตามสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพไปก่อนว่า แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์โดยมีเหตุผลว่าเป็นครูของเจ้านายพระองค์นี้ ส่วนพระองค์ที่โต้กันไม่มีหลักฐานว่าสุนทรภู่เคยเป็นครู จะอาจเอื้อมไปสอนเทียวหรือ?

สวัสดิรักษา มีความยาวครึ่งเล่มสมุดไทย มีเนื้อความกล่าวถึงเรื่องการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดสิริมงคล เนื้อความดังกล่าวนี้สุนทรภู่มิได้คิดขึ้นเอง แต่นำมาจากสวัสดิรักษาของเก่าซึ่งเรียกกันว่า สวัสดิรักษาคำฉันท์ (ที่จริงเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖ ไม่ใช่ฉันท์) เข้าใจว่าเป็นผลงานตอนปลายสมัยอยุธยา

เนื่องจากสวัสดิรักษาคำฉันท์ ซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าคนอ่านส่วนมากไม่สู้จะเข้าใจ สุนทรภู่จึงนำมาแต่งใหม่เป็นกลอนสุภาพ โดยขึ้นต้นเรื่องสวัสดิรักษาว่า
• สุนทรทำคำสวัสดิรักษา
ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา
ตามพระบาลีเฉลิมให้เพิ่มพูน
เป็นของคู่ผู้มีอิสริยยศ
จะปรากฎเกิดลาภไม่สาบสูญ
สืบอายุสุริย์วงศ์พงศ์ประยูร
ให้เพิ่มพูนภิญโญเดโชชัย

คำว่า พระหน่อบพิตรอิศรา นั่นแล ที่คุณฉันท์ ขำวิไล และคุณฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ วิจารณ์กัน

“สวัสดิรักษา,’’ เป็นประมวลความเชื่อของคนแต่ก่อนว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นมงคล เช่น เรื่องการนุ่งผ้าเลือกสีตามวัน

วันอาทิตย์สิทธิโชคโศลกดี        เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
วันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว        จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน    เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดดีด้วยสีแสด        กับเหลืองแปดประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี    วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงเครื่องดำจึงล้ำเลิศ    แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม

หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม        ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัย

หนึ่งพระองค์ทรงเจริญเพลินถนอม    อย่าให้หม่อมห้ามหลับทับหัตถา
ภิรมย์รสอตส่าห์สรงพระคงคา    เจริญราศีสวัสดิ์ขจัดภัย

หนึ่งเขฬะอย่าถ่มเมื่อลมพัด        ไปถูกสัตว์เสื่อมมนต์ดลคาถา
หนึ่งพบปะพระสงฆ์ทรงศีลา        ไม่วันทาถอยถดทั้งยศทรัพย์

หนึ่งเล่าเข้าที่ศรีไสยาสน์        อย่าประมาทหมั่นคำนับลงกับหมอน
เป็นนิรันดร์สรรเสริญเจริญพร    คุณบิดรมารดาคุณอาจารย์

หนึ่งนั้นวันกำเนิดเกิดเกิดสวัสดิ์    อย่าฆ่าสัตว์เสียสง่าทั้งราศี
อายุน้อยถอยเลื่อนทุกเดือนปี    แล้วมักมีทุกข์โศกโรคโรคา

หนึ่งบรรทมลมคล่องทั้งสองฝ่าย    พระบาทซ้ายอย่าพาดพระบาทขวา
ข้างขวาคล่องต้องกลับทับซ้ายมา    เป็นมหามงคลเลิศประเสริฐนัก

สุนทรภู่กล่าวไว้ตอนท้ายเรื่องว่า    การประพฤติปฏิบัติตนให้เกิดมงคลต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่กษัตริย์ควรเรียนรู้ และบอกที่มาของเรื่องที่น่ามาแต่งไว้ดังนี้

ขอพระองค์จงจำ ไว้สำเหนียก    ดังนี้เรียกเรื่องสวัสดิรักษา
สำหรับองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา    ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย
บทโบราณท่านทำเป็นคำฉันท์    แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข
จึงกล่าวกลับซับซ้อนเป็นกลอนไว้        หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ
สนองคุณมุลิกาสามิภักดิ์            ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสถาน
แม้นผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ    ขอประทานอภัยโทบได้โปรดเอย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด