ลักษณะทั่วไปของปรัชญาฮั่นเฟยจื๊อ

Socail Like & Share

ฮั่นเฟยจื๊อ เป็นบุคคลผู้มีความรู้อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าท่านจะถูกจัดให้เป็นนักปรัชญาสำนักนิติธรรม แต่ท่านก็มีลักษณะหลายประการที่เป็นผู้นิยมลัทธิเต๋า ที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ท่านเป็นผู้มีความคิดสนับสนุนคำสอนเรื่อง หวู เว่ย

เหมือนกับที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ส่องแสง ฤดูกาลทั้งสี่หมุนเวียนเปลี่ยนไป เมฆลอยกระจาย กระแสลมพัดผ่านฉันใด นักการปกครองก็ไม่ควรจะพันธนาการจิตใจของตนด้วยความรู้ หรือพันธนาการตนเองด้วยความเป็นแก่ตัว นักการปกครองจะยึดเอา ฝ่า และ ซู่ เป็นหลักของการปกครองที่ดี ปฏิบัติต่อความถูกต้องและความผิดพลาด โดยวิธีการให้ความดีความชอบและการลงโทษมีความหนักเบา เหมาะสมกับน้ำหนักของการกระทำนั้นๆ

พูดอีกนัยหนึ่ง เมื่อนักการปกครองมีเครื่องมือและกลไกที่ดำเนินการปกครองแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะบังเกิดขึ้นตามลำพังภาวะของมันเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ฮั่นเฟยจื๊อ เคยศึกษาอยู่กับซุ่นจื๊อ ซึ่งเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของลัทธิขงจื๊อ ฉะนั้น ฮั่นเฟยจื๊อ จึงได้รับอิทธิพลในทางความคิดจากปรัชญาลัทธิขงจื๊อด้วย ในสังคมศักดินาของจีนในสมัยก่อนหน้านั้น บ้านเมืองปกครองคนชั้นสูงโดยอาศัยหลี (Li) หรือจารีตประเพณีแก่สามัญชนคนธรรมดานั้น บ้านเมืองปกครองพวกเขาโดยอาศัย ซิง (hsing) หรือการลงโทษ แต่ขงจื๊อมีความเห็นว่าควรจะยกเลิกการลงโทษเสีย และใช้จารีตประเพณีเป็นแนวทางของการปกครองประชาชนทุกประเภท ความเห็นอันนี้สอดคล้องกันกับปรัชญาของนักนิติธรรม ฮั่นเฟยจื๊อ จึงมีความเห็นอย่างเดียวกันว่า ไม่ว่าประชาชนจะเป็นคนชั้นสูงหรือเป็นคนชั้นต่ำ จะต้องมีการใช้กฎหมายอย่างเสมอกัน

เสนาบดี ถ้ากระทำความผิดแล้วจะต้องไม่มีการยกเว้นจากการลงโทษ สามัญชน เมื่อกระทำความดีแล้วจะต้องไม่ละเลยต่อการให้บำเหน็จรางวัล

แทนการยกระดับของคนชั้นต่ำให้มีสถานะสูงขึ้น ฮั่นเฟยจื๊อได้สถานะของคนชั้นสูงลงมา โดยการยกเลิก หลี หรือ จารีตประเพณี แต่ใช้ซิง หรือการลงโทษ แก่บุคคลทุกชั้นอย่างเสมอหน้ากัน

อีกประการหนึ่ง เราพบว่าคำสอนของฮั่นเฟยจื๊อ มีบางสิ่งบางอย่างที่มีลักษณะเหมือนกันกับคำสอนของม่อจื๊อ ฮั่นเฟยจื๊อกล่าวว่าบ้านเมือง ภายใต้การปกครองของนักการปกครองผู้รู้แจ้ง จะไม่ออกคำสั่งเล็กๆ น้อยๆ แต่จะประกาศใช้ประมวลกฎหมาย เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติของประชาชน นักการปกครองผู้รู้แจ้งจะไม่เจริญรอยตามแบบอย่างของกษัตริย์ในอดีต แต่จะสถาปนาข้าราชการให้เป็นผู้นำของประชาชน นักการปกครองผู้รู้แจ้งจะไม่ยอมให้มีการทะเลาะเบาะแว้งส่วนบุคคล แต่จะสร้างประชาชนให้ยอมอุทิศชีวิตแก่การทำสงครามของบ้านเมือง ในบ้านเมืองที่มีสภาพเช่นนี้ ประชาชนทุกคนจะยึดมั่นอยู่ในกฎหมาย จะทำงานอย่างเข็มแข็งเพื่อบ้านเมืองและพอใจในการทำสงครามเพื่อบ้านเมือง

ทรรศนะอันนี้ คล้ายคลึงกับทรรศนะของม่อจื๊อ ในเรื่องของเอกภาพในการปกครอง

นอกจากฮั่นเฟยจื๊อ จะนำเอาทรรศนะของนักปรัชญาจากสำนักต่างๆ มาปรับใช้อย่างกว้างขวางแล้ว ลักษณะที่สำคัญของฮั่นเฟยจื๊อนั้น มิใช่อยู่ที่การที่เขามีความสามารถเลือกสรรเอาทรรศนะที่ดีมีประโยชน์จากปรัชญาลัทธิอื่นๆ มาใช้เท่านั้น แต่เขาเป็นผู้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีความคิดริเริ่มเป็นของตนเอง อย่างปรีชาสามารถ

ประการแรก ฮั่นเฟยจื๊อ ปฏิเสธความคิดอันไม่เปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ ความคิดอันนี้ของเขาเกิดขึ้นจากการที่เขาสังเกตเห็นว่าโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดนั้นคือ สังคมจีนระบบเก่ากำลังจะสูญหายไป ระบบสังคมจีนใหม่กำลังก่อรูปก่อร่างขึ้นมาแทนในทำนองเดียวกัน ปรัชญาของเขาคือ ความพยายามที่จะสลัดอำนาจของประเพณีนิยมเก่าๆ ทิ้ง และปรับปรุงสถาบันทางสังคมและการเมืองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่ๆ ในบทความที่มีชื่อที่สุดของเขาที่ชื่อว่า “ทรชนห้าจำพวก” (The Five Virmin) นั้น ฮั่นเฟยจื๊อ ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ว่า มีลักษณะที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดที่เป็นการปฏิรูปสังคมทีเดียว เขาเตือนให้ระลึกว่า ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยสร้างบ้านอยู่บนต้นไม้เพื่อป้องกันตนเองให้พ้นจากสัตว์ร้ายในป่า มนุษย์ต่างก็ชื่นชมยินดีว่าเป็นความคิดที่นำมาซึ่งความสำเร็จงดงาม ในทำนองเดียวกัน ครั้งหนึ่งมนุษย์ต่างก็ทึ่งในความจริงที่ตนเองค้นพบว่า ถ้าเอากิ่งไม้สองอันมาขัดถูกกันเข้าก็จะเกิดเป็นไฟขึ้น แต่ฮั่นเฟยจื๊อได้แสดงทรรศนะต่อไปว่า ถ้าหากในปัจจุบันนี้ มนุษย์จะยังคงอาศัยอยู่บนต้นไม้ และก่อไฟโดยเอากิ่งไม้มาขัดถูกันเข้าอยู่แล้ว ก็คงจะเป็นที่หัวเราะเยาะอยู่เป็นแน่ เพราะมนุษย์ได้ค้นพบวิธีการอื่นๆ ที่ดีกว่านั้นมากมายและเขาสรุปความเห็นของเขาว่า

เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ ถ้าจะยังมีบุคคลผู้ใดยกย่องสรรเสริญวิธีการของพระเจ้าเย้า (Yao) พระเจ้าซู่น (Shun) พระเจ้ายู้ (Yu) พระเจ้าถัง (T’ang) พระเจ้าหวู (Wu) ซึ่งเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ทั้งห้าแห่งอดีตว่า ควรจะนำมาใช้กับเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้แล้วบุคคลผู้นั้นก็คงจะเป็นที่ขบขันของนักปราชญ์ในสมัยปัจจุบันเป็นแน่ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เป็นปราชญ์นั้น จึงไม่มีความมุ่งหมายที่จะปฏิบัติตามอดีต หรือกำหนดกฎเกณฑ์อันใดขึ้นจากอดีต แต่เขาจะศึกษาเหตุการณ์ในปัจจุบันในยุคสมัยของเขา แล้วคิดแสวงหาลู่ทางเพื่อเผชิญกับเหตุการณ์ในปัจจุบันอย่างเหมาะสมกับกรณี

เราได้ทราบมาแล้วว่า ขงจื๊อได้อ้างเอาพระเจ้าเย้าและพระเจ้าซุ่น เป็นหลักแบบอย่าง นักปรัชญาเต๋า ได้อ้างเอาพระเจ้าฮวงตี่ (หรือพระจักรพรรดิเหลือง:Huang Ti) เป็นปฐมกำเนิด และนักปรัชญาของม่อจื๊อ เคารพนับถือเอาพระเจ้ายู้ เป็นครูอาจารย์ นักปรัชญาของลัทธิเหล่านี้ต่างย้ำความสำคัญของอดีตนักปรัชญาเหล่านี้สร้างทรรศนะของตนว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่คงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง การเคารพนับถือในอดีต ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์ในด้านการถ่ายทอดวัฒนธรรมและสร้างเสถียรภาพแก่สังคม แต่ก็เป็นอุปสรรคขัดขวางการเกิดคติความคิดใหม่ๆ ตลอดทั้งพลังของความเจริญก้าวหน้าทั้งปวง ผลก็คือเป็นปรัชญาแบบอนุรักษ์นิยมชนิดที่เสียสมดุลย์ ซึ่งฮั่นเฟยจื๊อเห็นว่าเป็นปรัชญาที่ควรจะตำหนิอย่างยิ่งที่สุด เพราะฮั่นเฟยจื๊อเห็นว่าเป็นปรัชญาที่ควรจะตำหนิอย่างยิ่งที่สุด เพราะฮั่นเฟยจื๊อนั้นมีความเห็นว่า วิถีแห่งประวัติศาสตร์นั้นคือ กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

กฎหมายควรจะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าของกาลเวลา และการปกครองก็จะต้องดำเนินไปให้สอดคล้องกับวิถีของเหตุการณ์แห่งปัจจุบันกาล

ฮั่นเฟยจื๊อได้ยกอุทธาหรณ์ เรื่องความเขลาของการยึดมั่นในอดีต โดยเล่าเรื่องให้ฟังดังต่อไปนี้

ครั้งหนึ่ง ยังมีชายคนหนึ่งในแคว้นซุง กำลังไถนาอยู่ในทุ่ง ในตรงกลางทุ่งนั้น มีตอไม้อยูตอหนึ่ง วันหนึ่งมีกระต่ายตัวหนึ่งวิ่งมาอย่างรวดเร็ว และบังเอิญไปชนกับตอไม้ต้นนั้น คอหักตาย ทันใดนั้นชายคนนั้นก็ทิ้งไถของตนแล้วมายืนรออยู่ที่ตอต้นไม้นั้น ด้วยหวังว่าคงจะมีกระต่ายตัวอื่นๆ วิ่งมาชนตอไม้นั้นอีก แล้วตนจะได้เก็บไปเป็นอาหารต่อไป แต่เขาก็จะไม่มีวันได้กระต่ายตัวที่สองอีกเลย แต่กลับเป็นที่หัวเราะเยาะของคนทั้งแคว้นซุง ถ้าหากว่าท่านปรารถนาจะปกครองประชาชนในปัจจุบัน โดยใช้วิธีการปกครองของนักการปกรองในอดีตแล้ว ท่านก็กระตนเหมือนกะทาชายนายคนที่รอจับกระต่ายคนนี้นั่นเอง

……เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ทั้งหลายนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและเราต้องเตรียมตัวให้ทันกับเหตุการณ์เป็นปัจจุบัน

ความคิดทำนองเสียดสีในเรื่องวิถีความคิดของมนุษย์ ตามทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อ ที่กล่าวมานี้ เป็นพื้นฐานที่ดีทางจิตวิทยาสำหรับปรัชญานิติธรรมเท่านั้น ที่จริงแล้ว ทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อนั้น เป็นผลที่เกิดจากความสับสนวุ่นวายของเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคของเขานั้นเอง ปฏิกิริยาที่ฮั่นเฟยจื๊อแสดงออกต่อเหตุการณ์บ้านเมืองนั้น ก็มีลักษณะทำนองเดียวกัน ฮั่นเฟยจื๊อได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของสถาบันทางการเมือง และมีความเข้าใจในความเป็นไปของการเมืองภายในแคว้นต่างๆ ที่กำลังวุ่นวายยุ่งเหยิงเหล่านั้นเป็นอย่างดี เขาจึงสรุปเป็นความเห็นของเขาว่ามนุษย์นั้นมีธาตุแท้ของตนคือ ความเห็นแก่ตัว และเป็นนักวัตถุนิยม เขามีความเห็นอย่างรุนแรงถึงกับกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น แผ่ซ่านไปด้วยความปรารถนาในเรื่องผลประโยชน์ มีบางสิ่งบางอย่างนอกเหนือไปจากความรักอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร ถ้าบุตรที่เกิดมาเป็นชายบิดามารดาต่างชื่นชมโสมนัส ถ้าบุตรที่เกิดมาเป็นหญิง บิดามารดาอาจกระทำได้แม้กระทั่งฆ่าบุตรนั้นทิ้งเสีย ทั้งบุตรชายและบุตรหญิงต่างก็ออกมาจากครรภ์ของมารดาเหมือนกัน แต่เมื่อเป็นบุตรชาย ผลที่ตามมาคือความชื่นชมยินดี แต่เมื่อเป็นบุตรหญิงผลที่ติดตามมาคือ ความตาย บิดามารดาคิดถึงแต่ความสะดวกสบายในเวลาข้างหน้า บิดามารดาคิดคำนวณถึงแต่ผลประโยชน์ในระยะยาว เพราะฉะนั้นแม้แต่บิดามารดาในเรื่องความสัมพันธ์ที่มีต่อบุตรก็ยังครุ่นคิดถึงประโยชน์ที่จะได้ที่จะเสีย แล้วก็ปฏิบัติต่อบุตรของตนตามวิถีแห่งความคิดของตน

แล้วฮั่นเฟยจื๊อ ได้เตือนเจ้าผู้ครองแคว้นว่า ไม่ควรจะไว้วางใจในบุคคลที่ห้อมล้อมพระองค์อยู่

ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจะตกอยู่ในห้วงอันตราย ถ้ามอบความไว้วางใจในเหล่าเสนาบดี บุคคลที่มอบความไว้วางใจให้แก่คนกลุ่มใด ก็จะต้องถูกข่มโดยคนกลุ่มนั้น เสนาบดีนั้น ในเรื่องความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มิใช่เพราะความผูกพันทางสายโลหิตแต่เป็นเพราะการบีบบังคับของสถานการณ์ เพราะฉะนั้น เสนาบดีจะเฝ้าคอยสังเกตสภาพการณ์ทางจิตใจของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเสมอ ว่าเมื่อใดท่านจะโปรดปราน หรือเกรี้ยวกราดเอา…..และก็เช่นกัน ถ้าผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีความไว้วางใจในบุตรของตนมากเกินไป เสนาบดีที่เลวร้ายก็จะใช้บุตรของท่านเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตน….ถ้าผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ความไว้วางใจในภรรยาของตนมากเกินไป เสนาบดีที่มีใจเลวทรามก็จะใช้ภรรยาของท่านเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่พวกเขาประสงค์….ถ้าหากว่า ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่สามารถมอบความไว้วางใจให้แก่ภรรยา และบุตรของตนแล้วไซร้ ท่านควรจะมอบความไว้วางใจให้แก่บุคคลใดเล่า?

ฮั่นเฟยจื๊อ ได้ยกอุทธาหรณ์ หลายประการมาสนับสนุนความคิดเห็นของตน

…..บ่าวทำงานให้นาย มิใช่เพราะตนมีความซื่อสัตย์ แต่เป็นเพราะการทำงานนั้นได้รับสินจ้างรางวัล ทำนองเดียวกัน นายปฏิบัติต่อบ่าว มิใช่เพราะนายเป็นคนมีเมตตากรุณา แต่เป็นเพราะเขาต้องการบริการที่ดี เพราะฉะนั้นจิตใจของนายและบ่าวจึงมุ่งอยู่ที่ผลประโยชน์ทั้งสองคนต่างคิดถึงผลประโยชน์ของตน ฮั่นเฟยจื๊อสรุปว่า บุคคลให้และรับเพราะความเห็นแก่ตัว ถ้ามีผลประโยชน์ร่วมกัน แม้ว่าจะเป็นคนแปลกหน้า บุคคลก็อยู่ร่วมกันโดยสันติได้ ตรงกันข้าม ถ้าผลประโยชน์ขัดกัน แม้ว่าจะเป็นบิดา กับบุตร บุคคลก็จะต่อสู้แก่งแย่งกัน

เพราะการกระทำตามสัญชาติญาณตามธรรมชาติของมนุษย์ย่อมจะนำไปสู่ความรุนแรงและการใช้กำลังอำนาจ เว้นแต่จะมีการควบคุมของกฎหมายที่เข้มงวดและการลงโทษที่รุนแรงเท่านั้น ที่มนุษย์จะอยู่อย่างสงบและสันติร่วมกัน ฮั่นเฟยจื๊อแนะนำวิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาอำนาจของตนให้แก่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินว่า ไม่ควรหันไปใช้หลักมนุษยธรรมและหลักการยึดมั่นในศีลธรรม แต่ “จงนำประชาชนโดยกฎหมาย และบังคับประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยการลงโทษ” ทั้งสองนี้คือ ด้ามคธาของการปกครองที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจะต้องถือไว้ให้มั่น

ถึงแม้ว่า คำสอนของเม่งจื๊อและของนักปรัชญากลุ่มนิติธรรมจะแตกต่างกันอย่างมากมาย แต่ทั้งสองสำนักต่างย้ำความสำคัญในเรื่องวัตถุว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ฮั่นเฟยจื๊อมีความเห็นมีความเห็นตามแบบของปรัชญานิติธรรมว่าประชาชนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงนั้นคือ ฐานรากของบ้านเมืองที่ดี

ในอดีต เมื่อบุรุษไม่หว่านไถ มนุษย์ก็ยังมีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ เมื่อสตรีไม่ถักทอ มนุษย์ก็ยังมีขนสัตว์และหนังสัตว์ นุ่งห่มอย่างเหลือเฟือ ถึงแม้ว่ามนุษย์จะไม่ทำงานหนัก แต่ก็มีอาหารกินอย่างอุดมสมบูรณ์ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่า มนุษย์มีจำนวนน้อย แต่อาหารและสิ่งของมีเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น การทะเลาะวิวาทแก่งแย่งกันในหมู่มนุษย์ จึงไม่มี และถึงแม้จะไม่มีการปูนบำเหน็จรางวัล หรือการลงโทษอย่างร้ายแรงก็ตาม มนุษย์ก็อยู่อย่างสันติได้ มาบัดนี้สมมติว่าบุคคลหนึ่งมีบุตรชายห้าคน บุตรชายแต่ละคนมีบุตรต่อไปอีกห้าคน ฉะนั้น แม้แต่ในช่วงชีวิตของบุคคลที่เป็นปู่ ก็จะมีลูกหลานยี่สิบห้าคนเข้าไปแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้จำนวนคนมากขึ้น จำนวนสิ่งของมีน้อยลง ถึงแม้ว่าประชาชนจะทำงานอย่างแข็งขัน แต่ก็มีอาหารการกินลำบาก เหตุอันนี้นำไปสู่การทะเลาะวิวาทแก่งแย่งกัน ทั้งนี้หาใช่เพราะว่ามนุษย์นั้นเลวทรามแต่เป็นเพราะว่า สิ่งของมีน้อยลง

ถึงแม้ว่านี้จะเป็นเหตุผลสนับสนุนให้มีการปกครองบ้านเมืองที่เข้มงวดกวดขันก็ตาม แต่ก็เป็นทรรศนะที่ชี้ให้เห็นว่า ฮั่นเฟยจื๊อได้ย้ำความสำคัญของความอุดมสมบูรณ์ในทางวัตถุในเรื่องของการปกครอง ความคิดอันนี้ไม่ใช่ของใหม่ ขงจื๊อสอนว่า บ้านเมือง “ต้องทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น” เม่งจื๊อ มีความสนใจในเรื่องการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยการปฏิรูปสังคม เช่น ค่าเช่านา และการลดอัตราการเก็บภาษี ซุ่นจื๊อพูดถึงความสมดุลย์ ระหว่างความต้องการทางวัตถุของประชาชนกับการจัดให้มีสิ่งจำเป็นทางวัตถุแก่ชีวิตให้แก่ประชาชน ม่อจื๊อเผยแพร่ความคิดเห็นในเรื่องการจ่ายอย่างประหยัด แต่นักปรัชญากลุ่มนิติธรรม ตามแบบฉบับของฮั่นเฟยจื๊อ ย้ำความสำคัญของการกสิกรรม และความไม่ขาดแคลนในทางเศรษฐกิจ ว่าเป็นอุดมการณ์ที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็งขึ้นได้

บุคคลผู้ใช้ผืนดินทำการกสิกรรม ย่อมเจริญด้วยทรัพย์
บุคคลผู้ต่อสู้ศัตรูย่อมเจริญในอำนาจ

เขามีความเห็นว่า ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้น ประการแรกควร “บังคับให้ทุกคนทำการกสิกรรม และบุกเบิกผืนดิน เพื่อเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของประชาชน” แล้วประการที่สอง “สอนให้ประชาชนทุกคนในแว่นแคว้นของตนรู้จักวิธีการรบ ฝึกฝนการทำสงคราม ทั้งนี้เพื่อว่าในยามที่มีศัตรูมาจู่โจม ประชาชนจะสามารถช่วยเหลือป้องกันบ้านเมืองได้อย่างฉับพลัน”

ทรรศนะเกี่ยวกับสังคมในอุดมคติของมนุษย์
การมีพลเมืองดีมากเกินไป และความเห็นแก่ตัวของคนเป็นสาเหตุอันสำคัญที่สุดสองประการที่นำไปสู่ความโกลาหลวุ่นวาย และความทุกข์ยากของสังคม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น นอกจากนี้ ฮั่นเฟยจื๊อ ยังกล่าวหาว่า “นักทฤษฎีทางวิชาการทั้งหลาย” ที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินสนับสนุนอุ้มชูด้วยเงินภาษีอากรที่เก็บมาจากประชาชนผู้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย ผู้ซึ่งถึงแม้จะหมกมุ่นอยู่กับวิชาการ แต่ก็ไม่รู้เรื่องอะไรอื่นเลยนั้น เป็นพวกที่หยิ่งผยองเกินไป ที่จะลดตนลงมาเกลือกกลั้วกับการทำงานด้วยแรงงานอันเหน็ดเหนื่อย ความคิดอันนี้ ฮั่นเฟยจื๊อ ได้นำมาวิจารณ์เกี่ยวกับประชาชนโดยทั่วไปด้วย

ทุกวันนี้ประชาชนทุกคนในบ้านเมืองต่างพูดกันถึงเรื่องการปกครองบ้านเมืองไม่มีครอบครัวใดที่จะไม่มีตำรากฎหมายของกว้านจื๊อ และของ ซ้องจื๊อ แต่ทั้งๆ ที่มีกฎหมายอยู่ในทุกครัวเรือน แต่ผืนแผ่นดินกลับให้ผลพืชน้อยลง น้อยลงทั้งนี้เป็นเพราะว่า มีคนพูดเรื่องของการกสิกรรมมาก แต่คนที่ถือไถ ทำกสิกรรมมีน้อย ทุกคนในบ้านเมืองพูดกันถึงเรื่องศิลปะของการทำสงคราม….แต่กองทัพของเรากลับอ่อนแอลง ทั้งนี้เพราะว่ามีคนพูดเรื่องการรบมาก แต่คนที่ใส่เกราะเข้าสนามรบมีน้อย
ความทุกข์ยากของสังคม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นนอกจากนี้ ฮั่นเฟยจื๊อ ยังกล่าวหาว่า “นักทฤษฎีทางวิชาการทั้งหลาย” ที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินสนับสนุนอุ้มชูด้วยเงินภาษีอากรที่เก็บมาจากประชาชนผู้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย ผู้ซึ่งถึงแม้จะหมกมุ่นอยู่กับวิชาการ แต่ก็ไม่รู้เรื่องอะไรอื่นเลยนั้น เป็นพวกที่หยิ่งผยองเกินไป ที่จะลดตนลงมาเกลือกกลั้วกับการทำงานด้วยแรงงานอันเหน็ดเหนื่อย ความคิดอันนี้ ฮั่นเฟยจื๊อ ได้นำมาวิจารณ์เกี่ยวกับประชาชนโดยทั่วไปด้วย

ทุกวันนี้ประชาชนทุกคนในบ้านเมืองต่างพูดกันถึงเรื่องการปกครองบ้านเมืองไม่มีครอบครัวใดที่จะไม่มีตำรากฎหมายของกว้านจื๊อ และของซ้องจื๊อ แต่ทั้งๆ ที่มีกฎหมายอยู่ในทุกครัวเรือน แต่ผืนแผ่นดินกลับให้ผลพืชน้อยลง น้อยลงทั้งนี้เป็นเพราะว่า มีคนพูดเรื่องของการกสิกรรมมาก แต่คนที่ถือไถ ทำกสิกรรมมีน้อย ทุกคนในบ้านเมืองพูดกันถึงเรื่องศิลปะของการทำสงคราม….แต่กองทัพของเรากลับอ่อนแอลง ทั้งนี้เพราะว่ามีคนพูดเรื่องการรบมาก แต่คนที่ใส่เกราะเข้าสนามรบมีน้อย

นอกจากนั้นแล้ว สภาพแห่งอนาธิปไตยทางสติปัญญาที่มีอยู่ในขณะนั้น ทำให้ฮั่นเฟยจื๊ออุทานว่า “ไม่แต่เพียงเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคมโดยทั่วไปเท่านั้น แต่ยังปลุกปั่นให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันขึ้นทั่วไปในบ้านเมืองอีกด้วย”

ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มัวแต่ฟังวิทยากรจอมปลอมและการอภิปรายโต้เถียงกันที่หาข้อยุติไม่ได้ เพราะฉะนั้นการอภิปรายโต้เถียงกันจึงไม่มีผลนำไปสู่การปฏิบัติจริงจังแต่อย่างใด น้ำแข็งกับถ่านไฟคุแดงไม่อาจจะเอาไปใส่ไว้ในภาชนะเดียวกันได้ ฤดูหนาวกับฤดูร้อนก็ไม่อาจจะเวียนมาถึงพร้อมกันได้ฉันใด ความคิดความเห็นทางวิชาการจากสำนักปรัชญาต่างๆ ที่เจริญแพร่หลายขึ้นมาในสังคมนั้น ก็อาจจะต้องขัดแย้งกันเป็นธรรมดา แต่ถ้าผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินฟังความคิดที่ขัดแย้งกันเหล่านี้แล้วเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ขัดแย้งกันแล้ว ความโกลาหลวุ่นวายในสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

สังคมในอุดมคติของฮั่นเฟยจื๊อ นั้น ประกอบด้วยหลักการดังนี้ ประการที่หนึ่ง “ต้องบังคับประชาชนให้ทำการกสิกรรมและบุกเบิกผืนดิน เพื่อเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของประชาชน” ประการที่สอง “กำหนดให้มีการลงโทษและใช้การลงโทษเพื่อควบคุมบุคคลที่ชั่วร้ายเลวทราม” ประการที่สาม “กำหนดให้มีการเก็บภาษีอากร บรรจุยุ้งฉางและท้องพระคลังให้เต็ม เพื่อขจัดความอดอยากและเลี้ยงดูกองทัพ” และประการที่สี่ “จัดให้มีการฝึกฝนวิชาการรบพุ่งให้แก่ประชาชนทุกคนในบ้านเมือง หมั่นฝึกซ้อมให้มีความชำนาญเพื่อว่าประชาชนจะได้ช่วยกันป้องกันบ้านเมือง เมื่อถูกรุกราน”

ด้วยภาพของสังคมอย่างนี้อยู่ในจินตนาการของเขา ฮั่นเฟยจื๊อ ได้แบ่งระบบสังคมออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มประชาชนผู้ทำประโยชน์ กับกลุ่มประชาชนผู้ขี้เกียจ กลุ่มประชาชนผู้ทำประโยชน์ได้แก่ชาวนาและทหาร ซึ่งเป็นชนชั้นที่ควรแก่การยกย่องและส่งเสริม กลุ่มประชาชนผู้ขี้เกียจได้แก่ คนชั้นสูงที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และนักวิทยาการที่เพ้อฝัน พวกนี้ ฮั่นเฟยจื๊อตำหนิว่า เป็นชนชั้นประเภทกาฝากของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮั่นเฟยจื๊อ รังเกียจพวกนิยมลัทธิขงจื๊อเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าพวกเหล่านี้เป็นผู้ชักจูงบุคคลที่ควรจะเป็นชาวนาและทหารให้ไปเป็นพวกนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้หาคุณประโยชน์อันใดไม่ได้เลย นอกจาก “ประดับตนแต่วรรณกรรมอันสวยงาม และการอภิปรายโต้เถียงแสดงอวดภูมิรู้ของตน” เท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้ ฮั่นเฟยจื๊อจึงเสนอความคิดว่า นักการปกครองนั้นควรจะกำหนด กรอบให้แก่ความเพ้อฝันทางวิชาการที่ไม่มองดูสภาพความเป็นจริงของนักวิชาการทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ผู้ซึ่งควรจะสนใจในเรื่องการผลิตพืชผล ทางการกสิกรรมและอาชีพทางทหารอันมีเกียรติมากกว่า

ผู้ปกครองบ้านเมือง ในการรับเอาทฤษฎีมาจากนักวิชาการทั้งหลายนั้นถ้าหากถือเอาว่าทฤษฎีเหล่านี้เป็นทฤษฎีที่ใช้ได้ ก็ควรจะนำเอาทฤษฎีนั้นมาประกาศให้แพร่หลายและแต่งตั้งนักวิชาการเจ้าของทฤษฎีนั้น มาเป็นผู้ดำเนินงาน แต่ถ้าถือว่าทฤษฎีเหล่านั้น เป็นทฤษฎีที่ใช้ไม่ได้ ก็ควรจะโยนทฤษฎีเหล่านั้นทิ้งไปเสีย และเลิกใช้นักวิชาการเจ้าของทฤษฎีนั้นต่อไป แต่ในทุกวันนี้ ผู้ปกครองบ้านเมืองไม่ยอมรับรู้ทฤษฎีที่ใช้ได้ผลและยกย่องเจ้าของทฤษฎีเหล่านั้น และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ยอมทิ้งทฤษฎีที่ล้มเหลวตลอดทั้งเจ้าของทฤษฎีที่ล้มเหลวนั้นด้วย การรับฟังทฤษฎีที่ใช้ได้ผลแต่ไม่นำมาปฏิบัติ และการปฏิบัติตามทฤษฎีที่ไม่แน่ใจในผลของทฤษฎีนั้นย่อมเป็นหนทางที่นำไปสู่ความหายนะอย่างแน่แท้

กล่าวโดยสรุปแล้ว นโยบายทางสังคมของฮั่นเฟยจื๊อ นั้น มุ่งไปที่การยกย่องส่งเสริมชนชั้นที่เป็นชาวนาและทหาร และตำหนิชนชั้นที่เป็นข้าราชการและนักวิชาการ ควรจะสังเกตด้วยว่า ถึงแม้ทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อในเรื่องนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับคติความคิดของสมัยศักดินาแต่อย่างใด หรือไม่ก็แต่เพียงเล็กน้อยนั้น ทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อนั้น ก็เป็นทรรศนะที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับสภาพการณ์ของประเทศจีนในยุคใหม่ ประชาชนพลเมืองของแคว้นจิ๋นนั้น ถูกจัดระบบตามความคิดของฮั่นเฟยจื๊อนี้หมดทั้งแคว้น ฉะนั้นจึงมีความเป็นเลิศในทางการกสิกรรมและการรบในสงคราม ผลก็คือแคว้นจิ๋ว สามารถกำจัดแคว้นอื่นที่เป็นปรปักษ์ได้ลงราบคาบทีละแคว้นๆ จนกระทั่งสามารถรวบรวมแคว้นทั้งหมดเข้าเป็นอาณาจักรประเทศจีน อาณาจักรเดียวกันได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจีน

บทวิเคราะห์
ฮั่นเฟยจื๊อ ได้สร้างโครงการอย่างละเอียดที่มุ่งหมายเพื่อนำไปสู่การจัดระบบทางการเมืองและทางสังคมในรูปแบบใหม่ แผนการของฮั่นเฟยจื๊อประกอบด้วยการปรับปรุงอันสำคัญ “ในเรื่องศิลปะของการกสิกรรม และการทำสงคราม” ความมุ่งหมายประการแรกคือการเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของประชาชนและส่งเสริมพลังอำนาจทางการทหารของแคว้นของตน เพื่อต่อสู้เพื่ออธิปไตยของตน ลักษณะสำคัญๆ ของโครงการทางการเมืองของฮั่นเฟยจื๊อนั้น อาจพอสรุปได้ดังนี้
1. การปกครองโดยมีกษัตริย์ เป็นผู้มีอำนาจอันสิทธิขาด โดยใช้อำนาจผ่านทางระบบราชการ
2. แต่ละท้องถิ่นต้องมีความสามารถในทางเศรษฐกิจพอเพียงที่จะเลี้ยงตนเองได้
3. มีการบริหารโดยใช้กฎหมายที่เข้มงวด มีการปูนบำเหน็จรางวัลและการลงโทษ ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

เพราะฉะนั้น บ้านเมืองในอุดมคติของ ฮั่นเฟยจื๊อ จึงเป็นระบบรวมอำนาจที่มีประมุขของบ้านเมืองแต่ผู้เดียว มีผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียว และมีกฎหมายสูงสุดแต่อันเดียว เป็นระบบเอกาธิปไตยที่สามารถปราบปรามความยุ่งเหยิงวุ่นวาย อันเป็นผลของการแตกสลายของระบบศักดินาได้อย่างได้ผลดี หลักการของฮั่นเฟยจื๊อนี้ แคว้นจิ๋น เป็นแคว้นแรกที่รับเอาปฏิบัติ เพราะแคว้นจิ๋น เป็นแคว้นที่ระบบศักดินาแต่เดิมนั้นมีอิทธิพลอยู่น้อยมาก แคว้นจิ๋นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าราชวงศ์จิ๋นของอาณาจักรจีน จะมีอายุสั้นก็ตาม แต่สถาบันทางการเมืองที่ยึดหลักการของทฤษฎีปรัชญานิติธรรมนี้ ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไปเป็นเวลานานกว่าสองพันปี

บทนิพนธ์ของฮั่นเฟยจื๊อ โดยเหตุที่เป็นบทนิพนธ์ที่แสดงถึงปัญญาใหม่ที่กำลังประสบอยู่ ในขณะนั้น และแสดงถึงทรรศนะของแนวคิดแบบใหม่ จึงถือว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดในทางการเมืองแบบสมัยใหม่ ทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อ ถือว่า มนุษย์นั้นโดยภาวะที่แท้จริงแล้วมีแต่ความเห็นแก่ตัว รัฐมีความสำคัญยิ่งกว่าอิสรเสรีของบุคคล ฮั่นเฟยจื๊อ ยังเป็นต้นคิดของความคิดที่ให้มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากหลักธรรมของศาสนา และหลักจริยธรรม เรื่องการใช้กฎหมายเป็นหลักบริหารอาณาจักร เรื่องของการรวมอำนาจการบริหารราชการไว้ในส่วนกลาง และการย้ำความสำคัญทางเศรษฐกิจว่าเป็นพื้นฐานอันสำคัญของสังคมนั้น นับได้ว่าฮั่นเฟยจื๊อได้สร้างความคิดที่สำคัญให้แก่วงการปรัชญาการเมือง และยังได้ฝากทรรศนะทางการปกครองที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ของชาวจีนอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าระบบการปกครองแบบใหม่ตามปรัชญานิติธรรมจะสามารถรวบรวมอาณาจักร เข้าด้วยกันจนเป็นปึกแผ่นและมีเสถียรภาพดี ภายใต้การปกครองของกษัตริย์แบบพ่อปกครองลูกได้ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจจะวางพื้นฐานเพื่อการสถาปนาระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประเทศจีนในสมัยปัจจุบันกำลังแสวงหาอยู่นี้ได้

ทฤษฎีความคิดของปรัชญานิติธรรม เป็นทฤษฎีที่ส่งเสริมอำนาจแบบเอกาธิปไตยของกษัตริย์ในระยะเวลาแห่งสมัยที่สังคมต้องการระเบียบวินัย และการเชื่อฟังอย่างเด็ดขาด มากกว่าต้องการเสรีภาพ ทฤษฎีของปรัชญานิติธรรม สอนประชาชนไม่ให้อภิปราย หรือคิด แต่ให้เชื่อฟัง ในเมื่อประชาชนยังไม่มีความพร้อมที่จะปกครองตนเอง จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทฤษฎีความคิดของปรัชญานิติธรรม เหมาะสมกับสภาพการณ์ของสังคมหลังจากการสลายตัวของลัทธิศักดินา ถึงแม้ว่า จะเป็นทฤษฎีแห่งความคิดที่ขัดแย้งกับหลักการของประชาธิปไตยในสมัยปัจจุบันก็ตาม

แต่ทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อ ในแง่นี้เป็นทรรศนะที่ง่ายและชัดเจนแจ่มแจ้ง ดังนี้

ผู้ที่เป็นปราชญ์นั้น ย่อมไม่คิดที่จะดำเนินรอยตามวิถีทางแต่โบราณ หรือสร้างกฎเกณฑ์อันใดที่มีลักษณะถาวรไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นไว้ ผู้ที่เป็นปราชญ์นั้น จะศึกษาสถานการณ์ในยุคสมัยของตน แล้วคิดหาวิธีการที่จะแก้ไขสถานการณ์นั้นขึ้นมาโดยเหมาะสมกับกรณี

ขณะที่ ทฤษฎีทางการเมืองของฮั่นเฟยจื๊อ มีผู้นำไปปฏิบัติอย่างได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดีนั้น ทรรศนะอันสุดท้ายที่สำคัญยิ่งอันนี้ของฮั่นเฟยจื๊อ กลับถูกหลงลืมไปเกือบสิ้น

ที่มา:กมล  นิลวรรณ