ชีวิตและงานนิพนธ์ของซุ่นจื๊อ

Socail Like & Share

ซุ่นจื๊อ
ธรรมชาติของมนุษย์ คือ ความชั่วช้าสามานย์
ส่วนความดีงามนั้นเป็นสิ่งที่หามาได้ในภายหลัง
ซุ่นจื๊อ บทที่ 23

ซุ่นจื๊อ เป็นผู้สนับสนุนคำสอนของขงจื๊อ และขณะเดียวกันก็เป็นนักวิจารณ์เม่งจื๊อพร้อมกันไปด้วย ถ้าจะถือว่า เม่งจื๊อเป็นตัวแทนของปรัชญาฝ่ายจิตนิยมของคำสอนของขงจื๊อแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า ซุ่นจื๊อนั้นเป็นตัวแทนของปรัชญาฝ่ายสัจจนิยมของคำสอนของขงจื๊อ ย้ำความสำคัญของการควบคุมสังคมและมีความเห็นว่า ความอ่อนแอคือธรรมชาติของมนุษย์ เราพบว่าซุ่นจื๊อถึงแม้จะเป็นผู้ป้องกันคำสอนของขงจื๊ออย่างเข้มแข็ง แต่ก็เป็นผู้ที่ยกย่องหน้าที่และสิทธิพิเศษของรัฐ อันเป็นทรรศนะนิยมของนักปรัชญาฝ่ายนิติธรรม (Legalists) ซึ่งเป็นปรัชญาที่มีอิทธิพลอย่างสูงในรัชสมัยของพระเจ้า ฉิ๋น ซี ฮ่วง ตี้ ซึ่งเป็นพระจักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์ฉิ๋น ความสำคัญของซุ่นจื๊อนั้นอยู่ที่ว่าเขาเป็นบุคคลที่มีความสามารถไม่แต่เพียง สรุปย่อคติความคิดทั้งปวงของขงจื๊อไว้ได้หมดเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่รับเอาคติความคิดที่ดีที่สุดของสำนักปรัชญาอื่นๆ ดังเช่นคติความคิดของปรัชญาเต๋าคติความคิดของปรัชญานิติธรรม และแม้กระทั่งปรัชญาของม่อจื๊อ เข้ารวมไว้ในคำสอนของตนด้วย ในการกระทำเช่นนั้น เขาเป็นผู้สรุปอัจฉริยะทางสติปัญญาของอดีตกาลที่มีอยู่ในสมัยที่มีการสร้างสรรค์อย่างยิ่งที่สุดไว้เพื่อถ่ายทอดเป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังต่อๆ ไป

ชีวิตและงานนิพนธ์
ซุ่นจื๊อนั้น มีชื่อตัวว่า ขวง (K’uang) แต่เขายังเป็นที่รู้จักกันในนามของ ซุ่นชิง (Hsun Ch’ing) อีกชื่อหนึ่ง เขาเป็นชาวเมืองแคว้นเจา (Chao) อยู่ติดกับมณฑลชานสีอันเป็นทางผ่านของพวกฮั่น พวกเตอร์กและพวกมงโกล ในการเดินทางมาสู่เมืองจีน เขามีชีวิตอยู่ในปีไหนนั้นยังไม่เป็นที่รู้กันแจ่มชัด แต่ชีวิตการงานของเขานั้น ส่วนใหญ่มีปรากฏในศตวรรษที่สาม ก่อน ค.ศ. ทำนองเดียวกันกับนักปรัชญาจีนคนอื่นๆ ที่เราได้ศึกษามาแล้วคือ ซุ่นจื๊อมีความสนใจในเรื่องการปกครองบ้านเมืองที่ดี แต่เขามีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่มีความปั่นป่วนทางสังคมและทางการเมืองมากยิ่งกว่ายุคสมัยของเม่งจื๊อเสียอีก เม่งจื๊อ ตามที่เราได้ทราบมานั้น ได้ประกาศแสดงทรรศนะของตนในเมืองหลวงของแคว้นต่างๆ หลายแห่ง ว่า “พื้นฐานอย่างเดียวเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของชาติได้คือ การมีมนุษยธรรมและการยึดมั่นอยู่ในหลักของศีลธรรม” แต่คำสอนอันสำคัญของเม่งจื๊อไม่สามารถจะดึงดูดความสนใจของเจ้าครองแคว้นศักดินาทั้งหลาย ซึ่งมีความสนใจอยู่แต่เพียงการแสวงหาความทะเยอทะยานส่วนตนเท่านั้นได้ ยุคสมัยของซุ่นจื๊อก็มีลักษณะที่คล้ายกันกับยุคสมัยของเม่งจื๊อ เพียงแต่ว่าเลวร้ายยิ่งกว่านั้นอีกเท่านั้น เพราะฉะนั้น ปรัชญาของซุ่นจื๊อจึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงภาวะการแห่งยุคสมัยนั้น

เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของซุ่นจื๊อไม่เป็นที่รู้กันมามากนัก ในวัยเยาว์นั้น
ซุ่นจื๊ออยู่ในแคว้นเย็น (Yen) พระเจ้าแผ่นดินของแคว้นนั้นมีความทึ่งในสติปัญญาของซุ่นจื๊อเป็นอย่างยิ่งแต่ลังเลพระทัยที่จะรับเอาซุ่นจื๊อมาปฏิบัติงานราชการของพระองค์ ดังนั้นซุ่นจื๊อถึงอุทิศตนให้กับการค้นคว้าหาความรู้และการสอนจนกระทั่งเขามีอายุได้ห้าสิบปี เขาจึงได้รับคำเชิญจากแคว้นฉี๋ (Ch’i) ในตอนต้นของสมัยศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. นั้น แคว้นฉี๋ถูกลิดรอนอำนาจลงจากการเป็นแคว้นใหญ่ที่สำคัญ แต่พระเจ้าแผ่นดินของแคว้นฉี๋ คือ พระเจ้าเสียง (Siang) ก็ยังคงเปิดประตูราชสำนักต้อนรับผู้มีสติปัญญา ผู้สัญจรไปมาอยู่เสมอ พระองค์ยกย่องซุ่นจื๊อโดยมีการจัดพิธีการต้อนรับ ยกย่องคำสอนของซุ่นจื๊อ และขอคำแนะนำปรึกษาต่างๆ จากซุ่นจื๊อดูเหมือนว่าโอกาสนี้จะเป็นครั้งแรกของซุ่นจื๊อที่ได้เข้าไปมีบทบาทกับกิจการของบ้านเมือง แต่พวกเสนาบดีและข้าราชการสำนักทั้งหลาย เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ซุ่นจื๊อได้รับตำแหน่งสำคัญในราชสำนัก รู้สึกว่าพวกเขาจำเป็นจะต้องต่อต้านกับอิทธิพลของซุ่นจื๊อ จึงแพร่ข่าวลือที่เป็นไปในทางเสื่อมเสียแก่ซุ่นจื๊อ ซุ่นจื๊อจึงสลัดตำแหน่งทิ้งแล้วเดินทางต่อไปยังแคว้นฉู๋ (Ch’u) ด้วยคำแนะนำของ ชุน ซุ่น จุน (Ch’un Sun-chun) อัครเสนาบดีของแคว้นฉู๋ ซุ่นจื๊อ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาของเมือง หลาน-หลิง (Lan-ling) ซุ่นจื๊อมีความคิดคล้ายกันกับขงจื๊อว่า ผู้เป็นใหญ่ปกครองบ้านเมืองนั้นสามารถเอาชนะจิตใจของชาวเมืองของแคว้นที่เป็นศัตรูได้ด้วยการมีอุปนิสัยที่ทรงคุณธรรมมากกว่าการจะใช้กำลังอาวุธเข้าไปปราบปราม ซุ่นจื๊อมีความคิดคล้ายกับเม่งจื๊อว่า ประชาชนพลเมืองที่มีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจดี มีความสุข มีความพอใจในสภาพของตนนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญของการปกครองบ้านเมืองที่ดี แต่มรณกรรมของ ชุน ซุ่น จุน ทำให้ซุ่นจื๊อต้องอำลาจากชีวิตทางการเมืองของเขาอีกครั้งหนึ่งถึงแม้ว่าครั้งนี้เขาจะไม่เดินทางออกไปจากแคว้นฉู๋เลย

ในเมืองหลาน-หลิง ซุ่นจื๊อมีชีวิตห้อมล้อมไปด้วยกลุ่มนักศึกษาหนุ่ม นักศึกษาของเขาบางคนมีความเจริญก้าวหน้า เป็นผู้มีชื่อเสียงก็มี สำหรับชีวิตในช่วงที่เหลืออยู่นั้น ซุ่นจื๊ออุทิศตนให้แก่การสอนนักศึกษาหนุ่มๆ และแก่งานทางวรรณกรรม

ฉะนั้นวิถีชีวิตของเขาจึงละม้ายคล้ายกับวิถีชีวิตของขงจื๊อมาก การที่ได้เห็นความเสื่อมโทรมของยุคสมัยของเขาทำให้เขาเศร้าใจ ชักนำให้เขาไปสู่ชีวิตแห่งการเป็นนักปฏิรูปสังคมและการเมือง ขั้นแรก เขาพยายามจะบรรลุวัตถุประสงค์ของตนโดยการเข้าไปมีส่วนในการเมือง เพื่อจะวางแบบอย่างที่ดีงามของการปกครองบ้านเมือง และโดยการสั่งสอนทฤษฎีปรัชญาของตนให้แก่คนหนุ่ม แต่เขาประสบความสำเร็จน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ซุ่นจื๊อก็ยังเป็นคนที่มองโลกในแง่งามอยู่ โดยมีความเห็นยืนยันว่า มนุษย์นั้นสามารถสร้างตนให้เป็นนายที่สามารถกำหนดชะตากรรมของสังคมได้

คำสอนและบุคลิกภาพของขงจื๊อ ประกอบกันเป็นแรงบันดาลใจทางสติปัญญาอันสำคัญยิ่งแก่ชีวิตของเขา ซุ่นจื๊อกล่าวว่า

ขงจื๊อ เป็นผู้มีมนุษยธรรมและทรงคุณปัญญา

ท่านไม่ใช่บุคคลผู้มืดบอด
ฉะนั้นท่านจึงเข้าใจเต๋า และควรแก่การยกย่องเสมอเหมือนกษัตริย์นักปราชญ์แต่โบราณ

อย่างไรก็ตาม ซุ่นจื๊อมีลักษณะแตกต่างจากเม่งจื๊อในเรื่องทรรศนะที่สำคัญๆ หลายประการ ซุ่นจื๊อปฏิเสธคำสอนของเม่งจื๊อที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความดีงามมาแต่กำเนิด เขาโต้แย้งว่ามนุษย์นั้นมีความชั่วช้าสามานย์เป็นธรรมชาติของตน อันเป็นความคิดเห็นที่เป็นผลมาจากสภาพของความเสื่อมโทรมทางสังคมและการเมืองอย่างเลวทรามยิ่งของยุคสมัยของเขาและในส่วนที่เกี่ยวกับสวรรค์นั้น ซุ่นจื๊อมีความโน้มเอียงไปในแนวคิดของปรัชญาเต๋า ที่มีลักษณะภาวะเป็นธรรมชาติ ไม่มีตัวตน เขากล่าวว่าสวรรค์นั้นไม่ใช่อะไรอื่น คือ กฎแห่งธรรมชาติอันถาวรนั้นเอง

ดวงตาทั้งหลายโคจรไปตามวัฏจักรของมัน
ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ สลับกันให้แสงสว่าง
ฤดูกาลทั้งสี่ สืบเนื่องติดต่อกันไป
หยิน และ หยัง ต่างจับคู่ผสมผสานกันตลอดเวลา
ลมและฝน เกิดกระจัดกระจายไปทั่ว
สรรพสิ่งทั้งปวงต่างมีวิถีชีวิตของมัน ประสานกันไปอย่างสงบสุข

ซุ่นจื๊อ เป็นนักการศึกษาชั้นยอด ในบรรดาสานุศิษย์ของเขานั้นมีอยู่สองคนที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างที่สุด คือ หลี ซู่ (Li Ssu) ซึ่งเป็นอัครเสนาบดีของพระจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฉิ๋น และ ฮั่น เฟย (Han Fei) นักปรัชญาสำนักนิติธรรมผู้มีชื่อเสียง บุคคลทั้งสองนี้ ยืนหยัดต่อสู้เพื่อการปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการอย่างเข้มงวด และเพื่อการใช้กฎหมายเป็นโครงสร้างที่นำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคม ผลของคติความคิดของบุคคลทั้งสองนี้ ปรากฏออกในรูปของ วิธีการอันเข้มแข็งที่ผนึกกำลังกัน นำมาซึ่งชัยชนะของราชวงศ์ ฉิ๋น จนสามารถกลายเป็นราชวงศ์ที่มีพลังอำนาจอันสำคัญทางวัฒนธรรมและการบริหารบ้านเมืองจนสามารถรวมเป็นอาณาจักรเดียวกันได้ คติความคิดของสานุศิษย์ของซุ่นจื๊อนี่เอง ที่ทำให้สาวกของปรัชญาขงจื๊อ กล่าวหา ซุ่นจื๊อว่าเป็นผู้ถางทางให้แก่ปรัชญานิติธรรม ได้มีอิทธิพลเหนือสำนักปรัชญาอื่นๆ จนทำให้เกิด “การเผาตำราต่างๆ ทิ้งหมดในปี 213 ก่อน ค.ศ. ซุ่นจื๊อ ถึงแก่กรรมลงประมาณ ปี 238 ก่อน ค.ศ.

คำสอนทั้งหมดของซุ่นจื๊อ มีบันทึกไว้ในหนังสือบทนิพนธ์ที่ใช้ชื่อของเขาเป็นชื่อ แต่เดิมนั้น บทนิพนธ์ซุ่นจื๊อมีบทความทั้งหมดอยู่สามร้อยยี่สิบสองบท แต่หลังจากที่ได้ชำระตรวจสอบแล้ว จำนวนบทความตามที่ได้ชำระแก้ไขโดย หยาง จิง (Yang Ching) ในสมัยราชวงศ์ถัง (T’ang) นั้นมีอยู่เพียงสามสิบสองบท

เพื่อวัตถุประสงค์ในการปภิปราย เราจะแบ่งทรรศนะของซุ่นจื๊อออกเป็นสี่หัวข้อ คือ ธรรมชาติของมนุษย์ ความอยากของมนุษย์ ความรู้และการเมือง ทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์นั้น รวมเอาทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาเข้าไว้ด้วย เพราะว่าเราจะได้เห็นต่อไปว่า ซุ่นจื๊อนั้นเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในด้านความสามารถในการเรียนรู้ มากกว่าความสามารถที่มีมาแต่กำเนิด ทฤษฎีเรื่องความอยากของมนุษย์นั้น เป็นพื้นฐานของปรัชญาทั้งหมดของซุ่นจื๊อ เพราะฉะนั้นจึงรวมเอาเรื่องของจารีตประเพณีและดนตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างจิตใจของคนให้เป็นระเบียบ และกล่อมเกลาความต้องการต่างๆ ของมนุษย์เข้าไว้ด้วย ทฤษฎีของความรู้นั้น ว่าด้วยธรรมชาติของสัจภาวะของสรรพสิ่งทั้งปวงที่มีรูปกาย ปรากฏการณ์ที่สัมผัสได้ รวมทั้งทฤษฎีที่เกี่ยวกับจิตใจและทฤษฎี “ปฏิบัติตนให้ตรงกับชื่อ” การเมืองนั้นรวมเรื่องของจริยศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ในเรื่องของการเมืองที่รวมเอาจริยศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน จะเห็นว่าทรรศนะของซุ่นจื๊อนั้นมีความคล้ายคลึงกันกับทรรศนะของอริสโตเติลอย่างเห็นได้ชัดเจน นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ต่างสร้างทฤษฎีความคิดของตนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ลักษณะและความเป็นไปทำให้เกิดการผันผวนแก่รัฐเหมือนกันทั้งสองท่าน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ