เสภาพระราชพงศาวดาร

Socail Like & Share

กราบบังคมสมเด็จบดินทร์สูร
พระยศอย่างปางนารายณ์วายุกูล        มาเพิ่มพูนภิญโญในโลกา
ทุกประเทศเขตขอบมานอบน้อม        สะพรั่งพร้อมเป็นสุขทุกภาษา
ขอเดชะพระคุณกรุณา               ด้วยเสภาถวายนิยายความ

นอกจากมีส่วนสร้างความงามในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนแล้ว สุนทรภู่ยังแต่งเสภาอีกเรื่องหนึ่งคือ เสภาพระราชพงศาวดาร (มีความยาว ๒ เล่มสมุดไทย)

หนังสือเสภาพระราชพงศาวดาร ดูเหมือนจะเป็นวรรณกรรมชิ้นสุดท้ายของสุนทรภู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้แต่งสำหรับถวายในเวลาทรงเครื่องใหญ่ และสำหรับสั่งให้นางในส่งมโหรีหลวงด้วย เข้าใจกันว่าสุนทรภู่เริ่มแต่งเมื่อพ.ศ. ๒๓๙๒ เวลานั้นอายุ ๖๘ ปี และกำลังครองตำแหน่งอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรในนามบรรดาศักดิ์พระสุนทรโวหาร อันเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางนักปราชญ์แห่งราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์

เนื้อเรื่องประพันธ์ตามพระราชพงศาวดาร จึงมิจำเป็นต้องนำมากล่าวในที่นี้เพราะทราบกันอยู่แล้ว ในที่นี้จะพินิจแต่ลักษณะหนังสือเสภาพระราชพงศาวดารแต่งเป็นใจความ ๒ ตอน เดิมทีเดียวสุนทรภู่เริ่มตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา ไปจนถึงทำสงครามกับขอมโดยพระราเมศวร และพระบรมราชา (ขุนหลวงพะงั่ว) สุนทรภู่ยุติเพียงเท่านี้แล้วข้ามไปแต่งตอนสงครามช้างเผือกในรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า คงเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ตอนหลังสงครามกับขอมคราวนั้น ถึงจะแต่งก็ไม่น่าฟังจึงโปรดให้ข้ามไปแต่งตอนสงครามช้างเผือกในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิจนถึงพระเจ้าไชยเชษฐากรุงศรีสัตนาคนหุต ซึ่งยกเข้ามาช่วยกรุงศรีอยุธยาแตกแพ้ นับเป็นตอนที่ ๒ ที่แต่งไม่จบอาจเป็นด้วยสุนทรภู่ ถึงแก่อนิจกรรมลง

พูดถึงศิลปะการประพันธ์เรื่องนี้ สุนทรภู่เพียงแต่ประพันธ์ตามพระราชพงศาวดาร ไม่อิสระเสรีดังเรื่องอื่น เช่นนิราศอิเหนาหรือพระอภัยมณี ซึ่งสุนทรภู่มีอำนาจที่จะวาดจะสร้างได้ตามอำเภอใจ ไม่มีทางที่จะพลิกแพลงให้เกิดรสไพเราะหรือขบขันได้เต็มที่ เมื่อเรื่องบังคับให้อยู่ในกรอบเช่นนี้ ย่อมทำให้สุนทรภู่อึดอัด หากมิเป็นเพราะพระราชดำรัสให้แต่ง สุนทรภู่จะไม่แต่งเลย

ถึงกระนั้นก็ตาม เสภาพระราชพงศาวดารของสุนทรภู่มิใช่จะแห้งแล้งเสียทีเดียว บางแห่งแทรกความขบขันลงไป บางแห่งแทรกคติและคำเปรียบเทียบอันงดงาม ดังจะเสนอให้ชมเป็นตอนๆ ดังนี้

พระเจ้าอู่ทองตรัสแก่พระราเมศวรตอนจะให้ไปรบขอมว่า “พลของเราห้าวหาญชำนาญยุทธ เจียนจะขุดกัมภูชาก็ว่าได้” เป็นการเปรียบความเด่นชัดที่สุด ไม่ใช่เขียนอย่างกลอนพาไปเลย

สุนทรภู่ได้เขียนในสารตอบพระเจ้ากรุงหงษาวดี เมื่อขอช้างเผือกว่า

ในสาราว่าพระมหาจักรพรรดิ    เจ้าจังหวัดเวียงไชยไอศวรรย์
เฉลิมวงศ์ทรงยศทศธรรม์        ครองเขตขันธ์กรุงทวาราวดี
ทรงพระน้องต้องประสงค์ช้างเผือกผู้    เป็นของคู่บุญบำรุงชาวกรุงศรี
อันวิสัยในจังหวัดปัถพี        ผู้ใดมีบุญญากฤดาการ
จึงย่อมจักเกิดช้างแลนางแก้ว    ใช่บุญแล้วถึงจะได้ไว้ถิ่นฐาน
ไม่รุ่งเรืองเครื่องจะอันตรธาน    เหมือนบุราณกล่าวเปรียบทำเทียบความ

ประเวณีมีบุญการุญโลก    อุปโภคคราใดก็ไหลหลาม
มีม้าแก้วแล้วมีช้างมีนางงาม    ศึกสงครามก็มักมาถึงธานี
ซึ่งมิได้ให้ช้างเผือกไปเลี้ยง        เพราะผิดเยี่ยงอย่างพระน้องอย่าหมองศรี
เชิดดำรงหงษาประชาชี    จะได้มีเกียรติยศปรากฎไป

อยากจะขอชมความรู้ภาษาต่างประเทศของสุนทรภู่ คือสามารถนำมาร้อยกรองเป็นกลอน แอะเอาะซึ่งเป็นกลอนยากได้อย่างน่ฟัง ดังนี้

…หม้อข้าวปลาผ้านุ่งคาดพุงพัน    เบียดเสียดกันเกะกะเสียงทะเลาะ
พวกอังวะพม่าว่าละแคะ        มอญว่าแกละอาระเคลิงเกลิงเผนาะ
ลาวว่าเบอเจอละน้อหัวร่อเยาะ    ทวายว่าเถาะยามะเวเฮฮากัน

ตอนพักพลตอนหนึ่ง สุนทรภู่สร้างความสนุกแก่ผู้อ่าน ดังนี้

ให้รำเต้นเล่นสนุกทุกๆ ค่าย        เสียงทวายมอญพม่าเฮฮาฉาว
พวกเชียงใหม่ได้แพนอ้อร้องซอลาว    โอเจ้าสาวสาวเอ๊ยเจ๊ยละน้อ
ของพระองค์ทรงพระอนุญาต    อย่าเคืองขัดตัดขาดที่ปรารถนา
ให้ร่วมแดนแผ่นดินถิ่นสุธา        ฉลองพระคุณมุลลิกาเบื้องหน้าไป

ขุนนางทูลพระมหินทร์ พูดถึงความคดของศัตรู ใจความดีมาก

ฝ่ายขุนคงต่างว่าส่งพระยาราม        หาเลิกล้มกลับตามสัญญาไม่
เห็นเหมือนคำตำราท่านว่าไว้        เคียวอยู่ในนาภีไม่มีตรง
ขอสรุปว่า เสภาพระราชพงศาวดารของสุนทรภู่เป็นหนังสือที่นักหนังสือไม่ควรพลาดเล่มหนึ่ง เพราะหนังสือประเภทนี้มีในวรรณกรรมไทยไม่กี่เล่มเลย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด