ลักษณวงศ์วรรณคดีของสุนทรภู่

Socail Like & Share

วรรณคดีเรื่องลักษณวงศ์เป็นงานชิ้นสำคัญเรื่องหนึ่งของท่านกวีเอกสุนทรภู่ ท่านกวีผู้นี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านคงรู้จักมาบ้างแล้ว จึงจะไม่นำประวัติของท่านมากล่าวละเอียด แต่จะขอกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเรื่องลักษณวงศ์เท่านั้น

พูดถึงเรื่องลักษณวงศ์เข้าใจว่านักอ่านรุ่นกลางๆ คนขึ้นไปย่อมรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ แต่นักอ่านรุ่นเยาว์คงจะมีน้อยคนนักที่จะเคยอ่านหรือแม้แต่เคยได้ยินชื่อ ทั้งนี้เพราะเหตุผลหลายประการ เช่นหนังสือเรื่องลักษณวงศ์หาอ่านยากอย่างหนึ่ง เรื่องรสนิยมในการอ่านวรรณคดีประเภทโคลงฉันท์ กาพย์กลอนในสมัยนี้มีน้อยประการหนึ่ง

แต่จะอย่างไรก็ดี เมื่อชาติไทยยอมสดุดีว่าสุนทรภู่เป็นกวีเอกของชาติคนหนึ่งแล้ว การที่เราจะสนทนากันถึงวรรณกรรมเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ก็น่าจะไม่เป็นเรื่องที่ล้าสมัยหรือไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอนำเรื่องลักษณวงศ์มาสนทนากับท่าน

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า หนังสือเรื่องลักษณวงศ์นี้มีลักษณะน่าสังเกตบางประการ ประการแรก ก็คือ วัตถุประสงค์ของการแต่ง คือมีวัตถุประสงค์แตกต่างกับเรื่องอื่นๆ ของสุนทรภู่ แต่ไหนแต่ไรมาสุนทรภู่แต่งหนังสือเพื่อถวายเจ้านายที่ตนได้พึ่งพระคุณเริ่มตั้งต้นแต่วรรณคดีเรื่องแรกคือ โคบุตร ก็ดี วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีซึ่งเป็นวรรณกรรมเยี่ยมยอดของสุนทรภู่ก็ดี ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์จะถวายเจ้านายทั้งนั้น ส่วนวรรณคดีเรื่องลักษณวงศ์นี้สุนทรภู่มิได้แต่งเพื่อถวายเจ้านายพระองค์ใด หากแต่แต่งเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเอง เพราะสนุทรภู่แต่งเรื่องลักษณวงศ์ไนขณะที่ตนเองหมดที่พึ่งขาดเจ้านายอุปการะดังแต่ก่อน ต้องสัญจรร่อนเร่ลอยเรือขายของไปตามแม่นํ้าลำคลอง และขายสำนวนกลอนลักษณวงศ์เลี้ยงอาตมาอยู่อย่างอาภัพอับจน น่าจะกล่าวได้ว่าในประวัติวรรณคดีไทย สนุทรภู่เป็นคนขายสำนวนประพันธ์หากินได้เป็นคนแรก และถ้าอย่างนั้น วรรณกรรมหากินเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ก็คือ ลักษณวงศ์ ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี่เอง ลักษณวงศ์เป็นวรรณกรรมหากินของกวีเอกสุนทรภู่ในยามวิบัติ

ก็เนื้อเรื่องของลักษณะวงศ์นั้นเป็นอย่างไร? จะขอเก็บความมาพอเป็นเค้า สุนทรภู่ได้คลี่คลาย นิยายประโลมโลกของท่านด้วยกลอนเสนาะตลอดเรื่อง เริ่มด้วยท้าวพรหมทัตผู้หลงมายาอิสตรีจนถึงกับสั่งฆ่านางสุวรรณอัมพาผู้มเหสีและลักษณวงศ์ผู้โอรสแต่เดชะบุญแม่ลูกทั้งสองนี้รอดความตายมาได้เพราะเพชฌฆาตปล่อยให้เป็นอิสระ สองแม่ลูกต้องออกเร่ร่อนผจญภัย และในที่สุดต้องพลัดพรากกันเป็นเหตุให้ลักษณวงศ์ตกไปอยู่ยังสำนักหนึ่งร่วมกับนางทิพเกสร ลักษณวงศ์กับทิพเกสรได้สนิทสนมรักใคร่กันมาแต่ปฐมวัย แต่ในตอนหลังทั้งสองมีเหตุต้องพลัดพรากกัน คือลักษณวงศ์ต้องออกติดตามชนนี ส่วนทิพเกสรต้องไปอาศัยอยู่กับเหล่านางกินนรีที่ในถํ้า ครั้นเวลาล่วงไปเมื่อลักษณวงศ์ตามพบชนนีแล้วได้เที่ยวตามหาทิพเกสรหญิงคนรักต่อไปอีก คราวนี้ลักษณะวงศ์มาพบทิพเกสรที่ถํ้านางกินนรี และได้ทิพเกสรหญิงคนรักเป็นชายา
แต่แล้วสุนทรภู่ก็ให้พระและนางของตนพรากกันอีกครั้งหนึ่ง ลักษณวงศ์ไปสู่เมืองอุบลนคร และได้ธิดาเจ้าเมืองชื่อยี่สุ่นเป็นชายา ส่วนทิพเกสรก็ออกติดตามสามีโดยแปลงเพศเป็นพราหมณ์ผู้ชาย เรียกนามตนเองว่าพราหมณ์เกสร เที่ยวสัญจรตามสามีจนในที่สุดมาพบกัน พราหมณ์เกสรได้สมัครเข้าไปอยู่ในราชสำนักของลักษณวงศ์ ลักษณวงศ์โปรดปรานพราหมณ์เกสรยิ่งนัก ทั้งนี้เป็นเหตุให้ยี่สุ่นชายาโกรธแค้น จึงหาอุบายต่างๆ ในทำนองว่าพราหมณ์เกสรล่วงเกินนางในทางชู้สาว ยี่สุ่นจึงแกล้งทูลลักษณวงศ์สวามี จนกระทั่งลักษณวงศ์เกิดโมหาคติสั่งประหารพราหมณ์เกสร ซึ่งที่แท้ก็คือชายาคู่ทุกข์คู่ยากนั่นเอง ทิพเกสรถูกประหารทั้งๆ ที่นางกำลังตั้งครรภ์

นี่คือเรื่องประโลมโลกของสุนทรภู่ที่เรียกนํ้าตาคนไทยอย่างมาก

ปัญหาที่น่าสนใจต่อมามีว่าสุนทรภู่ได้เค้าเรื่องลักษณวงศ์มาจากไหน สุนทรภู่เองได้แสดงไว้ในตอนคำนำเรื่องว่าได้จากเรื่องดึกดำบรรพ์ทำนองชาดก คือกล่าวว่า “นิทานหลังครั้งว่างพระศาสนา เป็นปฐมสมมุติกันสืบมา โดยปัญญาที่ประวิงทั้งหญิงชาย ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง จึงแสดงคำคิด ประดิษฐ์ถวาย ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย ให้เพริดพรายมธุรสพจนา” คำเกริ่นบอกเรื่องของสุนทรภู่มักเป็นเช่นนี้เสมอ เรื่องโคบุตรสุนทรภู่ก็ว่าได้เค้าเรื่องจากโบราณเช่นเดียวกันนี้

แต่ตามความเป็นจริงเห็นจะไม่ใช่ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ นักค้นคว้าโบราณคดี สำคัญพระองค์หนึ่งทรงเล่าไว้ว่า เรื่องลักษณวงศ์นี้ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าสุนทรภู่ได้เค้าเรื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายผู้สูงศักดิ์สองพระองค์ คือระหว่างเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งภายหลังได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระองค์เจ้าหญิงนฤมล เจ้าหญิงพระองค์นี้ดูเหมือนจะเป็นราชธิดากรมพระราชวังบวรฯ มหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสิเนหาเจ้าหญิงพระองค์นั้นมากแต่เจ้าหญิงพระองค์นั้นได้ด่วนสิ้นพระชนม์เสียในพระวัยอันเยาว์ ทั้งนี้เป็นเหตุให้เจ้าฟ้ามงกุฎทรงโศกาดูรอาลัยอาวรณ์ในเจ้าหญิงพระองค์นั้นมาก ในคราวงานสดับปกรณ์ เจ้าฟ้ามงกุฎถึงกับ กำสรวลจนนํ้าพระเนตรคลอ สุนทรภู่เมื่อเห็นหรือทราบเรื่องนั้นจึงเก็บมาสร้างเป็นโครงเรื่องลักษณวงศ์ขึ้น เรื่องนี้ปรากฎในพระนิพนธ์เรื่องลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดังจะขอคัดมาให้พิจารณาดังนี้

ฟ้ามกุฎสุดสวาทน้อง            นางสุดา อาว์ท่าน
นามพระองค์นฤมล            เมื่อน้อย
ชิงสิ้นพระชนมาย์            เมื่อภิเนก ษกรมแฮ
ยามสดับปกรณ์ท้อนละห้อย        เหิ่มหวน

ทรวงกำสรวลส่อน้ำ    เนตรคลอ เนตรท่าน
จับจิตจนสุนทร        ภู่เย้า

เฉลยลักษณวงศ์กรอ    กลอนเปรียบ ภิเปรยเอย
เยาว์อยู่ยินผู้เถ้า        ถั่งเถิง

ดังนี้ ตามข้อความของโคลงที่ยกมา แสดงว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องลักษณวงศ์ขึ้นโดยเค้าเรื่องจากชีวิตจริงๆ ของบุคคลสำคัญในชีวิตของสุนทรภู่เอง คือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายชั้นสูงทั้งสองพระองค์นั้นจรรโลงใจสุนทรภู่ จนสุนทรภู่นำไปสร้างเป็นโครงเรื่องลักษณวงศ์ขึ้น ดังโคลงกรมพระ- นราธิปฯ ว่า “จับจิตจนสุนทร ภู่เย้า” คำว่า “เย้า” ก็คือล้อนั้นเอง

แต่สุนทรภู่เย้าเจ้าฟ้ามงกุฎเพียงไหน และเย้าอย่างไร เรื่องนี้เราไม่ทราบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายสองพระองค์นั้นอย่างถี่ถ้วน ทราบแต่ว่าเจ้าหญิงนฤมลมาสิ้นพระชนม์เสียเมื่อรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ามงกุฎจึงโศกาลัยอย่างสุดซึ้ง ตามเรื่องสุนทรภู่จึงสร้างให้ทิพเกสรผู้ซื่อสัตย์ได้วายชนม์ลง เป็นเหตุให้ลักษณวงศ์ต้องคร่ำครวญหวนโหยเป็นที่สุด เจตนาของสุนทรภู่ดูเหมือนจะแต่งเรื่องเทียบเรื่องของเจ้านายที่นับถือของตนเพียงเท่านี้ ส่วนรายละเลียดปลีกย่อยอื่นๆ ในเรื่องลักษณวงศ์คงเป็นบทขยาย หรือโครงเรื่องย่อยดังที่เรียกกันในวงประพันธ์ว่า Sub-plot อันเกิดจากความคิดคำนึงประดิษฐ์ประดอยขึ้นทั้งสิ้น การเย้าหรือล้อของสุนทรภู่จึงเป็น “การเย้าด้วยความคารวะ” เท่านั้น

เกี่ยวกับบทบาทของตัวละครเราจะเห็นว่าสุนทรภู่พยายามจะวาดหญิงแบบฉบับขึ้นคนหนึ่ง อย่างทิพเกสร เป็นคนเดียวที่อาภัพอับโชคที่สุดในชีวิต บางทีสุนทรภู่อาจชี้ให้เห็นว่า “คนดีที่ความดีคุ้มครองไม่ได้” ก็มีอยู่เหมือนกันในโลกนี้ สุนทรภู่วาดทิพเกสรให้เป็นเหมือนตัวแทนพระองค์เจ้าหญิงนฤมลกระนั้นหรือ?

ท่านผู้อ่านที่นับถือ ท่านทราบแล้วว่าโลกนี้เป็นกามภพ มนุษย์เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลส เมื่อสร้างเรื่องลักษณวงศ์นี้สุนทรภู่จึงสร้างปมมืดมนงมงายขึ้นให้กับตัวละคร ปมนั้นคืออวิชชาและ โมหาคติ แล้วจึงคลี่คลายเรื่องออกไปทีละน้อยๆ แทรกแซงปมมืดเหล่านั้นด้วยอารมณ์ปุถุชน มีความรัก ความโกรธ ความหึง และมายาต่างๆ เมื่อได้ทรมานตัวละครพอสมควรแล้ว สุนทรภู่ก็คลายปมมืดนั้นออกทีละน้อยๆ บุคคลที่มากด้วยอวิชชาและโมหาคติก็ค่อยสำนึกตัวในที่สุด และแล้วก็สารภาพความผิด
คนทั้งหลายทำผิดเพราะความรักความหลงอยู่ไม่น้อยเลย สุนทรภู่จึงสร้างท้าวพรหมทัต และลักษณวงศ์ไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับสอนคนไทยในสมัยของสุนทรภู่เรื่องลักษณวงศ์จึงเป็นทั้งมหรสพ และเป็นทั้งแบบเรียนศีลธรรม นี่คือโศกนาฏกรรมที่บรรพชนของเราชื่นชมมาแล้วอย่างจับอกจับใจ

เมื่อข้าพเจ้าศึกษาชีวิตและงานของสุนทรภู่แล้ว เกิดมีความรู้สึกขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องลักษณวงศ์นี้อาจเป็นเรื่องชีวิตของสุนทรภู่เองก็ได้ คือสุนทรภู่ถ่ายทอดชีวิตตนเองลงเป็นเรื่องลักษณวงศ์ ทำไมข้าพเจ้าจึงคิดเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะขอแสดงเหตุผลต่อไป ขอท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดอภัยด้วยถ้าหากข้อสันนิษฐานของข้าพเจ้าจะผิดไป เจตนาของข้าพเจ้ามีเพียงการสันนิษฐานเพื่อประโยชน์ทางประวัติวรรณคดีไทยอาจผิดก็ได้ อาจถูกสักเล็กน้อยก็ได้

ท่านผู้อ่านที่นับถือ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเรื่องลักษณวงศ์เป็นเรื่องเทียบขอให้เราพิจารณาชื่อเรื่องของตัวละครสำคัญๆ ดู คำว่าลักษณวงศ์ ซึ่งเป็นตัวเอกฝ่ายชายนั้นถ้าจะแปลความหมายก็ว่า วงศ์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นพิเศษ ถ้าท่านตรวจประวัติวรรณคดีไทยดู ท่านจะทราบได้ว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในชีวิตของสุนทรภู่เป็นกวีทั้งสิ้น รัชกาลที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือดีๆ มีค่าไว้ทุกพระองค์ แปลว่าราชวงศ์จักรีนี้เป็นราชวงศ์แห่งกวี ความเป็นกวีเป็นลักษณะพิเศษของราชวงศ์จักรี ฉะนี้กระมัง สุนทรภู่ผู้เป็นจินตกวีจึงมองเห็นลักษณะเด่น เลยตั้งชื่อเรื่องของตนว่าลักษณวงศ์ เมื่อเทียบกับพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ตนได้พึ่งพระคุณและมีชีวิตเกี่ยวข้องอยู่ โดยเฉพาะลักษณวงศ์อาจเป็นพระนามที่สุนทรภู่เทียบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกระมัง?

ส่วนนามตัวละครเอกฝ่ายหญิงในเรื่องลักษณวงศ์นั้นเล่า มีข้อน่าคิดว่าหมายถึงตัวสุนทรภู่เอง คำว่าทิพเกสรหรือทิพ์เกสรก็มีความหมายในทำนองหอมหวานเป็นชั้นทิพย์ชั้นสวรรค์ ก็นามบรรดาศักดิ์สุนทรโวหารของสุนทรภู่ก็เข้าลักษณะ ดี งาม ไพเราะ จนมีชื่อเสียงหอมหวนนั้นเอง จึงทำให้น่าคิดว่าสุนทรภู่ใช้นางเอกของเรื่องที่ชื่อว่าทิพยเกสรหรือทิพเกสรนั้นหมายถึงตนเอง แต่สุนทรภู่มีชีวิตแบ่งได้เป็น ๒ ยุค คือยุคร่มเย็นเป็นสุข โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๒ กับยุคอาภัพอับจนต้องทนทุกข์ในรัชกาลที่ ๓ ชีวิตของทิพเกสรก็หมายถึงชีวิตตอนเป็นสุขของสุนทรภู่    ส่วนชีวิตตอนลำบากเริ่มตั้งแต่ออกบวชนั้นก็ได้แก่ชีวิตตอนทิพเกสรแปลงตัวเป็นพราหมณ์เกสรนั้นเอง การที่สุนทรภู่ให้ทิพเกสรปลอมตัวเป็นพราหมณ์ก็อ้างว่าเพื่อความปลอดภัยและเราท่านย่อมทราบว่าสุนทรภู่นั้นเคยไปบวชเป็นพระเพื่อหนีภัยในรัชกาลที่ ๓ ฉะนั้นจึงน่าคิดว่าพราหมณ์เกสรก็คือพระสุนทรภู่นั่นเอง

ท่านผู้อ่านที่นับถือ ก่อนจบข้าพเจ้าขอยกข้อสมมุติสักอย่างหนึ่งคือ ถ้าลักษณวงศ์มิใช่เรื่องโบราณดังสุนทรภู่ว่าก็ดี หรือมิใช่เรื่องของเจ้าฟ้ามงกุฎกับพระองค์เจ้าหญิงนฤมลดังที่กรมพระนราธิป ทรงเล่าก็ดี ข้าพเจ้าสงสัยว่าเรื่องลักษณวงศ์น่าจะหมายถึงใครต่อใครในชีวิตของสุนทรภู่อย่างมาก โดยเฉพาะสุนทรภู่อาจจะเคลิ้มไปว่าตนเองคือทิพเกสรหรือพราหมณ์เกสรนั่นเอง สุนทรภู่อาจแต่งเรื่องนี้ในทำนองเรื่องเทียบความปรากฏตอนหนึ่งเหมือนกับชีวิตของสุนทรภู่ในขณะเป็นกวีที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยคือตอนบรรยายถึงความใกล้ชิดระหว่างลักษณวงศ์กับพราหมณ์เกสรว่าดังนี้

“ปางพระองค์ทรงแต่งเรื่องอิเหนา    พราหมณ์ก็เข้าเคียงเขียนอักษรศรี
เมื่อท้าวติดพราหมณ์ก็ต่อพอดี    ท้าวทวีความสวาทประภาษชม”

จากเรื่องลักษณวงศ์นี้ทำให้น่าเข้าใจว่า ตัวนางทิพเกสร สุนทรภู่หมายถึงตนเองในยุคเป็นสุข และพราหมณ์เกสรก็คือสุนทรภู่ตอนตกยาก นับตั้งแต่ออกบวชเป็นต้นไปนั้นเอง ที่ใช้นามทิพเกสรก็หมายถึงเกสรดอกไม้สวรรค์ย่อมหอมหวน เช่นเดียวกับชื่อเสียงอันหอมหวนของสุนทรภู่ตอนก่อนที่ รัชกาลที่ ๒ จะโปรดให้เข้ารับราชการกระมังสุนทรภู่เป็นคนหยิ่งในทางการประพันธ์ แม้ตอนอดอยากก็ยังหยิ่ง แต่นี่เป็นเพียงการสันนิษฐานของข้าพเจ้าอย่างที่คิดเห็นไปเอง ยังไม่มีหลักฐานอันใดดีกว่าการคิดอนุมานเอา แต่ถ้าท่านทราบชีวประวัติของสุนทรภู่แล้ว ท่านจะเห็นว่าเหมือนพราหมณ์เกสรเป็นอย่างมาก จึงขอฝากความคิดนี้แด่เพื่อนนักศึกษาวรรณคดีโดยทั่วกันเพื่อพิจารณาต่อไป

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด