ฮั่นเฟยจื๊อกับปรัชญานิติธรรม

Socail Like & Share

ผู้เผยแพร่ปรัชญานิติธรรมและแขนงต่างๆ ของปรัชญานิติธรรม
ปรัชญานิติธรรมไม่ได้เริ่มต้นด้วย ฮั่นเฟยจื๊อ มีนักปราชญ์หลายท่านยืนยันว่า บุคคลผู้เริ่มก่อตั้งปรัชญานิติธรรมนั้นคือ กว้าน ชุง (Kuan Ch’ung) เป็นเสนาบดีผู้มีชื่อเสียงในแคว้นฉี๋ในศตวรรษที่เจ็ด ก่อน ค.ศ. กว้าน ชุง เป็นบุคคลที่แต่เพียงสร้างแคว้นฉี๋ให้เป็นแคว้นที่มั่งคั่งที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในภาคตะวันออก โดยการกำหนดให้มีการเก็บภาษีของเกลือและของแร่เหล็กเท่านั้น แต่ยังได้สถาปนาแบบอย่างที่ดีของการบริหารบ้านเมืองที่ดีมีประสิทธิภาพสูงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้สงสัยไม่แน่ใจอยู่ว่า บทนิพนธ์ทางปรัชญาที่มีชื่อว่า กว้านจื๊อ (Kuan Tzu) นั้น จะถือว่าเป็นบทนิพนธ์ของกว้านชุง หรือไม่ บทนิพนธ์เล่มนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง และวันเดือนปีที่แต่ง แต่เป็นบทนิพนธ์ที่เชื่อกันทั่วไปว่า เป็นผลงานที่ผลิตขึ้นจากนักปราชญ์ของสำนักปรัชญานิติธรรม ในสมัยตอนปลายของยุคการสงครามของแคว้นต่างๆ คือ ประมาณปี 250 ก่อน ค.ศ. ตามหมายเหตุในหนังสือรายการบันทึกประวัติศาสตร์ (Catalog) ของ ลู่ ซิน (Liu Hsin) ที่รวบรวมขึ้นประมาณ ปี ค.ศ. 1 นั้น กล่าวว่า บทนิพนธ์ กว้านจื๊อนั้น ประกอบด้วยบทความแปดสิบหกบทด้วยกัน ซึ่งในขณะปัจจุบันได้สูญหายไปสิบบทความ ที่จริงแล้ว กว้านชุงเป็นเสนาบดีนักปฏิบัติ กว้านชุงย้ำความสำคัญของจรรยามารยาท ความยุติธรรม ความสุขุมรอบคอบ และการควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันเป็นแบบฉบับของคติความคิดของคนในยุคสมัยฤดูใบไม้ร่วง กว้านชุงนิยมในวิธีการปกครองที่เข้มงวด ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ของปรัชญานิติธรรม ด้วยเหตุนี้ ฐานะของกว้านชุง ในสำนักปรัชญานิติธรรมนั้นจึงมีความสำคัญคล้ายคลึงกับฐานะของ โจว กุง (Chou Kung) หรือ พระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว ในลัทธิปรัชญาขงจื๊อ ด้วยเหตุผลอันนี้เอง ฮั่นเฟยจื๊อ จึงกล่าวถึง กว้านชุง ด้วยความเคารพ

บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ จื๊อชาน (Tzu-Ch’an) ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีของแคว้นแจ็ง (Cheng) ท่านผู้นี้เป็นผู้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายจีน ฉบับที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกขึ้นในปี 536 ก่อน ค.ศ. เมื่อจื๊อชานมีอำนาจอยู่ในตำแหน่งนั้น ประชาชนทั้งปวงต่างยินดีต้อนรับการปฏิรูปสังคมของเขา ไม่มีบุคคลผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามของเขาแต่อย่างใดเลย แคว้นของเขาเต็มไปด้วยความสงบ เรียบร้อย และเจ้าผู้ครองแว่นแคว้นต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างปฏิบัติต่อแคว้นเจ็งด้วยความนับถืออย่างเหมาะสม

ในการก่อตั้งสำนักปรัชญานิติธรรมนั้น มีบุคคลที่เป็นผู้นำอยูสามคนคือ เซน เต๋า (Shen Tao) แห่งแคว้นเจา (Chao) เซนปูไฮ (Sheu Pu-Hai) แห่งแคว้นฮั่น (Han) และ ชางหยาง (Shang Yang) แห่งแคว้นเว่ย (Wei) บุคคลทั้งสามนี้ต่างเป็นักคิดทางปรัชญา นิติธรรมที่มีชื่อเสียงเด่นมาก เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่สี่ ก่อน ค.ศ. ในแคว้นทางทิศเหนือที่แยกตัวออกไปเป็นอิสระ

บุคคลแรก คือ เซน เต๋า มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า เซน จื๊อ (Shen Tzu) เป็นชาวเมืองของแคว้นเจา วันเดือนปีของการเกิดและการตายของเขาไม่มีผู้ใดทราบ แต่เชื่อกันว่าเขาเป็นคนร่วมสมัยกับเม่งจื๊อ เขาเป็นผู้ที่รู้จักกันในสำนักปรัชญานิติธรรมว่าเป็นผู้เผยแพร่และสนับสนุนหลักการเรื่อง ซี่ (Shih) หรืออำนาจว่าเป็นองค์ประกอบอันสำคัญที่สุดของการเมืองและของการปกครอง ในบทนิพนธ์เรื่อง Han Fei Tzu นั้นมีข้อความอยู่ตอนหนึ่งที่นำมาอ้างจากบทนิพนธ์ของเซนเต๋า ซึ่งแสดงถึงอุทธาหรณ์ที่ดีเกี่ยวกับความคิดเรื่อง ซี่

……คนดี ต้องยอมแก่ คนเลว เพราะว่าเป็นผู้มีอำนาจน้อย และอยู่ในฐานะตำแหน่งต่ำกว่า คนเลวมีอำนาจควบคุมคนดีอยู่ได้ ก็เพราะมีอำนาจสูงกว่า และอยู่ในฐานะตำแหน่งสูงกว่า เมื่อพระเจ้าเย้า (Yao)
กษัตริย์นักปราชญ์เป็นคนธรรมดาสามัญอยู่นั้น พระองค์ไม่สามารถจะควบคุมคนได้แม้แต่เพียงจำนวนสามคน ตรงกันข้าม เมื่อพระเจ้าเจี่ย (Chieh) กษัตริย์ทรชนเป็นพระจักรพรรดินั้น พระองค์สามารถทำให้โลกทั้งหมดต้องสับสนอลหม่าน ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ซี่ (อำนาจ) และตำแหน่งนั้นเป็นของจำเป็น ส่วนความดีและปัญญานั้นเป็นของที่ยึดมั่นอาศัยไม่ได้ เราใช้คันธนูที่อ่อนเพื่อยิงลูกศรให้ขึ้นสูง ถึงแม้ว่าจะมีกำลังลมช่วยพยุงอยู่ ก็ไม่อาจทำได้ คนเลวสามารถใช้อำนาจบังคับ ให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งของตนได้ เมื่อพระเจ้าเย้าเป็นผู้น้อย ประชาชนไม่สนใจฟังคำสั่งของพระองค์เลย แต่เมื่อพระเจ้าเย้าเป็นพระจักรพรรดิ มีคนเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์เป็นอย่างดี และปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์อย่างเคร่งครัด จากเหตุผลดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ความดีและปัญญานั้น ไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อฟังในคำสั่งได้ แต่ ซี่ หรืออำนาจและตำแหน่งหน้าที่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อฟังคำสั่งได้

แง่คิดนั้นคือว่า ซี่ คือสิ่งที่ทำให้นักการปกครองสามารถปกครองได้ อำนาจนี้เองคือ สิ่งที่กล่าวถึงในบทนิพนธ์ของกว้าน จื๊อ

เมื่อเจ้าแผ่นดินทรงมีปัญญาและการปกครองบ้านเมืองด้วยอำนาจเด็ดขาด เสนาบดีทั้งหลายก็งดเว้นจากการทำความชั่ว พวกเสนาบดีไม่กล้าทรยศต่อเจ้าแผ่นดิน ทั้งนี้มิใช่เพราะว่าพวกเสนาบดีมีความรักในเจ้าแผ่นดินก็หาไม่ แต่เป็นเพราะพวกเขาเกรงกลัวในพระราชอำนาจ ประชาชนทั้งหลายพร้อมที่จะรับใช้เจ้าแผ่นดิน มิใช่เพราะว่าประชาชนมีความรักต่อเจ้าแผ่นดิน ก็หาไม่ แต่เป็นเพราะว่า พวกประชาชนเกรงกลัวในพระราชอำนาจ ด้วยเหตุนี้ เจ้าแผ่นดินผู้ฉลาด ผู้ปกครองอยู่ในตำแหน่งสูงจึงสามารถปกครองประชาชนพลเมืองได้ พระเจ้าแผ่นดินผู้มีอำนาจอันเด็ดขาด จึงสามารถควบคุมเสนาบดีทั้งหลายได้ ฉะนั้นคำสั่งของพระองค์ จึงมีคนเชื่อฟังและปฏิบัติตาม เจ้าแผ่นดินก็จะได้รับการยกย่อง และเสนาบดีทั้งหลายก็เกรงกลัวในพระราชอำนาจ เพราะฉะนั้น กฎหมายจึงบัญญัติว่า “จงเคารพยกย่องพระเจ้าแผ่นดินและอ่อนน้อมถ่อมตนต่อเสนาบดี ทั้งนี้ มิใช่เพราะเหตุว่ามีความรักชอบพอในตัวท่านเป็นพิเศษอย่างใด แต่เป็นเพราะว่าท่านเหล่านี้ เป็นผู้มีอำนาจอันสูงสุดในแผ่นดิน”

ทฤษฎีที่ย้ำความสำคัญของอำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นรากฐานของพระราชอำนาจอันเด็ดขาดของกษัตริย์ และเป็นทฤษฎีแขนงหนึ่งของปรัชญานิติธรรม

ทฤษฎีอีกแขนงหนึ่งของปรัชญานิติธรรมนั้น มีปรากฏอยู่ในตัวบุคคลของ เซน ปู ไฮ ท่านผู้นี้มีชื่อหนึ่งว่า เซน จื๊อ ท่านเป็นเสนาบดีของแคว้นฮั่น ชีวิตการงานของท่านส่วนใหญ่อยู่ในครึ่งหลังของศตวรรษที่สี่ เซน ปู ไฮ เป็นผู้เผยแพร่ความคิดเรื่อง ซู่ (Shu) ว่าเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอันจะขาดเสียไม่ได้ในการปกครองบ้านเมือง ซู่ นี้คือ ศิลปะในการปกครอง หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ที่นักการปกครองจะต้องใช้เป็นเครื่องมือควบคุมบุคคลในบังคับบัญชา และเพื่อใช้บุคคลเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตน ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องซู่ และการบริหารบ้านเมืองนั้น เซน ปู ไฮ ดูเหมือนจะเจริญรอยตามวิถีทางแห่งปรัชญาเต๋า ในหนังสือเรื่อง Lu Shih Ch’un Ch’iu หรือ ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงของ หลู ปู เว่ย (The Spring and Autumn of Lu Pu-wei) เขียนขึ้นประมาณปี 235 ก่อน ค.ศ. นั้น เราอ่านพบข้อความว่า

เซนปูไฮ กล่าวว่า “…….จงอย่าฟัง แล้วท่านจะได้ยินโดยไม่ต้องมีการฟัง จงปิดตาเสีย แล้วท่านจะเห็นโดยไม่ต้องมองดู จงทิ้งสติปัญญาเสีย แล้วท่านจะเป็นเหมือนคนที่ปราศจากความรู้ การละทิ้งสิ่งทั้งสามนี้ให้หมด คือ วิถีทางของการปกครอง การถือเอาสิ่งทั้งสามนี้ คือ วิถีทางของอนาธิปไตย หู ตา และสติปัญญา เป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ สิ่งที่เราศึกษาเอาจากสิ่งทั้งสามนี้เป็นความรู้ที่บกพร่องและไม่พอเพียง สิ่งที่บกพร่องและไม่พอเพียงนั้น ไม่สามารถยับยั้งและชี้นำประชาชนได้ …..เพราะฉะนั้น คนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดที่สุดจะสลัดทิ้งสติปัญญาคนที่มีความเมตตากรุณามากที่สุด จะไม่พูดถึงคุณธรรมเลย จงอยู่อย่างสงบ และอย่าคิดถึงสิ่งใด เพียงแต่รอคอย ให้เวลาผ่านไปแล้ว ความสำเร็จก็จะมาถึงท่านเอง ….ด้วยเหตุนี้ นักการปกครองผู้ไม่ให้คำแนะนำอันใดจะได้รับความนิยมเห็นพ้องด้วย นักการปกครองผู้ไม่ได้เริ่มอะไร จะมีผู้ปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นกษัตริย์ในสมัยอดีต จึงประกอบกิจการแต่เพียงน้อย แต่ก็สามารถทำให้งานทั้งหลายสำเร็จได้อย่างมากมาย สิ่งที่ทำให้การงานทั้งหลายสำเร็จได้นั้นคือ ซู่ ของผู้มีอำนาจ สิ่งที่กระทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปนั้นคือ เต๋าของเหล่าเสนาบดี จากเหตุผลอันนี้ ข้าพเจ้าจึงสรุปลงเป็นความเห็นว่า “ความไม่รู้ และความนิ่งเฉยนั้นดีกว่า ความรู้และความไม่อยู่นิ่ง นี้คือ วิถีของผู้มีอำนาจ”

คำสอนนี้ เมื่อพิจาณาดูแต่เพียงผิวเผินแล้ว มีลักษณะคล้ายกันกับคำสอนของปรัชญาเต๋า ปรัชญาแห่ง หวู เวย (การอยู่นิ่งและการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว) แต่อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของฮั่นเฟยจื๊อนั้น คำสอนอันนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้บุคคลมาอยู่ภายใต้อำนาจของการปกครองของตน ซู่ นั้นเมื่ออธิบายเป็นถ้อยคำทางภาคปฏิบัติแล้ว ก็คือวิธีการอันลึกลับ….ของนักปกครองที่แสดงออกมาทำให้ประชาชนยินยอมกระทำตามด้วยอาการอันดุษณี ยังมีนักปรัชญาอีกท่านหนึ่งในสำนักปรัชญานิติธรรมที่ควรจะกล่าวถึงคือ ชาง หยาง (Shang Yang) ซึ่งมีชื่อที่นิยมเรียกกันว่า เจ้าคุณชาง (Lord of Shang) เป็นบุคคลที่ชอบทำงาน แต่กเป็นนักศึกษาที่ลึกซึ้งและพากเพียรค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสถาบันทางการเมือง ถึงแม้ว่าชาง หยาง จะมาจากครอบครัวที่เป็นนักการปกครองของแคว้นเว่ย แต่เขาก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของตนเพื่อทำราชการอยู่ในแคว้นจิ๋น (Ch’in) ในตอนกลางศตวรรษที่สี่ก่อน ค.ศ. ด้วยอาศัยอิทธิพลของชางหยางนั้นเอง ที่ทำให้แคว้นจิ๋นสามารถมีพลังอำนาจมากพอที่จะเตรียมทางขึ้นไปสู่การเป็นแคว้น ผู้มีชัยชนะเหนือแคว้นทั้งปวงได้ในที่สุด กล่าวกันว่า ชางหยางเป็นผู้ปฏิรูปทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่วินัยของกองทัพไปจนถึงการเช่าที่ดิน และเป็นบุคคลที่ได้ปฏิรูปกฎหมายและการบริหารบ้านเมือง งานนิพนธ์ทางปรัชญาที่มีชื่อตามชื่อของเขานั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นงานนิพนธ์ที่แต่งขึ้นในยุคสมัยหลัง แต่ก็เชื่อกันว่าอย่างน้อยที่สุดบางตอนของบทนิพนธ์เล่มนี้ ก็เป็นงานของเขาอย่างแท้จริง

มีเรื่องเล่ากันว่า ชางหยางเป็นผู้เผยแพร่สิ่งที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ศิลปะแห่งการกสิกรรมและการทำสงคราม” ตามทรรศนะของชางหยางนั้น การผลิตอาหาร และการเตรียมกำลังทางทหารนั้น เป็นกิจการของบ้านเมืองที่บ้านเมืองต้องให้การสนับสนุนชาวนาและทหาร เป็นชนชั้นประเภทเดียวที่บ้านเมืองควรจะส่งเสริม เพราะว่างานกสิกรรมเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย และการทำสงครามเป็นงานที่เต็มไปด้วยอันตราย เขาจึงแนะนำเจ้าผู้ครองแคว้นว่า “จงสร้างสภาพการณ์ที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าการไม่ทำไร่ไถนา และการไม่ต่อสู้ในการสงครามนั้น เป็นสภาพที่ขมขื่นลำบากยิ่งกว่า” เขารังเกียจพวกนักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊อ เพราะเขารู้สึกว่า พวกเหล่านี้เป็นผู้ไม่มีประโยชน์อันใด นอกจากใช้เวลาให้หมดไปในการศึกษากวีนิพนธ์และประวัติศาสตร์เท่านั้น

ถ้าหากในแว่นแคว้นใด มีสิ่งสิบประการต่อไปนี้ คือ กวีนิพนธ์และประวัติศาสตร์ จารีตประเพณีและดนตรี คุณธรรมและการปลูกฝังคุณธรรม ความรักในบิดามารดาและความรักในพี่น้องกัน และความสุขุมรอบคอบแล้ว ผู้ปกครองบ้านเมืองก็จะไม่มีใครที่จะใช้ให้ทำการป้องกันบ้านเมือง และต่อสู้ในการสงคราม ถ้าแว่นแคว้นใดถูกครอบงำด้วยสิ่งสิบประการนี้ แว่นแคว้นนั้นก็จะแตกสลายลงทันทีทันใดที่มีข้าศึกศัตรูมาจู่โจม ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้าศึกศัตรูมาจู่โจม บ้านเมืองก็จะยากจนข้นแค้น

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของชางหยางนั้น ค่อการบริหารบ้านเมืองด้วยความเข้มงวด โดยอาศัยฝ่า (fa) หรือกฎหมายอันเป็นทฤษฎีทางความคิดที่สำคัญอีกประการหนึ่งของปรัชญานิติธรรม มีผู้กล่าวว่า ชางหยางเป็นผู้บัญญัติกฎหมายใหม่ๆ โดยกำหนดให้มีการให้รางวัลและการทำโทษ โดยไม่ไว้หน้าว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้มีอำนาจหรือมีความสำคัญประการใด และไม่มีการแสดงความเลือกที่รักมักที่ชังแก่บุคคลที่เป็นญาติมิตรแต่อย่างใด จะเห็นได้ชัดเจนว่าทรรศนะของชางหยางนั้น เป็นทรรศนะที่เหมาะสมอย่างที่สุดกับสภาพการณ์ของบ้านเมือง หลังจากการแตกสลายของระบบศักดินาในระหว่างยุคสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ ด้วยเหตุนี้ในยุคสมัยนี้ นักปรัชญากลุ่มนิติธรรมจึงเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมและมีอำนาจในทางการเมืองของสมัยแห่งความโกลาหลวุ่นวายนี้ มากกว่าปรัชญาของขงจื๊อ

ความยิ่งใหญ่และความสำคัญของฮั่นเฟยจื๊อนั้น ต้องประเมินค่าโดยอาศัยคำสอนของเซนเต๋า ของเซนปูไฮ และของชางหยางเป็นหลัก ฮั่นเฟยจื๊อนำเอาความคิดเรื่องซี่ (Shih), ซู่ (Shu) และฝ่า (fa) มาใช้ แล้วพัฒนาทรรศนะทั้งสามนี้ขึ้นมาใหม่ โดยมีหลักการอันเป็นความคิดริเริ่มส่วนตนที่เฉียบแหลมเป็นแนวทาง

บ้านเมืองนั้นไม่อาจจะเข้มแข็งได้อยู่ตลอดกาล และก็ไม่อาจจะอ่อนแออยู่ตลอดกาลเช่นกัน ถ้าหากเมื่อใดมีการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดแล้ว เมื่อนั้น บ้านเมืองก็เข้มแข็ง เมื่อใดมีการใช้กฎหมายอย่างหย่อนยานแล้วเมื่อนั้น บ้านเมืองก็อ่อนแอ

ฮั่นเฟยจื๊อนั้นเป็นผู้ยึดมั่นในทรรศนะนี้อยู่เสมอว่า บ้านเมืองก็เข้มแข็ง เมื่อใดมีการใช้กฎหมายอย่างหย่อนยานแล้วเมื่อนั้น บ้านเมืองก็อ่อนแอ

ฮั่นเฟยจื๊อนั้นเป็นผู้ยึดมั่นในทรรศนะนี้อยู่เสมอว่า บ้านเมืองที่มีการปกครองเป็นอย่างดีนั้น ประการแรกจะต้องมีประมวลกฎหมายที่แน่นอน และต้องนำกฎหมายนั้นมาใช้อย่างเข้มแข็งและเข้มงวด ประมวลกฎหมายนี้จะมีรายละเอียดและมีความยาวอย่างเหมาะสม

ถ้าหากว่า ข้อความในตำราสั้นห้วนเกินไป นักศึกษาก็จะบิดผันความหมายของข้อความในตำราได้ ถ้ากฎหมายมีข้อความสั้นเกินไปประชาชนพลเมืองก็จะโต้เถียงกันถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมายนั้น ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์ เมื่อเขียนตำราจึงแถลงเหตุผลโต้แย้งของตนอย่างละเอียดและชัดเจน นักการปกครองผู้มีความรอบรู้เมื่อบัญญัติกฎหมายขึ้นมา ก็จะพิจารณาดูว่า กฎหมายนั้นได้มีตัวอย่างเป็นกรณีประกอบโดยละเอียด

ไม่เฉพาะแต่เพียงเท่านี้ เท่านั้น โทษที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนั้นจะต้องเป็นโทษที่หนัก

ชางหยาง กำหนดโทษไว้อย่างหนักสำหรับความผิดเล็กๆ น้อยๆ ฉะนั้น จึงมีผู้กระทำความผิดที่ร้ายแรงน้อยมาก แต่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ นั้นมีบ้างประปราย นโยบายที่ดีที่สุดของการปกครองนั้นคือ นำประชาชนให้งดเว้นกระทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ เสีย ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่กระทำความผิดที่ร้ายแรง เมื่อไม่มีการกระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ แล้ว การกระทำความผิดที่ร้ายแรงก็ไม่มี
…..เพราะฉะนั้น กุง ซุน หยาง (Kung-sun Yang) หรือชางหยาง จึงกลาวได้ว่า “ถ้าโทษกำหนดไว้หนักจะไม่มีบุคคลใดกล้าฝ่าฝืนกฎหมายนี้ คือ วิธีที่จะกำจัดอาชญากรรม โดยวิธีการกำหนดบทลงโทษ”

กฎหมายนั้นไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของมันได้เหมือนดังเครื่องจักร กฎหมายต้องการบุคคลมาเป็นผู้ใช้กฎหมาย บุคคลผู้ใช้กฎหมายจะต้องรู้จักใช้ ซู่ (Shu) หรือศิลปะแห่งการปกครอง

เซนปูไฮย้ำความสำคัญเรื่อง ซู่ และกุงซุนหยาง ย้ำความสำคัญของฝ่า คำว่า ซู่นั้น เราหมายความว่า ตำแหน่งทั้งหลายต้องเกิดจากการแต่งตั้งยศถาบรรดาศักดิ์นั้น ต้องกำหนดให้ตามคุณงามความดี ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีวิธีการลงโทษและมีอำนาจที่จะยับยั้งเสนาบดีไม่ให้กระทำความชั่วได้ นี้คือ สิ่งที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจะต้องมี คำว่า ฝ่า นั้น เราหมายความว่า จะต้องมีการกำหนดระเบียบข้อบังคับและการลงโทษ ด้วยเหตุนี้บุคคลที่ปฏิบัติตามกฎหมายจะได้รับความดีความชอบ บุคคลที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะได้รับโทษทัณฑ์ นี้คือ สิ่งที่เสนาบดีจะต้องปฏิบัติตาม เมื่อผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่มีซู่ การปกครองบ้านเมืองก็ตกอยู่ในอันตราย เมื่อเสนาบดีทั้งหลายไม่ปฏิบัติตามฝ่า ประชาชนพลเมืองก็จะใช้วิธีการอันรุนแรงทั้งซู่และฝ่า เป็นสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ เพราะสิ่งทั้งสองนี้เป็นเครื่องมืออันจำเป็นของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

นอกจากฝ่าและซู่แล้ว ยังจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ซี่ (Shih) ในความหมายที่ว่าเป็นอำนาจ ตามทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อนั้น ซี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินสามารถ “บังคับให้เป็นไปตามคำสั่งอันเข้มงวดของตนได้” กษัตริย์ที่ปราศจากซี่ก็จะไม่แตกต่างไปจากบุคคลธรรมดาแต่อย่างใด พระองค์จะไม่มีอำนาจอันใดที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งของพระองค์ได้ และประชาชนก็จะไม่รู้สึกว่ากษัตริย์นั้นมีอิทธิพลอันใดเหนือพวกตน ซี่นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกษัตริย์โดยอัตโนมัติ จาก “ข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์” กษัตริย์ไม่จำต้องมีคุณธรรมแต่อย่างใด หรือมีความสามารถพิเศษแต่อย่างใด มีข้ออุปมาที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งคือ ฮั่นเฟยจื๊อเปรียบเทียบซี่ของกษัตริย์เหมือนกับเขี้ยวเล็บอันแหลมคมของเสือ ถ้าปราศจาก ซี่ กษัตริย์ก็คงจะขาดที่พึ่งและเป็นง่อย เหมือนกับเสือที่ปราศจากเขี้ยวเล็บฉะนั้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว ฮั่นเฟยจื๊อ ได้รวบรวมทรรศนะต่างๆ ของนักปรัชญากลุ่มนิติธรรมเข้ามาผสมผสานกัน แล้วสร้างเป็นทฤษฎีปรัชญานิติธรรมของตนขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าปรัชญาของฮั่นเฟยจื๊อจะไม่ได้รักบารพิทักษ์รักษาไว้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็เป็นปรัชญาที่ได้ทิ้งรอยประทับไว้ในคติความคิด และสถาบันทางการเมืองของจีนอย่างมั่นคงถาวร

ที่มา:สกล  นิลวรรณ