ฮั่นเฟยจื๊อกับชีวิตและงานนิพนธ์

Socail Like & Share

ฮั่นเฟยจื๊อ
บ้านเมืองนั้นไม่อาจจะเข้มแข็งได้อยู่ตลอดเวลาและก็ไม่อาจจะอ่อนแอตลอดกาลเช่นกัน ถ้าหากเมื่อใดมีการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดแล้วเมื่อนั้นบ้านเมืองก็เข้มแข็ง เมื่อใดมีการใช้กฎหมายอย่างหย่อนยานแล้วเมื่อนั้นบ้านเมืองก็อ่อนแอ
ฮั่นเฟยจื๊อ บทที่19

ฮั่นเฟยจื๊อ (Han Fei Tzu)
เราได้ทราบมาแล้วว่า ในสมัยราชวงศ์โจวนั้น ได้มีสำนักปรัชญาหลายสำนักเจริญขึ้นมาทุกสำนักปรัชญาต่างสนใจในการสร้างสังคมในอุดมคติของมนุษย์ขึ้นทั้งหมด กล่าวคือ ลัทธิขงจื๊อซึ่งมีผู้สถาปนาลัทธิและผู้เผยแพร่ที่สำคัญ คือ ขงจื๊อ เม่งจื๊อ และซุ่นจื๊อ ลัทธิขงจื๊อยืนยันเรื่องการดำรงรักษาไว้ซึ่ง จารีตประเพณี และนักการปกครองจะต้องแสดงตนเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านจริยธรรม สำนักปรัชญาอีกลัทธิหนึ่งคือ ลัทธิเต๋า มีผู้เผยแพร่คือ เล่าจื๊อ และจวงจื๊อทั้งสองท่านนี้มีความเห็นว่าสังคมในอุดมคตินั้นจะเกิดมีขึ้นได้ ก็โดยการละทิ้งจารีตประเพณีอันประณีตหรูหรา และอารยธรรมที่มีอยู่ทั้งหมดแล้วหันกลับคืนมาไปสู่สภาพเรียบง่ายตามธรรมชาติ เพื่อปฏิบัติตนให้คล้อยตามกับสภาพเรียบง่ายตามธรรมชาติของ เต๋า นอกจากสำนักปรัชญาสองลัทธินี้แล้ว ยังมีสำนักปรัชญาลัทธิอื่นๆ อีกดังเช่น ปรัชญาคำสอนของหยางจื๊อ และของม่อจื๊อ หยางจื๊อนั้นไม่ยกย่องในคุณค่าของสถาบันทางสังคม เขามีความเห็นว่าสิ่งเดียวที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่าแก่การดำรงอยู่นั้นคือ การสนองความอยากในทางเนื้อหนัง เช่น ความเกษมสำราญจากอาหาร เครื่องแต่งกาย และการชื่นชมดนตรีและความงาม ส่วนม่อจื๊อนั้น มีความเชื่ออันแน่วแน่ในคุณค่าของสถาบันทางสังคม และแสดงความคิดเห็นเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการจัดระบบสังคมโดยอาศัยหลักการของการมีความรักในมนุษย์ทั้งปวง ยังเหลืออยู่แต่สำนักปรัชญาอีกลัทธิหนึ่งซึ่งจะต้องพิจารณา ซึ่งเป็นปรัชญาที่จะทำให้ภาพของยุคสมัยที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของความคิดของจีนเป็นภาพที่สมบูรณ์

อุปนิสัยใจคอของคนจีนในภาคใต้ นั้นเอื้ออำนวยให้แก่ปรัชญาธรรมชาตินิยมแบบจินตนาการของปรัชญาเล่าจื๊อ และจวงจื๊อ ส่วนอุปนิสัยใจคอของคนจีนในภาคกลาง สนใจในคำสอนเกี่ยวกับมนุษยธรรมแห่งทางสายกลางของขงจื๊อ และสานุศิษย์ของขงจื๊อฉันใด คนจีนในภาคเหนือซึ่งเป็นคนหัวแข็งนั้น มีความโน้มเอียงยึดมั่นในปรัชญาและการปฏิบัติตามลัทธิ ปรัชญานิติธรรมฉันนั้น

ลัทธิปรัชญานิติธรรม (The Legalists) เจริญขึ้นในศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. อันเป็นสมัยที่การสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น นักปรัชญาลัทธินิติธรรมมองเห็นความล้มเหลวของการที่จะผดุงรักษาโลกให้มีความสุขสงบ โดยการใช้จารีตประเพณีที่ประณีตหรูหรา และการใช้หลักธรรมที่เป็นนามธรรมและหลักการที่เป็นภาวะเหนือธรรมชาติ พวกนิติธรรมมีความเห็นว่า ระบบสังคมแบบศักดินาที่นำมาซึ่งความแตกแยกและความโกลาหลวุ่นวายนั้น ควรจะต้องเปิดทางให้แก่ระบบของสังคมที่มีกฎหมายอันเข้มงวดกวดขันและการบริหารงานบ้านเมืองอันเคร่งครัดเท่านั้นที่จะนำความสุขสงบมาสู่สังคมได้ ด้วยเหตุนี้ พวกนักปรัชญากลุ่มนิติธรรมจึงสร้างความคิดที่จะต้องมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้ในสังคม ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากกฎทางจริยธรรม และกฎทางศาสนา หลักการขั้นมูลฐานของปรัชญานิติธรรมคือการยกย่องคุณค่าของรัฐเหนือคุณค่าของบุคคล ในบรรดานักปรัชญากลุ่มนิติธรรมนี้ ฮั่นเฟยจื๊อ (Han Fei Tzu) จัดว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ฮั่นเฟยจื๊อ เป็นบุคคลที่มีความคิดริเริ่มเป็นพิเศษเหนือนักปรัชญาคนอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน เขามีลักษณะผสมผสานระหว่างนักศึกษาผู้พากเพียร กับนักคิดผู้มีสติปัญญาอันเฉียบแหลม เขารู้จักวิธีการอันเก็บเกี่ยวผลงานของบุคคลอื่นๆ ก่อนสมัยของเขามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยเหตุผลของคุณลักษณะเหล่านี้นั้นเองที่ทำให้ ฮั่นเฟยจื๊อ ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของสำนักปรัชญานิติธรรม แต่มีข้อสังเกตอันหนึ่งที่เราควรจะทราบตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวว่า ถึงแม้ ฮั่นเฟยจื๊อ จะเป็นผู้เผยแพร่คติความคิดของปรัชญานิติธรรมคนสำคัญก็ตาม แต่ทรรศนะและความคิดเห็นของเขานั้น ได้รับการกระตุ้นและแรงบันดาลใจจากคำสอนของสำนักปรัชญาที่สำคัญๆ อันได้แก่ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และลัทธิม่อจื๊อ ความสำคัญของฮั่นเฟยจื๊อ นั้นเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าคติความคิดต่างๆ ของปรัชญานิติธรรมมีขึ้นในศตวรรษที่สี่ และศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ.นั้น ได้ปรากฏขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง ในรูปของระบบความคิดทางปรัชญาของฮั่นเฟยจื๊อ

ชีวิตและงานนิพนธ์
ฮั่นเฟยจื๊อ มาจากสกุลเจ้าผู้ครองแคว้นฮั่น วันเดือนปีเกิดของเขาเป็นเรื่องที่ยังไม่นอน แต่ปีมรณะของเขานั้นกำหนดเอาประมาณปี 233 ก่อน ค.ศ. เมื่อเขาอายุประมาณห้าสิบปี เช่นนี้แล้ว ปีเกิดของเขาคงจะอยู่ในระหว่างปี 282 กับ 280 ก่อน ค.ศ. ฮั่นเฟยจื๊อ เป็นครูและนักเขียนที่มีสติปัญญาสูง และเคยเป็นศิษย์ของซุ่นจื๊อ พร้อมกันกับ หลีซุ่ (Li Ssu) ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีของพระจักรพรรดิองค์ที่หนึ่งในราชวงศ์จิ๋น (ปี 256-221 ก่อน ค.ศ.) เมื่อเราศึกษาปรัชญาของนิติธรรมแล้ว เราจะพบว่า ทฤษฎีเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ของท่านซุ่นจื๊อนั้น ประกอบเป็นพื้นฐานทางจิตวิทยาของหลักโต้แย้งของกลุ่มนิติธรรมที่ว่า กฎหมายควรจะมีบทบาทเข้าไปแทนหลักของศีลธรรม ถ้าหากจะควบคุมระงับ “สภาพการณ์แห่งความรุนแรง” ทั้งปวงให้ได้ วัยเยาร์ของฮั่นเฟยจื๊อ บังเอิญมาพ้องกับยุคสมัยที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของแคว้นฮั่น อันเป็นมาตุภูมิของเขา แคว้นฮั่นนั้นเราทราบมาแล้วว่าเป็นแคว้นเล็กในบรรดาสามแคว้นที่แตกแยกออกมาจากแคว้นซิ๋น (Tsin) ในตอนปลายศตวรรษที่ห้าก่อน ค.ศ. แคว้นฮั่นเป็นแคว้นที่เล็กที่สุดในบรรดาแคว้นที่รบพุ่งต่อสู้กัน กองทัพของแคว้นฮั่นต้องประสบความพ่ายแพ้ และความหายนะหลายครั้ง อาณาจักรของแคว้นฮั่นนั้นแขวนอยู่กับความเมตตากรุณาของแคว้นข้างเคียง ที่เป็นแคว้นใหญ่ที่มีกำลังอำนาจ สิ่งที่เลวร้ายลงไปกว่านั้นก็คือ แคว้นฮั่นยังถูกครอบงำด้วยสกุลที่มีอิทธิพลหลายสกุลที่คอยต่อสู้แย่งชิงเพื่อความเป็นใหญ่ เหมือนดังในแคว้นอื่นๆ อีกด้วย สภาพที่เป็นจริงทั้งหมดนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติชีวิตของนักคิดแห่งปรัชญานิติธรรมผู้นี้เป็นอย่างมาก

ฮั่นเฟยจื๊อ เป็นชนชั้นสูง ทั้งในทางกำเนิด และในทางความคิด เขายืนหยัดต่อสู้อย่างเข้มแข็งเพื่อสถาปนาการปกครองของคนชั้นสูง และสถาปนากฎหมายให้เป็นหลักที่จะนำความสงบของคนชั้นสูง และสถาปนากฎหมายให้เป็นหลักที่จะนำความสงบสุขมาสู่สังคม เขาตระหนักดีถึงอันตรายที่แคว้นฮั่นกำลังเผชิญอยู่ และเข้าใจเป็นอย่างดีว่าจะต้องรีกระทำการเพื่อแก้ไขอันตรายนั้นโดยรีบด่วน ด้วยเหตุนี้เขาจึงเข้าไปเฝ้าเจ้าผู้ครองแคว้นฮั่น และกราบทูลว่า แคว้นฮั่นจะยังคงเป็นแคว้นที่อ่อนแอ ไม่มีการจัดระบบการปกครองที่เข้มแข็งอยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว มิฉะนั้นก็จะถูกข่มเหงโจมตีจากศัตรูอยู่ตลอดเวลา แต่เจ้าผู้ครองแคว้นไม่สนใจในคำแนะนำของเขา และก็ไม่สนใจที่จะรับเอาเขาเข้าทำราชการด้วย ฮั่นเฟยจื๊อ จึงผิดหวัง เกิดความรังเกียจเบื่อหน่ายเป็นอย่างยิ่ง จึงถอนตนออกจากสังคมไปใช้ชีวิตอยู่โดยลำพัง เพื่อพยายามศึกษาค้นคว้าและเขียนบทนิพนธ์ต่อไป ในบันทึกประวัติศาสตร์ (Historical Records) ของ ซุ มา เฉี๋ยน (Ssu-ma Ch’ien) เราอ่านพบข้อความว่า

เพราะฉะนั้น ฮั่นเฟยจื๊อ จึงมีความรังเกียจ เบื่อหน่ายในเจ้าผู้ครองแคว้น ซูปกครองบ้านเมืองโดยไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่ในกฎหมาย ผู้ไม่ใช้อำนาจอันเด็ดขาดแก่เสนาบดีและคนในบังคับบัญชา วิธีการที่จะเพิ่มพูนกำลังของบ้านเมืองนั้น ประกอบด้วยการใช้บุคคลที่เป็นคนดี มีความสามารถ แต่เจ้าผู้ครองแคว้นกลับประทานอำนาจและเกียรติยศให้แก่บุคคลผู้เสเพลและไม่มีคุณค่าอันใด…. ฮั่นเฟยจื๊อ บ่นพ้อว่า เมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติสุข เจ้าผู้ครองแคว้นก็สนับสนุนนักปราชญ์ แต่เมื่อบ้านเมืองมีความยุ่งยากวุ่นวาย เจ้าผู้ครองแคว้นจำต้องใช้ทหาร ด้วยเหตุนี้ บุคคลผู้ได้รับการสนับสนุนหาใช่บุคคลที่ถูกใช้ให้การป้องกันบ้านเมือง และบุคคลที่ถูกใช้ให้ป้องกันบ้านเมือง ก็ไม่ใช่บุคคลที่ได้รับการสนับสนุน ด้วยความเสียใจในเหตุที่มีเจ้าผู้ครองแคว้นเช่นนั้น และในเหตุที่คนดีกลับถูกขัดขวางจากเสนาบดีที่เลวทราม ฮั่นเฟยจื๊อ จึงบันทึกเป็นคำสอนลงไว้ในบทนิพนธ์ของเขา โดยอาศัยประสบการณ์ที่เขาได้พบมาเป็นพื้นฐาน

ในบทนิพนธ์ของเขา เขาบรรยายว่านักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊อนั้น เป็นแต่เพียงนักทฤษฎี ห่างไกลจากชีวิตอันแท้จริงของยุคสมัย และไม่สามารถจะเข้าใจความผิดปกติ และการทำผิดคิดร้ายของประชาชนได้ ฮั่นเฟยจื๊อ ย้ำว่าเขามีความเชื่อว่า การปกครองบ้านเมืองนั้นจะต้องยึดหลัก “ของข้อเท็จจริงตามที่มีปรากฏอยู่ในขณะเวลานั้น” เป็นเกณฑ์ ฉะนั้นการปกครองบ้านเมือง จึงไม่ควรมาเล่นทดลองกับทฤษฎีการปกครองที่ขัดแย้งกับความจริงในชีวิตของพวกนักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊ออยู่เลย

ในปัจจุบันนี้ นักปรัชญาทั้งหลายที่กำลังถกกันถึงการปกครองของจักรวรรดิอยู่นั้น หาได้กล่าวถึงสภาพการณ์ของการปกครองที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่ แต่กลับไปพูดถึงคุณความดีของการปกครองที่มีอยู่ในอดีต พวกนักปราชญ์เหล่านี้ ไม่ศึกษาข้อเท็จจริงของกฎหมายทางบ้านเมือง ไม่พิจารณาศึกษาสภาพการณ์อันผิดปกติวิสัยของประชาชนพลเมือง ดีแต่พูดถึงประเพณีของอดีตกาลเท่านั้น โดยการยึดมั่นยู่แต่การเลียนแบบของคุณความดีของนักการปกครองในอดีต พวกนักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊อ กล่าวออกมาเป็นภาษาอันหรูหราว่า “จงฟังคำแนะนำของพวกเรา แล้วท่านจะกลายเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองที่ปรีชาสามารถ” คำกล่าวอย่างนี้เป็นเหมือนกับ คำสวดมนต์อ้อนวอนของพวกหมอผี นักการปกครองบ้านเมืองผู้มีความสามารถจะไม่ยอมรับคำแนะนำเช่นนั้นเป็นอันขาด นักการปกครองผู้มีสติปัญญาจะพิจารณาดูสภาพความเป็นจริง แล้วสลัดทิ้งสิ่งที่ไร้ประโยชน์ นักการปกครองผู้มีสติปัญญา จะไม่ยอมพึ่งพา สิ่งที่เรียกว่ามนุษยธรรม การยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม หรือเงี่ยหูฟังคำแนะนำของนักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊อแต่ประการใด

แต่พระจักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์จิ๋น เป็นบุคคลแรกที่ดำเนินการจัดระบบการปกครองของประเทศจีน ตามคำสอนของฮั่นเฟยจื๊อ ในหนังสือเรื่อง Historical Records ของ ซุมาเฉี๋ยน นั้น มีบันทึกไว้ว่าเมื่อบทความสองเรื่องของ ฮั่นเฟยจื๊อ คือเรื่องความขุ่นเคืองของข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว” (Solitary Indignation) กับเรื่อง “ทรชนห้าจำพวก” (The Five Vermin) ได้มาถึงอุ้งพระหัตถ์ของพระเจ้าจิ๋นโดยบังเอิญนั้น พระเจ้าจิ๋น หลังจากทอดพระเนตรอ่านแล้ว ถึงกับอุทานกับพวกเสนาบดีว่า

“นี่คือสิ่งที่ข้าแสวงหามานานแล้ว ถ้าคนเขียนบทนิพนธ์เรื่องนี้ จะมาอยู่ในราชสำนักของข้าแล้ว ข้าจะไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเสียใจในชีวิตเลย”

ดังที่เราได้ทราบมาแล้ว แคว้นจิ๋น มีนโยบายแสวงหาผู้มีสติปัญญาจากแคว้นใกล้เคียงมาเป็นเสนาบดีและนายทหาร ด้วยเหตุนี้ในระยะเวลาตอนกลางศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. ผู้มีสติปัญญาจำนวนมากจึงมารวมกันอยู่ที่ราชสำนักของแคว้นจิ๋น โดยทำนองนี้เองที่ หลี ซู่ ซึ่งเป็นชาวเมืองแคว้นฉู่ จึงได้มาเป็นเสนาบดีของแคว้นจิ๋น แต่ ฮั่นเฟยจื๊อนั้น เป็นคนรักถิ่นกำเนิดของตน จึงยังคงภักดีต่อแคว้นของตนอยู่ ถึงแม้ว่าพระเจ้าฮั่นจะไม่รับรองฮั่นเฟยจื๊อเข้าไปรับราชการด้วย แต่ฮั่นเฟยจื๊อ ก็ไม่ได้ใช้สติปัญญาอันสามารถของตนไปรับใช้แคว้นอื่นที่เป็นคู่ต่อสู้ของแคว้นของตนเลย

ในตอนต้นของครึ่งศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. แคว้นจิ๋นได้ปราบปรามแคว้นฉู่ ซึ่งเป็นแคว้นคู่ปรับของตนได้หลายครั้ง แล้วผนวกแคว้นฉู่เข้ากับอาณาจักรของแคว้นจิ๋น ชัยชนะครั้งสุดท้ายที่ทำให้ผนึกอาณาจักรแคว้นฉู่เข้ามาได้นั้น สำเร็จได้เพราะความช่วยเหลือของ หลี ซู่ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมสำนักศึกษาเดียวกันกับ ฮั่นเฟยจื๊อซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นเสนาบดีประจำราชสำนักของแคว้นจิ๋น ส่วนแคว้นฮั่น ซึ่งเป็นแคว้นใกล้เคียงอย่างที่สุดของแคว้นจิ๋น คงจะเป็นแคว้นแรกที่แคว้นจิ๋นจะต้องกลืนเอาเพื่อขยายอาณาจักรของแคว้นจิ๋นต่อไป พลังทั้งหมดของหลี ซู่ นั้น มุ่งไปสู่การผนึกเอาอาณาจักรของแคว้นฮั่น ฉะนั้น แคว้นฮั่นจึงส่งฮั่นเฟยจื๊อ เป็นทูตสันทวไมตรีไปยังแคว้นจิ๋น ฮั่นเฟยจื๊อ ได้รับการต้อนรับจากราชสำนักแคว้นจิ๋นเป็นอย่างดี จนกระทั่งเสนาบดีทั้งหลายรวมทั้งหลีซู่ ด้วย เกิดความริษยา พวกเสนาบดีทั้งหลายจึงกล่าวร้ายฮั่นเฟยจื๊อ ซึ่งเป็นแขกเกียรติยศจากต่างแคว้นถูกกล่าวหาว่าคิดร้ายต่อพระเจ้าจิ๋น และถูกโยนเข้าที่คุมขังไป

ครั้นแล้ว หลี ซู่ จึงส่งยาพิษไปให้ฮั่นเฟยจื๊อ และแนะนำให้ฮั่นเฟยจื๊อ ทำลายชีวิตของตนเสีย ฮั่นเฟยจื๊อประสงค์จะสารภาพความจริงกับพระเจ้าจิ๋น แต่ไม่มีโอกาสจะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าจิ๋น เมื่อพระเจ้าจิ๋น ระลึกถึงความผิดพลาดของพระองค์ขึ้นมาได้ และมีบัญชาให้ปล่อยฮั่นเฟยจื๊อนั้น ฮั่นเฟยจื๊อได้สิ้นชีวิตลงในเรือนจำไปเสียแล้ว

ชีวิตของฮั่นเฟยจื๊อ ครอบคลุมสมัยของการเปลี่ยนแปลงจากรัชสมัยของราชวงศ์โจวไปสู่รัชสมัยของราชวงศ์จิ๋น เป็นรัชสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนฉับพลัน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของจีนอย่างใหญ่หลวง ประมาณปี 250 ก่อน ค.ศ. แคว้นจิ๋นไม่เป็นแต่เพียงแคว้นที่มีความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจอย่างที่สุดในบรรดาแคว้นทั้งหลายเท่านั้น แต่ยังเป็นแคว้นที่เลิกระบบศักดินาในสังคมของตนเองอีกด้วย แคว้นจิ๋นปกครองโดยใช้หลักของปรัชญานิติธรรม ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพการณ์ทางสังคมและทางเศรษฐกิจแบบใหม่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่คำสอนของ ฮั่นเฟยจื๊อ นั้น คือพื้นฐานทางปรัชญาที่นำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ในอนาคตของแคว้นจิ๋น

คำสอนของ ฮั่นเฟยจื๊อ มีอยู่ในหนังสือที่มีชื่อตามชื่อของเขา เป็นหนังสือที่ประกอบด้วยบทความทั้งหมดห้าสิบห้าบท ที่มีคุณค่าอย่างมากมาย บทความเหล่านี้มีคติความคิดของปรัชญานิติธรรมของศตวรรษที่สี่ และสามก่อน ค.ศ. รวมอยู่ด้วยกันอย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะพิจารณาศึกษาเรื่องของ ฮั่นเฟยจื๊อต่อไปนั้น เราควรจะศึกษาเรื่องของปรัชญานิติธรรม เป็นส่วนรวมเสียก่อนจะเป็นการดี

ที่มา:สกล  นิลวรรณ