ปรัชญาจีนข้ามสมัย

Socail Like & Share

หลังจากสมัยของราชวงศ์โจวแล้ว ปรัชญาจีนถูกแบ่งออกเป็นสมัยต่างๆ สี่สมัยตามลักษณะของปรัชญา สมัยแรกคือ สมัยราชวงศ์จิ๋น-ราชวงศ์ฮั่น (ch’in-Han Period) เวลาประมาณศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. เป็นสมัยที่ปรัชญาจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาลัทธิขงจื๊อกำลังเสื่อม ทั้งในด้านความเข้มแข็งและในด้านความนิยม ในความหมายหนึ่ง สมัยนี้เป็นสมัยที่ย้ำความสำคัญของเอกภาพในวงการทางวิชาการ และวงการทางการเมืองนั้น เป็นผลของปฏิกิริยาที่เกิดจากความมีอิสระภาพอย่างมากมายที่มีอยู่ในตอนปลายของสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งแสดงออกเป็นลักษณะสำคัญได้แก่ “ปรัชญาร้อยสำนัก” และด้วยความคิดที่เป็นหัวใจของปฏิกริยาต่อสภาพการณ์อันนี้เอง ทำให้พระเจ้าจักรพรรดิจิ๋น ซี ฮ่อง เต้ (Ch’ih shih Huang Ti) พยายามจะเข้าควบคุมปรัชญาทั้งหลายที่มีอยู่อย่างมากมายนั้น โดยการมีบัญชาให้เผาหนังสือและตำราทั้งปวงของบรรดา “ปรัชญาร้อยสำนัก” นั้นให้หมด ยกเว้นไว้แต่ตำราที่เกี่ยวกับยารักษาโรค การพยากรณ์และการกสิกรรมเท่านั้น

ถึงแม้จะมีความเห็นพ้องด้วยกับหลักการของราชวงศ์จิ๋น ที่ว่าต้องควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้มีลักษณะเป็นแบบแผนเดียวกันให้หมดก็ตาม แต่ราชวงศ์ฮั่น ซึ่งได้ครองอำนาจต่อมาระหว่างปี 206 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 220 ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการอันรุนแรงดังที่พระเจ้าจักรพรรดิจิ๋น ซี ฮ่องเต้ ทรงปฏิบัติมา ในปี 136 ก่อน ค.ศ. ตุงจุงซู (Tung Chung-shu) ผู้มีชีวิตอยู่ในราวปี 179-104 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นนักปราชญ์คนสำคัญที่สุดในสมัยราชวงศ์ฮั่นตอนต้น ได้เสนอความเห็นแก่พระจักรพรรดิว่า ควรจะแสวงหาเอกภาพของความคิดโดยวิธีการใหม่ กล่าวคือจะต้องยกย่องปรัชญาลัทธิขงจื๊อขึ้น เพื่อทำลายปรัชญาลัทธิอื่นๆ ให้หมดไป

แตปรัชญาลัทธิขงจื๊อ ตามที่ ตุงจุงซู สนับสนุนและรับเอามาเผยแพร่ในตอนต้นของสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้น เป็นปรัชญาที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากปรัชญาที่เผยแพร่และประกาศโดยขงจื๊อและสานุศิษย์รุ่นต่อมา ปรัชญาลัทธิขงจื๊อในสมัยฮั่นนั้นเป็นปรัชญาขงจื๊อที่ผสมกับปรัชญาอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งขันของลัทธิขงจื๊อมาแต่เดิม โดยเฉพาะปรัชญาลัทธิเต๋า ปรัชญาม่อจื๊อนั้นหลังจากการปราบปรามของพระเจ้าจิ๋นแล้ว ไม่สามารถจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้และปรัชญานิติธรรมนั้นกลับตกต่ำลง ถึงแม้จะมีหลักคำสอนในทางปรัชญาการเมืองคงเหลืออยู่ในห้วงความคิดของบรรดาชนชั้นปกครองอยู่บ้างก็ตาม แต่ปรัชญาเต๋านั้น เริ่มมีอิทธิพบอยู่ในวงการของนักปกครอง จึงถึงขนาดที่ได้มีการรับเอาหลักคำสอนเรื่อง หวู เว่ย ซึ่งในเนื้อหาสาระก็คือ ทฤษฎีเสรีนิยม (Laissez faire) นั่นเอง เข้ามาเป็นนโยบายในการปกครองบ้านเมือง และความเชื่อในเรื่องลึกลับของปรัชญาเต๋า นั้นก็กลายเป็นลัทธิความเชื่อของส่วนบุคคลอันมีผู้นับถือกันอยู่มากประปราย ข้อเท็จจริงอันนี้เป็นสิ่งที่บั่นทอนและทำลายคุณลักษณะทั่วไปของปรัชญาลัทธิขงจื๊อ ที่มีอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว นักปราชญ์ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้แบ่งตนเองออกเป็นสองพวก พวกที่หนึ่งเรียกว่า “สำนักอักษรใหม่” (New Script School) เพราะเหตุที่ว่าตำราวรรณกรรมโบราณนั้นได้นำมาคัดลอกใหม่ โดยใช้ตัวอักษรที่ใช้กันอยู่เป็นปัจจุบันในสมัยนั้น อีกพวกหนึ่งนั้นมีชื่อว่า “สำนักอักษรเก่า” (Old Script School) เพราะว่าพวกนี้อ้างว่ามีตำราเก่าแต่โบราณ ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ก่อนสมัยพระจักรพรรดิจิ๋น จะมีบัญชาให้เผาตำราทั้งปวง ข้อโต้แย้งระหว่างสำนักทั้งสองนี้ กลายเป็นข้อโต้แย้งทางวิชาการที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์วรรณกรรมของจีน สาระสำคัญของความแตกต่างกันนั้นอยู่ที่ทรรศนะอันแตกต่างกัน เกี่ยวกับความสำคัญอันแท้จริงของขงจื๊อ กับลัทธิปรัชญาขงจื๊อ สำนักอักษรใหม่ถือว่าขงจื๊อนั้นคือ “กษัตริย์ผู้ไร้บัลลังก์” เป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก ตามที่มีบรรยายไว้ในวรรณกรรมที่ประพันธ์ปลอมขึ้นมาทีหลัง ส่วนสำนักอักษรเก่านั้น มีทรรศนะตรงกันข้าม โดยยืนยันความเห็นว่า ขงจื๊อเป็นแต่เพียงนักปราชญ์ ผู้สร้างความหมายให้แก่วัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีต ก่อนที่จะนำไปถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นลูกหลานต่อไป ถึงแม้ว่า ทรรศนะของสำนักอักษรใหม่นั้น ในปัจจุบันนี้จะมีลักษณะที่ไร้สาระและไม่น่าเชื่อถือ แต่ก็เป็นทรรศนะที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยราชวงศ์ฮั่น เพราะว่า สถานการณ์ทางสังคมในขณะนั้น เหมาะกับการสร้างวรรณกรรมปลอมขึ้นมาได้มาก ผลตอบแทนในทางการเงิน การโปรดปรานของพระจักรพรรดิ และความนิยมยกย่องนับถือของประชาชน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่กระตุ้นให้นักปราชญ์ผู้มีความทะเยอทะยาน ใช้ความสามารถในทางสร้างสรรค์ของตนเพื่อผลิตงานนิพนธ์ที่ดีขึ้นมาแทน ตำราที่สูญไปในรูปของตำราที่ใช้ตัวอักษรใหม่ ความกระตือรือร้นในการที่จะฟื้นฟูปรัชญาขงจื๊อ อาจจะถือเอาว่าเป็นแรงจูงใจอีกประการหนึ่งที่ชักนำนักปราชญ์ให้อยากจะแสดงความคิดเห็นของตนออกมาโดยแอบอ้างนามของขงจื๊อโดยไม่ละอายแก่ใจก็ได้ ความคิดเห็นที่เกินความจริงเกี่ยวกับขงจื๊อของสำนักอักษรใหม่นั้น น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญนอกเหนือจากสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้สำนักอักษรใหม่ต้องเสื่อมความนิยมลง ในตอนปลายของรัชสมัยราชวงศ์ฮั่น ในขณะเดียวกัน อิทธิพบของลัทธิเต๋าได้แผ่ขยายไป พร้อมกันกับอิทธิพลของพุทธศาสนา ที่เผยแพร่ จากอินเดียเข้ามาสู่ประเทศจีนในราวคริสต์ศตวรรษที่หนึ่งหรือก่อนหน้านั้น ปรัชญาจีนจึงเบ่งบานขึ้นมาใหม่ ในระยะเวลาหลังจากนั้นเป็นต้นมา

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สาม ถึงคริสต์ศตวรรษที่สิบอารยธรรมของจีนเริ่มผสมกับวัฒนธรรมของต่างประเทศ ส่วนความคิดทางปรัชญาของจีนนั้น อาจกล่าวได้ว่ามี อภิปรัชญาของลัทธิเต๋า ในสมัยราชวงศ์เว่ย-จิ๋น (Wei-Chin) ระหว่าง ค.ศ. 220-420 เรียกกันในภาษาจีนว่า ซ่วน ซื่อ (hsuan hsueh) ซึ่งแปลว่า “วิทยาการอันลึกลับ” และพุทธปรัชญาในรัชสมัยราชวงศ์สุย (Sui) ระหว่าง ค.ศ. 581-618 และในรัชสมัยราชวงศ์ถัง (T’ang) ระหว่าง ค.ศ. 618-907 ปรัชญาในสมัยดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวพันกับการเมืองน้อยมาก แต่มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อวัฒนธรรมของจีนในช่วงเวลาของสมัยดังกล่าว ปรัชญาเต๋าของจีนและพุทธศาสนาที่มาจากอินเดีย มีอิทธิพลมากกว่าปรัชญาลัทธิขงจื๊อ ที่จริงแล้ว คัมภีร์ในพุทธศาสนา ที่แปลมาสู่ภาษาจีนมีจำนวนมากมายเป็นพิเศษ จำนวนวัดและพระในพุทธศาสนาทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งต้องมีพระบรมราชโองการยับยั้งไว้ในปี ค.ศ. 845 มีวัดของพุทธศาสนาถูกทำลายลงเป็นจำนวนถึง 40,000 วัด และมีพระและนางชีถูกสึกเป็นจำนวนถึง 260,000 รูป และที่ดินจำนวนมากมายที่เป็นสมบัติของวัดต้องถูกริบ

ในเรื่องนี้ มีสิ่งที่ควรสังเกตคือ ความแตกต่างของคำว่า “พุทธศาสนาแบบจีน” (Chinese Buddhism) กับคำว่า “พุทธศาสนาในประเทศจีน” (Buddhism in China) กล่าวโดยย่อก็คือ “พุทธศาสนาในประเทศจีน” นั้นคือ พุทธศาสนานิกายจิตนิยมอัตนัย (The School of Subjective Idealism) ภาษาจีนเรียกว่า เซียง ซุง (haiang tsung) หรือ เว่ยซีซุง (wei-shih tsung) หรือภาษาสันสกฤตเรียกว่า วิชณานวาท (Vijnanavada) อันเป็นพุทธศาสนาที่ยึดตามธรรมเนียมของอินเดีย และมีบทบาทน้อยมากต่อวิวัฒนาการทางปรัชญาของจีน ส่วน “พุทธศาสนาแบบจีน” นั้น คือพุทธศาสนาแบบทางสายกลาง ภาษาจีนเรียกว่า ซัน หลุน ซุง (San-lun sung) หรือภาษาสันสกฤตว่า มัธยมิกนิกาย นั้นคือ พุทธศาสนาในรูปแบบที่ใกล้ชิดกับคติความคิดของจีน และได้เจริญงอกงามไปพร้อมๆ กับปรัชญาของจีน ความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งของพุทธศาสนานิกายมัธยมิก กับ ปรัชญาลัทธิเต๋าของจีนนั้น นำไปสู่การสัมพันธ์ที่มีผลเกิดขึ้นเป็นพุทธศาสนานิกายฌาน (Ch’an) ซึ่งเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า เซ็น (zen) หรือ นิกาย ธยาน (Dhyana School) ความคล้ายคลึงกันระหว่างปรัชญาทั้งสองนี้มองเห็นได้อย่างชัดเจน

คำภาจีนว่า ณาน (Ch’an) หรือ ฌาน-นะ (Ch’an-na) นั้น เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤษว่า ธยาน โดยปรกติแล้วจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า meditation (การภาวนาจิต) โดยรากศัพท์แล้ว ฌาน หมายถึง “การชี้ตรงไปที่จิตของมนุษย์ และการเป็นพระพุทธเจ้าโดยการมองเห็นธรรมชาติแห่งพุทธของตน” หรือ “โดยการถือเอาจิตของบุคคลว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตแห่งสากลจักรวาล” สิ่งนี้จะกระทำให้บรรลุได้ก็โดยการภาวนาจิต ลัทธิฌาน เป็นปรัชญาแห่งความเงียบ โดยย้ำความสำคัญอยู่ที่ “การถ่ายทอดชนิดพิเศษที่อยู่นอกคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์” คำสอนในเรื่องการภาวนาจิตนั้น มิได้ยึดเอาพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่ยึดเอาการบรรลุธรรม โดย “การทำให้รู้แจ้งว่าจิตของบุคคลนั้นคือ สิ่งอันเดียวกันกับจิตแห่งสากลจักรวาล” คำแปลของคำว่าจิตแห่งสากลจักรวาล (Universal Mind) นี้ อาจารย์ของนิกายฌาน ได้ให้ความหมายไว้หลายประการ แต่โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงสิ่งที่เรียกว่าความว่าง (The Void) อันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะระบุออกมาเป็นถ้อยคำ หรือรับรู้โดยทางประสาทสัมผัสอันใด ฉะนั้นการที่จะก้าวล่วงเข้าไปสู่จิตแห่งสากลจักรวาลนั้น อาจารย์ในนิกายฌาน จะสอนให้ใช้วิธีการของหวู เนียน (Wu nien) หรือ “การทำตนให้ว่างจากความคิด” หรือไม่ก็วิธีการแห่ง หวั่ง ชิง (wang Ch’ing) หรือ “การถอนตนออกจากความรู้สึก” หรือมิฉะนั้นก็ใช้วิธีการของ เหยิน ซิน (Jen hsin) หรือ “ปล่อยให้จิตเป็นไปตามวิถีทางของมัน”

ความคิดของพุทธศาสนาแบบนี้มีลักษณะหลายประการร่วมกันกับปรัชญาลัทธิเต๋า และทำให้นักเขียนตำราพุทธศาสนาในสมัยต้นๆ ใช้คำศัพท์ของปรัชญาเต๋ามาอธิบาย ความคิดของพุทธศาสนาเช่น หยิ่ว (yu) หรือ ภาวะ (being) หวู (wu) หรือ อภาวะ (nonbeing) หยิ่ว เว่ย (yu wei) หรือ การกระทำ (action) และหวูเว่ย (wu wei) หรือการไม่กระทำ (nonaction) “การตรัสรู้โดยฉับพลัน” อันเป็นสิ่งที่นำไปสู่พุทธภาวะนั้น อาจารยในพุทธศาสนานิกายฌาน มักจะเรียกว่า “นิมิตแห่งเต๋า” (vision of Tao)

สิ่งสนใจที่น่าสังเกตก็คือว่า ประโยชน์ที่สำคัญอันหนึ่งที่พุทธศาสนาให้แก่ปรัชญาจีนนั้นคือ ความคิดเรื่องจิตแห่งสากลจักรวาลตามที่สอนกันในพุทธศาสนานิยกายมหายาน วิชญาณวาท คำสอนนี้มีบทบาทอย่างสำคัญในปรัชญาขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) ที่วิวัฒน์ขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ้อง และราชวงศ์เหม็ง (The Sung-Ming period)

สมัยของราชวงศ์ซ้อง (ค.ศ.960-128) และราชวงศ์เหม็ง (ค.ศ.1368-1644) นั้นเป็นสมัยที่มีชื่อด้วยการกำเนิดของปรัชญา หลี เสว เจีย (Li Hsueh Chia) หรือปรัชญาแห่งการศึกษาเรื่องหลี ซึ่งทางตะวันตกเรียกว่า ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่นี้เป็นชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าเป็นคำที่ไม่ได้แสดงความหมายถึงการฟื้นฟูลัทธิขงจื๊ออันแท้จริงขึ้นมา นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่นั้นเป็นผู้นิยมในลัทธิขงจื๊ออย่างไม่มีปัญหา แต่การเคลื่อนไหวทางสติปัญญานั้นถูกกระตุ้นและจูงใจจากอาจารย์ในพุทธศาสนานิกายฌาน ด้วยเหตุนี้ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ จึงเป็นคล้ายกับการสรุปหรือการปรับปรุงหลักความเชื่อหลักจริยธรรม หลักศีลธรรม ที่มีมาแต่อดีต แต่หลักใหญ่ของลัทธิขงจื๊อนั้น ได้รับการผสมผสานกับหลักคำสอนของพุทธศาสนาอย่างทั่วถึงทั้งหมด เหมือนกันกับที่พุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับปรัชญาลัทธิเต๋า แล้วเกิดผลเป็น พุทธศาสนานิกายฌานขึ้นมา ปรัชญาลัทธิขงจื๊อก็ผสมผสานกับพุทธศาสนาแล้วเกิดผลเป็น ลัทธิหลี (Li-ism) หรือ ปรัชญาที่เรียกกันว่า ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism)

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพุทธศาสนากับปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่นั้น อาจจะเห็นได้จากอุทธาหรณ์ต่อไปนี้ ภาวะอันเป็นอุดมคติที่เรียกว่า นิรวาณ (หรือนิพพาน) นั้น ตามคติของพุทธศาสนาที่แท้นั้น หมายถึงภาวะของจิตใจที่มีความสงบนิ่ง แต่สำหรับปรัชญาขงจื๊อนั้น ภาวะที่มีความสำคัญอย่างที่สุดนั้นคือภาวะแห่งการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์ ยิ จิง (Yi Ching) หรือ คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงจึงประกาศว่า

การเคลื่อนไวของดวงดาว เป็นไปอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาฉันใด อุตมบุรุษก็จะพยายามปรับปรุงตนโดยไม่หยุดยั้งฉันนั้น

ในการประนีประนอมทรรศนะอันแตกต่างกันข้อนี้ นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อได้สร้างความคิดใหม่แห่ง “ความเงียบที่มีการเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจนิรันดร และการเคลื่อนไหวที่มีแต่ความเงียบอยู่เป็นนิจนิรันดร”

ในเรื่องนี้ พวกนักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ มีอุทธาหรณ์ที่ยกมาอ้างหลายเรื่อง เช่น จิตเป็นเหมือนกระจกเงานั้น เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่กระจกเงานั้นเป็นสิ่งสงบนิ่งไม่มีความรู้สึกหวั่นไหวแต่ประการใด

จิตเป็นเหมือนดวงอาทิตย์ เมฆลอยผ่านไปผ่านมาภายใต้ดวงอาทิตย์ แต่ดวงอาทิตย์อยู่คงที่ ไม่มีอาการหวั่นไหวแต่ประการใด

จิตเป็นเหมือนพื้นผิวน้ำทะเลอันเวิ้งว้าง คลื่นเกิดขึ้นบนผิวน้ำแล้วก็หายไปตลอดเวลา แต่ระดับของพื้นผิวน้ำทะเลก็ยังคงสงบนิ่ง ไม่หวั่นไหวแต่ประการใด

เพราะว่าจิตนั้นอยู่นอกขอบเขตของการเคลื่อนไหว ที่จริงแล้วจิตนั้น เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เป็นจิตที่สงบนิ่ง กับความเคลื่อนไหวนี้คือภาวะของจิตที่สูงที่สุดและดีที่สุด

ยิ่งกว่านั้น พุทธศาสนิกชน ถือว่าโลกที่เรามองเห็นอยู่นี้เป็นภาพมายา เป็นสิ่งเสกสรรปั้นขึ้นของจินตนาการ เป็นสิ่งที่ไม่มีภาวะอันแท้จริง เป็นความว่าง เป็นมหาสุญญตา แต่นักปรัชญาในลัทธิขงจื๊อกล่าวว่า โลกนี้เป็นโลกแห่งรูปธรรม มีภาวะที่แนบสนิทร่วมกันกับความคิดอันเป็นนามธรรมของมนุษย์ พวกนักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ ได้แก้ไขความขัดแย้งอันนี้โดยยอมรับว่า โลกภายนอกทั้งหลายนั้นคือ ความว่าง เป็นสุญญตา แต่มีภาวะอันแท้จริงเป็นมายา ดังที่ จางไส (Chang Tsai) (ค.ศ.1020-77)  ซึ่งเป็นนักปรัชญาคนสำคัญในสมัยราชวงศ์ซ้อง กล่าวได้ว่า

ความกว้างใหญ่ของอวกาศ ถึงแม้จะเรียกว่าเป็น ความว่างก็หาใช่จะว่างเปล่าอย่างแท้จริงไม่ ความว่างนั้นเต็มไปด้วยฉี (ch’i) ซึ่งเป็นภาวะอันแท้จริงของความว่างที่จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่า ความว่างนั้น ไม่มี

ฉี (Ch’i) คือ ความคิดที่มีความหมายอันสำคัญอย่างยิ่งของทฤษฎีทางอภิปรัชญาและทางจักรวาลวิทยาของปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ในสมัยหลังต่อมา

และอีกประการหนึ่ง พุทธศาสนานั้นโดยทั่วไปแล้วถือกันว่าเป็นปรัชญาแห่งโลกหน้าเพราะถือว่า ชีวิตคือรากเหง้าของความทุกข์ในชีวิต โลกปัจจุบันเป็นแต่เพียง “ทะเลแห่งความขมขื่น” แต่ปรัชญาลัทธิขงจื๊อสนใจในโลกนี้เป็นอย่างมาก และมีจุดมุ่งอยู่มนุษย์ ยึดมั่นอยู่ที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกัน และไม่ยอมพูดถึงปัญหาของภาวะที่อยู่เหนือธรรมชาติ นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่แก้ปัญหาของภาวะที่อยู่เหนือธรรมชาติ นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่แก้ปัญหายุ่งยากอันนี้โดยถือว่า คติความคิดของปรัชญาพุทธศาสนาและปรัชญาลัทธิขงจื๊อนั้น เป็นทรรศนะด้านเดียวและยึดมั่นแต่คติความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียว พวกนักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่กล่าวว่า พุทธศาสนานั้นเป็นจิตนิยมเกินไป และมุ่งแต่ความประเสริฐมากเกินไป ส่วนปรัชญาลัทธิขงจื๊อนั้น เป็นสัจนิยมมากเกินไป และมุ่งแต่มนุษย์มากเกินไป ฉะนั้นพวกปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ จึงพยายามที่จะผสมผสานคติความคิดชนิดที่สุดทางของปรัชญาทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของความคิดของปรัชญาทั้งสองก็ยังคงอยู่ และในที่สุดก็นำไปสู่การก่อตั้งเป็นนิกายความคิดที่แยกจากกันเป็นสองนิกาย คือ นิกายเหตุผลนิยม (Rationalism) หรือนิกายซ้อง (Sung School) และนิกายจิตนิยม (Idealism) หรือนิกายเหม็ง (Ming) กล่าวโดยทั่วไปแล้ว นิกายซ้องนั้นค่อนข้างจะใกล้ชิดไปในทางแนวคิดของปรัชญาขงจื๊อ ส่วนนิกายเหม็งนั้นค่อนข้างจะใกล้ชิดไปในทางพุทธศาสนาของอินเดีย พวกนิกายเหม็งกล่าวหาว่า พวกนักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ นิกายซ้อง ติดในรูปธรรมมากเกินไป ส่วนนิกายซ้องกล่าวหาว่า พวกนักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ นิกายเหม็งนั้นติดในนามธรรมมากเกินไป และถึงแม้ว่าทั้งสองนิกายจะมีความเห็นพ้องกันในเรื่อง “คำสอนขั้นมูลฐาน” หรือ “สัจขั้นมูลฐาน” ของจักรวาลว่า คือ หลี (Li) แต่ทั้งสองนิกายก็มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องบทนิยามของคำว่าหลีนี้ ด้วยความพยายามที่จะผสมผสานคติความคิดของปรัชญาขงจื๊อกับปรัชญาพุทธศาสนานิกายซ้อง จึงเริ่มมองไปยังโลกภายนอก และถือความคิดเอาว่า หลีนั้น คือ สวรรค์ หรือธรรมชาติ แต่นิกายเหม็งพยายามที่จะขยายปรัชญาพุทธศาสนาให้เข้ากันกับปรัชญาขงจื๊อ จึงเริ่มมองไปยังโลกภายในจิตใจของตน แล้วถือความคิดเอาว่า หลีนั้นคือ จิต

อย่างไรก็ตา ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่เป็นปรัชญาที่มีความสำคัญที่สุดปรัชญาหนึ่งที่ประเทศจีนได้สร้างขึ้นมา อิทธิพลทางด้านสติปัญญาที่มีผลต่อประเทศจีนในอดีตทั้งหมด วัฒนธรรมและความที่ถูกนำมาจากต่างแดนทั้งหลาย ทั้งหมดนี้ผสมผสานกลมกลืนกันอยู่ในปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหญ่นี้ทั้งหมด

สมัยสุดท้ายคือสมัยของราชวงศ์แมนจู (Manchu dynasty) ค.ศ. 1644-1911 และสมัยของสาธารณรัฐ (ค.ศ. 1911 จนถึงปัจจุบัน) ประกอบกันเป็นสมัยที่มีแต่ความปั่นป่วนในทางสังคม การขาดเสถียรภาพในทางการเมือง และอนาธิปไตยในทางสติปัญญาสมัยสาธารณรัฐนั้น เป็นสมัยที่โกลาหลวุ่นวาย จนมีผลทำให้เกิดระบบการปกครองเป็นสองแบบ แยกออกจากกันขึ้นใน ค.ศ. 1949 คือ รัฐบาลคณะชาติใต้หวัน กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในผืนแผ่นดินใหญ่

กระแสแห่งภาวการณ์ทั้งหมดของสมัยนี้ มีลักษณะเป็นไปในทางไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายและเป็นไปในทางทำลาย สถาบันทางสังคมทุกอย่างแม้กระทั่งสถาบันครอบครัวและการแต่งงานต่างถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสิ้น นักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงที่สุดของจีน ชื่อเหลียง ชี เฉา (Liang Ch’i-Ch’’o) ค.ศ.1873-1929 ได้กล่าวเปรียบเทียบสมัยนี้ของจีนกับสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของยุโรปที่จริงแล้ว ลักษณะทั่วไปของปรัชญาในสมัยนี้ มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับเหตุการณ์ในทางการเมืองและการสังคมของยุคสมัยนี้อย่างเห็นได้ชัดเจน คริสต์ศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาวางรากฐานอย่างมั่นคงลงในประเทศจีนพร้อมกับคริสต์ศาสนา ปรัชญาและวิทยาการทางตะวันตกก็เข้ามาสู่ประเทศจีนด้วย ที่เห็นได้ชัดก็คือปรัชญาปฏิบัตินิยม (Pragmatism) ของ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) และลัทธิคำสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ มีอิทธิพลต่อความคิดทางปรัชญาของจีนเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันการแปลงงานนิพนธ์ที่สำคัญๆ ของนักเขียนตะวันตกที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่น ตอลสตอย (Tolstoy) อิบเซน (Ibsen) เดอ โมปัสซังท์ (De Maupassant) เชลลี (Chelly) เอเมอร์สัน (Emerson) มาร์กซ์ (Marx) และเองเกลส์ (Engels) ก็มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างบรรยากาศทางปรัชญาแบบใหม่ๆ อีกด้วย

ปรัชญานั้นเจริญไปพร้อมกันกับการพัฒนาการทางการเมือง การสังคม การศาสนาและการศิลปะ ทั้งหมดนี้เป็นแต่เพียงอุปกรณ์ต่างๆ ที่วัฒนธรรมใช้เป็นพาหะเพื่อแสดงวิญญาณของตนออกมา เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ในช่วงระยะเวลาของยุคสมัยสุดท้ายที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงเกิดมีแนวคิดไปในทำนองวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระขึ้น พวกวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระนี้ได้โจมตี ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ของสมัยราชวงศ์ซ้องและราชวงศ์เหม็ง พวกนักวิจารณ์เหล่านี้ คือ พวกที่สงสัยในคุณค่าของสถาบันเก่าๆ และเป็นนักวิจารณ์ที่รุนแรงที่สุดที่ประเทศจีนเคยมีมา แต่ถึงแม้ว่า ทรรศนะวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงของพวกนักวิจารณ์เหล่านี้พอจะจำแนกเข้าเป็นพวกปรัชญาปฏิบัตินิยมได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจถือเอาได้ว่าเป็นสำนักปรัชญาได้พวกเหล่านี้ย้ำความสำคัญมากเกินไปในเรื่องของการวิเคราะห์ภาษาและการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องเนื้อหา แต่สนใจในการแสวงหาสัจธรรมในทางปรัชญาที่แท้จริงน้อยเกินไป ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากการวิพากษ์วิจารณ์อันรุนแรงของกระบวนการแบบปรัชญาปฏิบัตินิยมนี้ จะดำเนินต่อไปเป็นเวลานานพอแล้วก็อาจจะทำให้เกิดผลเป็นปรัชญาแบบใหม่ของปรัชญาจีนขึ้นมาอีกก็ได้

กระบวนการเรียกว่า “กระบวนการแห่งวัฒนธรรมใหม่” นั้นเป็นการขยายตัวขึ้นมาในตอนหลังของวิญญาณแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อันนี้ โดยถือเอาแบบอย่างของตะวันตกจากปรัชญาประจักษะภาวะนิยม (Positivism) และปรัชญาปฏิบัตินิยม (Pragmatism) มาเป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญ และถือเอาความก้าวหน้าทางสังคมและวิทยาศาสตร์ และลัทธิการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ ผู้นำของกระบวนการวัฒนธรรมใหม่นี้คือว่าปรัชญาลัทธิขงจื๊อ คือ ลัทธิอนุรักษ์นิยม สิ่งที่เป็นอดีต เสียงเรียกร้องที่ทวีพลังขึ้นอยู่ตลอดเวลาของกระบวนการวัฒนธรรมใหม่นี้ คือ “ขงจื๊อและสานุศิษย์ของขงจื๊อจงพินาศ” แต่ความยึดมั่นของบุคคลจำนวนหลายร้อยล้านนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะทำลายล้างให้หมดไปได้อย่างง่ายดายนัก ความขัดแย้งกันในเรื่องนี้ก็บังเกิดขึ้น ซึ่งยังคงดำเนินอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้ อย่างน่าเศร้าสลดใจ

สมัยหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกต่างก็เปลี่ยนแปลงไปหมดทั้งสิ้น ยกเว้นแต่ประเทศจีนมาบัดนี้ ไม่มีอะไรเลยในประเทศจีนที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ชาติที่อนุรักษ์นิยมอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก กำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผืนดิน โดยมุ่งหวังจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยยกย่องเทิดทูนกันมาแต่อดีตไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในรูปของสถาบัน หรือชนชั้นหรือกฎเกณฑ์ทางสังคม และจริยธรรมก็ตาม อย่างไรก็ตาม รูปแบบของความคิดที่มีมาแต่เดิมจนเป็นประเพณี ที่ถูกหล่อหลอมด้วยคำสอนของนักปรัชญาสมัยโบราณนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะขจัดหรือกวาดล้างให้หมดไปจากสมอง โดยอุดมคติของมาร์กซ์ได้อย่างฉับพลันทันใด ปรัชญาเดิมมาตรฐานทางจริยธรรมแต่เดิม ยังคงฝังแน่นอยู่ในจิตใจของประชาชนชาวจีนอยู่ ชาวจีนนั้นนิยมการประนีประนอม การประสานกลมกลืน และการผสมผสานกัน ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเข้ากันใหม่ได้กับลัทธิคำสอนของมาร์กซ์ จากข้อเท็จจริงของลักษณะของคนจีนอันนี้ พวกคอมมูนิวส์จีน จึงได้พยายามปรับปรุงทฤษฎีของมาร์กซ์และเลนิน ให้เหมาะสมกับปรัชญามนุษยนิยมของธรรเนียมที่คนจีนยังยึดมั่นอยู่

ที่กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า เรื่องราวของปรัชญาจีนนั้นเป็นเรื่องที่นิ่งอยู่กับที่เพราะตามที่เราได้ทราบมานั้น ปรัชญาจีนได้วิวัฒน์ เปลี่ยนแปลงมาอย่างมากมายเท่าๆ กับปรัชญาของชนชาติอื่น แต่ปรัชญาจีนไม่เคยยืมคติความคิดของวัฒนธรรมต่างแดนเข้ามาใช้โดยไม่มีการปรับให้เข้าเอกลักษณ์แห่งธรรมชาติของตนนั้น ไม่มีเลย

ที่แท้จริงแล้ว คุณลักษณะอันสำคัญที่สุดของวิวัฒนาการของปรัชญาจีนนั้นคือ การผสมผสานและการคล้อยตามวิถีแห่งธรรมชาติ อิทธิพลทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่สามารถจะเข้ากันได้กับกระบวนการวิวัฒนาการของธรรมชาตินั้น ย่อมจะมีชีวิตคงอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ