ม่อจื๊อกับทรรศนะในทางการเมือง

Socail Like & Share

เจตน์จำนงของสวรรค์ และการมีอยู่ของเทพยดาฟ้าดินนั้นคือตัวอย่างของบทบัญญัติทางศาสนาที่ม่อจื๊อนำมาใช้เพื่อให้เกิดสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของโลก นอกจากบทบัญญัติทางศาสนาแล้ว เขายังจำเป็นจะต้องมีบทบัญญัติในทางการเมืองอีก คือ การจัดการปกครองบ้านเมืองและการมีอำนาจในรูปแบบใดแบบหนึ่ง ในบทนิพนธ์เรื่องม่อจื๊อนั้น มีข้อความอยู่สามบทเกี่ยวกับ “ข้อตกลงกับผู้มีอำนาจของบ้านเมือง” ซึ่งเป็นบทที่ม่อจื๊อแสดงปรัชญาทางการเมืองของเขาออกมา เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากที่ปรัชญาการเมืองของม่อจื๊อนั้น มีความคล้ายคลึงกับปรัชญาการเมืองของทอมัส ฮอปส์เป็นอย่างมาก ม่อจื๊อประณามสังคมแบบธรรมชาติของปรัชญา เต๋า หรือ สิ่งที่ฮอบส์ (Thomas Hohbes) เรียกว่าสภาพแห่งธรรมชาติ (State of Nature) ว่าเป็นสังคมที่ไม่สามารถจะมีอะไรได้เลย นอกจากความยุ่งเหยิงวุ่นวาย

ในสมัยเริ่มต้นของชีวิตของมนุษย์นั้น ยังไม่มีกฎหมายและการปกครองบ้านเมือง ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันนั้น คือ “ทุกคนปฏิบัติตามความคิดเห็นของตน” โดยเหตุนี้ทุกคนต่างมีความคิดของตนเอง สองคนก็มีสองความคิด ซึ่งแตกต่างกัน สิบคนก็มีสิบความคิดแตกต่างกันออกไป ยิ่งมีคนมาก ก็ยิ่งมีความคิดเห็นแตกต่างกันมากขึ้น แต่ละคนต่างคิดว่าความคิดเห็นของตนถูกต้อง และเห็นว่าความคิดเห็นของคนอื่นผิด ภาวะเช่นนี้ทำให้ประชาชนเกิดความขัดแย้งกัน ซึ่งนำไปสู่ความเกลียดชังและการเป็นศัตรูกัน แม้กระทั่งระหว่างบิดากับบุตร การแบ่งแยกและการแตกสามัคคีก็มีมากขึ้น ไม่มีความสุขสงบ หรือความร่วมมือร่วมใจกันเลย ประชาชนเข่นฆ่ากันและกันโดยการใช้น้ำ ไฟ และยาพิษเป็นอาวุธ จะไม่มีการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันและกันเลย….โลกเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มนุษย์มีลักษณะเหมือนกับนกและสัตว์ป่า

แต่ “สภาพแห่งธรรมชาติ” เช่นนี้ไม่ช้าก็กลายเป็นสภาพที่มนุษย์ไม่อาจจะทนทานได้ การที่มนุษย์จะอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องมีการจัดการปกครอง มีการติดต่อสัมพันธ์กัน และต้องมีความร่วมมือร่วมใจกันพอสมควรในรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมา ดังนั้น พวกมนุษย์จึงมาประชุมตกลงกันจัดให้มีรูปแบบทางการปกครองขึ้น และเลือกบุคคลที่มีความฉลาดและความสามารถขึ้นเป็น “พระจักรพรรดิ เสนนาบดี เจ้านาย และหัวหน้า” เพื่อเป็นผู้ดูแลกิจการทั้งหลายของพวกตน ให้รางวัลแก่ผู้ที่ปฏิบัติตนตามหลักของ “ความรักสากลต่อเพื่อนมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน” และลงโทษทัณฑ์แก่ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักของ “ความรักโดยแบ่งชั้นวรรณะ”

ประชาชนมีความเข้าใจว่าสาเหตุของความไม่สงบวุ่นวายนั้น คือการขาดผู้ปกครองในทางการเมือง เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงคัดเลือกบุคคลผู้ที่ฉลาดและสามารถที่สุดขึ้น และแต่งตั้งเขาเป็นโอรสแห่งสวรรค์ หรือพระจักรพรรดิ หลังจากที่ได้เลือกพระจักรพรรดิแล้ว ประชาชนก็คัดเลือกบุคคลที่ฉลาดและสามารถคนอื่นๆ เป็นเสนาบดี….แล้วประชาชนก็จัดแบ่งอาณาจักรทั้งหมดออกเป็นแคว้นต่างๆ และตั้งเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ขึ้น….ในที่สุดพวกประชาชนก็คัดเลือกบุคคลที่ลาดและมีความสามารถเป็นหัวหน้าหมู่ของตน

บ้านเมืองในทรรศนะของม่อจื๊อนั้น มีขั้นตำแหน่งลดหลั่นกันมาอย่างเห็นได้ชัด บนยอดของรูปแบบการปกครองนั้น คือพระจักรพรรดิ โดยเสนาบดีสามคนเป็นผู้ช่วยเหลือ โดยเสนาบดีแต่ละคนมีหน้าที่ทางบริหารแตกต่างกันออกไป แล้วอาณาจักรทั้งหมดจะมีการแบ่งออกเป็นแคว้นต่างๆ มีเจ้านายปกครองแคว้นแต่ละแคว้น ซึ่งมีหัวหน้าประชาชนเข้ามาอยู่เป็นผู้ช่วยเหลือพระจักรพรรดิ์ เสนาบดี เจ้าผู้ปกครองแคว้น และหัวหน้าหมู่บ้านทั้งหมดนี้ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งขึ้นตามเจตน์จำนงของประชาชน เพื่อช่วยประชาชนให้มีความเป็นอยู่อันสุขสบายพ้นจากความวุ่นวายและความไม่สงบทั้งปวง โดยวิธีการอันนี้ ม่อจื๊อเห็นว่าบ้านเมืองหรือรัฐนั้นเกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของมนุษย์ ทรรศนะของม่อจื๊อที่กล่าวนี้ แตกต่างจากทรรศนะของขงจื๊อผู้สอนว่า “สวรรค์เป็นผู้กำหนดให้ประชาชนอยู่เบื้องต่ำ และสร้างผู้เป็นใหญ่และครูอาจารย์ไว้ให้ประชาชน” ฉะนั้นถ้าเราจะเรียกว่า ทฤษฎีการเมืองของขงจื๊อเป็น “ทฤษฎีเทวสิทธิ divine theory” แล้ว ทฤษฎีการเมืองของม่อจื๊อก็คือ “ทฤษฎีสัญญาประชาชน social contract”

ฉะนั้น ก่อนที่จะมีรัฐขึ้นนั้น ประชาชนมีแต่ความทุกข์และความปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะว่า ความคิดเรื่องผิดชอบชั่วดีนั้นมีแตกต่างกันมากมายเหลือเกิน เมื่อมีการจัดตั้งรัฐขึ้นแล้ว มนุษย์ยอมมอบความคิดเห็นของตนให้อยู่ภายใต้คำสั่งของผู้เป็นใหญ่ในการปกครอง ทั้งนี้เพื่อโลกจะได้มีความสงบสุข ม่อจื๊อได้อธิบายถึงความจำเป็นในการที่จะต้องการจัดตั้งรัฐเช่นนี้ขึ้น  ดังข้อความต่อไปนี้

ทีนี้ เหตุผลที่ว่าทำไมผู้มีอำนาจจึงไม่สามารถควบคุมผู้น้อยได้ และผู้น้อยไม่ยอมเชื่อฟังผู้มีอำนาจนั้น เหตุผลนั้นคืออย่างไร?…เหตุผลนั้น คือเพราะว่ามีความเห็นแตกแยกกันในเรื่องของความคิดเกี่ยวกับความผิดชอบชั่วดี…ถ้าบุคคลคนหนึ่งได้รับรางวัลจากผู้มีอำนาจ และขณะเดียวกันบุคคลผู้นั้นกลับถูกประชาชนประณามแล้ว การให้รางวัลจะไม่ส่งเสริมให้ประชาชนทำคุณงามความดีเลย…ถ้าบุคคลคนหนึ่งถูกผู้มีอำนาจลงโทษ แต่ขณะเดียวกันประชาชนยกย่องเขา การทำโทษนั้นก็จะไม่เป็นการปราบคนไม่ให้กระทำความชั่วได้เลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าสาเหตุของการที่การให้รางวัลของผู้มีอำนาจไม่เป็นเครื่องกระตุ้นคนให้ทำความดีได้ และการทำโทษของผู้มีอำนาจไม่อาจปราบคนให้งดเว้นการทำความชั่วได้นั้น ก็คือ การมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็นหลายความคิดนั่นเอง

ทรรศนะของม่อจื๊ออันเป็น คล้ายคลึงกันกับสิ่งที่ฮอบส์อธิบายว่าเป็น “เชื้อโรคแห่งสาธารณรัฐ…ที่เกิดจากพิษของทฤษฎีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทฤษฎีอันหนึ่งในบรรดาทฤษฎีเหล่านี้คือบุคคลทุกคนเป็นผู้วินิจฉัยสิ่งผิดชอบชั่วดีตามใจของตนเอง ทรรศนะที่ว่านี้ชักนำม่อจื๊อไปสู่ ทฤษฎีทางการปกครองของเขา  ที่เรียกว่า “ทฤษฎีแห่งการคล้อยตามกับเบื้องบน” ทรรศนะของม่อจื๊อเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ มีกล่าวไว้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายดังนี้

หัวหน้าของครอบครัว คล้อยตามคำสั่งของพระจักรพรรดิ จะเป็นผู้ผนึกความคิดเห็นต่างๆ ของครอบครัวของตน และชักนำบุคคลในครอบครัวของตนให้คล้อยตามผู้นำหมู่บ้านของตน ผู้นำหมู่บ้านของแต่ละหมู่บ้านจะชักนำประชาชนในหมู่บ้านของตนให้คล้อยตามเจ้าผู้ครองแคว้น และในขั้นสุดท้าย เจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายจะชักนำประชาชนของแคว้นของตนให้คล้อยตามกับพระจักรพรรดิ

นี้คือ ลักษณะของรัฐในอุดมคติของม่อจื๊อ…คือรัฐที่มีความสอดคล้องต้องกันเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งต่อมา ซุ่นจื๊อ (Hsun Tzu) ได้วิจารณ์ทฤษฎีของม่อจื๊อไว้ในบทนิพนธ์เรื่องซุ่นจื๊อ ของเขาว่า

ม่อจื๊อนั้น มองเห็นแต่ความคิดที่เป็นแบบฉบับอันเดียวกันเท่านั้น แต่มองไม่เห็นคุณค่าของเอกัตถภาพของบุคคลเลย

เนื่องจากเหตุผลที่ว่า รัฐนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อระงับความโกลาหลวุ่นวาย อันเป็นผลที่เกิดจากความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ฉะนั้นม่อจื๊อจึงมีความเห็นว่า รัฐนั้นต้องมีอำนาจเต็มที่และอำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นจะต้องเป็นอำนาจอันสิทธิขาด ฉะนั้นวัตถุประสงค์อันสำคัญของรัฐ คือ “การผนึกความคิดให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” กล่าวคือ จะต้องสร้างแบบฉบับของความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้น แล้วปราบความคิดเห็นที่แตกต่างกันให้หมดสิ้นไป ในทฤษฎีแห่ง “การคล้อยตามกับเบื้องบน” นั้น ม่อจื๊อ ย้ำความสำคัญว่า

เมื่อบุคคลใดได้ยินเรื่องดีหรือร้ายก็ตาม จะต้องรายงานให้ผู้เป็นใหญ่เหนือขึ้นไปของตนให้ทราบ สิ่งใดที่ผู้เป็นใหญ่พิจารณาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทุกคนจะต้องเห็นว่าถูกต้องตาม สิ่งใดที่ผู้เป็นใหญ่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ผิด ทุกคนจะต้องเห็นว่าผิดตามด้วย

ทรรศนะเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงลักษณะอันสำคัญของปรัชญาม่อจื๊อเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความโกลาหลวุ่นวายในทางการเมือง และความระส่ำระสายทางสังคมของยุคสมัยแห่งการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ ด้วย อันเป็นเหตุที่ทำให้สามัญชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นชอบกับการปกครองที่รวมอำนาจไว้ในส่วนกลาง อันเป็นทรรศนะที่ประกาศเผยแผ่โดยม่อจื๊อ นักปรัชญาแห่งสามัญผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเขา

บทวิจารณ์
กล่าวโดยสรุปแล้ว ม่อจื๊อประกาศเผยแพร่ทฤษฎีความคิดเพื่อสร้างสังคมของมนุษย์ในอุดมคติขึ้น โดยอาศัยหลักคำสอนเรื่อง “จงมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และจงแสวงหาสวัสดิภาพเพื่อบุคคลอื่น” ม่อจื๊อประณามการทำสงครามรุกรานบุคคลอื่นว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และต่อต้านกับขนบธรรมเนียม ในการจัดพิธีการทำศพที่ฟุ่มเฟือย หรูหรา พิธีการอันวิจิตรพิสดาร และแม้กระทั่งการดนตรี ว่าเป็นสิ่งชักจูงบุคคลให้เหินห่างจากการทำงาน ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แต่ม่อจื๊อยอมรับในความอ่อนแอของมนุษย์และพยายามจะใส่หลักคำสอนเรื่องความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ลงในรูปแบบของผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ และในรูปแบบของพระจักรพรรดิผู้ปกครองอาณาจักรบนผืนโลก ด้วยการบัญญัติให้มีการลงโทษและการตอบแทนคุณความดีขึ้น ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์และพระจักรพรรดิบนผืนโลกก็จะสามารถชักจูงประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎแห่ง “มหาประโยชน์อันยิ่งใหญ่เพื่อชาวโลก” ได้ ซึ่งม่อจื๊อยืนยันว่า มหาประโยชน์อันยิ่งใหญ่เพื่อชาวโลกนั้น ประกอบด้วยโภคทรัพย์และประชากรเป็นสำคัญ

ถ้าหากเราจะประเมินคุณค่าของปรัชญาของม่อจื๊อ ให้เป็นไปอย่างยุติธรรมแล้ว เราจะต้องเข้าใจขอบเขตของหัวใจของระบบปรัชญาของม่อจื๊อเสียก่อน วิธีการที่จะทำความเข้าใจหัวใจของปรัชญาม่อจื๊อนั้น คือ การเปรียบเทียบพิจารณาดูทรรศนะต่างๆ ที่นักปราชญ์จีนในปัจจุบันวิพากษ์วิจารณ์ม่อจื๊อไว้ ท่านเหล่านี้ได้วิจารณ์ทฤษฎีการปกครองของปรัชญาของม่อจื๊อไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

เซี่ย เซิ้ง หยิว (Hsia Ts’eng You) ในหนังสือของเขาเรื่องประวัติศาสตร์ของจีน (History of China) เล่มที่ 1 แสดงความเห็นของเขาว่า ทรรศนะความคิดที่เป็นหลักปรัชญาของม่อจื๊อนั้น ยึดหลักความเชื่อถือทางศาสนาของม่อจื๊อ เป็นประการสำคัญ

ความเชื่อถือของมนุษย์ในเรื่องการมีเทพยดาฟ้าดินนั้น ได้เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของมนุษย์ไปเป็นอย่างมาก เมื่อมนุษย์มีความเชื่อในเทพยดา ฟ้าดิน มนุษย์จะไม่สนใจในเรื่องของชีวิตและความตายนัก มนุษย์พร้อมที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น และเสียสละเพื่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นม่อจื๊อ จึงแตกต่างไปจากขงจื๊อ ผู้ถือว่า ชีวิตนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทั้งปวง

เหลียง จี้-ฉา (Liang Chi-ch’as) ในหนังสือของเขาเรื่องการศึกษางานนิพนธ์ของม่อจื๊อ (A Study in the Works of Mo Tzu) นั้นยืนยันว่า สาระสำคัญของปรัชญาม่อจื๊อนั้น คือหลักคำสอนเรื่อง ความรักความเมตตาที่มีต่อมนุษย์ทั้งปวง หรือความรักสากลที่เท่าเทียมกัน

เม่งจื๊อ กล่าวว่า “ม่อจื๊อ ประกาศเผยแพร่คำสอนเรื่องความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง และพร้อมที่จะยอมทนทุกข์ทรมาน ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์” ที่จริงแล้ว คำกล่าวนี้ในเนื้อแท้แล้ว ก็คือ คำสอนทั้งหมดของม่อจื๊อ หลักคำสอนเรื่องการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่นนั้น ก็พัฒนาขึ้นมาจากคำสอนเรื่อง ความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวงนั้นเอง แม้กระทั่ง คำสอนเรื่อง “การประหยัดและการใช้จ่าย” เรื่อง “การทำพิธีเผาศพแบบง่ายเรียบ” และเรื่อง “การปฏิเสธความเชื่อในชะตากรรมของชีวิต” เหล่านี้ทั้งหมดต่างมีกำเนิดมาจากคำสอนที่สำคัญนี้ประการเดียวเท่านั้น

หู ซี่ (Hu Shih) ในหนังสือเรื่อง เค้าโครงแห่งประวัติของปรัชญาจีน (An Outline of the History of Chinese-Philosyphy) นั้นยืนยันว่า วิธีการปฏิบัติเพื่อประสิทธิผลของม่อจื๊อนั้น คือสาระสำคัญของปรัชญาของม่อจื๊อ ตามความเห็นของ หู ซี่ นั้น ความสำคัญของม่อจื๊อในประวัติของปรัชญาจีนนั้น อยู่ที่ปรัชญาปฏิบัตินิยม (Pragmatism) ของม่อจื๊อนั้นเอง ซึ่งม่อจื๊อนำเอาหลักประสิทธิผลนี้มาใช้เป็นหลักการทดสอบการกระทำทั้งหลายของมนุษย์ ว่ามีลักษณะผิดชอบชั่วดีอย่างไร ส่วนทรรศนะอื่นๆ ของม่อจื๊อนั้น เช่น ความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง การไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่น การใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์และการปฏิเสธความเชื่อในเรื่องชะตากรรมนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องทางภาคปฏิบัติเฉพาะกรณีเท่านั้นเอง

หู โผ่ อัน (Hu P’o-an) ในหนังสือของเขาเรื่อง คำสอนของม่อจื๊อ (The Teachings of Mo Tzu) นั้น ได้แสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะแตกต่างออกไปคือว่า ปรัชญาของม่อจื๊อนั้นยึดหลักของการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่น เขากล่าวว่า ม่อจื๊อมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ประเทศจีนอยู่ในความระส่ำระสาย และความทุกข์ยากลำบาก ฉะนั้นม่อจื๊อจึงประกาศสั่งสอนหลักการที่จะนำมาซึ่งความสมบูรณ์ มั่งคั่งของสังคม ด้วยเหตุนี้ ม่อจื๊อจึงแบ่งคำสอนของตนออกเป็นสองภาค ภาคที่หนึ่งย้ำความสำคัญทางจิตใจ คือ คำสอนเรื่องความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง ทฤษฎีแห่งการคล้อยตามเบื้องบน และเจตจำนงของสวรรค์ อีกภาคหนึ่งนั้นเน้นความสำคัญทางวัตถุอันประกอบด้วย คำสอนเรื่อง การใช้จ่ายแบบมัธยัสถ์ การทำพิธีศพแบบเรียบง่าย และการปฏิเสธความเชื่อในเรื่องชะตากรรม

แท้ที่จริงแล้ว ความสำคัญของม่อจื๊อในประวัติของจีนนั้นอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่า ม่อจื๊อเป็นผู้คิดคำสอนเรื่อง ความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวงขึ้นมา อันเป็นปรัชญาที่ยากแก่การจำกัดขอบเขตเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าคำสอนนี้ได้ขยายกิ่งก้านสาขาออกไปแทรกซึมอยู่ในคติความคิด และการประพฤติปฏิบัติทั้งหมดทุกสาขา หลักคำสอนและทฤษฎีความคิดของม่อจื๊อ ทั้งหมดนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน ยกตัวอย่างเช่น ทฤษฎีคำสอนชิ้นเยี่ยมของเขาเรื่อง ความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง ไม่อาจจะแยกออกจากคำสอนเรื่องการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่นได้ ในทำนองเดียวกัน ความเชื่อถือทางศาสนาของม่อจื๊อ และทฤษฎีทางการเมืองของเขาก็ไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ เพราะฉะนั้น ปรัชญาของม่อจื๊อ จึงเป็นระบบความคิดที่มีระเบียบ มีเหตุผลสืบเนื่องกันเป็นอย่างดี ในท่ามกลางระบบความคิดที่ประสานสัมพันธ์กันอย่างดีนั้น ความคิดที่ยืนเด่นเป็นจุดศูนย์รวมของทรรศนะทั้งหมดของม่อจื๊อ ก็คือ ปรัชญาสาธารณประโยชน์นิยม ปรัชญาอันนี้เป็นหลักทดสอบทรรศนะทั้งหลายของม่อจื๊อทั้งหมด แต่เราจะต้องระลึกว่าม่อจื๊อนั้นไม่ได้เป็นผู้แสดงแต่หลักแห่งสาธารณประโยชน์ ที่เป็นหลักในลักษณะนามธรรมเท่านั้น แต่ยังได้แสดงทรรศนะของตนออกเป็นรูปธรรมแห่งสังคม รัฐ และศาสนาอีกด้วย

ความสำคัญของปรัชญาของม่อจื๊อ ในส่วนรวมที่เรียกว่าสาธารณประโยชน์นิยมนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับปรัชญาประโยชน์นิยมของเบนแทม (Bentham) คือเป็นการค้นพบวิธีการปฏิบัติมากว่าการค้นพบหลักการ แต่ปรัชญาของม่อจื๊อนั้น อาจมีลักษณะเป็นสาธารณประโยชน์นิยมมากเกินไป เพราะว่า เขาได้ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อที่จะสถาปนาสังคมที่เป็นอุดมคติขึ้นบนรากฐานของหลักการแห่งสาธารณประโยชน์นิยม ในบทนิพนธ์เรื่อง ซุ่น จื๊อ นั้นมีข้อความว่า

ม่อจื๊อ หลงใหลอยู่แต่เรื่องปรัชญาประโยชน์นิยม
จนมองไม่เห็นความงดงามของวัฒนธรรม

ในที่นี้ คำว่า “วัฒนธรรม” นั้นนำมาใช้ในความหมายของคำว่า “สิ่งประณีตสวยงาม”

ในบทนิพนธ์เรื่อง จวงจื๊อ มีข้อความปรากฏว่า

มนุษย์จะต้องร้องเพลง แต่ม่อจื๊อประนามการร้องเพลงของมนุษย์ มนุษย์จะต้องร้องคร่ำครวญ แต่ม่อจื๊อประนามการร้องคร่ำครวญของมนุษย์ มนุษย์จะต้องแสดงความยินดี แต่ม่อจื๊อประนามการแสดงความปิติยินดีของมนุษย์ ความรู้สึกเช่นนั้นของม่อจื๊อนั้นจะไม่เป็นการขัดกับธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์ไปหรือ?

…..ตรงกันข้ามกับความคิดของม่อจื๊อ มนุษย์ไม่สามารถจะทนต่อสภาพการณ์เช่นนั้นได้ ถึงแม้ว่าม่อจื๊อเองอาจจะทนต่อสภาพการณ์เช่นนั้นได้ แต่ม่อจื๊อจะเอาชนะความเกลียดชังของมนุษย์โลกโดยทั่วไป ได้อย่างไรกันเล่า?

นี้คือ ถ้อยคำที่เป็นการทำนายของจวงจื๊อ ว่าลัทธิปรัชญาของม่อจื๊อนั้น จะต้องประสบกับความล้มเหลวลงอย่างแน่นอน…..และแล้วคำทำนายของจวงจื๊อ….ก็เป็นความจริงสมกับคำทำนายทุกประการ

ที่มา:สกล  นิลวรรณ