ทฤษฎีแห่งความรู้ของซุ่นจื๊อ

Socail Like & Share

ตอนเริ่มต้นของทฤษฎีแห่งความรู้นั้น ซุ่นจื๊อชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่สัมผัสได้ กับ สัจภาวะที่เป็นตัวตนของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง เขาถือว่ามีแต่เพียง “ปรากฏการณ์” อันเดียว หรือ แบบอันเดียวเท่านั้นที่เป็นปรากฏการณ์อันแท้จริงของสิ่งนั้น ส่วนปรากฏการณ์อื่นๆ นั้น เป็นแต่ภาพลวงตา กล่าวคือ เป็นปรากฏการณ์ของปรากฏการณ์ที่เป็นลักษณะอันแท้จริงของสิ่งนั้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ม้าหิน นอกจากปรากฏการณ์อันเดิมที่เป็นม้าหินแล้ว อาจจะปรากฏรูปคล้ายเสือก็ได้ ต้นไม้นอกจากปรากฏการณ์อันเดิมที่เป็นต้นไม้แล้ว อาจจะปรากฏรูปคล้ายกับคนก็ได้ แต่ภาพที่ปรากฏเป็นเสือหรือเป็นคนนั้นเป็นแต่เพียงภาพลวงตาที่เกิดจากจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่สภาพอันแท้จริงของสิ่งที่เป็นเนื้อแท้ของม้าหินหรือของต้นไม้ แต่เป็นภาพที่สะท้อนปรากฏขึ้นในจิตใจ อันแท้จริงของสิ่งที่เรามองดู

ขณะที่บุคคลมีความสงสัยและมีจิตใจเลื่อนลอย เขาจะมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายนอกกายของเขาได้ไม่ชัดเจน เพราะว่าถ้าความคิดของเขาไม่ชัดเจน เขาก็ไม่อาจพิจารณาได้ว่าอะไรเป็นความจริง อะไรเป็นภาพลวงตา ขณะที่บุคคลยืนอยู่ในระยะที่ห่าง เขามองเห็นม้าหินเป็นเสือ และมองเห็นต้นไม้เป็นคน เพราะว่าสายตาของเขาถูกปิดบัง
คนเมา เดินข้ามเหวลึกเหมือนกับว่าเหวลึกนั้นเป็นคูแคบๆ
คนเมา ก้มตัวลอดเข้าประตูเมือง คล้ายกับว่าประตูเมืองเป็นประตูห้องนอนส่วนตัว
เพราะว่าสุราทำให้จิตใจของเขาสับสน
ถ้าบุคคลหรี่ตามอง เขาจะมองเห็นของชิ้นเดียวเป็นของสองชิ้น
และถ้าเขาปิดหูฟัง เขาอาจจะถือเอาความเงียบเป็นเสียงฟ้าร้องก็ได้ เพราะว่าสิ่งภายนอกเหล่านั้นปิดบังอวัยวะประสาทสัมผัสของเขา

ด้วยเหตุนี้ ปรากฏการณ์นั้นคือสิ่งที่ปรากฏขึ้นในโลกของปรากฏการณ์ และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของปรากฏการณ์นั้น คือ โลกของความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เป็นสัจภาวะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะมองเห็นได้ในทางประสาทสัมผัส แต่เป็นสิ่งที่อาจรู้ได้โดยทางจิตความคิดในเรื่องนี้ของซุ่นจื๊อนั้นคล้ายคลึงกับทรรศนะของเฮเกล (Hegel) ประการที่ว่า บุคคลทั้งสองต่างมีทรรศนะว่าสัจภาวะนั้นมีอยู่ในระดับอันหนึ่ง แต่ทั้งสองท่านแปลความหมายของระดับอันหนึ่งนี้แตกต่างกัน สำหรับเฮเกลนั้น ระดับของสัจภาวะนั้น คือ ระดับของเหตุผล ซึ่งมีโลกแห่งปรากฏการณ์เป็นแต่เพียงภาพสะท้อนของจิตเท่านั้น ในทรรศนะเช่นนี้ เฮเกลเป็นแต่เพียงผู้มีทรรศนะทางอภิปรัชญา เป็นนักจิตนิยม แต่สำหรับซุ่นจื๊อนั้น ระดับของสัจภาวะนั้นคือระดับของสิ่งทั้งหลายที่มีตัวตน เป็นสัจภาวะที่มีสภาพแห่งความเป็นอยู่ของตน และมีความสำคัญของตนเองเป็นอิสระจากจิต ในทรรศนะเช่นนี้ ซุ่นจื๊อเป็นนักสัจนิยม

สิ่งที่มีอยู่ในบุคคลที่เขาใช้เป็นเครื่องรับรู้นั้นคือความสามารถในการรับความรู้ สิ่งที่มีอยู่ในความสามารถในการรับความรู้ ที่สอดคล้องกับสิ่งภายนอกตัวนั้นเรียกว่า ความรู้

ความสามารถในการรับความรู้นั้นประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือสิ่งที่ซุ่นจื๊อเรียกว่า “อวัยวะแห่งสวรรค์” ได้แก่ ประสาทหูและประสาทตา ส่วนที่สองคือ จิต หน้าที่ของส่วนแรกนั้นเขากล่าวว่า

บุคคลจะมองเห็นความคล้ายคลึงกันและความแตกต่างกันได้อย่างไร?
…..ได้โดยทาง “อวัยวะแห่งสวรรค์” ประสาทตาเป็นเครื่องจำแนกรูปและสีให้แตกต่างกัน ประสาทหูเป็นเครื่องจำแนกเสียงให้แตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ของ “อวัยวะแห่งสวรรค์” คือการรับรู้การสัมผัสที่ได้รับจากสิ่งภายนอก

สำหรับหน้าที่ของจิต นั้นซุ่นจื๊อ กล่าวว่า

จิตเป็นผู้ให้ความหมายแก่สิ่งที่มากระทบประสาทสัมผัส
….อวัยวะแห่งสวรรค์ เป็นตัวรับรู้การสัมผัส และจำแนกการสัมผัส แล้วหลังจากนั้น จิตจะเป็นผู้ให้ความหมายแก่สิ่งที่มากระทบประสาทสัมผัส เมื่ออวัยวะแห่งประสาททั้งห้ารับการสัมผัส แต่ไม่สามารถจะให้ความหมายได้ เช่นนี้อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีความรู้เกิดขึ้นเลย

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง จิตนั้นรับความรู้ได้ก็เฉพาะแต่เมื่อภายหลังจากที่ “อวัยวะแห่งสวรรค์” ได้สะสมการสัมผัสที่ได้จากวัตถุภายนอกแล้วเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ซุ่นจื๊อ จึงมีความเห็นว่า ความสามารถของจิตในการรับความรู้นั้น ไม่ใช่เป็นความสามารถที่มีอยู่ในจิตใจมาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่ได้มาภายหลังและสามารถเพิ่มพูนขึ้นได้จากประสบการณ์ ตัวอย่างสามัญธรรมดาคือ เมื่อเด็กมองเห็นไฟจะเอื้อมมือไปสัมผัสไฟ เพราะว่าจิตใจของเด็กในตอนแรกนั้นยังไม่มีความรู้ว่าไฟนั้นจะไหม้นิ้วมือ หลังจากที่ได้ลองสัมผัสกับไฟแล้ว จิตใจของเด็กจะมีความรู้ในเรื่องไฟไหม้นิ้วมือขึ้น ในฐานะที่ซุ่นจื๊อ มีความเห็นว่าความรู้ของมนุษย์นั้นเริ่มต้นด้วยประสบการณ์ หรือการสัมผัสที่ประสาททั้งห้าสะสมขึ้นไว้นั้น อาจถือเอาได้ว่า ซุ่นจื๊อเป็นนักประสบการณ์นิยม (Empiricism)

ยิ่งไปกว่านั้น ตามี่ได้ให้ข้อสังเกตไว้ข้างต้นว่า จิตใจนั้นมักจะถูกบดบังด้วยตัณหา เพราะฉะนั้น การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรับรู้ความรู้ทั้งปวง เมื่อได้ควบคุมตัณหาแล้ว จิตใจจะแจ่มใสและสามารถรับเอาความรู้ ในความหมายที่เป็นลักษณะอันแท้จริงของความรู้นั้นได้ ซุ่นจื๊อได้ให้อุทธาหรณ์ในเรื่องนี้ไว้ดังนี้

จิตของคนนั้นอาจเปรียบได้กับน้ำ เมื่อสงบนิ่ง ฝุ่นจะตกตะกอนนอนอยู่ก้นบึ้ง ผิวน้ำจะใสสะอาด ในสภาพเช่นนั้นเท่านั้น ที่ภาวะลักษณะอันแท้จริงของเราจะสะท้อนเงาปรากฏในผิวน้ำได้ แต่เมื่อมีกระแสลมเบาๆ พัดผ่านเหนือผิวน้ำ ฝุ่นที่ตกตะกอนจะกระพือขึ้นทำให้ผิวน้ำขุ่น ผลก็คือภาวะลักษณะอันแท้จริงของสิ่งทั้งหลายก็ไม่อาจสะท้อนเงาปรากฏขึ้นบนผิวน้ำนั้นได้ฉันใด จิตก็มีสภาพเช่นนั้น….ถ้าหากจิตไม่แจ่มใส เพราะถูกรบกวนจากสิ่งภายนอก จิตก็ไม่สามารถมองเห็นความจริงกับความไม่จริงได้

วัตถุประสงค์อันสูงสุดของความรู้คือ การแสวงหา เต๋า อันเป็นสิ่งที่ประเสริฐและประณีต คำว่า เต๋า ในภาษาจีนนั้นเหมือนคำว่า “way-ทาง” ในภาษาอังกฤษซึ่งมีความหมายเป็นสองนัย คือ หมายถึง “หนทางที่ก้าวเดินก้าวไปข้างหน้า” หรือ “สัจธรรม” ก็ได้ซึ่งตรงกันกับภาษากรีกว่า logos คติความคิดเรื่องเต๋านี้เป็นคติความคิดที่เป็นหลักมูลฐานในวรรณกรรมโบราณของจีน มีปรากฏทั้งในบทนิพนธ์ของสำนักปรัชญาขงจื๊อ และในบทนิพนธ์ของเล่าจื๊อและจวงจื๊อ คำว่าเต๋า ตามความหมายของเล่าจื๊อและจวงจื๊อนั้นหมายถึง “วิถีทางแห่งธรรมชาติ” อันเป็นตัวแทนของสัจธรรมอันสูงสุด พวกนักปราชญ์ขงจื๊อให้คำว่า เต๋า ในความหมายของ “วิถีทางแห่งมนุษยธรรม” อันเป็นวิถีทางที่ธรรมชาติของมนุษย์ควรจะแสดงตนออกมาให้ปรากฏ ยกตัวอย่างเช่น ในบทนิพนธ์เรื่อง จวงจื๊อ หรือคำสอนเรื่องทางสายกลาง ซึ่งสันนิษฐานว่าจื๊อ-ซู่ (Tzu-ssu:492-431 ก.ค.ศ.) ซึ่งเป็นหลานของขงจื๊อเป็นผู้นิพนธ์นั้นเราอ่านพบข้อความว่า

สิ่งที่สวรรค์ประทานให้นั้นเรียกว่าธรรมชาติ
สิ่งที่คล้อยตามธรรมชาตินั้นเรียกว่า เต๋า
สิ่งที่ทะนุบำรุงเต๋านั้น เรียกว่า วัฒนธรรม

ถึงแม้ว่า หลักสากลที่ว่าด้วย เต๋า นี้ จะไม่ใช่เรื่องเฉพาะเป็นพิเศษของซุ่นจื๊อ แต่การให้ความหมายของซุ่นจื๊อ แก่เต๋านั้นมีลักษณะแตกต่างเป็นพิเศษ ซุ่นจื๊อ มีความเห็นพ้องด้วยว่าเต๋า เป็นสัจธรรมอันสูงสุดสิ่งเดียว ที่คงสภาพอยู่ชั่วนิรันดร และมีแทรกซึมอยุ่ในสรรพสิ่งทั้งปวง แต่ซุ่นจื๊อมีความเห็นว่าสำนักปรัชญาอื่นๆ นั้น มีความเข้าใจเต๋า แต่เพียงลักษณะด้านเดียวเท่านั้น จึงไม่สามารถเข้าใจสัจธรรมทั้งหมดได้ ยกตัวอย่างเช่น

ม่อจื๊อ ปิดตาตนเองด้วยประโยชน์นิยม จนละเลยเรื่องของวัฒนธรรม จวงจื๊อ ปิดตาตนเองด้วยธรรมชาตินิยม จนละเลยเรื่องของมนุษย์
จากทรรศนะของประโยชน์นิยม เต๋า ก็คือการแสวงหาผลประโยชน์จากทรรศนะของธรรมชาตินิยม เต๋า ก็คือการอยู่อย่างเสรีไม่มีกฎเกณฑ์ ความแตกต่างระหว่างทรรศนะเช่นนี้ก็เพราะเข้าใจเต๋า แต่เพียงลักษณะด้านเดียว

แต่แก่นแท้ของ เต๋า นั้นเป็นสิ่งสม่ำเสมอมั่นคงและครอบคลุมสรรพสิ่งทั้งปวง เต๋า เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะล่วงรู้ได้โดยการมองเพียงแง่เดียว บุคคลที่มีความรู้เพียงแง่เดียวก็มองเห็นเต๋าเพียงด้านเดียว ไม่อาจเข้าใจเต๋าในสภาพอันสมบูรณ์ทั้งหมดได้ เพราะฉะนั้นบุคคลเหล่านี้จึงคิดว่า ตนรู้เรื่องสิ่งทั้งหมดแล้ว เมื่อบุคคลเหล่านั้นมีความเข้าใจสับสนเช่นนั้น ก็ชักนำบุคคลอื่นให้เข้าใจสับสนตาม….นี้เป็นเคราะห์กรรมอันยิ่งใหญ่ที่เกิดจากความมืดบอดและความโง่เขลา

ถ้อยคำว่า “การปฏิบัติตนให้ตรงกับชื่อ” นั้นเป็นคำที่ขงจื๊อเป็นผู้คิดขึ้น

ขอให้เจ้าเมือง จงเป็นเจ้าเมือง
ขอให้เสนาบดี จงเป็นเสนาบดี
ขอให้บิดา จงเป็นบิดา
ขอให้บุตร จงเป็นบุตร

ชื่อทุกชื่อควรจะแสดงภาวะอันแท้จริงของประเภทของสิ่งที่ชื่อนั้นแสดงนัย หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า ชื่อทุกชื่อที่แสดงฐานะแห่งความสัมพันธ์ทางสังคมนั้น บอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบบางประการของชื่อนั้นด้วย เจ้าเมือง เสนาบดี บิดา และบุตร เป็นชื่อที่แสดงฐานะแห่งความสัมพันธ์ทางสังคมดังกล่าวนั้น  บุคคลที่เป็นเจ้าของชื่อนั้นๆ จะต้องปฏิบัติตนตามหน้าที่และความรับผิดชอบของชื่อนั้นโดยเหมาะสม ทฤษฎีแห่งการปฏิบัติตนให้ตรงกับชื่อนี้ ขงจื๊อ จำกัดให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม หรือจริยศาสตร์ ตามคำศัพท์ของตะวันตก แต่ ทฤษฎีแห่งการปฏิบัติตนให้ตรงกับชื่อของ ซุ่นจื๊อ ไม่ได้จำกัดอยู่ในขอบเขตของจริยศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นทฤษฎีที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหลักของเหตุผล หรือหลักแห่งตรรกวิทยาของทฤษฎีแห่งความรู้ ตามคำศัพท์ของตะวันตกอีกด้วย

ในเรื่องของที่มา และวัตถุประสงค์ของชื่อนั้น ซุ่นจื๊อกล่าวว่า

ชื่อ ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อแสดงถึงภาวะแห่งความเป็นจริง ประการแรก เพื่อจำแนกผู้เป็นใหญ่จากผู้น้อย และอีกประการหนึ่ง เพื่อแสดงความคล้ายคลึงกันและความแตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ ชื่อนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อแสดงความแตกต่างทางสังคมนั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพื่อแสดงความแตกต่างทางเหตุผล

เกี่ยวกับการใช้ชื่อทางเหตุผลนั้น ซุ่นจื๊อ อธิบายต่อไปว่า

ชื่อนั้นถูกกำหนดให้กับสิ่งต่างๆ สิ่งที่เหมือนกันจะถูกกำหนดให้มีชื่ออันเดียวกัน สิ่งที่แตกต่างกันจะถูกกำหนดให้กับสิ่งที่เรียบง่าย ถ้าชื่อที่เรียบง่ายใช้ไม่ได้ก็จะใช้ชื่อผสมแทน และถ้าชื่อที่เรียบง่ายและชื่อที่ผสมมีความเกี่ยวข้องกันและกัน ก็จะใช้ชื่อสามัญร่วม  เพราะว่าชื่อสามัญร่วมกันนั้นไม่ทำให้เกิดความยุ่งยาก บุคคลที่รู้ว่าสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกันนั้น มีชื่อแตกต่างกัน และบุคคลที่พูดถึงสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกันด้วยการใช้ชื่อที่แตกต่างกันนั้น จะไม่ประสบความสับสนเลย ทำนองเดียวกัน บุคคลที่กล่าวถึงสภาพความเป็นอันเดียวกันก็ไม่ควรใช้ชื่ออื่น ที่แตกต่างไป นอกจากชื่ออันเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าสิ่งทั้งหลายจะมีจำนวนมากมาย นับไม่ถ้วนก็ตามแต่สิ่งเหล่านี้ ก็จะถูกระบุชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ คือ บางครั้งเราอยากจะกล่าวถึงสิ่งทั้งหลายว่าเป็นสิ่งทั่วไป เพราะฉะนั้นคำว่า สิ่งทั้งหลายจึงเป็นชื่อทั่วไป ซึ่งเป็นชื่อที่กว้างขวาง ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างหมด บางครั้งเราต้องการจะระบุสิ่งบางชนิดที่เราเรียกว่า “นกและสัตว์” คำว่า “นกและสัตว์” เป็นชื่อใหม่เฉพาะ ซึ่งครอบคลุมเฉพาะนกและสัตว์ไม่รวมสิ่งอื่นๆ เข้าไว้

จากข้อความดังกล่าวนี้ เราอาจจะอนุมานเป็นข้อสรุปได้ดังนี้
1. ชื่ออันเดียวกันนั้นกำหนดให้ใช้แก่สิ่งชนิดเดียวกัน และชื่อแตกต่างกัน กำหนดให้ใช้ แต่สิ่งที่แตกต่างกัน

2. ชื่อที่เรียบง่าย ใช้กับสิ่งที่เรียบง่าย ชื่อผสมใช้กับสิ่งที่เป็นของผสม ตัวอย่าง เช่น “ม้า” เป็นชื่อที่เรียบง่าย แต่ถ้าม้านั้นมีสีขาว เพราะฉะนั้นจะเกิดเป็นชื่อผสมในกรณีนี้ว่า “ม้าขาว”

3. ชื่อสามัญร่วมกัน ใช้กับสิ่งที่มีลักษณะร่วมกัน ใช้ทั้งชื่อเรียบง่าย และชื่อผสม ตัวอย่างเช่น “สัตว์” เป็นชื่อสามัญร่วมกันของคำว่า “ม้า” และ “ม้าขาว”

4. ชื่อใหญ่ทั่วไปนั้น เป็นชื่อของสิ่งทั้งหลายทั่วไปที่มีขอบเขตกว้างขวาง ตัวอย่างเช่นคำว่า “สิ่งทั้งหลาย” เป็นชื่อทั่วไปชนิดใหญ่ ซึ่งรวมเอา “สัตว์ พืช และโลหะ” และสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด

5. ชื่อใหญ่เฉพาะ นั้นเป็นชื่อของ สิ่งทั้งหลายที่มีขอบเขตจำกัด ตัวอย่างเช่นคำว่า “นกและสัตว์” เป็นชื่อใหญ่เฉพาะ นกและสัตว์ ไม่รวมสิ่งอื่น

จากหลักสองประการหลังนี้ จะเห็นได้ชัดว่า ซู่จื๊อนั้นมีความคิดอันชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการทางตรรกวิทยา ในการระบุชื่อของสิ่งต่างๆ ชื่อทั่วไปเป็นผลของการใช้เหตุผลแบบสังเคราะห์ ส่วนชื่อเฉพาะเป็นผลของการใช้เหตุผลแบบวิเคราะห์

ครั้นแล้ว ซุ่นจื๊อ ได้กล่าวถึงวิธีกำหนดชื่อ และสิ่งที่ควรย้ำความสำคัญในการกำหนดชื่อต่อไปดังนี้

ชื่อไม่มีมาตรฐานอันตายตัว แต่ชื่อเกิดจากความยินยอมเห็นห้องต้องกัน ถ้าได้ตกลงกันจะใช้ชื่ออันใดแล้ว ชื่อนั้นก็จะกลายเป็นธรรมเนียม และเกิดเป็นมาตรฐานขึ้น ชื่อใดที่ไม่สอดคล้องกับความยินยอมตกลงกันแล้ว ก็เป็นชื่อที่ขัดแย้งกับมาตรฐาน ชื่อไม่มีสภาพที่เป็นจริงที่แน่นอนตายตัว ชื่อเป็นแต่เพียงผลของความยินยอมตกลงกัน…..แต่ชื่อมีความดีที่แน่นอนตายตัว ชื่อที่เข้าใจได้ง่ายเป็นชื่อที่ดี มีการจำแนกระหว่าง สิ่งที่มีชื่อคล้ายกัน แต่ต่างชนิดกัน กับสิ่งที่มีชื่อแตกต่างกัน แต่มีชนิดคล้ายคลึงกัน สิ่งที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน แต่ต่างชนิดกัน ถึงแม้ว่าจะมีชื่ออันเดียวกัน ก็แตกต่างกันในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ สิ่งที่มีชื่อแตกต่างกัน แต่เป็นสิ่งที่เป็นชนิดเดียวกันนั้น มีความแตกต่างกันก็เฉพาะการเปลี่ยนแปลงชื่อเท่านั้น เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีชื่อแตกต่างกัน ก็ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีชื่อแตกต่างกันแต่เป็นชนิดเดียวกันนั้น จึงเป็นสิ่งอันหนึ่งอันเดียวกัน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ