ซุ่นจื๊อกับเรื่องการเมือง

Socail Like & Share

ซุ่นจื๊อ มีความสนใจในเรื่องของปัญหาเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองที่ดี และมีความเห็นว่า ตามทฤษฎีแห่งเรื่องตัณหาของเขานั้น การปกครองบ้านเมืองที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็โดยการแสดงความแตกต่างอันเด่นชัดระหว่าง ผู้เป็นใหญ่และผู้น้อย และระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับเสนนาบดี

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ควบคุมเสนาบดี และไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีผู้น้อย เมื่อนั้น บ้านเมืองก็ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ตัณหามีมากมาย แต่สิ่งสนองตัณหามีน้อย เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ การต่อสู้แก่งแย่งกันจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกหนีไม่พ้น

ซุ่นจื๊อ ยึดมั่นอยู่ในทฤษฎีเรื่องตัณหาของเขาอย่างมั่นคง เขามีความเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการเมืองนั้นคือ การควบคุมตัณหาของบุคคล เพื่อรักษาบุคคลนั้นให้อยู่ในฐานะที่ตนได้รับการแต่งตั้ง เขาสรุปความคิดเห็นของเขา โดยการแสดงความคิดที่มุ่งหมาย เพื่อการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นชนชั้นทางสังคม มนุษย์มีความปรารถนาอันเดียวกันคือ อยากจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นเจ้าของโภคทรัพย์ทั้งปวงในโลก เหมือนกันทุกคน แต่ความปรารถนานี้ไม่อาจจะปฏิบัติตาม หรือสนองตอบได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินในสมัยก่อนจึงกำหนดให้มีจารีตประเพณีและศีลธรรมขึ้น เพื่อจำกัดขอบเขตของความปรารถนาของมนุษย์ขึ้น เพื่อจำแนกคนออกเป็นผู้ใหญ่และผู้น้อย ผู้มีอาวุโสสูงและผู้มีอาวุโสต่ำ ผู้มีสติปัญญาและผู้ไม่มีสติปัญญา ผู้มีความสามารถและผู้ไม่มีความสามารถ

ข้อความอีกตอนหนึ่ง อธิบายถึงการแบ่งแยกชนชั้นอย่างละเอียดว่า

มนุษย์จะอยู่โดยปราศจากสังคมไม่ได้ เมื่อไม่มีการจัดแบ่งลำดับทางสังคมแล้ว ก็จะมีแต่การต่อสู้ขัดแย้งกัน เมื่อมีการต่อสู้ขัดแย้งกัน ก็จะมีแต่ความไม่สงบ เมื่อมีความไม่สงบทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นอันหมดสิ้น….หรือพูดอีกนัยหนึ่ง การแบ่งลำดับชั้นในทางสังคมนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากมายแก่มนุษย์ พระเจ้าแผ่นดินเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของการจัดแบ่งลำดับขั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินตกแต่งให้สวยงาม จึงเป็นการตกแต่ง เพื่อประชาชนผู้เป็นรากฐานอันสำคัญของบ้านเมือง สิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทำให้สงบ จึงเป็นการตกแต่ง เพื่อประชาชนผู้เป็นรากฐานอันสำคัญของบ้านเมือง สิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทำให้สงบ จึงเป็นการสร้างความสงบเพื่อประชาชนผู้เป็นรากฐานอันสำคัญของบ้านเมือง สิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินยกย่องให้เกียรติจึงเป็นการยกย่องให้เกียรติแก่ประชาชน ผู้เป็นรากฐานอันสำคัญของบ้านเมือง

การจัดลำดับทางสังคมนี้ ยอมรับระดับทางสังคมสองระดับ ระดับหนึ่งเป็นระดับของกลุ่มคนชั้นสูง รวมทั้ง “ผู้เป็นใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้มีสติปัญญา และผู้มีความสามารถ” โดยทั่วๆ ไปหมายถึง ชนชั้นสูงในสังคมทั้งหมด อีกระดับเป็นระดับต่ำ ประกอบด้วยประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็น “ผู้น้อย ผู้มีอาวุโสต่ำ ผู้ไม่มีสติปัญญา และผู้ไม่มีความสามารถ”

เมื่อมีการจัดลำดับเท่าเทียมกันทั้งหมด ความแตกต่างก็ไม่มี
เมื่อมีสภาพเท่าเทียมกัน เอกภาพก็ไม่มี
เมื่อประชาชนทั้งหมดเท่าเทียมกัน ความสงบเป็นระเบียบก็ไม่มี
ตราบใดที่ยังมีสวรรค์และแผ่นดิน ตราบนั้นการแบ่งแยกเป็นสูง เป็นต่ำ ก็ต้องมีอยู่

ซุ่นจื๊อ มีความเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นควรจะมีฐานะเป็นพิเศษอยู่เหนือจากการเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ เขามองเห็นพระเจ้าแผ่นดินว่าเป็นผู้มีฐานะแยกต่างหากจากบุคคลอื่นทั้งหมด แต่ไม่ใช่ในฐานะที่ได้รับสิทธิพิเศษจากสวรรค์ แต่ในฐานะที่ได้รับความยินยอมพร้อมใจอันเป็นเจตน์จำนงของประชาชนพลเมืองในคติความคิดอันนี้ ซุ่นจื๊อมีความเห็นคล้ายคลึงกันกับคติความคิดของเม่งจื๊อ

ผู้ปกครองแผ่นดินเป็นเสมือนหนึ่งต้นน้ำที่ไหลไปสู่ประชาชน ถ้าต้นน้ำใสสะอาด กระแสน้ำที่ไหลไปสู่ประชาชนก็ใสสะอาด ถ้าต้นน้ำเน่า กระแสน้ำที่ไหลไปสู่ประชาชนก็เน่า และ….
ผู้ปกครองแผ่นดินนั้นเป็นเสมือนจาน ถ้าจานกลม น้ำในจานนั้นก็กลม ผู้ปกครองแผ่นดินนั้นเป็นเสมือนชาม ถ้าชามรูปสี่เหลี่ยม น้ำในชามนั้นก็เป็นรูปสี่เหลี่ยม

กล่าวโดยย่อแล้ว ผู้ปกครองแผ่นดินนั้น ประการแรก จะต้องเป็นตัวอย่างของประชาชน เป็นแบบอย่างให้ประชาชนปฏิบัติตาม

ยังมีข้อความอีกตอนหนึ่งที่อธิบายถึงฐานะของผู้ปกครองบ้านเมือง ละเอียดยิ่งขึ้นว่า
……ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องสามารถยึดประชาชนไว้ได้ ผู้ปกครองบ้านเมืองจะยึดประชาชนไว้ได้อย่างไร? ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องมีความชำนาญในการบำรุง เลี้ยงดู ปกครอง ใช้ และป้องกันประชาชนของตน ผู้ปกครองบ้านเมืองผู้มีความชำนาญในการบำรุงเลี้ยงดูประชาชน จะได้รับจากประชาชน ผู้ปกครองบ้านเมือง ผู้มีความชำนาญในการปกครอง จะได้รับการยกย่องจากประชาชน ผู้ปกครองบ้านเมืองผู้มีความชำนาญในการใช้ประชาชน จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนผู้ปกครองบ้านเมือง ผู้มีความชำนาญในการป้องกันประชาชนจะได้รับการสรรเสริญจากประชาชน ผู้ปกครองบ้านเมืองผู้มีความชำนาญในเรื่องสี่ประการนี้ ย่อมจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน นี้คือเหตุผลที่ทำให้ผู้ปกครองบ้านเมืองสามารถยึดประชาชนไว้ได้….ในทางตรงข้ามกัน ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองปราศจากความชำนาญสี่ประการนี้ ก็จะถูกประชาชนละทิ้ง

ประโยคสุดท้าย แสดงถึงอคติของซุ่นจื๊อในเรื่องของการเมือง ซุ่นจื๊อมีทรรศนะเหมือนเม่งจื๊อ คือสนับสนุนความคิดที่ว่าประชาชนมีสิทธิที่จะต่อต้านผู้ปกครองบ้านเมือง ผู้ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในอุดมคติทั้งสี่ประการนี้

…..ผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นเสมือนหนึ่ง เรือ ประชาชนเป็นเสมือนหนึ่งน้ำ น้ำย่อมพยุงเรือให้แล่นไปได้ ขณะเดียวกันน้ำก็อาจทำให้เรือคว่ำได้เช่นกัน

ที่จริงแล้ว ความชำนาญในเรื่องสี่ประการนี้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบอันสำคัญให้แก่ผู้ปกครองบ้านเมือง ซุ่นจื๊อได้กำหนดให้ผู้ปกครองบ้านเมืองมีฐานะอันสูงเป็นพิเศษ แต่ความมุ่งหมายอันแท้จริงซุ่นจื๊อนั้นคือ การกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบให้แก่ผู้ปกครองบ้านเมือง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความคิดของซุ่นจื๊อในเรื่องนี้ สอดคล้องกันได้เป็นอย่างดี กับทฤษฎีการปกครองในปัจจุบันที่ว่า การปกครองนั้นต้องเป็นไปตามความยินยอมของประชาชนผู้มีสิทธิทุกประการที่จะเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการปกครองได้ทุกเมื่อ ถ้าหากว่าการปกครองนั้นเป็นอันตรายและนำมาซึ่งความหายนะแก่สังคม

ซุ่นจื๊อ มีทรรศนะที่เสียดสีสังคมของมนุษย์ที่เป็นแบบธรรมชาติว่า เป็นสังคมที่ป่าเถื่อนเป็นสังคมแห่ง “นกและสัตว์ร้าย” เป็นสังคมที่มีแต่สภาพที่เต็มไปด้วยการต่อสู้แก่งแย่งกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ซุ่นจื๊อ จึงกล่าวว่า เราจำเป็นจะต้องมีครูเพื่อเป็นผู้แนะนำ และมีกฎหมายเพื่อคอยควบคุมธรรมชาติอันชั่วช้าสามานย์ของมนุษย์ โดยวิธีการของการศึกษาและวิธีการทางกฎหมายเท่านั้น ที่จะสามารถปลูกฝังความสุภาพอ่อนโยนแก่กันและกัน สร้างความประณีตสวยงามของชีวิตและสถาปนาสังคมที่มีระเบียบ มีความสุขสงบขึ้นได้ นี้คือเหตุผลที่ว่าเราจำเป็นต้องมีการปกครองและสถาบันทางสังคม อย่างไรก็ตาม ซุ่นจื๊อก็ยังคงยึดมั่นอยู่ในธรรมเนียมประเพณีของปรัชญาขงจื๊ออยู่ โดยถือว่าประชาชนนั้นมีความสำคัญเป็นที่สุดส่วนผู้ปกครองแผ่นดินนั้นมีความสำคัญน้อยกว่าประชาชน เพราะฉะนั้น เวลาที่ซุ่นจื๊อกล่าวสรรเสริญผู้ปกครองแผ่นดินนั้นเขามีความหมายเพียงแต่กล่าวว่า ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้นมีหนทางที่จะทำให้เกิดการปกครองบ้านเมืองที่ดีได้เท่านั้น

ที่ใดมีหนทาง  ที่นั้นก็มีรัฐ
ที่ใดไม่มีหนทาง  ที่นั้นไม่มีรัฐ

หนทางแห่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้น มีกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

จงใช้บุคคลที่เป็นคนดี และมีความสามารถ
จงส่งเสริมบุคคลที่มีความสุจริตและน่าเคารพนับถือ
loy
จงสนับสนุนบุคคลที่มีความเคารพรักใคร่ในบิดามารดา และมีความรักในพี่น้องของตน
จงเลี้ยงดูเด็กกำพร้า และหญิงหม้าย
จงช่วยบรรเทาทุกข์คนขัดสนและยากจน

ถ้าได้ประกอบกิจการงานเหล่านี้แล้ว ประชาชนจะพอใจการบริหารบ้านเมือง เมื่อประชาชนพอใจในการบริหารบ้านเมือง ผู้ปกครองแผ่นดินก็จะปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบและปลอดภัย เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ปกครองแผ่นดินปรารถนาความสงบและความปลอดภัย เขาจะบริหารบ้านเมืองด้วยความเที่ยงธรรม ด้วยความรักมีแก่ประชาชน ถ้าผู้ปกครองแผ่นดินปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองและเกียรติยศ เขาจะต้องยกย่องบุคคลผู้มีความรู้ ด้วยการประกอบพิธีการ และถ้าผู้ปกครองแผ่นดินต้องการความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย เขาจะต้องใช้บุคคลที่เป็นคนดี และมีความสามารถนี้คือ คุณธรรมที่สำคัญของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

หลักจริยธรรมส่วนบุคคล กับนโยบายของบ้านเมืองนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กัน ซุ่นจื๊อปรารถนาจะให้ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินปกครองบ้านเมืองด้วยการมีจริยานุวัตรอันประเสริฐมากกว่าการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อน แท้ที่จริงแล้ว คติความคิดอันนี้ไม่ใช่ความคิดที่เป็นลักษณะเฉพาะของซุ่นจื๊อ เพราะว่าทั้งของขงจื๊อและเม่งจื๊อต่างย้ำความสำคัญของจริยานุวัตรอันดีงามของผู้ปกครองบ้านเมืองว่าเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในการปกครองบ้านเมืองให้ประสบความสำเร็จได้ ดังที่เราได้ทราบมาแล้ว นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ต่างไม่เห็นด้วยกับวิธีการปกครองที่ใช้อำนาจ และต่างก็ถือว่า บุคคลที่อยู่ในอำนาจปกครองบ้านเมืองนั้น ควรกระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจของตน ทั้งสองท่านยกคำกล่าวดังนี้มาอ้างว่า

“ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้นคือลม
ประชาชนสามัญธรรมดานั้นคือหญ้า
และหญ้าต้องลู่ไปตามลม”

แต่ซุ่นจื๊อ ถึงแม้จะยอมรับในคุณค่าของคุณธรรมว่าเป็นสิ่งดีงามที่แสวงหาได้มาทีหลัง และถือว่าเป็นสิ่งที่ควรแสวงหาอยู่นั้น ในขณะเดียวกันเขาก็มีความเข้าใจในธรรมชาติด้านเลวทรามของมนุษย์ด้วยเหตุผลอันนี้ นอกเหนือไปจากระบบการจัดการศึกษาโดยการจัดให้มีจารีตประเพณีและดนตรีแล้ว ซุ่นจื๊อกล่าวว่า มนุษย์ยังต้องการครูอาจารย์เพื่อสอนตนให้รู้จักบำรุงรักษาคุณธรรม และยังต้องการกฎหมายเพื่อยับยั้งธรรมชาติอันเลวทรามของตน ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าตัวอย่างจะเป็นสิ่งที่น่านิยมนับถือ และเป็นสิ่งจำเป็นแล้วก็ตาม การมีกฎหมายบังคับควบคุมและอิทธิพลของหลักศีลธรรมก็ยังมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน โดยการบังคับควบคุมของกฎหมายและหลักของศีลธรรมอย่างนั้นเท่านั้น ที่มนุษย์จะหวังได้ว่าจะเอาชนะธรรมชาติอันเลวทรามของตน ที่โน้มน้อมไปในทางที่จะก่อความรุนแรงและความไม่สงบอยู่ตลอดเวลาได้

ซุ่นจื๊อ มีทรรศนะเหมือนเม่งจื๊อ โดยถือว่า ประชาชนผู้มีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจดี มีความสันโดษ และมีความสุขนั้นเป็นพื้นฐานของการปกครองบ้านเมืองที่ดี

หนทางที่จะส่งเสริมเพิ่มพูนความสุขสมบูรณ์ของรัฐนั้นประกอบด้วยการมัธยัสถ์ในเรื่องการใช้จ่าย การส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และการจัดสรรผลิตผล ให้กระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง

ในเรื่องวิธีการเฉพาะกรณีนั้น ซุ่นจื๊อมีความมุ่งหมายให้ลดการเก็บภาษีประชาชนอย่างหนักลง เพื่อเป็นวิธีการบรรเทาสภาพอันน่าเวทนาของประชาชน และให้เพิ่มผลผลิตขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรของบ้านเมือง นอกจากนั้น ซุ่นจื๊อยังเผยแพร่ความคิดเห็นเรื่องความสำคัญในการให้การศึกษาด้านเกษตรกรรมเพื่อปรับปรุงวิธีการและความชำนาญในการผลิตทางการเกษตร

จงจัดให้มีการสำรวจสภาพของพื้นดิน
จงศึกษาดูลักษณะของดิน
จงทดสอบเมล็ดข้าวกล้าห้าชนิด
ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงวิธีการของการทำกสิกรรม และเพื่อรักษาผลิตผลทางกสิกรรมให้ได้ผลดี เมื่อได้กระทำเช่นนี้ในวิธีการที่เหมาะสมแล้ว ชาวกสิกรทั้งหลายจะมีความขยันขันแข็งและพอใจในงานของตน

การประกันความเจริญมั่งมีของประชาชนนั้น เป็นข้อกำหนดขั้นแรกของซุ่นจื๊อ ที่จะนำไปสู่การปกครองบ้านเมืองที่ดี กลุ่มชนบางกลุ่มควรจะมีการจำกัดจำนวน

เมื่อมีข้าราชการมากเกินไป บ้านเมืองก็จะยากจนลง
เมื่อมีพ่อค้าและช่างมากเกินไป บ้านเมืองก็จะยากจนลง

มีข้อความปรากฏอยู่อีกแห่งหนึ่งว่า ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ดินไปในการเพาะปลูกและการผสมสัตว์เลี้ยง

โดยการดูแลและเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม สัตว์หกชนิดจะเจริญแพร่หลาย โดยการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ โดยการบริหารบ้านเมืองอย่างเหมาะสม ประชาชนพลเมืองจะสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี้คือวิธีการที่กษัตริย์นักปราชญ์ในสมัยโบราณได้กำหนดไว้  ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้ปกครองบ้านเมืองในปัจจุบันควรจะสนับสนุน….ฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูของการไถ ฤดูร้อนเป็นฤดูของการปลูก ฤดูใบไม้ร่วงเป็นฤดูของการเก็บเกี่ยว และฤดูหนาวเป็นฤดูของการเก็บรักษา ถ้าฤดูกาลทั้งสี่ไม่มีอะไรผิดปกติ พืชพันธุ์ธัญญาหารก็จะอุดมสมบูรณ์ ประชาชนก็จะมีอาหารสำหรับบริโภคอย่างเหลือเฟือ ถ้าแม่น้ำและหนองบึงได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เต่าและปูปลาก็จะมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ และประชาชนก็จะมีสิ่งเลี้ยงดูชีวิตอย่างเหลือเฟือ ถ้าการตัดไม้และการปลูกไม้ได้กระทำเหมาะสมกับกาลเวลา ต้นไม้และป่าไม้ก็จะไม่ถูกทำลาย และประชาชนก็จะมีไม้กระดานใช้อย่างอุดมสมบูรณ์

บทวิจารณ์
ในบรรดาผลงานที่เกิดจากปรัชญาที่ขงจื๊อได้วางรากฐานไว้นั้น เม่งจื๊อและซุ่นจื๊อจัดว่าเป็นผู้มีผลงานเป็นชั้นผู้นำ บุคคลทั้งสองนี้ต่างเคารพนับถือปรมาจารย์ขงจื๊อ ว่าเป็นอาจารย์และเป็นแบบฉบับของตน บุคคลทั้งสองต่างสนใจในเรื่องการปกครองบ้านเมืองที่ดี และย้ำความสำคัญของเศรษฐกิจว่าเป็นรากฐานของสังคม ถึงแม้จะมีความคล้ายคลึงกันดังกล่าวมานี้ แต่ก็มีทรรศนะหลายประการที่บุคคลทั้งสองแตกต่างกันอย่างมากมาย อุปนิสัยใจคอของบุคคลทั้งสองแตกต่างกัน ซุ่นจื๊อเป็นคนสุขุม มีวิจารณญาณ พิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างใจเย็น ส่วนเม่งจื๊อเป็นคนเปิดเผยอย่างเผ็ดร้อน มีความคิดรุนแรงและใจร้อน ความแตกต่างในบุคลิกภาพของบุคคลทั้งสองแผ่ขยายไปถึงงานนิพนธ์และคำสอนของเขาด้วย บทนิพนธ์ของเม่งจื๊อ มีลีลาภาษาที่ไพเราะ มีเหตุผลโต้แย้งน่าฟัง ส่วนบทนิพนธ์ของซุ่นจื๊อมีลีลาภาษาที่สง่า มีข้อโต้แย้งที่เป็นหลักเหตุผลมากกว่า

เม่งจื๊อ เชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีมาแต่กำเนิด ฉะนั้นจึงมีคำสอนว่าการปฏิบัติตามหลักคุณธรรมนั้นเป็นการแสดงออกซึ่งธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จากเหตุผลข้อนี้ การปลูกฝังบุคลิกภาพของบุคคลจึงไม่ขึ้นอยู่กับการระงับพฤติกรรมที่แสดงออกมาของบุคคล แต่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาจิตใจด้านในของบุคคล เป็นประการสำคัญ ตามหลักอันนี้เม่งจื๊อจึงถือว่า การปกครองบ้านเมืองที่ดีนั้น ต้องอาศัยการบริหารงานที่ดี และย้ำความสำคัญที่จะต้องมีการปลูกฝังหลักศีลธรรมให้แก่ชนชั้นปกครองเป็นพิเศษ

ส่วนซุ่นจื๊อนั้นถือว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเลวทรามมาแต่กำเนิด เพราะฉะนั้นจึงมีความเห็นว่าควรจะมีการอบรมบ่มนิสัยอันเลวทรามนี้ให้ดีขึ้น เขากล่าวว่า มาตรฐานของความประพฤติอันเหมาะสมนั้นจะพบได้ในหลักของการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในจารีตประเพณี นี้คือความแตกต่างอันสำคัญระหว่างเม่งจื๊อกับซุ่นจื๊อ เม่งจื๊อถือว่าจารีตประเพณีเป็นการส่งเสริมมนุษยธรรมที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ แต่ซุ่นจื๊อถือว่าจารีตประเพณีเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะกล่อมเกลาธรรมชาติอันเลวทรามของมนุษย์ ที่จริงแล้ว ซุ่นจื๊อเป็นผู้ย้ำความสำคัญของจารีตประเพณีที่มีต่อศีลธรรมของมนุษย์ เขาอ้างว่าจารีตประเพณีไม่แต่เพียงให้หลักเกณฑ์ที่สนองตัณหาของมนุษย์เท่านั้นไม่ แต่ยังเป็นเครื่องกล่อมเกลาและยกระดับของอารมณ์ของมนุษย์ให้สวยงามและสูงขึ้นอีกด้วย จารีตประเพณีตามทรรศนะของซุ่นจื๊อแล้ว หมายถึง สิ่งที่เป็นพื้นฐานอันสำคัญอย่างยิ่งของชีวิตมนุษย์

ข้อขัดแย้งระหว่างความอิสระของบุคคลกับสวัสดิภาพของส่วนรวม ที่เป็นปัญหาที่มีมานานแล้วนั้น จะทำให้เราเข้าใจคุณค่าของทรรศนะของซุ่นจื๊อได้เป็นอย่างดี ทั้งสาวกของปรัชญาขงจื๊อ และผู้นิยมในปรัชญานิติธรรม มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องนี้ ขงจื๊อและสานุศิษย์ของขงจื๊อมีความเห็นว่า ประชาชนควรจะถูกปกครองโดยจารีตประเพณีและหลักศีลธรรมมากกว่า ดดยการใช้กฎหมายและการลงโทษ

ถ้าบุคคลถูกควบคุมโดยกฎหมาย และทุกคนถือว่าจะต้องถูกโทษทัณฑ์โดยเท่าเทียมกันแล้ว บุคคลอาจจะไม่กระทำความผิดอันใด แต่เขาจะขาดความรู้สึกในเรื่องความละอายต่อการทำความชั่ว แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าประชาชนถูกควบคุมโดยหลักศีลธรรมและถือว่าทุกคนอยู่ในหลักของศีลธรรมโดยเท่าเทียมกันแล้ว ความรู้สึกละอายต่อการทำความชั่วจะเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจของบุคคลให้ดีขึ้น

ส่วนนักปรัชญาสำนักนิติธรรม (Legalists) นั้น มีความคิดเห็นสนับสนุนเรื่องของกฎหมาย และการมีการปกครองที่ใช้อำนาจ ว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่ซุ่นจื๊อ ดูเหมือนจะเป็นบุคคลที่ประณีประนอมทรรศนะทั้งสองโดยให้ทรรศนะว่ากฎหมายนั้นเป็นระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรและจารีตประเพณีนั้น  เป็นระเบียบทางภาคปฏิบัติของกฎหมายตามคำสอนของซุ่นจื๊อ กฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจบังคับใช้ได้ผลดี ถ้าหากประชาชนไม่ปฏิบัติตนตามจารีตประเพณีที่ดี จารีตประเพณีและกฎหมายถึงเป็นสิ่งอนุเคราะห์เกื้อกูลกัน ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและในการปลูกฝังคุณธรรมของบุคคล ด้วยเหตุนี้ ซุ่นจื๊อ ได้พยายามสร้างรูปแบบทางวัฒนธรรมสากลขึ้นเพื่อเป็นโครงสร้างของสังคมของมนุษย์

สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้น ขณะที่ขงจื๊อประกาศความคิดเรื่องเหยิน หรือมนุษยธรรม ว่าเป็นคุณธรรมอันสำคัญยิ่งของชีวิตนั้น เม่งจื๊อถือเอา หยี หรือ การประพฤติตามหลักศีลธรรม ว่าเป็นหลักคุณธรรมอันสำคัญเทียบได้กับเหยิน ส่วนซุ่นจื๊อนั้น ย้ำความสำคัญของหลี หรือ “จารีตประเพณี” ว่าเป็นคุณธรรมอันสำคัญที่จะค้ำจุน เหยิน และเป็นภาคปฏิบัติของ หยี ด้วยเหตุนี้ เหยิน หยี และหลี จึงรวมกันเป็นคุณธรรมสามประการของคำสอนของขงจื๊อ คุณธรรมสามประการนี้เป็นมาตรฐานของการประพฤติปฏิบัติที่ประชาชนชาวจีนยึดถือมาเป็นเวลาหลายพันปี คุณธรรมทั้งสามประการนี้ แต่ละอย่างเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างยิ่งและต่างก็มีความสำคัญแก่คุณธรรมอีกสองประการนั้นเป็นอย่างมาก เหยิน เป็นคุณธรรมขั้นปฐมของชีวิต เป็นเครื่องนำไปสู่การกระตุ้นบุคคลให้พยายามกระทำคุณงามความดีเพื่อบุคคลอื่น หยี เป็นคุณธรรมอันดับถัดมาเป็นเครื่องอนุเคราะห์ เหยินในฐานะที่เป็นหลักธรรมอันสูงสุดที่แสดงออกมาในรูปของการกระทำของมนุษย์ และหลี เป็นการแสดงออกให้ปรากฏซึ่งความรู้สึกในทางด้านจริยธรรม เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่ เหยิน และ หยี ทำให้การประพฤติ ปฏิบัติของมนุษย์ทั้งหมดกลมกลืนกันทั้งด้านเหตุผลและด้านระเบียบ ประกอบกันเป็นวิหารแห่งคุณธรรมของขงจื๊ออันสมบูรณ์

ประการสุดท้าย ที่จะต้องระลึกอยู่เสมอคือ ปรัชญาของขงจื๊อและซุ่นจื๊อนั้นมีลักษณะเด่นคือหลักจริยธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อความสัมพันธ์ในทางสังคมและหน้าที่ของพลเมืองดี ถึงแม้ว่าในหนังสือบทนิพนธ์ของซุ่นจื๊อ จะมีบทหนึ่งว่า “เรื่องของสวรรค์” แต่วัตถุประสงค์ของบทนั้นก็หาใช้เป็นการยกย่องความลึกลับสิ่งที่เหนือธรรมชาติแต่อย่างใดเลย แต่เป็นการปฏิเสธการมีอยู่ของตัวตนที่เป็นวิญญาณ ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่รอรับพิธีการบูชาเส้นสรวงทั้งปวงจากมนุษย์ สำหรับซุ่นจื๊อ สวรรค์ไม่มีรูปร่างลักษณะเป็นบุคคล สวรรค์นั้นเป็นแต่เพียงกฎแห่งธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เล่าจื๊อเรียกว่า เต๋า ความคิดของซุ่นจื๊อตามทรรศนะนี้ทำให้มนุษย์สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเอง และเป็นทรรศนะที่ท้าทายมนุษย์ให้สร้างตนให้เป็นนายของธรรมชาติ

ถ้ามีการปลูกฝังวิธีการแห่งการดำรงชีวิตอันถูกต้องแล้ว สวรรค์ก็ไม่อาจบันดาลเคราะห์กรรมอันเลวร้ายให้แก่มนุษย์ได้ น้ำท่วม ความแห้งแล้งก็ไม่อาจสร้างความอดอยากให้เกิดขึ้นได้ ความร้อนจัด หนาวจัดก็ไม่อาจสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นได้ พลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ก็ไม่อาจสร้างความหายนะอื่นใดให้ได้

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ถ้ามนุษย์ละเลยหน้าที่ของตนแล้ว สวรรค์ก็ไม่อาจจะช่วยมนุษย์ได้เลยในการปฏิเสธความเชื่อเรื่องสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาตินี้ ซุ่นจื๊อได้สร้างปรัชญาขงจื๊อให้เห็น ปรัชญามนุษยธรรมแบบธรรมชาตินิยม (naturalistic humanism) อันสมบูรณ์ขึ้นได้สำเร็จการสร้างวิชาปรัชญาขงจื๊อให้เป็นปรัชญามนุษยธรรมแบบธรรมชาตินิยมนี้คือ ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของผลงานทางปรัชญาของซุ่นจื๊อ

ที่มา:สกล  นิลวรรณ